ชุมชนชาวลัวะเล็ก ๆ ในตำบลขุนน่าน หมู่บ้านที่มีประชากรเพียงร้อยกว่าครัวเรือน แต่มากด้วยความสุขสงบ อุดมด้วยทรัพยากร และเจริญด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันสืบสาน
เนื่องจากที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ใกล้กับลำห้วยกานต์ ชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้กันจนติดปากว่า "บ้านห้วยกานต์"
ชุมชนชาวลัวะเล็ก ๆ ในตำบลขุนน่าน หมู่บ้านที่มีประชากรเพียงร้อยกว่าครัวเรือน แต่มากด้วยความสุขสงบ อุดมด้วยทรัพยากร และเจริญด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันสืบสาน
บ้านห้วยกานต์ หรือบ้านง้อมเปา ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โดยการรวมตัวของชาวบ้านจากหมู่บ้านห้วยลอย บ้านบวกหญ้า และบ้านง้อมเปา ในอดีตก่อนที่จะมีการก่อตั้งหมู่บ้านนั้นชาวบ้านจากทั้งสามหมู่บ้านเคยเข้าเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบาย 66/33 ให้ผู้ก่อการร้ายพรรคคอมมิวนิสต์มอบตัวและให้เป็นหมู่บ้านเพื่อรับการพัฒนา ทางรัฐบาลจึงได้จัดหาพื้นที่ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน โดยมีการก่อตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2530 มีชื่อเป็นทางการว่า "บ้านง้อมเปา" แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกกันติดปากว่า "บ้านห้วยกานต์" เพราะพื้นที่ตั้งหมู่บ้านนั้นอยู่ใกล้กับลำห้วยกานต์
ใน พ.ศ. 2542 ได้มีการยื่นเรื่องเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากง้อมเปาเป็นห้วยกานต์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีข้อผิดพลาดบางประการทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติ แต่ป้ายหมู่บ้านทุกป้ายเปลี่ยนเป็น ห้วยกานต์ เรียบร้อยแล้ว
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านห้วยกานต์อยู่ในพื้นที่บริเวณเนินเขาซึ่งติดกับถนนทางหลวงหมายเลข 1081 สายห้วยโก๋น-บ่อเกลือ มีความสูงของพื้นที่ 700-1294 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ถูกโอบล้อมด้วยภูเขาน้อยใหญ่ มีลำน้ำไหลผ่านให้ได้ใช้ประโยชน์ถึง 3 สาย คือ
- ลำห้วยกานต์ ไหลมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน โดยมีการสร้างเป็นระบบฝาย ระบบประปาทดน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร
- ลำห้วยตาด ไหลมาจากทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ก่อนมาบรรจบกับลำห้วยกานต์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน
- ห้วยออ สร้างเป็นระบบชลประทานเพื่อการเกษตร
บ้านห้วยกานต์มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านกิ่วจันทร์ ตำบลขุนน่าน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านเปียงก่อ ตำบลขุนน่าน
- ทิศตะวันออก บ้านรีพัฒนา ตำบลขุนน่าน
- ทิศตะวันตก บ้านมณีพฤกษ์ อำเภอทุ่งช้าง
สภาพภูมิอากาศ
- ฤดูฝน มีฝนตกชุกและรุนแรง โดยฝนจะเริ่มมีประปรายตั้งแต่เดือนเมษายน และตกอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม โดยฝนจะตกชุกมากที่สุดในเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน ปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนมีฝนประปรายเล็กน้อยเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว
- ฤดูหนาว อากาศจะชื้นและหนาวเย็นมากในช่วงรุ่งเช้า กลางคืนมีหมอกลงหนัก โดยฤดูหนาวจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงที่อากาศหนาวมากที่สุดอยู่ในเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม
- ฤดูร้อน ลักษณะอากาศจะร้อนและแห้ง มีแดดจัด เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมและเมษายน ก่อนที่จะเริ่มมีฝนลงมาบ้างในช่วงปลายเดือนเมษายน
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านง้อมเปา ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 566 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 288 คน ประชากรหญิง 278 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 147 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566) ประชากรบ้านห้วยกานต์เกือบทั้งหมดเป็นชาวลัวะ มีชาวพื้นเมืองปะปนบ้างเพียงเล็กน้อยจากการแต่งงานเข้ามาเป็นเขยหรือสะใภ้
ลักษณะครอบครัวของชาวบ้านห้วยกานต์มีทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย โดยชายหญิงเมื่อแต่งงานกัน ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายออกเรือนไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง หรือทั้งสองอาจจะออกเรือนไปสร้างบ้านใหม่เป็นของตนเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านห้วยกานต์มักอยู่กันในลักษณะของครอบครัวขยายมากกว่า เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมในการแยกเรือน อีกทั้งการอยู่รวมเป็นครอบครัวเดียวกันยังสามารถช่วยเหลือกันในเรื่องการใช้แรงงานในการทำไร่และมีความอบอุ่นทางจิตใจอีกด้วย
ลัวะ (ละเวือะ)ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการปลูกข้าวไร่และข้าวโพดเป็นหลัก การปลูกข้าวไร่ เป็นพืชหลักที่ทุกครอบครัวต้องปลูกไว้ในปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคสำหรับครอบครัวในแต่ละปีเป็นสำคัญ แต่เนื่องจากผลผลิตข้าวอยู่ในอัตราที่ต่ำทำให้ชาวบ้านมักพบกับปัญหาข้าวไม่พอบริโภค จึงต้องมีการซื้อข้าวเพิ่มหรือต้องหยิบยืมจากญาติที่มีข้าวมากพอมาก่อน นอกจากข้าวแล้ว ข้าวโพดก็ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เพราะข้าวโพดเป็นพืชที่ดูแลง่าย ไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีใด ๆ ฉีดพ่น และไม่ต้องถอนหญ้า เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวขึ้นเล้า จะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อจากชาวบ้านทุกปี นอกจากนี้ ยังมีการเก็บของป่าขาย โดยจะเก็บตามฤดูกาล เช่น การเก็บเห็ดลม การหาหนอนไม้ไผ่ ไม้เกี้ยะขาย ซึ่งการซื้อขายจะมีรถแม่ค้ามารับซื้อถึงภายในหมู่บ้าน
ในส่วนของอาชีพเสริมนั้นมีอยู่หลากหลาย แต่หลัก ๆ แล้วจะเป็นการรับจ้าง และการเพาะเห็ดหอมด้วยท่อนไม้ซึ่งเป็นอาชีพเสริมที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่วนการรับจ้างจะกระทำหลังจากว่างเว้นจากการทำนาและทำไร่ เช่น งานก่อสร้าง แบกหาม ซึ่งค่าแรงจะได้รับตามที่ตกลงกันกับนายจ้าง
การเลี้ยงสัตว์ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่คู่กับชาวบ้านห้วยกานต์มาอย่างยาวนาน โดยนิยมเลี้ยงหมูซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ตัวสีดำคล้ายหมูป่า การเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์ภายในครอบครัวมากกว่าเพื่อการขาย เช่น ไก่และหมูจะได้ใช้ประโยชน์เพื่อเซ่นผี หรือการมัดขวัญ อาจจะมีการขายบ้าง แต่เป็นการขายให้กันเองภายในหมู่บ้าน
พิธีกรรมและวัฒนธรรม
ชาวลัวะ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเองทั้งภาษา ประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งในปัจจุบันยังมีการปฏิบัติและยึดถืออย่างเคร่งครัด ทว่า ตัดทอนข้อห้ามหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากบางประการออกไปบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น
1.การแต่งงาน ฝ่ายหญิงจะเป็นคนไปสู่ขอฝ่ายชาย จากนั้นจะมีการจัดพิธีแต่งงานกัน โดยที่ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายย้ายเข้าไปอยู่รวมกับครอบครัวฝ่ายหญิงเพราะต้องมาช่วยเป็นแรงงานในการทำไร่ แต่ในปัจจุบันมีหลายคู่ที่แยกตัวออกมาจากครอบครัวแล้วมาสร้างเรือนหลังใหม่อยู่กันเอง
2.การทำพิธีมัดขวัญ หรือ จำแมน จัดขึ้นเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจ เช่น ยามเจ็บป่วย โดยการเชิญหมอผีที่ครอบครัวให้ความเคารพนับถือมาทำพิธีให้ นอกจากการมัดขวัญเมื่อยามเจ็บป่วยแล้ว ยังทำเพื่อรับขวัญญาติที่เดินทางจากบ้านไปนาน หรือจะเดินทางจากบ้านไปไกล พิธีนี้มักจัดขึ้นในช่วงค่ำ เมื่อเสร็จพิธีจะมีข้อห้ามสำหรับผู้รับการมัดขวัญ คือ ในวันรุ่งขึ้นทั้งวันห้ามทำงานใด ๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งการหุงข้าว ซักผ้า จะหยิบจับอะไรก็ต่อเมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้วเท่านั้น หากไม่ถือปฏิบัติจะถือว่าเป็นการผิดผี อาจทำให้เจ็บป่วยหรือมีเหตุให้เสียชีวิตได้
3.พิธีเซ่นผี มักทำกันหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่าง ๆ ในไร่เสร็จเรียบร้อยแล้วเพื่อเป็นการขอบคุณผีไร่ ผีนาที่ให้ผลผลิตออกมาดี และเป็นการขอให้การเพาะปลูกครั้งต่อไปได้ผลดีด้วย
ปฏิทินการเกษตร
- มกราคม-กุมภาพันธ์ : เป็นช่วงที่ชาวบ้านเลือกพื้นที่ในการทำไร่หรือทำนา โดยจะมีพิธีเลี้ยงผีไร่ก่อนเริ่มการถางฟันไร่
- มีนาคม : หลังจากที่ถางไร่เสร็จแล้ว ชาวบ้านจะทำการเผาไร่เพื่อช่วยให้ดินมีปุ๋ยเพิ่มขึ้น ข้าวจะได้งาม
- เมษายน : เป็นช่วงเก็บเศษพืชและเผาไร่ครั้งที่สอง
- พฤษภาคม : เป็นช่วงปลูกข้าวไร่ หยอดเมล็ดข้าว
- มิถุนายน-ตุลาคม : เป็นช่วงดูแลรักษาต้นข้าว เช่น การถางหญ้า กำจัดวัชพืช และเป็นช่วงปลูกข้าวโพด
- พฤศจิกายน-ธันวาคม : เป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตและเก็บข้าวเข้ายุ้งฉาง มีประเพณีเลี้ยงเจ้าที่ทั้งที่บ้านและที่ไร่ โดยของที่นำไปเลี้ยงเจ้าที่นั้นประกอบด้วย หมู ไก่ ผลไม้ แกง เหล้า หมาก พลู เหมี้ยง และยาเส้น และยังมีการถวายทานข้าวใหม่ให้ปู่ ย่า ตา ยายด้วย
ชาวบ้านห้วยกานต์มีภาษาเฉพาะของตนเองที่ใช้สื่อสารกันภายในชุมชน คือ ภาษาลัวะ ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก กลุ่มมอญ-เขมร
บ้านห้วยกานต์ ตำบลขุ่นน่าน อำเภอเฉลิอมพระเกียรติ. (2563). สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.facebook.com/
รัญชิดา บุญทา. (2547). การเพาะเห็ดหอมบนท่อนไม้ก่อ ศึกษาเฉพาะกรณีบ้านห้วยกานต์ หมู่ที่ 1 ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2563). ลัวะ. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://accl.cmu.ac.th/Knowledge/
coffee forest กาแฟป่าน่าน. (2562). กาแฟ. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.blockdit.com
SKANPTT. (2559). ชนเผ่าลัวะหรือละว้า. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://lawlawa030.blogspot.com/