กระดาษสาบ้านต้นเปา ชุมชนเก่าแก่กับมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ นำมาสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
กระดาษสาบ้านต้นเปา ชุมชนเก่าแก่กับมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ นำมาสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
บ้านต้นเปาเป็นแหล่งผลิตกระดาษสาที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่และได้ทำมานานกว่า 100 ปี สืบทอดมาจากชนเผ่าไทยเขินซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวต้นเปาที่ได้อพยพมาจากสิบสองปันนา เชียงตุง และเชียงรุ้ง เมื่อสมัยก่อตั้งอาณาจักรล้านนา ในปัจจุบันก็ยังมีหลักฐานเกี่ยวกับบรรพบุรุษของชาวต้นเปาหลงเหลืออยู่นั่นก็คือ สำเนียงภาษาพูดของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนที่พูดสำเนียงเขิน โดยในอดีตอาณาจักรล้านนานั้นประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชนเผ่า แต่ละชนเผ่าก็จะมีสำเนียงการพูดที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นในอดีต หมู่บ้านต้นเปาไม่เคยมีต้นปอสาซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการทำแผ่นกระดาษอยู่ในหมู่บ้านเลย เพราะต้นปอสานั้นมักจะอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ดังนั้นการทำกระดาษสาจึงน่าจะเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันมาหลายช่วงอายุตั้งแต่ก่อนจะอพยพ จนได้นำภูมิปัญญาการทำกระดาษสานี้มาทำต่อที่บ้านต้นเปา
ชุมชนเทศบาลเมืองต้นเปาเป็นพื้นที่กลุ่มชุมชนขนาดใหญ่ ที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ราบ และที่ราบลุ่ม ไม่มีแนวป่าไม้และภูเขา บริเวณที่ตั้งชุมชนอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ไปทางด้านทิศตะวันออก ตามเส้นทางถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1006 (เชียงใหม่-สันกำแพง) เป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร โดยพื้นที่ชุมชนต้นเปามีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 15.36 ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลสันกำแพง พื้นที่ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ชุมชนเขตพื้นที่ท้องถิ่นเทศบาลเมืองต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรท้องถิ่นเทศบาลเมืองต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 20,366 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 9,212 คน ประชากรหญิง 11,154 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 14,070 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
บ้านต้นเปา ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในเรื่องของภูมิปัญญาการผลิตกระดาษสาที่ทำสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การผลิตกระดาษสาจึงเป็นอาชีพหลักสำคัญของประชากรในชุมชนที่ช่วงสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในการเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว ชาวบ้านเกือบทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 90 มีอาชีพผลิตกระดาษสาเพื่อจำหน่าย และนอกจากอาชีพการทำกระดาษสาแล้วประชาชนในพื้นที่ยังประกอบอาชีพอื่นเป็นอาชีพเสริมร่วมด้วยเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม ได้แก่ การทำเกษตรกรรม การทำนาข้าว ทำสวน ทำไร่ หรืออาชีพรับจ้างทั่วไป โดยการทำนาหรืออาชีพด้านการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพเสริมที่มาพร้อมกับการเพาะปลูกตามฤดูกาล โดยการทำนาข้าวของชาวบ้านจะเป็นการเพาะปลูกในลักษณะของอาชีพเสริมที่ไม่ส่งผลกระทบกับการทำอาชีพผลิตกระดาษสาที่เป็นอาชีพหลัก และด้วยเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้านการทำกระดาษสาของบ้านต้นเปา ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และเยี่ยมชมพื้นที่แหล่งผลิตกระดาษสาที่มีชื่อเสียงอย่างบ้านต้นเปา และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว จึงทำให้มีการเกิดอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ช่วยสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับประชากรในชุมชนได้เป็นอย่างดี
กระดาษสาบ้านต้นเปา
การผลิตกระดาษสาที่บ้านต้นเปาเริ่มขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าจะจะเกิดขึ้นและมีพัฒนาการมาในระยะเดียวกันกับการทำร่มที่บ้านบ่อสร้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ชุมชนบ้านบ่อสร้างจะมีการผลิตกระดาษสาเพื่อน้ำไปใช้ในการหุ้มร่ม แต่บ้านต้นเปาจะเป็นแหล่งผลิตกระดาษสาเพียงอย่างเดียว ซึ่งผลผลิตกระดาษสาที่ได้จากบ้านต้นเปาก็จะถูกส่งไปทำร่มที่บ้านบ่อสร้างเช่นเดียวกัน
การผลิตกระดาษสาในระยะแรกจะเป็นการทำเพื่อแลกเปลี่ยนในชุมชนท้องถิ่นเดียวกัน โดยเป็นเพียงอาชีพเสริมที่เกิดขึ้นหลังฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตรกรรม ว่างเว้นจากการทำนา หรือกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งในอดีตชาวบ้านจะทำนาและเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก พอถึงช่วงฤดูแล้งก็จะหันมาทำกระดาษสาไว้ใช้สอยในครัวเรือน เป็นกระดาษสาที่ผลิตด้วยกรรมวิธีแบบธรรมชาติ ไม่มีการแต่งสีหรือลวดลายใดๆ เพราะจะใช้สำหรับกิจกรรมในชีวิตประจำวันและแลกเปลี่ยนซื้อขายภายในท้องถิ่นเท่านั้น โดยใช้กระดาษสาเป็นสมุดจดบันทึก บทสวด เขียนเรื่องราววรรณกรรมต่างๆ ตำรายา และศาสตร์แขนงอื่นๆ ชาวบ้านจะเรียกกระดาษบันทึกเหล่านี้ว่า “พับสา” นอกจากนี้ยังใช้กระดาษสาทำเป็นโคมและตุงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ใช้เป็นกระดาษลอกลายและทำแบบเสื้อผ้า เป็นต้น
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2520 การผลิตกระดาษสาของชุมชนบ้านต้นเปาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้มีพัฒนาการทางด้านการผลิตกระดาษสาที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นตามความต้องการของตลาดเริ่มมีการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้ากลุ่มต่างๆ จากทั้งพื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงตลาดสินค้าในต่างประเทศ จึงมีการสร้างสรรค์ ออกแบบผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่งดงาม โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ ทั้งรูปแบบสินค้า และวิธีการผลิต เพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสร้างเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้การผลักดัน สนับสนุน และส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ ให้สอดคล้องตามพัฒนาการทางสังคม รวมไปถึงการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นตามทิศทางที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
จากที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระดาษสาโดยใช้เทคนิคใหม่ๆ ทำให้กระดาษมีความสวยงามและความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้นำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยมีอำเภอสันกำแพงเข้ามาดูแลเรื่องหัตถกรรมครัวเรือน และยังมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1 เข้ามาช่วยส่งเสริมด้านเครื่องมือ เทคนิคและความรู้ ด้านการทำกระดาษสาแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปั่นเยื่อสา การทำแผ่น รวมไปถึงด้านการตลาด
ผลิตภัณฑ์กระดาษสาบ้านต้นเปาจึงเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์และได้รับความนิยม ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักและเป็นผลิตภัณฑ์ขายดีของหมู่บ้านต้นเปานั้น ได้แก่ แผ่นกระดาษสาลายบาติก และกระดาษสาแตะดอก กล่องกระดาษสา สมุดโน้ต อัลบั้มที่ทำจากกระดาษสา นอกจากนั้นที่หมู่บ้านต้นเปายังมีผลิตภัณฑ์กระดาษสาและผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากกระดาษสาแบบอื่นที่มีความสวยงามสำหรับผู้ที่สนใจได้เลือกซื้อ เช่น กระดาษสาสกรีนลาย กระดาษสาแผ่นบาง โคมไฟกระดาษสา สมุดโทรศัพท์ คัมภีร์กระดาษสา เชือกกระดาษสา ถุงกระดาษสา ปกเมนูเยื่อสา กล่องกระดาษทิชชู การ์ดอวยพร กรอบรูป ร่มกระดาษสาบาติก และพัดกระดาษสา เป็นต้น
ในอดีต ชาวบ้านต้นเปาทำกระดาษสาแล้วจะพับเป็นพัดเอาไปขายที่ตลาดบ้านบ่อสร้าง เพราะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน คนบ่อสร้างก็จะซื้อไปทำร่ม ต่อมาคนบ้านบ่อสร้างเริ่มเปลี่ยนจากกระดาษสามาใช้ผ้าทำร่มและพัดแทนเมื่อปี 2516 กระดาษสาค่อย ๆ เงียบหายไปตามกาลเวลา ในบ้านต้นเปาแทบไม่มีคนทำกระดาษสาเลย คงเหลือไม่กี่ครอบครัวที่ยังคงยืนหยัดที่จะทำกระดาษสาอยู่ แต่ด้วยความผูกพันกับกระดาษสามากกว่า 100 ปี ของคนบ้านต้นเปา ปัจจุบันสามารถแปรเปลี่ยนเป็นอาชีพที่สร้างงานและสร้างเงินให้กับครอบครัว จนขยายไปทั้งตำบลด้วยผลิตภัณฑ์กระดาษสาที่ทำจากมือหลากหลายรูปแบบและสีสัน ตามความต้องการของลูกค้าและสามารถขายได้ทั้งในและต่างประเทศ หน่วยงานในท้องถิ่นโดยเทศบาลตำบลต้นเปาจึงได้สนับสนุนให้เกิดงานกระดาษสาขึ้น เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์กระดาษสาและประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้รู้จัก บ้านต้นเปา มากยิ่งขึ้น โดยใช้ชื่องานว่า งามล้ำค่าหัตถศิลป์ถิ่นกระดาษสา และภูมิปัญญาบ้านต้นเปา ขึ้นในปี พ.ศ. 2547 ต่อมาได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยใช้ชื่องานว่า มหัศจรรย์ล้านนา เมืองกระดาษสาบ้านต้นเปา ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการกระดาษสาและราษฎรบ้านต้นเปาเห็นชอบที่จะใช้ชื่อนี้ใน การจัดงานโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา
น้ำผึ้ง ไชยกุล. (2556). การมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระดาษสาของชุมชนเทศบาลตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
นพรัตน์ สัจจะวิสัย. (2558). การจัดการความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมของเทศบาลเมืองต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่.
มิวเซียมไทยแลนด์. (ม.ป.ป.). ต้นเปา บ้านกระดาษสา. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.museumthailand.com/
อภิญญา นนท์นาท. (2565). ‘บ้านต้นเปา’ แหล่งผลิตกระดาษสาทำมือ ณ สันกำแพง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.muangboranjournal.com/post/saa-paper-tonpao