"ฮอมผญ๋าสาสบหก" คลังความรู้แห่งภูมิปัญญาสาสบหก แหล่งสั่งสมภูมิปัญญาบรรพชนชาวละว้า รวมตัวสืบทอดเจตนารมณ์การดูแลป่าสู่การกอบกู้วิกฤตทรัพยากรด้วยประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำ ดังวิสัยทัศน์ชุมชนว่า "บ้านสาสบหก อนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการที่ดี ครอบครัวชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง"
ในอดีตบริเวณม่อนก๋องข้าวซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของหมู่บ้านมีพืชเด่น คือ ไม้ไผ่หก ชาวบ้านจึงเรียกลำน้ำบริเวณนี้ว่า "ห้วยหก" ซึ่งจะไหลจากป่ามาบรรจบกับแม่น้ำวัง จึงเรียกว่า "บ้านสบหก" ต่อมาขึ้นกับตำบลบ้านสา จึงนำคำว่า "สา" มานำหน้าให้เหมือนหมู่บ้านอื่นในตำบล เป็น "สาสบหก"
"ฮอมผญ๋าสาสบหก" คลังความรู้แห่งภูมิปัญญาสาสบหก แหล่งสั่งสมภูมิปัญญาบรรพชนชาวละว้า รวมตัวสืบทอดเจตนารมณ์การดูแลป่าสู่การกอบกู้วิกฤตทรัพยากรด้วยประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำ ดังวิสัยทัศน์ชุมชนว่า "บ้านสาสบหก อนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการที่ดี ครอบครัวชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง"
ประวัติความเป็นมาของบ้านสาสบหกตามตํานานเล่าว่ามีครอบครัวชาวนาชาวไร่จํานวนหนึ่ง อ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และเอกสารที่รวบรวมได้คาดว่าน่าจะเป็นชนพื้นเมืองชื่อว่า “ลัวะ” จากเนินฝั่งแม่น้ำวังที่ได้มาปักหลักตั้งถิ่นฐานที่ “ปงแดง” จากการหลบหนีการปล้นสะดมของโจรเงี้ยว โดยได้หลบหนีพวกโจรขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง ปัจจุบันชื่อว่า “ม่อนก๋องข้าว” หลังจากพ้นภัยพิบัติจึงลงมาตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่บ้านปงแดง จากนั้นก็ขยับมาทําไร่อยู่บริเวณปากน้ำห้วยแห่งหนึ่งที่ไหลมาจากเทือกเขาทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน โดยมีม่อนก๋องข้าวเป็นแหล่งต้นน้ำธรรมชาติ ม่อนก๋องข้าวนี้มีไม้ไผ่หกมากมาย จึงเรียกว่า “ห้วยหก” และห้วยหกนี้จะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำวัง เมื่อชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือน ณ ปากลําห้วยจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านสบหก” (สบ หมายถึง พบ หรือประสบ) ในเวลาต่อมาบ้านสบหกได้ขึ้นอยู่กับเขตการปกครองตำบลบ้านสา จึงใส่คําว่า “สา” นําหน้าเข้าไปให้สอดคล้องกับหมู่บ้านอื่น ๆ เช่น บ้านสามัคคี บ้านสา บ้านสาแพะ ปัจจุบันจึงเรียกว่า “บ้านสาสบหก”
ย้อนกลับไปเมื่อช่วง พ.ศ. 2505 มีชุมชนขนาดใหญ่ชื่อว่า "บ้านสาหลวง" ตั้งอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำวังทางทิศตะวันออก มีที่ราบระหว่างภูเขาทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกอันเป็นยุทธศาสตร์ทําเลที่ดีต่อการทํามาหากิน ซึ่งนอกจากบ้านสาหลวงแล้วยังมีหมู่บ้านอื่น ๆ เช่น บ้านสบแนด บ้านหนอง บ้านฮ่องก่วง บ้านแพะป่าหมาก บ้านแพสาระปี ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่แถบนี้ด้วยเช่นกัน หมู่บ้านดังกล่าวนี้มีประชากรเพิ่มมากขึ้นทุกปี ประชากรบางส่วนจึงได้ขยับขยายออกจากพื้นที่ ประกอบกับในขณะนั้นกรมชลประทานได้ให้ชุมชนดังที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งอาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำวังอพยพออกจากพื้นที่ เนื่องจากต้องการเวนคืนที่ดินสร้างเขื่อนกิ่วลม แล้วให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ในที่ดินจัดสรรนิคมกิ่วลม ส่วนที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำวังก็มีหมู่บ้านเกิดขึ้นหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านสาแพะเหนือ บ้านสาแพะใต้ บ้านสามัคคี บ้านสา บ้านสาต่งทะล้า ซึ่งประชาชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ เหล่านี้ บางส่วนก็ได้ย้ายมาสบทบที่บ้านสาสบหกด้วย
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านสาสบหกตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างภูเขา บริเวณที่ราบเชิงเขาเทือกเขาดอยพระบาทด้านทิศตะวันตก มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและมีภูเขาล้อมรอบ อีกทั้งยังมีแม่น้ำวังไหลผ่าน ทำให้บ้านสาสบหกเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแป้นใต้ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านสา หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสาแพะเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านขอ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน
ทรัพยากรธรรมชาติ
ในอดีตบริเวณโดยรอบชุมชนบ้านสาสบหกบริบูรณ์ด้วยพรรณไม้อันถือเป็นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าทั้งไม้สัก ไม้เต็งรัง ไม้เบญจพรรณ รวมทั้งไม้ไผ่มากมายที่งอกเงยเจริญเติบโตโดยมีดอยม่อนก๋องข้าวเป็นแหล่งซับน้ำ แต่ปัจจุบันป่าไม้เหล่านี้ลดลงไปมากด้วยสาเหตุหลายประการ แม้จะนับได้ว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แต่ก็มิได้เท่าแต่ก่อน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านสาสบหก ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 420 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 200 คน ประชากรหญิง 220 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 139 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ชาวบ้านในชุมชน คือ ชาวลัวะ และคนพื้นเมืองเดิมที่ได้เข้ามาแต่งงานและอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน
ลัวะ (ละเวือะ)การประกอบอาชีพ
บ้านสาสบหกตั้งอยู่ในพื้นเกษตรกรรมที่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี เนื่องจากบริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีแม่น้ำวังไหลผ่านอยู่แล้ว ดังนั้น อาชีพหลักของชาวบ้านสาสบหกจึงเป็นการทำเกษตรกรรมเสียส่วนใหญ่ และสามารถทําได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการปลูกพืชผัก ไม้ผล เช่น บวบ ถั่วฝักยาว ฝรั่ง ลำไย มะม่วง ปลูกไม้สักบนหัวไร่ปลายนา ในสวนที่รกร้าง ในอดีตการทําเกษตรของชาวบ้านพึ่งน้ำฝนในการทําเกษตรเป็นหลัก เพราะไม่สามารถนำน้ำจากแม่น้ำวังขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ หากปีใดฝนตกน้อยข้าวที่ปลูกจะได้รับความเสียหายอย่างมาก จนบางครั้งชาวบ้านต้องนําผักไปแลกข้าวกับชาวบ้านอีกอําเภอ สาเหตุที่ชาวบ้านไม่สามารถนําน้ำจากแม่น้ำวังมาใช้เพื่อการเกษตรได้ เนื่องจากแม่น้ำวังอยู่ที่ในพื้นที่ราบต่ำกว่าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ทําให้ไม่สามารถนำน้ำเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรได้ อย่างไรก็ตาม สําหรับการปลูกพืชผักนั้นชาวบ้านสามารถใช้น้ำจากแม่น้ำวังได้บ้าง เนื่องจากผักต้องการน้ำน้อย ชาวบ้านสามารถหาบขึ้นมาใส่สวนผักได้หรือบางครั้งก็จ้างชาวบ้านด้วยกันเองช่วยหาบ แต่ปัจจุบันชาวบ้านสามารถสูบน้ำจากแม่น้ำวังเข้าสู่พื้นที่การเกษตรได้แล้ว เป็นเหตุให้การทำเกษตรกรรมไม่ต้องพึ่งแต่เพียงน้ำฝนอีกต่อไป
ปัจจุบันรูปแบบการทําเกษตรกรรมในชุมชนบ้านสาสบหกมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ การปลูกข้าวเพื่อการบริโภค และการปลูกผักเพื่อขาย ทั้งนี้ ช่วงของการทํานาจะเริ่มตั้งแต่ประมาณปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงประมาณปลายเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาวบ้านส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเหนียวเพื่อการบริโภคเป็นหลัก ข้าวเหนียวที่นิยมปลูก คือ กข 6 ส่วนข้าวเจ้าจะปลูกกันน้อยมาก หลังจากสิ้นสุดการปลูกข้าว ชาวบ้านจะเริ่มปลูกพืชผัก หอม กระเทียม พืชผักสวนครัว เพื่อนำไปส่งขายแก่พ่อค้าคนกลาง และบางส่วนก็นำไปจำหน่ายเองในตลาด เช่น ตลาดเช้าบ้านสา ตลาดเช้าบ้านแป้นรัตนา แต่จะเป็นการขายปลีกเท่านั้น นอกจากนี้บางส่วนจะถูกนำไปขายที่ตลาดเช้าในตัวอำเภอแจ้ห่มและตลาดระดับจังหวัด เช่น ตลาดบริบูรณ์ ตลาดเทศบาลเมืองลำปาง ซึ่งจะขายได้ราคาดีกว่าขายในตลาดของตำบล เนื่องจากจะมีทั้งการขายปลีกและขายส่ง
การรวมกลุ่มองค์กรชุมชน
ชาวบ้านสาสบหกได้ริเริ่มการรวมกลุ่มพัฒนาหมู่บ้านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เรียกการรวมกลุ่มนี้ว่า “จุ๊” หรือ “หมวด” ที่ก่อให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ตรงตามเป้าหมายของคนในชุมชนด้วยความมุ่งหวังให้ชาวบ้านทุกคนเกิดการพัฒนาในลักษณะการพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือและงบประมาณจากหน่วยงานภายนอก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบันบ้านสาสบหกมีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาหมู่บ้านมากมายหลายสิบกลุ่ม ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะบางกลุ่มที่ยังคงดำเนินการอยู่เท่านั้น ดังต่อไปนี้
1) กลุ่มเยาวชนฮักบ้านเฮา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 ดำเนินกิจกรรมนันทนาการ สร้างสรรค์ และสามัคคีเพื่อประโยชน์ของชุมชน เช่น แข่งขันกีฬาเยาวชนระดับตำบล ทำฝายชะลอน้ำ จัดสถานที่เมื่อชุมชนมีงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากกลุ่มเยาวชนแล้วยังมีกลุ่มยุวชนด้วย กิจกรรมที่กลุ่มทำคือ เก็บขวดขาย เพาะกล้าไม้ปลูกป่า ช่วยงานกลุ่มเยาวชน ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เด็ก ๆ ในชุมชนรู้คุณค่าของเงิน รักและสามัคคีกัน ตลอดจนรู้สึกหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน
2) กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยการสนับสนุนของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมและสร้างนิสัยการออมให้แก่คนในชุมชน
3) กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ ก่อตั้งขึ้นเพื่อ พ.ศ. 2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลสุขภาพและส่งเสริมด้านจิตใจสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน
4) กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลืองานฌาปนกิจของสมาชิก
5) กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนสาสบหก ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อลดรายจ่ายวันละ 1 บาท เป็นเงินออมสวัสดิการครบวงจรแก่สมาชิกทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุนการศึกษา ดูแลผู้ด้อยโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นทุนสำรอง (กองทุนกลาง) สำหรับเลี้ยงชีพด้วย
6) กลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยหก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2537 เพื่อจัดสรรการใช้น้ำห้วยหกให้เกิดประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการ
7) กลุ่มแม่บ้าน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อร่วมกันประกอบอาหารช่วยงานสำคัญในหมู่บ้าน และเป็นตัวแทนหมู่บ้านไปร่วมงานหรือกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ
8) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อดูแลสุขภาพของคนในหมู่บ้านเบื้องต้นและประสานงานสาธารณสุขระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขกับหมู่บ้าน
9) กลุ่มอนุรักษ์ป่าห้วยหก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2550 ด้วยจิตสำนึกอันดีที่ชาวบ้านสาสบหกมีต่อทรัพยากรธรรมชาติ จึงเกิดการรวมกลุ่มเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชน มีการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อให้ผืนป่าเกิดความชุ่มชื้น นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์เช่นในอดีต
10) กลุ่มเกษตรอินทรีย์
ทั้งนี้ นอกจากกลุ่มหลักที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บ้านสาบสบหกยังมีกลุ่มย่อย ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมประสบการณ์และความชำนาญของคนในชุมชนเข้ามาใช้ในการทำงานหนุนเสริมและเชื่อมโยงกันของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เกิดสถานีเรียนรู้ที่เรียกว่า “สถานีปลูกคิด ปันสุข ฮอมผญ๋าสาสบหก” (ฮอมผญ๋า หมายถึง รวมปัญญา) เป็นจุดเรียนรู้ 7 สถานี กระจายอยู่ในหมู่บ้าน ได้แก่ 1) สถานีเกษตรอินทรีย์ 2) สถานีพันธุ์ข้าว 3) สถานีถักทอชีวิตและมิตรภาพ ดำเนินการสร้างรายได้เสริมด้วยงานฝีมือ 4) สถานีโฮมสเตย์ สร้างบ้านพักสำหรับผู้มาเยือน 5) สถานีฝายเปลี่ยนชีวิต 6) สถานีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า รวบรวมความรู้ ประโยชน์ และการต่อยอดสู่รายได้ เช่น อาหารจากป่า เลี้ยงกบโดยใช้ประปาภูเขา ไก่ชนพลิกชีวิต การเลี้ยงผึ้งป่า และ 7) สถานีเครื่องจักสาน
ประเพณีสำคัญ
บ้านสาสบหกเป็นชุมชนที่มีความรุ่มรวยทางประเพณีและวัฒนธรรมอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากประเพณีวัฒนธรรมมากมายที่ปัจจุบันชาวบ้านยังคงปฏิบัติสืบทอดเพื่อดำรงรักษา ประเพณีต่าง ๆ เหล่านี้มีทั้งที่เป็นประเพณีดั้งเดิมและประเพณีที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา ตลอดจนประเพณีพื้นบ้านและประเพณีท้องถิ่นที่มีความคล้ายคลึงกับชุมชนใกล้เคียง ซึ่งโดยปกติแล้วบ้านสาสบหกจะมีการจัดประเพณีสำคัญต่าง ๆ ร่วมกันกับบ้านสาเหนือและบ้านสาใต้ ดังตัวอย่าง
1) ประเพณีตานข้าวใหม่ จัดขึ้นราววันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี คือ ช่วงที่เสร็จสิ้นจากฤดูกาลทำนา หลังเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้วจะมีการนำฟืนมาเรียงต่อกันเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายปราสาทหรือธรรมาสน์แบบโบราณ นำมาวางที่ลานวัด เรียกว่า “หลัวหิงหนาวพระเจ้า” เพื่อเตรียมเผาก่อนรุ่งเช้าของวันที่ 1 มกราคม นอกจากนี้จะมีการหุงข้าวใหม่มาถวายพระภิกษุ สามเณรที่วัด เชื่อว่าการหุงข้าวใหม่ให้พระภิกษุ สามเณรได้ฉันก่อน หรือผู้เฒ่าผู้แก่ได้รับประทานก่อนถือเป็นสิริมงคล หลังเสร็จพิธี คณะกรรมการหมู่บ้านจะนำข้าวที่ชาวบ้านนำมาถวายไปขายหรือให้บูชาในราคาถูก โดยผู้ที่ซื้อหรือบูชานั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ได้ทำนา เงินที่ได้จากการขายและบูชาข้าวจะนำไปเป็นกองทุนบูรณะวัดต่อไป
2) ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ จัดขึ้นในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่วัดสาญาณพลารามเพื่อทำพิธีสรงน้ำพระธาตุ โดยชาวบ้านจะนำน้ำขมิ้นผสมไม้ส้มป่อยมาสรงองค์พระธาตุเพื่อสักการบูชา ให้นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลและร่มเย็นเป็นสุขแก่ตนเองและครอบครัว
3) ประเพณีปีใหม่เมือง (สงกรานต์) จัดขึ้นในเดือน 7 เหนือ หรือเดือนเมษายนของทุกปี กิจกรรมที่ทำในวันนี้ คือ ทำความสะอาดบ้านเรือน ขนทรายเข้าวัด สรงน้ำพระธาตุ สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุและพ่อแม่ญาติพี่น้อง
4) ประเพณีบวชพระนาคแก้ว เป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งอดีต วัดเป็นสถานที่ประสิทธิประสาทความรู้ให้แก่ผู้บวชเรียน ผู้บวชเรียนจะได้เรียนธรรมด้วยตัวหนังสือไทยและตัวหนังสือเมือง ความรู้หลักธรรม คาถาต่าง ๆ ที่ถูกรวบรวมไว้ในคัมภีร์ใบลาน ตลอดจนพิธีกรรมหลายอย่างจากวัด ผู้ที่เคยบวชเรียนจึงได้รับการเคารพนับถือจากคนในชุมชน เพราะถือว่าเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม โดยหากผู้ใดประสงค์จะบวชพระนาคแก้วต้องมาแจ้งให้ทางวัดทราบก่อน จากนั้นจึงมาอยู่ที่วัดเพื่อศึกษาธรรมวินัย ท่องบทสวดต่าง ๆ ให้ได้จึงจะสามารถอุปสมบทได้ ก่อนวันอุปสมบท 3 วัน ผู้ที่อุปสมบทจะต้องไปบวชเป็นนาคก่อน จากนั้นชาวบ้านจะนำนาคแก้วขึ้นคอแห่รอบหมู่บ้านให้ครบสามหมู่บ้าน (บ้านสาสบหก บ้านสาเหนือ บ้านสาใต้) ขั้นตอนนี้เรียกว่า “ดา” หมายถึง การแห่ ซึ่งจะแห่กันวันละหมู่บ้าน เมื่อครบแล้วจึงนำนาคแก้วมาอุปสมบท แล้วจะเข้า/อยู่กรรม เป็นเวลา 3 หรือ 7 วัน ช่วงนี้พ่อแม่จะมานอนที่วัดเพื่อคอยดูแลเป็นผู้อุปัฏฐากจนครบวันที่กำหนด
5) ประเพณีแห่เทียนพรรษา ก่อนวันเข้าพรรษา 1-2 วัน ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัดเพื่อร่วมกันหล่อเทียนพรรษา เมื่อเสร็จพิธีหล่อเทียน วันต่อมาชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน (บ้านสาสบหก บ้านสาเหนือ บ้านสาใต้) จะนําเทียนที่หล่อขึ้นหรือซื้อจากร้านสังฆภัณฑ์แห่ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน เมื่อเสร็จพิธีแห่จึงนําเทียนเหล่านั้นมาถวายพระภิกษุ สามเณร เพื่อไว้จุดบูชาพระรัตนตรัยขณะสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ ในช่วงเข้าพรรษา
6) ประเพณีทานสลากภัตร จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 10 และสิ้นสุดในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 11 ในอดีตชาวบ้านจะเตรียมจักตอก สานตะกร้า ปัจจุบันนิยมใช้ถังหรือกะละมังสำหรับใส่อาหารคาว อาหารแห้ง ผลไม้ ขนมหวาน ฯลฯ ไปทําบุญที่วัด เมื่อชาวบ้านทั้งหมดเดินทางมาถึงวัดโดยพร้อมเพรียงกันแล้วจะเขียนชื่อ นามสกุล ที่อยู่ลงในเส้นสลาก (ใบลาน) จากนั้นจะทำพิธี “เวนตาน” คือการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มารับส่วนบุญ เมื่อเสร็จพิธีเวนตานพระภิกษุ สามเณรจะมาทำการอุปโลกน์ (ยก) เส้นสลาก แล้วเสี่ยงทายว่าจะได้เส้นสลากของเขตใด (บ้านสาสบหก บ้านสาเหนือ บ้านสาใต้) ก็ไปรับเขตนั้น เป็นอันเสร็จพิธี
7) ประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง) จะทํากันในวันเพ็ญเดือน 12 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าประเพณี “เทศน์มหาชาติ” กัณฑ์เทศน์มีทั้งหมดมี 13 กัณฑ์ จะเริ่มเทศน์ตั้งแต่ 2 ทุ่ม ไปจนถึงตี 1 ขณะเดียวกันชาวบ้านส่วนหนึ่งก็จะเตรียมตัวแห่โคมไฟสายหลากสีและแห่กัณฑ์เทศน์เพื่อมาถวายแก่พระภิกษุ สามเณร เมื่อขบวนมาถึงและทําพิธีถวายเสร็จ จึงร่วมกันจุดโคมไฟแล้วนําไปวางไว้รอบพระวิหาร จากนั้นจึงร่วมกันลอยกระทง ส่วนพระภิกษุ สามเณรก็ทําการเทศน์ต่อไปจนจบ
พิธีกรรมสำคัญ
พิธีกรรมสำคัญในชุมชนมีรากฐานมาจากความเชื่อเรื่องผีแล้วผสมผสานเข้ากับพิธีกรรมทางศาสนา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การคิดแบบผี แต่ทำแบบพุทธ โดยมีพิธีกรรมสำคัญ ดังนี้
1) พิธีกรรมเลี้ยงผีฝาย จัดขึ้นในช่วงก่อนเริ่มทำนา โดยการเลี้ยงผีฝาย ผีห้วย ผีเขา เหล่านี้เชื่อว่าจะทำให้ในปีนั้น ๆ มีน้ำไว้ใช้สอยในการเกษตรอย่างเพียงพอ และได้ผลผลิตดี
2) พิธีข้าวแฮก (แรกนา) ทำก่อนปลูกข้าวและหลังเก็บเกี่ยว เพื่อวิงวอนพระแม่ธรณี พระแม่โพสพ หรือผีนาให้ช่วยปกป้องคุ้มครองให้การทำนาประสบผลสำเร็จ ข้าวงอกงาม ไม่มีสัตว์มารบกวน
3) พิธีเลี้ยงผีเจ้าพญาลือ (ผีบรรพบุรุษ) ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ชาวบ้านทุกหมู่บ้านของตำบลบ้านสาจะมาร่วมกันทำพิธีเลี้ยงผีพญาลือเพื่อระลึกถึงคุณความดีที่ท่านช่วยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ไภยันอันตรายต่าง ๆ ไม่เข้ามากล้ำกราย
4) พิธีตานเปรตพลี จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลถึงบรรพบุรุษหรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ลักษณะการสร้างบ้านเรือน
รูปแบบการสร้างบ้านเป็นแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น ชั้นบนเป็นที่พัก ห้องนอน ห้องครัว ชั้นล่างยกใต้ถุนสูงเพื่อเก็บผลิตผลและเครื่องมือทางการเกษตร มีห้องน้ำแยกออกจากบ้านเรือน และต่อมามีวิวัฒนาการการก่อสร้างและรณรงค์การใช้วัสดุทดแทนการใช้ไม้ในการสร้างบ้านเพื่อลดการทำลายพื้นที่ป่ทา เช่น มีการสร้างบ้านด้วยอิฐ ปูน ใช้ไม้อัดทําฝาบ้าน สร้างรั้วจากไม้ไผ่ ต้นดอกชาทอง วิวัฒนาการดังกล่าวส่งผลให้ลักษณะบ้านแบบไทยดั้งเดิมค่อย ๆ เลือนหายไป ถูกแทนที่ด้วยบ้านที่ถูกสร้างแบบผสมผสานครึ่งปูนครึ่งไม้ และรูปแบบการสร้างบ้านแบบใหม่ที่มีความทันสมัยมากขึ้น
ปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน
1.นายดำ กลิ่นฟุ้ง
2.นายป๋า ตามเวลา
3.นายตา ณีวันกุล
4.นายสั้น การหมั่น
ปราชญ์ชาวบ้านด้านการประกอบพิธีกรรม
1.นายสนั่น อินตานันท์
2.นายพรม เป็นต้น
ปราชญ์ชาวบ้านด้านภูมิปัญญาการเป่าเสกและหมอสมุนไพร
1.นายคำ พูดสัตย์
2.นายเสาร์ ฟังเย็น
3.นายพรม เป็นต้น
4.นายอำนาจ เทียนทอง
ปราชญ์ชาวบ้านด้านดนตรีพื้นเมือง
1.นายป๋า ตามเวลา
2.นายคำ ตาคำ
3.นายแถม กลิ่นฟุ้ง
ภาษาพูด : ภาษาลัวะ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
ในอดีตบ้านสาสบหกเป็นชุมชนที่มีความรุ่มรวยทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก มีทรัพยากรพรรณไม้และสัตว์ป่านานาพันธุ์ในพื้นที่ป่ารอบชุมชน แต่ครั้งหนึ่งเคยประสบกับความเสื่อมโทรมอย่างหนักทั้งจากการตัดไม้มาสร้างที่อยู่อาศัย ตัดไม้มาขาย ตลอดจนการเผาทำลายด้วยสาเหตุบางประการ ทําให้ต้นไม้ต่าง ๆ ที่กําลังจะเจริญเติบโตต้องตายลง พื้นดินไม่มีใบไม้ปกคลุม โล่งเตียน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนในยามที่ฝนตกหนักก็ชะล้างตะกอนผิวดิน หินทราย ลงมาทับถมกันตามลําห้วย และไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรห้วยหกปีแล้วปีเล่า ส่งผลให้ลําห้วยตื้นเขิน มีแต่ทราย น้ำหลากไหลบ่าท่วมบ้านเรือน นับตั้งแต่ พ.ศ. 2547 อ่างเก็บน้ำห้วยหกก็ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่มากได้ดังเดิม เนื่องจากมีตะกอนทับถมกันมาก
ในปีงบประมาณ 2548-2549 ชุมชนบ้านสาสบหกได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสาและองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางเพื่อทำการขุดลอกตะกอออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยหก และในปีกลางปี 2550 มีหน่วยงานได้พาแกนนําหมู่บ้านเข้าค่ายอบรม ศึกษาดูงานที่ห้วยฮ่องไคร้ บ้านป่าสักงามที่จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดําริฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าจะสามารถนำมาดัดแปลงว่าจะบริการจัดการผืนป่าอันเป็นต้นน้ำลําธารของหมู่บ้านได้อย่างไร จึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำที่ยอดเขาลงมา ซึ่งการสร้างฝายชะลอน้ำในครั้งนี้สามารถบรรเทาความขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตรได้บ้าง จากนั้นชาวบ้านจึงตกลงกันว่าจะร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำทุก 2 เดือน
ปัจจุบันมีประปาภูเขาที่นำน้ำจากแหล่งต้นน้ำเข้ามาสู่ชุมชน พัฒนาแหล่งน้ำให้มีใช้ตลอดทั้งปี ด้วยความมุ่งหวังเพื่อให้ชุมชนมีความสัมพันธ์กับน้ำและป่ามากขึ้น อันจะส่งผลต่อการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะนำพาให้ชุมชนบ้านสาสบหกมีน้ำกิน น้ำใช้ทั้งเพื่อการอุปโภคและการเกษตรได้อย่างยาวนานและยั่งยืน
เจริญ เซมา และคณะ. (2553). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการสืบสานตำนานม่อนก๋องข้าวหมู่ 2 บ้านสาสบหก ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ธงชัย งามสม และคณะ. (2553). แนวทางการจัดการทรัพยากรป่าห้วยหก โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนหมู่ที่ 2 บ้านสาสบหก ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง).
บ้านสาสบหก. (2560). สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2559). ฮอมผญ๋าสาสบหก สถานีปลูกคิด ปันสุข ที่บ้านสาสบหก. ใน รวมผลงาน รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 17 (พ.ศ. 2558-2559). (น. 62-75). สุนทร ฟิล์ม.