
ตำนานพระธาตุเขางัวตอง ลำน้ำแม่จว้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในหมู่บ้านเชื่อว่าไหลออกมาจากสะดืองัวตอง ไหลทั่วหมู่บ้านและเพี้ยนมาเป็นแม่จว้าในปัจจุบัน
คำว่า “แม่จว้า” อาจเป็นคำเพี้ยนจาก “แม่น้ำทั่ว” ตามตำนานพื้นที่แห่งนี้ตามความเชื่อของชาวบ้าน ว่าตั้งอยู่กึ่งกลางสะดือของงัวตอง (วัวทอง) (ตำนานพระธาตุเขางัวตอง) ฉะนั้นลำน้ำแม่จว้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในหมู่บ้านเชื่อว่าไหลออกมาจากสะดืองัวตอง ไหลทั่วหมู่บ้านและเพี้ยนมาเป็นแม่จว้าในปัจจุบัน
ตำนานพระธาตุเขางัวตอง ลำน้ำแม่จว้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในหมู่บ้านเชื่อว่าไหลออกมาจากสะดืองัวตอง ไหลทั่วหมู่บ้านและเพี้ยนมาเป็นแม่จว้าในปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์จังคราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วยแว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาพะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคู่น้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า "เวียง" ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนา โดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝ่ายเดียวกันโดยที่พันนาม่วง คือบริเวณตำบลบ้านใหม่และบางส่วนของอำเภอแม่ใจในปัจจุบัน โดยที่พันนาม่วงมีลักษณะเป็นเวียงโบราณตั้งอยู่บริเวณชายชอบของที่ราบต่อกับเชิงเขาของดอยต่าง ๆ ที่รายรอบหุบเขาของเมืองพะเยาไว้ โดยห่างกันเป็นระยะตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวียงโบราณใกล้บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ และส่วนหนึ่งของอำเภอแม่ใจ บ้านแม่ไชย (แม่ใจ) ปรากฏในจารึกตั้งแต่สมัยขุนจอมธรรมขึ้นปกครองเมืองพะเยาหรืออาณาจักรกามยาวทั้งหมด 36 พันนา โดยบ้านแม่ไชยอยู่ในส่วนของพันนาเสา พันนาม่วง (พระธรรมวิมลโมลีและเกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ.2564 : 36-38) โดยที่พันนาม่วง คือบริเวณตำบลบ้านใหม่และบางส่วนของอำเภอแม่ใจในปัจจุบัน โดยที่พ้นนาม่วงมีลักษณะเป็นเวียงโบราณตั้งอยู่บริเวณชายชอบของที่ราบต่อกับเชิงเขาของดอยต่าง ๆ ที่รายรอบหุบเขาของเมืองพะเยาไว้ โดยห่างกันเป็นระยะตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ (พระธรรมวิมลโมลี อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาว. ขรรค์ชัย บุนปาน, 2552)
เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลดฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310
ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จจึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมืองพะเยายังขึ้นกับเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคนในตระกูลมาปกครองโดยต่อเนื่อง จนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีได้มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยาจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ โดยมีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองเชียงใหม่
ประมาณปี พ.ศ. 2330 เจ้าเมืองอังวะสั่งให้หวุ่นยี่มหาไชยสุระ ยกทัพมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ผ่านฝาง เชียงราย เชียงแสน และพะเยาด้วย ผู้คนกลัวแตกตื่นอพยพไปอยู่ลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไปเป็นเวลาถึง 56 ปี
พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่นเจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา
พ.ศ. 2390 จุลศักราชที่ 1209 ได้มีพระภิกษุเป็นผู้นำชาวบ้านจากบ้านหัวช้าง เมืองปาน (ปัจจุบัน คืออำเภอเมืองปาน จ.ลำปาง) มาตั้งหมู่บ้านในบริเวณที่ราบเชิงเขา รวม 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่สุก บ้านแม่จว้า บ้านแม่จว้าใต้ รวมเป็นหนึ่งตำบล
ประวัติบ้านแม่จว้า เริ่มจากนายก๋องคำและนางยุ กิ่งแก้ว สองสามีภรรยามาจากบ้านม่วงบ้านของจังหวัดลำปาง ซึ่งมีอาชีพขายวัว ได้อพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ณ ที่แห่งนี้โดยไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่ชัด ประมาณ พ.ศ. 2394 ความเป็นมาของบ้านแม่จว้า จากหลักฐานและประกอบกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ภายในหมู่บ้านที่เล่าต่อกันมาว่า เมื่อพุทธศักราช 2390 มีพระภิกษุซึ่งเดินทางมาจากบ้านขอหัวช้างเมืองปาน (ปัจจุบัน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง) คือ "ครูบายาสมุทร" เข้ามาก่อตั้งพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ที่มาด้วยกันคือครูบาโน, พระกันธิยะ, พระกัญจนะ, พระอินตาวิชัย, พระธนันชัย, พระมานะวงศ์, พระอโนชัย, พระธัมมะจัย, พระอภิชัยส่วนฝ่ายฆราวาสนั้นมีหาญฟ้าเขียว, หาญธนู, หาญศิริ, แสนปัญญา, แสนอุทธโยธา, แสนสาร, แสนบุญโยง, แสนแก้ว, แสนใจ, ต้าวมิ่ง, ต้าวพรหม, ต้าวใจร่วมกับชาวบ้านที่เดินทางมาจากบ้านขอหัวช้างประมาณ 50 ครอบครัวเข้ามาก่อตั้งรกรากและเห็นว่าอุดมสมบูรณ์จึงได้ลงหลักปักฐานทำมาหากินรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ขึ้น
พ.ศ. 2394 โดยมีผู้ก่อตั้งครั้งแรกก็คือ "หาญฟ้าเขียว" เป็นคนบ้านขอหัวช้าง อำเภอเมืองปานจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย "พญาศิริคำน้อย" เป็นหัวหน้าชาวบ้านแม่สุก อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายซึ่งในบริเวณหมู่บ้านนี้ได้มีต้นไม้ชนิดหนึ่ง จะขึ้นอยู่ตามลำห้วยของหมู่บ้านและได้ออกดอกส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วทั้งหมู่บ้านทำให้ชาวบ้านได้รับกลิ่นหอมจากดอกไม้ชนิดนี้มาตลอดคนในหมู่บ้านจึงเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า "ต้นสีสุก" (ต้นอโศกอินเดียสีทอง) ในคราวนั้นทางหมู่บ้านก็ยังไม่มีชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการและตอนนั้นทางผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านก็ได้ปรึกษาหารือกันว่าในหมู่บ้านของเราจะต้องมีการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการแล้วและเราควรจะตั้งชื่อหมู่บ้านว่าหมู่บ้านอะไรดีและก็ได้มีชาวบ้านได้เสนอชื่อหมู่บ้านว่าให้ใช้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านสีสุก" เพราเห็นว่ามีต้นสีสุกเป็นจำนวนมาก
พ.ศ. 2397 มีราษฎรได้อพยพมาจากบ้านแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางจำนวนหนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านแม่สุก"
พ.ศ. 2402 เมืองลำปาง มีการค้าขาย ปลูกผักค่อนข้างยากเพราะเป็นเมืองหิน พื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์ มีชาวบ้านอพยพมาจากลำปาง เช่น บ้านไร่ข่วงเป่า บ้านไหล่หิน บ้านหนองหล่าย อำเภอเกาะคา โดยมีพ่อเฒ่าแสนขัด เป็นผู้นำกลุ่มมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางใต้ของลำน้ำห้วยแม่จว้าต่อมามีชาวบ้านมาสมทบมากขึ้นโดยตั้งชื่อบ้านว่า บ้านแม่จว้าใต้ เพราะตั้งหมู่บ้านอยู่ท้ายน้ำ มีการพบพระพุทธรูปหินทราย อายุราว 500 ปี ชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านแม่จว้าใต้ เป็นตั้งสถานที่นี้เป็นศาลเจ้าบ้าน ต่อมาก็ได้แต่งตั้งพ่อเฒ่าตุ้มขึ้นเป็นผู้นำหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านอยู่ 30 หลังครัวเรือน แต่ยังไม่มีวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ทำบุญ
พ.ศ. 2405 มีต้นตระกูลของพ่อหลวงปิง มาแม่จว้าใต้ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวนี้นับถือพระมหาป่าซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสักการบูชาตั้งไว้ที่กลางทุ่งนา แต่ภายหลังย้ายมาที่หลังบ้านของ นายสุชาติ นางบัวเหลียว จุลธรรมเจริญ อุทิศที่ดินส่วนตัวไว้สร้างศาลเจ้าพ่อมหาป่า
พ.ศ. 2409 มีพระธุดงค์ชื่อว่า ครูบาลาว พร้อมด้วยโยมพ่อชื่อพ่อหนานอภัย และโยมแม่ชื่อย่าโต๊ะ เดินธุดงค์มาจากประเทศลาวผ่านมาได้ปักกลดอยู่ใกล้หมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้มีโอกาสทำบุญตามศรัทธา และครูบาลาวได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านพระครูบาลาวเริ่มได้สอนเชิงดาบ เชิงมวย ฟ้อนเจิงให้กับชาวบ้าน ภาษาถิ่นเรียกว่าการให้ปันหรือการแบ่งปัน คำว่า "เชิง" ภาษาถิ่นออกเสียงเป็นเจิงต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อว่าบ้านปันเจิงตามกิริยาของครูบารูปนั้น พอถึงเดือน 8 เหนือ (พฤษภาคม)
พ.ศ. 2429 ปีชวด ชาวบ้านทั้งหมดได้มีพ่อเฒ่าตุ้มและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านมาปรึกษาหารือกัน และช่วยกันถากถางพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น เพื่อสะดวกต่อการทำบุญ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีลูกหลานชาวบ้านได้มาบวชเรียนหนังสือกับครูบาลาว ซึ่งครูบาได้อบรมสั่งสอนตลอดมา และชาวบ้านเรียนหนังสือฝึกศิลปวัฒนธรรมที่วัดนี้
พ.ศ. 2437 ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่ตั้งขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเมื่อพ.ศ. 2435 โดยการปกครองแบบ "เทศาภิบาล" หรือ "มณฑลเทศาภิบาล" จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) โดยเนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับนี้คือให้รวมหัวเมืองทั้งหมดมาไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย การวางรากฐานการปกครองแบบ "มณฑล" เริ่มขึ้นในปี 2417 เมืองพะเยา เมืองเชียงราย จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง (มณฑลพายัพ, มณฑลเทศาภิบาล)
พ.ศ. 2447 พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีโทรเลขมาว่า ได้ปรึกษากับเค้าสนามหลวงนครลำปางเห็นพร้อมกันว่า ควรจะยกเลิกกองบริเวณพะเยา ให้คงมีแต่แขวงพะเยา แขวงดอกคำใต้ แขวงแม่ใจ รวม 3 แขวง ขึ้นตรงต่อบริเวณพายัพเหนือ จะเป็นการสะดวกแก่การบังคับบัญชา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 124)
พ.ศ. 2448 ด้วยพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพมีโทรเลขมาว่า ได้ปรึกษากับเค้าสนามหลวงนครเชียงใหม่เห็นพร้อมกันว่า ควรเปลี่ยนนามแขวงแม่กก บริเวณเชียงใหม่เหนือ เรียกว่าแขวงเมืองเชียงราย กับขอรวมแขวงเมืองพง กับแขวงเมืองเวียงป่าเป้า 2 เมืองนี้ ตั้งเป็นแขวงขึ้น ให้มีกรมการแขวงบังคับบัญชาการเรียกว่า แขวงแม่ซวย และให้ตั้งที่ว่าการแขวงแม่ซวย ขณะนั้นบ้านแม่จว้ายังอยู่ในแขวงแม่ใจ ขึ้นตรงต่อแขวงเมืองเชียงราย แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ควรเปลี่ยนนามแขวงแม่กก บริเวณเชียงใหม่เหนือ เรียกว่า แขวงเมืองเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 950. 24 ธันวาคม ร.ศ. 124
พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยในสมัยนั้นได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดแบ่งท้องที่ปกครองเป็น "เมือง" และ "อำเภอ" เมื่อ พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) ในขณะนั้น "แม่ใจ" มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 3 อำเภอ และ 10 เมือง ที่ได้จัดการปกครองรวมกันเป็นจังหวัดพายัพเหนือ
พ.ศ. 2453 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ. 129) อำเภอแม่ใจขึ้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในมณฑลพายัพ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ จำนวน 6 คน คนแรกคือนายถิน ควรสมาคม (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพแจ้งว่า กิ่งอำเภอ 3 แห่งคือ กิ่งอำเภอเมืองเทิง กิ่งอำเภอเมืองพาน และกิ่งอำเภอเมืองปง มีผู้คนพลเมืองมาก และมีอาณาเขตที่กว้างขวาง เหลือความสามารถของกรมการอำเภอจะตรวจตราให้ตลอดทั่วถึงได้ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ขออนุญาตยกกิ่งอำเภอเมืองเทิงขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า "อำเภอเมืองเทิง" ยกกิ่งอำเภอเมืองพานขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า "อำเภอเมืองพาน" ขึ้นเมืองเชียงราย รวมกิ่งอำเภอเมืองปง เข้าสมทบกับกิ่งอำเภอเชียงม่วน เรียกว่า "อำเภอเมืองปง" ขึ้นกับเมืองน่าน ตำบลแม่ใจ ตำบลป่าแฝก อยู่ในการปกครองของอำเภอเมืองพาน (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและรวมกิ่งอำเภออำเภอขึ้นเป็นอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 : 2041. 8 ธันวาคม ร.ศ. 131)
พ.ศ. 2456 เรจินาลด์ เลอ เมย์ (Reginald le May) ชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาสยาม เพื่อรับทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษ ประจำกรุงเทพฯ ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ และจะย้ายประจำที่เมืองลำปางในปีเดียวกัน เลอ เมย์ วางแผนออกเดินทางท่องเที่ยวหัวเมืองทางเหนือในฤดูหนาวในปลายปี 2456 นั่นเอง ก่อนคณะเดินทางจะเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ได้แวะที่บ้านแม่ใจ ขณะนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่มีพื้นที่ไร่นาอุดมสมบูรณ์ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดโรคระบาด คือ โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อย แม้สถานการณ์จะรุนแรง แต่โรคร้ายชนิดนี้ก็ไม่ได้ระบาดไปถึงพะเยาหรือหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น ๆ เพราะเนื่องจากทางการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ โดยมีหน่วยงานคณะแพทย์จากสยาม (กรุงเทพฯ) มาช่วยในการรักษาผู้ป่วยและมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับชาวบ้านแม่ใจและหมู่บ้านใกล้เคียง ไม่นานนักสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ (เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ เรียบเรียง An Asian Arcady: Land and People of Northern Siam อ้างอิงจาก "จดหมายเหตุเมืองพะเยา" หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ, พ.ศ. 2556)
พ.ศ. 2460 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า อำเภอในจังหวัดเชียงรายคือ อำเภอพะเยา อำเภอเมืองพาน อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ มีท้องที่ใกล้ชิดติดต่อกัน สมควรจะยุบอำเภอแม่ใจ และอำเภอดอกคำใต้ แบ่งท้องที่รวมเข้ากับอำเภอพะเยา อำเภอเมืองพานได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยุบอำเภอแม่ใจ รวมเข้ากับอำเภอเมืองพาน เพื่อประโยชน์แก่การปกครองต่อไป (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ยุบอำเภอแม่ใจและอำเภอดอกคำใต้. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 505. 23 ธันวาคม 2460)
พ.ศ. 2465 มีกำนันคนแรกของตำบลแม่สุกชื่อ นายแสน บุญโยง
พ.ศ. 2461 พื้นที่มีการระบาดของโรคอหิวาตกโรค ซึ่งการรักษาใช้หมอเมืองทั้ง 2 ศาสตร์ คือ ด้านไสยศาสตร์ และด้านแพทย์แผนโบราณโดยการรักษาด้วยสมุนไพร ส่วนบุคคลที่เสียชีวิตจะนำไปฝังที่ป่าช้าท้ายหมู่บ้าน ด้วยการห่อศพแล้วค่อยแบกหามศพออกจากหมู่บ้านเวลากลางคืนเพื่อลดความหวาดกลัวของคนในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2470 ประชาชนอพยพมาจากเกาะคาและแม่ทะ จ.ลำปาง ต่อมาได้มีประชาชนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ และประชากรส่วนใหญ่ในขณะนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่
พ.ศ. 2481 รวมตำบลแม่ใจเหนือ ตำบลแม่ใจใต้ ตำบลแม่สุก แล้วจัดตั้งเป็น ตำบลแม่ใจ ในท้องที่อำเภอเมืองพาน จังหวัดเชียงราย โดยยุบตำบลป่าแฝก ตำบลแม่สุก ตำบลแม่ใจใต้ ตำบลแม่ใจเหนือ (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481) ในปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อเรียกอำเภอ โดยที่เห็นสมควรจะเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพาน เป็นอำเภอพาน (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)
พ.ศ. 2490 อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบลและตั้งตำบลใหม่ ตั้งตำบลแม่สุข (แม่สุก) โอนออกจากตำบลแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จำนวน 5 หมู่บ้าน คือ
หมู่ที่ 1 โอนจากหมู่ที่ 18 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน
หมู่ที่ 2 โอนจากหมู่ที่ 19 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน
หมู่ที่ 3 โอนจากหมู่ที่ 20 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน
หมู่ที่ 4 โอนจากหมู่ที่ 21 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน
หมู่ที่ 5 โอนจากหมู่ที่ 22 ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 26 เล่ม 64 : 1114- 1430. 10 มิถุนายน 2490) โดยที่ขณะนั้นบ้านแม่จว้า หมู่ 8 ยังเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับบ้านแม่จว้า หมู่ 4 ในปีนั้นมีการระบาดของโรคอหิวาตกโรค กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมือง
พ.ศ. 2493 ชาวบ้านแม่จว้าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษโดยรวมตัวกันนั่งล้อเกวียนไปฉีดที่สุขศาลาแม่ใจ คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ใจในปัจจุบัน
พ.ศ. 2495 นายบุณยฝาง ทองสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งกระทู้ถาม เรื่องการจัดตั้งอำเภอและกิ่งอำเภอในจังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับการที่จะปรับปรุงยกฐานะตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงรายให้เป็นกิ่งอำเภอ ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน หากจังหวัดเสนอขอตั้งเป็นอำเภอหรือกิ่งอำเภอ กระทรวงมหาดไทยก็จะได้พิจารณาที่เห็นสมควรต่อไป แต่ในปี 2495 นี้ยังไม่อาจดำเนินการได้ เพราะการพิจารณางบประมาณได้ผ่านพ้นไปแล้ว (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คำตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 33 เล่ม 69 : 1479-80. 27 พฤษภาคม 2495
การเดินทางโดยใช้รถขายข้าวสาร รถคอกหมู หาบของไปขายโดยเดินทางจากหมู่บ้านไปขึ้นรถที่บ้านแม่สุกไปขายของในเมือง ที่นิยมไปขายคือหน่อไม้
พ.ศ. 2500 มีการเกิดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษระบาดในขณะนั้น ชาวบ้านเกิดตุ่มพุพองบริเวณผิวหนัง ไม่สามารถนอนบนที่นอนได้ ต้องเอาใบตองมารองนอน รักษาโดยการกินยาต้ม ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ชาวบ้านนั่งล้อเกวียนไปฉีดวัคซีนที่ศาลาแม่ใจ
พ.ศ. 2502 นายศิริ เพชรโรจน์ นายอำเภอพะเยาได้พัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลบ้านตุ่น บ้านต๋อม บ้านต๊ำ ตำบลบ้านใหม่ และตำบลแม่สุก เป็นระยะทาง 28 กิโลเมตร ปัจจุบันถนนสาย 1193
พ.ศ. 2503 วันที่ 22 มีนาคม วัดแม่จว้าปันเจิง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงเป็นที่มาของวัดปันเจิง ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า วัดนอกจากจะเป็นสถานที่ศึกษาธรรมะและทำบุญยังเป็นสถานที่สอนศิลปวัฒนธรรมไทยพื้นบ้าน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ ตีกลองปู่จา ตีกลองสบัดชัย ได้อย่างสวยงาม เมื่อมีงานฉลองตามวัดต่าง ๆ ก็จะมีการประกวดแข่งขันกัน ผู้ที่มาฝึกสถานที่แห่งนี้ก็จะชนะทุกครั้งจึงตั้งชื่อว่าบ้านแม่จว้าปันเจิงหรือวัดปันเจิง และมีการก่อตั้งโรงเรียนแห่งแรก ชื่อ โรงเรียนบ้านแม่จว้าใต้
พ.ศ. 2504 มีการปลูกฝีที่สุขศาลาแม่ใจ โดยเดินทางไปรักษาโดนใช้ล้อเกวียนลากโดยวัวและควาย โดยในสมัยนั้นการเดินทางค่อนข้างลำบากเนื่องจากถนนมีแต่โคลนและฝุ่นเป็นจำนวนมาก
พ.ศ. 2506 เนื่องด้วยปรากฏว่าอำเภอพะเยา อำเภอพาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตกว้างขวาง บางตำบลอยู่ห่างไกลอำเภอมาก เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง และตำบลที่ห่างไกลอำเภอนั้น ๆ แต่ละอำเภอมีพลเมืองมาก มีตลาดชุมนุมการค้าพอสมควร สภาพท้องที่โดยทั่ว ๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า กระทรวงมหาดไทยโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 64 และมาตรา 65 จึงขอแบ่งท้องที่ของอำเภอดังกล่าว ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภออีก 5 แห่ง ให้เรียกชื่อและให้มีเขตการปกครอง ดังต่อไปนี้ แบ่งท้องที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ 1 แห่ง เรียกชื่อว่า "กิ่งอำเภอแม่ใจ" มีเขตการปกครองรวม 4 ตำบล คือ ตำบลแม่ใจ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อย และตำบลแม่สุก ให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 80 ตอนที่ 14: 221- 222. 5 กุมภาพันธ์ 2506)
โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ รวม 4 คน ในปีนี้ เกิดโรคแอนแทรกซ์ในหมู่บ้านเนื่องจากสมัยนั้นชาวบ้านมีการเลี้ยงวัวและควายจำนวนมาก วัวและควายตายชาวบ้านนำมาประกอบอาหารจึงทำให้เกิดโรค โดยมีตุ่มออกตามร่างกาย ล้มป่วยตายเป็นจำนวนมาก จึงมีการนำผู้ที่เสียชีวิตไปฝังที่ป่าช้าท้ายหมู่บ้าน พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรตั้งอำเภอเพิ่มขึ้นในท้องที่บางจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการปกครองและความสะดวกของราษฎร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ให้ตั้งกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย (พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอดอกคำใต้.อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน พุทธศักราช 2508. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 82 ตอนที่ 59 : 565-569. 14 พฤศจิกายน 2481)
พ.ศ. 2512 ประชาชนในท้องที่ตำบลแม่สุกร่วมกันทอดผ้าป่าสร้างสถานีอนามัยตำบลแม่สุก โดยขณะนั้นยังมีสถานะเป็นสำนักงานผดุงครรภ์ มีหมอคนแรกคือ นายกำพล อินต๊ะมูล และมี ลิ้นจี่ต้นแรก ทำให้คนในชุมชนปลูกลิ้นจี่กันอย่างแพร่หลาย และเมื่อราคาลิ้นจี่ลดลงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกยางพาราในประมาณ ปี พ.ศ 2546
พ.ศ. 2514 มีการเปลี่ยนการฝังศพเป็นการเผา เนื่องจากการมีคนตายมากขึ้นทำให้บริเวณป่าช้าที่ฝังศพมีจำนวนไม่เพียงพอ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค มีการการสร้างเชิงตะกอนในการเผา
พ.ศ. 2516 เกิดความกดอากาศสูงปกคลุมภาคเหนือทำให้เกิดพายุฝนขึ้นทั่วบริเวณอำเภอพะเยา และอำเภอแม่ใจอย่างหนาแน่น ทำให้ฝนตกลงมามากผิดปกติตั้งแต่วันที่ 5-6 สิงหาคม 2516 ย่างเข้าวันที่ 7 สิงหาคม 2516 น้ำป่าไหลหลากลงมาจากเทือกเขาดอยหลวงเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน (พระวิมลธรรมโมลี, 2546, 129)
พ.ศ. 2518 แยกการปกครองจากบ้านแม่จว้าใต้ หมู่ 5 ออกเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง คือ บ้านแม่จว้าปันเจิง หมู่7 และในช่วงนั้นเป็นยุคของรัฐบาล มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี มีโครงการเงินผันที่ประชาชนตำบลแม่สุก ในแถบโซนแม่จว้า ได้ใช้เงินโครงการเงินผันด้วยการขุดคลองเพื่อการระบายน้ำ จากเดิมที่เมื่อฤดูนำหลาก น้ำจะไม่มีการระบายไป คือน้ำไปทั่วตามที่มาของหมู่บ้าน น้ำจะไปกองกันที่บริเวณสะพานบ้านแม้จว้าหมู่ 3 กำนันในขณะนั้นได้แบ่งให้ประชาชนมารับจ้างขุดคลองคนละ 1 เมตร ตามนโยบายเงินผันดังกล่าว จนกลายเป็นลำคลองระบายน้ำเข้าพื้นที่เกษตร และนำไม่ท่วมหรือมีปัญหาน้ำหลากไปทั่วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (นายสมสิทธิ์ เกี๋ยงคำ, สัมภาษณ์ ต.ค. 2566)
พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520
ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา)
พ.ศ. 2523 เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียขึ้นในพื้นที่บ้านใหม่ แม่จว้า มีอาสาสมัครมาลาเรียเข้ามาฉีดพ่นยา ดีดีที ในบ้านเรือนราษฎร
พ.ศ. 2524 หมู่ที่ 8 บ้านแม่จว้า ได้แยกออกจาก หมู่ 4 บ้านแม่จว้ากลาง แยกออกเป็นเนื่องจากจำนวนหลังคาเรือนมากเกินไป มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายแต่ง คำก๋อง และมีการคุ้มบ้าน ทั้งหมด 8 คุ้มคือ คุ้มบางเหลียว คุ้มเฟื่องฟ้า คุ้มรักไทย คุ้มดาวเรือง คุ้มเอื้องคง คุ้มภพเจริญ คุ้มดาวค้างฟ้า คุ้มกุหลาบดง
พ.ศ. 2525 มีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน คนแรกคือ นางขจร คำก๋อง ได้รับการแต่งตั้งเป็น อสม. เนื่องจากเป็นอาสาสมัครโรคมาลาเรีย และได้เป็น ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส) และได้เป็นอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในหมู่บ้านเริ่มมีไฟฟ้ากับน้ำประปาใช้เป็นครั้งแรกในขณะเดียวกันทำให้ชาวบ้านเริ่มมี โทรทัศน์ เครื่องแรกของหมู่บ้าน
พ.ศ. 2533 พบผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์คนแรกของบ้านแม่จว้า หมู่ 8 เนื่องจากไม่มีการป้องกันเชื้อทางเพศสัมพันธ์ร่วมกับมีสถานบริการทางเพศอย่างแพร่หลายในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2538 นายสมาน พรมจักร ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 (2538-2541) หลังจากนายแต่ง คำก๋อง หมดวาระ
พ.ศ. 2539 คนเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์รุนแรงที่สุด จำนวน 40-50 คน/ปี ร้านขายของไม่มีการขายหน้าร้าน และร้านอาหารไม่ให้นั่งกินในร้านเนื่องจากกลัวเชื้อโรคเอดส์แพร่ระบาด เกิดการก่อตั้ง กลุ่ม "พลังใจ 42" เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์โดยเฉพาะ ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นกลุ่ม "กองทุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส" ช่วยเหลือทั้งผู้ยากไร้ ผู้ยากจน ผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ โดยมีการสนับสนุนจาก อบต. เรื่องการรับยาและการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ ในตำบลแม่สุก มีการตายเยอะเป็นอันดับต้น ๆ เกิดการตั้ง "หมอเมือง" หาสมุนไพร นใบมะขาม ใบส้มป่อย ที่ในอดีตนำมารักษาโรคกลาก เกลื้อน นำมารักษาโรคเอดส์ใน พ.ศ นั้น นำมาประคบตุ่มแผล ให้ผู้ป่วยเจาะเลือดหากมีความรุนแรงมากจะนำไปอบสารเคมีทำให้แผลดีขึ้น
พ.ศ. 2542 นายอุทัย พรมแปง ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 (2542-2547) หลังจากนายสมาน พรมจักร หมดวาระ
พ.ศ. 2547 นายสมบัติ ตุ้มแปง ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 และดำรงตำแหน่งกำนันตำบลแม่สุก (2547-2552) หลังจากนายอุทัย พรมแปง หมดวาระ
พ.ศ. 2552 นายศาสนพงศ์ คนงาน ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 (2552-2560) หลังจากนายสมบัติ ตุ้มแปง หมดวาระ
พ.ศ. 2552 ได้ยกฐานะจากสถานีอนามัยเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
พ.ศ. 2554 มีการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ นำเยาวชนในชุมชนมาช่วยทำโครงการเพื่อไม่ให้โรคเอดส์กลับมาเป็นซ้ำ
พ.ศ. 2560 นายศรีกอน ศรีวิชัย ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 (2560-2566) หลังจากนายศาสนพงศ์ คนงาน ลาออกไปสมัครเป็นสมาชิกสภาตำบลแม่สุก
พ.ศ. 2563 มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ชาวบ้านที่ไปพื้นที่เสี่ยงมากักตัวที่บ้านตนเอง 14 วัน มีอสม.คอยดูแล ให้ถุงยังชีพ ดูแลสุขอนามัยของตนเอง สำหรับคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้อยู่บ้าน 21 วัน ได้รับยาฟ้าทะลายโจรและยารักษาตามอาการจาก รพสต.
พ.ศ. 2566 วันที่ 18 พฤษภาคม มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน คือ นายสมพงษ์ ปูแปง ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 (2566-ปัจจุบัน) หลังจากนายศรีกอน ศรีวิชัย หมดวาระ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่จว้าเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านแม่จว้าใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านแม่จว้ากลาง หมู่ที่ 4 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ป่าอุทยานแห่งชาติดอยหลวง อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ โดยทั่วไปของหมู่บ้านแม่จว้า หมู่ 8 เป็นพื้นที่ราบระหว่างเชิงเขา มีลำห้วยแม่จว้าเป็นต้นน้ำและเป็นแหล่งชุมชนมีพื้นที่เหมาะสมกับที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวนประมง
ผู้นำชุมชน
- นายสมพงษ์ ปูแปง ผู้ใหญ่บ้าน
- นายสมชาย เหมยน้อย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- นางศศิลักษพร ผัดแก้ว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- นายทนงค์ศักดิ์ สอนน้อย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
คณะกรรมการหมู่บ้าน จำนวน 15 คน
หัวหน้าคุ้ม
- คุ้มนางเหลียว หัวหน้าคุ้มชื่อ นายสุข คำฝั้น
- คุ้มเฟื้องฟ้า หัวหน้าคุ้มชื่อ นางจันทร์สม บุญตัน
- คุ้มรักไทย หัวหน้าคุ้มชื่อ นายสมโภชน์ ติ๊บเต็ม
- คุ้มดาวเรือง หัวหน้าคุ้มชื่อ นายเลิศ แปงสมุด
- คุ้มเอื้องดง หัวหน้าคุ้มชื่อ นายสงบ สีด้วง
- คุ้มภพเจริญ หัวหน้าคุ้มชื่อ นายนิมิต ถึงนิล
- คุ้มกุหลาบดง หัวหน้าคุ้มชื่อ นายสุข ผัดแก้ว
- คุ้มดาวค้างฟ้า หัวหน้าคุ้มชื่อ นางดวงจิตร จันทร์เอ้ย
อาสาพัฒนาชุมชน 3 คน
อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 20 คน นายจักร์ เขื่อนแก้ว ประธาน
อาสาสมัคร ตำรวจบ้าน จำนวน 12 คน นายจักร์ เขื่อนแก้ว ประธาน
อาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จำนวน 15 คน นายทนงศักดิ์ สอนน้อย ประธาน
อาสาสมัครเกษตร นายทนงศักดิ์ สอนน้อย
คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน นายไพศาล อินต๊ะมูล ประธาน
วิถีชีวิต : ปฏิทินชุมชนและชีวิตประจำวัน
เดือน | กิจกรรม |
มกราคม | ตานข้าวใหม่ |
กุมภาพันธ์ | พิธีงานทำบุญบ้านใหม่ |
มีนาคม | พิธีงานทำบุญบ้านใหม่ |
เมษายน | พิธีงานสงกรานต์ |
พฤษภาคม | สรงน้ำพระธาตุและสืบชะตาแม่น้ำ |
มิถุนายน | เลี้ยงผีปู่ย่า |
กรกฎาคม | ดำนา เข้าพรรษา |
สิงหาคม | วันแม่แห่งชาติ |
กันยายน | พิธีตานแตน |
ตุลาคม | พิธีงานสลากภัตร, พิธีงานตักบาตรเทโว |
พฤศจิกายน | พิธีงานวันลอยกระทง ลอยโคม |
ธันวาคม | สวดมนต์ข้ามปี, ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ |
1.นายกลิ่น ถากาวิล ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน หมอเป่า
2.นายอ่อน จันทร์เอ้ย ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม เรียกขวัญ สู่ขวัญ สืบชะตา
3.นายวรรณ ใจทนต์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่
4.นายนวล พรมแปง ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่
5.นายแก้ว ผัดแก้ว ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่
6.นางจันทร์ เย็นใจ ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่
7.นางเสาร์ วงค์มา ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่
8.นายแก้ว บุญตัน ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่
9.นายน้อย นิ้วออน ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่
10.นางอี๊ด บุญมาสืบ ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่
11.นายพรชัย หินเพชร ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่
12.นายวรรณ ใจทนต์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม ไม้กวาดทางมะพร้าว
13.นายนวล พรมแปง ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม ไม้กวาดทางมะพร้าว
14.นายแก้ว ผัดแก้ว ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม ไม้กวาดทางมะพร้าว
15.นางจันทร์ เย็นใจ ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม ไม้กวาดทางมะพร้าว
16.นางเสาร์ วงค์มา ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม ไม้กวาดทางมะพร้าว
17.นายแก้ว บุญตัน ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม ไม้กวาดทางมะพร้าว
18.นายน้อย นิ้วออน ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม ไม้กวาดทางมะพร้าว
19.นางอี๊ด บุญมาสืบ ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม ไม้กวาดทางมะพร้าว
20.นายพรชัย หินเพชร ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม ไม้กวาดทางมะพร้าว
บุคคลสำคัญของชุมชน
21.นายแต่ง คำก๋อง
- ปี พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2528 เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก บ้านแม่จว้า หมู่ 8 บ้านแม่จว้า ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และสร้างคุ้มภายในหมู่บ้าน
- เป็นที่ปรึกษาผู้สูงอายุ ผู้ก่อตั้งธนาคารข้าวและผู้สร้างทางเข้าหมู่บ้าน
- พัฒนาจัดตั้งหมู่บ้าน จัดทำถนน ผลักดันไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน สร้างแหล่งกักเก็บเพื่อการเกษตรกรรม สาธารณูปโภค
- จัดตั้งแกนนำปราบปรามยาเสพติด ก่อตั้งธนาคารข้าว
22.นายสมสิทธิ์ เกี๋ยงคำ
เกิดปี พ.ศ. 2501
วุฒิการศึกษา ประถมศึกษาปีที่ 4
ที่อยู่ปัจจุบัน หมู่ที่ 8 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- ดำรงตำแหน่ง อสม.ปี พ.ศ 2533 - 2546 ระยะเวลา 13 ปี
- ดำรงตำแหน่งกรรมการหมู่บ้าน 7 ปีและกรรมการธนาคารข้าว 9 ปี
- ดำรงตำแหน่งอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) 19 ปี อยู่ร่วมกับกำนัน สมบัติ ตุ้มแปง และปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน 6 ปี
- เป็นที่ปรึกษาและผู้ทวนสอบข้อมูล “ประวัติศาสตร์ชุมชน” ให้กับ นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา ที่มาฝึก หมู่ 8 บ้านจว้า ระยะเวลา 4 สัปดาห์
23.นายอ่อน จันทร์เอ้ย
เกิดปี พ.ศ. 2489
วุฒิการศึกษา ประถมศึกษาปีที่ 4
ที่อยู่ปัจจุบัน หมู่ที่ 8 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
- มีความเชี่ยวชาญทางด้านการอ่านและบันทึกภาษาล้านนา บทสวดมนต์ และเชี่ยวชาญทางด้านการทำพิธีกรรมทางศาสนาที่สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ การทำนายโชคชะตา
รางวัลที่ได้รับ
- เป็นคณะกรรมการการประถมศึกษาประจำโรงเรียน พ.ศ. 2527
- ได้ผ่านการอบรมตามโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นสำหรับประชาชน ของกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2543
- เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดพะเยา พ.ศ. 2544
- ได้เข้ารับการฝึกอบรม หลักสูตรเผยแพร่ "ความรู้ทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สำหรับเครือข่ายอาสาสมัครรัฐสภา" ปี พ.ศ. 2547
- ได้ผ่านเกณฑ์การประเมิน "ครัวเรือนน่าอยู่" ระดับทองแดงตามโครงการ "จังหวัดพะเยา เมืองน่าอยู่" ประจำปีพุทธศักราช 2553
บ้านแม่จว้า ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่สุกซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ใจไปทางทิศใต้ตามถนนพหลโยธินแล้ววกลงไปทางทิศตะวันตกตามถนนแม่ใจ-แม่นาเรือประมาณ 8 กิโลเมตร มีระยะห่างจากตัวจังหวัด 24 กิโลเมตร มีเนื้อที่ ประมาณ 2,037.50 ไร่ แบ่งเป็น
- พื้นที่การเกษตร ประมาณ 1,285.15 ไร่
- พื้นที่ทางธรรมชาติ ประมาณ 612.50 ไร่
- พื้นที่ตั้งบ้านเรือน/ชุมชน ประมาณ 139.84 ไร่
แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคของหมู่บ้าน ได้แก่
- น้ำประปาหมู่บ้าน
- โรงน้ำดื่ม
- น้ำบ่อ
แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
- อ่างเก็บน้ำแม่จว้า
- อ่างเก็บน้ำแม่ปืม
ภาษาไทยกลาง ภาษาล้านนา
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน ร.ศ.124
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ควรเปลี่ยนนามแขวงแม่กก บริเวณเชียงใหม่เหนือ เรียกว่าแขวงเมืองเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 950. 24 ธันวาคม ร.ศ.124
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ.129
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและรวมกิ่งอำเภออำเภอขึ้นเป็นอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 : 2041. 8 ธันวาคม ร.ศ.131
เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ เรียบเรียง An Asian Arcady: Land and People of Northern Siam อ้างอิงจาก “จดหมายเหตุเมืองพะเยา” หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ, พ.ศ. 2556
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ยุบอำเภอแม่ใจและอำเภอดอกคำใต้. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 505. 23 ธันวาคม 2460
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481
พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ .(PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 26 เล่ม 64 : 1114- 1430. 10 มิถุนายน 2490
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คำตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 33 เล่ม 69 : 1479-80. 27 พฤษภาคม 2495
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ .(PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 80 ตอนที่ 14: 221- 222. 5 กุมภาพันธ์ 2506
พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอดอกคำใต้. อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน พุทธศักราช 2508 .(PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 82 ตอนที่ 59 : 565-569. 14 พฤศจิกายน 2481
พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520