หัตถกรรมจักสานคู่ชุมชนบางเจ้าฉ่า มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาเป็นสมบัติอันล้ำค่าของท้องถิ่น สู่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจชุมชนสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่
“บางเจ้าฉ่า” มีที่มีจากชื่อของผู้นำชุมชนที่พาชาวบ้านอพยพครัวเรือนมาแจกแถบเมืองวิเศษชัยชาญ คือ “นายฉ่า” ผู้นำพาชาวบ้านมายังบริเวณนี้ และตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำน้อยด้านทิศตะวันตก เมื่อก่อตั้งเป็นชุมชนจึงได้ใช้ชื่อว่า “บางเจ้าฉ่า”
หัตถกรรมจักสานคู่ชุมชนบางเจ้าฉ่า มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาเป็นสมบัติอันล้ำค่าของท้องถิ่น สู่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจชุมชนสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่
ชุมชนบางเจ้าฉ่า เป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่งที่ก่อตั้งเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยจากตำนานท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า บรรพบุรุษของประชากรในพื้นที่ตำบลบางเจ้าฉ่าเดิมทีนั้นเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ที่แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองหน้าด่านสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือจังหวัดอ่างทองในปัจจุบัน
ต่อมาในช่วงศึกสงครามบ้านบางระจัน กลุ่มชาวบ้านนำโดยนายฉ่า ได้รวบรวมกำลังพลร่วมกับชาวบ้านบางระจันต่อสู้กกับกองกำลังพม่า เมื่อค่ายบางระจันแตกในราวปี พ.ศ. 2309 นายฉ่าและชาวบ้านที่รอดชีวิตจึงพากันอพยพหนีการรุกรานของทหารพม่าและหลบซ่อนตัว โดยได้พาการเดิมทางมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณป่ายาง และสร้างบ้านเรือนในบริเวณนี้ในระยะแรกมีการสร้างบ้านเรือนเพียง 3 หลัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำน้อย ต่อมาจึงกลายเป็นชุมชนและเรียกว่า “บ้านสร้างสามเรือน” ต่อมาจึงขายชุมชนเพิ่มมากขึ้นเรียงรายไปตามบริเวณต่างๆ ตลอดแนวแม่น้ำน้อย และพื้นที่ใกล้เคียง
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสังคมมีพัฒนาการที่เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น มีการแบ่งเขตการปกครองเป็นหมู่บ้าน และการจัดตั้งเป็นตำบล พื้นที่ชุมชนบริเวณจึงได้ถูกประกาศจัดตั้งเป็นตำบลบางเจ้าฉ่า มีที่มีจากชื่อของผู้นำชุมชนที่พาชาวบ้านอพยพครัวเรือนมาแจกแถบเมืองวิเศษชัยชาญ คือ “นายฉ่า” ผู้นำพาชาวบ้านมายังบริเวณนี้ และตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำน้อยด้านทิศตะวันตก เมื่อก่อตั้งเป็นชุมชนจึงได้ใช้ชื่อว่า “บางเจ้าฉ่า” มาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะภูมิประเทศของสภาพพื้นที่ของชุมชนบางเจ้าฉ่า ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของอำเภอโพธิ์ทอง มีระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธิ์ทองประมาณ 9 กิโลเมตร ลักษณะทางกายภาพภูมิศาสตร์ชุมชนตั้งอยู่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบริเวณที่ราบลุ่ม ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนและดินเหนียว เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม เนื่องจากมีแม่น้ำน้อยไหลผ่านบริเวณนี้ทางด้านทิศตะวันออก และมีคลองชลประทานตัดผ่านขนาดไปกับแนวถนนสายหลักของตำบล (โพธ์ทอง-ท่าช้าง) สภาพอากาศของพื้นที่มีความชุ่มชื่นไม่ร้อยจัดเพราะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ต่อด้วยฤดูฝนยาวไปจนถึงช่วงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยพื้นที่ชุมชนตำบลบางเจ้าฉ่า มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่ตำบลองครักษ์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่ตำบลอ่างแก้ว อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
- ทิศตะวันออก ตดต่อกับ พื้นที่ตำบลบางระกำ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่ตำบลโคกพุทรา อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
ชุมชนบางเจ้าฉ่า ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นชุมชนที่ประชากรตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกระจายตัวกับไปตามแนวฝั่งแม่น้ำน้อยเป็นส่วนใหญ่ โดยมีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,245 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,534 คน ประชากรหญิง 1,711 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 1,207 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ชุมชนบางเจ้าฉ่า ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ชุมชนกว่าร้อยละ 80 จะประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาปลูกขาว เนื่องจากบริเวรพื้นที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ราบลุ่ม และมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และคลองน้ำชลประทานตัดผ่าน ทำให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ทั้งทำนาและทำสวนผลไม้
นอกจากนี้ประชากรในพื้นที่ยังมีการทำปศุสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เป็นต้น อีกทั้งประชากรบางส่วนในพื้นที่ชุมชนก็จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย ทำงานโรงงาน รับราชการ หรือรับจ้างทั่วไป และอาชีพที่สำคัญที่ช่วงเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนบางเจ้าฉ่าก็คืออาชีพด้านการจักสานไม้ไผ่ ที่เป็นมรดกภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาจากอดีต ได้รับการการส่งเสริมผลักดันจนกลายเป็นสินค้า OTOP ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี
ชุมชนบางเจ้าฉ่า ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นชุมชนชาวพุทธ ประชากรในชุมชนนับถือพุทธศาสนา มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับความเชื่อของศาสนาพุทธ เข้าวัดทำบุญ ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในวันสำคัญทางศาสนา และมีประเพณีงานประจำปีของชุมชนและผู้คนในพื้นที่ที่จัดร่วมกัน ได้แก่ ประเพณีแห่พระสรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนของทุกปี และงานประเพณีตำขนมจีนที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน
เครื่องจักสานบางเจ้าฉ่า
จากสภาวะเศรษกิจตกต่ำในช่วงปี พ.ศ. 2540 ส่งผลกระทบต่อประชนในหลายพื้นที่ รวมไปถึงประชาชนในชุมชนบางเจ้าฉ่าที่ได้รับผลกระทบด้านระบบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและพลิกฟื้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นขึ้นมาอีกครั้ง มีการจัดประชาคมวางแผนพัฒนาชุมชน ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพเสริมให้กับสมาชิกในชุมชน เป็นผลก่อให้เกิดการส่งเสริมอาชีพจักสานไม้ไผ่ จากวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นทุนเดิม จากการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักและจักสานไม้ไผ่เป็นอาชีพเสริม ชาวบ้านได้พัฒนาฝีมือและรูปแบบผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่จนเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้รายได้จากการจักสานไม้ไผ่เป็นรายได้หลักที่เสริมสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเกิดรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดดเด่นเป้นเอกลักษณ์ กลายเป็นสินค้า OTOP ที่มีคุณภาพสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้
บางเจ้าฉ่าแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ ซึ่งครั้งหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามราชกุมารี ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนและได้พระราชทานคำแนะนำให้ราษฎรปลูกไม้ไผ่สีสุกเพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องจักสานและเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือประเภทนี้ไว้ งานจักสานของบางเจ้าฉ่านี้มีความละเอียดประณีตสวยงามสามารถพัฒนางานฝีมือตามความต้องการของตลาด ไม่ยึดติดกับรูปแบบเก่าจนสามารถส่งออกขายต่างประเทศได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ
พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่
พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 จัดแสดงเครื่องจักสานหลากหลายชนิด ทั้งที่เป็นเครื่องมือทำนา เครื่องมือดักสัตว์ ภาชนะ เครื่องใช้ไม้สอยภายในครัว เช่น กระบุง ตะกร้า ข้อง ไซ กรงนกเขา สุ่มไก่ และเครื่องจักสานรูปแบบใหม่ๆ ที่ทันสมัย เช่น กระเป๋าถือ หีบเก็บของ ของตกแต่งบ้านอีกหลายรูปแบบ รวมถึงป้ายนิทรรศการประวัติความเป็นมาของเครื่องจักสาน เครื่องจักสานที่ทำขึ้นในท้องถิ่นต่าง ๆ พัฒนาการเครื่องจักสาน กำนันสุรินทร์เสริมว่า ไผ่ที่ใช้จักสานลวดลายที่ละเอียด ปราณีต ต้องเป็นไม้ไผ่สีสุก ที่มีความอ่อนตัวของไผ่ ทำให้จักสานลวดลายส่วนเล็กๆ ได้ดีกว่าไผ่ทั่วไป
บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงฝีพระหัตถ์ในการตกแต่งกระเป๋าจักสานของท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี อดีตพระวรชายาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ถึง 3 ใบ พร้อมลายพระหัตถ์ของพระองค์บนไม้ไผ่ในวันที่พระองค์เสด็จเยี่ยมชุมชนบางเจ้าฉ่าอีกด้วย ภายนอกพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีโครงการ “บางเจ้าฉ่าโฮมสเตย์” ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร มีกิจกรรมที่น่าสนใจคือ การนั่งรถอีแต๋นทัวร์ เพื่อชมวิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อย แวะตามจุดต่างๆ จุดสาธิตการย้อมสีเส้นตอก จุดสาธิตการผลิตเครื่องจักสาน ชมและชิมผลไม้ตามฤดูกาลที่ขึ้นชื่อ อย่าง มะปราง มะยงชิด และกระท้อน ชมต้นยางยักษ์ 2 ต้น บริเวณวัดยางทอง ที่สันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า 200 ปี แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ใกล้ ๆ ก็คือ วัดไชโยวรวิหาร และวัดขุนอินทประมูล ซึ่งมีพระนอนสมัยสุโขทัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ
กิจกรรมในภาคค่ำจะได้ชมการแสดง การขับร้องเพลงพื้นบ้าน ชมการแสดงนาฏศิลป์จากเยาวชน ซึ่งเป็นการแสดงของคนในหมู่บ้านนั่นเอง กิจกรรมในหลายๆ กิจกรรมของหมู่บ้าน กำนันสุรินทร์ถือว่าเป็นผลที่ดีทั้งชาวบ้าน และผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ในหมู่บ้าน กิจกรรมนี้ก็สอดคล้องกับ โครงการ “ศูนย์สามวัยสานสายใยรักแห่งครอบครัวบางเจ้าฉ่า” ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นการมีพื้นที่ และการทำกิจกรรมร่วมกันของทุกช่วงวัย บริเวณโดยรอบของชุมชนยังมีจัดทำเป็นเส้นทางการเดินรถจักรยานเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวบางเจ้าฉ่าด้วยตนเองได้อีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ
กิติศักดิ์ ชุมทอง. (2551). การจัดการความรู้ระดับครัวเรือนของผู้ประกอบอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้าน กรณีศึกษา องค์กรชุมชนจักสานผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่บางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
โกสินทร์ ดอกบัว. (2551). ทุนทางสังคมกับการดำรงอยู่ของชุมชนชนบท กรณีศึกษา ชุมชนท่องเที่ยว ตำบลบางเจ้าฉ่า หมู่ที่ 8 บ้านยางทอง อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มิวเซียมไทยแลนด์. (2562). พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ บ้านยางทอง. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.museumthailand.com/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2555). พิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ ตำบลบางเจ้าฉ่า. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/339
อมรรัตน์ ทิพย์เลิศ. (2548). ความสามารถทางการสื่อสารของผู้นำท้องถิ่นในการบริหารจัดการชุมชน กรณีศึกษา ชุมชนตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
องค์การบริหารส่วนตำบลบางเจ้าฉ่า. (ม.ป.ป). สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://bangchaocha.go.th/