ด้วยสายน้ำที่ใสสะอาดและเย็น จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน บ้านแม่เย็นนอก
บ้านแม่เย็นก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ 2406 โดยมีชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง การนำของท้าวเขื่อน หรือพระยาปิงค์ นายคำหนาม นายตั๋น นายสุยะ ประมาณ 20 ครอบครัว เดินทางรอนแรมข้ามป่าข้ามเขาหลายวัน และมาหยุดพักที่ลำห้วยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสายน้ำที่ใสสะอาด และเย็น พระยาปิงค์เห็นว่าเป็นทำเล ที่ตั้งที่เหมาะสมในการตั้งหมู่บ้าน จึงชักชวนชาวบ้านทำการแผ้วถางและสร้างหลักปักฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำแห่งนี้ ตั้งชื่อลำห้วยนี้ว่า "ลำห้วยแม่เย็น" และตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของ ห้วยแม่เย็นว่า "บ้านแม่เย็น" มีพระยาปิงค์หรือท้าวเขื่อน เป็นผู้นำคนแรกของหมู่บ้าน
ด้วยสายน้ำที่ใสสะอาดและเย็น จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน บ้านแม่เย็นนอก
พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2437 (ร.ศ. 113) สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิรูปการปกครองแบบเดิมเป็น มณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยา เมืองเชียงราย จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพายัพ (มณฑลพายัพ)
พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) ยกเลิกกองบริเวณพะเยา คงมีแต่แขวงพะเยา แขวงดอกคำใต้ แขวงแม่ใจ รวม 3 แขวง ขึ้นตรงต่อบริเวณพายัพเหนือ 22 พฤศจิกายน ร.ศ. 124
พ.ศ. 2450 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าวิธีการปกครองให้จัดลงเป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ชื่อตำแหน่งยังเรียกผิดกันในบางมณฑล การที่ใช้คำเรียกผิดกันนั้นเป็นที่ลำบากแก่กฎหมายและหนังสือราชการ เพราะต้องแยกตามท้องที่ ๆ ใช้คำต่างกัน ควรเรียกชื่อตำแหน่งให้เหมือนกัน คือมณฑลพายัพ ตำแหน่งนายอำเภอซึ่งเรียกนายแขวงนั้นต่อไปให้เรียกว่า "นายอำเภอ" และแขวงต่อไปให้เรียกว่า "อำเภอ" ตำแหน่งกำนันซึ่งเรียกว่า "นายแคว้น" ต่อไปให้เรียกว่า "กำนัน" แคว้นให้เรียกว่า "ตำบล" ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านซึ่งเรียกว่า "แก่บ้าน" ต่อไปให้เรียกว่า "ผู้ใหญ่บ้าน" ได้เปลี่ยนฐานะการปกครองกิ่งอำเภอโดยมีปลัดอำเภอ เป็นปลัดกิ่งอำเภอมาประจำเรียกว่า "กิ่งอำเภอเมืองพาน" ต่อได้โอนกิ่งอำเภอเมืองพานเข้าไปอยู่กับอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย บ้านแม่เย็นอยู่ในเขตกิ่งอำเภอเมืองพาน จังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2451 ยุบกิ่งอำเภอเมืองพานได้ขึ้นตรงต่ออำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย อำเภอพาน
พ.ศ. 2453 ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ. 129) อำเภอแม่ใจขึ้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในมณฑลพายัพ
พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพแจ้งว่า กิ่งอำเภอ 3 แห่งคือ กิ่งอำเภอเมืองเทิง กิ่งอำเภอเมืองพาน และกิ่งอำเภอเมืองปง มีผู้คนพลเมืองมาก และมีอาณาเขตที่กว้างขวาง เหลือความสามารถของกรมการอำเภอจะตรวจตราให้ตลอดทั่วถึงได้ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ขออนุญาตยกกิ่งอำเภอเมืองเทิงขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า "อำเภอเมืองเทิง" ยกกิ่งอำเภอเมืองพานขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า "อำเภอเมืองพาน" ขึ้นเมืองเชียงราย รวมกิ่งอำเภอเมืองปง เข้าสมทบกับกิ่งอำเภอเชียงม่วน เรียกว่า "อำเภอเมืองปง" ขึ้นกับเมืองน่าน ตำบลแม่ใจ ตำบลป่าแฝก อยู่ในการปกครองของอำเภอเมืองพาน (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและรวมกิ่งอำเภออำเภอขึ้นเป็นอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 : 2041. 8 ธันวาคม ร.ศ. 131 พ.ศ. 2456 (ร.ศ. 132) โรคฝีดาษ (Smallpox) ระบาด ตามบันทึกของเมอเรย์ (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2456 เรจินาลด์ เลอ เมย์ (Reginald le May) ชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาสยาม เพื่อรับทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษ ประจำกรุงเทพฯ ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ และจะย้ายประจำที่เมืองลำปางในปีเดียวกัน เลอ เมย์ วางแผนออกเดินทางท่องเที่ยวหัวเมืองทางเหนือในฤดูหนาวในปลายปี 2456 นั่นเอง ก่อนคณะเดินทางจะเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ได้แวะที่บ้านแม่ใจ ขณะนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ แต่มีพื้นที่ไร่นาอุดมสมบูรณ์ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดโรคระบาด คือ โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อย แม้สถานการณ์จะรุนแรง แต่โรคร้ายชนิดนี้ก็ไม่ได้ระบาดไปถึงพะเยาหรือหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น ๆ เพราะเนื่องจากทางการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ โดยมีหน่วยงานคณะแพทย์จากสยาม (กรุงเทพฯ) มาช่วยในการรักษาผู้ป่วยและมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับชาวบ้านแม่ใจและหมู่บ้านใกล้เคียง ไม่นานนักสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ (เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ เรียบเรียง An Asian Arcady: Land and People of Northern Siam อ้างอิงจาก "จดหมายเหตุเมืองพะเยา" หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ, พ.ศ. 2556)
พ.ศ. 2457 (ร.ศ. 133) เทศาภิบาลมณฑลพายัพ พิจารณาระบอบการปกครองบ้านเมืองฝ่ายเหนือ จึงสั่งให้ยุบเลิกหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อย แล้วให้ไปรวมกับหัวเมืองใหญ่ ทําให้อําเภอเมืองพะเยา เป็น อําเภอพะเยา อยู่ในอํานาจการปกครองของเมืองเชียงราย อำเภอแม่ใจ ถูกยุบให้เหลือฐานะเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน เมืองเชียงราย มณฑลพายัพ
พ.ศ. 2459 ประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2459 เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด เปลี่ยนจากมณฑลเป็นภาค เมืองเชียงราย ถูกเรียกเป็นจังหวัดเชียงราย
พ.ศ. 2460 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า อำเภอในจังหวัดเชียงรายคือ อำเภอพะเยา อำเภอเมืองพาน อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ มีท้องที่ใกล้ชิดติดต่อกัน สมควรจะยุบอำเภอแม่ใจ และอำเภอดอกคำใต้ แบ่งท้องที่รวมเข้ากับอำเภอพะเยา อำเภอเมืองพานได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยุบอำเภอแม่ใจ รวมเข้ากับอำเภอเมืองพาน เพื่อประโยชน์แก่การปกครองต่อไป ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ยุบอำเภอแม่ใจและอำเภอดอกคำใต้. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 505. 23 ธันวาคม 2460)
พ.ศ. 2461 พื้นที่มีการระบาดของโรคอหิวาตกโรค ซึ่งการรักษาใช้หมอเมืองทั้ง 2 ศาสตร์ คือ ด้านไสยศาสตร์ และด้านแพทย์แผนโบราณโดยการรักษาด้วยสมุนไพร ส่วนบุคคลที่เสียชีวิตจะนำไปฝังที่ป่าช้าท้ายหมู่บ้าน ด้วยการห่อศพแล้วค่อยแบกหามศพออกจากหมู่บ้านเวลากลางคืนเพื่อลดความหวาดกลัวของคนในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2481 รวมตำบลแม่ใจเหนือ ตำบลแม่ใจใต้ ตำบลแม่สุก แล้วจัดตั้งเป็น ตำบลแม่ใจ ในท้องที่อำเภอเมืองพาน จังหวัดเชียงราย โดยยุบตำบลป่าแฝก ตำบลแม่สุก ตำบลแม่ใจใต้ ตำบลแม่ใจเหนือ (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481) ในปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อเรียกอำเภอ โดยที่เห็นสมควรจะเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพาน เป็นอำเภอพาน พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)
พ.ศ. 2490 ตั้งตำบลป่าแฝกโอนออกจากตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นตำบลป่าแฝก จำนวน 5 หมู่บ้าน ดังนี้
- หมู่ที่ 1 โอนจากหมู่ที่ 11 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน
- หมู่ที่ 2 โอนจากหมู่ที่ 12 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน
- หมู่ที่ 3 โอนจากหมู่ที่ 13 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน
- หมู่ที่ 4 โอนจากหมู่ที่ 23 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน
- หมู่ที่ 5 โอนจากหมู่ที่ 24 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน
(ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 26 เล่ม 64 : 1114- 1430. 10 มิถุนายน 2490)
พ.ศ. 2495 นายบุณยฝาง ทองสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งกระทู้ถาม เรื่องการจัดตั้งอำเภอและกิ่งอำเภอในจังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับการที่จะปรับปรุงยกฐานะตำบลต่าง ๆในจังหวัดเชียงรายให้เป็นกิ่งอำเภอ ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน หากจังหวัดเสนอขอตั้งเป็นอำเภอหรือกิ่งอำเภอ กระทรวงมหาดไทยก็จะได้พิจารณาที่เห็นสมควรต่อไป แต่ในปี 2495 นี้ยังไม่อาจดำเนินการได้ เพราะการพิจารณางบประมาณได้ผ่านพ้นไปแล้ว (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คำตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 33 เล่ม 69 : 1479-80. 27 พฤษภาคม 2495
การเดินทางโดยใช้รถขายข้าวสาร รถคอกหมู หาบของไปขายโดยเดินทางจากหมู่บ้านไปขึ้นรถที่บ้านแม่สุกไปขายของในเมือง ที่นิยมไปขายคือหน่อไม้
พ.ศ. 2500 มีการเกิดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษระบาดในขณะนั้น ชาวบ้านเกิดตุ่มพุพองบริเวณผิวหนัง ไม่สามารถนอนบนที่นอนได้ ต้องเอาใบตองมารองนอน รักษาโดยการกินยาต้ม ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ชาวบ้านนั่งล้อเกวียนไปฉีดวัคซีนที่ศาลาแม่ใจ
พ.ศ. 2506 เนื่องด้วยปรากฏว่าอำเภอพะเยา อำเภอพาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตกว้างขวาง บางตำบลอยู่ห่างไกลอำเภอมาก เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง และตำบลที่ห่างไกลอำเภอนั้น ๆ แต่ละอำเภอมีพลเมืองมาก มีตลาดชุมนุมการค้าพอสมควร สภาพท้องที่โดยทั่ว ๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า จึงขอแบ่งท้องที่ของอำเภอดังกล่าว ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ แบ่งท้องที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ 1 แห่ง เรียกชื่อว่า "กิ่งอำเภอแม่ใจ" มีเขตการปกครองรวม 4 ตำบล คือ ตำบลแม่ใจ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อย และตำบลแม่สุก ให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 80 ตอนที่ 14: 221- 222. 5 กุมภาพันธ์ 2506
พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรตั้งอำเภอเพิ่มขึ้นในท้องที่บางจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการปกครองและความสะดวกของราษฎร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ให้ตั้งกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย (พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอดอกคำใต้ .อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน พุทธศักราช 2508. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 82 ตอนที่ 59 : 565-569. 14 พฤศจิกายน 2508)
พ.ศ. 2518 เริ่มมีถนนลาดยางสายพหลโยธินผ่านหมู่บ้าน
พ.ศ. 2519 มีการใช้ไฟฟ้าครั้งแรกในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520
ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (ในปีเดียวกันได้แยกหมู่บ้านแม่เย็นหมู่ 8 ออกจากบ้านแม่เย็น หมู่ 1 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายจันทร์ ต๊ะป้อม) (สำนักงานจังหวัดพะเยา)
พ.ศ. 2526 นายสม ราชแก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2
พ.ศ. 2528 นายป้อม บุญมี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3
พ.ศ. 2531 ตั้งตำบลเจริญราษฎร์ แยกออกจากตำบลป่าแฝก ในท้องที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยโอนจากหมู่บ้านที่ 11, 9, 15, 4, 5, 17, 7, 13 ตำบลป่าแฝก อำเภอเมืองแม่ใจ จังหวัดพะเยา ตั้งเป็นตำบลเจริญราษฎร์ จำนวน 8 หมู่บ้าน ในขณะนั้นบ้านแม่เย็นนอกมี นายดวงแก้ว เทพวงศ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4
พ.ศ. 2538 สร้างสถานีอนามัยบ้านหนองสระ
พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ดังต่อไปนี้ อำเภอแม่ใจ กำหนดเขตตำบลป่าแฝก ในท้องที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน หมู่ที่ 8 คือบ้านแม่เย็นนอก (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 354-372. 12 ตุลาคม 2541
พ.ศ. 2543 นายบูรณ์ แปงคำ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5
พ.ศ. 2545 ประชาชนในหมู่บ้านเริ่มมีการสร้างรายได้จากการเลี้ยงสัตว์
พ.ศ. 2549 นายหลั่น มีสา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6
พ.ศ. 2552 ชาวบ้านร่วมกันทำฝายที่ลำห้วยแม่เย็น
พ.ศ. 2553 นายสุเกียรติ พรมมา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 7
พ.ศ. 2554 มีการสร้างอาคารเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้านครั้งแรก
พ.ศ. 2555 เกิดภัยพิบัติในหมู่บ้าน น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องช่วยกันนำกระสอบทรายมากั้นน้ำไว้ที่หน้าบ้าน
พ.ศ. 2563 เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า เทศบาล รพ.สต.และหมู่บ้านจึงมีการรณรงค์ให้สวมหน้ากากอนามัย และมีการเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้าแจกชาวบ้านเนื่องจากช่วงนั้นหน้ากากอนามัยมีราคาแพง
พ.ศ. 2566 ประชาชนเริ่มมีการใช้น้ำประปาในหมู่บ้านครั้งแรก จากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพาน
บ้านแม่เย็นใต้หมู่ที่ 8 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด 8 คน คือ
1.นายจันทร์ ต๊ะป้อม | พ.ศ. 2520-2525 | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 5 ปี |
2.นายสม ราชแก้ว | พ.ศ. 2525 | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 2 เดือน |
3.นายป้อม บุญมี | พ.ศ. 2525-2530 | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 5 ปี |
4.นายดวงแก้ว เทพวงศ์ | พ.ศ. 2530-2549 | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 13 ปี |
5.นายจรัญ พรมมา | พ.ศ. 2549-2551 | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 3 ปี |
6.นายบุญ แปงคำ | พ.ศ. 2551-2556 | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 5 ปี |
7.นายหลั่น มีสา | พ.ศ. 2556-2561 | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 5 ปี |
8.นายสุเกียรติ พรมมา | พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน |
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านป่าแฝกกลางเหนือ หมู่ที่ 9 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จ.พะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านแม่เย็นใต้ หมู่ที่ 1 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จ.พะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านใหม่คือ หมู่ที่ 7 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จ.พะเยา
สภาพพื้นที่ตั้งบ้านแม่เย็นนอกเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดพะเยา-เชียงราย ด้านตะวันออกติดกับอุทยานแห่งชาติแม่ปืม ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และด้านตะวันตกติดกับอุทยานแห่งชาติดอยหลวง อำเภอพาน จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นต้นน้ำของลำน้ำอิงและแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ลำห้วยแม่เย็น เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,460 ตารางกิโลเมตร
บริเวณชุมชนบ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่มส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือน ใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านปูนชั้นเดียว สัตว์ที่เลี้ยงไว้ขายและเป็นอาหาร ได้แก่ ไก่ วัว เป็นต้น และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่ สุนัข แมว เป็นต้น มีสุสาน 1 แห่ง สำนักสงฆ์ดวงเจริญ 1 แห่ง ร้านขายของชำ 4 ร้าน โรงสี 2 แห่ง โรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง บริษัท ไทย เอ.ดี.ฟู้ดส์ 1 แห่ง
ห่างจากตัวเมืองจังหวัดพะเยา 38 กิโลเมตร ปัจจุบันการเดินทางสามารถเดินทางได้สะดวก มีถนนลาดยาง สองข้างทางเป็นหมู่บ้าน ไฟข้างทางยังไม่เพียงพอหากเดินทางตอน กลางคืน ในหมู่บ้านเส้นทางที่ไปทำนา ทำสวน เป็นถนนลาดยาง และมีถนนลูกรังเล็กน้อย ประชากรส่วนใหญ่ ใช้รถจักรยานหรือ รถจักรยานยนต์ในการเดินทางไปทำงานไร่นาในสวน หรือภายในหมู่บ้านและหมู่บ้าน ใกล้เคียง หากต้องเข้าในตัวเมืองว่านใหญ่จะใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัว
ในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนครัวเรือน 155 ครัวเรือน จำนวนประชากร 217 คน แยกเป็นเพศชาย 107 คน เพศหญิง 110 คน
มีบ้านเรือนทั้งหมด 155 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้บางครัวเรือนยังมีอาชีพเสริม เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว ประชาชนในหมู่บ้าน นับถือศาสนาพุทธหมดทุกหลังคาเรือน
การประกอบอาชีพ อาชีพหลักของครัวเรือน ได้แก่ เกษตรกรรม ข้าราชการ รับจ้างทั่วไป ค้าขาย และ ประกอบกิจการ อาชีพเสริมหรืออาชีพรอง ได้แก่ ค้าขาย ทำสวนผัก ทำสวนผลไม้ ร้านขายของชำ จำนวน 4 ร้าน มีฉางข้าว ลานตากข้าว จำนวน 1 แห่ง
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากหมู่บ้านมีพื้นที่ติดทุ่งนา มีแหล่งน้ำในการทำการเกษตร ส่วนใหญ่จึงมีรายได้จากการทำเกษตรกรรม
โครงสร้างทางสังคมที่เป็นทางการ
นายสุเกียรติ พรมมา เป็นกำนันตำบลป่าแฝก มีผู้ช่วย 3 คน คือ นายชำนาญ ฟูด้วง (ผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ) นายชุมพล ปวนทา (ฝ่ายปกครอง) นายสมศักดิ์ (ฝ่ายปกครอง)
กลุ่ม/กองทุนของหมู่บ้านแม่เย็นนอก หมู่ที่ 8 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีจำนวน 7 กลุ่ม/กองทุน ได้แก่
- กองทุนหมู่บ้าน (กองทุนเงินล้าน) นายสว่าง เทพพายัพ (ประธาน) จำนวนสมาชิก 160 คน
- กลุ่มฌาปนกิจ สมาชิกทุกหลังคาเรือน
- กลุ่ม อพปร./ชรบ นายสว่าง เทพพายัพ (ประธานอพปร.) นายดวงจันทร์ ตาคำ (ประธาน ชรบ.) จำนวนสมาชิก 10 คน
- กลุ่มตำรวจบ้าน จำนวนสมาชิก 10 คน
- กลุ่มพัฒนาสตรี (แม่บ้าน) นางณลดา จันวันใจ (ประธาน) จำนวนสมาชิก 10 คน
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) นางอารดา พรมภิบาล (ประธาน) จำนวนสมาชิก 16 คน
- กลุ่มผู้สูงอายุ นายหลั่น มีสา (ประธาน)
1.นายเทา อินจันทร์
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2501 เป็นคนบ้านแม่เย็นนอกตั้งแต่กำเนิด เป็นบุตรของพ่อเสนา อินจันทร์ เสียชีวิตเมื่อปี 2536 และแม่เมตตา อินจันทร์ เสียชีวิตเมื่อปี 2533 มีพี่น้องร่วมกันทั้งหมด 3 คน ได้แก่ แม่สุก บุญเรือง เป็นพี่สาวคนโต แม่สมพร ศรีสมพงษ์ เป็นพี่สาวคนกลาง ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านแม่เย็น ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดพะเยา และพ่อเทาเป็นลูกชายคนสุดท้อง พ่อเทา มีบุตรทั้งหมด 2 คน ปัจจุบันพ่อเทาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมานาน พ่อเทาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจักสานไม้ไผ่มาจากบิดาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ทำให้พ่อเทามีความชำนาญด้านการจักสานมานาน เช่น สุ่มไก่ ตะกร้า เป็นต้น
ลำห้วยแม่เย็น เป็นลำน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำแม่ปืม นอกจากใช้ลำห้วยแม่เย็นเป็นเขตแบ่งระหว่างบ้านแม่เย็นตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดพะเยา กับบ้านแม่เย็นนอก ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา แล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังใช้ลำน้ำแห่งนี้ใช้การใช้ทำเกษตรกรรม เช่น การทำนา การปลูกพืชผักทางการเกษตร
วัดแม่เย็น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2408 ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดพะเยา แต่ชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่เย็นนอก ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่เย็นนอก หมู่ที่ 8 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่ดั้งเดิม ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้มีผู้สูงอายุอาศัยเป็นส่วนใหญ่ แต่ก่อนเด็ก ๆ ในหมู่บ้านไปศึกษาที่โรงเรียนบ้านแม่เย็นเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ได้ปิดทำการ จึงทำให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านต้องย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนปูแกง ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน รศ.129
เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ เรียบเรียง An Asian Arcady: Land and People of Northern Siam อ้างอิงจาก “จดหมายเหตุเมืองพะเยา” หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ, พ.ศ. 2556
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ยุบอำเภอแม่ใจและอำเภอดอกคำใต้. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 505. 23 ธันวาคม 2460
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481
พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 26 เล่ม 64 : 1114- 1430. 10 มิถุนายน 2490
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คำตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 33 เล่ม 69 : 1479-80. 27 พฤษภาคม 2495
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 80 ตอนที่ 14: 221- 222. 5 กุมภาพันธ์ 2506
พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอดอกคำใต้.อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน พุทธศักราช 2508. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 82 ตอนที่ 59 : 565-569. 14 พฤศจิกายน 2508
พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 354-372. 12 ตุลาคม 2541