Advance search

บ้านท่องทุ, บ้านในท่อง

บ้านทับตะวัน ชุมชนชาวเล กลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน กับวิถีชีวิตชาวประมง ภูมิปัญญาการหาปลาในทะเล และประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

หมู่ที่ 7
บางสักเหนือ
บางม่วง
ตะกั่วป่า
พังงา
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
22 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
3 มี.ค. 2024
บ้านทับตะวัน
บ้านท่องทุ, บ้านในท่อง


บ้านทับตะวัน ชุมชนชาวเล กลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน กับวิถีชีวิตชาวประมง ภูมิปัญญาการหาปลาในทะเล และประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

บางสักเหนือ
หมู่ที่ 7
บางม่วง
ตะกั่วป่า
พังงา
82190
8.8026477599
98.2650276435
องค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง

ทับตะวัน เป็นชุมชนชาติพันธุ์ของชาวเล เผ่ามอแกลน ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คนในบริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อใด แต่เหตุการณ์สำคัญของชุมชนจากคำบอกเล่าของชาวบ้านให้ข้อมูลว่าในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่บริเวณชายหาดทับตะวัน ทำให้ชาวมอแกลนที่อยู่อาศัยมาก่อนในพื้นที่ได้หลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า และย้ายกลับมาอยู่ยังที่เดิมเมื่อทหารญี่ปุ่นออกจากพื้นที่ไป นอกจากนี้ เหตุการณ์ในเวลาต่อมาจากคำบอกเล่าของชาวบ้านในชุมชนเล่าว่า กว่า 50 ปีที่แล้วมีชาวมอแกลนได้ล่องเรือมาจากเกาะสุรินทร์มาปักหลักสร้างบ้านเรือนตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ จนกลายเป็นหมู่บ้านทุกวันนี้ ที่ตั้งของหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากชายหาดและบริเวณที่จอดเรือหลบพายุ หลังจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้หมู่บ้านทับตะวันได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด

เมื่อมีการสร้างชุมชนขึ้นใหม่ มีความพยายามสร้างตัวบ้านพักอาศัยให้มีลักษณะใกล้เคียงกับบ้านแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ความสามารถเชิงช่างไม้ของคนในหมู่บ้าน ยังถูกดัดแปลงมาเป็นองค์ประกอบของอาคาร เช่น ราวระเบียงไม้ ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ลักษณะเด่นของชุมชนมอแกลนเห่งนี้ คือ เป็นหมู่บ้านที่มีฝีมือด้านการต่อเรือและงานช่างไม้ จนมีการสร้างอู่ต่อเรือสำหรับสร้างและซ่อมแซมเรือในหมู่บ้าน โดยอู่ต่อเรือตั้งอยู่บริเวณขุมน้ำที่ลัดออกทะเลได้

บ้านทับตะวันนี้ เดิมชาวบ้านในชุมชนเรียกว่า “ท่องทุ” ส่วนคนภายนอกเรียกว่าบ้าน "ในท่อง" เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่ตั้งชุมชนเป็นบริเวณท้องทุ่งกว้าง มีหน้าที่หลายสิบไร่ประกอบด้วย “ต้นทุ” เกิดขึ้นอยู่มาก ในเวลาต่อมามีกลุ่มนายทุนเข้ามาสร้างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวชื่อ “โรงแรมทับตะวัน” บริเวณชาดหาดแหลมหัวกรัง และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นชายหาดทับตะวัน คนในพื้นที่จริงเรียกชุมชนบริเวณนี้ว่าทับตะวันจนมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าโรงแรมทับตะวันจะเลิกกิจการไปแล้วก็ตาม 

ชุมชนทับตะวัน เป็นชุมชนหนึ่งที่ขึ้นกับหมู่บ้านบางสักเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา บริเวณที่ตั้งชุมชนมีลักษณะทางกายภาพของภูมิศาสตร์เชิงพื้นที่เป็นพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล มีป่าชายเลน และพื้นที่ภูเขาในบริเวณรอบชุมชน และมีแหล่งน้ำจืดที่เกิดจากการเข้ามาทำสัมปทานเหมืองแร่บริเวณชุมชนในอดีต ลักษณะเป็นขุมน้ำกระจายโดยทั่วบริเวณ ทั้งยังมีบริเวณพื้นที่ราบชายฝั่งเป็นทุ่งกว้างทอดยาวไปตามแนวชายหาด และมีพรรณไม้ท้องถิ่นขึ้นอยู่ทั่วไป

ชุมชนทับตะวัน บ้านบางสักเหนือ ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านบางสักเหนือ ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 970 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 488 คน ประชากรหญิง 482 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 517 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

มอแกลน

ชาวมอแกลนทับตะวัน บ้านบางสักเหนือ ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล อาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนจึงมีความเกี่ยวข้องกับอาชีพประมง การจับสัตว์น้ำ หรือการพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลในการประกอบอาชีพ ทำมาหากินโดยอาศัยทะเล ป่าเขา ทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา

ปัจจุบันการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชนมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งการทำประมงหาปลาในทะเล การดำน้ำยิงปลา การเป็นลูกจ้างในแพใหญ่ของนายทุน ลูกจ้างในฟาร์มกุ้ง รับจ้างก่อสร้าง ลูกจ้างในโรงแรม รีสอร์ท และรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ในเวลาว่างของหนุ่มสาวชาวมอแกลนจะมีการรวมกลุ่มรำรองเง็ง ซึ่งเป็นการแสดงทางวัฒนธรรมของชาวมอแกลนที่รับอิทธิพลพร้อมกับการย้ายถิ่นฐานมาจากเกาะต่างๆ ในจังหวัดพังงา และภูเก็ต

ชาวมอแกลนมีวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมที่เรียบง่าย ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การทำประมง ชาวมอแกลนมีภูมิปัญญาในการหาปลาและการทำประมง โดยใช้เครื่องมือที่เรียบง่ายและใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น การใช้ “นาง” สำหรับใช้หาปลาและกุ้งฝอยขนาดเล็ก “ได” หรือที่คราดหอย ใช้สำหรับขูดหอย “เฌอ” หรือเบ็ดที่ทำจากเชือกเถาวัลย์และไม้ไทร ใช้ในการหาปลา นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการปลูกข้าวในบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล โดยอาศัยน้ำจากธรรมชาติในช่วงฤดูฝน และจะเริ่มทำการเพาะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน เป็นการใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียวในการทำนา และใช้กระบอกไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวเปลือกเพื่อปลักลงดินเป็นการหยอดเมล็ดพันธุ์ และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะใช้ “แกระ” ในการเกี่ยวข้องซึ่งเป็นเครื่องมือการเกษตรในท้องถิ่น และจะนำข้าวไปตี จากนั้นตำมาตำด้วยครกไม้ และฝัดในกระด้งเพื่อแยกข้างเปลือกและข้าวสาร

ด้านความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมของชาวมอแกลน มีวิถีชีวิตและประเพรีปฏิบัติที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ มีความเชื่อแบบผสมผสานหลายวัฒนธรรมทั้ง วัฒนธรรมมอแกลน ไทย มลายู และความชื่อด้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจเหนือธรรมชาติ มีผุ้นำทางจิตวิญญาณเป็นตัวแทนและสื่อกลางในการทำพิธีต่างๆ ชาวบ้านให้ความเคารพบูชาเต่าทะเล ผีชินในทะเล หรือ “ชิน ตานะ” คือขุนทะเลผู้มีน่าที่ดูแลท้องทะเล ทั้งยังมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ บ้านทุกหลังจะมีจุดแขวน “แอบาอีบูมถ้วย” และ “แอบาอีบูมโทง” หรือ “ถ้วยละโทง/ถ้วยตายาย” เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่สำหรับติดต่อกับบรรพบุรุษ โดยจะแขวนสัญลักษณ์ “โทง” เป็นพื้นที่สำหรับติดต่อกับบรรพชนที่อาศัยอยู่บริเวณเขตป่าชายเลน บนภูเขาสูง ควบคู่กับสัญลักษณ์ “ถ้วย” เป็นพื้นที่ติดต่อบรรพชนประจำเรือน โดยชาวบ้านจะมีการไหว้และขอให้คุ้มครองลูกหลาน และชาวมอแกลนบ้านทับตะวันยังมีความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษร่วมกันคือ “พ่อตาสามพัน” ซึ่งจะมีศาลตั้งอยู่บริเวณชายหาดทับตะวัน โดยชาวบ้านจะมาประกอบพิธีไหว้ศาลประจำปีในช่วงเดือนสี่ตามปฏิทินแบบจันทรคติ นอกจากนี้ยังมีประเพณีและวัฒนธรรมที่สำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เช่น ประเพณีนอนหาด พิธีลอยเรือ ประเพณีรับบุญสารทเดือนสิบ ฯลฯ

ชาวมอแกลนมีลักษระเป็นครอบครัวเดี่ยว และส่วนใหญ่ถือว่ามีบรรพบุรุษร่วมกันคือ “พ่อตาสามพัน” ซึ่งมีตำนานเรื่องเล่าท้องถิ่นถึงวีรกรรมและการเดินทางมายังชายหาดทับตะวัน โดยสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกสายตระกูล หรือความเป็นชาวมอแกลนในพื้นที่คือนามสกุล ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของ “ชาวเล” ที่แสดงถึงถิ่นที่อยู่อาศัย การทำมาหากินที่เกี่ยวข้องกับทะเล นามสกุลของชาวมอแกลนที่ปรากฏใช้ในปัจจุบันตัวอย่างเช่น

“นาทะเล” เป็นนามสกุลของชาวมอแกลนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดพังงา แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ และถิ่นที่อยู่อาศัย

“นาวารักษ์” นามสกุลของชาวมอแกลนที่ใช้กันมากในพื้นที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา  แสดงให้เห็นถึงสายตระกูลที่มีองค์ความรู้ด้านการใช้เรือ การต่อเรือ และการดุแลรักษา

“หาญทะเล” เป้นนามสกุลที่ใช้กันในกลุ่มชาวมอแกลนและชาวอูรักลาโว้ย ในอำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และในเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เป็นนามสกุลที่ชี้ให้เห็นถึงความชำนาญในวิถีที่เกี่ยวเนื่องกับท้องทะเล

การแต่งกาย ชาวมอแกลนมีลักษณะการแต่งการที่เป็นเอกลักษณ์ สอดคล้องกับวิถีชิตและสภาพภูมิศาสตร์ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น มีวิถีชีวิตที่ต้องออกเรือหาปลาเผชิญกับคลื่นลมและน้ำทะเล การแต่งกายจึงต้องคำนึงถือความสะดวกในการทำงานและสวมใส่แล้วรู้สึกสบาย โดยผู้ชายจะสวมผ้าขาวม้าแบบท้องถิ่นภาคใต้ ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อคอกระเช้าและผ้านุ่งแบบกระโจมอก หรือสวมผ้าถุง ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนและผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพื้นที่อื่น และการรับเอารูปแบบการแต่งกายสมัยใหม่มาปรับใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละโอกาส

ชาวมอแกลนมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย การสร้างบ้านเรือนจะรวมกันอยู่ในหมู่เครือญาติ การสร้างบ้านเรือนในอดีตจะมีลักษณะเป็นเรือนทรงสูงหลังคามุงด้วยจากหรือทางมะพร้าวที่นมาเย็บต่อกัน ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นฝาบ้านกันลมฝน พื้นบ้านใช้ไม้ไผ่หรือกระดานไม้ปูเว้นระยะเพื่อให้ลมพัดผ่านได้ ในปัจจุบันมีการปรับรูปแบบการสร้างบ้านเรือนที่เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม และตามกำลังของเจ้าของบ้าน มีทั้งแบบบ้านปูนชั้นเดียว บ้านปูนยกพื้นสูง และบ้านไม้ไผ่แบบดั้งเดิมก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่แสดงวิถีวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการของชุมชน

ชาวมอแกลนมีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือภาษากลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน แต่ไม่มีภาษาเขียน


ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาที่มีมานานแต่ถูกตีแผ่ออกไปมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์สึนามิในพื้นที่ ทำให้มีหน่วยงานต่างๆ กลุ่มองค์กร และบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังส่งผลต่อความมั่นคงของชาวมอแกลนอีกหลายครอบครัว อีกทั้งด้านทรัพยากรที่น้อยลง รวมถึงการจับจองที่ดินโดยเอกชนเพื่อประกอบธุรกิจ และการประกาศเขตอนุรักษ์ ส่งผลให้ชาวมอแกลนเกิดความลำบากในการเดินทางและการทำมาหากิน ช่องทางทำมาหาเกิดลดน้อยลงและเปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านจึงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องเปลี่ยนวิถีมาประกอบอาชพรับจ้างรายวันเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว


กลุ่มชาติพันธุ์มอแกลนบ้านทับตะวัน เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจในฐานะกลุ่มคนชายขอบในช่วงเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 มีการสร้างชุมชนอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งชาวมอแกลนมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสิงที่รัฐและสังคมมอบให้ และพยายามพัฒนาตนเองเพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างความหมายให้กับกลุ่มชาตพันธุ์ของตนให้เป็นที่ยอมรับของสังคม


ด้วยสภาพแวดล้อมและพัฒนาการทางสังคมในปัจจุบันทีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ชาวมอแกลนมีการติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการรับเอาภาษาถ้อยคำที่เป้นการหยิบยืมมาให้เป็นจำนวนมากในการสื่อสาร และด้วยการศึกษาทำให้ประชาชนในพื้นที่มีการติดต่อสื่อสารและเรียนรู้ภาษามาตรฐานมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ารับการศึกษาซึ่งนิยมใช้ภาษาไทยมาตรฐานเป็นหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ภาษาดั้งเดิมของชาวมอแกลนเริ่มสูญหายไป 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ณัฐชยา ส่งส่อง (2564). การดำรงอยู่ของพิธีกรรมเซ่นปู่ตาสามพัน: กรณีศึกษาชนเผ่ามอแกลน ณ หมู่บ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะศิลปศาสตร์.

ปัถยา คำพล (2554). โครงการ"ย้อนดูตน ค้นหาตัวเอง" กรณีการจัดกระบวนการเรียนรู้พื้นที่ผู้ประสบภัยสึนามิชุมชนมอแกลน บ้านทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ชุมชนมอแกลนทับตะวัน. (2564). สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/BanchaolayMoklan/

ชุมชนมอแกลนทับตะวัน. (2566). สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/BanchaolayMoklan/