Advance search

หลังวัดอุทัยธาราม

วัดอุทัยธาราม พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์กับเส้นทางการคมนาคมเมืองสงขลาในอดีต และพัฒนาการทางสังคมและชุมชนท้องถิ่น

วัดอุทัยธาราม
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
11 มี.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
11 มี.ค. 2024
หลังวัดอุทัยธาราม

ตั้งชื่อชุมชนตามชื่อวัดที่มีมาแต่โบราณในบริเวณพื้นที่ชุมชน


วัดอุทัยธาราม พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์กับเส้นทางการคมนาคมเมืองสงขลาในอดีต และพัฒนาการทางสังคมและชุมชนท้องถิ่น

วัดอุทัยธาราม
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
90000
เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1510
7.188433627519174
100.59725878891967
เทศบาลนครสงขลา

ชุมชนหลังวัดอุทัยธาราม เดิมเป็นพื้นที่เดียวกันกับชุมชนท่าสะอ้าน ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีผู้คนอยู่อาศัยจำนวนมาก และมีความหนาแน่นแออัดในหลายพื้นที่ของชุมชน อาณาเขตชุมชนกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่เขตคลองสำโรง พื้นที่ฝั่งทะเลสาบสงขลาเข้ามาถึงถนนสายหลักที่ตัดผ่านเข้าไปยังเมืองสงขลา (ถนนไทรบุรี) บริเวณที่ตั้งชุมชนหลังวัดอุทัยธารามปัจจุบัน ด้วยเหตุที่พื้นที่ชุมชนมีบริเวณกว้างขวางการจัดการดูแลชุมชนของคณะกรรมการอาจไม่ทั่วถึงและครอบคลุม การพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า ด้านระบบสาธารณูปโภคและการบริการอื่น ๆ อาจไม่ครอบคลุมเต็มที่เท่าที่ควร ภายหลังจึงได้มีการแบ่งแยกชุมชนออกจากชุมชนท่าสะอ้านเดิม ออกเป็น 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนท่าสะอ้าน ชุมชนสวนมะพร้าว และชุมชนหลังวัดอุทัย (วัดอุทัยธาราม) เพื่อให้มีความสะดวกและจัดการดูและชุมชนได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง สามารถพัฒนาศักยภาพชุมชนได้อย่างเต็มที่ จึงกลายเป็นชุมชนหลังวัดอุทัยธารามในปัจจุบัน

ชุมชนหลังวัดอุทัยธาราม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 76,385.60 ตารางเมตร ชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเขตเทศบาลนครสงขลา มีการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยค่อนข้างแออัด มีถนนสายหลักของเมืองสงขลาตัดผ่านชุมชนด้านทิศตะวันออก (ถนนไทรบุรี) ถัดออกไปไม่ไกลทางด้านทิศตะวันตกติดกับทะเลสาบสงขลา ชุมชนอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญและหน่วยงานราชการในเมืองสงขลาหลายแห่ง โดยชุมชนหลังวัดอุทัยธารามมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนไทรบุรี ซอย 3
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนเตาหลวง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนไทรบุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนเตาหลวง ซอย 5

ชุมชนหลังวัดอุทัยธาราม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนเมืองที่มีการอยู่อาศัยของประชากรอย่างหนาแน่น โดยมีการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยค่อนข้างแออัดและมีจำนวนครัวเรือนในชุมชนทั้งหมด 393 ครัวเรือน มีประชากรชาย จำนวน 562 คน มีประชากรหญิง จำนวน 560 คน และมีจำนวนประชากรในชุมชนรวมทั้งสิ้น 1,122 คน 

ชุมชนหลังวัดอุทัยธาราม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายเป็นอาชีพหลัก และมีสมาชิกบางส่วนของชุมชนประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพรอง หรือเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ในครอบครัว และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนหลังวัดอุทัยธารามเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับทะเลสาบสงขลา ประชากรส่วนหนึ่งของชุมชนจึงยึดอาชีพประมงแบบพื้นบ้านเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ในครัวเรือนของชุมชน นอกจากนี้สมาชิกในชุมชนยังมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุชุมชนหลังวัดอุทัยธาราม ฯลฯ โดยชุมชนหลังวัดอุทัยธารามมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 205,496 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 81,242 บาท/ปี

ชุมชนหลังวัดอุทัยธาราม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่ร่วมกิจกรรมกับส่วนรวมทางสังคมอยู่เสมอ ทั้งกิจกรรมด้านประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น งานเทศกาลต่าง ๆ หรือวันสำคัญทางศาสนา โดยมีวัดอุทัยธารามเป็นแหล่งศูนย์รวมศรัทธาชุมชน รวมไปถึงชาวบ้านจากชุมชนใกล้เคียงด้วย และเทศบาลนครสงขลาที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประชาชนชาวสงขลาได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรม เทศกาลท้องถิ่น เช่น ประเพณีลอยกระทง สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ประเพณีชักพระเทศบาลนครสงขลา ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น

1.นายมิ่ง จันทร์นุกูล ปราชญ์ชุมชนด้านการแพทย์แผนไทย/สมุนไพร

2.นายประสิทธิ์ มณีโชติ ปราชญ์ชุมชนด้านศาสนา (กรรมการวัด)

3.นางนฤมล เซ่งขุนทอง ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณี/งานฝีมือ

4.นายวิเชียว เชี่ยวชาญ ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ

5.นายยงยุทธ รุ่งเรือง ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ

6.นายชาญ เชี่ยวชาญ ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ

7.นางจุลีพร ศรียวง ปราชญ์ชุมชนด้านการจัดทำอาหาร/การถนอมอาหาร

8.นายเริงวิทย์ ปิสิตะโร ปราชญ์ชุมชนด้านศาสนา/ขนบธรรมเนียมประเพณี

9.ร.ต.ต. สวัสดิ พวงแก้ว ปราชญ์ชุมชนด้านข้อมูลชุมชนท้องถิ่น

ทุนทางวัฒนธรรม/สถานที่ท่องเที่ยว

วัดอุทัยธาราม เป็นวัดขนาดเล็ก ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์พัฒนาการของเมืองสงขลา วัดอุทัยธารามปรากฏในแผนที่เขตเทศบาลเมืองสงขลาปี 2478 มีความสำคัญในฐานะเป็นจุดผ่านทางสำคัญของการคมนาคมของเมืองสงขลาในอดีต ถึงแม้จะไม่ได้มีความสำคัญในด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมเหมือนวัดสำคัญอื่น ๆ ในจังหวัดสงขลา แต่รูปแบบลักษณะโบสถ์ หอระฆัง ก็มีเอกลักษณ์งามแปลกตา และน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

วัดอุทัยธารามเป็นวัดสำคัญที่อยู่ในทำเลที่ตั้งการเดินทางของเส้นทางสายหลักผ่านเมืองสงขลา หากเดินทางจากหาดใหญ่มายังเมืองสงขลา เมื่อข้ามคลองสำโรงเข้าสู่เขตเทศบาลนครสงขลา ตามเส้นทางถนนไทรบุรีผ่านวัดศาลาหัวยาง และวัดอุทัยธารามเป็นด่านแรกก่อนเข้าสู่ย่านตัวเมืองสงขลา ในอดีตหน้าวัดอุทัยเป็นจุดจอดรถโดยสารที่มีเส้นทางการเดินรถระหว่างหาดใหญ่กับสงขลา ดังปรากฏหลักฐานบัตรคิวระบุเวลาการเดินทางจากหาดใหญ่ถึงวัดอุทัย 

นอกจากนี้บริเวณหน้าวัดอุทัยยังเป็นจุดตัดของทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลา กับถนนไทรบุรี ซึ่งนับเป็นจุดตัดแห่งแรกเมื่อเข้าสู่เขตเทศบาล ในตอนที่ยังมีการให้บริการเดินรถไฟสายสงขลาอยู่ ทางการรถไฟได้สร้างป้ายหยุดรถหน้าวัดอุทัยขึ้น ตรงหลักกิโลเมตรที่ 956.68 ซึ่งเป็นป้ายหยุดรถที่ใกล้กับสถานีสงขลามากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณด้านใต้ของเมืองสงขลา ไม่ต้องเดินทางไกลเข้าไปถึงสถานีสงขลา โดยป้ายหยุดรถวัดอุทัยมีอยู่ทั้งสองฝั่งของถนนไทยบุรี สันนิษฐานว่ารถไฟขาขึ้นและขาล่องคงจะเลือกจอดคนละฝั่งถนนสำหรับให้ประชาชนใช้บริการ วัดอุทัยธารามจึงเป็นทั้งศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนในจังหวัดสงขลา และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางรางมาเป็นเวลานาน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นิราศเทพา

นายกระจ่าง แสงจันทร์ หรือ ก.แสงจันทร์ ครูรุ่นเก่าของโรงเรียนมหาวชิราวุธ เคยแต่งกลอนนิราศเทพา เมื่อตอนไปทำสำมะโนครัวที่เทพา เมื่อ พ.ศ. 2460 ว่า

"...ถือเอาพุทธดำรัสกำจัดโศก ห้ามวิโยคยึดพระธรรมเทศนา พอถึงวัดอุทัยใกล้ศาลา มองหายาอุทัยมิได้ยลเคยได้รับเคยชะโลมโสมนัส ยินชื่อวัดว่าอุทัยใจฉงน แต่ยานี้แก้ข้างฝ่ายร้อนกายสกนธ์ จะผ่อนปรนร้อนใจไหนจะคลายเพราะร้อนรักหนักยิ่งสิ่งทั้งหมด เพียงโอสถหรือจะหักให้รักหาย ด้วยอาวรณ์ร้อนรนจนตัวตาย ทั้งหญิงชายมีดื่นนับหมื่นพัน..."

ข้อความในนิราศเทพาจึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า วัดอุทัยมีมาก่อนปี 2460 

เทศบาลนครสงขลา. แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนหลังวัดอุทัยธาราม เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/2020/ 

เรื่องราวหาดใหญ่. (2564). วัดอุทัยธาราม กับการพัฒนาเมืองสงขลา. Hatyaifocus. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 จาก https://www.hatyaifocus.com/