Advance search

ท่าเรือโบราณน้ำใส เลื่องลือไกลดอยหลวง บวงสรวงพระธาตุดอยโตน ประชาชนเก่งกสิกรรม งามเลิศล้ำธรรมาสน์โบราณ งามจักสานไม้ไผ่เลื่องขื้อ

หมู่ที่ 2
บ้านตุ่นกลาง
บ้านตุ่น
เมืองพะเยา
พะเยา
พิมพ์ชนก พงศ์พิมล
25 ก.พ. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 มี.ค. 2024
บ้านตุ่นกลาง

ตำนานสามกษัตริย์ พระร่วงเจ้า พญามังราย และพญางำเมือง เมื่อพระร่วงได้โอกาสพยายามจะลักลอบเป็นชู้กับพระนางอั้วเชียงแสน พญางำเมืองจึงได้ให้เสนาอำมาตย์หาเสียมมาขุดไล่ตามตุ่น ที่พระร่วงแปลงกายเป็นตัวตุ่น เกือบจะถึงตัวตุ่นแต่ไม่ทัน พญางำเมืองจึงเนรมิตแปลงกายเป็นก้อนหินไปปิดข้างทางข้ามดอยหลวง ตุ่นจึงมุดหนีไปไม่ได้ พญางำเมืองจึงจับตัวตุ่นได้ที่นั่น บริเวณนั่นจึงได้ชื่อว่า "บ้านตุ่นร่องรอยที่ตุ่นหนีไปในการตามล่าของพญางำเมือง เรียกว่า ห้วยแม่ตุ่น ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านตุ่น ตามชื่อของลำห้วยแม่ตุ่น สำหรับบ้านตุ่นกลาง คำว่า "กลาง” หมายถึง พื้นที่ตั้งของหมู่บ้านที่อยู่ตรงกลางของชุมชน


ท่าเรือโบราณน้ำใส เลื่องลือไกลดอยหลวง บวงสรวงพระธาตุดอยโตน ประชาชนเก่งกสิกรรม งามเลิศล้ำธรรมาสน์โบราณ งามจักสานไม้ไผ่เลื่องขื้อ

บ้านตุ่นกลาง
หมู่ที่ 2
บ้านตุ่น
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.14673538
99.8357825
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่น

จากเอกสารความเป็นมาของหมู่บ้านและการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน (นายหน่อม เครือสาร อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา) ได้เล่าว่า ในสมัยหนึ่งนานมาแล้ว พระยาเจ้าเมืองตู้ปกครองเมืองพะเยา สหายกับพระยาเจ้าเมืองแก้วซึ่งปกครองเมืองเชียงใหม่ พระยาเจ้าเมืองแก้วได้ทราบว่าภรรยาของพระยาเจ้าเมืองตู้มีรูปร่างสวยงาม คำพูดไพเราะ กริยาอ่อนโยน น่ารัก หาใครจะเปรียบปานไม่ได้ จึงอยากจะเป็นชู้กับภรรยาของสหาย อยู่มาวันหนึ่งพระยาเจ้าเมืองมีธุระไปราชการในหัวเมืองใหญ่ 7 วัน พระยาเจ้าเมืองแก้วได้โอกาสพยายามจะลักลอบเป็นชู้กับภรรยาของสหายจึงได้เนรมิตแปลงกายเหมือนพระยาเจ้าเมืองตู้และได้ลักลอบไปหาภรรยาของสหาย ภรรยาของพระยาเจ้าเมืองตู้เข้าใจผิดคิดว่าพระยาเจ้าเมืองตู้กลับมาจึงต้อนรับตามปกติ เมื่อเวลาผ่านไป 4 วันพระยาเจ้าเมืองแก้วได้ข่าวว่าพระยาเจ้าเมืองตู้ ผู้เป็นสหายจะกลับมาจึงบอกภรรยาของพระยาเจ้าเมืองตู้ว่าตนจะไปราชการเมืองเชียงใหม่ เมื่อครบเวลา 7 วัน พระยาเจ้าเมืองตู้ก็กลับมาจากราชการ ภรรยาของพระยาเจ้าเมืองตู้นึกสงสัยและแปลกใจแต่ก็ออกไปต้อนรับพระยาเจ้าเมืองและโต้ตอบสนทนาปราศรัยกันในเรื่องไปธุระราชการที่เชียงใหม่ว่ามีเรื่องราชการอย่างไรบ้าง พระยาเจ้าเมืองตู้นึกสะดุดใจเพราะตนไปราชการในหัวเมืองใหญ่ไม่ได้ราชการที่เมืองเชียงใหม่ และนึกสงสัยว่าพระยาเจ้าเมืองแก้วผู้เป็นสหายต้องแปลงกายเหมือนตนเพื่อเป็นชู้กับภรรยาของตน จึงเกิดความโมโหขึ้นอย่างรุนแรงและได้ส่งหนังสือไปเรียกตัวพระยาเจ้าเมืองแก้วมาพบโดยด่วนที่สุด เมื่อพระยาเจ้าเมืองแก้วได้รับสารก็ไม่ทันรู้ตัวคิดว่าพระยาเจ้าเมืองตู้ ผู้เป็นสหายมีเหตุการณ์เมืองด่วน พระยาเจ้าเมืองแก้วจึงได้มาเที่ยวหาพระยาเจ้าเมืองตู้ พระยาเจ้าเมืองตู้คิดจะจับตัวพระยาเจ้าเมืองแก้วผู้เป็นสหายของตนไปประหารชีวิตแต่เมื่อพูดปราศรัยกันไปมาพระยาเจ้าเมืองแก้วก็ได้ทราบเรื่องราวและรู้ตัวว่าตนทำให้สหายพระยาเจ้าเมืองตู้โกรธแค้นมากและจะประหารชีวิตตน พระยาเจ้าเมืองแก้วจึงได้เนรมิตแปลงกายเป็นกาดำบินหายไป ในขณะนั้นพระยาเจ้าเมืองรู้ทันเหตุการณ์แล้วจึงเนรมิตแปลงการเป็นเหยี่ยวไล่ตามไปถึงทุ่งก๋าใจแต่ไม่ทันกาดำ พระยาเจ้าเมืองแก้วบินไปถึงทุ่งกำใจแต่ไม่ทัน พระยาเจ้าเมืองแก้วและรู้ตัวว่าคนบินหนีจะไม่รอดพ้นจากอันตรายและเหยี่ยวกำลังจะมาทันตนจึงได้บินลงมาสู่พื้นดินและเนรมิตแปลงกายใหม่เป็นวัวกระทิง วิ่งไปตามป่าละเมาะ พระยาเจ้าเมืองตู้ได้เนรมิตแปลงกายเป็นพรานถือธนูวิ่งไล่วัวกระทิงเลยไปจนถึงบ้านแม่ใส จึงได้เรียกว่า "แม่ใสทุ่งวัวแดง" ถึงปัจจุบันนี้ เมื่อพระยาเจ้าเมืองแก้วเนรมิตแปลงกายเป็นกระทิงแดงและเห็นท่าทีว่าจะไม่พ้นอันตราย กลัวพรานจะวิ่งไล่ทันจึงได้เนรมิตแปลงกายเป็นตัวตุ่นมุดไปตามพื้นดินจึงได้กลายเป็นแม่น้ำตุ่น เรียกว่า “น้ำแม่ตุ่น” จนถึงปัจจุบันนี้ พระยาเจ้าเมืองแก้วจึงให้เสนาอำมาตย์หาเสียมมาขุดไล่ตามตุ๋น เกือบจะถึงตัวตุ่นแต่ไม่ทัน พระยาเจ้าเมืองตู้จึงเนรมิตแปลงกายเป็นก้อนหินไปปิดข้างทางข้ามดอยหลวง ตุ่นจึงมุดดินหนีไปไม่ได้ พระยาเจ้าเมืองตู้จึงจับตัวตุ่นได้ที่นั้น จึงได้ชื่อว่า “บ้านตุ่น” จนถึงปัจจุบันนี้

เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังกราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วย แว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า “เวียง” ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนา โดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝายเดียวกัน โดยที่พันนาจัน คือบริเวณตำบลบ้านงิ้ว บ้านสาง บ้านตุ่น บ้านเลิง บ้านสานหลวง และ บ้านสันดอนมูล

ในยุคนั้นหลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้ การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลดฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 พญากาวิละปกครองบ้านเมืองโดยมีการกู้ล้านนาจากพม่า เนื่องจากมีการรบกบฏจากพม่าล้านนาตะวันออกจึงมีการขอให้คนลำปางมาช่วยรบและหลังจากนั้นก็มีการไปหาสู่กันของคนลำปางกับคนบ้านตุ่น ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านตุ่นนั้นเข้าใจว่าได้อพยพจากจังหวัดลำปางและมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านตุ่นกลาง โดยมีวัดตุ่นกลางเป็นวัดแห่งแรกของตำบลบ้านตุ่น ต่อมาเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงได้ตั้งบ้านเรือนลงมาข้างล่างของหมู่บ้านและได้แยกจากบ้านตุ่นกลางหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ออกมาเป็นบ้านตุ่นใต้ หมู่ที่ 1 และได้สร้างวัดตุ่นใต้ขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2400-2420

พ.ศ. 2305 สร้างวัดตุ่นกลาง เดิมชาวบ้านเรียกว่าวัดศรีคุมเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489

พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จจึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมืองพะเยายังขึ้นกับเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคนในตระกูลมาปกครอง โดยต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีได้มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยาจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ โดยมีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองเชียงใหม่

พ.ศ. 2330 เจ้าเมืองอังวะสั่งให้หวุ่นยี่มหาไชยสุระ ยกทัพมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ผ่านฝาง เชียงราย เชียงแสน และพะเยาด้วย ผู้คนกลัวแตกตื่น อพยพไปอยู่ลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไปเป็นเวลาถึง 56 ปี จนถึง พ.ศ. 2386

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก เจ้าหลวงวงศ์ ราชโอรสองค์ที่ 5 ในพระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4 เป็นผู้นำชาวเมืองพะเยาที่อพยพไปเมืองลำปางเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ พ.ศ. 2330 (ร.ศ. 6) เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พาลูกหลาน จากเมืองลำปางกลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ โดยมาพักเพื่อเตรียมการเป็นเวลาถึง 1 ปี ณ บ้านสันเวียงใหม่ ที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านตุ่นกลางปัจจุบัน แล้วข้ามฟากเข้าไปบุกเบิกแผ้วถางตัวเมืองพะเยาเก่า ก่อนที่จะอพยพเข้าไปบูรณะฟื้นฟูเป็นเมืองใหม่อีกครั้งหนึ่ง (บันทึกของพ่อเจ้าหนานเลาแก้ว ศีติสาร จากการรวบรวมเรียบเรียงของพระธรรมวิมลโมลี (ปวง ธมมปญโญ) ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพวิสุทธิเวที )

พ.ศ. 2389 นายถา อพยพจากสงคราม มาจากเมืองแพร่มาได้ภรรยาอยู่บ้านตุ่นและหลังการมี พ.ร.บ.นามสกุล ได้ใช้นามสกุล ซึ่งเป็นนามสกุลของภรรยาคือ “เสธา” มีบุตรด้วยกัน 9 คน เดิมนายถาเคยเป็นทหารเก่า ได้มาอาศัยอยู่บ้านตุ่น ก็ได้มาเป็นหมอเมือง หรือเรียกว่า “หมอชาวบ้าน” โดยรักษาผู้ป่วยในหมู่บ้านและยังเป็นหมอตำแยทำคลอดคนในหมู่บ้าน

โดยในสมัยแต่ก่อนหมอตำแยจะนำเอาน้ำมะพร้าวมานวดที่ท้อง เพื่อให้ถุงน้ำคร่ำแตก หากแม่มีเชิงกรานที่เล็ก จะต้องดื่มน้ำอุ่นกับใบมะนาวเพื่อให้คลอดง่ายขึ้นและให้มีแรงเบ่งคลอด และจะมีการใช้เชือกและผ้ามัดขื่อไว้ให้แม่โหนหรือเหนี่ยวรั้งขณะเบ่งคลอด จะมีไม้ไว้เหยียบไว้ด้วยการคลอดแบบหมอตำแยจะไม่มีการตัดฝีเย็บ ปล่อยให้ฝีเย็บฉีกขาดตามธรรมชาติ บางทีอาจใช้เกลือสะอาดที่มีแง่คม เอามากรีดฝีเย็บช่วงที่ศีรษะเด็กโผล่ โดยจะไม่มีการเย็บซ่อมแซมฝีเย็บ ปล่อยให้หายเอง แผลที่เกิดขึ้นจะทำความสะอาดโดยใช้เหล้าล้าง แล้วตำไพลกับเกลือพอกแผล และมีการใช้เปลือกไม้ไผ่ในการตัดสายสะดือ แล้วเตรียมน้ำอุ่นไว้อาบน้ำทารกหลังคลอด

จากหลักฐานที่บันทึกไว้ที่บ้านนายวันชัย ไชยวงศ์ อดีตกำนันตำบลบ้านตุ่น (พ.ศ. 2543-2565) ตำบลบ้านตุ่นตั้งขึ้นเมื่อใดไม่แน่ชัด มีพญาปิงปราศรี เป็นผู้นำตำบลคนแรก (กำนัน) ตั้งแต่ ประมาณ พ.ศ. 2420-2440 เมื่อเทียบกับยุครัตนโกสินทร์ ตรงกับ ร.ศ. 96-116 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในขณะนั้นเมืองพะเยายังอยู่ใต้การปกครองของนครลำปาง มณฑลลาวเฉียง ยังเป็นเมืองประเทศราช ภายใต้การปกครองของรัฐบาลสยาม

พ.ศ. 2417 (ร.ศ. 93) เมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง มณฑลลาวเฉียง ที่ยังเป็นเมืองประเทศราชของสยาม มีเมืองในมณฑล ประกอบด้วย นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน แพร่ เถิน

ประมาณ ปี พ.ศ. 2400-2420 พร้อมกับได้มีการจัดตั้ง หมู่บ้านขึ้นและมีแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) คนแรกคือ ท้าวสาร หลังการมี พ.ร.บ.นามสกุล ได้ใช้นามสกุล คือ “คำโล” และมีแคว่น (กำนัน) คนแรกของบ้านตุ่น ชื่อ ท้าวจันทร์ เสมอใจ แต่ในบันทึกของกำนันวันชัย ไชยวงศ์ มีบันทึกตั้งแต่ พ.ศ. 2420-2440 มีพญาปิงปราศรีเป็นแคว่นคนแรก ต่อมาชาวบ้านได้อพยพมาอาศัยบริเวณนี้มากขึ้น จึงได้แยกหมู่บ้านออกมาเป็นบ้านตุ่นใต้และบ้านตุ่นกลาง

พ.ศ. 2429 (ร.ศ. 105 ) กรมมหาดไทยนำเจ้าราชภาคินัยเมืองนครลำปาง พระยาราชวงศ์เมืองพะเยา ท้าวพระยา 3 นาย พระคลังทิพจักร รวม 10 นาย ซึ่งเจ้าเมืองทั้ง 5 เมืองนำสิ่งของลงมาสมโภช ในการพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย เข้าเฝ้าฝ่าละอองพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จออกแขกเมือง. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม4 : ตอน 9 หน้า 68. 3 พฤษภาคม ร.ศ. 105)

พ.ศ. 2430 (ร.ศ. 106) ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านตุ่นกลาง คือ ท้าวอินทร์ ได้รับนามสกุลภายหลังมี พ.ร.บ.นามสกุลคือ “เสมอใจ” ท้าวอินทร์ปกครองบ้านตุ่นกลางจนถึง พ.ศ. 2461 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6)

พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เมื่อทรงปฏิรูปการปกครองประเทศ พ.ศ. 2435 ได้มีการยกเลิกหัวเมืองประเทศราชของสยาม (โดม ไกรปกรณ์, หัวเมืองประเทศราช ) โดยที่สยามนำเอาระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมาใช้ส่งผลให้หัวเมืองประเทศราชบางส่วนคือล้านนาถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ ในขณะนั้นเมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง

พ.ศ. 2436 เจ้าหลวงมหาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหลวงมหาชัย ศีติสาร) เป็นเจ้าครองเมืองพะเยา ช่วง พ.ศ. 2436-2448 (ร.ศ. 112-124) ระยะที่เจ้าหลวงมหาประเทศอุดรทิศ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา เมืองพะเยาในสมัยนั้นมีฐานะเป็นจังหวัด เจ้าหลวงอุดรประเทศทิศ (ไชยวงศ์) เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531, หน้า 26-27)

พ.ศ. 2437 ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่ตั้งขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยการปกครองแบบ “เทศาภิบาล” หรือ “มณฑลเทศาภิบาล” จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) โดยเนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับนี้คือให้รวมหัวเมืองทั้งหมดมาไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย การวางรากฐานการปกครองแบบ “มณฑล” เริ่มขึ้นในปี 2417 เมืองพะเยา เมืองเชียงราย จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง (มณฑลพายัพ, มณฑลเทศาภิบาล)

พ.ศ. 2438 พระยาราชวรานุกูล กระทรวงมหาดไทย นำเจ้าอุปราชเจ้าราชภาติกวงษ์ เจ้าสุริยวงษ์เมืองนครลำปาง กับพระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อรายงานตัวไปรักษาราชการบ้านเมือง (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 : 493. 5 มีนาคม ร.ศ. 114)

พ.ศ. 2447 พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีโทรเลขมาว่า ได้ปรึกษากับเค้าสนามหลวงนครลำปางเห็นพร้อมกันว่า ควรจะยกเลิกกองบริเวณพะเยา ให้คงมีแต่แขวงพะเยา แขวงดอกคำใต้ แขวงแม่ใจ รวม 3 แขวง ขึ้นตรงต่อบริเวณพายัพเหนือ จะเป็นการสะดวกแก่การบังคับบัญชา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 124)

พ.ศ. 2448 เมื่อกบฏเงี้ยวสงบลงแล้ว ร.ศ. 124 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยุบเลิกจังหวัดบริเวณพะเยาให้มีฐานะเป็นอำเภอเมืองพะเยา และให้ย้าย หลวงศรีสมัตถการ ข้าหลวงประจำจังหวัดพะเยาไปรับตำแหน่งจังหวัดอื่นต่อไปแล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราชมหาชัย ศีติสาร รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2450 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าวิธีการปกครองให้จัดลงเป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ชื่อตำแหน่งยังเรียกผิดกันในบางมณฑล การที่ใช้คำเรียกผิดกันนั้นเป็นที่ลำบากแก่กฎหมายและหนังสือราชการ เพราะต้องแยกตามท้องที่ ๆ ใช้คำต่างกัน ควรเรียกชื่อตำแหน่งให้เหมือนกัน คือ มณฑลพายัพ ตำแหน่งนายอำเภอซึ่งเรียกนายแขวงนั้นต่อไปให้เรียกว่า "นายอำเภอ" และแขวงต่อไปให้เรียกว่า "อำเภอ" ตำแหน่งกำนันซึ่งเรียกว่า "นายแคว้น" ต่อไปให้เรียกว่า "กำนัน" แคว้นให้เรียกว่า "ตำบล" ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านซึ่งเรียกว่า "แก่บ้าน" ต่อไปให้เรียกว่า "ผู้ใหญ่บ้าน" (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วิธีการปกครองให้จัดเป็นแบบเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 : 1156. 26 มกราคม ร.ศ. 126)

พ.ศ. 2453 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่า จังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า เมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ. 129)

พ.ศ. 2457 ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนเสนาบดี ส่วนจังหวัดให้คงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดไว้ตามเดิน แต่ให้กระจายอำนาจการปกครองส่วนย่อย ๆ ออกไปเป็นตำบลหมู่บ้าน ตำแหน่งหัวหน้าตำบล เรียกว่า "เจ้าแคว่น" "แคว่น" (กำนัน) ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า "แก่บ้าน" (ผู้ใหญ่บ้าน) ที่นิยมเรียกกันว่า "พ่อหลวง" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงแต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาและได้รับแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์เป็นรองอามาตย์โทยุนสิทธิประศาสน์ เป็นนายอำเภอคนแรกมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์จัดการศึกษา การอาชีพและบำรุงพุทธศาสนา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) ขณะนั้นอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย มี 21 ตำบล โดยประกอบไปด้วย ตำบลเวียง ตำบลแม่ต๊ำ ตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านตุ่น ตำบลสาง ตำบลสันป่าม่วง ตำบลต๋อม ตำบลต๊ำ ตำบลสันกกก ตำบลแม่ปืม ตำบลจำป่าหวาย ตำบลใหม่ ตำบลน้ำย้อยหอยโข่ง ตำบลดงเจน ตำบลห้วยลาน ตำบลร่องจว่า ตำบลช้างหิน ตำบลถ้ำ ตำบลปิน (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2459 รัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองแก้ไขวิธีเดิม ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นลำดับให้รวมมณฑลเข้าเป็นภาค มีอุปราชกำกับราชการให้เปลี่ยนคำว่าเมือง ใช้เรียกว่า จังหวัด ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เมืองเชียงราย จึงเป็นจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองพะเยาขณะนั้น เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459)

ในปีเดียวกันได้เริ่มสร้างถนนจากลำปางเชื่อมต่อไปยังพะเยา-เชียงราย และไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย ทำให้ค้าขายระหว่างเมืองสะดวกมากขึ้น และปริมาณการค้าก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อการเดินทางสะดวกขึ้นทำให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในภาคกลางเริ่มอพยพมาค้าขายในภาคเหนือมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีบทบาททางการค้าแทนกลุ่มพ่อค้าเดิมพวกพม่า เงี้ยว จีนฮ่อ และแขก กลุ่มพวกพ่อค้าชาวพม่าและเงี้ยวในพะเยาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อชาวจีนจากลำปางได้อพยพเข้ามาค้าขายอยู่ในตัวเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน 6ฯ7-1283-2465 วันที่ 7 เมษายน การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล บันทึกไว้ว่า นายแก้ว ใจเย็น กำนันตำบลตุ่น มีหมู่บ้านตุ่นกลาง บ้านตุ่นใต้ บ้านบัว บ้านห้วยหม้อ บ้านห้วยลึก บ้านสันป่าแผก (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ตรงกับเอกสารที่พบจากนายวันชัย ไชยวงศ์ อดีตกำนันบ้านตุ่น คือ พ่อขุนพนิตย์ ซื่อสัตย์ เป็นกำนันบ้านตุ่นในห้วงเวลา พ.ศ. 2458-2478 มีนายปวน งานดี เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านตุ่นกลาง ในห้วงเวลา พ.ศ. 2461-2476

พ.ศ. 2476 นายจันทร์ มูลเงิน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ของบ้านตุ่นกลางหมู่ 2 (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2476-2480)

พ.ศ. 2480 นายติ๊บ แก้วก้อน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ของบ้านตุ่นกลางหมู่ 2 (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2480-2484)

พ.ศ. 2481 อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือ รวมตำบลบ้านสาง ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลสันป่าม่วง ตำบลบ้านตุ่น แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลบ้านตุ่น (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481)

และในปีเดียวกัน เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพะเยา เปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ. 2483 แยกหมู่บ้านบางส่วนของตำบลบ้านตุ่น และตำบลบ้านต๊ำ ไปตั้งเป็นตำบลบ้านต๋อม อำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6 , 29 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือ แยกหมู่บ้านที่ 20, 21, 22, 23, 24, 25 ตำบลบ้านตุ่น และหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10 ตำบลบ้านต๊ำ ไปรวมจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ตั้งชื่อว่าตำบลบ้านต๋อม จัดเป็น 16 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773-8. 12 พฤศจิกายน 2483)

พ.ศ. 2484 นายคำมา คำพันธุ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 ของบ้านตุ่นกลางหมู่ 2 (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2484-2515)

พ.ศ. 2489 วัดตุ่นกลางเดิมชาวบ้านเรียกว่าวัดศรีคุมเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตั้งอยู่เลขที่ 33 บ้านตุ่นกลาง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเองพะเยา จังหวัดพะเยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จากบันทึกของวัดตุ่นกลางมีเจ้าอาวาสมาแล้ว 20 รูป ดังนี้

1.พระกาวิชัย      พ.ศ. 2305-2330      รวม 25 ปี
2.พระอินตา      พ.ศ. 2330-2360      รวม 30 ปี
3.พระทองทิพย์      พ.ศ. 2360-2385      รวม 25 ปี
4.พระต๋าคำ ธมสาโร      พ.ศ. 2385-2410      รวม 25 ปี
5.พระก๋องแก้ว      พ.ศ. 2410-2430      รวม 20 ปี
6.พระใจวงศ์      พ.ศ. 2430-2445      รวม 15 ปี
7.พระหลวง อภิชยโย      พ.ศ. 2445-2465      รวม 20 ปี
8.พระคำตั๋น ธมมปัญโญ      พ.ศ. 2465-2467      รวม 2 ปี
9.พระสุข      พ.ศ. 2467-2473      รวม 6 ปี
10.พระกุย กนทวังโส      พ.ศ. 2473-2477      รวม 4 ปี
11.พระหวัน      พ.ศ. 2477-2480      รวม 4 ปี
12.พระพรหม      พ.ศ. 2480-2484      รวม 4 ปี
13.พระอธิการตื้อ พรหมเทโว      พ.ศ. 2484-2488      รวม 4 ปี
14.พระอธิการจันทร์ติ๊บ อิสิญาโน      พ.ศ. 2488-2493      รวม 7 ปี
15.พระอธิการศรีมูล มูลวิริโย      พ.ศ. 2493-2495      รวม 2 ปี
16.พระอธิการมูล ธมมสาโร      พ.ศ. 2495-2502      รวม 7 ปี
17.พระอธิการบุญเป็ง อคคธมโม      พ.ศ. 2502-2514      รวม 12 ปี
18.พระอธิการศักิ์สุริยา สิริสุวณโณ      พ.ศ. 2514-2517      รวม 3 ปี
19.พระอธิการถนอม สิริปญโญ      พ.ศ. 2517-2525      รวม 8 ปี
20.พระครูไพบูลวรการ(วีรพงศ์ ภททปญโญ)      พ.ศ. 2525-ปัจจุบัน

พ.ศ. 2499 นายขาว วาเพชร มีโรงสีข้าว เป็นโรงสีแห่งแรกของบ้านตุ่น โดยในสมัยก่อนในหมู่บ้านไม่มีโรงสีข้าวทำให้ต้องใช้หม้อหินโม่ข้าว ข้าวที่ออกมาจะไม่สวยและเปลือกออกไม่หมด นายขาวพอมีเก็บอยู่บ้างเลยตัดสินใจซื้อโรงสีเพื่อสีข้าว ในสมัยนั้นคนที่มาสีข้าวจะคิดเป็นหาบละ 5 บาท ทำให้คนในหมู่บ้านและหมูบ้านใกล้เคียงมาสีข้าวเกือบทุกวัน

พ.ศ. 2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา มาพัฒนาการหลายอย่าง เช่น ปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ต๋อม ต๊ำและตำบลใหม่ 28 กม. ติดต่อกับเขตอำเภอแม่ใจ

พ.ศ. 2510 นายขาว วาเพชร มีรถยนต์เป็นคันแรกของหมู่บ้าน โดยเป็นรถยนต์โดยสารขับไปในเมืองโดยใช้เวลาในการเดินทางไปครึ่งวันถึงจะถึงในเมือง ค่ารถคิดเป็นคนละ 2 บาทต่อครั้งและสมัยนั้นถนนเป็นทางดินแดงและมีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้การเดินทางในแต่ละครั้งใช้เวลานานและล่าช้า

พ.ศ. 2515 นายจันทร์แก้ว สุริโยทัย เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 ของบ้านตุ่นกลางหมู่ 2 (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2515-2531)

พ.ศ. 2531 นายทอง มีเชื้อ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7 ของบ้านตุ่นกลางหมู่ 2 (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2531-2533)

พ.ศ. 2533 นายวันชัย ไชยวงศ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 ของบ้านตุ่นกลางหมู่ 2 (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2533-2543)

พ.ศ. 2543 นายวันชัย ไชยวงศ์ เป็นกำนันตำบลบ้านตุ่น (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2543-2565)

พ.ศ. 2550 เนื่องจากเกิดปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการกู้เงินนอกระบบมาใช้ และมีคนมาทวงเงินถึงบ้านเรือน จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เครดิตยูเนี่ยนขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน เพื่อสร้างอาชีพหรือลงทุนในการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องวิตกกังวลและเงินก็หมุนเวียนในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน นายปรัชญา มั่นคง เป็นผู้ใหญ่บ้าน

บ้านตุ่นกลาง หมู่ที่ 2 ตําบลบ้านตุ่น อําเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ถือเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีจํานวน 131 หลังคาเรือน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ประจำปี พ.ศ. 2564) จำนวนหลังคาเรือนที่อาศัยอยู่จริง 66 ครัวเรือน ชาวบ้านมีวิถีการดํารงชีวิตแบบพึ่งตนเอง มีการทําการเกษตรหลายรูปแบบ ทั้งการทํานา การเลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หาของป่า ทําสวน รับจ้างทั่วไป สานกระเป๋าจากผักตบชวาและจักสานสุ่มไก่ กรรมกร รวมทั้งประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น เปิดร้านขายของชำ ร้านขายก๋วยเตี๋ยว เป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน ประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ให้ความสำคัญ ส่งเสริม และรักษาประเพณีต่าง ๆ มีฐานะความเป็นอยู่ในระดับปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบริเวณที่ตั้งของบ้าน จะมีส่วนน้อยที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น ศาลาประชาคม มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มหรือในบริเวณอาณาเขตของบ้านเดียวกัน ส่วนใหญ่บ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน มุงกระเบื้อง มีรั้วกั้นในแต่ละหลังคาเรือนชัดเจน สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร บางบ้านมีถังเก็บน้ำฝนไว้สำรองใช้ มีบ่อน้ำใช้ และครอบครัวส่วนใหญ่มีการทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกข้าวสาลี ปลูกกระเทียม เลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์ที่เลี้ยงไว้ขาย และเป็นอาหาร ได้แก่ วัว สุกร ไก่ เป็ด และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่ สุนัข แมว และ นก ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีต แต่ช่วงถนนที่ใช้สัญจรสำหรับทำการเกษตรบางสายยังคงเป็นถนนดิน ลูกรังและถนนดินแดง ทำให้แฉะในฤดูฝน ภายในหมู่บ้านมีไฟข้างทาง (ไฟกิ่ง) ของภาครัฐที่มีไม่เพียงพอ รวมทั้งมีไฟที่ชำรุด ทําให้ภายในหมู่บ้านเวลากลางคืนไม่มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ในชุมชนจะมีวัด คือ วัดบ้านตุ่นกลาง ซึ่งวัดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 2 ในหมู่บ้านจะมีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ มีประชาชนส่วนน้อยที่ใช้น้ำบ่อบาดาล

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านตุ่นกลาง หมู่ 3 ตําบลบ้านตุ่น อําเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านห้วยลึก หมู่ 6 และ ตําบลบ้านตุ่น อําเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านตุ่นใต้ หมู่ 1 ตําบลบ้านตุ่น อําเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านดอกบัว หมู่ 4 ตําบลบ้านตุ่น อําเภอเมือง จังหวัดพะเยา

จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2566 มีบ้านเรือนทั้งหมด 131 หลังคาเรือน (ที่มา : สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ประจำปี พ.ศ. 2564) จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริงทั้งหมด 158 คน เพศชายจำนวน 75 คน และเพศหญิงจำนวน 83 คน ประชากรที่อาศัยอยู่ที่บ้านตุ่นกลางเป็นคนพื้นเมือง พูดภาษาถิ่นในการติดติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร 

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • ผู้นำชุมชน มีนายปรัชญา มั่นคง เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านตุ่นกลาง
  • คณะกรรมการหมู่บ้าน มีนายปรัชญา  มั่นคง เป็นประธาน
  • อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีนายจำเริญ ใหม่ต๊ะ เป็นประธาน
  • อาสาสมัคร ตำรวจบ้าน มีนายวันชัย ไชยวงศ์ เป็นประธาน
  • อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) มีนายจำเริญ ใหม่ต๊ะ เป็นประธาน
  • คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน มีนายจำเริญ ใหม่ต๊ะ เป็นประธาน

โครงสร้างองค์กรแบบไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มหมอพื้นเมือง มีนายสมเกียรติ ชำนาญยา เป็นประธาน
  • กลุ่มนาแปลงใหญ่ (รวมกับ ม.3 เอารายชื่อแค่หมู่ 2) มีนายสวัสดิ์ ปานา เป็นประธาน
  • กลุ่มแม่บ้าน มีนางสุภาภรณ์ พยายาม เป็นประธาน
  • กลุ่มผักตบชวา มีนางแอนธิดา ใจยืน เป็นประธาน
  • กลุ่มกองทุนแก้ไขความยากจน มีนางปิยภรณ์ เวลฟอร์ด เป็นประธาน
  • กลุ่มฌาปณกิจ มีนายวันชัย ไชยวงศ์ เป็นประธาน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ มีนางมาลี อินเถิง อินเถิง เป็นประธาน

สภาพทางเศรษฐกิจ

  • อาชีพหลัก : เกษตรกรรม
  • อาชีพรอง : ขายของป่า
  • อาชีพเสริม : สานผักตบชวา
  • ผลิตภัณฑ์ชุมชน : กระเป๋าสานผักตบชวา สุ่มไก่
  • รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม
  • รายจ่ายของประชาชน : คือ ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร ค่าดำรงชีพค่าสาธารณูปโภค ค่างานสังคมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
  • หนี้สินประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้าน

พืชและสัตว์ที่ปลูกและเลี้ยง

  • พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ : ข้าวหอมมะลิ
  • สัตว์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่ : ไก่

ลักษณะการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน 

ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากหมู่บ้านมีพื้นที่ติดทุ่งนา มีแหล่งน้ำในการทำการเกษตร ส่วนใหญ่จึงมีรายได้จากการทำเกษตรกรรม

1.หมอสมเกียรติ ชำนาญยา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 เป็นบุตรของนายมูล ชำนาญยา นางปี๋ ชำนาญยา มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน หมอสมเกียรติ เป็นบุตรคนที่ 3 ได้รับการศึกษาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จนจบประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 หลังจากนั้นบวชเป็นสามเณรที่วัดบ้านตุ่นกลางเมื่ออายุ 15 ปีจนกระทั่งอายุ 21 ได้สึกออกมาทำการเกษตรและเรียน กศน. ควบคู่ที่บ้านตุ๋นเป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นได้ไปทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นงานก่อสร้างได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากนั้นได้ย้ายออกไปอยู่ บริษัทไทยซูซูกิ ทำงานได้ 6 ปีที่บริษัทไทยซูซูกิพร้อมเรียนไทยวิจิตรศิลป์ควบคู่กับการทำงานที่สนามเป้าเป็นเวลา 4 เดือน หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2525 ย้ายไปทำงานซาอุดีอาระเบียอยู่ประมาณ 2 ปี และได้ย้ายกลับมาที่ไทย มาทำงานที่กรุงเทพฯ ต่อเป็นช่างไม้ เป็นเวลา 1 ปี กลับมาอยู่บ้านตุ๋น  ได้รับการเลือกให้ประธานผู้สูงอายุเป็นเวลา 10 ปีควบคู่กับการเรียนเกษตรทางเลือกเรื่อยมา เป็นหมอสมุนไพรและหมอดูจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2562 ได้แปลตำราสมุนไพรล้านนา

ผลงานของหมอสมเกียรติ

  • ได้รับรางวัล ชมเชยผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี พ.ศ. 2543
  • ผ่านการฝึกอบรมการพัฒนาบทบาทและวิทยฐานะของหมอเมืองสาขา หมอกายบำบัด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
  • ได้เข้าร่วมในโครงการประชุมวิชาการ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี วันที่ 3-7 กันยายน พ.ศ. 2551
  • ได้ร่วมจัดกิจกรรมลานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี วันที่ 2-6 กันยายน พ.ศ. 2552
  • ได้เข้าร่วมงานมหกรรมแพทย์แผนไทยแห่งชาติ ภาคเหนือ "สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่ด้วยวิถีภูมิปัญญาไทย" วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557
  • ได้รับรางวัลภูมิปัญญาท้องถิ่นดีเด่น ด้านสมุนไพร ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559
  • ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการ โครงการ มหกรรมหมอเมืองล้านนาและชนเผ่าพื้นเมืองวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • ได้รับรางวัลหมอพื้นบ้านดีเด่น ระดับจังหวัด ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

2.คุณพ่อจำเริญ ใหม่ต้ะ

เกิดเมื่อ พ.ศ. 2504 เป็นบุตรของ นายตัน ใหม่ต๊ะ และนางไข ใหม่ต๊ะ เดิมอาศัยอยู่ที่บ้านแม่ใส มีพี่น้อง 4 คน พ่อจำเริญ ใหม่ต้ะ เป็นบุตรคนที่ 2 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านตุ่นหมู่ 2 เริ่มเข้ารับการศึกษาเมื่ออายุ 7 ปี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านตุ่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ได้ย้ายเข้าศึกษาที่โรงเรียนตุ่นราษฏร์ เนื่องจากโรงเรียนบ้านตุ่นมีการก่อสร้างโรงเรียนเพิ่มเติม 1 ปี หลังก่อสร้างเสร็จจึงย้ายกลับไปศึกษาที่โรงเรียนบ้านตุ่นจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาโรงเรียนตุ่นราษฏร์จนจบ ป.7 และเข้าศึกษาที่โรงเรียนฟากกว๊านวิทยาคมในปี พ.ศ. 2519 จนจบ ม.ศ.3 ศึกษาต่อที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคมจนจบ ม.ศ.5 หลังศึกษาจบ ปี พ.ศ. 2527 จึงกลับมาอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านตุ่นได้เชิญชวนให้อบรม ผสส.(อสม.) อบรมได้ 1 สัปดาห์และได้ไปอบรมในต่างตำบลหลังเสร็จสิ้นการอบรมได้รับเลือกให้เป็น ผสส.(อสม.) ในปี พ.ศ. 2530 ได้แต่งงานมีบุตร 2 คน ขณะเดียวกันได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 สมัยจนถึงปี พ.ศ. 2548 ปี พ.ศ. 2550 ได้ออกมาช่วยงานองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่น และเข้าศึกษาที่มหาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพจบปี พ.ศ. 2557 หลังจากศึกษาจบจึงได้รับคัดเลือกเป็นประธาน อสม. จนถึงปัจจุบัน

ทุนทรัพยากรบุคคล

มีปราชญ์ชุมชน นายสมเกียรติ ชำนาญยา ด้านสมุนไพร หมอเมือง เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านอื่นใกล้เคียง

นายจำเริญ ใหม่ต๊ะ ประธาน อสม. และเป็นประธานกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ที่บริหารจัดการกองทุน เช่น การบริหารเงินกองทุนหมู่บ้าน ด้วยกระบวนการประชาคม สามารถนำมาใช้ประโยชน์สาธารณะได้กว้างขวาง เช่น ปั๊มน้ำมันกองทุนหมู่บ้าน เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ที่คนในหมู่บ้านและหมู่บ้านอื่นมาใช้บริการ เครื่องกรองน้ำดื่มสะอาดสำหรับประชาชน ทั้งนี้การบริการทั้งสามนำผลประโยชน์เข้ากองทุน มีการบริหารจัดการด้วยคณะกรรมการ เช่น เครื่องเสีย มีปัญหาใช้ช่างในหมู่บ้านดูแล ซื้อเพียงอุปกรณ์ที่ชำรุด สามารถปันผลให้กับประชาชนในหมู่บ้านได้ครบถ้วน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ความเป็นเครือญาติที่แน่นเหนียวของคนในชุมชน 

พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

บันทึกของพ่อเจ้าหนานเลาแก้ว ศีติสาร จากการรวบรวมเรียบเรียงของพระธรรมวิมลโมลี (ปวง ธมมปญโญ) ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพวิสุทธิเวที

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จออกแขกเมือง. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม4 : ตอน 9 หน้า 68. 3 พฤษภาคม ร.ศ. 105

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 : 493. 5 มีนาคม ร.ศ. 114

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 124

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วิธีการปกครองให้จัดเป็นแบบเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 : 1156. 26 มกราคม ร.ศ. 126

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). าชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ. 129

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481

พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658-81. 14 พฤศจิกายน 2481

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773-8 . 12 พฤศจิกายน 2483