ชุมชนและวัดเก่าแก่สำคัญใจกลางเมืองสงขลา กับสถาปัตยกรรมที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ และเสน่ห์วัฒนธรรมท้องถิ่น
ตั้งชื่อชุมชนตามชื่อวัดเก่าแก่สำคัญที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณชุมชน
ชุมชนและวัดเก่าแก่สำคัญใจกลางเมืองสงขลา กับสถาปัตยกรรมที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ และเสน่ห์วัฒนธรรมท้องถิ่น
ชุมชนศาลาหัวยางในอดีตมีชื่อชุมชนว่า "บ้านหลากลาง" โดยเรียกจากพื้นที่ชุมชนในอดีตนับหลาลุงแสงเป็นหลาแรกและหลาจาก หมายถึงการมุงหลังคาด้วยจาก ซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลประสาทในปัจจุบัน ต่อมาหมู่บ้านหลากลางมีการขยายตัวของชุมชนมากขึ้น และมีพัฒนาการของชุมชนตามความเจริญก้าวหน้าของสังคมเมืองสงขลา มีการตัดถนน (ถนนไทรบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการเดินทางผ่านไปยังปาดังเบซาร์ เมืองไทรบุรี และประเทศมาเลเซีย ชุมชนบ้านหลากลางจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อชุมชนเป็น "ชุมชนวัดหลาหัวยาง" ตามชื่อวัดสำคัญที่มีมาแต่โบราณที่ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนนั้น และได้เรียกชื่อเพี้ยนเป็น "ศาลาหัวยาง" และกลายมาเป็นชื่อวัดและชื่อชุมชนในปัจจุบัน
ชุมชนศาลาหัวยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 154,614.00 ตารางเมตร เป็นชุมชนสังคมเมืองขนาดใหญ่ที่มีการอาศัยอยู่ของประชากรและการสร้างบ้านเรือนอย่างหนาแน่น มีถนนสายสำคัญตัดผ่านชุมชน ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญและหน่วยงานราชการหลายแห่ง ชุมชนศาลาหัวยางมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อของชุมชน ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนเตาหลวง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนไทรบุรี ซอย 11
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนไทรบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนราษฎร์อุทิศ 1
ชุมชนศาลาหัวยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีประชากรอยู่อาศัยในชุมชนเป็นจำนวนมาก การตั้งบ้านเรือนมีความหนาแน่น โดยมีจำนวนครัวเรือนในชุมชนทั้งหมด 746 ครัวเรือน มีประชากรชาย จำนวน 777 คน มีประชากรหญิง จำนวน 877 คน และมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 1,654 คน
ชุมชนศาลาหัวยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เนื่องจากเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ มีประชากรอยู่อาศัยจำนวนมาก การประกอบอาชีพของสมาชิกในชุมชนจึงมีความแตกต่างและมีความหลากหลายในกลุ่มอาชีพ โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย และอาชีพรับราชการในองค์กรต่าง ๆ และนอกจากนี้ประชากรส่วนหนึ่งของชุมชนก็มีการประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว และอาชีพรับจ้างทั่วไป ชุมชนศาลาหัวยางมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 87,158 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 57,243 บาท/ปี
1.นางธนพร ลัดดาวัลย์ ปราชญ์ชุมชนด้านการแพทย์แผนไทย
2.นายลอย สุลาตะโก ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น (การทำเว่าพื้นบ้าน)
3.นางวันดี ศักแสงโสภา ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น (การปักผ้าปะเต๊ะ)
แหล่งทุนเศรษฐกิจสนับสนุนชุมชน
- กลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท
สถานที่สำคัญของชุมชน
- โรงเรียนเทศบาล 3 (วัดศาลาหัวยาง)
- วัดศาลาหัวยาง
วัดศาลาหัวยาง
วัดศาลาหัวยาง สร้างขึ้นเมื่อประมาณช่วงปี พ.ศ. 2300 สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยความร่วมมือรวมใจของชาวบ้านในการก่อสร้างวัดจนแล้วเสร็จ ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ว่า "วัดหลาหัวยาง" ในด้านการศึกษา ทางวัดให้หน่วยงานราชการใช้พื้นที่บริเวณวัดส่วนหนึ่งจัดสร้างเป็นโรงเรียนเทศบาล 3 (วัดศาลาหัวยาง) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 โดยในระยะแรกใช้ศาลาการเปรียญเป็นอาคารเรียน
วัดศาลาหัวยางเป็นวัดเก่าแก่ดั้งเดิม และมีความสำคัญวัดหนึ่งของเมืองสงขลา มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ ทั้งพระอุโบสถ และอาคารต่าง ๆ ภายในวัด มีศิลปกรรมที่แสดงถึงฝีมีของช่างโบราณที่มีความประณีตบรรจงในการสร้างสรรค์ประดับตกแต่งอาคารให้มีความงดงามน่าประทับใจ
เทศบาลนครสงขลา. (2564). แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนศาลาหัวยาง เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
มหัศจรรย์ Songkhla กับพระราม. (2564). วัดศาลาหัวยาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/
สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2562). วัดศาลาหัวยาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
หลงเสน่ห์อาคารเก่า. (2556). วัดศาลาหัวยาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/