ชุมชนประมงพื้นบ้าน ต้นแบบการดำเนินงานจัดการทรัพยากรชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน สู่การสร้างอาชีพจากพืชท้องถิ่นบนพื้นน้ำ "จักสานต้นคลุ้ม" ผลิตภัณฑ์ผลิตผลจากการอนุรักษ์
แต่เดิมบนภูเขาในหมู่บ้านมีถ้ำและแหล่งน้ำ เรียกว่า "วัง" ประกอบกับในบริเวณนี้มีไม้ไผ่ตงขึ้นอยู่มาก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก "บ้านวังตง" มาจนปัจจุบัน
ชุมชนประมงพื้นบ้าน ต้นแบบการดำเนินงานจัดการทรัพยากรชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน สู่การสร้างอาชีพจากพืชท้องถิ่นบนพื้นน้ำ "จักสานต้นคลุ้ม" ผลิตภัณฑ์ผลิตผลจากการอนุรักษ์
บ้านวังตงเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อใด หรือมีการอพยพอย่างไรมีไม่ปรากฏหลักฐานหรือเรื่องราวแน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่าได้รับจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการจัดตั้งตำบลนาทอนที่แยกออกมาจากตำบลทุ่งหว้า ด้านชื่อเรียกบ้านวังตงตามคำเล่าขานสืบต่อกันมานั้นมีว่า เดิมทีบนภูเขาในหมู่บ้านมีถ้ำและแหล่งน้ำอยู่ ชาวบ้านเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “วัง” ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีไม้ไผ่ตงขึ้นอยู่มาก เมื่อตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “วังตง” นับแต่นั้นมาจนปัจจุบัน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านวังเจริญราษฎร์ ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทุ่งเสม็ด ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล และมีป่าชายเลนติดต่อกับตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านท่าศิลา ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านวังตงมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มลาดเอียงจากทิศเหนือลงสูงทิศใต้ ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นที่ราบสูง บางส่วนมีอาณาเขตติดต่อกับป่าชายเลน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนกรวดซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูกทั้งทำนา ปลูกยางพารา ปลูกพืชผักนานาชนิด ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ก็ดี โดยดินในพื้นที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
- ดินนา เป็นดินที่พบบริเวณที่ราบลุ่ม ลักษณะเป็นดินเหนียวปนกรวด ซึ่งบางบริเวณมีความอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกผัก
- ดินโคก เป็นดินที่อยู่สูงกว่าระดับพื้นราบลุ่ม จึงระบายน้ำได้เร็ว เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เชาน ปลูกไม้ยืนต้น ยางพารา และปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ
- ดินเลน อยู่ติดกับแนวป่าชายเลน
สภาพภูมิอากาศ
สภาพอากาศในพื้นที่บ้านวังตงสามารถแบ่งได้ 2 ฤดูกาล เช่นเดียวกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่อื่นในภาคใต้ ได้แก่ ฤดูฝนและฤดูร้อน
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเรือ่ยไปจนพฤศจิกายน
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนเรื่อยไปจนเมษายน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านวังตง ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 821 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 424 คน ประชากรหญิง 397 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 260 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ชาวบ้านวังตงมีอาชีพหลัก คือ การทำเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับ 1 ที่ชาวบ้านทำเกือบทุกหลังคาเรือน หรือกว่าร้อยละ 70 คือ สวนยางพารา ส่วนพืชเศรษฐกิจที่ปลูกรองลงมา เช่น ปาล์มน้ำมัน เงาะ ลองกอง ทุเรียน มังคุด นอกจากนี้ ยังมีการทำนาข้าวแต่จะทำเพียงนาปีเท่านั้น ส่วนอาชีพเสริมอื่น ๆ ได้แก่ รับจ้าง ทำประมง เลี้ยงแพะ และค้าขาย โดยมีผลิตภัณฑ์เครื่องแกงตำมือและหัตถกรรมจักสาน เช่น จักสานต้นคลุ้ม เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงประจำชุมชน โดยเฉพาะงานจักสานต้นคลุ้ม ที่ในปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านวังตง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวบ้านวังตงส่วนใหญ่จะมีอาชีพหลัก คือ การทำเกษตรกรรม และมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นแหล่งรายได้ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ทว่า อย่างไรจากลักษณะภูมิประเทศที่ติดต่อกับป่าชายเลน การทำประมงจึงนับเป็นอาชีพเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาวบ้านวังตงมาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับปรุงกระบวนวิธีการทำประมงจากการทำประมงพื้นบ้านให้ทันต่อกาลสมัย สามารถหาสัตว์น้ำได้ในปริมาณมาก แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงอยู่ภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรอันเป็นเจตคติและความมุ่งหวังของชุมชน มีการทำบ่อและกระชังเลี้ยงปลา ทำคันดินและประตูน้ำเป็นตะแกรงระบายน้ำในป่าชายเลนเพื่อเพาะเลี้ยงปูดำ ปลากะพง หอยตาแดง หอยกัน เมื่อสัตว์โตขึ้น ชาวบ้านจะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อปล่อยลงสู่ป่าชายเลนให้เกิดการแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป
ทั้งนี้ บ้านวังตงได้สร้างตลาดจำหน่ายสัตว์น้ำ โดยเน้นจุดเด่นว่าเป็นการทำประมงโดยไม่ใช้เครื่องมือทำลายล้างหรือเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าประมงมากถึง 100,000 บาท
กลุ่มอาชีพในชุมชน
- กลุ่มเลี้ยงแพะ
- กลุ่มประมง+หอยนางรม
- กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน
- กลุ่ม อสม.
- กลุ่มสตรี
- กลุ่มออมทรัพย์
- ศูนย์กีฬาบ้านวังตง
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง
ชาวบ้านวังตงส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีมัสยิดบ้านวังตงเป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจ ส่วนชาวบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนาจะเดินทางไปประกอบศาสนกิจที่วัดทุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้หมู่บ้านมากที่สุด ส่วนประเพณีชุมชนที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานส่วนมากแล้วจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น
- ประเพณีเข้าสุนัตหมู่ จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ในระหว่างเดือนเมษายนของทุกปี
- ประเพณีฮารีรายอและอิดิลฟิตรี จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ประมาณเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม
- ประเพณีสงกรานต์ จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือนเมษายนของทุกปี
- ประเพณีโกนหัวขึ้นเปล จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือนเมษายนของทุกปี
- ประเพณีวันเมาลิด จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือนมีนาคมของทุกปี
ปราชญ์ชาวบ้านด้านภูมิปัญญาการรักษาโรค
1.นางจิต ชูชื่น (หมอนวดแผนไทย)
2.นายเจริญ หมื่นแป้น (หมอรักษาต้อตา)
3.นางสาเรี๊ยน ย่าเหล (หมอตำแย)
4.นายวรวรรศ์ เวชสิทธิ์ (หมอมนต์)
ปราชญ์ชาวบ้านด้านภูมิปัญญาการจักสาน
1.นางรอจ๊ะ แสงขาว (จักสานเสื่อเตยปาหนัน)
2.นางพรพิมล เมืองสง (จักสานกระเป๋าจากพลาสติก)
“ต้นคลุ้ม” ขุมทรัพย์จากป่าสู่ภูมิปัญญาสร้างอาชีพ
ต้นคลุ้ม คือพืชท้องถิ่นชนิดเดียวกับต้นคล้า ขึ้นอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างพื้นที่ใกล้ลำธาร ริมคลอง หรือท้องนา เป็นพืชที่คนไทยเราใช้ประโยชน์ในการประดิษฐ์เครื่องจักสานรูปแบบต่าง ๆ มาช้านาน เนื่องจากคุณสมบัติที่มีความแข็งแรง ทนทาน หลายชุมชนจึงมีการคิดริเริ่มนำต้นคลุ้มมาดัดแปลงเป็นงานหัตถกรรมจักสาน เช่นเดียวกับชุมชนบ้านวังตงซึ่งมีทรัพยากรต้นคลุ้มอยู่จำนวนมากในสวนยางพารา ประกอบกับในระยะหนึ่งราคายางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจเกิดตกต่ำ ทําให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงได้รวมตัวเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สนับสนุนให้คนในในชุมชนมีอาชีพเสริม และมีรายได้ที่มั่นคง จัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง” ดำเนินการทํากิจกรรมจักสานต้นคลุ้มอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และสมาชิกในชุมชนสามารถทําได้เกือบทุกคน
ปัจจุบัน งานหัตถกรรมจักสานต้นคลุ้มเป็นอาชีพหลักและรายได้หลักของสมาชิกกลุ่ม และมีการขยายผลต่อยอดโดยการนําภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย ตรงตามความต้องการของตลาด และมีความหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ฝาชี ตะกร้า หมวก โคมไฟ กล่องทิชชู กระเป๋า ฯลฯ โดยเฉพาะฝาชีจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ผลิตภัณฑ์จักสานต้นคลุ้มนี้จะมีราคาซื้อขายเริ่มตั้งแต่ 300 บาท ไปจนถึง 3,000 บาท สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกประมาณเดือนละ 15,000 บาทต่อคน โดยในปี 2561 กลุ่มฯ มีรายได้จากการจำหน่ายผลงานหัตถกรรมจักสานต้นคลุ้มมากถึง 5,000,000 บาท
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
บ้านวังตง ชุมชนประมงพื้นบ้านที่เริ่มต้นงานอนุรักษ์ป่าชายเลนโดยการต่อสู้กับธุรกิจนากุ้งที่รุกล้ำเข้ามาในป่าชายเลนจนปิดทางเข้าออกอ่าวบกซึ่งเป็นทะเลหน้าบ้าน รวมทั้งการปล่อยน้ำเสียลงคลองที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาในกระชังของชาวบ้าน ซึ่งจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์นี้ต้องกล่าวย้อนกลับไปในยุคที่สัมปทานป่าไม้ชายเลนแผ่ขยายเข้ามาในตำบลนาทอน รวมถึงป่าชายเลนในพื้นที่บ้านวังตง ส่งผลให้ป่าเสื่อมโทรมลงอย่างหนัก
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2538 เกิดการยกเลิกสัมปทานไป ความอุดมสมบูรณ์ของป่าก็เริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทว่า พ.ศ. 2546 เกิดกระแสการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่ ชาวบ้านจึงแห่ขายที่ดินให้กับนายทุนเลี้ยงกุ้ง ป่าชายเลนกว่า 50 ไร่ ถูกบุกรุก ที่ดินติดป่าชายเลนที่เคยเป็นท่าเรือ ถูกกว้านซื้อโดยนายทุน เส้นทางออกสู่ทะเลถูกปิดกั้น ชาวบ้านวังตงจึงได้ระดมเงินทุนสร้างเส้นทางสัญจรใหม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในชุมชนหันมาพูดคุยกันเรื่องการอนุรักษ์ป่ามากขึ้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อไปเจรจาขอพื้นที่คืนกับนายทุน โดยใช้กลุ่มผู้หญิงเป็นแกนนำ นำมาสู่การได้ป่าชายเลนกลับคืนมา 50 ไร่
เมื่อได้พื้นที่กลับคืน ชาวบ้านจึงร่วมกันปลูกป่าเข้าไปทดแทน ต่อยอดสู่การทำงานอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน มีการสร้างอาชีพโดยการนำต้นคลุ้มที่ขึ้นตามร่องน้ำเนินเขามาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสรรค์งานหัตถกรรมเป็นรายได้เสริม เกิดการสร้างงานด้วยคนหลายรุ่น ต่อยอดด้วยการจัดทำธรรมนูญชุมชน “แกหรานาทอน” เป็นแม่บทจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า ทำให้ปัจจุบันบ้านวังตงกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานและเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2564). จาก ‘ต้นคลุ้มพืช’ ที่ขึ้นตามผืนน้ำสู่ผลิตภัณฑ์จากคลุ้มสร้างอาชีพให้คนพื้นถิ่น. สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.eef.or.th/
จักสานต้นคลุ้ม บ้านวังตง. (2564). สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/
จิต คลังข้อง และคณะ. (2556). โครงการแนวทางจัดการป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วม บ้านวังตง หมู่ที่ 4 ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์. (2563). กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร พลิกวิกฤตราคายางตกต่ำ ใช้เวลาว่างจักสานต้นคลุ้ม สร้างงาน สร้างเงิน. สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.technologychaoban.com/
ผู้จัดการออนไลน์. (2563). “จักสานต้นคลุ้ม” สวยงามคงทนแข็งแรงจากกลุ่มจักสานบ้านวังตง. สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://mgronline.com/
ฟาตีมา บิลยีหมาน. (2560). การดำเนินงานการพัฒนาหมู่บ้าน บ้านวังตง หมู่ที่ 4 ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุ่งหว้า.
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (ม.ป.ป.). กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านวังตง จังหวัดสตูล. สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.greenglobeinstitute.com/
Thai PBS. (2563). วังตง คน ป่าเลน. [วีดิทัศน์]. Youtube Channel ชุมชนคนมหัศจรรย์. สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.thaipbs.or.th/