Advance search

ชุมชนเกษตรกรรม น้อมนำศาสตร์พระราชาพัฒนาภูมิปัญญา "ผ้าขาวม้าย้อมคราม" สู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน

หมู่ที่ 5
โพนปลาโหล
เต่างอย
เต่างอย
สกลนคร
วิไลวรรณ เดชดอนบม
17 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 มี.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 มี.ค. 2024
บ้านโพนปลาโหล

"โพนปลาโหล" เพี้ยนมาจากคำว่า "โพนโป้โล้" ตามภาษาอีสาน ซึ่ง โพนโป้โล้ เป็นลักษณะพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเนินสูงสามารถมองเห็นได้จากระยะไกล 


ชุมชนชนบท

ชุมชนเกษตรกรรม น้อมนำศาสตร์พระราชาพัฒนาภูมิปัญญา "ผ้าขาวม้าย้อมคราม" สู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน

โพนปลาโหล
หมู่ที่ 5
เต่างอย
เต่างอย
สกลนคร
47260
16.9939350094369
104.185496717691
องค์การบริหารส่วนตำบลเต่างอย

บ้านโพนปลาโหลเป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งมาแล้วกว่า 100 ปี ตามคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เมื่อ พ.ศ. 2450 ชาวบ้านโพนปลาโหลอพยพมาจากบ้านเต่างอย ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านโพนปลาโหลในปัจจุบัน สาเหตุที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้ เนื่องจากบริเวณนี้มีพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้และแหล่งน้ำ ประกอบกับขณะนั้นบ้านเต่างอยมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ชาวบ้านบางส่วนนำโดยนายพรม งอยภูธร พร้อมครอบครัวเป็นครอบครัวแรกที่อพยพออกจากบ้านเต่างอยออกมาตั้งบ้านเรือนใหม่ที่บ้านโพนปลาโหล ภายหลังก็มีอีกหลายครอบครัวโยกย้ายตามมา มีการขยายเพิ่มขึ้นของครัวเรือนจนเกิดเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ชุมชนหมู่บ้านใกล้เรือนเคียงจึงเรียกติดปากว่า "บ้านน้อย" ตามขนาดของหมู่บ้าน

ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มาตั้งถิ่นฐานจะมีนามสกุลคำว่า "งอย" นำหน้า เป็นนามสกุลต้นกำเนิดของบ้านเต่างอย เช่น งอยภูธร ซึ่งเป็นนามสกุลของผู้เข้ามาบุกเบิกตั้งบ้านเรือนที่บ้านโพนปลาโหลเป็นคนแรก ทำให้หมู่บ้านโพนปลาโหลมีนามสกุลต้นตระกูลหลัก คือ งอยภูธร

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านโพนปลาโหลตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอเต่างอย ห่างจากตัวเมืองสกลนครประมาณ 22 กิโลเมตร มีอาณาเขตที่ติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านนางอย หมู่ 4 ตำบลเต่างอย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยแคน อำเภอโคกศรีสุพรรณ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ภูเขาปอก เทือกเขาภูพาน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เต่างอย หมู่ 1 ตำบลเต่างอย

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่บางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา มีความชันทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน และลาดเอียงลงมาทางทิศใต้ สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ดินชั้นล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย ดินมีการละลายน้ำค่อนข้างเร็วมีธาตุอาหารต่ำและมีป่าล้อมหมู่บ้าน

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านโพนปลาโหล ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 834 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 426 คน ประชากรหญิง 408 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 400 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ชาวบ้านในชุมชนบ้านโพนปลาโหลส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทำนา ปลูกข้าวโพดอ่อน ปลูกมะเขือเทศ ปลูกมันสำปะหลัง ค้าขาย และเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ส่วนอาชีพรอง คือ การรับจ้างปอกเปลือกข้าวโพดอ่อน หาของป่า การจักสาน และรับจ้างทำงานในโรงงาน

  • การทำนา ชาวบ้านนิยมทำนาแค่ครั้งเดียว คือ การทำนาปี โดยเริ่มผลิตตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี โดยข้าวที่เกษตรกรนิยมปลูก คือ ข้าวเหนียวพันธ์ุ กข6 และ กข8
  • การปลูกมะเขือเทศ จะเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม พันธ์ุมะเขือเทศที่เกษตรกรนิยมปลูกคือ เพอร์เฟกโกล์ด
  • การปลูกข้าวโพดฝักอ่อน สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ใช้ระยะประมาณ 45-50 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ โดยข้าวโพดฝักอ่อนเป็นพืชที่ปลูกง่ายไม่ค่อยมีศัตรูพืชรบกวน ดูแลรักษาง่าย ทำให้ชาวบ้านนิยมปลูกกันเป็นจำนวนมาก
  • การปลูกมันสำปะหลัง เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งเนื่องจากมีราคาสูงขึ้น ทำให้ชาวบ้านหันกลับมาปลูกเพิ่มขึ้น
  • การเลี้ยงสัตว์ ที่นิยม คือ วัวสายพันธุ์ลูกผสม โดยสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก คือ สายพันธุ์อเมริกันบรามันห์ และชาโลเลย์
  • การค้าขายในชุมชน ภายในหมู่บ้านบ้านโพนปลาโหล มีร้านค้าขายของชำ โดยขายทั้งข้าวของเครื่องใช้และอาหารถุง ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวบ้านเนื่องจากสะดวกไม่ต้องทำเองและมีราคาถูก
  • การหาของป่า เนื่องจากในชุมชนบ้านโพนปลาโหลมีพื้นที่ติดกับส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ชาวบ้านในชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ทั้งการเข้าไปหาไม้มาทำฝืน หาเห็ด หาหน่อไม้ มดแดง แมลง หรือผักป่าต่าง ๆ ที่ออกตามช่วงฤดูกาลนั้น ๆ ซึ่งมีตลอดทั้งปี
  • การจักสาน ส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพเสริมของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนที่มีทักษะในงานหัตถกรรม เช่น กระติบข้าวเหนียว และหม้อนึ่งข้าว เป็นต้น
  • การรับจ้างในโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 ชาวบ้านในชุมชนจะเข้าไปทำงานในโรงงานที่ผลิตมะเขือเทศ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลผลิตมะเขือเทศซึ่งต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก
  • การรับจ้างปอกเปลือกข้าวโพดอ่อน เป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านในชุมชนหลังจากเสร็จสิ้นการทำไร่ทำนา
  • การรับจ้างทั่วไป ของเกษตรกรในชุมชนหลังจากเสร็จสิ้นการงานของตน เช่น รับจ้างเก็บข้าวโพด รับจ้างเก็บมะเขือเทศ และรับจ้างอย่างอื่นทั่วไป เพื่อเป็นรายได้ในการนำมาจุนเจือครอบครัว

ชาวบ้านโพนปลาโหลทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ มีวัดโพนปลาโหลเป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น การเลือกตั้ง การทำเรือไฟ ทางด้านประเพณี ปัจจุบันชาวบ้านโพนปลาโหลยังมีการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนอย่างเคร่งครัด ซึ่งปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เช่น 

1.บุญกองข้าว จัดขึ้นราวกลางเดือน 3 ชาวบ้านจะนำเอาข้าวเปลือกที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมาบริจาคที่วัดตามกำลังศรัทธา โดยเอามารวมกันไว้ที่วัด เมื่อเสร็จจากพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว คณะกรรมการวัดจะแบ่งเอาข้าวส่วนใหญ่ไปขายและเอาเงินเข้าวัดและบางส่วนที่เหลือให้ชาวบ้านนำกลับไปเก็บไว้ที่ยุ้งฉางข้าวเพื่อความเป็นสิริมงคล

2.บุญผะเหวด (พระเวสสันดร) หรือบุญมหาชาติ นิยมจัดขึ้นในเดือนเมษายน โดยชาวบ้านจะกำหนดร่วมกันเตรียมเครื่องผะเหวด (สิ่งของที่ใช้ประกอบบุญผะเหวด) นำไปแห่ในขบวนเข้าวัด ตอนเช้าก็จะมีการทำบุญตักบาตร และร่วมรับประทานอาหารร่วมกันที่วัด

3.บุญสงกรานต์ มีขึ้นในเดือน 5 ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญที่วัดในช่วงเช้า ฟังเทศน์ รับประทานอาหารร่วมกันที่วัด เสร็จแล้วจะร่วมกันรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อขอพรในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

4.บุญเข้าพรรษา จัดขึ้นในเดือน 8 ของทุกปี ในช่วงเช้าชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรับทานอาหารร่วมกันที่วัด ในช่วงสายชาวบ้านจะนำเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน และเครื่องอัฐบริขาร มาถวายพระที่วัด การเข้าพรรษามีระยะเวลาช่วง 3 เดือน ที่พระสงฆ์จะต้องจำพรรษาอยู่ที่วัด ไม่สามารถออกไปค้างคืนที่อื่นได้

5.บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นในเดือน 9 ชาวบ้านจะทำขนมห่อหมก ข้าวต้มมัด และทำต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งต้นกัลปพฤกษ์จะประกอบไปด้วย ขนม อาหาร ข้าวของเครื่องใช้มาแขวนตามกิ่งไม้ทำเป็นต้นไม้จำลองใส่กระถางมาตั้งไว้ และเมื่อเตรียมทุกอย่างเสร็จก็จะร่วมกันใส่บาตร และทำข้าวห่อ ประกอบด้วย อาหารของหวานชนิดต่าง ๆ ยาสูบ หมากพลูมาห่อรวมกันไปฝังไว้ในดิน เป็นการอุทิศส่วนบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วให้รับส่วนบุญกุศลที่ญาติพี่น้องได้อุทิศให้

6.บุญข้าวสาก จะนิยมจัดขึ้นในเดือน 10 เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ในช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัด รับประทานอาหารร่วมกัน และทำห่อข้าวข้าวประดับดินที่จัดไว้ไปวางไว้ตามต้นไม้ และเก็บบางส่วนไปวางไว้ตามทุ่งนา เพื่อให้พืชและสัตว์ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้กิน เพื่อให้นาข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ โดยแต่ละครัวเรือนจะทำประมาณ 10-15 ห่อ และจะทำตลอดทุกปี

7.ประเพณีไหลเรือไฟ จะจัดขึ้นวันเดียวกับประเพณีบุญข้าวสาก โดยประเพณีไหลเรือไฟถือได้ว่าเป็นประเพณีประจำตำบลเต่างอย เริ่มแรกของประเพณีนี้เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพียงแค่หมู่บ้านเดียว คือ บ้านเต่างอย หมู่ 1 เพื่อเป็นการแสดงถึงความเชื่อและเคารพต่อลำน้ำพุงที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำในการทำเกษตร แต่ปัจจุบันทางองค์กรบริหารส่วนตำบลเต่างอยได้ส่งเสริมให้เป็นประเพณีประจำตำบลในเขตพื้นที่ตำบลเต่างอย เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของตำบล 

8.บุญออกพรรษา จัดขึ้นในแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี วันออกพรรษาเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษาของพระสงฆ์ เป็นการอนุญาตให้พระสงฆ์ออกไปจาริกธรรมสถานที่ต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ในวินัยของสงฆ์ ภายหลังจากการเข้าพรรษา 3 เดือน วิธีการปฏิบัติในช่วงนี้ ชาวบ้านจะร่วมทำบุญตักบาตรที่วัด ฟังเทศน์และรับประทานอาหารร่วมกันที่วัด

8.บุญกฐิน จะเริ่มช่วงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง 15 ค่ำ เดือน 12 โดยชาวบ้านจะเอาเครื่องกฐินมาร่วมกันที่วัดหรือบางปีจะนำไปร่วมกันที่บ้านเจ้าภาพที่แสดงเจตจำนงจะทำบุญกฐิน ชาวบ้านจะกำหนดวันเวลา 1 วัน หรือ 2 วัน แล้วแต่ปี วันแรกจะเป็นวันรวมองค์กฐิน วันที่ 2 ตอนเช้าจะมีการตักบาตร ในตอนสายจะแห่ขบวนกฐินเข้าวัด และทำพิธีถวายกฐินแก่พระภิกษุสงฆ์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. แหล่งน้ำตามธรรมชาติ แหล่งน้ำสำคัญของชุมชน ได้แก่ ลำห้วยหนองอีนูน ซึ่งไหลมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยค้อผ่านบ้านนางอยและโพนปลาโหล มีความยาวประมาณ 15 กิโลเมตร ห้วยนี้ชาวบ้านจะใช้ในการทำนา ปลูกข้าวโพด รวมถึงปลูกมะเขือเทศ แต่ใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้ไม่มากนัก เพราะในช่วงหน้าแล้ง น้ำจะลดน้อยลง จึงมีการสร้างแหล่งน้ำขึ้นมา

2. อ่างเก็บน้ำเครือเขาปอก สามารถกักเก็บน้ำได้ 770,000 ลูกบาศก์เมตร อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 3 กิโลเมตร อ่างเก็บน้ำเครือเขาปอกสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำจากเทือกเขาภูพาน และลำเลียงส่งไปยังพื้นที่นาไร่ของเกษตรกรด้วยระบบคลองไส้ไก่ไปยังที่นาของเกษตรกร

3. ป่าไม้ บริเวณรอบหมู่บ้านเต็มไปด้วยป่าทึบ พื้นที่กว้างใหญ่ บางส่วนเป็นป่าเต็งรัง มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่มากมาย มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุมมากทั้งไก่ป่า นก หมูป่า เก้ง 

4. โครงการพัฒนาและยกระดับการผลิตผ้าขาวม้าย้อมครามสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย บ้านโพนปลาโหลนั้นเป็นชุมชนที่มีภูมิปัญญาการทอผ้าย้อมครามโดยเฉพาะผ้าขาวม้าอยู่แต่เดิม จึงได้มีการสนับสนุนการทอผ้าย้อมครามให้เกิดเป็นแหล่งรายได้ ส่งเสริมอาชีพโดยการทอผ้าพื้นเมืองและการขายผ้าพื้นเมือง ซึ่งบางส่วนก็ส่งขายให้โครงการหลวงด้วย ต่อมาราคาผ้าขาวม้าตกต่ำเนื่องจากมีผ้าทอจากโรงงานเข้ามาตีตลาดในพื้นที่ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครจึงได้เข้ามาพัฒนาและให้ความรู้ด้านการทอผ้าให้กับกลุ่มสตรีและผู้สูงอายุบ้านโพนบ้านโหล แต่เดิมชุมชนบ้านโพนปลาโหลเป็นชุมชนทอผ้าขาวม้าจากฝ้าย ภายหลังจึงได้หันมาเพิ่มมูลค่าผ้าด้วยการย้อมครามจากสีธรรมชาติ เช่น สีเขียวอ่อนจากมะม่วง และสีน้ำตาลจากคำแสด ทำให้ผ้าขาวม้าของบ้านโพนปลาโหลมีเอกลักษณ์ คือ เนื้อผ้ามีความนุ่ม สีสันสวยหวานโทนสีพาสเทล และบางผืนยังมีลวดลายที่มีความประณีตแฝงอยู่ด้วย ผ้าขาวม้าย้อมครามของชุมชนบ้านโพนปลาโหลจึงได้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

ภาษาที่ชาวบ้านโพนปลาโหลใช้ในการสื่อสารมักจะเป็นภาษาถิ่นอีสาน และมีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง คือ สำเนียงภูไท ซึ่งเป็นสำเนียงที่มักใช้ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปิยพงษ์ คงมี. (2551). การปอกเปลือกข้าวโพดฝักอ่อนเป็นอาชีพเสริมของชุมชน: กรณีศึกษากลุ่มปอกเปลือกข้าวโพดฝักอ่อน บ้านโพนปลาโหล หมู่ที่ 5 ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาท้องถิ่น. (2563).สืบค้นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567,จาก https://www.facebook.com/