Advance search

ภูกามยาวดอยงาม ดินแดนสามพระธาตุ ประวัติศาสตร์เมืองเก่า อู่ข้าวลุ่มน้ำอิง

หมู่ที่ 3
บ้านกว้าน
ดงเจน
ภูกามยาว
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
5 ก.พ. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 มี.ค. 2024
บ้านกว้าน

ในอดีตที่บ้านเชียงหมั้นมีการขึ้นกว้านขึ้นศาลที่หมู่บ้านประจำ และหมู่บ้านอื่น ๆ เวลาเกิดคดีความก็จะมาให้เจ้าแสน (ยศเจ้าในอดีต) ผู้เป็นผู้นำหมู่บ้านได้ช่วยไกล่เกลี่ยคดีความให้ โดยไม่ถึงขนาดว่า ตัดสินคดีความเสียทีเดียว แต่เป็นการช่วยไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีได้ประนีประนอมซึ่งกันและกัน ทำให้คนโดยทั่วไปเรียกบ้านเชียงหมั้นว่า บ้านกว้าน หมายถึง การขึ้นกว้านขึ้นศาล ไม่ใช่บ้านกว้านที่แปลว่า บึงหรือกว๊านพะเยาในปัจจุบัน


ภูกามยาวดอยงาม ดินแดนสามพระธาตุ ประวัติศาสตร์เมืองเก่า อู่ข้าวลุ่มน้ำอิง

บ้านกว้าน
หมู่ที่ 3
ดงเจน
ภูกามยาว
พะเยา
56000
19.21887051
99.96246994
เทศบาลตำบลดงเจน

เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลตฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310

ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พ.ศ. 2167 ได้ก่อตั้งวัดเชียงหมั้น ชาวบ้านเรียกว่า บ้านกว้าน ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2170 โดยได้รับหนังสือรับรอง ที่ ศธ6.0403/1645 กรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ ว่าวัดเชียงหมั้นเป็นวัดสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้น โดยผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบกันมาว่าเดิมที่วัดเชียงหมั้นตั้งอยู่ที่วัดสันป่าเหียงในปัจจุบัน (เชิงเขาดอยจุกหรือดอยหยุก แต่เนื่องจากขาดแคลนน้ำจึงได้ย้ายมาตั้งที่วัดเชียงหมั้นปัจจุบันโดยมีครูบาเจ้ากว้านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

พ.ศ. 2330 พระเจ้าเมืองอังวะสั่งให้อะแซวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองพะเยารวมเข้าด้วย เจ้านายและประชาชนตื่นตกใจต่างก็พากันอพยพครอบครัวหลบหนีข้าศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปาง ครอบครัวชาวเมืองเชียงราย ไปตั้งอยู่ที่ตรง 5 แยกเมืองลำปาง ได้ร่วมกันสร้างวัดโดยถือเอาตามนามเมืองเดิมที่มาจากเชียงรายว่า "วัดเชียงราย" มาจนบัดนี้ ฝ่ายครอบครัวของชาวเมืองปุมืองสาดที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านวัดเมืองศาสตร์ ส่วนชาวเมืองพะเยาได้อพยพไปตั้งหลักอยู่บ้านปงสนุกด้านใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำวัง คือ บ้านปงสนุก เมืองพะเยาในสมัยนั้นในบริเวณตัวเมืองรกร้างไปเป็นเวลานานถึง 56 ปี

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้นเมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยาในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา

พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เมื่อทรงปฏิรูปการปกครองประเทศ พ.ศ. 2435 ได้มีการยกเลิกหัวเมืองประเทศราชของสยาม (โดม ไกรปกรณ์. หัวเมืองประเทศราช wiki.kpi.ac.th) โดยที่สยามนำเอาระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมาใช้ ส่งผลให้หัวเมืองประเทศราชบางส่วนคือล้านนาถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ ในขณะนั้นเมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง

พ.ศ. 2437 ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่ตั้งขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยการปกครองแบบ “เทศาภิบาล” หรือ “มณฑลเทศาภิบาล” จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) โดยเนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับนี้คือให้รวมหัวเมืองทั้งหมดมาไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย การวางรากฐานการปกครองแบบ “มณฑล” เริ่มขึ้นในปี 2417 เมืองพะเยา เมืองเชียงราย จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง (มณฑลพายัพ. th.wikipedia.org/, มณฑลเทศาภิบาล. th.wikipedia.org/)

พ.ศ. 2438 พระยาราชวรานุกูล กระทรวงมหาดไทย นำเจ้าอุปราชเจ้าราชภาติกวงษ์ เจ้าสุริยวงษ์เมืองนครลำปาง กับพระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อรายงานตัวไปรักษาราชการบ้านเมือง (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 : 493. 5 มีนาคม ร.ศ.114)

พ.ศ. 2444 ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองนครลำปาง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีผู้คนเป็นจำนวนมากสมควรจัดให้เป็นบริเวณหนึ่ง และจัดให้มีข้าหลวงประจำบริเวณ และให้รวมเมืองพะเยา เมืองงาว รวมเมืองเข้าเป็นบริเวณหนึ่ง เรียกว่า “บริเวณพะเยา” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หลวงศรีสมัตถการ ซึ่งรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยกรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา " (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม รศ.120)

พ.ศ. 2445 เกิดจลาจลขึ้นทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ โจรผู้ลี้ภัยเงี้ยวหรือไทยใหญ่เข้ายึดเมืองพะเยา ปล้นเอาทรัพย์สินทางราชการ ประชาชน วัดวาอารามไป ประซาชนแตกตื่นกระจัดกระจายหนีเข้าป่าเข้าพง บางส่วนหนีไปลำปาง พวกเจ้านายฝ่ายปกครองบ้านเมืองก็หนีเอาตัวรอดหลบหนีไปพึ่งนครลำปางกันหมด ทำให้พวกเงี้ยวยึดครองเมืองพะเยาอยู่นาน ความทราบถึงนครลำปางได้ยกกำลังตำรวจทหารจากลำปางมาปราบรบกันอยู่ที่บริเวณบ้านแม่กา เงี้ยวล้มตายเป็นจำนวนมาก เงี้ยวเป็นไทยใหญ่กลุ่มหนึ่งได้ก่อความไม่สงบ ในปี พ.ศ. 2945 โดยพกาหม่อง ได้นำพรรคพวกเงี้ยวประมาณ 30 - 40 คน เข้าปล้นเมืองแพร่ แล้วลุกสามถึงเมืองน่านกับเมืองพะเยาเจ้าเมืองพะเยาได้ไปขอกำลังทหารจากเจ้าผู้ครองนครเมืองลำปางให้มาปราบเงี้ยว สามารถปราบได้ราบคาบหลังจากนั้นก็ได้มีการนำเอาดินจี่ (อิฐ)ตามวัดร้าง ที่มีอยู่รอบเมืองไปก่อกำแพงเมือง (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2447 พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีโทรเลขมาว่า ได้ปรึกษากับเค้าสนามหลวงนครลำปางเห็นพร้อมกันว่า ควรจะยกเลิกกองบริเวณพะเยา ให้คงมีแต่แขวงพะเยา แขวงดอกคำใต้ แขวงแม่ใจ รวม 3 แขวง ขึ้นตรงต่อบริเวณพายัพเหนือ จะเป็นการสะดวกแก่การบังคับบัญชา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา " (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน รศ.124)

พ.ศ. 2448 เมื่อกบฏเงี้ยวสงบลงแล้ว ร.ศ. 124 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยุบเลิกจังหวัดบริเวณพะเยาให้มีฐานะเป็นอำเภอเมืองพะเยา และให้ย้ายหลวงศรีสมัตถการ ข้าหลวงประจำจังหวัดพะเยาไปรับตำแหน่งจังหวัดอื่นต่อไปแล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราชมหาชัย ศีติสาร รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ.2453 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ " (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน รศ.129)

พ.ศ. 2459 รัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองแก้ไขวิธีเดิม ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นลำดับให้รวมมณฑลเข้าเป็นภาค มีอุปราชกำกับราชการให้เปลี่ยนคำว่าเมือง ใช้เรียกว่า จังหวัด ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เมืองเชียงราย จึงเป็นจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองพะเยาขณะนั้น เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459)

ในปีเดียวกันได้เริ่มสร้างถนนจากลำปางเชื่อมต่อไปยังพะเยา-เชียงราย และไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย ทำให้ค้าขายระหว่างเมืองสะดวกมากขึ้น และปริมาณการค้าก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อการเดินทางสะดวกขึ้นทำให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในภาคกลางเริ่มอพยพมาค้าขายในภาคเหนือมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีบทบาททางการค้าแทนกลุ่มพ่อค้าเดิมพวกพม่า เงี้ยว จีนฮ่อ และแขก กลุ่มพวกพ่อค้าชาวพม่าและเงี้ยวในพะเยาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อชาวจีนจากลำปางได้อพยพเข้ามาค้าขายอยู่ในตัวเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน 6ฯ7-1283-2465 วันที่ 7 เมษายน บันทึกไว้ว่า นายใจเป็นกำนันตำบลดงเจน การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2470 ประชากรอพยพมาจากเกาะคาและแม่ทะ จ.ลำปาง ต่อมาได้มีประชาชนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ และประชากรส่วนใหญ่ในขณะนั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

พ.ศ. 2481 อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล ดังต่อไปนี้

รวมหมู่บ้านหมู่ที่ 6,11,12, 15, 16, 17 ตำบลดงเจ็น กับตำบลห้วยลาน แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลห้วยลาน

รวมตำบลร่องจะว้า ตำบลสันช้างหิน ตำบลดอกคำ และหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5, 7, 8, 9, 10, 14, 18 ตำบลดงเจ็น หมู่บ้านที่ 1, 2, 3 ตำบลจำป่าหวาย หมู่บ้านที่ 1, 6 ตำบลแม่ต๋ำ หมู่บ้านที่ 7 ตำบลในเวียง แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลดอกคำใต้ยุบตำบลจำป่าหวาย ตำบลดงเจ็น ตำบลแม่ต๋ำ ตำบลร้องจะว้า ตำบลบ้านใหม่ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านถ้ำ ตำบลบ้านต่อม ตำบลสันช้างหิน ตำบลบ้านสาง ตำบลสันนกกก ตำบลสันป่าม่วง และตำบลบ่อแฮ้ว

ยุบตำบลจำป่าหวาย ตำบลดงเจ็น ตำบลแม่ต๋ำ ตำบลร้องจะว้า ตำบลบ้านใหม่ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านถ้ำ ตำบลบ้านต่อม ตำบลสันช้างหิน ตำบลบ้านสาง ตำบลสันนกกก ตำบลสันป่าม่วง และตำบลบ่อแฮ้ว (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481)

และในปีเดียวกัน เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพะเยา เปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481  (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ. 2483 ตั้งตำบลดงเจนจาก อำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพราะราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือ แยกหมู่บ้านที่ 27 ตำบลบ้านต๊ำ และหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 14 ตำบลห้วยลาน และหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 35 ตำบลดอกคำใต้ แล้วรวมจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ตั้งชื่อว่าตำบลดงเจ็น จัดเป็น 20 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773 - 8 . 12 พฤศจิกายน 2483

และในปีเดียวกัน โรงเรียนบ้านกว้านเดิมตั้งอยู่ที่วัดเชียงหมั้นได้เปิดเรียนครั้งแรกโดยมี นายสงวน ชาวเหนือ เป็นครูใหญ่ นายแก้ว กันทวัง เป็นครูผู้สอนโดยใช้ศาลาวัดเป็นห้องเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้ย้ายมาเปิดทำการสอน ณ สถานที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน โดยมีประชากรหมู่ที่ 9, 10, 11 ต.ดงเจน ช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียนแบบถาวร แบบป.1ขนาด 4 ห้องเรียนเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง

พ.ศ. 2490 ได้เริ่มมีโรงสีข้าวในหมู่บ้าน 2 แห่งคือ บ้านนายฉุก ไชย์วงศ์ทอง และบ้านนายน้อง วงศ์ไชย

พ.ศ. 2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยามาพัฒนาการหลายอย่างเช่น ปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ตำบลต๋อมและ ตำบลใหม่ 28 กิโลเมตร ติดต่อกับอำเภอแม่ใจประชาชนเรียก ถนนสายรอบกว๊าน อีกสายหนึ่งตั้งแต่ประตูชัยไปตำบลดงเจน ผ่านบ้านศาลา บ้านดอกบัว บ้านกว้าน แม่อิง สันป่าพาด ต้นผึ้ง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิง ติดต่อบ้านห้วยดอกเข็ม ตำบลห้วยลาน อำเภอตอกคำใต้ ทำให้ประชาชนชาวบ้านดังกล่าวได้มีถนนหนทางไปมาได้สะดวกขึ้นมากจนถึงทุกวันนี้ (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2504 ได้เริ่มมีการใช้จักรยานยนต์ภายในหมู่บ้านเป็นคันแรก โดยผู้ที่นำมาใช้คนแรก คือ นายสองเมือง แสงหล้า

24 พฤศจิกายน 2504 นายเมืองใจ ชอบจิตต์ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนแรก และได้มีการแยกตำบลดงเจนออกเป็น 2 หมู่บ้าน โดยอาศัยวัดเชียงหมั้นเป็นจุดศูนย์กลางในการแบ่งอาณาเขต ฝั่งทางทิศตะวันออกของวัดเป็นอาณาเขตของหมู่ 11 และ ฝั่งทางทิศตะวันตกของวัตเป็นอาณาเขตของหมู่ 10

พ.ศ. 2505 ได้เปิดบริการสำนักงานผดุงครรภ์ ตำบลดงเจน แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก โดยตั้งอยู่เลขที่ 222 หมู่ 10 ตำบลดงเจน อำเภอเมือง ปัจจุบันเป็นอำเภอเมืองภูกามยาว จังหวัดพะเยา ต่อมา พ.ศ. 2513 เป็นสถานีอนามัยชั้น 2 ตำบลดงเจน และเป็นสถานีอนามัยดงเจน

พ.ศ. 2511 สถานีตำรวจภูธรตำบลดงเจน จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 โดยได้รับการบริจาคที่ดินสำหรับจัดตั้งจากราษฎรบ้านกว้านเหนือ มีเนื้อที่ 8 ไร่ 48 ตารางวา โดยมี จ่าสิบตำรวจธันว์ เหล็กกล้า เป็นหัวหน้าคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2530 สถานีตำรวจภูธรตำบลดงเจน ได้รับการยกฐานะให้มีอำนาจการสอบสวน มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นหัวหน้า คือ พันตำรวจโทสมบูรณ์ เกศสุภะ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 สถานีตำรวจภูธรตำบลดงเจน ได้รับการยกฐานะเป็น สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเกอภูกามยาว จังหวัดพะเยา โดยมี พันตำรวจโทสมาน ไกรพล เป็นรองผู้กำกับการเป็น หัวหน้าสถานีตำรวจคนแรก (pukamyao.phayao.police.go.th/และในปีเดียวกัน วันที่ 16 ธันวาคม 2511 นายวิชัย บัวผิน ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 ได้มีการแยกหมู่ 10 ออกเป็น 2 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 1 และได้เปลี่ยนจากหมู่ 11 เป็นหมู่ 4

16 ตุลาคม 2516 นายสวิง ชาวเหนือ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3

พ.ศ. 2519 สภาตำบลดงเจนได้มอบที่ดินป่าช้าเติมให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนดงเจน (ประชาอุทิศ) ภายหลังเป็นโรงเรียนดงเจนวิทยาคม และได้ขยับป่าช้ามาทางทิศตะวันตกที่ตั้งในปัจจุบัน ในอดีตนิยมฝังศพมากกว่าการเผา เพิ่งมีการเผาเมื่อย้ายมาที่ป่าช้าในปัจจุบัน โดยเป็นที่ใช้ในการฌาปนกิจของชาวบ้านกว้าน บ้านสันป่าสัก มีการสร้างศาลาเพิ่มทีละหลัง มีการปลูกต้นไม้ขึ้นใหม่จำนวนมาก แต่ก่อนมีทางเข้าป่าช้าด้วยกันสองทาง แต่เนื่องจากชาวบ้านเห็นต้องกันว่าเป็นสิ่งที่มีอาถรรพ์หากปล่อยให้มีทางสะดวกเข้าทางหนึ่งออกทางหนึ่ง (ทางเข้าเรียนดงเจนวิทยาคม ทางออกทางปัจจุบันที่ใช้กันอยู่) จึงได้มีการปิดทางทิศใต้คือปิดประตูป่าช้า แต่ทางเส้นนั้นก็ยังใช้สัญจรไปมาอยู่ แต่ก่อนมีที่อาบน้ำศพก่อนเผา มีฐานวางศพไว้หน้าศาลา แต่เนื่องจากสมัยต่อมาไม่นิยมอาบน้ำศพ ไม่นิยมเอาศพวางฐานที่สร้างไว้ ส่วนมากนิยมทำพิธีทั้งที่ศพอยู่บนรถ ต่อมาจึงทำลายที่อาบน้ำศพ และฐานหน้าศาลามีเชิงตะกอน 3 เตาเพื่อรองรับศพที่ตายกันอย่างมากมาย

พ.ศ. 2519 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองและมีการรักษาโดยการใช้สมุนไพร (ยาดำ) ควบคู่ไปด้วย

พ.ศ. 2520 มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย โดยมีหมอเมืองได้นำชาวบ้านแก้ไขปัญหาโดยการพ่นยุงภายในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก ซึ่งในขณะนั้นบ้านกว้านได้แยกหมู่บ้านออกเป็นสองหมู่บ้าน โดยเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านกว้านใต้ และบ้านกว้านเหนือ ปัจจุบันรวมกันมีหมู่บ้านทั้งหมด 6 หมู่บ้าน โดยมีวัดเชียงหมั้นเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และต่อมาเมื่อมีประชากรมากขึ้น จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านชั้นใหม่ เป็นชื่อบ้านกว้าน หมู่ที่ 3 จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2522 ตำบลดงเจนได้แยกหมู่บ้านจำนวน 7 หมู่บ้าน โดยโอนจากหมู่บ้านที่ 15, 19, 20, 16, 1, 2, 3 ตำบลดงเจนตั้งขึ้นเป็นตำบลท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 96 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 142 : 1-17. 16 สิงหาคม 2522)

พ.ศ. 2522 มีการขุดเจาะประปาหมู่บ้านโดยตำแหน่งขุดเจาะที่แรกคือหมู่ 12 และกระจายตำแหน่งขุดเจาะไปตามหมู่ต่าง ๆ

พ.ศ. 2524 มีไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2526 มีโทรทัศน์และตู้เย็นมาใช้ภายในหมู่บ้านเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2527 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินนโยบายการสาธารณสุขมูลฐาน (สสม.) ให้จัดตั้งกลุ่มผสส.(ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข)ประจำโดยกลุ่มแรกมีจำนวน 15 คน ซึ่งมีนายมี ฟักแก้ว เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่และอาศัยอยู่ที่บ้านกว้านหมู่ กลุ่มผสส.ลงพื้นที่สำรวจภายในหมู่บ้านเกี่ยวกับจำนวนครัวเรือนที่มีส้วมใช้ และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างส้วมภายในหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านมีส้วมใช้ ตามเป้าหมายของการสาธารณสุขมูลฐาน (สสม.) 

พ.ศ. 2535 ตำบลดงเจนได้แยกหมู่บ้านจำนวน 6 หมู่บ้าน โดยโอนจากหมู่บ้านที่ 3, 4, 5, 6, 7, 8, ตำบลดงเจน ตั้งขึ้นเป็นตำบลแม่อิง อ.เมือง จ.พะเยา (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา แลพอำเภอดอกคำใต้จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 109 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 151 : 71-79. 27 พฤศจิกายน 2535)

พ.ศ. 2536 มีการพัฒนาถนนดินแดงรอบหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง ถนนหมายเลข 1202 ไปยังอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย และมีการทำถนนข้ามแม่น้ำร่องธงซึ่งไหลผ่านหมู่บ้านตลอดทั้งปี เพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างหมู่บ้านเนื่องจากในอดีตลักษณะการก่สร้างบ้านเรือนค่อนข้างมีอาณาเขตที่ห่างกันในแต่ละหลัง จึงมีการสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และได้สร้างถนน

พ.ศ. 2537 ท่านพระแสลง เตซพโล รองเจ้าอาวาสวัดเชียงหมั้นก็ได้มีจุดประสงค์จะพัฒนาสันกู่ (กรุที่เก็บกระดูกของครูบาเจ้ากว้าน) ให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ท่านจึงได้ปรึกษาศรัทธาญาติโยม เพื่อจะสร้างศาลาที่สันกู่ โดยเดิมทีมีความประสงค์จะสร้างศาลาเป็นที่เก็บของเก่าหรือวัตถุโบราณแต่หลังจากสร้างเสร็จ ท่านพระครูโพธิเขมคุณ เจ้าคณะตำบลดงเจนได้มาพบเข้าและได้หารือกับคณะสงฆ์ตำบลดงเจน ท่าวังทอง แม่อิงเห็นว่าควรให้เป็นศาลาโรงธรรม เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมประจำตำบล มติสงฆ์เป็นต้องกันจึงให้สันกูเป็นสถานปฏิบัติธรรมประจำตำบล ใช้เป็นที่รองรับโครงการปฏิบัติธรรมต่าง ๆ

เริ่มมีการระบาดของโรค AID ในชุมชนบ้านกว้าน ชาวบ้านก็กลัวและวิตกกังวล กลัวติดโรค และถ้าผู้ที่เป็นโรคมีตุ่มโรคเอดส์ชาวบ้านจะรังเกลียดและไม่เข้าใกล้ และพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายติดโรคแล้วตายเป็นจำนวนมาก กลุ่ม ผสส.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเอง การแยกข้าวของเครื่องใช้จากผู้ติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสรวมทั้งสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธุ์กับผู้มีเชื้อ

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เนื่องด้วยท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่ว ๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า ฉะนั้น เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กระทรวงมหาดไทยจึงแบ่งท้องที่ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ 1 แห่ง เรียกว่า “กิ่งอำเภอภูกามยาว” มีเขตการปกครองรวม 3 ตำบล คือ ตำบลห้วยแก้ว ตำบลดงเจน และตำบลแม่อิง อำเภอเมืองพะเยา ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอที่ตำบลห้วยแก้ว ให้อยู่ในเขตการปกครองกับอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไป (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอภูกามยาว (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114 ตอนพิเศษ 51 ง : 14. 25 มิถุนายน 2540)

9 กันยายน 2540 นายเป็ง วงศ์ไซย ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ได้มีการแบ่งเขตการปกครองของหมู่ 3ออกเป็น 2 หมู่ คือหมู่ 3 และหมู่ 12 และได้แบ่งหมู่ ออกเป็น 2 หมู่ ได้แก่ หมู่ 1 กับหมู่ 13

พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ดังต่อไปนี้

กิ่งอำเภอภูกามยาว กำหนดเขตตำบลดงเจน ในท้องที่กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 11 หมู่บ้าน โดยที่ หมู่ 3 ยังคงชื่อ บ้านกว้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 388 - 394. 12 ตุลาคม 2541)

9 กุมภาพันธ์ 2547 นายสุพจน์ วงศ์ไชย ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนที่

พ.ศ. 2550 วันที่ 17 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรตั้งอำเภอเพิ่มขึ้นในท้องที่บางจังหวัด เพื่อประโยชน์แก่การปกครองและความสะดวกของประชาชน ให้ตั้งกิ่งอำเภอ เป็นอำเภอ ยกฐานะจากกิ่งอำเภอภูกามยาว อำเภอเมืองพะเยา เป็น อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา (พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอฆ้องชัย ...อำเภอภูกามยาว อำเภอภูซาง.... (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 46 ก : 14-21. 24 สิงหาคม 2550)

13 มีนาคม 2552 นายสุพัฒน์ วงศ์ชัย ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6

พ.ศ. 2554 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กศน.ให้ก่อสร้างอาคารเรียน กศน. ตำบลขึ้น ซึ่งตำบลดงเจนตั้งอยู่เลขที่ 203 บ้านกว้านใต้หมู่ที่ 3 ตำบลดงเจน อ.ภูกามยาว จ.พะเยา และเริ่มมีการสร้างถนนคอนกรีตตัดผ่านภายในหมู่บ้านและมีการสร้างท่อระบายน้ำ ภายในหมู่บ้าน

ปีการศึกษา 2560 มีโรงเรียนบ้านร้องและโรงเรียนสันป่างิ้วยุบรวมมาเรียนมีเขตบริการ 5 หมู่บ้านดังนี้ หมู่ที่ 1 บ้านกว้านกลาง หมู่ที่ 3 บ้านกว้านใต้ หมู่ที่ 9 บ้านสันป้ากอก หมู่ที่ 12 บ้านสันกลาง หมู่ที่ 13 บ้านกว้านสันติสุข

พ.ศ. 2562 มีการแพร่ระบาดของโรค Covid 19 ทำให้หมู่บ้านมีมาตรการในการป้องกันโดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือและถ้าไม่จำเป็นจะไม่ออกไปต่างจังหวัด ส่วนคนที่กลับจากต่างจังหวัดต้องมีการกักตัว 14 วัน ชาวบ้านจะต้องพึ่งพาตนเองและแบ่งปันเพื่อนบ้านในเรื่องของผักหรืออาหารที่มีในชุมซน เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน

พ.ศ. 2563 เดือนพฤศจิกายน มีการแพร่ระบาดของโรค Covid 19 รอบที่ 2 ทำให้หมู่บ้านมีมาตรการในการป้องกันโดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือและถ้าไม่จำเป็นจะไม่ออกไปต่างจังหวัด ส่วนคนที่กลับจากต่างจังหวัดต้องมีการกักตัว 14 วัน ชาวบ้านจะต้องพึ่งพาตนเองและแบ่งปันเพื่อนบ้านในเรื่องของผักหรืออาหารที่มีในชุมชน เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านพันวิกฤตีในครั้งนี้ไปด้วยกัน

บ้านกว้านเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม สภาพบ้านเรือนจะเป็นบ้านปูนชั้นเดียวและบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง การตั้งบ้านเรือนเป็นลักษณะเครือญาติ มีการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองในบ้าน ชาวบ้านมักใช้รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานยนต์พ่วงท้ายเป็นพาหนะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ทำสวน สภาพความเป็นอยู่ของประชากรมีฐานะปานกลางมีรายได้หลักจากการทำเกษตรกรรม คือ การทำนา ประชากรในหมู่บ้านมีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสมัครสมานสามัคคีกัน มีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำเหมืองร่องธง และลำน้ำอิงไหลผ่านตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับการทำนาทำสวน และการทำเกษตรกรรม มีการปลูกพืชหลักคือ ข้าวเหนียวและข้าวจ้าว บ้านกว้านเป็นแหล่งชุมซนอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งทำประมง ในแม่น้ำอิง  

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว จ.พะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว จ.พะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว จ.พะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 12 ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว จ.พะเยา

จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2563 ประชากรในบ้านกว้าน หมู่ที่ 3 มีจำนวนทั้งสิ้น 644 คน เพศชาย 285 คน เพศหญิง 359 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 195 ครัวเรือน เป็นบ้านที่มีผู้อยู่อาศัยจริง 165 หลังคาเรือน พูดภาษาถิ่นในการติดติดต่อสื่อสาร การตั้งบ้านเรือนเป็นลักษณะเครือญาติ มีการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองใน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ทำสวน สภาพความเป็นอยู่ของประชากรมีฐานะปานกลางมีรายได้หลักจากการทำเกษตรกรรมคือการทำนา

ประชาชนในหมู่บ้านกว้าน หมูที่ 3 ผู้ใหญ่บ้านคือนายสุพัฒน์ วงศ์ชัย ผู้ใหญ่บ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ประกอบด้วยนายสิงห์ วงศ์ไชยและ นายกองจันทร์ คำเชื้อ มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) มีนางดวงใจ พันธ์เรือง เป็นประธาน มี อสม.รวมประธานทั้งสิ้น 28 คน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ มีนางอนงค์ บุญตัน เป็นประธาน มีสมาชิก 122 คน
  • กลุ่มอาชีพเย็บพรหมเช็ดเท้า มีนางดวงทิพย์ ชาวเหนือ เป็นประธาน
  • กลุ่มทำขนมกาละแม มีนางเนียม วงศ์ไชย เป็นประธาน 

อาชีพหลัก : เกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา

อาชีพเสริม : รับจ้างทั่วไป และค้าขาย

รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกกะหล่ำปลี ผักกาด ค้าขาย และรายได้จากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน เช่น เย็บพรมเช็ดเท้า ทำขนมกาละแม เป็นต้น

รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าอุปโภคบริโภค ค่าสารเคมีทางการเกษตร ค่าหวย ค่าปุ๋ย ค่าบุหรี่-สุรา

หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากกองทุนเงินล้าน

เงินทุน : กองทุนเงินล้านในหมู่บ้าน, ออมทรัพย์

1.พ่อยงค์ ตันกูล อายุ 70 ปี เชี่ยวชาญจักสานข้อง

2.ตาจันทร์ เดชบุญ ม.3 ต.ดงเจน อ.ภูกามยาว จ.พะเยา เชี่ยวชาญสานข้องไม้ไผ่ฝีมือประณีตสวยงาม

3.ยายแก้ว ปวงงาม ผู้สูงอายุบ้านกว้านหมู่ที่ เชี่ยวชาญงานฝีมือ สานสวิง คุณภาพดี ราคาถูก 

4.พ่อเปลี่ยน ชอบจิต ผู้สูงอายุ ม.3 ต.ดงเจน อ.ภูกามยาว จ.พะเยา เชี่ยวชาญการทำด้ามมีด ด้ามเคียว ด้ามจอบ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาล้านนา ภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 : 493. 5 มีนาคม ร.ศ.114

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม ร.ศ.120

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน รศ.124

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ.129

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481

พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773-8 . 12 พฤศจิกายน 2483

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ.2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 96 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 142 : 1-17. 16 สิงหาคม 2522

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา แลพอำเภอดอกคำใต้จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 109 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 151 : 71-79. 27 พฤศจิกายน 2535

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอภูกามยาว (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114 ตอนพิเศษ 51 ง : 14. 25 มิถุนายน 2540

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 388 - 394. 12 ตุลาคม 2541

พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอฆ้องชัย ...อำเภอภูกามยาว อำเภอภูซาง.... (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 46 ก : 14-21. 24 สิงหาคม 2550

พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน

วิกิพีเดีย. (ม.ป.ป.). มณฑลพายัพ. https://th.wikipedia.org/wiki

วิกิพีเดีย. (ม.ป.ป.). มณฑลเทศาภิบาล. https://th.wikipedia.org/wiki