หนึ่งเดียวในสยามที่ม้าน้ำอยู่ร่วมกับชุมชนได้
สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "ทองตุ่มใหญ่" จึงมีการนำตุ่มน้ำทาสีทองไปตั้งไว้บนโขดหินริมอ่าว
หนึ่งเดียวในสยามที่ม้าน้ำอยู่ร่วมกับชุมชนได้
หมู่บ้านท้องตมใหญ่เป็นชุมชนชาวประมงที่มีประวัติการค้นพบยาวนานไม่ต่ำกว่า 400 ปี ตามหลักฐานว่ามีคนจีนที่อพยพมาจากเกาะไหหลำ ประเทศจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพประมง เพราะเห็นว่ามีภูมิประเทศเป็นอ่าวลึกเหมาะแก่การหลบคลื่นลมในฤดูมรสุม ผู้คนในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ และในหมู่บ้านมีศาลเจ้ากวนอูที่เรียกกันว่า "เจ้านาย" ศาลเจ้ากวนอู มีประเพณีถือศีลกินเจในช่วงเดือนตุลาคมทุกปี นอกจากนี้คนในชุมชนยังให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำด้วยการทำพิธี "บวชทะเลท้องตมใหญ่ สงวนรักษาร้อยล้านชีวิต" ซึ่งเป็นพิธีที่มีที่บ้านท้องตมใหญ่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
ชื่อบ้านท้องตมใหญ่ สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "ทองตุ่มใหญ่" จึงมีการนำตุ่มน้ำทาสีทองไปตั้งไว้บนโขดหินริมอ่าว มีชาวบ้านอยู่อาศัยในบ้านท้องตมใหญ่มาแล้วไม่ต่ำกว่า 400 ปี ส่วนม้าน้ำจำนวนมากในอ่าวท้องตมใหญ่ก็มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งชุมชน จนได้รับการยกให้เป็น "หนึ่งเดียวในสยามที่ม้าน้ำอยู่ร่วมกับชุมชนได้" บ้านท้องตมใหญ่ยังมีบ่อน้ำจืด 3 บ่อ คือ บ่อกิน บ่ออาบ บ่อซักผ้า รวมทั้งยังมีจุดอาบน้ำใต้หินในลักษณะเปิดโล่งสำหรับผู้ชาย ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ในซอกหินมีน้ำทะเลท่วมถึงทุกวัน และน้ำทะเลจะกลายเป็นน้ำจืดเอง อาชีพส่วนใหญ่ของบ้านท้องตมใหญ่ คือ ทำประมงด้วยเรือหางยาว ตกหมึก วางอวนปลา อวนกุ้ง อวนปู สวนยาง สวนปาล์ม และการให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม
บ้านท้องตมใหญ่ ตำบลด่านสวี อําเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย เป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดทะเลฝั่งตะวันออกอ่าวไทย เป็นหมู่บ้านที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีเกาะรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เกาะมัดหวายน้อย เกาะมัดหวายใหญ่ หาดทรายรีสวี เกาะคางเสือ เกาะหลังห้า เกาะมะพร้าว เกาะมุก หาดอรุโณทัย เกาะคราม เกาะพิทักษ์ เกาะกุลา เกาะหนู เกาะยูง อ่าวคราม อาณาเขตและบริเวณใกล้เคียงติดกันกับอำเภอทุ่งตะโก บ้านท้องตมใหญ่ ห่างจากตัวเมืองชุมพร 57.7 กิโลเมตร ในอำเภอสวีมีสถานีรถไฟ และในพื้นที่บ้านท้องตมใหญ่ก็มีวัดท้องตมใหญ่
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะของทะเลของหมู่บ้านท้องตมใหญ่ เป็นอ่าวโค้งเป็นรูปเกือกม้า มีความกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นโขดหินเรียงรายตามไหล่เขา มีหาดทรายในระยะ 2-3 กิโลเมตร ด้านในเป็นป่าชายเลนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์
จากข้อมูลโครงการแนวทางบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยชุมชนบ้านท้องตมใหญ่ ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ปี 2560 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านท้องตมใหญ่ว่ามีจำนวนประชากรประมาณ 652 คน มีประมาณ 170 หลังคาเรือน
ในชุมชนบ้านท้องตมใหญ่ มีการจัดการโครงสร้างทางสังคมของกลุ่มชุมชนในการมุ่งไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยว มีการตื่นตัวเนื่องจากกระแสของคนในสังคม และมีการพัฒนาท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ๆ ซึ่งการท่องเที่ยวในชุมชนจึงเป็นทางเลือกใหม่และอีกช่องทางหนึ่งที่มุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือ การท่องเที่ยวซึ่งเกิดจากความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรท่องเที่ยวหรือได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของหรือผู้ดูแลรับผิดชอบทรัพยากรการท่องเที่ยว สมาชิกในชุมชนท้องถิ่นนี้มีส่วนร่วมในการจัดการตลอดจนกระบวนการ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่ในทางเศรษฐกิจ กลุ่มอาชีพที่น่าสนใจในบ้านท้องตมใหญ่ มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวกับทะเลที่เน้นการอนุรักษ์ ได้แก่ การปลูกป่าชายเลน ตกปลา ตกหมึก ดำน้ำดูปะการัง ชมม้าน้ำ และกิจกรรมประจำปี
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
กิจกรรมที่เป็นกิจกรรมประจำปี คือ งานบวชทะเลหรือการทำซั้งบ้านปลา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการจัดแต่ละปีมีจุดประสงค์ คือ เป็นเครื่องมือให้สมาชิกในชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณอ่าวท้องตมใหญ่ ชุมชนบ้านท้องตมใหญ่จึงเป็นที่ที่เหมาะสำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนเงื่อนไขการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบที่จะช่วยกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มุ่งให้มีการจัดการที่ยั่งยืนครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร การจัดการสิ่งแวดล้อม การป้องกันและกำจัดมลพิษ การจัดการสมรรถนะของการรับรองในระบบนิเวศ รวมทั้งการควบคุมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีขอบเขต
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
มีการสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิดการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับความคิดเห็นและความต้องการของสมาชิกในชุมชน ได้แก่ การสร้างระบบการจัดการขยะที่ถูกต้องสุขลักษณะ การบำบัดน้าเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งปรับปรุงแนวคิดจากชุมชนเกาะพิทักษ์กิจกรรมการเสริมสร้างการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตสินค้า
ทุนวัฒนธรรม
รูปปั้นม้าน้ำและตุ่มน้ำสีทอง
เป็นลักษณะเด่นของหมู่บ้านท้องตมใหญ่ สูงประมาณ 3 เมตร และ 1.5 เมตร ตั้งอยู่บนโขดหิน บ้านท้องตมใหญ่เป็นหมู่บ้านชาวประมงริมทะเลในอ่าวรูปเกือกม้า ตั้งอยู่บริเวณสะพานปลาของหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่มักปลูกบ้านเรือนยื่นลงไปทะเล วิถีชีวิตจึงผูกพันธ์อยู่กับทะเลอย่างแนบแน่น และยังมีการทำที่พักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นบ้านที่ชาวบ้านอาศัยอยู่จริง ไม่ได้สร้างขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวและให้บริการนักท่องเที่ยวแบบได้สัมผัสธรรมชาติที่แท้จริง และยังมีการนำท่องเที่ยวภายในชุมชนมีกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง เช่น ตกหมึก ดำน้ำ เล่นน้ำชายหาด พายคายัก กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย
ทุนธรรมชาติ
บ้านท้องตมใหญ่ยังมีบ่อน้ำจืด 3 บ่อ คือ บ่อกิน บ่ออาบ บ่อซักผ้า รวมทั้งยังมีจุดอาบน้ำใต้หิน ในลักษณะเปิดโล่งสำหรับผู้ชาย ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ในซอกหิน มีน้ำทะเลท่วมถึงทุกวัน และน้ำทะเลกลายเป็นน้ำจืดเอง
หมู่บ้านท้องตมใหญ่เป็นชุมชนชาวประมงที่มีประวัติการค้นพบยาวนานไม่ต่ากว่า 400 ปี ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า มีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาของคนจีนที่อพยพมาจากเกาะไหหลำ เข้ามาตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพชาวประมง เพราะเห็นว่ามีภูมิประเทศเป็นอ่าวลึกเหมาะแก่การหลบคลื่นลมในฤดูมรสุม มีการซึมซับภาษาจีนจากคนจีนที่อพยพเข้ามา แต่คนพื้นเมืองในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ และในหมู่บ้านมีศาลเจ้ากวนอูที่เคารพนับถือเรียกชื่อกันว่า “เจ้านาย” ถึงจะมีคนจีนอพยพและได้รับอิทธิพลภาษาจีนเข้ามาแต่คนหมู่บ้านท้องตมใหญ่ก็ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเป็นภาษาหลัก
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของสังคมในบ้านท้องตมใหญ่ คนในชุมชนต้องปรับตัวเพราะแนวคิดการจัดการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นที่ยอมรับในสังคม ทำให้คนในพื้นที่ต้องตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลง และการเกิดขึ้นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนในพื้นที่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น กำหนดทิศทางการพัฒนามากขึ้น ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษชน โดยให้สิทธิเท่าเทียมกัน โดยการให้มีการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนซึ่งประชาชนในชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ การทำเช่นนี้ก็เป็นการปรับตัวให้เท่าทันโลกสมัยใหม่และต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาชื่นชมความสวยงามของเมืองไทย
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2566). บ้านท้องตมใหญ่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
ชรินทร ศรีวิฑูรย์, วัชรินทร์ แสวงการ และคณะ. (2560). โครงการแนวทางบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านท้องตมใหญ่ ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร. รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
เทคโนโลยีชาวบ้าน. (2566). หนึ่งเดียวในสยามม้าน้ำอยู่ร่วมกับชุมชน ที่บ้านท้องตมใหญ่ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.technologychaoban.com/