Advance search

ป๊อกตะวันออก

ชุมชนชาวไทใหญ่ ที่ยังคงประเพณีและวัฒนธรรมไว้

จองคำ
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
สุภาพร เติดประโคน
14 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
2 มี.ค. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
2 มี.ค. 2024
ป๊อกตะวันออก

ชาวไทใหญ่ได้อพยพจากประเทศพม่ามาอาศัยอยู่ในบริเวณมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า "บ้านนาบอน" และเปลี่ยนมาเป็นป๊อก ตามท้ายด้วยภาคที่อยู่โดยอิงจากเทศบาลเมือง


ชุมชนชาวไทใหญ่ ที่ยังคงประเพณีและวัฒนธรรมไว้

จองคำ
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
58000
เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2016
19.299838
97.974150
เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

ในอดีตบริเวณที่ตั้งของชุมชนป๊อกตะวันออก ซึ่งในปัจจุบันมีสภาพเป็นทุ่งนา มีบ้านเรือนตั้งอยู่ประมาณ 4-5 หลัง เป็นสวนกล้วย บริเวณสนามบินเดิมเป็นทุ่งนาป่ารก ต่อมามีชาวไทใหญ่ได้อพยพจากประเทศพม่ามาอาศัยอยู่บริเวณที่มีชื่อเรียกสมัยนั้นว่า "บ้านนาบอน" (ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำแม่ฮ่องสอน) บริเวณนี้มีน้ำใช้ในการประกอบการเกษตรค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ดีมาก ลักษณะบ้านของชาวไทใหญ่สมัยนั้นทำด้วยไม้ไผ่ยกพื้นสูงหลังคามุงด้วยท้องตองตึง และในเวลาต่อมาแม่ฮ่องสอนเจริญขึ้นตามเวลาทำให้ชุมชนป๊อกตะวันออกเจริญขึ้นตามด้วยเช่นกัน จึงได้มีการแบ่งเขตเทศบาลเมืองเพื่อปกครองเป็นชุมชนโดยการแบ่งชุมชนในช่วงแรกนั้น ชุมชนป๊อกหนองจองคำและชุมชนป๊อกตะวันออกได้รวมเป็นชุมชนเดียวกันแต่ต่อมาก็ได้แบ่งออกมาเป็นชุมชนป๊อกตะวันออก

เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ได้รับการยกฐานะจากตำบลจองคำ ตำบลม่วยต่อ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2479 สมัยนายกรัฐมนตรี พ.อ.พหลพลพยุหเสนา มาตรา 3 ให้จัดเขตชุมนุมชนในบริเวณตำบลอันเป็นที่ตั้งศาลาว่าการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามเขตที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ขึ้นเป็นเมือง มีฐานะเป็นเทศบาลเมืองคือ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2513

พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนป๊อกตะวันออก เป็นพื้นที่ราบมีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่แบบชุมชนเมืองทั่วไป บางส่วนเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และมีลำห้วยแม่ฮ่องสอนไหลผ่านแนวเขตบริเวณทางด้านทิศตะวันออกของชุมชน บริเวณสองฝั่งลำน้ำมีวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น ในปัจจุบันมีการสร้างอาคารบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก สำหรับต้นไม้ที่พบในชุมชนที่อนุรักษ์ไว้นั้น เช่น ต้นตาล ต้นไทร และอื่น ๆ ชุมชนป๊อกตะวันออก ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนสิงหนาทบำรุง คาบเกี่ยวสองตำบล คือ ตำบลจองคำ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ ชุมชนบ้านใหม่และชุมชนป๊อกปางล้อ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
  • ทิศใต้ ติดกับ ชุมชนป๊อกหนองจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน 
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ชุมชนบ้านใหม่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ชุมชนป๊อกกาดเก่า อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

ลักษณะอาคารบ้านเรือนของประชากร

ส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้นและบ้านชั้นเดียว เป็นบ้านปูนโดยมีไม้เป็นวัสดุในการสร้างบ้านบางเรือน หลังคามุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง ชุมชนป๊อกตะวันออก ส่วนใหญ่มีบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบและบางส่วนมีบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำห้วยแม่ฮ่องสอนทั้งสองฝั่งลำน้ำ ประชากรจะเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยโดยมีโฉนดที่ดินในการถือกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน ชุมชนป๊อกตะวันออกเป็นชุมชนที่มีขนาดปานกลาง มีพื้นที่รับผิดชอบค่อนข้างกว้าง เนื่องจากมีพื้นที่ล้อมรอบท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ทั้งนี้เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการแข่งขันกันในการดำรงชีวิตสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่จะเป็นอาคารบ้านเรือนและถนนหนทาง ชีวิตผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลงไม่ค่อยมีความผูกพันกับธรรมชาติ 

ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามานานแล้ว โดยจำนวนประชากรของชุมชนป๊อกตะวันออกนั้นจากข้อมูล ปี 2564 มีจำนวนประชากรชาย 759 คน หญิง 817 คน รวมทั้งหมด 1,576 คน และจำนวนครัวเรือน 695 ครัวเรือน

ไทใหญ่

ชุมชนป๊อกตะวันออกเป็นชุมชนเมืองจัดว่าเป็นศูนย์กลางทางความเจริญและหนาแน่นด้วยประชากร เป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานถาวร ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 31-60 ปี ประกอบอาชีพแตกต่างกันงานส่วนใหญ่เป็นงานเกี่ยวกับการบริการหรืองานที่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับราชการ รองลงมาจะเป็นอาชีพเกษตรกรรม มีการรวมกลุ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โดยการมีส่วนร่วมกับชุมชนอื่น ๆ คือ

พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน

การใช้เมืองทั้งเมืองเป็นพิพิธภัณฑ์ฯ ความหมายอย่างง่ายของพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน "อยู่อย่างไร ก็อยู่อย่างนั้น" โดย นายกปกรณ์  จีนาคำ  คือ ความพยายามที่จะดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ดีไว้ ควบคู่กับการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน จำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนป๊อกกาดเก่า ชุมชนกลางเวียง ชุมชนตะวันออก ชุมชนหนองจองคำ ชุมชนปางล้อ และชุมชนดอนเจดีย์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ฟื้นฟู และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม การอนุรักษ์ต้องเดินไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี มุ่งสร้างกลไกที่ผลักดันเศรษฐกิจชุมชน โดยอาศัยฐานวัฒนธรรมของเมือง

พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และความร่วมมือทางวิชาการกับวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน มีศูนย์ประสานงานพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน ที่ให้บริการข้อมูลพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน และข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน บนถนนสิงหนาทบำรุง ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

ชาวชุมชนป๊อกตะวันออกส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับราชการซึ่งจะมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่ชาวไทใหญ่ในชุมชนป๊อกตะวันออกจะมีความเชื่อและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยให้การทำบุญในวันพระและเทศกาลสำคัญ เพราะมีความเชื่อว่าการทำบุญจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้า ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง จึงมีอัตลักษณ์และวิถีชีวิตที่โดดเด่นดังนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • เข้าพรรษา เป็นการทำบุญในช่วงเข้าพรรษา คือ 15 ค่ำ เดือน 10 โดยการกำหนดวันทำบุญในช่วงเข้าพรรษาแต่ละปีนั้นจะเป็นการกำหนดพร้อมกับชุมชนอื่น ๆ ใกล้เคียง เพราะเป็นการทำบุญแบบไล่วัดต่อมาเรื่อย ๆ เพื่อให้ชาวชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถร่วมทำบุญ ทำนุบำรุงศาสนาได้หลากหลายวัด
  • หย่าสี่สิบสอง เป็นการทำบุญตามประเพณีที่มีอยู่ในแต่ละเดือน ซึ่งในแต่ละเดือนนั้นจะมีรูปแบบและธรรมเนียมปฏิบัติแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน
  • ปอยส่างลอง ประเพณีการบวชเณรสำคัญของชาวไทใหญ่ ที่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

1.จองอูพะก่าแวง กวีวัฒน์ เป็นผู้สร้างเจดีย์วัดกลางทุ่ง บริเวณก่อนที่จะสร้าง คือ สวนกล้วย ก่อนที่จะสร้างนั้นจองอูพะก่าแวง กวีวัฒน์ ได้ฝันถึงภรรยาที่เสียชีวิตว่านางต้องการให้สร้างเจดีย์บริเวณสวนกล้วยแห่งนี้ จองอูพะก่าแวง กวีวัฒน์ ได้นิมนต์พระที่วัดนาบอนมาจำพรรษา โดยการสร้างกุฎีหลังเล็กให้แล้วตั้งชื่อว่า จองปุ๊กป่าโหย่ง ต่อมามีศรัทธาหลายคนดำเนินการขยายวัดให้ใหญ่ขึ้นในยุคสมัยต่อมา

ทุนวัฒนธรรม

  • วัดกลางทุ่ง เป็นวันที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2448 เดิมชื่อว่า จองปุ๊กป่าโหย่ง และได้เปลี่ยนเป็น "วัดกลางทุ่ง" เนื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ชาวบ้านจึงเรียกติดปากต่อกันมาว่า วัดกลางทุ่ง เมื่อ พ.ศ. 2516 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เขตวิสุงคามสีมา ใน พ.ศ. 2521 จึงมีการรื้อถอนอาคารเดิมแล้วปลูกสร้างศาลาการเปรียญขึ้น ตัวอาคารศาลาการเปรียญมีขนาดกว้าง 34 เมตร ยาว 34 เมตร มีรูปทรงเป็นศิลปะแบบจีนผสมไทยใหญ่ เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นกระดาน หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ หน้าต่างบานกระจก เสาประดับลวดลายดอกทำด้วยกระจกใส และกระจกเงามีสีสันต่าง ๆ เงางามน่าเลื่อมใส และก่อสร้างอุโบสถ หอระฆัง ศาลาจำศีล และปรับภูมิทัศน์ภายในวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
  • ปอยข้าวหย่ากู๊ เป็นการร่วมมือของบุคคลในชุมชนป๊อกตะวันออกและหมู่บ้านใกล้เคียง คือ บ้านท่าโป่งแดง บ้านใหม่ ที่ร่วมสมทบข้าวสาร น้ำอ้อย น้ำมัน น้ำตาลทรายและอื่น ๆ ในการทำปอยข้าวหย่ากู๊ เพื่อนำไปแจกจ่ายแกชุมชนต่าง ๆ ในงานเทศกาลของชุมชน ซึ่งเป็นการเรียกนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง
  • สินค้าชุมชน โคม ทางเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนได้มีการจัดอบรมการทำโคมให้กับตัวแทนชุมชนและทางชุมชนได้นำมาต่อยอดการทำโคมเพื่อจำหน่าย ซึ่งผลิตโดยชาวชุมชนป๊อกตะวันออก

เนื่องจากประชากรในชุมชนป๊อกตะวันออกเป็นชาวไทใหญ่จึงมีการใช้ภาษา "ไทใหญ่" ในการสื่อสารพูดคุยในชุมชน เป็นการใช้ภาษาไทใหญ่แบบสังคมปกติ แต่ก็มีบ้างที่จะสลับการใช้ภาษาคำเมืองกับภาษาไทยกลางหรือภาษาของชาติพันธุ์อื่น ๆ ขึ้นอยู่กับผู้ร่วมสนทนาหรือจุดประสงค์ในการสื่อสาร แต่ในภาพรวมภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมากที่สุด คือ ภาษาไทใหญ่ และภาษาไทใหญ่นั้นอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตของชาวชุมชนป๊อกตะวันออกอย่างแน่นแฟ้น กล่าวคือ สามารถพบภาษาไทใหญ่ได้ในวรรณกรรมทางศาสนา เช่น บทอ่านธรรมะ คำให้พร และคำกล่าวในงานบุญต่าง ๆ


การพัฒนาชุมชนไปสู่ความทันสมัย ชุมชนป๊อกตะวันออกเป็นชุมชนชาวไทใหญ่ที่มีความเชื่อสืบต่อกันมาและเป็นการเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้ก่อนที่จะมีการพัฒนาความเป็นเมืองเข้าไป ซึ่งในอดีตพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ป่าไม้ ห้วย ลำคลอง ถึงแม้ในบริเวณที่ชุมชนป๊อกตะวันออกอาศัยอยู่จะเป็นที่ราบ แต่ก็เป็นที่ราบที่มีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยธรรมชาติมากมาย มีการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติและสนิทชิดเชื้อกับบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ภายหลังการพัฒนาความเป็นเมืองเข้ามาทำให้ความเจริญในด้านต่าง ๆ ตามเข้ามาด้วย พื้นที่ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติถูกรุกล้ำมากยิ่งขึ้น มีการถางป่าเพื่อใช้พื้นที่ และยังมีการสร้างท่าอากาศยาน ถึงแม้จะเป็นการนำความเจริญเข้ามายังพื้นที่ก็ตาม แต่ชุมชนที่มีความสนิทชิดเชื้อกันก็เริ่มห่างหายกันไป วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณก็ถูกความเชื่อใหม่ ๆ เข้ามาทำให้อัตลักษณ์เดิมที่มีอยู่ค่อย ๆ สูญหายไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จันทกานต์ สิทธิราช, ธนพร หมูคํา, ศรีวิไล พลมณี และประเทือง ทินรัตน์. (2564.) การดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน. วารสารรามคำแหง. 40(1), 23-48.

เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน. (2565). ข้อมูลองค์กร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.mmhs.go.th/files/------------.pdf

ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2554). วัดกลางทุ่ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://www.m-culture.in.th/

Museum Thailand. (2559). พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.museumthailand.com/th/museum/Maehongson-Living-Museum