ชุมชนชาวลาหู่ที่ยังคงรักษา สืบทอด และสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ
ดอยมดมาจากคำว่า "ดอยหมด" คือ พื้นที่ถัดจากหมู่บ้านดอยมดไปจะไม่มีภูเขาให้เห็นอีก แต่จะเป็นพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาคำว่า "ดอยหมด" จึงเพี้ยนเป็น "ดอยมด"
ชุมชนชาวลาหู่ที่ยังคงรักษา สืบทอด และสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ
บ้านดอยมดเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านเมืองน้อย หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย บ้านดอยมดก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 โดยนางแสน จะหงะ แต่เดิมชาวบ้านดอยมดอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ต่อมาได้อพยพมายังบ้านแม่โถ และบ้านมะไซแจ่ตามลำดับ เมื่อครั้งอพยพยมาอยู่ที่บ้านแม่โถนั้นมีผู้อพยพรวมกว่า 100 ครอบครัว จึงได้กระจัดกระจายในการตั้งถิ่นฐานตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการแบ่งพื้นที่ในการเพาะปลูกฝิ่นซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในสมัยนั้น โดยกลุ่มแรกตั้งถิ่นฐานที่บ้านดอยมด กลุ่มที่สองอยู่ที่บ้านห้วยน้ำริน กลุ่มที่สามอยู่ที่บ้านห้วยม่วง และกลุ่มที่สี่อยู่ที่บ้านห้วยโป่ง
ต่อมา พ.ศ. 2525 มูลนิธิโครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวกไม้ผลและผักเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น เช่น บ๊วย มะม่วง หอมญี่ปุ่น ผักสลัด ใน พ.ศ. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน ซึ่งการเสด็จฯ ครั้งนี้นำมาซึ่งการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน โดยใน พ.ศ. 2530 ได้มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กขึ้นในหมู่บ้านเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในชุมชน เมื่อไฟฟ้าเข้าถึงชุมชน คนในชุมชนก็มีความสามารถในการรับรู้ข่าวสารและมีความรู้ เข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น กระทั่งใน พ.ศ. 2531 ฝิ่นจึงหมดไปจากบ้านดอยมดอย่างสิ้นเชิง
บ้านดอยมดเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านเมืองน้อย หมู่ที่ 8 ตำบลเจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ลักษณะภูมิประเทศประมาณร้อยละ 95 เป็นภูเขาชันสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700-1,000 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 20.5 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตรต่อปี บ้านดอยมดตั้งอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 118 สายเชียงใหม่-เชียงราย หากเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึง กม. 63-64 ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบกับชุมชนดอยมดตั้งอยู่ปลายสุดของถนน
บ้านดอยมด เป็นหนึ่งในบ้านบริวารของบ้านเมืองน้อย หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 บ้านเมืองน้อย ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 932 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 490 คน ประชากรหญิง 442 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 320 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) โดยประชากรที่อาศัยอยู่ที่บ้านดอยมดปัจจุบัน คือ ชาวลาหู่
ลาหู่ชาวบ้านดอยมดส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยจะมีการเพาะปลูกพืชไร่แต่ะละประเภทหมุนเวียนกันไป เช่น การปลูกข้าวไร่เพื่อเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวไร่แล้วจึงมีการเพาะปลูกข้าวโพดหรือถั่วแดง และมีบางส่วนที่ใช้ปลูกข้าวโพดเพียงอย่างเดียวแต่เป็นส่วนน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการของเกษตรกรด้วย
ชาวบ้านดอยมดเป็นชาวลาหู่ที่ยังคงมีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณอันเป็นสิ่งที่ได้รับสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีต ความเชื่อเหล่านี้มีความสำคัญต่อชาวบ้านในการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีกินข้าวใหม่ ฯลฯ ชาวบ้านเชื่อว่าทุกหนแห่งจะมีผีสิงสถิตอยู่ ทั้งผีดีหรือผีที่ให้คุณ เช่น ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ ในพิธีกรรมสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ ชาวลาหู่มีความเชื่อว่า ผีบรรพบุรุษจะมาร่วมฉลองปีใหม่และอวยพรให้ลูกหลานเกิดความสุขสวัสดิ์ ส่วนผีอีกประเภทหนึ่ง คือ ผีร้าย เป็นผีที่เมื่อเข้ามาภายในหมู่บ้านจะส่งผลให้เกิดเรื่องร้าย จะต้องทำพิธีไล่ผีให้ออกจากหมู่บ้าน เช่น พิธีสงเคราะห์หมู่บ้าน ฯลฯ
ความเชื่อและพิธีกรรม เป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในระบบวัฒนธรรมของชาวลาหู่ โดยทั่วไปมักเกี่ยวข้องกับการแสดงความยำเกรงและความเคารพต่อพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือภูตผี ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของพิธีกรรมที่อ่อนน้อมด้วยเครื่องสักการะตามวันเวลาของฤดูกาลในรอบปี โดยความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณของชาวลาหู่บ้านดอยมด เช่น
1.การเลี้ยงจ่อมือ (ผีฟ้า) จะทำในวันศีลหรือวันเสือซึ่งจะมีทุก ๆ 12 วัน จ่อมือ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวลาหู่ เป็นผู้ดูแลปกปักรักษาผืนป่า หมู่บ้าน และคนในหมู่บ้าน การประกอบพิธีกรรมเลี้ยงจ่อมือจึงเป็นการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติ โดยมีแก่หลูป่า (ปู่จารย์ผู้นำพิธีกรรมของหมู่บ้าน) เป็นผู้ประกอบพิธีไปบูชาต่อจ่อหมื่น โดยมีการสวดบูชาเป็นภาษาลาหู่
2.การเลี้ยงซาบี จะทำในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซาบี คือ เจ้าป่าเจ้าเขา ชาวบ้านที่จะเข้าไปหาของป่า ล่าสัตว์จะบอกกล่าวและขอให้เจ้าป่าซาบีคุ้มครองให้ปลอดภัยและได้ของป่ามาเลี้ยงครอบครัว
3.การเลี้ยงนากี่ นากี่ คือ ผู้ดูแลผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพไม่ให้มีศัตรูพืชมารบกวน จะมีพิธีการเลี้ยงในช่วงเดือน เมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยชาวบ้านจะเตรียมของเลี้ยงเหมือนการไหว้ซาบี
4.การทำบุญเลี้ยงผีเรือน เป็นการเลี้ยงผีเพื่อขอให้เกิดสิริมงคลกับผู้ทำบุญ เป็นการขอขมาที่เคยได้ล่วงละเมิดต่อผีบ้านผีเรือน เพื่อบอกกล่าวให้กับผีบ้านผีเรือนได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ในการทำพิธีจะมีปู่จารย์หรือหมอผีสวดบวงสรวงให้กับพระเจ้างื่อซาและบรรพบุรุษ หลังจากนั้นนำของที่ใช้เซ่นไหว้มาแบ่งกันรับประทาน และสุดท้ายในช่วงกลางคืนจะมีการเต้นจะคึ
5.พิธีกรรมกินข้าวใหม่ (จาลือจาเลอ) พิธีกรรมจะมีทั้งหมด 4 วัน จัดช่วงเดือนสิงหาคม วันแรกจะเป็นการเลี้ยงผี เรียกขวัญข้าวด้วยการเต้นจะคึทั้งคืน วันที่สองและสามเป็นพิธีแลกบุญ คือ การนำเอาธัญพืชมาแลกกัน วันที่สามและวันที่สี่เป็นวันหยุดงานให้ทุกคนภายในหมู่บ้านจำศีล
6.ปีใหม่ลาหู่ (กินวอ-เขาะจาเลอ) เป็นการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ของชาวลาหู่ และเป็นการฉลองผลผลิตจากการทำการเกษตรและรำลึกถึงบรรพบุรุษ
ปฏิทินทรัพยากร/อาหารจากป่าในรอบปี
อาหารจากป่า | เดือน | แหล่งที่พบ | การใช้ประโยชน์ |
เห็ดป่า (เห็ดแดง, ขาว, โคน, ปลวก, ตับเต่า) | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าทั่วไป | เพื่อบริโภคและขาย |
กล้วยป่า | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าอนุรักษ์และป่าชุมชน | เพื่อบริโภคและขาย |
มะเขือพวง | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าทั่วไปและในชุมชน | เพื่อบริโภคและขาย |
มะก่อเดือย, มะกอแป้น | ก.ย. - ม.ค. | ป่าทั่วไป | เพื่อบริโภคและขาย |
มะม่วงป่า | เม.ย. - พ.ค. | ป่าทั่วไป | เพื่อบริโภค |
ต้นดอกตั้ง | เม.ย. - พ.ค. | ป่าทั่วไปและในชุมชน | เพื่อบริโภคและยารักษาโรค |
ไผ่ป่า | พ.ค. - ก.ย. | ป่าทั่วไป | เพื่อบริโภคและขาย |
บะลิดไม้ | ก.ย. - ต.ค. | ป่าและพื้นที่ทั่วไป | เพื่อบริโภค ขายและยารักษาโรค |
เส่อหล่าซา | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าทั่วไป | ยารักษาโรค |
เผ่อวู่ตี | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าทั่วไป | ยารักษาโรค |
ยะแหล | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าที่สูง ป่าเกี๊ยะ | ยารักษาโรค |
คะปะฉวุ่ย | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าทั่วไป | ยารักษาโรค |
เส่อปู่แจ่ | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าทั่วไป | ยารักษาโรค |
หมูป่า | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าอนุรักษ์ | เพื่อบริโภค |
เก้ง | ป่าอนุรักษ์และป่าชุมชน | เพื่อบริโภค | |
กระรอก | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าอนุรักษ์และป่าชุมชน | เพื่อบริโภค |
ไกป่า | ม.ค. - ธ.ค. | ป่าอนุรักษ์และป่าชุมชน | เพื่อบริโภค |
รถด่วน | ส.ค. - ธ.ค. | ป่าทั่วไป | เพื่อบริโภคและขาย |
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านดอยมด
ศูนย์การเรียนรู้บ้านดอยมดจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงข้อมูล เรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชน ชาวบ้านได้ใช้ศาลาอเนกประสงค์ของชุมชนเป็นสถานที่จัดแสดงข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลพื้นฐานชุมชน ได้แก่ ประวัติการก่อตั้งชุมชน ลักษณะการแต่งกาย และการตั้งบ้านเรือนของชาวลาหู่ การจัดการทรัพยากรป่าไม้ นอกจากนี้ ยังได้นำเครื่องแต่งกายแบบลาหู่ เครื่องดนตรีชนเผ่า เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันรวมไปถึงสมุนไพรมาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้รับชมอีกด้วย
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารภายในหมู่บ้านดอยมด คือ ภาษาลาหู่ ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่มีตัวอักษรหรือระบบการเขียนที่เป็นของตนเอง ภาษาลาหู่เป็นภาษาที่มีการเรียงคำแตกต่างจากภาษาไทย แต่เหมือนภาษาพม่า เพราะมาจากภาษาตระกูลเดียวกัน รูปประโยคจะเรียงจากประธาน กรรม กริยา ส่วนในภาษาไทยนั้นจะเรียงจากประธาน กริยา กรรม
การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน
การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน ถือเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมชนเผ่าลาหู่ที่เกิดผลต่อชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยกิจกรรมนี้คนในชุมชนจะได้ร่วมกันพัฒนาลานจะคึลานตีมีด ลานตำข้าว สถานที่สำคัญในวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวลาหู่ สถานที่เหล่านั้นให้มีสภาพเหมาะแก่การใช้งานอีกครั้ง ยังถือเป็นการฟื้นฟูองค์ความรู้ที่แฝงอยู่ในพิธีกรรม หรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้ยังคงอยู่กับชุมชน รวมถึงสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่คนในชุมชนและผู้สนใจภายนอกชุมชนได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมาชุมชนดอยมดได้มีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวภายในพื้นที่อยู่บ้าง ผ่านการทำงานร่วมกับบริษัททัวร์ของเอกชน เช่น เป็นผู้นำในการเดินป่า บริการที่พัก รถรับส่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานส่วนตัวที่ชุมชนไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ เมื่อมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เชิงท่องเที่ยวภายในชุมชนทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านภายในชุมชนดอยมดและยังเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี คติความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ภายในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแต่คงรักษาสมดุลกับสภาพแวดล้อมภายในชุมชนให้คงเดิม นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในพิธีกรรมหรือกิจกรรมทางวัฒนธรรมในชุมชนมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นการเรียนและการถ่ายทอดกระบวนการและรายละเอียดของพิธีให้แก่เยาวชนภายในชุมชนมากขึ้นอีกด้วย
ธนภัทร จะป้อ และคณะ. (2558). การฟื้นฟูวิถีชีวิตผ่านการจัดการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์บ้านดอยมด ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย : รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ธานี กุลแพทย์. (2556). มองวิถีชาวลาหู่บนดอยมดผ่านงานวิจัยท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์. สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://phoenixtourblog.wordpress.com