หมู่บ้านในฐานปฏิบัติการชายแดน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยรักษาความสงบในผืนแผ่นดินไทยที่อยู่สุดเขตชายแดนไทย-เมียนมา
หมู่บ้านในฐานปฏิบัติการชายแดน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยรักษาความสงบในผืนแผ่นดินไทยที่อยู่สุดเขตชายแดนไทย-เมียนมา
บ้านนอแล เป็นหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ประชาชนในชุมชนเป็นชาวดาราอาง (ดาระอั้ง, ปะหล่อง) มีเรื่องเล่ากล่าวขานในกลุ่มผู้อาวุโสในชุมชนว่าเมื่อประมาณหลายสิบปีก่อน ชาวดาราอางอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงของประเทศเมียนมาติดต่อกับชายแดนไทย หรือพื้นที่รัฐฉานในปัจจุบัน (ชาวดาราอางบ้านนอแลเดิมมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านดอยลาย ภายใต้การปกครองของนครรัฐแสนหวี รัฐฉาน ประเทศเมียนมา) ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวดาราอางในขณะนั้นลำบากหนัก ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทั้งยังถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกรังแกอยู่เสมอ ประกอบกับความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ชาวดาราอางได้หลบหนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย โดยกระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ในราว พ.ศ. 2521 แต่ไม่มีสถานะบุคคล ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ รวมทั้งที่ดินได้
ต่อมาใน พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยือนราษฎรชาวลาหู่ที่หมู่บ้านขอบด้งในพื้นที่โครงการหลวงอ่างขาง ชาวดาราอางผู้หนึ่งได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลขออนุญาตอาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นผลให้โปรดเกล้าฯ จัดที่อยู่ในฐานะผู้อพยพที่บ้านนอแลจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกลุ่มว้าแดง ซึ่งฐานปฏิบัติการของทหารเมียนมาอยู่ติดกับบ้านนอแล ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ต้องอพยพหนีภัยไปอยู่ที่อำเภอฝางประมาณครึ่งเดือน เมื่อเหตุการณ์สงบจึงย้อนกลับมาที่บ้านนอแลอีกครั้ง
ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ สิ้นสุดลง บ้านนอแลเริ่มได้รับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น มีการฝึกอบรมและจัดตั้งชุดปฏิบัติการรักษาหมู่บ้าน มีการจัดสรรที่ดินทำกิน ปรับปรุงบำรุงดิน และส่งเสริมการปลูกพืชอินทรีย์โดยส่งผลผลิตจำหน่ายแก่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนอแลจึงนับว่าเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับมาจนปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
ลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งบ้านนอแลนั้นมีลักษณะเป็นภูเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 1,350 เมตร พื้นดินมีลักษณะดินปนหิน มีป่าไม้ที่ได้รับการฟื้นฟูตามแหล่งที่เป็นต้นน้ำลําธาร เป็นลักษณะป่าดิบเขา ประกอบด้วย สนสามใบ ต้นก่อ ต้นแอปเปิลป่า ต้นไคร้ สภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็น มีหมอกปกคลุมในฤดูหนาว และมีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือน โดยบ้านนอแลเป็นหย่อมบ้านหนึ่งของบ้านขอบด้ง หมู่ที่ 14 ตําบลม่อนปิ่น อําเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองเต่า ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตำบลแม่ออน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านขอบด้ง ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศในพื้นที่บ้านนอแลแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนมีนาคม โดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดพาเอาความหนาวเย็นและแห้งแล้งจากประเทศจีนเข้ามา ประกอบกับมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง จึงทําให้มีอากาศหนาวเย็นมาก
- ฤดูร้อน อยู่ในช่วงสั้น ๆ ระหว่างปลายเดือนมีนาคมถึงเมษายน
- ฤดูฝน มีฝนตกหนักเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และดีเปรสชัน ปริมาณฝนตลอดปีประมาณ 2,030.8 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 17.9 องศาเซลเซียส
ทรัพยากรธรรมชาติ
- ทรัพยากรดิน : บ้านนอแลตั้งอยู่บนพื้นที่เป็นภูเขา อาศัยพื้นที่ที่กกรมป่าไม้อนุญาตให้เปิดเป็นพื้นที่ทําการเกษตร โดยทางศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง สํานักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน ได้เข้ามาจัดการก่อสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแบบขั้นบันไดดิน และมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นแนวป้องกันการชะล้างพังทลายของดินไว้ใช้ในการปลูกพืชผักเมืองหนาว
- ทรัพยากรน้ำ : บ้านนอแลมีทรัพยากรน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร มาจากการอ่างเก็บน้ำ โดยทางโดยทางศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง สํานักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน ได้วางระบบท่อส่งน้ำชลประทานไว้ให้ ซึ่งบ้านนอจะไม่มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องน้ำในการเกษตร เนื่องจากมีระบบการจัดการน้ำในแปลงเกษตรอินทรีย์ มีการจัดสรรน้ำตามลําดับของพื้นที่ทางการเกษตรแต่ละแปลง โดยใช้ประโยชน์จากใบหญ้าแฝกที่นอกจากจะเป็นแนวป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินแล้ว ยังตัดมาคลุมแปลงปลูกพืชในฤดูแล้งเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำในดิน และเก็บกักความชุ่มชื้นของดินให้กับพืชผักที่ปลูกไว้ และช่วยลดความถี่ในการให้น้ำแก่พืชผักอีกด้วย
ชาวบ้านนอแลส่วนใหญ่คือชาวดาราอางที่อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมาด้วยสาเหตุจากการหลีกหนีภัยสงครามความไม่สงบทางการเมืองเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านนอแล รวมถึงหมู่บ้านอื่น ๆ อีก 5 หมู่บ้านในอำเภอฝางและอำเภอเชียงดาว
ชาวบ้านนอแลนิยมสร้างบ้านรวมกันเป็นกลุ่มไม่เป็นระเบียบ เพราะมีข้อจํากัดเรื่องพื้นที่เป็นภูเขา มีวิถีชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ หญิงสาวจะสวมหว่อง (สายรัดเอว) ไว้ที่เอว โดยปกติแล้วชาวบ้านนอแลเป็นเครือญาติกันเกือบทั้งหมู่บ้าน มีความใกล้ชิด ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี เนื่องจากการเดินทางไปทํางานนอกหมู่บ้าน จะเป็นในลักษณะไป-กลับยังสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและหมู่บ้านใกล้เคียง ทําให้ลักษณะความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะในวันสําคัญต่าง ๆ ทุกคนในครอบครัวจะมาประกอบพิธีร่วมกัน ตลอดจนมีความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชน เพื่อนบ้าน และรวมกลุ่มกันทํากิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ องค์กร และหมู่บ้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติร่วมกับหน่วยงานรัฐ ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หมู่บ้านขอบด้ง ปางม้า บ้านหลวง บ้านคุ้ม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของปะหล่องบ้านนอแลกับครอบครัว ชุมชน เพื่อนบ้าน หน่วยงานและกลุ่มอื่น ๆ
ดาราอางชาวบ้านนอแลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบพันธะสัญญากับสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คือ การทำเกษตรโดยนำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ เช่น สตรอว์เบอร์รี ส่งขายให้แก่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง และอาชีพเกษตรกรรมนอกพื้นที่ ตลอดจนการค้าขาย นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริม ได้แก่ การรับจ้างทั่วไป การรับจ้างในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง การทอผ้าและหัตถกรรม และการเลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้ ชาวบ้านนอแลไม่นิยมปลูกข้าวเพื่อใช้ในการบริโภค เนื่องจากไม่มีพื้นที่สำหรับทํานา ข้าวที่บริโภคจึงมาจากการนํารายได้จากการปลูกพืชผัก การรับจ้าง และงานหัตถกรรม ส่วนพืชผักที่นํามาประกอบอาหารจะไม่ใช่พืชที่ปลูกให้แก่โครงการหลวง แต่จะเป็นผักพื้นบ้านที่ปลูกตามหัวแปลง ท้ายแปลงปลูกผัก และพื้นที่กําแพงของขั้นบันได ซึ่งแต่เดิมจะมีการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อใช้ผลิตสารกําจัดแมลงศัตรูพืช และปลูกตามพื้นที่ว่างภายในบริเวณบ้าน บางส่วนมาจากการซื้อจากรถที่ขึ้นมาขายของบนหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า รถ พุ่มพวง
บ้านนอแล เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีฐานปฏิการกองกำลังรักษาดินแดนประจำการอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวชมได้ โดยเฉพาะบริเวณลานจอดฮอลิคอปเตอร์นั้นเป็นจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ป่าเขาได้ทั้ง 2 ประเทศ โดยมีห้องน้ำไว้คอยบริการเนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะพักค้างคืนในบรรยากาศแบบแคมปิงด้วยการกางเต็นท์พักแรมในจุดที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้จัดไว้ให้ โดยชาวบ้านจะสามารถมีรายได้จากการผลิตสินค้างานฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวดาราอางออกมาขายให้กับนักท่องเที่ยวผู้บากบั่นเดินทางมาตามหาความสวยงามบนยอดดอยอันห่างไกลนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากนักที่เดินทางมายังบ้านนอแล แม้ว่าหมู่บ้านชายขอบประเทศนี้จะตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดชมวิวขอบด้งก็ตามที ทั้งนี้ ก็อาจเป็นเพราะบ้านนอแนยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเท่าไรนัก
ชาวบ้านนอแลทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มชนเผ่าที่ยึดถือคติธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด มีการยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวพุทธโดยทั่วไป ทั้งยังสนับสนุนให้บุตรชายบวชเณรเพื่อเล่าเรียนธรรมะ และบวชพระเพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บิดามารดา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป
นอกจากการนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดแล้ว ชาวบ้านนอแลยังมีความเชื่อเรื่องวิญญาณควบคู่ไปกับการนับถือพระพุทธศาสนา โดยเชื่อว่าวิญญาณจะมี 2 ระดับ ระดับหนึ่ง เรียกว่า กาบู เป็นวิญญาณของสิ่งมีชีวิต อีกระดับหนึ่ง เรียกว่า กานํา เป็นวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ แม่น้ำ และเชื่อว่าบุคคลแต่ละคนจะมีวิญญาณ 2 ระดับนี้ให้ความคุ้มครองอยู่ นั่นคือวิญญาณของตนเองและวิญญาณที่สิงสถิตอยู่โดยทั่วไป
การนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับความเชื่อเรื่องผีหรือวิญญาณ ทําให้ชาวบ้านนอแลมีการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาและพิธีเซ่นสรวงบูชาผีหรือวิญญาณควบคู่กันอยู่เสมอ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีศพ การขึ้นบ้านใหม่ โดยมีผู้นําด้านพิธีกรรมซึ่งเรียกว่า ด่าย่าน เป็นผู้ประกอบพิธี และเนื่องจากความเชื่อเรื่องผีนั้นทําให้ชาวบ้านนอแล ยังคงรักษาไว้ซึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสําคัญที่สุดของหมู่บ้าน คือ ศาลเจ้าที่ หรือเรียกว่า ดะมูเมิ้ง ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของผีหรือวิญญาณที่คุ้มครองหมู่บ้าน โดยบริเวณศาลผีเจ้าที่จะอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ศาลจะได้รับการก่อสร้างอย่างประณีต มีรั้วล้อมรอบ สะอาดเรียบร้อย เนื่องจากชาวบ้านช่วยกันดูแลและซ่อมแซมตลอดเวลา โดยพิธีกรรมที่สําคัญนอกจากการทําบุญและประกอบพิธีกรรมในวันสําคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว พิธีสําคัญที่สุดที่ชาวดาราอางบ้านนอแลต้องกระทําทุกปี คือ การบูชาผีเจ้าที่ ซึ่งจะมีปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงก่อนเข้าพรรษา 1 ครั้ง และช่วงก่อนออกพรรษาอีก 1 ครั้ง
ภูมิปัญญาผ้าทอดาราอาง
การทอผ้า ถือเป็นหนึ่งอาชีพเสริมที่สำคัญของชาวดาราอางบ้านนอแล เอกลักษณ์ของผ้าทอบ้านนอแล คือ เป็นผ้าทอจากภูมิปัญญาทุกกระบวนการ ลวดลายและสีผ้ามาจากธรรมชาติ เช่น สีจากเปลือกต้นก่อ สารภีดอย และต้นฮ่อม ซึ่งภายหลังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้สามารถสร้างสีสันที่สวยงามและทนทานมากยิ่งขึ้นจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ศิลปะการทอผ้าของบ้านนอแลมีการใช้อุปกรณ์การทอผ้าแบบพื้นบ้าน เป็นกี่ทอผ้าแบบคาดกับเอว เรียกว่า กี่เอว คล้ายกับวัฒนธรรมกะเหรี่ยง ผ้าที่ทอออกมานั้นมีความสวยงาม อย่างไรก็ดี ชาวดาราอางบ้านนอแลยังได้พัฒนาวิธีการย้อมสีฝ้ายและวิธีการทอ การสร้างลวดลายใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ถูกใจนักท่องเที่ยวมากขึ้น
ศิลปะการร่ายรำ
ศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวดาราอางบ้านนอแล คือ การฟ้อนรํา มีทั้งการฟ้อนรําของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง การฟ้อนรําของหญิงสาวดาราอางเรียกว่า นางหรอยเงิน เป็นศิลปการแสดงประจําเผ่าที่มีสืบทอดมายาวนาน เป็นการฟ้อนรําที่มีท่วงท่าอ่อนช้อย สวยงาม และบ่งบอกถึงความเชื่อเรื่องกําเนิดเผ่าพันธุ์ ส่วนการรําอีกอย่างหนึ่ง คือ การรําดาบ ซึ่งจะมีการรําทั้งชายและหญิง ท่ารําดาบของฝ่ายชายจะมีท่วงท่าที่เข้มแข็ง รวดเร็ว ส่วนท่ารําของฝ่ายหญิงจะมีการดัดแปลงให้ดูอ่อนช้อยงดงาม การรําดาบของฝ่ายชายจะรําเฉพาะมือเปล่า ไม่มีการใช้ดาบจริง เพราะเกรงว่าจะเกิดความฮึกเหิมและเกิดการทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งการรําดาบนั้นเป็นศิลปะการร่ายรําที่สะท้อนให้เห็นว่า ในอดีตจะต้องมีการเรียนรู้การป้องกันตัวโดยมีดาบเป็นอาวุธทั้งชายและหญิง โดยศิลปะการฟ้อนรําดังกล่าวจะมีให้เห็นในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของชนเผ่าเท่านั้น
ภาษาพูด : ปะหล่อง ไทใหญ่ เมียนมา ไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง (เพียงบางส่วนเท่านั้น)
ภาษาเขียน : ดาราอางไม่มีอักษรเขียน แต่มีอักษรไทยใช้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ารับการศึกษาในสถานศึกษา และบางส่วนที่ออกไปประกอบต่างถิ่นจะสามารถเขียนภาษาไทยได้
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่าง ๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นจึงแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง เป็นสถานีที่ดำเนินงานวิจัยหลักของโครงการวิจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะงานวิจัยไม้ผลเขตหนาว งานวิจัยป่าไม้ และงานเกษตรที่สูง โดยดำเนินการศึกษาวิจัย ทดสอบ ทดลอง พันธุ์พืช และสัตว์เขตหนาวบนพื้นที่สูง หลากหลายชนิด อาทิ บ๊วย พีช กีวีฟรุต พลับ สาลี่ สตรอว์เบอร์รี ไม้ดอกเมืองหนาว กุหลาบตัดดอก ผักสลัดนานาชนิด กะหล่ำปลีหวาน ฯลฯ นอกจากงานทดลองทางวิชาการที่เน้นพืชที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรแล้ว ยังมีงานวิจัยป่าไม้บนพื้นที่สูง งานปลูกป่าบนพื้นที่สูง เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพพื้นป่าเสื่อมโทรมที่ถูกบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าในอดีตให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง (อุทยานหลวงราชพฤกษ์, 2566)
ม่อนปิ่น. (2563). สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://web.facebook.com/
มูลนิธิโครงการหลวง. (ม.ป.ป.). สถานีวิจัย/เกษตรหลวง. สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://royalproject.org/
สนั่น กันเงิน. (2550). การฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์จากพืชผักท้องถิ่นบ้านนอแล ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
สุภลักษณ์ เรือนชมภู. (2551). เศรษฐกิจพอเพียงกับวิถีชีวิตชนเผ่าปะหล่องบ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
อุทยานหลวงราชพฤกษ์. (2566). “อ่างขาง” โครงการหลวงแห่งแรก..สู่แหล่งเรียนรู้งานเกษตรที่สูงอย่างยั่งยืน. สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.royalparkrajapruek.org/
Sanook. (2562). สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.sanook.com/