การขยายตัวของชุมชนเมืองขนาดใหญ่ และพัฒนาการทางสังคมจนเกิดเป็นชุมชนใหม่ใจกลางเมืองสงขลา
การขยายตัวของชุมชนเมืองขนาดใหญ่ และพัฒนาการทางสังคมจนเกิดเป็นชุมชนใหม่ใจกลางเมืองสงขลา
ชุมชนสินไพบูลย์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุมชนวัดสระเกษ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบของบริเวณชุมชนคลอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ เมื่อสังคมมีการขยายตัวและประชากรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้การจัดการดูแลชุมชนอาจไม่ครอบคลุมและทั่วถึงอย่างเต็มที่ และยากต่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทางเทศบาลนครสงขลาซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลชุมชนจึงได้แบ่งแยกพื้นที่ส่วนหนึ่งของชุมชนสระเกษออกเป็นชุมชนใหม่อีกหนึ่งชุมชน และตั้งเป็นชุมชนสินไพบูลย์ เมื่อปี พ.ศ. 2558
ชุมชนสินไพบูลย์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 20,880.00 ตารางเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบตั้งอยู่ใจกลางเมืองสงขลา สภาพแวดล้อมมีลักษณะเป็นชุมชนสังคมเมืองที่ไม่ใหญ่มากนัก ประชากรอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น เส้นทางคมนาคมสัญจรไปมาสะดวก และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนสระเกษ ซอย 6
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนชัยมงคล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนชัยมงคล ซอย 2
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนสระเกษ
ชุมชนสินไพบูลย์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยมีจำนวนครัวเรือนในชุมชนทั้งหมด จำนวน 313 ครัวเรือน มีประชากรแบ่งเป็น ประชากรชาย จำนวน 247 คน ประชากรหญิง จำนวน 327 คน รวมมีประชากรในชุมชนทั้งหมด จำนวน 574 คน
ชุมชนสินไพบูลย์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อยู่ภายใต้การปกครองในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลนครสงขลา มีประธานชุมชนเป็นผู้นำท้องถิ่นในการดูแลชุมชน โดยประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนสินไพบูลย์ประกอบอาชีพค้าขายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และประชากรบางส่วนในชุมชนก็มีอาชีพรับราชการเป็นอาชีพหลัก โดยชุมชนสินไพบูลย์มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 194,774 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 91,885 บาท/ปี
ชุมชนสินไพบูลย์ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสงขลา และอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญหลายพื้นที่ ทั้งยังมีวัดรในพื้นที่บริเวณใกล้กับชุมชนถึงสองวัด คือ วัดสระเกษ และวัดชัยมงคล ซึ่งเป็นวัดใหญ่และวัดสำคัญของจังหวัดสงขลา ประชากรในชุมชนสินไพบูลย์จึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ตามงานประเพณีเทศกาลของทางจังหวัด และวันสำคัญทางศาสนาที่จัดขึ้นภายในวัด ซึ่งประชาชนให้ความร่วมมือในการร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี เช่น ทำบุญเดือนสิบ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีตักบาตรเทโวและลากพระ เมืองสงขลา ฯลฯ
1.นางวรณิชสร์ ทรัพย์ยังแก้ว ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ
2.นางสาวชยานันท์ กาญจนคีรีดำรง ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ
3.นางพัชรี ไชยแสน ปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตร
4.นางสมพิศ โกยมาศ ปราชญ์ชุมชนด้านการถนอมอาหาร/การจัดทำอาหาร
5.นางอัจจิมา พรรณนา ปราชญ์ชุมชนด้านการถนอมอาหาร/การจัดทำอาหาร
สถานที่สำคัญใกล้บริเวณชุมชน
- โรงเรียนวรนารีเฉลิม
- โรงเรียนชัยมงคลวิทย์
- วัดสระเกษ
- วัดชัยมงคล
วัดสระเกษ
วัดสระเกษ เมืองสงขลา เป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งของจังหวัดที่พุทธศาสนิกชนให้ความศรัทธา และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ภายในวัดมีพระอุโบสถเก่าแก่ สันนิษฐานสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2468 ทั้งยังมีพระบรมธาตุรัตนเจดีย์ศร โดยเกิดจากเจตนารมณ์ของพระครูประภัศรธรรมวิธาน เจ้าอาวาสวัดสระเกษ ท่านได้มีโอกาสเดินทางไปกราบสักการะสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2549 แล้วจึงได้ชักชวนคณะพุทธบริษัทร่วมใจกันสร้างเจดีย์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เวลา 21.39 น. ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 9 ปี แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 รอบพระบรมธาตุมีองค์พระพุทธรูปตั้งเรียงราย มีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
เทศบาลนครสงขลา. แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนสินไพบูลย์ เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
วัดสระเกษ สงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/