ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ในจังหวัดสงขลาบนพื้นที่สำคัญกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และพัฒนาการทางสังคม
ชื่อชุมชนมีที่มาจากตำหนักของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่แห่งเมืองสงขลาที่มีสีเขียวและสีขาว พื้นที่ชุมชนโดยรอบจึงถูกเรียกว่า "ชุมชนวังเขียว-วังขาว"
ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ในจังหวัดสงขลาบนพื้นที่สำคัญกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และพัฒนาการทางสังคม
ก่อนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองใน พ.ศ. 2475 สมัยนั้นพื้นที่การปกครองแบ่งเป็นมณฑล การปกครองภาคใต้ขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช พื้นที่จังหวัดสงขลาเป็นที่ตั้งที่ทำการของอุปราชปักษ์ใต้ ณ ตำหนักเขาน้อย โดยมีเจ้าฟ้าทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นองค์อุปราช และในเวลานั้นมีเจ้านายหลายพระองค์ หม่อมเจ้าอมรสมาน สามัคคี กิติยากร ทรงประทับอยู่ด้วย โดยท่านได้สร้างตำหนักเป็นอาคารไม้สีขาวสองชั้น ชาวบ้านทั่วไปเรียกตำหนักนี้ว่า "วังขาว" ตามสีของอาคาร และได้ทรงสร้างถนนหน้าวัง เรียก "ถนนอมรนิวาส" ซึ่งต่อมาในปัจจุบันกลายเป็นถนนสาธารณะและขยายพื้นที่ถนนให้มีขนาดยาวขึ้นแต่ยังคงใช้ชื่ออมรนิวาสไว้อย่างเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ทางเทศบาลนครสงขลาได้ประกาศจัดตั้งชุมชนขึ้นใหม่ ชุมชนในพื้นที่นี้เป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้ประกาศจัดตั้งจากทางเทศบาลโดยใช้ชื่อชุมชนว่า "ชุมชนวังเขียว-วังขาว" ตามชื่อที่คนทั่วไปเรียกพื้นที่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่อดีต
ชุมชนวังเขียว-วังขาว ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ลักษณะชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบมีการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น เป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มีพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 167,348.80 ตารางเมตร สภาพภูมิประเทศมีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น มีลมทะเลพัดเข้าฝั่งตลอดทั้งปี เนื่องจากอยู่ใกล้กับพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลา มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูร้อนอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม ฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนมกราคม ชุมชนวังเขียว-วังขาว มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนอมรนิวาส 2/ถนนริมทางรถไฟ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนไทรบุรี ซอย 14
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ กำแพงทหารเรือ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนอมรนิวาส/ถนนริมทางรถไฟ
ชุมชนวังเขียว-วังขาว ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก และมีการตั้งบ้านเรือนอนู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น โดยมีจำนวนครัวเรือนในพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 691 ครัวเรือน มีประชากรชาย จำนวน 701 คน ประชากรหญิง 843 คน รวมมีจำนวนประชากรในชุมชนทั้งสิ้น 1,544 คน
ชุมชนวังเขียว-วังขาว ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลนครสงขลา โดยมีประธานชุมชนเป็นผู้นำชุมชน ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนประกอบอาชีพรับราชการเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ พนักงานทั่วไป และอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย นอกจากนี้ประชากรในชุมชนบางส่วนยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยชุมชนวังเขียว-วังขาวมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 232,847 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 99,684 บาท/ปี ทั้งยังมีการรวมตัวกันของสมาชิกในชุมชนเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่
- กลุ่มผ้าบาติก
- กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ
- กลุ่มชมรมฟุตบอลสัมพันธ์
ชุมชนวังเขียว-วังขาว ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีวิถีวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และการจัดกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในชุมชนตามวันสำคัญต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเทศกาล เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีชักพระ ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ ฯลฯ
1.นายทิ่น ถาวรวิสิทธิ์ ปราชญ์ชุมชนด้านการแพทย์แผนไทย/ยาสมุนไพร
2.นายมงคล รัตนพันธ์ ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น (หนังตะลุง)
3.นายแคล้ม แชนมณี ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ
4.นายสมาร์ท อร่ามวงศ์ ผู้มีความรู้ความสามารถด้านทักษะการกีฬา กีฬาพื้นบ้าน
แหล่งทุนเศรษฐกิจสนับสนุนชุมชน
- กองทุนหมู่บ้าน ชุมชนวังเขียว-วังขาว มีงบประมาณ 1,500,000 บาท
สถานที่สำคัญภายในชุมชน
- ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช. วังเขียว-วังขาว)
- ศูนย์บริการสาธารณสุขเตาหลวง
- ตลาดหลาลุงแสง
พระตำหนักเขาน้อย
พระตำหนักเขาน้อยตั้งอยู่ที่บริเวณเชิงเขาน้อยด้านทิศใต้ด้านหน้าติดกับถนนสะเดา ในเขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งเสด็จมาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2453-2458) และอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ (พ.ศ. 2458-2468) รวมระยะเวลาที่พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองสงขลา 15 ปี พระตำหนักนี้สร้างขึ้นเมื่อปีกุน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2454 สร้างโดยสถาปนิกชาวอิตาลี ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นอาคารทรงยุโรป 3 ชั้น ก่ออิฐถือปูนโครงหลังคาเป็นไม้ ใช้เวลาก่อสร้าง 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ โดยใช้เงินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ในการก่อสร้างประมาณ 4,000 บาท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสด็จประทับ ณ พระตำหนักเขาน้อย จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และได้มอบพระตำหนักเขาน้อยให้เป็นสมบัติของทางราชการ อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของจังหวัดสงขลา พระตำหนักเขาน้อยเคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2458 และ พ.ศ. 2460 กระทั่งต่อมาใน พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักเขาน้อย คราวเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวภาคใต้ใน พ.ศ. 2507 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระตำหนักเขาน้อย ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 111 ตอนที่ 20 ง วันที่ 10 มีนาคม 2537 หน้า 21 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 12 ไร่ 2 งาน 99.6 ตารางวา ทางจังหวัดสงขลาได้ปรับปรุงบูรณะพระตำหนักเขาน้อยให้เป็นจวนที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เทศบาลนครสงขลา. แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนวังเขียว-วังขาว เทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). พระตำหนักเขาน้อย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://culturalenvi.onep.go.th/