Advance search

ชุมชนเกษตรกรรมบนดอยสูง หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ Organic village แห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่

หมู่ที่ 4, 8
ห้วยส้มป่อย
ดอยแก้ว
จอมทอง
เชียงใหม่
เทศบาลตำบลดอยแก้ว โทร. 0-5310-6852
วิไลวรรณ เดชดอนบม
25 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 มี.ค. 2024
บ้านห้วยส้มป่อย


ชุมชนชนบท

ชุมชนเกษตรกรรมบนดอยสูง หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ Organic village แห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่

ห้วยส้มป่อย
หมู่ที่ 4, 8
ดอยแก้ว
จอมทอง
เชียงใหม่
50160
18.37404018
98.52909207
เทศบาลตำบลดอยแก้ว

บ้านห้วยส้มป่อย เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ ในเขตอําเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านเชื่อว่าแต่เดิมนั้นบริเวณลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งสันนิษฐานว่าคือชาวลัวะ ดังปรากฏหลักฐานจากการพบสุสานโบราณซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ที่ปรากฏลักษณะเป็นหลุมยุบกระจายอยู่โดยทั่วไป เมื่อขุดลงไปมักจะพบข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ฝังอยู่ใต้ดิน (ปัจจุบันเนินดินและหลุมยุบเหล่านี้ถูกปกคลุมด้วยป่าไม้ทําให้ยากแก่การสังเกต) นอกจากสุสานแล้วยังมีการขุดพบโบราณวัตถุซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของชาวลัวะ เช่น กําไล ลูกปัด สร้อย หม้อดิน ถ้วยชามดินเผา และที่สําคัญคือการขุดพบ “แพบี” เครื่องประดับโบราณของหญิงสาวชาวลัวะ เชื่อว่าแพบีนี้จะถูกฝังไปในหลุมศพพร้อมกับศพชาวลัวะที่เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักฐานหลายประการที่แสดงว่าบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะเคยเป็นชุมชนโบราณของ ชาวลัวะมาก่อน แต่จากคําบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวปกาเกอะญอในพื้นที่แถบนี้ต่างก็ยืนยันว่าในยุคโบราณของชาวปกาเกอะญอในลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะไม่เคยพบชาวลัวะที่มีชีวิตอาศัยอยู่ พบเพียงร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าในอดีตอาจเคยมีชาวลัวะอาศัยอยู่เท่านั้น

บริเวณลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแห่งนี้แม้ว่าจะขุดพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของชาวลัวะ ทว่า ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปกาเกอะญอเป็นส่วนใหญ่ มีชุมชนโบราณเก่าแก่มากมาย อาทิ แดลอพะโด่ แดลอ และแดลอแม่สอยคี หรือหมู่บ้านร้างขุนน้ำแม่สอย ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นต้นกำเนิดของบ้านห้วยส้มป่อย สถานที่ตั้งของแดลอแม่สอยคีนี้ยู่บริเวณขุนน้ำ (ต้นน้ำ) แม่สอย มีเรื่องเล่าว่าหมู่บ้านแห่งนี้มักจะมีผีมารบกวนชาวบ้านอยู่เสมอ โดยในคืนขึ้น 15 ค่ำ และคืนแรม 15 ค่ำ คนในหมู่บ้านจะได้ยินเสียงฝูงม้าวิ่งผ่านหมู่บ้านดังสนั่นหวั่นไหว แต่เมื่อพากันออกมาดูก็ไม่พบอะไรผิดปกติ ไม่มีแม้กระทั่งรอยเท้าม้า และภายหลังควายของชาวบ้านได้ทยอยตายลง และมีชาวบ้านคนหนึ่งฝันว่า ผีที่เป็นใหญ่ในบริเวณนี้ไม่พอใจชาวบ้านและจะไม่ยอมให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้อีกต่อไป หากชาวบ้านไม่ย้ายออกไปผีก็จะมาเอาชีวิตของชาวบ้านทีละคน ทําให้เกิดความหวาดกลัวมาก อีกทั้งวัวควายก็ยังคงทยอยตายไปเรื่อย ๆ จนชาวบ้านตัดสินใจพากันอพยพมาตั้งหมู่บ้านใหม่ที่บริเวณป่ากล้วยซึ่งอยู่ต่ำลงมา (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านม้งป่ากล้วย) เรียกว่า แดลอแข่ป่ากล้วย แต่เนื่องจากบริเวณนี้มีความชันมากทําให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ไม่เหมาะแก่การทําเกษตรกรรม อยู่ได้เพียง 2 ปี จึงต้องอพยพอีกครั้ง การอพยพครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้ย้ายมาอยู่ในบริเวณที่เป็นบ้านห้วยขนุน หลังจากอพยพมาที่บ้านห้วยขนุน ชาวบ้านสามารถตั้งที่หมู่บ้านได้อย่างถาวรมาจนถึงปัจจุบัน และต่อมาเมื่อหมู่บ้านมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงมีการแยกออกไปเป็นชุมชนใหม่อีก เพื่อให้มีที่ดินทํากินเหมาะสมกับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เกิดเป็นบ้านห้วยขนุน 2 บ้านห้วยขนุน 3 และบ้านห้วยส้มป่อยในปัจจุบัน

การแยกบ้านห้วยส้มป่อยออกจากบ้านห้วยขนุนเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 โดยการนำของปู่จิลิผู้เป็นน้องชายของแก่ก่อมึซึ่งเป็นฮี่โข่บ้านห้วยขนุนในขณะนั้น ภายหลังแก่ก่อมึและหลานอีกหนึ่งคนเสียชีวิตลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งการเสียชีวิตของญาติพี่น้องในเวลาไล่เลี่ยกันชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผี ทำให้ปู่จิลิเกิดความหวาดกลัวว่าตนต้องดำรงตำแหน่งฮี่โข่ต่อจากพี่ชายที่ตายไป จึงตัดสินใจพาครอบครัวแยกตัวออกมาอยู่ที่ห้วยส้มป่อย ภายหลังมีอีกหลายครอบครัวอพยพตามมา

ต่อมามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งนำโดยนายหล้าเจ๊ะ ได้ไปตั้งปางควายเพื่อเลี้ยงสัตว์และขยายที่ดินทำกินบริเวณบ้านป่าเกี๊ยะในปัจจุบัน และราว พ.ศ. 2501 เมื่อบ้านห้วยส้มป่อยมีขนาดใหญ่ขึ้น ที่ดินทำกินเริ่มไม่เพียงพอ นายหล้าเจ๊ะจึงได้ย้ายไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่ปางควายเป็นการถาวร และกลายเป็น บ้านป่าเกี๊ยะใน มาจนปัจจุบัน

ภายหลังนายหล้าเจ๊ะแยกออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่เมื่อ พ.ศ. 2501 แล้ว ต่อมาใน พ.ศ. 2528 เกิดการแยกตัวออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้นำโดยนายแก้ว มาลีคีรี ด้วยเหตุผลว่าบ้านห้วยส้มป่อยนั้นคับแคบและแออัดเกินไป เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ นายแก้วจึงได้ชักชวนญาติพี่น้องออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านห้วยส้มป่อย ซึ่งบริเวณดังกล่าวนี้อดีตเคยเป็นไร่หมุนเวียนของคนในชุมชน และได้เรียกหมู่บ้านใหม่แห่งนี้ว่า บ้านห้วยส้มป่อยใหม่ อย่างไรก็ตาม ในทางราชการยังคงถือว่าทั้งบ้านห้วยส้มป่อย และบ้านป่าเกี๊ยะใน นับเป็นหมู่บ้านเดียวกัน เพียงแต่คนละหย่อมบ้าน คือ ยังคงเป็นบ้านห้วยส้มป่อย หมู่ที่ 4 ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ดังเดิม มีเพียงบ้านห้วยส้มป่อยใหม่เท่านั้นที่แยกออกไปเป็นหมู่ที่ 8 แต่ทั้งนี้ก็ยังถือว่าเป็นบ้านห้วยส้มป่อยอยู่

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านห้วยส้มป่อยตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ โดยลักษณะที่ตั้งของชุมชนนั้นตั้งอยู่ตามแนวไหล่เขา บ้านเรือนเรียงรายและกระจายไปตามแนวถนนเข้าสู่หมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านขุนแตะ และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยขนุน และบ้านม้งป่ากล้วย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านป่าเกี๊ยะใน อำเภอจอมทอง และอุทยานน้ำตกแม่เตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยมะนาว อำเภอจอมทอง และบ้านอมลานใน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรป่าไม้ : บ้านห้วยส้มป่อยจำแนกประเภทของป่าชุมชนออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอย โดยสภาพทั่วไปของป่าชุมชนบ้านห้วยส้มป่อยนั้นค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ ในผืนป่าอนุรักษ์มีสัตว์หายาก เช่น ชะนี หมูป่า เก้ง ไก่ป่า กระรอก หนูป่า และยังเป็นที่อยู่อาศัยของนกหลายชนิด เช่น เหยี่ยว นกพญาไฟ ไก่ฟ้า สําหรับป่าใช้สอย มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ต่ำกว่าป่าอนุรักษ์ ในป่าใช้สอยไม่ค่อยมีสัตว์ป่าเท่าใดนัก อาจเนื่องมาจากป่าฝใช้สอยเป็นป่าที่ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์อยู่บ่อยครั้ง เช่น เข้าไปหาเห็ด หาผัก หาฟืน หรือใช้เป็นเส้นทางเดินเท้า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทําให้สัตว์ป่าไม่เข้ามาอาศัย หรือหากินในบริเวณป่าใช้สอยเท่าใดนัก ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไปนี้

1) ป่าอนุรักษ์ เป็นป่าที่อยู่ด้านบนของถนนห้วยส้มป่อย-ห้วยมะนาว ป่าผืนนี้หากเดินขึ้นไปตามสันดอยเรื่อยไปจะถึงอาณาบริเวณดอยสองเมีย ซึ่งในสมัยก่อนเป็นผืนไร่ฝิ่นกลางป่า และหากเดินต่อไปเรื่อย ๆ จะไปถึงกลางดอยอินทนนท์ ป่าอนุรักษ์ของชาวบ้านผืนนี้จึงเป็นชายขอบของป่าใหญ่ดอยอินทนนท์ กฎของคณะกรรมการป่าชุมชนระบุเอาไว้ว่าห้ามตัดไม้และล่าสัตว์ใด ๆ ทั้งสิ้นในเขตป่าอนุรักษ์ แต่จะยกเว้นบางกรณี เช่น ตัดใบตอง หาสมุนไพร

2) ป่าใช้สอย เป็นป่าที่อยู่ด้านล่างของถนนห้วยส้มป่อย-ห้วยมะนาว มีลักษณะเป็นป่าผืนเล็ก ๆ อยู่ติดกับที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งมีกระจายอยู่หลายผืน เช่น ป่าใช้สอยบริเวณสำนักสงฆ์ ป่าใช้สอยบริเวณห้วยส้มป่อยสบห้วยมะนาว ป่าใช้สอยชายหมู่บ้านทางไปห้วยมะนาว  

ทรัพยากรน้ำ : ในอดีตแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของชาวบ้านห้วยส้มป่อยมี 2 แหล่ง ได้แก่ ห้วยส้มป่อยและห้วยส่าซุโพโกล๊ะ แต่ปัจจุบันจะใช้น้ำจากประปาหมู่บ้านที่เรียกว่า ประปาภูเขา ที่ต่อจากแอ่งน้ำของห้วยป่าควายทางทิศเหนือของหมู่บ้านมาพักยังแท็งก์น้ำเพื่อกระจายให้ชาวบ้านใช้ต่อไป

สำหรับน้ำใช้เพื่อการเกษตรทั้งเพื่อการทำนาและไร่สวนได้จากแหล่งน้ำต่างแห่งกัน การทำนาใช้น้ำจากลำน้ำแม่เตี๊ยะ ห้วยป่าควาย และน้ำฝนเป็นบางส่วน แต่สำหรับการทำไร่สวนนั้นจะใช้น้ำฝน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก ยิ่งต้องพึ่งเพียงน้ำฝนอย่างเดียว เนื่องจากไม่สามารถต่อท่อหรือสายยางส่งน้ำขึ้นไปได้

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านห้วยส้มป่อย ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 654 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 341 คน ประชากรหญิง 313 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 240  ครัวเรือน ส่วนบ้านห้วยส้มป่อยใหม่ หมู่ที่ 8 มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 674 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 345 คน ประชากรหญิง 329 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 228  ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ 

ปกาเกอะญอ

ชาวบ้านห้วยส้มป่อยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตรเป็นอาชีพหลัก มีอาชีพเสริม คือ การรับจ้างทั้งในและนอกภาคการเกษตร โดยจะทําในช่วงว่างเว้นจากการเพาะปลูก การประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมมีทั้งการทํานา ทําไร่ ทําสวน ทั้งนี้การทำไร่ของชาวบ้านห้วยส้มป่อยจะทำเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เนื่องจากจะมีน้ำเพียงพอแก่การเพาะปลูก พืชไร่ที่ปลูก เช่น กะหล่ำ ข้าวไร่ หอมแดง ส่วนในที่ลุ่มจะเป็นพื้นที่การทํานาซึ่งพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกส่วนมากจะเป็นข้าวเจ้า สําหรับพืชสวนที่ชาวบ้านห้วยส้มป่อยนิยมปลูก เช่น อะโวคาโด กาแฟสายพันธุ์อะราบิกา ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย 

ชาวปกาเกอะญอให้ความสําคัญกับพิธีกรรมในวงจรชีวิตทั้งการเกิด แต่งงาน และตาย

พิธีกรรมในการเกิดนั้น เมื่อครัวเรือนใดได้กําเนิดบุตร คนในชุมชนจะหยุดทํากิจกรรมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการผลิตหรือกิจกรรมในครัวเรือน กิจกรรมดังกล่าวเรียกว่า ปาดือสะเบ หมายถึง การหยุดกิจกรรมทุกอย่างเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ของชุมชน เนื่องจากเชื่อว่าการเด็ดผักหรือผลไม้ต่าง ๆ อาจจะมีผลมีผลต่อเด็กที่เกิดใหม่ ทําให้ร่วงโรยเช่นเดียวกับผักผลไม้ที่ถูกเด็ด นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมที่มักปฏิบัติเมื่อมีสมาชิกใหม่ คือ การนํารกหรือสายสะดือไปผูกติดเอาไว้กับต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นโพธิ์ ไทร ตลอดจนต้นไม้ใหญ่อื่น ๆ ที่มีลักษณะดี สวย เชื่อว่าเทพยดาที่สิงสถิตในต้นไม้จะเป็นผู้ดูแลรกหรือสายสะดือของเด็ก และขวัญของเด็กจะอยู่ ณ ต้นไม้นี้ และจากนี้ไปต้นไม้ต้นนี้จะตัดไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ขวัญของเด็กหนีหายไปด้วย

การแต่งงานของชาวปกาเกอะญอถือได้ว่าเป็นการก้าวพ้นจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ ชาวปกาเกอะญอเรียกพิธีกรรมแต่งงานว่า “ทอปา” หมายถึง ขึ้นไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ การแต่งงานจึงแสดงถึงความพร้อมทั้งวุฒิภาวะ และหน้าที่ต่าง ๆ ตลอดจนความรับผิดชอบที่จะตามมาเมื่อมีเหย้าเรือนเป็นของตนเอง การแต่งงานของหนุ่มสาวชาวปกาเกอะญอนั้นฝ่ายชายจะต้องเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวฝ่ายหญิง นับถือผีเรือนฝ่ายภรรยา ในการประกอบพิธีกรรมแต่งงานโดยส่วนใหญ่จะถูกทําที่บ้านของฝ่ายหญิง และจะให้ความสําคัญกับพิธีกรรมหนึ่งที่เรียกว่า “จิป่า” หมายถึง การอบรมสั่งสอนคู่บ่าวสาวในการใช้ชีวิตและการครองเรือน

สําหรับการตาย ชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อว่าเกิดจากเจ้าแห่งความตายได้เอาชีวิตของพวกเขากลับไปจากพิธีกรรมในงานศพที่เรียกว่า “อูมอโพ” เป็นการเป่ากระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก เป็นพิธีกรรมของการจําลองการมาของเจ้าแห่งความตาย นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมที่เรียกว่า “เน่เซอกิ่ว” เป็นพิธีกรรมที่มีการชี้ทางให้กับผู้ตายเพื่อเดินทางกลับไปยังชุมชนหรือหมู่บ้านของตนเอง ชาวปกาเกอะญอเชื่อว่าตนมีที่มาจากต้นไม้ และเมื่อถึงเวลาตาย ซึ่งต้องกลับไปยังหมู่บ้านของตนก็ต้องอาศัยต้นไม้เช่นเดียวกัน (อรรคเดช มหาวงศนันท์, 2551 : 47-49)

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการประกอบพิธีกรรมและภูมิปัญญาการรักษาโรค

1.นายตะหนะ ยโยศักดิ์ดาพาค

2.นายหมอดู สว่างรัตนชัยยงค์

3.นายอรุณ มหานพนทีไพร

4.นายส่วย มหานพนทีไพร

5.นายแตะเลย ประคำมูล

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ (คำเมือง) และภาษากลาง (บางส่วนเท่านั้นที่สามารถสื่อสารภาษากลางได้)

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 ที่บ้านห้วยส้มป่อย ตำบลดอยแก้ว  อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวม้งและปกาเกอะญอในพื้นที่รับผิดชอบ 5 หมู่บ้าน หนึ่งในนั้น คือ บ้านห้วยส้มป่อย

การเข้ามาของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อยภายใต้การดำเนินการตามวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งพัฒนาอาชีพ สังคม ความเป็นอยู่ของชาวม้งและปกาเกอะญอในพื้นที่ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการประกอบอาชีพของเกษตรกรในชุมชนบ้านห้วยส้มป่อย จากเดิมพืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกนั้นมีเพียงไม่กี่ชนิด อีกทั้งยังมีการทำไร่แบบหมุนเวียน ไม่มีเกษตรแบบถาวร แต่ภายหลังศูนย์ฯ ห้วยส้มป่อยเข้ามาดำเนินการ ได้นำเอาการสาธิตปลูกพืชชนิดต่าง ๆ มาเป็นแนวทางในการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ เช่น พลับ พลัม อะโวคาโด กาแฟอะราบิกา กระเทียมต้น มะเขือเทศ เชอร์รีเหลือง ผักคอส สลัด กะหล่ำดอก บีตรูต ต้นหอมญี่ปุ่น ผักกาดหัว และพริกแม็กซิกัน ฯลฯ ซึ่งจะปลูกในรูปแบบของพืชเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแปลงเกษตรสาธิตเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมสวนของเกษตรกรรอบศูนย์ฯ ห้วยส้มป่อย โดยเริ่มที่บ้านห้วยส้มป่อยเป็นแห่งแรก กระทั่งปัจจุบันนี้บ้านห้วยส้มป่อยได้ชื่อว่าเป็น หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ Organic village” แห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่

ข่าวด่วนจอมทอง รักคุณ. (2561). สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2567จาก https://web.facebook.com/

เชียงใหม่นิวส์. (2563). โครงการหลวงห้วยส้มป่อย. สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.chiangmainews.co.th/

เทศบาลตำบลดอยแก้ว. (ม.ป.ป.). ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย. สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://doikaew.org/tour-detail_11

วิทยา พรมจักร์. (2549). การรื้อฟื้นพิธีกรรมในการจัดการป่าชุมชนของชาวปกาเกอะญอ: กรณีศึกษาบ้านห้วยส้มป่อย ลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุดารัตน์ กาญจนขันธกุล. (2550). กลยุทธ์ในการปรับตัวของเกษตรกรปกาเกอะญอในการปลูกกะหล่ำปลี: กรณีศึกษาบ้านห้วยส้มป่อย ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อรรคเดช มหาวงศนันท์. (2551). การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรของชาวปกาเกอะญอ: กรณีศึกษาบ้านห้วยส้มป่อย ลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 

Apple Suyada. (2563). สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://web.facebook.com/

เทศบาลตำบลดอยแก้ว โทร. 0-5310-6852