พื้นที่ว่างเปล่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับการเข้ามาของผู้คนนอกพื้นที่เมืองสงขลา และพัฒนาการของชุมชนสังคมเมือง
พื้นที่ว่างเปล่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย กับการเข้ามาของผู้คนนอกพื้นที่เมืองสงขลา และพัฒนาการของชุมชนสังคมเมือง
เดิมบริเวณพื้นที่ตั้งชุมชนเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมามีผู้คนจากนอกพื้นที่เมืองสงขลาอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ ทั้งมาจากต่างอำเภอในสงขลา และจากจังหวัดใกล้เคียง เมื่อมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้ชุมชนมีความหนาแน่นแออัด ขาดความเป็นระเบียบ ยากต่อการจัดการดูแล ประชาชนในชุมชนจึงร่วมกับองค์กรในมูลนิธิเพื่อที่อยู่อาศัยและเทศบาลนครสงขลาร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ดูและปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อมภายในชุมชน เส้นทางการสัญจร คูระบายน้ำ และพื้นที่อยู่อาศัยให้มีความสะอาดเรียบร้อย เหมาะแก่การพักอาศัย โดยได้ประกาศจัดตั้งเป็นชุมชนร่วมใจพัฒนาเมื่อปี พ.ศ. 2538
ชุมชนร่วมใจพัฒนา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนสังคมเมืองที่ค่อนข้างแออัดชุมชนหนึ่งของเมืองสงขลา สภาพพื้นที่ชุมชนมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ มีวัดตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของชุมชน มีสถานศึกษา และตลาดใกล้กับบริเวณชุมชน พื้นที่ของชุมชนมีทั้งหมด 41,493.43 ตารางเมตร และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนชัย-เพชรมงคล ซอยร่วมใจพัฒนา 8
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนรามวิถี ซอย 6
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนชัย-เพชรมงคล
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนรามวิถี
ชุมชนร่วมใจพัฒนา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนสังคมเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น โดยมีครัวเรือนอยู่อาศัยร่วมกันในชุมชนทั้งหมด จำนวน 298 ครัวเรือน มีประชากรชาย จำนวน 497 คน ประชากรหญิง จำนวน 796 คน รวมมีประชากรในชุมชนทั้งหมด จำนวน 1,293 คน
ชุมชนร่วมใจพัฒนา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ท้องถิ่นเป็นพื้นที่ที่มีทะเลล้อมรอบทั้งสองฝั่ง ทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา และชุมชนยังตั้งอยู่ในเขตเมืองสงขลาซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี อาชีพเกี่ยวกับการค้าขายจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักที่สำคัญของสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้ประชากรบางส่วนของชุมชนยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเพื่อหารายได้ในครอบครัว โดยชุมชนร่วมใจพัฒนามีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 151,515 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 56,980 บาท/ปี
แหล่งทุนเศรษฐกิจสนับสนุนชุมชน
- กองทุน SML มีงบประมาณ 500,000 บาท
- กองทุนหมู่บ้าน มีงบประมาณ 1,500,000
- กองทุนสร้างความเข้มแข็ง มีงบประมาณมากกว่า 20 ล้านบาท
สถานที่สำคัญ
- โรงเรียนเทศบาล 2 อ่อนอุทิศ
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
- วัดชัยมงคล
- วัดโรงวาส
- ตลาดรถไฟ
เทศบาลนครสงขลา. ชุมชร่วมใจพัฒนา เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
เทศบาลนครสงขลา-Songkhla City. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/SongkhlaMunicipality