Advance search

น้ำตกแม่เหยี่ยนชุบชีวี ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ เลิศล้ำหัตถกรรมจักสาน ถิ่นฐานคู้มืองเก่าลือชื่อ ข้าวซ้อมมือดีมีในตำบล ป่าชุมชนระบือนามทั่ว บึงงามนามหนองบัว อุตสาหกรรมครอบครัวหน่อไม้ปี๊บ

หมู่ที่ 1
บ้านท่ากลอง
บ้านใหม่
เมืองพะเยา
พะเยา
กัญญา แซ่ย่าง
6 ก.พ. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
8 มี.ค. 2024
บ้านท่ากลอง

ต้นไม้ที่พอเหมาะจะทำกลองได้แล้วก็ได้ลำเลียงไม้มาที่หมู่บ้าน แต่ในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก การลำเลียงต้นไม้จึงเป็นที่ยากลำบาก จึงได้ปรึกษากันว่าจะล่องมาตามลำน้ำ ลำน้ำนั้นชื่อว่า ลำน้ำห้วยเหยียน เมื่อตกลงกันได้จึงกระทำการดังกล่าว และล่องมาถึงหมู่บ้าน เมื่อมาถึงทางทิศตะวันตก ประมาณ 500 เมตร ของสำนักสงฆ์ จึงยกขึ้นลำน้ำ (ตรงที่ยกกลองขึ้นเป็นฝายน้ำล้น เรียกว่า ฝายท่ากลอง หรือฝายต๋ากล๋อง) จากนั้นก็ได้นำไปเจาะทำเป็นกลอง เพื่อตีในงานทางพระพุทธศาสนา


น้ำตกแม่เหยี่ยนชุบชีวี ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ เลิศล้ำหัตถกรรมจักสาน ถิ่นฐานคู้มืองเก่าลือชื่อ ข้าวซ้อมมือดีมีในตำบล ป่าชุมชนระบือนามทั่ว บึงงามนามหนองบัว อุตสาหกรรมครอบครัวหน่อไม้ปี๊บ

บ้านท่ากลอง
หมู่ที่ 1
บ้านใหม่
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.279163109170728
99.80854584077204
เทศบาลตำบลบ้านใหม่

เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังคราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วยแว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำ คันดินล้อมรอบที่เรียกว่า "เวียง" ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนาโดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบันโดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝ่ายเดียวกัน โดยที่พันนาม่วง คือ บริเวณตำบลบ้านใหม่และบางส่วนของอำเภอแม่ใจในปัจจุบัน โดยที่พันนาม่วงมีลักษณะเป็นเวียงโบราณตั้งอยู่บริเวณชายขอบของที่ราบต่อกับเชิงเขาของดอยต่าง ๆ ที่รายรอบหุบเขาของเมืองพะเยาไว้ โดยห่างกันเป็นระยะตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวียงโบราณใกล้บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ (พระธรรมวิมลโมลี อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาวรรค์ชัย บุนป่าน, 2552)

พ.ศ. 2101 เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ ดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาและความสำคัญของเมืองไป

พ.ศ. 2310 กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พ.ศ. 2330 พระเจ้าเมืองอังวะสั่งให้อะแซวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองพะเยารวมเข้าด้วย เจ้านายและประชาชนตื่นตกใจต่างก็พากันอพยพครอบครัวหลบหนีข้าศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปาง ครอบครัวชาวเมืองเชียงราย ไปตั้งอยู่ที่ตรง 5 แยกเมืองลำปาง ได้ร่วมกันสร้างวัดโดยถือเอาตามนามเมืองเดิมที่มาจากเชียงรายว่า "วัดเชียงราย" มาจนบัดนี้ ฝ่ายครอบครัวของชาวเมืองปุมืองสาดที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านวัดเมืองศาสตร์ ส่วนชาวเมืองพะเยาได้อพยพไปตั้งหลักอยู่บ้านปงสนุกด้านใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำวัง คือ บ้านปงสนุก เมืองพะเยาในสมัยนั้นในบริเวณตัวเมืองรกร้างไปเป็นเวลานานถึง 56 ปี

พ.ศ. 2375 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งนำโดยปู่แสนใจ ปู่ท้าวผาบ เ แลผะญาน้อย ทั้งสามคนเป็นพี่น้องกัน ภายหลังบุตรหลานในตระกูลจึงใช้นามสกุลเดินเมือง และมีกลุ่มชนติดตามมาอีกประมาณ 30 ครอบครัว อพยพมาจากบ้านทุ่งม่านใต้ เมืองลำปาง เพื่อแสวงหาที่ทำกินด้านการเกษตร สภาพตามภูมิศาสตร์สภาพของหมู่บ้านเดิมเป็นป่าดงดิบ รกทึบ เต็มไปด้วยต้นไผ่ อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก จึงเห็นสมควรบุกเบิก ทำนา ทำไร่ ทำสวนและปลูกพืชอื่นได้ เนื่องจากว่ามีลำห้วย "แม่เหยี่ยน" ไหลจากทิศตะวันตกลงมาสู่หมู่บ้าน และยังไหลมาสมทบกับ "แม่น้ำอิง" ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เหมาะแก่การทำการเกษตร และยังมีทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ อุดมสมบูรณ์ จึงได้ยึดแผ่นดินดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัย และอยู่กันมาอย่างสงบสุขเรื่อยมา

พ.ศ. 2376 ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าชาวบ้านท่ากลองนี้ ครั้งแรกอพยพมาจากบ้านป่าเมี้ยงหลวง นครลำปางมาตั้งรกรากหลักฐานอยู่บ้านใกล้เคียงบ้าง ตำบลอื่นบ้าง ต่อจากนั้นชาวบ้านเหล่านี้ก็ได้มาอาศัยบ้านเหล่า (ชื่อเดิมของบ้านท่ากลอง) โดยชาวบ้านได้เลือก นายแสนฟ้าเลื่อน(แสนต๊ะฮ้อ) เป็นผู้นำประจำหมู่บ้าน และได้มีการเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านเหล่า” จากนั้นก็ทำมาหากินโดยมีอาชีพทำไร่ไถนาทำสวนบ้าง แต่ส่วนมากจะทำการเกษตร เวลานั้นมีครัวเรือนประมาณ 7-6 ครอบครัว ตั้งบ้านเรือนอยู่กันไม่มาก จากนั้นจำนวนครัวเรือนก็เพิ่มมากขึ้น และมีการนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้นเมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน 2531. )

พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยาในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา

พ.ศ. 2394 แต่ในขณะนั้นหมู่บ้านเหล่า (บ้านท่ากลอง) ยังไม่มีสถานที่ทำบุญ ต้องอาศัยวัดของหมู่บ้านอื่น เพื่อทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา การเดินทางก็เป็นไปด้วยความอยากลำบาก จึงมีการประชุมปรึกษาหารือกันโดยการนำของผู้นำหมู่บ้านได้ชักชวนชาวบ้านก่อตั้งสำนักสงฆ์ขึ้น ชื่อว่าสำนักสงฆ์สุวรรณเภรี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี

พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เมื่อทรงปฏิรูปการปกครองประเทศ พ.ศ. 2435 ได้มีการยกเลิกหัวเมืองประเทศราชของสยาม (โดม ไกรปกรณ์. หัวเมืองประเทศราช wiki.kpi.ac.th/) โดยที่สยามนำเอาระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมาใช้ส่งผลให้หัวเมืองประเทศราชบางส่วนคือล้านนาถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ ในขณะนั้นเมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง

พ.ศ. 2435 เริ่มสร้างวัดสุวรรณเภรี (กลองทอง) โดยปู่แสนฟ้าเลื่อน จึงได้ปรึกษากันสร้างวัดขึ้นมาใหม่ ทุกๆครั้งจะต้องไปทำบุญที่วัดบ้านเหยี่ยน(วัดเมธาราม) ซึ่งเห็นสมควรจึงขอแรงจากชาวบ้านใกล้เคียงมาช่วยถางป่า ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ต้นใหญ่ โดยเลือกบริเวณที่ติดกับริมแม่เหยี่ยนเพราะเห็นว่าสถานที่แห่งนี้ร่มรื่นดี เหมาะแก่การประพฤติวัตร ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และได้พร้อมใจกันสร้างศาลาขึ้นหนึ่งหลังด้วยหญ้าคา แต่ว่าในสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องกระจายข่าวต้องอาศัยกลองหรือระฆังในการช่วยส่งข่าวสารหือส่งสัญญาณต่างๆ เมื่อหาต้นไม้ที่พอเหมาะจะทำกลองได้แล้วก็ได้ลำเลียงไม้มาที่หมู่บ้านแต่ในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก การลำเลียงต้นไม้จึงเป็นที่ยากลำบาก จึงได้ปรึกษากันว่าจะล่องมาตามลำน้ำ ลำน้ำนั้นชื่อว่า ลำน้ำห้วยเหยียน เมื่อตกลงกันได้จึงกระทำการดังกล่าว และล่องมาถึงหมู่บ้าน เมื่อมาถึงทางทิศตันตก ประมาณ 500 เมตรของสำนักสงฆ์ จึงยกขึ้นลำน้ำ (ตรงที่ยกกลองขึ้นเป็นฝายน้ำล้น เรียกว่า ฝายท่ากลอง หรือฝายต๋ากล๋อง)จากนั้นก็ได้นำไปเจาะทำเป็นกลอง เพื่อตีในงานทางพระพุทธศาสนา ต่อมาก็ได้เปลี่ยนจกสำนักสงฆ์สุวรรณเภรี เป็นวัดท่ากลอง ตั้งชื่อตามเหตุการณ์ที่นำไม่มาทำกลอง เมื่อชาวบ้านได้กลองที่จะนำมาใช้แล้ว ชาวบ้านก็มีความเป็นอยู่ตามอัตภาพ ทำมาหาเลี้ยงชีพตามปกติสุขตามกาลเวลา ต่อมาชาวบ้านและผู้นำหมู่บ้านก็ได้ปรึกษาหารือกันว่าสมควรที่จะเปลี่ยนชื่อของหมู่บ้านเสียใหม่ชื่อว่า บ้านท่ากลอง (บ้านต่ากล๋อง) ตามชื่อของวัดในหมู่บ้าน และก็ได้ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2437 ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่ตั้งขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยการปกครองแบบ “เทศาภิบาล” หรือ “มณฑลเทศาภิบาล” จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) โดยเนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับนี้คือให้รวมหัวเมืองทั้งหมดมาไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย การวางรากฐานการปกครองแบบ “มณฑล” เริ่มขึ้นในปี 2417 เมืองพะเยา เมืองเชียงราย จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง (มณฑลพายัพ. th.wikipedia.org/มณฑลเทศาภิบาล. th.wikipedia.org/ )

พ.ศ. 2438 พระยาราชวรานุกูล กระทรวงมหาดไทย นำเจ้าอุปราชเจ้าราชภาติกวงษ์ เจ้าสุริยวงษ์เมืองนครลำปาง กับพระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อรายงานตัวไปรักษาราชการบ้านเมือง (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 : 493. 5 มีนาคม ร.ศ.114)

พ.ศ. 2444 ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองนครลำปาง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีผู้คนเป็นจำนวนมากสมควรจัดให้เป็นบริเวณหนึ่ง และจัดให้มีข้าหลวงประจำบริเวณ และให้รวมเมืองพะเยา เมืองงาว รวมเมืองเข้าเป็นบริเวณหนึ่ง เรียกว่า “บริเวณพะเยา” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หลวงศรีสมัตถการ ซึ่งรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยกรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา " (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม รศ.120)

พ.ศ. 2457 ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนเสนาบดี ส่วนจังหวัดให้คงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดไว้ตามเดิน แต่ให้กระจายอำนาจการปกครองส่วนย่อย ๆ ออกไปเป็นตำบลหมู่บ้าน ตำแหน่งหัวหน้าตำบลเรียกว่า "เจ้าแคว่น" "แคว่น" (กำนัน) ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า "แก่บ้าน" (ผู้ใหญ่บ้าน) ที่นิยมเรียกกันว่า "พ่อหลวง" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงแต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาและได้รับแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์เป็นรองอามาตย์โทยุนสิทธิประศาสน์ เป็นนายอำเภอคนแรกมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎรจัดการศึกษา การอาชีพและบำรุงพุทธศาสนา (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน , 2531. ) แคว่น (กำนัน นามสกุล พรหมเผ่า เป็นนามสกุลที่พบมากที่สุดในบ้านใหม่โดยขอใช้นามสกุลของแคว่น (กำนัน) ซึ่งตอนนั้นอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย มี 21 ตำบล โดยประกอบไปด้วย ตำบลเวียง ตำบลแม่ต๊ำ ตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านตุ่น ตำบลสาง ตำบลสันป่าม่วง ตำบลต๋อม ตำบลต๊ำ ตำบลสันกกก ตำบลแม่ปืม ตำบลจำป่าหวาย ตำบลใหม่ ตำบลน้ำย้อยหอยโข่ง ตำบลดงเจน ตำบลห้วยลาน ตำบลร่องจว่า ตำบลช้างหิน ตำบลถ้ำ ตำบลปิน โดยตำบลแม่ปืมมีนายปัน พรหมเผ่า เป็นกำนันคนแรกของบ้านใหม่ (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน , 2531. ) ประกอบไปด้วย 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านใหม่หลวง บ้านเหยี่ยน บ้านโป่ง บ้านร่องไฮ และบ้านท่ากลอง ทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน ดังนี้

ผู้ใหญ่บ้าน

          นายแสน      ฟ้าเลื่อน      -
          นายแสน      ตะฮ้อ      -
          นายแสน      เครือเต๋จ้ะ      ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2500-2504
          นายติ๊บ      ท่าหลวง      ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2504-2510
          นายหวัน      พรหมเผ่า      ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2510-2512
          นายหวล      พรหมเผ่า      ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2512-2516
          นายอินจันทร์      พรหมเผ่า      ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2516-2518
          นายสมศักดิ์      คนงาน      ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2541-2551
          นายจันทร์      ชัยวงศ์      ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2551-2564
          นายสหพัฒน์      พรหมเผ่า     ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน

พ.ศ. 2459 รัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองแก้ไขวิธีเดิม ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นลำดับให้รวมมณฑลเข้าเป็นภาค มีอุปราชกำกับราชการให้เปลี่ยนคำว่าเมือง ใช้เรียกว่า จังหวัด ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เมืองเชียงราย จึงเป็นจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองพะเยาขณะนั้น เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ( ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459)

ในปีเดียวกันได้เริ่มสร้างถนนจากลำปางเชื่อมต่อไปยังพะเยา-เชียงราย และไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย ทำให้ค้าขายระหว่างเมืองสะดวกมากขึ้น และปริมาณการค้าก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อการเดินทางสะดวกขึ้นทำให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในภาคกลางเริ่มอพยพมาค้าขายในภาคเหนือมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีบทบาททางการค้าแทนกลุ่มพ่อค้าเดิมพวกพม่า เงี้ยว จีนฮ่อ และแขก กลุ่มพวกพ่อค้าชาวพม่าและเงี้ยวในพะเยาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อชาวจีนจากลำปางได้อพยพเข้ามาค้าขายอยู่ในตัวเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน2531.)

พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน 6ฯ7-1283-2465 วันที่ 7 เมษายน บันทึกไว้ว่า นายใจเป็นกำนันตำบลดงเจน การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน2531.)

พ.ศ. 2477 จากพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 มกราคม 2471 อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย จาก 21 ตำบลรวมตำบลบ้านใหม่ ตำบลแม่ปืม แล้วจัดตั้งเป็นตำบลตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลแม่ปืม และมีการออกพระราชบัญญัติโรคติดต่อ กาฬโรค อหิวาตโรค ไข้ทรพิษ ไข้กาฬนกนางแอ่น ไข้เหลือง

พ.ศ. 2481 อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพราะราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล รวมตำบลบ้านใหม่ ตำบลแม่ปืม แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลแม่ปืม (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481)

และในปีเดียวกัน เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพะเยา เปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ. 2482 สยามเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ก่อนเปลี่ยนเป็น "ไทย" ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ( lpk,. th.wikipedia.org/)

พ.ศ. 2483 จากพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 พฤศจิกายน 24 73 อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย แยกหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ท่ากลอง หมู่ที่ 2 ใหม่ดง หมู่ที่ 3 บ้านโป่ง หมู่ที่ 4 ใหม่หลวง หมู่ที่ 5 ฮ่องไฮ หมู่ที่ 6 บ้านเหยี่ยน หมู่ที่ 7 บ้านเหยี่ยน ที่อยู่ในตำบลแม่ปืม แล้วตั้งเป็นตำบล ตำบลหนึ่งชื่อว่าตำบลบ้านใหม่ จัดเป็น 7 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773 – 8 . 12 พฤศจิกายน 2483 ) และในขณะนั้นวัดท่ากลองได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2483 ลำดับเจ้าอาวาสและการรักษาแทนเข้าอาวาส เริ่มจากครูบาอานนท์ จนมาถึงปัจจุบันนี้ มีเจ้าอาวาสทั้งหมด 26 รูป ปัจจุบันพระครูสุวิมล ถาวรคุณ เป็นเจ้าอาวาสวัดท่ากลองและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลใหม่

พ.ศ. 2500 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาตโรค) กับประชาชนในหมู่บ้านท่ากลอง รักษาโดยการใช้ใบตองรองนอนและการใช้ใบลูกยอต้มดื่ม ผู้เจ็บป่วยเดินทางโดยการใช้ล้อเกวียนไปโรงพยาบาลพะเยา

พ.ศ. 2501-2502 นายวรจันทร์ อินทกฤษณ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา เร่งรัดปรับปรุงถนนหนทาง

พ.ศ. 2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยามาพัฒนาการหลาย อย่างเช่น ปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ตำบลต๋อมและ ตำบลใหม่ 28 กิโลเมตรติดต่อกับอำเภอแม่ใจประชาชนเรียกถนนสายรอบกว๊าน อีกสายหนึ่งตั้งแต่ประตูชัยไปตำบลดงเจน ผ่านบ้านศาลา บ้านดอกบัว บ้านกว้าน แม่อิง สันป่าพาด ต้นผึ้ง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิง ติดต่อบ้านห้วยดอกเข็ม ตำบลห้วยลาน อำเภอตอกคำใต้ ทำให้ประชาชนซาวบ้านดังกล่าวได้มีถนนหนทางไปมาได้สะดวกขึ้นมากจนถึงทุกวันนี้ (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน , 2531.)

พ.ศ. 2504-2523 ยังมีการระบาดของโรคฝีดาษ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข เริ่มโครงการกวาดล้างไข้ทรพิษและฝีดาษในประเทศไทย รณรงค์ปลูกฝีป้องกันโรค จนปี พ.. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าฝีดาษได้ถูกกวาดล้างแล้วจงหยุดปลูกฝีป้องกันโรค และนับตั้งแต่นั้นมาไม่เคยปรากฎว่ามีฝีดาษเกิดขึ้นในประเทศไทย

พ.ศ. 2511 มีน้ำบาดาลใช้เป็นครั้งแรกที่วัดท่ากลอง เป็นน้ำบาดาลแบบคันโยก

พ.ศ. 2511 สร้างโรงสีข้าวแรก

พ.ศ. 2518 สร้างถนนลูกรังภายในหมู่บ้านโดยใช้แรงงานคน

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก

ในปีเดียวกันนั้นได้ก่อสร้างสถานีอนามัย ตำบลบ้านใหม่ มีการจัดตั้ง ผสส. ตำบลบ้านใหม่และมีนายกิตติศักดิ์ ชัยวงศ์ เป็นผสส. (ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข) คนแรกในหมู่ที่ 1

พ.ศ. 2525 มีโทรทัศน์จอขาวดำใช้เครื่องแรกของหมู่บ้านที่ในสมัยนั้นใช้หม้อแบตเตอรี่รถยนต์ในการชาร์จไฟ

พ.ศ. 2528- 2529 เริ่มมีไฟฟ้าเข้าถึงในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2532 แผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 6 รณรงค์ให้เปลี่ยนส้วมหลุมเป็นส้วมซึม

พ.ศ. 2547 เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ขนาด 3.4 ริกเตอร์ รู้สึกสั่นสะเทือนที่บ้านท่ากลองแต่ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย

.. 2550 มีโครงการประปาภูเขา จึงได้มีการสร้างประปาหมู่บ้านท่ากลองบริเวณหลังวัดท่ากลอง

.. 2553 เกิดพายุฤดูร้อนรุนแรง ฝนตกและมีพายุลูกเห็บขนาดประมาณไข่ไก่ หรือลูกมะนาว จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนในหมู่บ้านท่ากลองได้รับผลกระทบ ทรัพย์สินบ้านเรือนราษฎร พืชสวน ไร่นา สัตว์เลี้ยงได้รับความเสียหายจำนวนมาก สภาพบ้านเรือนถูกพายุลูกเห็บขนาดเท่าผลมะนาวตกใส่หลังคาจนเป็นรูพรุนทั้งหลัง นาข้าวซึ่งเกษตรกรพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวแล้วถูกพายุลูกเห็บทำให้เมล็ดข้าวร่วงตกเหลือแต่รวงไม่มีเมล็ดข้าว

พ.ศ. 2555 มีโครงการสร้างถนนเสริมเหล็กคอนกรีตบ้านท่ากลอง

พ.ศ. 2557 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามกระจายตัวหลายบริเวณ ในเขตอำเภอแม่ลาว อำเภอพาน อำเภอแม่สรวย และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างตลอดแนวรอยเลื่อนพะเยา จนสะเทือนถึงบ้านท่ากลองบ้านเรือนได้รับความเสียหาย

พ.ศ. 2563 เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19 อสม . และรพสต. เป็นแกนนำในการป้องกันการระบาดของโรค มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ หลีกเลี่ยงการออกไปอยู่ในบริเวณที่มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก และถ้าติดโรคโควิดแล้วให้ไปกัตัวสถานที่กักตัวที่บ้านร่องไฮ หมู่ที่ 5 เป็นจำนวน 15 วัน

พ.ศ. 2564 มีโครงการเปลี่ยนถนนคอนกรีตเป็นถนนลาดยางมะตอยภายในหมู่บ้าน

บ้านท่ากลอง หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีจำนวน 142 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 417 คน (ที่มา :ข้อมูลโปรแกรม My PCU โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่ ปี 2566 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566) ชาวบ้านมีวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเอง พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบริเวณที่ตั้งของบ้าน มีส่วนน้อยที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่นศาลาประชาคม ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มหรือในบริเวณอาณาเขตของบ้านเดียวกัน ส่วนใหญ่บ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านปูนชั้นเดียว มุงกระเบื้อง ส่วนน้อยก็ยังคงมีบ้านไม้ชั้นเดียวยกสูงอยู่ มีรั้วกั้นในแต่ละหลังคาเรือนชัดเจน สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร เกือบทุกบ้านมีโอ่งหรือถังเก็บน้ำฝนไว้สำรองน้ำ มีบ่อน้ำใช้

ภายในหมู่บ้านมีจำนวน 5 ซอย คือ ซอย 1-5 แต่ละซอยเป็นถนนคอนกรีต ช่วงถนนที่ใช้สัญจรสำหรับทำการเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นถนนคอนกรีตเนื่องจากการพื้นที่เกษตรจะติดกับหมู่บ้านและไม่ไกลมากนัก แต่บางพื้นที่ที่มีพื้นที่ทางการเกษตรไกลออกไปจากหมู่บ้านจะยังคงเป็นถนนดินลูกรังและหินคลุก โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไปสวนยางพาราจะเป็นลูกรังพอใกล้เข้าหมู่บ้านจะเป็นหินคลุกทำให้แฉะในฤดูฝน ภายในหมู่บ้านมีไฟข้างทาง (ไฟกิ่ง) ของภาครัฐที่เพียงพอ รวมทั้งไม่มีลักษณะชำรุด ไฟเสีย ทำให้ภายในหมู่บ้านเวลากลางคืนมีไฟเพียงพอในชุมชนจะมีวัด คือ วัดท่ากลองสุวรรณเภรี ซึ่งวัดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 ในหมู่บ้านจะมีไฟฟ้าและน้ำประปาของหมู่บ้านใช้ แต่บางบ้านจะยังคงใช้น้ำบ่อ บาดาล และน้ำฝนอยู่

ตั้งอยู่ในตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ห่างจากอำเภอไปทางทิศเหนือ 18 กิโลเมตร ตั้งอยู่ถนนสายแม่นาเรือ-แม่ใจ ถนนหมายเลข 1193 จากระยะทางแม่ต๋ำ-แม่ใจเป็นระยะทาง 34.545 ระหว่าง กม.4+500 - กม.8+395 จากถนนหมายเลข1193 เข้าไปถึงวัดบ้านท่ากลองสุวรรณเภรี มีถนนลาดยางสองช่องทางรถ เป็นทางติดต่อระหว่างอำเภอ ถนนในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านใหม่นคร หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา
  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านเหยี่ยน หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านใหม่ดงหมู่ที่ 2 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง

หมู่บ้านขนาดเล็ก มีจำนวน 142 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 417 คน (ที่มา : ข้อมูลโปรแกรม My PCU โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่ ปี 2566 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566) ชาวบ้านมีวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเองมีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มหรือในบริเวณอาณาเขตของบ้านเดียวกัน ส่วนใหญ่บ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านปูนชั้นเดียว มุงกระเบื้อง ส่วนน้อยก็ยังคงมีบ้านไม้ชั้นเดียวยกสูงอยู่ มีรั้วกั้นในแต่ละหลังคาเรือนชัดเจน สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร เกือบทุกบ้านมีโอ่งหรือถังเก็บน้ำฝนไว้สำรองน้ำ มีบ่อน้ำใช้ 

ภายในหมู่บ้านพบว่านามสกุลที่มีมากที่สุดคือ พรหมเผ่า

โครงสร้างองค์กรชุมชน

คณะกรรมการประจำหมู่บ้าน

  • นายสหพัฒน์ พรหมเผ่า ผู้ใหญ่บ้าน
  • นางสมศรี คำแก้ว ผู้ช่วยฝ่ายปกครอง
  • นายสมาน อาจคำ ผู้ช่วยฝ่ายปกครอง

ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรป.) มีสมาชิก 17 คน

  • นายสหพัฒน์ พรหมเผ่า ประธาน

อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน(อปพร.) มีสมาชิก 5 คน

  • นายสหพัฒน์ พรหมเผ่า ประธาน

รายชื่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีสมาชิก 17 คน

  • นายนพรัตน์ พรหมเผ่า ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

คุ้มในหมู่บ้าน แบ่งออกเป็น 9 คุ้ม

  • คุ้มที่ 1 ทุ่งศรีทอง มี 14 ครัวเรือน นางช่อผกา คนแรง ประธาน
  • คุ้มที่ 2 ทุ่งรวมใจพัฒนา มี 17 ครัวเรือน นางจันดานุช แสงวันดี ประธาน
  • คุ้มที่ 3 แสงทอง มี 16 ครัวเรือน นายวิรัตน์พงษ์ วงค์ถา ประธาน
  • คุ้มที่ 4 รุ่งรวงทอง มี 17 ครัวเรือน นางจันทร์ติ๊บ วงค์ถา ประธาน
  • คุ้มที่ 5 บ้านช่อราชพฤกษ์ มี 18 ครัวเรือน นายประพันธ์ ใจอยู่ ประธาน
  • คุ้มที่ 6 บ้านทุ่งพัฒนา มี 16 ครัวเรือน นางสุนีย์ คนดี ประธาน
  • คุ้มที่ 7 แสงตะวัน มี 11 ครัวเรือน นางศรีวรรณ คำดี ประธาน
  • คุ้มที่ 8 พลังสามัคคี มี 13 ครัวเรือน นางแสงระวี เครือเต๋จ๊ะ ประธาน
  • คุ้มที่ 9 แก้วประกายเพชร มี 17 ครัวเรือน นางประนอม ยาสมุทร ประธาน

กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ มีสมาชิก 25  คน นางแสงวาล บุญคง ประธาน

กลุ่มออมทรัพย์แม่บ้าน มีสมาชิก คน นางนิภาพร เขื่อนวัง ประธาน

กลุ่มผู้สูงอายุ นายอินปั๋น วงค์ถา ประธาน

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต (กข.คจ) นายสหพัฒน์ พรหมเผ่า ประธาน

กลุ่มออมทรัพย์เงินล้าน นายสหพัฒน์ พรหมเผ่า ประธาน

กลุ่มเลี้ยงกบเพื่อการเกษตร นายสหพัฒน์ พรหมเผ่า ประธาน

กลุ่มฌาปนกิจศพ นางพิมพ์รัตน์ วงศ์ชัยยา

มกราคม พิธี “ตานข้าวใหม่” หรือ “สี่เป็ง” คือการถวายข้าวที่เก็บเกี่ยวให้แก่พระสงฆ์ เป็นพิธีที่ชาวบ้านร่วมกันนำเอาผลผลิตจากการทำนา ข้าวสารใหม่ ข้าวเปลือก ซึ่งเป็นข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวได้ รวมถึงอาหารที่ทำจากข้าวใหม่ ทั้งข้าวหลาม ข้าวจี่ นำมาถวายและมีการทำพิธี “เผาหลัวหิงหนาวพระเจ้า” โดยชาวบ้านจะนำไม้ซึ่งเป็นไม้หนามเรียกว่าไม้จี้คนตา หรือไม้คนทาในภาคกลาง เป็นไม้ที่มีหนามตามลำต้น เมื่อเก็บมาแล้วต้องริบหนามออก ไม้มีลักษณะเป็นเถาและเนื้อในมีสีขาว จากนั้นจะเขียนคาถากำกับคือ “ปัญจะมัง อักคิขันทัง อะรุวุทธัง สัปป๊ะปาปั๋งวินาสันตุ หมายมี ตามด้วยชื่อ วันเกิด อายุ” หมายความว่า สิ่งใดก็ตามที่ติดตัว กรรมหรือสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ทุกอย่างจะถูกไฟเผาวินาจไป จากนั้นจะนำไม้มารวมกันและเผา เป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา โดยทำในช่วงเดือนมกราคม หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว

กุมภาพันธ์ เก็บส้มป่อยในเดือน 5 เมือง หมายถึงปฏิทินล้านนา เดือนห้า และเก็บในวัน 5 เป็ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ฝักส้มป่อยแห้งคาต้นจะยิ่งดีที่สุด นั่นก็คือ วันมาฆบูชา วันที่พระจันทร์เสวยมาฆะฤกษ์ เชื่อว่าเก็บส้มป่อยในวันนี้จะทำให้สมป่อยมีความขลัง โดยความเชื่อดังกล่าวมาจากครั้งในรามายะณะ ตอนกำเนิดทรพี โดยล้านนารับเอาคัมภีร์พรหมจักรชาดก เรื่อง "อุสสาบารส" ครั้งหนึ่ง มีควายชื่อทรพี คิดอยากเอาชนะพ่อ จึงท้าชนทรพาผู้พ่อ ทั้งสอง ต่อสู้กันจนเวลาล่วงเลย ฝ่ายทรพีเพลี่ยงพล้ำถูก ทรพาไล่ขวิดจนถอยร่น ไปไกล ขณะนั้นเองทรพี ได้ถอยไปชนต้นส้มป่อยที่กำลังออกฝักอยู่ ด้วยกำลังที่ชน อย่างแรงทำให้ฝักส้มป่อยหล่นลงมาถูกหัวทรพี ทันใดนั้น กำลังที่เคยอ่อนล้าหมดแรง เกิดฮึกเหิมเพิ่มขึ้น ได้ทีทรพี จึงถาโถมเข้าชนทรพาอย่างเมามัน ผู้เป็นพ่อเสียทีหมดแรงถอยไปชนต้นมะขามป้อม ลูกมะขามป้อมหล่นถูกหัว เรี่ยวแรงที่อ่อนล้ายิ่งหมดไป จึงถูกทรพีผู้เป็นลูกฆ่าตาย ในที่สุด เหตุดังกล่าวนี้อาจเป็นต้นเหตุหนึ่งของความเชื่อในอานุภาพของน้ำส้มป่อย ชาวบ้านจะใช้ส้มป่อยที่ได้จากการเก็บในวัน 5 เป็ง ในพิธีกรรมต่าง ๆ ในหมูบ้าน ทั้งในงานอวมงคล และงานมงคล (คำบอกเล่าจากนางสวย ปัญญาทอง)

มีนาคม สรงน้ำพระธาตุซึ่งเป็นประเพณีความเชื่อดั้งเดิมมาแต่โบราณ

เมษายน ประเพณีสงกรานต์ (ปีใหม่เมือง) เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา โดยวันที่ 13 หรือชาวบ้านเรียกว่าการทำพิธีสืบชะตาที่วัดท่ากลองสุวรรณเภรี เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุหรือต่อชีวิตของคนให้ยืนยาว มีความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นการขจัดภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย วันที่ 14 หรือเรียกว่า "วันเน่า" วันนี้ชาวบ้านจะมีการ “แห่ไม้ค้ำศรี” เพื่อให้ผู้ถวายไม้ค้ำได้รับพรสมอย่างที่ตนปรารถนา สร้างเสริมสิริมงคลแก่ตนเอง ค้ำจุนชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ตกต่ำ และค้ำจุนพระพุทธศาสนา ในช่วงปีใหม่เมืองของทุกปี วันที่ 15 มีการรดน้ำดำหัว โดยลูกหลานจะกลับบ้านมารดน้ำดำหัวปู่ ย่า ตา ยายหรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันรวมญาติเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเคารพนอบน้อมต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย ขอขมาลาโทษที่ผู้น้อยอาจแสดงล่วงเกินผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็นการขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง ซึ่งจะใช้เป็นน้ำส้มป่อยในการรดน้ำดำหัว ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการชำระสะสางสิ่งที่สกปรกหรือสิ่งที่เป็นอัปมงคลในชีวิตให้หมดไป 

วันพญาวัน “วัน” ในความหมายของการนับนั้น หมายถึงเวลาตั้งแต่รุ่งเช้าของวันหนึ่งไปถึงรุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง “พญา” หมายถึง ความเป็นใหญ่ คำว่า “พญาวัน” ได้แก่วันที่เป็นใหญ่แก่วันทั้งหลาย หมายเอา “วันเถลิงศก” เริ่มต้นจุลศักราชใหม่ ชาวล้านนาใช้จุลศักราชมาแต่เดิม จึงยึดถือว่าวันพญาวัน เป็นวันขึ้นปีใหม่ เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ชาวบ้านจะนำสำรับอาหารพร้อมดอกไม้ธูปเทียนไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ โดยจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยในการรดน้ำดำหัว

พฤษภาคม ประเพณีแปดเป็ง วันพระใหญ่ คือวันเพ็ญเดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันวิสาขบูชา แต่สำเนียงล้านนาออกว่า “แปดเป็ง” ตำนานเล่าถึงวันแปดเป็งที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตนหลวงตั้งแต่เริ่มสร้างจนกระทั่งเสร็จ จึงมีการจัดประเพณีนมัสการพระเจ้าตนหลวงขึ้น ประเพณีแปดเป็งพระเจ้าตนหลวงเป็นงานประเพณีของจังหวัดพะเยา ซึ่งจัดว่ายิ่งใหญ่ที่สุดและสำคัญอย่างยิ่งหรืออาจจะกล่าวได้ว่าสำคัญและยิ่งใหญ่ในล้านนาก็ว่าได้ ซึ่งชาวบ้านจะมีการทำบุญในวันนี้

มิถุนายน เลี้ยงผีเจ้าบ้านหรือศาลเจ้าพ่อภูเขียว เจ้าแม่จันทร์แสง ซึ่งเป็นประเพณีของหมู่บ้านที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อขอให้คุ้มครองหมู่บ้านและคนในหมู่บ้านให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข โดยศาลดังกล่าวก่อตั้งมานาน แต่เดิมเป็นศาลไม้เล็ก ๆ และเวลาผ่านไปมีการตั้งศาลให้ใหม่ในปี 2555 ซึ่งแต่เดิมการเลี้ยงผีเจ้าบ้านจะจัดขึ้นตามแต่บ้านใดจะเลี้ยง โดยเมื่อมีลูกหลานบ้านใดจะไปทำงาน ไปเรียนที่อื่นก็จะมีการเลี้ยงผีเจ้าบ้าน เพื่อขอให้ลูกหลานปลอดภัยกลับมาบ้าน ขอให้มีโชคมีลาภ ขอให้สมปรารถนา ต่อมาจึงมีการปรับให้เป็นประเพณีของหมู่บ้านโดยจะมีการจัดขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 9 เมืองทุกปี จะมีการบวงสรวงโดยมีข้าวตอกดอกไม้ ผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องโภชนาอาหาร และหมู 1 ตัว โดยมีผู้ทำพิธีคือนายแก้วมา ใจทน และในพิธีจะมีการนำไม้ไผ่มาเหลาความยาวประมาณ 1 วา หรือเท่ากับผู้ทำพิธีกางแขน นำไปวางบนตัวหมู เพื่อทำนายว่าผีเจ้าบ้านกินเครื่องบวงสรวงอิ่มหรือยัง หลังจากทำพิธีจะปล่อยเครื่องบวงสรวงไว้ 1 ชั่วโมง โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าไม้ไผ่จะยาวขึ้นเมื่อผีเจ้าบ้านกินอิ่ม หลังจากเวลาผ่านไปผู้ทำพิธีจะอธิษฐานหากผีเจ้าบ้านกิ่นอิ่มหนำสำราญกับเครื่องบวงสรวงขอให้ไม้ยาวขึ้น และวัดความยาวของไม้ เมื่อพบว่าไม้ยาวขึ้นเชื่อว่าผีจ้าวบ้านกินอิ่มและจะช่วยปกปักรักษาชาวบ้านในหมู่บ้าน หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำหมูและเครื่องบวงสรวงมาทำอาหารทานกันที่ศาลเจ้าบ้าน ซึ่งเชื่อว่าอาหารเหล่านี้เป็นของมงคล หากผู้ใดป่วยไข้ จะมีสุขภาพดีขึ้น และเชื่อว่าจะชีวิตอยู่ดีมีสุข เป็นมงคลต่อชีวิต

ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และมีน้ำไว้ใช้ สำหรับการทำนา การทำการเกษตร พืชผลทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ แต่เดิมการบวงสรวงผีขุนน้ำจะมีการเก็บเรี่ยไรเงินชาวบ้านในตำบล แต่ละหมู่ แต่ละหลังคาเรือน นำมารวมกันเพื่อจัดพิธี แต่ต่อมาเทศบาลตำบลบ้านใหม่ถูกก่อตั้งขึ้นและเป็นผู้ดูแลในการจัดพิธีในทุกปี ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่ามีผีขุนน้ำสิงสถิตที่ต้นตะเคียนข้างลำน้ำแม่เหยี่น จึงมีการจัดตั้งศาลและให้ชื่อศาลว่าศาลเจ้าพ่อขุนจันทร์ซึ่งก็คือเจ้าพ่อขุนน้ำหรือผีขุนน้ำนั่นเอง ซึ่งเชื่อว่าคุ้มครองรักษาต้นน้ำลำธารแม่น้ำแม่เหยี่ยนตั้งแต่น้ำตกแม่เหยี่ยนตลอดจนลำน้ำแม่เหยี่ยนซึ่งหล่อเลี้ยงคนทั้งตำบลบ้านใหม่ จึงมีการเลี้ยงบวงสรวงในทุก ๆ ปี และในวันพิธีจะมีการขึ้นท้าวทั้ง 4 เพื่อบอกกล่าวว่าจะมีการเลี้ยงเจ้าพ่อขุนน้ำ และมีการฟังเทศน์ธรรมปลาช่อน และสืบชะตาแม่น้ำ และบวงสรวงเหมือนกับพิธีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน ซึ่งในทุก ๆ ปีจะมีชาวบ้านตำบลบ้านใหม่มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ตายาย เดือนมิถุนายน หมายถึงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ล่วงลับไปแล้วพวกลูกหลานก็จะสร้างหอไว้ทางเบื้องทิศหัวนอน หรือในสถานททเหนา สมควร บนหอจะมีทิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น วางเอาไว้ เล่าสืบกันมาว่าการนับถือผง ย่า ตา ยาย เวลาพ่อ แม่ ตายลงไป ในสมัยก่อนลูกหลานไม่ได้กินได้ทานอุทิศส่วนกุศลให้ เพราะว่าอยู่ห่างวัด ลูกหลานมีความรักและความห่วงใยจึงสร้างศาลสูงเพียงตาขึ้น แล้วมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร หวานคาว บวงสรวงอัน เชิญดวงวิญญาณของพ่อแม่มาอยู่ในศาล เพื่อพิทักษ์รักษาลูกหลานตลอดจนเครือญาติที่จะต้องถือ ผีปู่ ย่า ตา ยาย อันเดียวกัน

กรกฎาคม เข้าพรรษา

สิงหาคม ทำบุญในวันแม่ และมีประเพณี “ปลูกข้าววันแม่เกี่ยวข้าววันพ่อ” ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นภายในหมู่บ้านโดยจะให้ทุกบ้านในหมู่บ้านมาร่วมกันปลูกข้าวในวันแม่ที่นาป่าสุสานซึ่งเป็นนาของหมู่บ้าน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันของคนในหมู่บ้าน และเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยในวันงานจะมีทางเทศบาลตำบลบ้านใหม่มาร่วม รวมถึงมีการจัดการแข่งขันดำนา และมอบรางวัลให้ผู้ที่ชนะ และร่วมกันทำอาหารรับประทานกันที่นาป่าสุสาน

กันยายน ประเพณีตานเปรตพลี (อุทิศส่วนบุญหาผู้ตาย) ประเพณีอุทิศหาผู้ตาย หรือประเพณีเดือน 12 เป็ง คือการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษของตน คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย ลุงป้า ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ถือกันว่าในเดือน 12 เหนือ ขึ้น 1 ค่ำ ถึงเดือนแรม 14 ค่ำนั้น พระยายมราชได้ปล่อยวิญญาณสัตว์ ผู้ตายกลับมาสู่เมืองมนุษย์ เพื่อขอรับเอาส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้องลูกหลานจะได้พ้นจากภาวะแห่งเปรตอสุรกายทั้งหลาย ดังนั้นการปฏิบัติต่อประเพณีก็ด้วยการกตัญญู ต้องการให้บุคคลผู้เป็นที่รักพบกับความสุขในปรโลกจึงได้ทำสืบต่อกันมา ในวันเดือน 12 เหนือ ขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแต่งดาเตรียมข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ไว้พร้อม รุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเดือน 12 เพ็ญ ชาวบ้านจะนำเอาอาหารใส่ถาดไปวัดและจะถวายแด่พระภิกษุ “ตานก๋วยสลาก” หรือ “สลากภัตร” ของชาวล้านนาจัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี เพราะว่าเป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้วหยุดพักผ่อนส่วนพระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่วัด เมื่อต้นข้าวในนา เริ่มเขียวขจีชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตก็เริ่มขัดสนเมื่อข้าวในยุ่งก็หมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึง ได้ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้จึงเท่ากับว่าได้สงเคราะห์คนยากคนจนเป็นสังฆทานได้กุศลแรงซึ่งชาวล้าน จึงสืบทอดประเพณีนี้กันต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

ตุลาคม ออกพรรษา การถวายเทียนพรรษา เนื่องจากสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อ เทียนขึ้น เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน 

ประเพณีการทอดกฐิน กฐิน คือ ผ้าไตรจีวรผืนใหม่ สำหรับพระสงฆ์ที่ได้รับถวายจากพุทธศาสนิกชน นำมาใช้นุ่งห่มในช่วงหลังออกพรรษา

พฤศจิกายน ลอยกระทง (ยี่เป็ง) เป็นประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา โดยคำว่า “ยี่” แปลว่า สอง ส่วน “เป็ง” แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ชาวบ้านจะทำกระทงไปลอยเพื่อขอขมาเจ้าแม่คงคา และในวันนี้จะมีการทำบุญตักบาตร และฟังเทศน์ธรรมในวัด

ธันวาคม ทำบุญวันพ่อ ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือรัชกาลที่ 9 และเกี่ยวข้าวที่นาป่าสุสานซึ่งเป็นประเพณี “ปลูกข้าววันแม่เกี่ยวข้าววันพ่อ” โดยเงินที่ได้จากการขายข้าวจะนำไปให้วัด จ่ายค่าไฟฟ้าของวัด นำไปใช้ในพิธีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน และนำเข้ากองทุนหมู่บ้าน และเดือนธันวาคมเป็นช่วงสิ้นปี ชาวบ้านจะมีการสวดมนต์ข้ามปีที่วัดท่ากลองสุวรรณเภรี

1.พระครูสุวิมลถาวรคุณ 

ฉายา : ฐิติญาโณ

ปีเกิด : 2510 สัญชาติ : ไทย เชื้อชาติ : ไทย ศาสนา : พุทธ

ที่อยู่ : หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

อาชีพ : พระ ตำแหน่ง : เจ้าอาวาสวัดท่ากลอง, เจ้าคณะตำบลบ้านใหม่

ประวัติด้านการศึกษา

  • ปี พ.ศ. 2537 สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนธรรมราชศึกษา จังหวัดเชียงใหม่
  • ปี พ.ศ. 2526 สอบไล่ได้ นักธรรมชั้นตรี วัดราชคฤห์ สำนักเรียนคณะจังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2527 สอบไล่ได้ นักธรรมชั้นโท วัดราชคฤห์ สำนักเรียนคณะจังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2529 สอบไล่ได้ นักธรรมชั้นเอก วัดราชคฤห์ สำนักเรียนคณะจังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2543 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีพุทธศาสตร์บัณฑิต (พธ.บ.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2545 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีศาสนศาสตร์บัณฑิต (ศน.บ.) มหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา
  • ปี พ.ศ. 2553 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท การศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.) มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

การศึกษาพิเศษ มีความสามารถอ่าน เขียน ภาษาล้านนาไทยได้

พิมพ์ดีดสัมผัสภาษาไทย และภาษาอังกฤษได้

บรรยายในธรรมใบลาน และบรรยายธรรมแบบปฏิญาณได้

มีความชำนาญด้านภาษาล้านนาและร้อยกรองวรรณกรรมพื้นบ้านได้

ความชำนาญการพิเศษ ออกแบบแปลนการก่อสร้าง การประดับตกแต่งเสนาสนะ พัฒนาวัดให้สะอาดร่มรื่นและเทศนาสั่งสอนประชาชนทั่วไป

ประวัติโดยทั่วไปและงานปกครอง

  • ปี พ.ศ. 2548 เป็นเจ้าอาวาสวัดท่ากลอง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
    • เป็นผู้ช่วยเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ฝ่ายธุรการ
    • ได้รับการแต่งตั้งเป็นฐานานุกรม ในพระราชวิริยาภรณ์ (ศรีมูล มูลสิริ ป.ธ.6) เจ้าคณะจังหวัดพะเยา วัดศรีอุโมงค์คำ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ที่พระครูใบฎีกา

  • ปี พ.ศ. 2549 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ประจำศาสนศึกษาวัดศรีอุโมงค์คำ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2551 เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรม
  • ปี พ.ศ. 2558 เป็นครูสอนปริยัติธรรมแผนกธรรม ประจำศาสนศึกษาวัดศรีอุโมงค์คำ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2559 เป็นรักษาการเจ้าคณะตำบลบ้านใหม่
  • เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านใหม่

ประวัติการทำงาน

  • เจ้าอาวาสวัดท่ากลอง, เจ้าคณะตำบลบ้านใหม่ พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน
  • หน้าที่รับผิดชอบ
  • เจ้าอาวาสวัดท่ากลอง, เจ้าคณะตำบลบ้านใหม่ บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองวัดตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

2.นางสรวย ปัญญาทอง

ปีเกิด : 2494 สัญชาติ : ไทย เชื้อชาติ : ไทย ศาสนา : พุทธ

ที่อยู่ : หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

อาชีพ : แม่บ้าน  ตำแหน่ง : -

ประวัติด้านการศึกษา

ประวัติโดยทั่วไป

  • ปี พ.ศ. 2494 เกิดวันที่ 1 เมษายน
  • ปี พ.ศ. 2501 เข้ารับการศึกษาระดับชั้นป.1 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2504 จบการศึกษาระดับชั้นป.4 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • เรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจากบิดา เช่น การนวดแผนโบราณ คาถาเป่ารักษาโรค เป็นต้น
  • ปี พ.ศ. 2509 เริ่มเรียนรู้การทอผ้าไหม โดยมีบรรพบุรุษสืบทอดให้ที่จังหวัดแพร่
  • ปี พ.ศ. 2516 สมรสกับ นาย หล่วน ปัญญาทอง

3.นายอินปั๋น วงศ์ถา

ปีเกิด : 2493 สัญชาติ : ไทย เชื้อชาติ : ไทย ศาสนา : พุทธ

ที่อยู่ : หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

อาชีพ : พ่อบ้าน/รับจ้าง ตำแหน่ง : ประธานชมรมผู้สูงอายุ

ประวัติด้านการศึกษา

  • ปี พ.ศ. 2500 เข้ารับการศึกษาระดับชั้น ป.1 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2503 จบการศึกษาระดับชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา

ประวัติโดยทั่วไป

  • ปี พ.ศ. 2494 เกิดวันที่ 4 กรกฎาคม
  • ปี พ.ศ. 2500 เข้ารับการศึกษาระดับชั้น ป.1 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2503 จบการศึกษาระดับชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2515 สมรสกับ นางบัวลัย วงศ์ถา 
  • ปี พ.ศ. 2526 ลงสมัครเป็นสมาชิกอสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน)
  • ปี พ.ศ. 2553 เป็นประธานชมรมผู้สูงอายุ
  • ปี พ.ศ. 2563 เริ่มทำการประดิษฐ์ไม้กวาดทางมะพร้าวส่งขาย เพื่อเป็นรายได้เสริม
  • ปี พ.ศ. 2564 ได้รับรางวัลผู้สูงอายุดีเด่น
  • ปี พ.ศ. 2566 ปัจจุบันอายุ 74 ปี

ประวัติการทำงาน ประธานชมรมผู้สูงอายุ พ.ศ. 2553 - ปัจจุบัน

หน้าที่รับผิดชอบ ประธานชมรมผู้สูงอายุ เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจกรรมชมรม ตลอดจนประสานงานกับองค์กรภาครัฐ/เอกชน และแสวงหาแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของชมรม 

4.นาย อินจันทร์ พรหมเผ่า

ปีเกิด : 2485 สัญชาติ : ไทย เชื้อชาติ : ไทย ศาสนา : พุทธ

ที่อยู่ : หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

อาชีพ : พ่อบ้าน ตำแหน่ง : -

ประวัติด้านการศึกษา

  • ปี พ.ศ. 2493 เข้ารับการศึกษาระดับชั้น ป.1 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2497 จบการศึกษาระดับชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา

ประวัติโดยทั่วไป

  • ปี พ.ศ. 2485 เกิดวันที่ 5 มีนาคม
  • ปี พ.ศ. 2493 เข้ารับการศึกษาระดับชั้น ป.1 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2497 จบการศึกษาระดับชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2528 ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่ากลอง หมู่ที่ 1 รวมระยะเวลา 2 ปี

ผลงานและรางวัลที่ได้รับ

  • ปี พ.ศ. 2529 พัฒนาถนนในหมู่บ้านท่ากลอง โดยเปลี่ยนจากถนนทางเกวียนเป็นถนนลูกรัง
  • ปี พ.ศ. 2555 ได้รับรางวัลพ่อดีเด่นประจำตำบล
  • ปี พ.ศ. 2556 ได้รับรางวัลด้านวัฒนธรรมจากกระทรวงวัฒนธรรม

ประวัติการทำงาน

  • ปี พ.ศ. 2525 เป็นคณะกรรมการวัดท่ากลอง เป็นคณะกรรมการโรงเรียนบ้านใหม่ เป็นผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ
  • ปี พ.ศ. 2528 ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่ากลอง หมู่ที่ 1 รวมระยะเวลา 2 ปี

5.ชื่อ : นาย กิตติศักดิ์ นามสกุล : ไชยวงศ์ อายุ : 69 ปี

ปีเกิด : 2497 สัญชาติ : ไทย เชื้อชาติ : ไทย ศาสนา : พุทธ

ที่อยู่ : หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

อาชีพ : เกษตรกร ตำแหน่ง : อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)

ประวัติด้านการศึกษา

  • ปี พ.ศ. 2510 เข้ารับการศึกษาระดับชั้น ป.1 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2514 จบการศึกษาระดับชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2515 บวชเรียน ณ วัดท่ากลอง ตำบลบ้านใหม่
  • ปี พ.ศ. 2520 ได้รับการเป็นนักธรรมชั้นตรี

ประวัติโดยทั่วไป

  • ปี พ.ศ. 2497 เกิดวันที่ 24 กันยายน
  • ปี พ.ศ. 2510 เข้ารับการศึกษาระดับชั้น ป.1 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2514 จบการศึกษาระดับชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา
  • ปี พ.ศ. 2522 ทำงานเหมืองแร่ที่จังหวัดภูเก็ต
  • ปี พ.ศ. 2527 สมรสกับ นางบานชื่น ไชยวงศ์
  • ปี พ.ศ. 2540 ดำรงตำแหน่งประธานอาสาสมัครสาธารณสุข
  • ประธานเกษตรกร ศูนย์เมล็ดพันธุ์พืชพะเยา
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รวมระยะเวลา 2 ปี

ประวัติการทำงาน

  • ปี พ.ศ. 2540 เป็นผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) กลุ่มแรกของตำบล
  • ประธานเกษตรกร ศูนย์เมล็ดพันธุ์พืชพะเยา
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รวมระยะเวลา 2 ปี

หน้าที่รับผิดชอบ

  • เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) * ปัจจุบัน

ความเป็นผู้นำชุมชนของผู้ใหญ่บ้านที่เป็นแกนนำในกลุ่มอาชีพ ที่หาวิธีการหลากหลายให้กับชาวบ้าน โดยเชื่อมโยงกับองค์ความรู้สมัยใหม่ กับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย นักวิชาการเกษตร แสวงหาแนวทาง ในการทำการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวข้าวตามฤดูกาล เช่นการเลี้ยงกบ การเพาะเห็ดลม 

จุดเด่นของการทำนากลางที่ทำจนเป็นประเพณีที่จัดขึ้นภายในหมู่บ้าน โดยให้ทุกบ้านในหมู่บ้านมาร่วมกันปลูกข้าวในวันแม่ที่นาป่าสุสานซึ่งเป็นนาของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลาง เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้คัดเลือกเก็บพันธุ์ข้าวเพื่อให้คนในหมู่บ้านที่มาช่วยกันได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันคือ นำไปปลูกต่อ เงินที่ขายข้าวนำไปเป็นสาธารณะประโยชน์ เช่น จ่ายค่าน้ำค่าไฟของวัด เป็นทุนการศึกษาให้บุตรหลานในหมู่บ้าน ครัวเรือนใดที่ข้าวหมดสามารถมายืมได้จากยุ้งฉางของกลาง ทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมและเห็นประโยชน์ เช่น เมื่อมีกิจกรรมในหมู่บ้าน การเรี่ยไร เก็บเงินตามรายครอบครัวจะไม่มี โดยใช้ทรัพย์สินจากนากองกลาง

ภาษาล้านนา และภาษาไทยกลาง


ดอยหลวงพะเยา
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน

โดม ไกรปกรณ์. (ม.ป.ป.). หัวเมืองประเทศราช. สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/

วิกิพีเดีย. (ม.ป.ป.). มณฑลพายัพ. https://th.wikipedia.org/wiki

วิกิพีเดีย. (ม.ป.ป.). มณฑลเทศาภิบาล. https://th.wikipedia.org/wiki

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม ร.ศ. 120

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773-8. 12 พฤศจิกายน 2483

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69  : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520