บ้านนาปลาจาด ชุมชนชาวไต หรือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กับทรัพยากรทางวัฒนธรรมและทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่ชุมชน
บริเวณที่ตั้งชุมชนมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีปลาชุกชุม โดยปลาที่พบมากคือ ปลาจาด จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน
บ้านนาปลาจาด ชุมชนชาวไต หรือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กับทรัพยากรทางวัฒนธรรมและทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่ชุมชน
บ้านนาปลาจาดเป็นชุมชนชาวไทยใหญ่ สันนิษฐานว่ามีการเข้ามาของผู้คนจนกลายเป็นชุมชนในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2380 โดยมีพ่อเฒ่าเตยะเป็นแข่ไตเหนือกับพ่อเฒ่าจันทร์ติ๊บเป็นคนเมืองมาจากเชียงใหม่เป็นชาวบ้านกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนในบริเวณด้านทิศใต้ของชุมชนปัจจุบัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีลำน้ำแม่สะงีไหลผ่าน ทำให้มีป่าที่สมบูรณ์ มีปลาชุกชุมในลำน้ำ ปลาที่พบมากก็คือปลาจาด จึงได้ชื่อว่านาปลาจาด ต่อมาเกิดเหตุการณ์ผู้คนทำร้ายกันในพื้นที่จนเสียชีวิต ชาวบ้านจึงพากันย้ายบ้านเรือนขึ้นมาทางทิศเหนือตรงที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน โดยมีนายส้านเป็นแข่ไตเหนือ หรือผู้นำธรรมชาติ เรียกว่า นายก้างส้าน แรกเริ่มมีชาวบ้านอาศัยอยู่ร่วมกันประมาณ 7 ครัวเรือนต่อมาจึงมีคนอพยพเข้ามาเพิ่มเติม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้มีการประกาศยกฐานะขึ้นเป็นหมู่บ้านนาปลาจาด หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน บ้านนาปลาจาดมีพัฒนาการของชุมชนขึ้นเป็นลำดับ มีการขยายตัวของประชากรและจำนวนหลังคาเรือนที่เพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาระบบน้ำประปาภูเขาไว้ใช้อุปโภคบริโภค มีสถานที่ราชการเกิดขึ้นอีก 1 แห่ง คือ สถานีอนามัยหมู่บ้าน การสร้างทางคมนาคมสัญจรไปมาระหว่างอำเภอเมืองกับหมู่บ้านสะดวกขึ้น เป็นทางลูกรังมีรถยนต์โดยสารไปมาระหว่างอำเภอเมืองกับหมู่บ้าน และชุมชนก็ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านนาปลาจาด หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอนระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชุมชนตั้งอยู่บริเวณที่ราบระหว่างหุบเขาตามลำน้ำแม่สะงี มีภูเขาสูงขนาบทั้งสองด้านตามแนวทิศเหนือ-ใต้ พื้นที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก ไม้แดง ไม้ยาง ฯลฯ พื้นที่ชุมชนมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,565 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลและหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หย่อมบ้านคาหาน ม.4 ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทุ่งมะส้าน ม.5 ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่สุยะ ม.6 ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยขาน ม.4 ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
บ้านนาปลาจาด ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนชาวไตหรือกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 4 บ้านนาปลาจาด ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,637 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 807 คน ประชากรหญิง 830 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 551 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ไทใหญ่บ้านนาปลาจาด ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการทำเกษตรกรรม และรับจ้างทั่วไป มีการทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักสำคัญและเพื่อเก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือน โดยหลักจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตนาข้าวแล้วชาวบ้านจะปรับพื้นที่เพื่อปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่มเติม พืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกเสริมฤดูการทำนาคือ กระเทียม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยาสูบ ข้าวสาลี ผักสวนครัว และถั่วเหลือง ซึ่งการปลูกพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชนอันได้แก่ ข้าว กระเทียม และถั่วเหลือง เป็นวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมที่ชาวบ้านปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ในการเพาะปลูก เพราะแต่เดิมเป็นการปลูกเพื่อบริโภคเป็นหลักและแบ่งขายบ้างบางส่วน ในปัจจุบันชาวบ้านหันมาปลูกกระเทียมเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งขายสร้างรายได้ในครัวเรือน และหันมาใช้สารเคมีเพื่อป้องกันและเพิ่มผลผลิตในการสร้างรายได้ของประชากรในชุมชน
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม | - ปลูกถั่วเหลือ, เก็บถั่วเหลืองรุ่นสอง |
กุมภาพันธ์ | - ดูแลถั่วเหลือง, กำจัดวัชพืช |
มีนาคม | - เกี่ยวเกี่ยวถั่วเหลือง/กระเทียม, ปลูกผัก |
เมษายน | - เกี่ยวเกี่ยวถั่วเหลือง/กระเทียม, ปลูกผัก |
พฤษภาคม | - เตรียมพื้นที่นา, ปลูกข้าวไร่ |
มิถุนายน | - เตรียมพื้นที่นา, ปลูกถั่วเหลือง/งา/ข้าวสาลี |
กรกฎาคม | - ดำนา, ดูแลถั่วเหลือง/กำจัดวัชพืช |
สิงหาคม | - ปลูกถั่วเหลืองสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ |
กันยายน | - ปลูกถัวดอย, ปลูกผัก, เก็บถั่วเหลืองรุ่นแรก |
ตุลาคม | - ปลูกถั่วลิสง/ยาสูบ, เกี่ยวข้าว, เก็บถั่วเหลืองรุ่นแรก |
พฤศจิกายน | - เตรียมพื้นที่ปลูกกระเทียม |
ธันวาคม | - เตรียมพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง, ปลูกกระเทียม |
ปฏิทินวัฒนธรรมบ้านนาปลาจาด
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม (ก๋ำ) | - ประเพณีถวายข้าวปุ๊ก |
กุมภาพันธ์ (สาม) | - ประเพณีถวายข้าวหย่ากู๊ |
มีนาคม (สี่) | - ทำบุญตักบาตร (ส่งข้าววัด) |
เมษายน (ห้า) | - เทศกาลสงกรานต์ |
พฤษภาคม (หก) | - ก่อเจดีย์ทราย (ปอยจ่าตี่) บางปีมีการจัดบั้งไฟ |
มิถุนายน (เจ็ด) | - เข้าวัดทำบุญที่วัดนาปลาจาด |
กรกฎาคม (แปด) | - เข้าพรรษา |
สิงหาคม (เก้า) | - ทำบุญถวายสลากภัต (มหาตุ๊ก) |
กันยายน (สิบ) | - ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง |
ตุลาคม (สิบเอ็ด) | - ออกพรรษา |
พฤศจิกายน (สิบสอง) | - ทำบุญดับไฟเทียน (ปอยอ่องจ๊อด) |
ธันวาคม (เกี๋ยง) | - ทำข้าวเม่าถวายวัดและแจกเพื่อนบ้าน |
ทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านนาปลาจาด ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก ไม้แดง ไม้ยาง ฯลฯ มีข้อกำหนดร่วมกันว่าชาวบ้านสามารถหาของป่ามารับประทานในครัวเรือนได้ แต่ห้ามนำมาจำหน่ายหรือทำเป็นอาชีพ พื้นที่ป่าบางส่วนเริ่มเสื่อมสภาพลงเนื่องจากการขยายตัวของชุมชนที่มีการเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่าบางส่วน นอกจากนี้พื้นที่ชุมชนยังมีลำน้ำแม่สะงีไหลผ่านบริเวณชุมชน ชาวบ้านมีการกำหนดพื้นที่ลำน้ำเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำที่เชื่อมต่อกับอุทยานถ้ำปลา เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นเพิ่มความมั่นคงและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
ศูนย์วิจัยวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านนาปลาจาด. ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2567, จาก http://www.taiyai.org/taiyaidata/
ชาตรี คำจิ่ง. (2554). การศึกษาแนวทางเพื่อลดต้นทุนการผลิตกระเทียมนา บ้านนาปลาจาด ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์ระยะที่ 1. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.