ปากบางตาวา ชุมชนเก่าแก่จากการเข้ามาของกลุ่มชาวประมงจากรัฐกลันตันเพื่อเดินเรือหาปลาบริเวณปากอ่าวน้ำจืดและทางผ่านการเดินเรือในอดีต จนกลายเป็นชุมชนมุสลิมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยของจังหวัดปัตตานี
ที่มาของคำว่า “บางตาวา” มาจากชื่อเดิมในภาษายาวีว่า “คลองไอร์ตาวา” โดยคำว่า "คลองไอร์" หมายถึง น้ำ และคำว่า "ตาวา" หมายถึง จืด เมื่อนำคำมารวมกันจึงมีความหมายว่า “คลองน้ำจืด/ปากคลองน้ำจืด”
ปากบางตาวา ชุมชนเก่าแก่จากการเข้ามาของกลุ่มชาวประมงจากรัฐกลันตันเพื่อเดินเรือหาปลาบริเวณปากอ่าวน้ำจืดและทางผ่านการเดินเรือในอดีต จนกลายเป็นชุมชนมุสลิมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยของจังหวัดปัตตานี
พื้นที่ชุมชนปากบางตาวาเริ่มมีคนเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2465 โดยเป็นกลุ่มชาวเรือที่เดินทางมาจากรัฐกลันตัน ล่องเรือมาในพื้นที่แถบนี้เพื่อทำการประมงและเห็นว่าบริเวณปากอ่าวบางตาว่าเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยและมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทั้งสัตว์น้ำ ป่าชายเลน มีหาดทรายและแหล่งน้ำสะอาด แรกเริ่มจึงได้ใช้พื้นที่ปากอ่าวนี้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวเมื่อเดินทางมาทำประมง ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ ชาวบ้านเรียกว่า น้ำท่วมแดง หลังจากระดับน้ำลดชาวประมงจากรัฐกลันตันจึงได้อพยพครอบครัวเข้ามาตั้งรกราก สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยอย่างถาวรที่อ่าวบางตาวาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 เป็นต้นมา และพื้นที่ปากอ่าวบงตาวายังเป็นทางผ่านของเรือสินค้าที่เดินทางมาจากสงขลาที่มักจะจอดเรือเพื่อเติมเสบียงอาหารและกักตุนน้ำจืดในพื้นที่นี้สำหรับเดินเรือสินค้าต่อไป ทำให้ชุมชนบางตาวาขายใหญ่ขึ้น และในปัจจุบันแบ่งออกเป็นหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งบ้านเรือนในอดีตจะอยู่ติดกับบริเวณชายฝั่งทะเล แต่ต่อมาเกิดภัยธรรมชาติและการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง ชาวบ้านจึงถ่อยร่นเข้ามาเพื่อสร้างบ้านเรือนในพื้นที่ห่างจากริมทะเลในบริเวณชุมชนทุกวันนี้
ส่วนที่มาของคำว่า “บางตาวา” มาจากชื่อเดิมในภาษายาวีว่า “คลองไอร์ตาวา” โดยคำว่า คลองไอร์ หมายถึง น้ำ และคำว่า ตาวา หมายถึง จืด เมื่อนำคำมารวมกันจึงมีความหมายว่า “คลองน้ำจืด/ปากคลองน้ำจืด” ซึ่งชาวบ้านใช้น้ำจืดจากคลองเพื่อการอุปโภคบริโภคมาตั้งแต่แรกเริ่มตั้งชุมชน โดยคลองน้ำจืดจะไหลออกสู่ปากอ่าวทะเลซึ่งมีระยะห่างออกไปประมาณ 300 เมตร แต่ในปัจจุบันปริมาณน้ำทะเลมีมากขึ้นทำให้มีระดับความเค็มของน้ำในคลองเพิ่มมากขึ้นจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต
บ้านปากคลองตาวา ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งชุมชนอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอหนองจิกเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ลักษณะทางกายภาพของภูมิศาสตร์ชุมชนเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล สภาพพื้นดินเป็นดินเลนบริเวณปากแม่น้ำปัตตานี บริเวณป่าชายเลนด้านทิศเหนือมีพื้นที่ทะเลหลวง และมีลำคอลงกาแลกูโบไหลผ่านชุมชนซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างบ้านปากบางตาวา หมู่ที่ 1 และบ้านบางตาวา หมู่ที่ 2 ทั้งยังเป็นเส้นทางเดินเรือและที่จอดเรือประมงของชาวบ้าน โดยชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่ตำบลตยุง อำเภอหนองจิก
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้างบางตาวา หมู่ที่ 2 ตำบลบางตาวา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านสายหมอ ตำบลบางเขา
บ้านปากคลองตาวา ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านปากคลองตาวา ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,762 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 927 คน ประชากรหญิง 835 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 376 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
บ้านปากคลองตาวา ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือประมงเป็นหลักมาตั้งแต่อดีต โดยลักษณะการทำประมงของชาวบ้านปากบางตาว่ามีทั้งชาวประมงซีกซ้ายและซีกขวาของอวน กล่าวคือการทำประมงแบบครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น สามีและภรรยา หรือพ่อและลูก โดยสัตว์ทะเลที่หาได้ในพื้นที่และที่ชาวประมงสามารถจับมาได้ ได้แก่ กุ้ง ปลากะพง ปูกะแกลง ปลาจาละเม็ด ปูดำ ฯลฯ ซึ่งรายได้จากการทำประมงก็ขึ้นอยู่กับปริมาณ และฤดูกาลของสัตว์แต่ละชนิดตามราคาในท้องตลาด ปัจจุบันชาวประมงประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพเนื่องจากปริมาณปลาในท้องทะเลลดจำนวนลง ทำให้หาสัตว์ทะเลได้ยากขึ้น ชาวบ้านจึงหันไปประกอบอาชีพอื่น ชุมชนจึงมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นประชากรบางส่วนที่ยังคงทำประมงอยู่ การทำอาชีพด้านปศุสัตว์ การทำสวน อาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย อาชีพรับจ้างทั่วไป หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น
บ้านปากคลองตาวา ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ประชากรในชุมชนนับถือศาสนาอิสลาม มีมัสยิดประจำชุมชน 1 แห่ง คือ มัสยิดดารุสลาม เป็นศูนย์รวมศรัทธาชุมชน และเป็นศาสนาที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรมในท้องถิ่น และเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน โดยประเพณี พิธีกรรม หรือกิจกรรมที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติ หรือเกิดขึ้นในชุมชนล้วนแต่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเชื่อของชาวบ้าน ซึ่งแสดงออกถึงวิถีปฏิบัติหลักการประพฤติที่สอดคล้องกับศาสนาอิสลาม ทั้งประเพณีการเกิด การตาย วันสำคัญทางศาสนา ประเพณีเทศกาลประจำปี ตัวอย่างเช่น พิธีโกนผมไฟ การเข้าสุนัต ประเพณีฮารีรายอปอซอ ประเพณีวันอาซูรอ เทศกาลเมาลิด การถือศีลอด ประเพณีมาแกปูโละ (กินเหนียว) หรือประเพณีขึ้นเรือใหม่ ฯลฯ โดยทั้งหมดจะเกี่ยวข้องและยึดโยงกับศาสนา อาชีพ และวิถีชีวิตชุมชน
ภูมิปัญญาชุมชนบ้านปากคลองตาวา ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นวิถีการเอาตัวรอดของชาวเรือและการยังชีพของชุมชนที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับสภาพภูมิศาสตร์ อาชีพ และการดำรงชีวิต โดยเฉพาะวิถีชีวิตและภูมิปัญญาด้านการทำประมง ที่ชาวบ้านจะมีทักษะและความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพเป็นอย่างดี ชาวประมงส่วนใหญ่จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจังหวะการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล กระแสลม กระแสน้ำตามฤดูกาล เนื่องจากองค์ความรู้และทักษะด้านนี้มีความสำคัญต่อการเดินเรือและการทำประมงที่จะประสบผลสำเร็จและได้ผลประกอบการที่ดี และเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ว่าช่วงใด บริเวณใด มีหรือไม่มีสัตว์น้ำมากหรือน้อยเท่าใด โดยบริเวณตำบลบางตาวาจะมีน้ำขึ้น 2 ครั้ง และน้ำลง 2 ครั้ง ในแต่ละเดือน ซึ่งปริมาณน้ำจะสัมพันธ์กับดวงจันทร์ และน้ำจะขึ้น-ลงมากที่สุดในช่วงวันขึ้น/แรม 14-15 ค่ำ และในรอบปีน้ำจะขึ้นลงมากที่สุดในช่วงหลังเดือนรายอฮัดยีหรือช่วงวันตรุษจีน ชาวบ้านเรียกว่า “เบาะจีนอ” แปลว่าน้ำท่วมจีน/น้ำท่วมวันตรุษจีน โดยชาวบ้านจะใช้ช่วงเวลานี้ในการวางอวนดังปลา วางแร้วปูดำ วางลอบ ทอดแห วางโพงพาง ยกยอ เพื่อจับสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ
นอกจากนี้องค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระแสลมก็มีส่วนสำคัญในทำประมงเช่นกัน ซึ่งกระแสน้ำและกระแสลมจะสัมพันธ์กันและส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ตัวอย่างเช่น ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมคลื่นลมจะพัดจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก (อางิงตาการอ) ทำให้เกิดกระแสน้ำไหล ทำให้มีกุ้ง ปลา สัตว์น้ำอื่น ๆ เคลื่อนย้ายมาตามกระแสน้ำ ชาวบ้านก็จะออกเดินเรือประมงหาจับสัตว์น้ำ และหลังจากช่วงนี้ปริมาณสัตว์น้ำในทะเลก็จะลดน้อยลง ชาวบ้านก็จะโยกย้ายไปทำประมงในพื้นที่อื่น หรือประกอบอาชีพเสริมอื่นแตกต่างกันไป ทั้งนี้กระแสลมบริเวณบางตาวาจะต่างจากพื้นที่อื่นเพราะลักษณะภูมิประเทศที่ต่างกัน ทิศทางและความแรงของลมจึงต่างกัน โดยชาวบ้านจำแนกกระแสและทิศทางของลมซึ่งเป็นชื่อลมได้ 8 ชื่อ ประกอบด้วย อางิงลาโอะ อางิงบาระลาโอะ อางิงบาระตือปัต อางิงบาระมูดอ อางิงดาระ อางิงสลาตัน อางิงตึงการอ และอางิงตีมา
การสังเกตฝูงปลาเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่สำคัญในการหาปลา ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกระโดดของปลาที่หากพบปลากระโดดสูงอยู่หลายตัวสามารถสันนิษฐานได้ว่าบริเวณนั้นมีปลาอยู่เพียงไม่กี่ตัว หรือจำนวนปลาที่มีนั้นเท่ากับปลาที่กระโดนขึ้นมา เนื่องจากการกระโดนของปลาแสดงถึงอาการตกใจกับอะไรบางอย่างที่อยู่ใต้น้ำจึงกระโดดขึ้นมาทั้งฝูง ลักษณะเช่นนี้เป็นการสังเกตหาปลาจำพวก ปลาหลังเขียว ปลามง ปลาอินทรี ฯลฯ แต่หากสังเกตพบปลาที่กระโดดต่ำ บริเวณเหนือผิวน้ำไม่มากประมาณ 2-3 ตัว แสดงว่าบริเวณนั้นมีปลาฝูงใหญ่อาศัยอยู่มาก เนื่องจากปลาที่กระโดดเหนือผิวน้ำนั้นเป็นกลุ่มปลาที่กำลังเล่นกัน และการกระโดดของปลาอาจจะไม่ใช่ตัวเดิมที่กระโดดซ้ำไปมา จะมีการเล่นสลับกันไปตามปกติของสัตว์น้ำทั่วไป ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะเป็นปลากลุ่มใหญ่ เช่น ปลาสีกุน ปลาข้างเหลือง ปลาสีกุนตาโต เป็นต้น การสะท้อนแสงจากการพลิกตัวของปลาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ชาวประมงใช้สำหรับการหาปลากระบอก นอกจากการสังเกตปลาด้วยสายตาแล้วการฟังเสียงปลาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ใช้ในการหาปลา โดยการจุ่มศีรษะลงไปในน้ำจะทำให้ได้ยินเสียงของปลาหน้าดินบางชนิด เช่น ปลาลามะ ปลาแมว และเป็นประโยชน์ต่อการหากุ้ง เนื่องจากปลาเหล่านี้จะอยู่รวมกับกุ้ง
องค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพของน้ำทะเลเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการทำอาชีพประมง เนื่องจากสภาพน้ำทะเลในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน และสัมพันธ์กับชนิดและปริมาณของสัตว์น้ำ ส่งผลต่อการเลือกเครื่องมือในการดักจับสัตว์ โดยชาวบ้านแบ่งลักษณะของสภาพน้ำทะเลเพื่อการเดินเรือประมงเป็นประเภทหลักดังนี้ น้ำทะเลใส เหมาะแก่การดักไซหมึกเพราะหมึกจะมองเห็นเหยื่อและเข้ามาติดกับได้ง่าย และเหมาะแก่การทำอวนลอยปลาหลังเขียว เพราะสามารถมองเห็นปลาได้ง่าย แต่หากน้ำทะเลขุ่น จะเหมาะกับการหาปลากระบอก เนื่องจากน้ำขุ่นเกิดจากกระแสน้ำใต้ทะเลถูกพัดขึ้นมานำเอาแพลงตอนและแร่ธาตุมาด้วยซึ่งเป็นอาหารของปลากระบอกและปลาอื่น ๆ และถ้าหากน้ำในทะเลเป็นน้ำนิ่งและเย็นบริเวณนั้นจะไม่มีปลา เนื่องจากปลาจะมีมากในบริเวณน้ำอุ่น นอกจากนี้ระดับน้ำขึ้นน้ำลงก็ส่งผลต่อปริมาณและแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำด้วยเช่นกัน
จงรักษ์ ศรีจันทร์งาม. (2557). บทบาทหญิงชายมุสลิมกับการจัดการทรัพยากรประมงบ้านปากบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
Super Man. (2565). บางตาวาบ้านเรา ชุมชนวิถีประมงพื้นบ้าน. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.informant-media.org/