Advance search

บ้านศรีฐาน ชุมชนที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาการทำหมอนขวานผ้าขิด หนึ่งในสุดยอดของฝากจากจังหวัดยโสธร อุตสาหกรรมในครัวเรือนที่มีการพัฒนาลวดลายและรูปแบบจากภูมิปัญญาจนกลายเป็นสินค้าที่สร้างทั้งชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ชุมชน 

หมู่ที่ 1 2 3 4 8 9
ศรีฐาน
ศรีฐาน
ป่าติ้ว
ยโสธร
วิไลวรรณ เดชดอนบม
11 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
13 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 มี.ค. 2024
บ้านศรีฐาน

ชื่อเรียกบ้านศรีฐานมาจากชื่อของนายพรานเฒ่าขุนศรีผู้ที่เป็นคนตั้งหมู่บ้าน โดยคำว่า “ศรี” มาจากขุนศรี ส่วนคำว่า “ฐาน” มาจากคำว่าฐานทัพของเฒ่าขุนศรี


บ้านศรีฐาน ชุมชนที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาการทำหมอนขวานผ้าขิด หนึ่งในสุดยอดของฝากจากจังหวัดยโสธร อุตสาหกรรมในครัวเรือนที่มีการพัฒนาลวดลายและรูปแบบจากภูมิปัญญาจนกลายเป็นสินค้าที่สร้างทั้งชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ชุมชน 

ศรีฐาน
หมู่ที่ 1 2 3 4 8 9
ศรีฐาน
ป่าติ้ว
ยโสธร
35150
15.7811886563408
104.331082999706
องค์การบริหารส่วนตำบลศรีฐาน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ว่าครั้งนั้นมีนายพรานเฒ่าขุนศรีเป็นพรานที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้านศิลาเลก ได้ออกหาล่าสัตว์ป่าที่ลงมากินน้ำที่หนองน้ำต่าง ๆ จนในที่สุดได้พบหนองน้ำแห่งหนึ่งที่มีสัตว์ชุกชุม คือ หนองนา จึงได้ตั้งฐานทัพชั่วคราวให้ห่างไกลจากหนองน้ำพอประมาณ เพื่อย่างเนื้อสัตว์ที่ล่ามาไม่ให้เน่า และเป็นการรอพวกลูกหลานจากหมู่บ้านศิลาเลกมาหาบกลับไป ต่อมาลูกหลานไม่สะดวกในการเดินทางเนื่องจากระยะทางจากบริเวณย่างเนื้อไปถึงหมู่บ้านศิลาเลกนั้นค่อนข้างไกล นายพรานเฒ่าขุนศรีได้เห็นว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความอุมดมสมบูรณ์จึงได้อพยพครอบครัวมาตั้งรกรากที่บริเวณนี้ซึ่งเปรียบเหมือนฐานทัพของพรานเฒ่าขุนศรีในการล่าสัตว์ ต่อมาได้ชวนเพื่อนบ้านจากบ้านศิลาเลกให้ย้ายมาอยู่ด้วยกัน จึงได้ขยายและตั้งถิ่นฐานถาวรโดยใช้ชื่อว่าหมู่บ้านศรีฐาน ซึ่งคำว่า “ศรี” มาจากขุนศรี คำว่า “ฐาน” มาจากคำว่าฐานทัพของเฒ่าขุนศรี

นอกจากนั้นยังปรากฏเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาในถิ่นฐานหมู่บ้านศรีฐาน ในสมัยกรุงธนนบุรี ราวปีพุทธศักราช 2315 พระเจ้าศิริบุญสาร แห่งเมื่อเวียงจันทน์ ได้ขัดแย้งกับขุนนางลาวสองพี่น้อง คือ พระวอ พระตา โดยจะลงโทษทั้งสอง 7 ชั่วโคตร เป็นเหตุให้ทั้งสองคนหวาดกลัว จึงต้องอพยพพี่น้องและญาติมิตรออกจากเมืองเวียงจันทน์มาสร้างเมืองใหม่ที่สยาม ในเขตเมืองหนองบัวลำภู แต่เมื่อพระเจ้าศิริบุญสารทราบข่าวจึงได้ยกทัพมาตีเมืองหนองบัวลำภู เป็นเหตุให้พระวอ พระตา ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานพร้อมกับพี่น้องและญาติมิตรไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ดอนมดแดง ริมห้วยแจระแม (เมืองอุบลราชธานีปัจจุบัน) โดยต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวขึ้นต่ออำเภอป่าติ้ว ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2509 โดยมีนายอานัติ บัวขาว ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอคนแรกต่อมา พ.ศ. 2512 ได้ยกฐานะกิ่งอำเภอป่าติ้ว เป็นอำเภอป่าติ้ว ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2512 จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2515 ทางราชการได้ประกาศตั้งจังหวัดยโสธรขึ้นใหม่ โดยแยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานี ตามประกาศคณะปฏิวัติที่ 70 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515

ลักษณะภูมิประเทศ 

บ้านศรีฐานมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นการรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ บ้านเรือนจะอยู่ในบริเวณที่มีเนินสูงน้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งจะอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในทิศใต้นั้นจะมีป่าโปร่ง นอกจากนั้นบ้านศรีฐานยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้สำหรับการเกษตร ประมง และใช้อุปโภค บริโภคหลายแห่ง เช่น ลำโพง หนองเลิงหรือบ่อโจ้โก้ ห้วยถม 

สภาพภูมิอากาศ 

  • ฤดูร้อน จะร้อนจัด เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยน 33-39 องศาเซลเซียส

  • ฤดูฝน จะมีฝนตกหนัก เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน

  • ฤดูหนาว จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวจัดและเย็นเป็นส่วนมาก อุณหภูมิเฉลี่ย 13 องศาเซลเซียส

บ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีอาณาเขตครอบคลุมถึง 6 หมู่ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรบ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรทั้ง 6 หมู่ ดังนี้ (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

  • บ้านศรีฐาน หมู่ที่ 1 ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีจำนวนประชา 929 คน แยกเป็นประชากรชาย 466 คน ประชากรหญิง 463 คน และจำนวนหลังคาเรือน 310 หลังคาเรือน
  • บ้านศรีฐาน หมู่ที่ 2 ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีจำนวนประชา 935 คน แยกเป็นประชากรชาย 442 คน ประชากรหญิง 493 คน และจำนวนหลังคาเรือน 305 หลังคาเรือน
  • บ้านศรีฐาน หมู่ที่ 3 ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีจำนวนประชา 544 คน แยกเป็นประชากรชาย 296 คน ประชากรหญิง 248 คน และจำนวนหลังคาเรือน 186 หลังคาเรือน
  • บ้านศรีฐาน หมู่ที่ 4 ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีจำนวนประชา 662 คน แยกเป็นประชากรชาย 308 คน ประชากรหญิง 354 คน และจำนวนหลังคาเรือน 205 หลังคาเรือน
  • บ้านศรีฐาน หมู่ที่ 8 ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีจำนวนประชา 554 คน แยกเป็นประชากรชาย 278 คน ประชากรหญิง 276 คน และจำนวนหลังคาเรือน 176 หลังคาเรือน
  • บ้านศรีฐาน หมู่ที่ 9 ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีจำนวนประชา 500 คน แยกเป็นประชากรชาย 250 คน ประชากรหญิง 250 คน และจำนวนหลังคาเรือน 164 หลังคาเรือน

อาชีพหลักของชาวบ้านศรีฐาน คือ การทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาและทำไร่ เช่น ไร่ปอ มันสำปะหลัง ข้าวโพด แตงโม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกยาสูบ มันเทศ และยังมีการการเลี้ยงโค กระบือ สุกร เป็ดไก่ และห่าน นอกจากนี้ ชาวบ้านศรีฐานยังมีอาชีพเสริมหลังจากว่างเว้นจากฤดูการเก็บเกี่ยว โดยได้มีการรวมตัวกันของสตรีภายในหมู่บ้าน ร่วมกันเย็บหมอน ทอผ้า เพื่อใช้ในครอบครัว ต่อมาได้มีการพัฒนามาเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนขนาดย่อมเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งรู้จักกันในนามของ “หมอนขิดบ้านศรีฐาน”  นอกจากนี้ ยังมีอาชีพค้าขายโดยการนำสินค้าของชำสินค้าเบ็ดเตล็ดมาขายภายในหมู่บ้าน และยังมีร้านอาหาร ร้านขายยา และร้านรับซื้อหัตถกรรมหมอนขิดด้วย 

ชาวบ้านศรีฐานนับถือศาสนาพุทธทั้งหมู่บ้าน ซึ่งใน 1 ปี มีประเพณีสำคัญ ดังนี้                                  

เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม หรือปริวาสกรรม โดยพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเลสต้องปฎิบัติกรรมฐาน ภิกษุที่ออกจากกรรมแล้วถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ชาวบ้านผู้ทำบุญถวายทานพระสงฆ์ระหว่างเข้ากรรมถือว่าได้บุญกุศลมาก

เดือนยี่ บุญคูณลาน ป็นพิธีกรรมฉลองภายหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านรู้สึกยินดีที่ได้ผลผลิตมาก  จึงต้องการทําบุญ โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในลานข้าวและในบางแห่งจะมีการสู่ขวัญข้าวเพื่อฉลองความอุดมสมบูรณ์ กล่าวขอบคุณแม่โพสพและ ขอโทษที่ได้ เหยียบย่ำ พื้นแผ่นดินในระหว่างการทํานา เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้ผลผลิตเป็นทวีคูณในปีต่อไป

เดือนสาม บุญข้าวจี่ เป็นประเพณีที่เกิดจากความสมัครสมานของชุมชน ชาวบ้านจะนัดหมายกันมาทําบุญโดยช่วยกันปลูกผามหรือปะรําเตรียมไว้ในตอนบ่าย ครั้นเมื่อถึงรุ่งเช้าในวันต่อมาชาวบ้านจะช่วยกันจี่ข้าว หรือปิ้งข้าวและตักบาตรข้าวจี่ร่วมกัน หลังจากนั้นจะให้มีการเทศน์นิทานชาดก เรื่อง นางปุณณทาสี เป็นเสร็จพิธี

เดือนสี่ บุญเผวส หรือบุญมหาชาติ เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเพณีฮีตสิบสอง เมื่อกำหนดวันทำบุญแล้ว ชาวบ้านจะเตรียมอาหาร หมากพลู เครื่องบูชาอย่างละพัน วันแรกเป็นวันโฮม (วันรวม) ตอนเช้านำอุปคุตมาประดิษฐานไว้ข้างศาลาโรงธรรม ตอนบ่ายมีพิธีแห่พระเวสสันดรเข้ากลางเมือง ตอนกลางคืนพระสงฆ์จะเทศน์พระมาลัยหมื่นมาลัย และอาราธนาพระสงฆ์มหาชาติตลอดคืน

เดือนห้า บุญสงกรานต์ นิยมทำกัน 3 วัน วันแรกเป็นวันมหาสงกรานต์ มีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด วันที่สองเป็นวันเนา วันที่สามเป็นวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่ มีการทำบุญตักบาตรและก่อพระเจดีย์ทรายที่วัด มีการสรงพระสงฆ์ที่วัด และสรงน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ แห่ดอกไม้ มีการสาดน้ำกันตลอดสามวัน

เดือนหก บุญบั้งไฟ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูทำนา จะมีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า พญาแถน หรือ เทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาลและทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

เดือนเจ็ด บุญซำฮะ เพื่อชำระสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรต่าง ๆ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธคุณ ตอนเช้าถวายภัตตาหาร ทำพิธีอยู่ 3 คืน เช้าวันสุดท้ายถวายสังฆทานวงสายสิญจน์รอบหมู่บ้าน ชาวบ้านนำสิ่งปฎิกูลมูลฝอยออกไปทิ้ง ทำความสะอาดหมู่บ้าน

เดือนแปด บุญเข้าพรรษา ถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันทำบุญการเข้าพรรษา จะมีการทําบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สงบ จีวรและเทียนพรรษา จัดขบวนแห่เทียนอย่างยิ่งใหญ่ และมักมีการประกวดความสวยงามของเทียนจากแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งตกแต่งสลักเสลาเทียนเป็นลวดลายเรื่องราวทางพุทธศาสนาอย่างสวยงาม

เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน หมาก พลู บุหรี่ ห่อหรือใส่กระทงนำไปวางตามลานวัดหรือแขวนไว้ตามต้นไม้ให้ดวงวิญญาณมารับเอา

เดือนสิบ บุญข้าวสาก หรือบุญข้าวสลากภัต นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 เพื่อห่อข้าวส่งให้ดวงวิญญาณญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่าง ๆ ห่อใบตองถวายภัตตาหารเช้าก่อน เมื่อเพลจึงถวายห่อข้าวโดยเขียนชื่อพระภิกษุ สามเณรใส่ไว้ในภาชนะแล้วจึงจับสลาก ใครจับชื่อพระภิกษุ สามเณรรูปใดได้ก็ต้องถวายห่อข้าวแก่พระภิกษุ สามเณรรูปนั้น จากนั้นก็นำห่อข้าวไปวางไว้ตามบริเวณวัดพร้อมบอกกล่าวผู้ล่วงลับให้มารับอาหาร

เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรเทโว ตอนค่ำมีการจุดประทีปโคมไฟในบริเวณวัดและหน้าบ้าน

เดือนสิบสอง บุญกฐิน เป็นบุญถวายไตรจีวรแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ละจากการจำพรรษาแล้ว พิธีทำบุญทอดกฐินนั้นเจ้าภาพจะจองวัดและกำหนดวันทอดกฐินล่วงหน้า เพราะในหนึ่งปีวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

หมอนขวานผ้าขิด 

การทำหมอนขวานผ้าขิด เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมายาวนาน ในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านจะทำหมอนหนุนเพื่อใช้ในครัวเรือนและใช้แลกเปลี่ยนกับสิ่งของต่าง ๆ แทนการซื้อขาย โดยหมอนขิดนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะใช้เองในครัวเรือนแล้ว ยังนำไปถวายพระ ใช้ในงานประเพณีต่าง ๆ รวมถึงเป็นของฝากญาติพี่น้องต่างถิ่น เมื่อความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านจึงได้พัฒนารูปแบบและผลิตจำหน่ายอย่างจริงจัง ทำให้หมอนบ้านศรีฐานมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้านศรีฐาน คือ หมอนขวานผ้าขิด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏในคำขวัญของจังหวัดยโสธร และมีประวัติความเป็นมายาวนาน พัฒนารูปแบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากหมอนขวานแล้วยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่างเช่น ที่นอนพับ ที่นอนระนาด หมอนกระดูก หมอนรองคอ หมอนผลไม้ เบาะรองนั่ง นอกจากการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แล้วยังมีการพัฒนาด้านการตลาด การสร้างเครือข่ายการตลาด บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ มีการจัดนิทรรศการและจำหน่ายสินค้า OTOP เมืองทองธานี และสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ทำให้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หมอนขิดบ้านศรีฐานมีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี 

ภาษาพูด : ภาษาอีสาน ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านศรีฐาน. สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thai.tourismthailand.org/

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์. (2566). เกร็ดความรู้: สำเนียงเสียงอีสาน. สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.isancreativefestival.com/

ณัฏฐิมา แก้วตาแสง. (2556). แนวทางการฟื้นฟูภูมิปัญญาการผลิตหมอนขิดแบบดั้งเดิม ที่ชุมชนบ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

aichan. (2561). เที่ยวหมู่บ้านทำหมอนขิด บ้านศรีฐาน ยโสธร ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยอีสาน. สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://travel.trueid.net/

cbtthailand. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านทำหมอนขิดบ้านศรีฐาน. สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/