Advance search

ห่างออกไปจากตัวเมืองแพร่ไม่ไกลนัก มีชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งแห่งเดียวในประเทศไทยที่ผู้คนยังคงสื่อสารด้วยภาษาอึมปี้ท่ามกลางความหลากหลายของชาติพันธุ์และภาษาของชุมชนใกล้เคียง ผู้คนที่นี่ยังคงสืบสานภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็เรียนรู้รับปรับตัวกับพลวัตทางวัฒนธรรมประเพณีที่อยู่รายล้อมได้อย่างลงตัว

หมู่ที่ 4, 8
บ้านดง
สวนเขื่อน
เมืองแพร่
แพร่
เทศบาลตำบลสวนเขื่อน โทร. 0-5464-5688
วิไลวรรณ เดชดอนบม
21 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 มี.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 มี.ค. 2024
บ้านดง

ในอดีตชาวบ้านไม่กล้าออกมาพบปะหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกเท่าใดนักเนื่องจากความแตกต่างด้านวิถีชีวิต ประกอบกับที่ตั้งหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในป่าในดง จึงถูกเรียกว่า "คนดง" และกลายมาเป็นชื่อ “บ้านดง ในปัจจุบัน


ห่างออกไปจากตัวเมืองแพร่ไม่ไกลนัก มีชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งแห่งเดียวในประเทศไทยที่ผู้คนยังคงสื่อสารด้วยภาษาอึมปี้ท่ามกลางความหลากหลายของชาติพันธุ์และภาษาของชุมชนใกล้เคียง ผู้คนที่นี่ยังคงสืบสานภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็เรียนรู้รับปรับตัวกับพลวัตทางวัฒนธรรมประเพณีที่อยู่รายล้อมได้อย่างลงตัว

บ้านดง
หมู่ที่ 4, 8
สวนเขื่อน
เมืองแพร่
แพร่
54000
18.12698953
100.1999031
เทศบาลตำบลสวนเขื่อน

ประวัติความเป็นมาของชาวก่อ (อึมปี้) บ้านดงนั้นไม่มีปรากฏบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแน่ชัด มีเพียงแต่เรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาก่อนได้รับการจดบันทึกด้วยอักษรไทยในภายหลัง ซึ่งได้กล่าวถึงต้นกำเนิดบรรพบุรุษชาวก่อ (อึมปี้) ในดินแดนไทยที่อพยพมาจากสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่าใน พ.ศ. 2189 มีชาวก่อ (อึมปี้) จำนวนหนึ่งอพยพไปยังเมืองพรหม หรือเมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมาใน พ.ศ. 2225 เจ้าหลวงพิมพิสาร หรือเจ้าขาเค เจ้าเมืองแพร่ในขณะนั้นได้ยกทัพไปตีเมืองพรหมได้รับชัยชนะ แล้วได้กวาดต้อนเชลยจากเมืองพรหม ส่วนหนึ่งในนั้นคือชาวก่อ (อึมปี้) ให้มาอยู่ที่บ้านสะเกิน ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ทำหน้าที่ผสมดินปืนใช้ในการรบ จากนั้นได้กวาดต้อนชาวก่อ (อึมปี้) อีกจำนวนหนึ่งมายังบ้านคอกม้า หรือบ้านใต้ หรือปัจจุบันคือบริเวณบ้านดงที่ชาวก่อ (อึมปี้) อาศัยอยู่ โดยในขณะนั้นชาวก่อ (อึมปี้) ได้รับหน้าที่เป็นคนเลี้ยงม้า เลี้ยงช้าง อันเป็นสัตว์พาหนะให้แก่เจ้าเมืองแพร่

พ.ศ. 2445 เกิดเหตุกบฏเงี้ยว ซึ่งเจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ในขณะนั้นต้องสงสัยจากศูนย์กลางรัฐสยามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เจ้าหลวงจึงได้พาบริวารเว้นแต่ชาวก่อ (อึมปี้) หลบหนีไปยังหลวงพระบาง ชาวก่อ (อึมปี้) ที่ถูกทิ้งไว้ไม่ได้ทำหน้าที่เลี้ยงม้า เลี้ยงช้างดังเดิม บางคนจึงหันมาทำเกษตรกรรม บ้างต้องออกไปรับจ้างเพื่อเลี้ยงชีพ เป็นเหตุให้ชาวก่อ (อึมปี้) เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกผ่านการแต่งงานและย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านดง ส่งผลให้บ้านดงเริ่มเกิดการขยายตัวเนื่องมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน

“คนดง” เป็นชื่อแรก ๆ ที่คนภายนอกใช้เรียกชาวก่อ (อึมปี้) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากคนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะภาษาซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสําคัญที่ทําให้ชาวก่อ (อึมปี้) บ้านดงสมัยก่อนไม่กล้าออกมามีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างกลุ่มเท่าใดนัก เนื่องจากพูดภาษาแตกต่างจากคนพื้นเมือง สื่อสารกันไม่เข้าใจ ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก ประกอบกับหมู่บ้านนั้นตั้งอยู่ในป่าในดง เป็นเหตุให้ถูกเรียกว่า คนดง และกลายมาเป็นชื่อ บ้านดง ในปัจจุบัน

บ้านดงตั้งอยู่ในเขตการปกครองตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 4 บ้านดงเหนือ และหมู่ที่ 8 บ้านดงใต้ ภูมิประเทศของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบอุดมสมบูรณ์ มีลำน้ำแคมเป็นลำน้ำสายหลักสำหรับใช้ในการเกษตรทั้งการทำไร่ ทำนา และใช้ในชีวิตประจำวัน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านโป่งศรี ตำบลบ้านถิ่น
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหนองแขม ตำบลป่าแดง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสวนเขื่อน ตำบลสวนเขื่อน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหัวฝาย ตำบลกาญจนา

ด้านสภาพภูมิอากาศมีลักษณะเป็นแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน อยู่ในเขตร่องอากาศเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกชุก อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีน มีอากาศหนาวในช่วงฤดูหนาวและค่อนข้างแห้งแล้งในช่วงฤดูร้อน

บ้านดง ตั้งอยู่ในเขตการปกครองตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 4 บ้านดงเหนือ และหมู่ที่ 8 บ้านดงใต้ เดิมทีบ้านดงมีเพียงหมู่เดียว คือ หมู่ที่ 8 เดิมเรียกว่า บ้านคอกม้า เนื่องจากในอดีตชาวบ้านมีอาชีพเลี้ยงม้า แต่ต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงเกิดการขยายเขตการปกครองออกไปอีกหมู่หนึ่ง คือ หมู่ที่ 4

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านดง ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 655 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 303 คน ประชากรหญิง 352 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 270 ครัวเรือน และหมู่ที่ 8 บ้านดงใต้ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 432 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 221 คน ประชากรหญิง 211 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 156 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ชาวบ้านในชุมชน คือ ชาวก่อ (อึมปี้)

ก่อ (อึมปี้)

ชาวบ้านดงในอดีตมีอาชีพเป็นคนเลี้ยงม้า เลี้ยงช้าง เพื่อเป็นสัตว์พาหนะให้แก่เจ้าหลวงเมืองแพร่ แต่ภายหลังเลิกอาชีพนี้ไป การเกษตรจึงเป็นอาชีพใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการเลี้ยงชีพ โดยในการทำเกษตรนั้นส่วนมากแล้วเป็นการเกษตรเพื่อยังชีพ ผลผลิตส่วนเกินที่เหลือจากการบริโภคชาวบ้านจะนำออกมาแบ่งให้บ้านอื่นบ้าง หรือบ้างก็นำออกไปขายที่ตลาดใกล้บ้าน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนเริ่มไม่สืบทอดอาชีพเกษตรกรต่อจากพ่อ แม่ หรือคนในครอบครัว แต่หันไปหาแนวทางการประกอบอาชีพใหม่นอกหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทในตัวเมืองแพร่ รับราชการ รับจ้างทั่วไป เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการทำไม้กวาด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แม้ปัจุบันอาชีพการทำไม้กวาดขายจะลดน้อยลงแต่ก็ยังคงถือเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของชาวบ้านดง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

ศาสนาและความเชื่อ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชาวก่อ (อึมปี้) มีการนับถือเทวดา (ไม่ใช่ผี) เรียกว่า ออลอ เชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนสรวงสวรรค์ ในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมและในวันสงกรานต์ จะมีการไหว้ออลอ โดยมีอ๊ะลาวู้ หรือ ปู่แจ้ เป็นผู้ประกอบพิธี กล่าวกันว่าอ๊ะลาวู้นี้นอกจากจะเป็นผู้นำในการประกอบพิธีไหว้ออลอแล้ว ยังสามารถรักษาโรคผ่านการไหว้ออลอเป็นพิเศษได้ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันออลอและอ๊ะลาวู๊ยังคงมีความสำคัญอยู่ ทว่า ความเชื่อและความเคร่งครัดของพิธีกรรมที่เคยปฏิบัติเริ่มผ่อนคลายลง มีการประกอบพิธีกรรมเพียงเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมมากกว่าที่จะแสดงถึงความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันมีสาเหตุมาจากชาวบ้านดงส่วนใหญ่เริ่มหันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมากขึ้น

ประเพณีและพิธีกรรมสำคัญ

  • พิธีกินข้าวใหม่ หลังเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายนแล้ว ชาวบ้านจะนำข้าวสารหรือข้าวเปลือกที่ได้จากการเก็บเกี่ยวไปทำบุญที่วัด ถือเป็นการทานข้าวใหม่เพื่อขอพรให้การทำนาครั้งต่อไปประสบความสำเร็จ ได้ผลผลิตดี
  • ประเพณีสงกรานต์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี วันแรกคือวันที่ 13 เรียกว่า วันร่อง ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเพื่อต้อนรับปีใหม่ (ไทย) วันที่ 14 เรียกว่า วันเน่า จะมีการประกอบอาหารคาวหวานเตรียมนำไปไหว้ บ้านเทวดา และนำไปทำบุญที่วัดในเช้าวันที่ 15 หรือ วันพญาวัน ในวันนี้จะมีการสรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร และพิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ให้แก่ตนเองด้วย
  • พิธีตานเฮือนน้อย ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญที่จัดขึ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายในพิธีเสียศพ โดยการสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ขึ้น ภายในบรรจุข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน การตานเฮือนน้อยไม่ได้กระทำเฉพาะในงานศพเท่านั้น แต่สามารถกระทำได้ตามโอกาสสำคัญหรือช่วงวันสำคัญต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา เช่น วันออกพรรษา
  • พิธีไหว้เทวดา จัดขึ้นประมาณวันที่ 16 เมษายนของทุกปี เป็นพิธีกรรมที่สืบเนื่องมาจากคติความเชื่อดั้งเดิมของชาวก่อ (อึมปี้) คือ การนับถือเทวดา หรือ ออลอ พิธีกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบทอดคติความเชื่อและขนบธรรมเนียมดั้งเดิม เป็นการสักการะ บอกกล่าวต่อเทวดาให้ช่วยคุ้มครองหมู่บ้านให้เกิดความเป็นสิริมงคล สร้างเจตคติของผู้คนให้น้อมนำและกระทำแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่ถูก สิ่งที่ควร อันจะนำมาสู่ความสุขสงบของหมู่บ้านต่อไป
  • พิธีทำสังคหะ เกิดจากความเชื่อของชาวบ้านดงที่ว่า คนเราอยู่ภายใต้อิทธิพลของดาวนพเคราะห์ เมื่อมีเคราะห์จึงต้องทำพิธีส่งเคราะห์เป็นรายบุคคล เพราะเชื่อ ว่าจะช่วยให้พ้นจากเคราะห์และความวิบัติต่าง ๆ โดยปกติวันประกอบพิธีจะกำหนดตรงกับวันแรม 7 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี

ทั้งนี้ เนื่องด้วยชาวก่อ (อึมปี้) บ้านดง มีความเชื่อเรื่องท้าวทั้งสี่ผู้ทำหน้าที่ปกป้องดูแลวงจรชีวิตของคนในชุมชน ฉะนั้นแล้วก่อนการประกอบพิธีกรรมหรืองานมงคลใด ๆ จะต้องขึ้นท้าวทั้งสี่เสียก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งแก่ตนเองและครอบครัว

ลักษณะบ้านเรือน

ลักษณะบ้านเรือนโดยทั่วไปที่พบในหมู่บ้านดงนั้นมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมภายนอก ทั้งแบบบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนสองชั้น บ้านปูนชั้นเดียวแบบสมัยใหม่ โดยจะจัดให้มีพื้นที่รอบบ้านเอาไว้สำหรับปลูกผักสวนครัว ปลูกต้นไม้ ดอกไม้นานาชนิดไว้ภายในรั้วบ้าน อีกทั้งบางบ้านจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สร้างเป็นคอกหมูสำหรับหมูที่เลี้ยงไว้ขายด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปัจจุบันชาวบ้านดงมีภาษาที่ใช้ในการสื่อสารหลายภาษา ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นกำลังสื่อสารกับใคร การสื่อสารกับคนในชุมชนหรือกลุ่มชาวก่อ (อึมปี้) ด้วยกันจะใช้ภาษาอึมปี้ ส่วนการสื่อสารกับคนนอกชุมชนหรือการติดต่อราชการจะใช้ภาษาคำเมืองและภาษากลาง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ก่อ (อึมปี้) เป็นการกำหนดชื่อเรียกของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่างสองชุมชน คือ ชาวอึมปี้ บ้านดง จังหวัดแพร่ ที่ไม่รู้จักคำว่า "ก่อ" และชาวก่อบ้านสะเกิน จังหวัดน่าน ที่ไม่รู้จักคำว่า "อึมปี้" ทว่า ในมิติด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองหมู่บ้านมีประวัติความเป็นมาร่วมกัน นับเป็นญาติพี่น้องที่มีการไปมาหาสู่กันและพูดภาษาเดียวกัน ทั้งสองชุมชนจึงมีมติร่วมกันให้ใช้คำว่า "ก่อ" เป็นชื่อเรียก แต่ให้มีวงเล็บ "อึมปี้" ห้อยท้ายเป็น "ก่อ (อึมปี้)" เพราะมีงานวิชาการหลายหน่วยงานก่อนหน้านี้ใช้คำว่า "อึมปี้" มาก่อนแล้ว 

ธีรภพ เขื่อนสี และคณะ. (2553). สร้างระบบตัวเขียน:สืบชะตาภาษาอึมปี้บ้านดง ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่.  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). ชนเผ่าพื้นเมือง ก่อ อึมปิ้. ใน โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. (น. 13-23). (ม.ป.ท.).

รวิชญา เที่ยงบูทวี. (2563). การฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อึมปี้ บ้านดง ท่ามกลางวิกฤตสังคมและวัฒนธรรม. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร. 

เทศบาลตำบลสวนเขื่อน โทร. 0-5464-5688