Advance search

กาแฟสะนามเหนือ สวนยาหลวง วังปลาโบราณ ข้าวเหนียวดำ (ข้าวเหนียวดอย) ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านสะนามเหนือ

หมู่ที่ 8
สะนามเหนือ
ผาช้างน้อย
ปง
พะเยา
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 มี.ค. 2024
บ้านสะนามเหนือ

คำว่า "สะนาม" หมายถึง พื้นที่ที่ราบเรียบ กว้าง คล้ายสนาม


กาแฟสะนามเหนือ สวนยาหลวง วังปลาโบราณ ข้าวเหนียวดำ (ข้าวเหนียวดอย) ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านสะนามเหนือ

สะนามเหนือ
หมู่ที่ 8
ผาช้างน้อย
ปง
พะเยา
56140
19.24048095289692
100.54486764330973
องค์การบริหารส่วนตำบลผาช้างน้อย

บ้านสะนามเหนือมีประชากรเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า) เดิมมีถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน และได้อพยพเข้ามาสู่ภาคเหนือของเวียดนาม แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ได้ไม่นานก็มีการอพยพลงมายังประเทศลาว และอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดน่านก่อน ประมาณ ปี พ.ศ. 2403 (ตรงกับรัชสมัย รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และได้อพยพมาอาศัยอยู่บริเวณบ้านสวนยาหลวง โดยการนำของ นายต๊ะล่วง แซ่จ๋ว-ฟุจิ้ง แช่พ่าน โดยตั้งถิ่นฐานที่บริเวณบ้านสะนามเหนือในปัจจุบัน มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2443 และจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 

พ.ศ. 2458 บริเวณบ้านสวนยาหลวงในขณะนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ อำเภอปง อยู่ในการปกครองของจังหวัดน่าน ในมณฑลมหาราษฎร์ ที่แยกออกมาจากมณฑลพายัพ ประกอบด้วย ลำปาง น่าน แพร่ ที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลอยู่ที่นครลำปาง แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประกาศเลิกมณฑลเพชรบูรณ์เข้าเป็นเมืองในมณฑลพิษณุโลกและแยกมณฑลพายัพเป็นมณฑลมหาราษฎร์ และมณฑลพายัพ รวมเรียกว่ามณฑลภาคพายัพ มีตำแหน่งอุปราชเป็นผู้ตรวจตรากำกับราชการ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32 : 200-201. 12 กันยายน 2458

พ.ศ. 2459 อยู่ในการปกครองของอำเภอปง จังหวัดน่าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459)

เดิมที่บ้านสวนยาหลวง เป็นกลุ่มหมู่บ้านหนึ่งในหกกลุ่ม ของบ้านห้วยกอก หมู่ที่ 2 ตำบลผาข้างน้อย อ.ปงจังหวัดน่าน อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัดน่าน ในเวลาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เข้ามารุกล้ำในเขตหมู่บ้าน ทำให้ประชากรต้องอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยเอี๋ยน (ห้วยเอี๋ยน มาจากคำเมี่ยนคือ โดะหน้ำ แปลว่าห้วยเย็น แล้วเพี้ยนมาเป็นห้วยเอี๋ยน ในปัจจุบัน) หมู่ 2 ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดเชียงราย 

พ.ศ. 2492 ประชากรในหมู่บ้านได้รับสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์

พ.ศ. 2493 ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มบ้านเล็ก ๆ กระจายอยู่ในท้องที่ตำบลขุนควร ทางทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง ในยุคแห่งความขัดแย้งทางด้านความคิด ชุมชนม้ง ได้กลายเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ สงบลง ชาวเขาเผ่าม้งได้เข้ามอบตัวกับทางราชการ กองทัพภาคที่ 3 ได้อพยพกลุ่มบ้านเล็ก ๆ ของชาวเขาเผ่าม้งมาอยู่ร่วมกันที่บ้านสันติสุข และจัดตั้งเป็นหมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2525 และได้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นป่าไม้ เพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงดอยยาว-ผาหม่น-ผาจิ โดยมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ และ พ.ศ. 2531 ประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าดอยผาช้างให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กันเขตพื้นที่หมู่บ้าน ประมาณ 3,500 ไร่ ออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง (กรมป่าไม้, 2543 : 3-27) 

พ.ศ. 2495 โอนอำเภอปง เว้นตำบลสะเอียบและตำบลสวดจังหวัดน่าน ไปขึ้นกับจังหวัดเชียงราย พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2495. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 77 เล่ม 69 : 1440-41. 30 ธันวาคม 2495

พ.ศ. 2517 จังหวัดเชียงรายได้แบ่งการปกครองและแยกบ้านสะนามเหนือ หมู่ 2

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา)

ในช่วงปี พ.ศ. 2520 ได้มีผู้ก่อการร้ายเข้ามารบกวนอีกแต่ชาวบ้านไม่อพยพออกจากพื้นที่ และมีการตั้งฐานชุดเฝ้าตรวจตระเวนชายแดน (ช.ฝ.ต) ที่บ้านห้วยกอก หมู่ 2 ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยาขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานต่อสู้กับพวกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)

พ.ศ. 2524 วันที่ 1 มกราคม กรมป่าไม้ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินบริเวณดอยผาช้าง ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้เกิดปัญหาการซ้อนทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวไทยภูเขาผ่าเย้า (อิ้วเมี่ยน) และเผ่าม้ง ในท้องที่ตำบลผาช้างน้อย และตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา จำนวน 7 ชุมชน โดยชาวไทยภูเขาเผ่าเข้าตั้งบ้านเรือน อยู่ทางตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 2 หมู่บ้าน 6 ชุมชน ได้แก่ หมู่บ้านปางพริก หมู่ 3 และหมู่บ้านห้วยกอก หมู่ 2 ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของชุมชนเย้า 5 ชุมชน คือ ชุมชนห้วยกอก ชุมชนห้วยเอี๋ยน ชุมชนน้ำปุกเหนือ ชุมชนสะนามเหนือ และชุมชนสะนามใต้ ซึ่งชาวเขาเหล่านี้ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ก่อนมีการประกาศกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

หลังจากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ที่ดินป่าดอยผาช้างให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2524 ทำให้สิทธิอำนาจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ตกอยู่กับรัฐ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ต้องอาศัยพื้นที่ป่าและทรัพยากรป่าไม้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น จากอดีตที่เคยทำมาหากินได้โดยอิสระเปลี่ยนมาเป็นถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทำให้เกิดความรู้สึกเสียผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับจากป่า จึงเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ปฏิบัติงานในความขัดแย้งในระยะแรกยังไม่ชัดเจน ต่อมาในระยะ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากับชุมชนในพื้นที่ หลังความขัดแย้งเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อชาวบ้านเริ่มตระหนักว่าหมู่บ้านตนเองไม่ได้รับการพัฒนาขั้นพื้นฐานเหมือนกับหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จนถึงขั้นมีการรวมกลุ่มบุกเข้าทำลายทรัพย์สินของทางราชการ รูปธรรมที่เห็นชัดเจน คือ ความต้องการปรับปรุงถนนเข้าหมู่บ้านห้วยกอก ซึ่งเดิมสภาพถนนเป็นเพียงทางลำลองที่ใช้เพื่อความมั่นคงของชาติ

พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 บ้านสะนามเหนือ ยังเป็นหย่อมบ้านหนึ่งของ หมู่ 2 บ้านห้วยกอก ตำบลผาช้างน้อย

เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้น้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนพื้นที่ในการเพาะปลูกไม่เพียงพอจึงมีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานที่มีแหล่งน้ำ พื้นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเพาะปลูก นับจากนั้นชาวบ้านได้ดำรงชีวิตอยู่ในบ้านสะนามเหนือย้ายเข้ามา ยังไม่มีผู้นำอย่างเป็นทางการจนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 มีนายเฉงเฟย แช่พ่านเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบ้านสะนามเหนือ

พ.ศ. 2541 ชาวบ้านหมู่บ้านห้วยกอก ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ได้ทำหนังสือถึงประธานองค์การบริหารส่วนตำบล ขอให้มีการปรับปรุงถนนเข้าหมู่บ้านห้วยกอก และได้รับการสนองตอบความต้องการจากหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบทำถนน คือ กรมทางหลวง เป็นอย่างดี เพราะเมื่อตรวจสอบถนนเข้าหมู่บ้านดังกล่าวแล้วพบว่าเป็นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1188 ซึ่งเป็นทางหลวงตามกฎหมายตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2522 จึงมีใครงการเข้าไปปรับปรุงเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายบ้านน้ำปุก บ้านห้วยกอก บ้านห้วยเอี๋ยน อำเภอปง จังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2543 นายจันฟิน แซ่ลี เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อจากนายเฉงเฟย

พ.ศ. 2549 นายฉงเฟย แซ่พ่าน ได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบ้านสะนามเหนืออีกครั้ง 

พ.ศ. 2566 วันที่ 1 มีนาคม บ้านสะนามเหนือได้แยกออกมาจากกลุ่มบ้านหมู่ 2 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และอนุมัติกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.1/ว 5214 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2566 จึงขอจัดตั้ง และกำหนดเขตหมู่บ้านไว้ โดยแยกหมู่บ้าน บ้านห้วยกอก หมู่ที่ 2 ตำบลผาช้างน้อย จัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่อีก 1 หมู่บ้าน ชื่อหมู่บ้านสะนามเหนือ โดยตั้งเป็นหมู่ที่ 8 ตำบลผาช้างน้อย ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 นายฉงเฟย แซ่พ่าน ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของ หมู่ 8 

บ้านสะนามเหนือ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อยู่ห่างจากตัวอำเภอปง ประมาณ 71 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 53 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรัง 18 กิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง

เขตลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำสาขาลุ่มน้ำควน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 635 เมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านน้ำปุก ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านสะนามใต้ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านป่าสันเจริญ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านห้วยเอี๋ยน ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา

ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาดอยผาช้าง ที่กั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดน่านกับจังหวัดพะเยา

การใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่บ้านสะนามเหนือประมาณร้อยละ 70 เป็นพื้นที่ทำการเกษตรสำหรับปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด กาแฟ พริกและถั่วแดง ส่วนพื้นที่ป่าไม้ มีประมาณร้อยละ 20 และเป็นพื้นที่อนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำ และอีกร้อยละ 10 เป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ลักษณะภูมิอากาศภูมิอากาศ เป็นแบบร้อนชื้น มีสามฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มปลายเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคมอุณหภูมิประมาณ 18-35 องศา ฤดูฝน เริ่มต้นเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิประมาณ 17-28 องศา ฤดูหนาว เริ่มเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิประมาณ 5-15 องศา

ประชากรบ้านสะนามเหนือ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน (เย้า) มีประชากรรวมทั้งสิ้น 142 คน มี 28 หลังคาเรือน 32 ครอบครัว ชาย 79 คน หญิง 63 คน ประชากรเป็นชาติพันธ์ุอิ้วเมี่ยน นามสกุลที่มากที่สุด คือ แซ่ฟ่าน แซ่ลี 

อิ้วเมี่ยน

การรวมกลุ่มของชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านขึ้น กลุ่มกาแฟ กลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มการทำข้าวนา ผลผลิตทางการเกษตรของบ้านสะนามเหนือส่วนใหญ่ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รองลงมาคือ ข้าวไร่ พริก และถั่วแดง ส่วนผลผลิตทางด้านปศุสัตว์นั้นเพียงพอแค่บริโภคภายในครัวเรือนและเพื่อประกอบพิธีกรรมความเชื่อ

ทำสวนกาแฟ ทำไร่ข้าวเหนียวก่ำ ข้าวดอย หาอาหารป่า ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ไก่ หมู เลี้ยงสุนัขไว้สำหรับการเข้าป่า หาอาหารป่า

วิถีชีวิตส่วนใหญ่ทำการเกษตร พืชที่เกษตรกรปลูก ได้แก่ ข้าว (เพื่อบริโภคในครัวเรือน) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เพื่อจำหน่ายและเป็นแหล่งอาหารสัตว์) ทุกครัวเรือนจะปลูกข้าวโพดประมาณ ร้อยละ 70 ของพื้นที่ ไม้ผลที่ปลูกในพื้นที่ ได้แก่ ลิ้นจี่และส้มโอ การขายผลผลิตส่วนใหญ่ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนน้อยที่จะนำไปขายเอง

รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ประมาณ 8,000 บาท/ปี รายได้หลักมาจากภาคการเกษตรร้อยละ 90 ของ รายได้นอกภาคการเกษตร ร้อยละ 10 มาจากการรับจ้างทั่วไปและการปักผ้าลายเมี่ยน

วัฒนธรรมความเชื่อ ร้อยละ 82 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ 

การเลี้ยงสัตว์ เป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค ใช้ในงานประเพณีและการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ประเภทสัตว์ที่เลี้ยง คือ สุกรพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์เหมยซาน ไก่พันธุ์พื้นเมือง การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแบบปล่อย

1.นายเลาสาร แซ่เติ๋น ปราชญ์ด้านการตีมีด

2.นายจันฟิน แซ่ลี ปราชญ์ด้านการตีมีด/หมอผี

3.นายเลาเกา แซ่ย่าง ปราชญ์ด้านการจักสน

4.นายโหลฟิน แซ่ลี ปราชญ์ด้านการจักสาน

5.นายเกาโพ แซ่ลี ปราชญ์ด้านการจักสาน

6.นายเกากวาง แซ่ลี ปราชญ์ด้านการทำไม้กวาด

7.นางหมวง แซ่ลี ปราชญ์ด้านการสมุนไพร

8.นางลายศิลป์ แซ่ลี ปราชญ์ด้านการปักผ้า

9.นางเพ็ญนภา แซ่จ๋าว ปราชญ์ด้านการปักผ้า

10.นางเหมายโซ แซ่ลี ปราชญ์ด้านการปักผ้า

11.นางไหน อัฒวรัช ปราชญ์ด้านการปักผ้า

12.นางวิไรพร แซ่เติ๋น ปราชญ์ด้านการปักผ้า

แหล่งท่องเที่ยวพื้นที่บ้านสะนามเหนือ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกสะนามเหนือ ถ้ำไข่ 1,000 ปี ถ้ำนางแปลงที่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ถ้ำวังปลาโบราณซึ่งแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาฟองหิน  สวนยาหลวง ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งเดิมของหมู่บ้านก่อนได้อพยพลงมา มีความสูงจากน้ำทะเล 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นจุดชมวิวซึ่งในฤดูหนาวจะมองเห็นทะเลหมอกที่สวยงาม 

ทรัพยากรป่าไม้ พื้นที่ป่าไม้ในบริเวณบ้านสะนามเหนืออยู่ในระดับไม่ค่อยสมบูรณ์นัก เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีการทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน มีการถางป่าเพื่อเป็นที่ทำกิน แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการกำหนดพื้นที่ทำกินให้ชัดเจนปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าจึงน้อยลง

ใช้ภาษาชาติพันธ์ุอิ้วเมี่ยน ภาษาจีน ภาษาราชการไทยกลาง 


การสาธารณสุขบ้านสะนามเหนือ ไม่มีสถานีอนามัยตั้งอยู่เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนของเขตอนุรักษ์ จึงไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารสถานบริการที่มีสภาพถาวร สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด คือ สถานีอนามัยปางค่า ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชน ประมาณ 24 กิโลเมตร จึงเป็นพื้นที่ออกหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรทราชชนนี (พอ.สว.) จังหวัดพะเยา 


เด็ก ๆ ในหมู่บ้านต้องเดินทางลงมาเรียนที่โรงเรียนปางค่า ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ 


หลังจากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ที่ดินป่าดอยผาช้างให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2524 ทำให้สิทธิอำนาจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ตกอยู่กับรัฐ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ต้องอาศัยพื้นที่ป่าและทรัพยากรป่าไม้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น จากอดีตที่เคยทำมาหากินได้โดยอิสระเปลี่ยนมาเป็นถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทำให้เกิดความรู้สึกเสียผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับจากป่า จึงเกิดความขัดแย้งขึ้น


ดอยผาช้าง
ภูลังกา
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดพะเยา. (ม.ป.ป.). ศศช.บ้านสะนามเหนือ. จาก http://phayao.nfe.go.th/

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (ม.ป.ป.). ศศช.บ้านสะนามเหนือ - โครงการถ่ายทอดความรู้โครงการหลวงและพัฒนา. จาก https://readgur.com/

ที่นี่เมืองป๋ง อำเภอปง จังหวัดพะเยา. (2561). วังปลาและถ้ำปลาปุง บ้านสะนามเหนือ ต.ผาช้างน้อย อ.ปง. จาก https://www.facebook.com/

ที่นี่เมืองป๋ง อำเภอปง จังหวัดพะเยา. (2565). กาแฟสวนยาหลวง. จาก https://www.facebook.com/

กาแฟอาราบิก้าแท้ กาแฟสะนามเหนือ กาแฟคนเมืองปง จังหวัดพะเยา. (2565). โรบัสต้า แหล่งปลูกบ้านสะนามเหนือ อ.ปง จ.พะเยา. จาก https://www.facebook.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลผาช้างน้อย. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. จาก https://www.phachangnoilocal.go.th/home

ดรุณี จงประสิทธิ์กุล. (2544). ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชุมชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ : กรณีศึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง. เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. จาก http://cmuir.cmu.ac.th/

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประกาศเลิกมณฑลเพชรบูรณ์เข้าเป็นเมืองในมณฑลพิษณุโลกและแยกมณฑลพายัพเป็นมณฑลมหาราษฎร์ และมณฑลพายัพ รวมเรียกว่ามณฑลภาคพายัพ มีตำแหน่งอุปราชเป็นผู้ตรวจตรากำกับราชการ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32 : 200-201. 12 กันยายน 2458

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459

พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2495. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 77 เล่ม 69 : 1440-41. 30 ธันวาคม 2495

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 140 ตอนที่ 35 ง : 69-75. 11 พฤษภาคม 2566.