บ้านแม่ใสเหนือ ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ เดิมอยู่รวมกับบ้านแม่ใส หมู่ที่ 2 ก่อนภายหลังได้แยกตัวมาตั้งเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง
บ้านแม่ใสเหนือ ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ เดิมอยู่รวมกับบ้านแม่ใส หมู่ที่ 2 ก่อนภายหลังได้แยกตัวมาตั้งเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง
เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลดฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310
ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
ประมาณ พ.ศ. 2320 ชาวบ้านได้เล่าสืบต่อกันมาว่า ได้มีราษฎร ย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านป่ายะ และบ้านทุ่งน้ำโท้ง อำเภอเมือง จังหวัดลำปางในปัจจุบัน โดยพ่อหนานสุนันต๊ะ ต่อมาได้นามสกุลชุ่มวงศ์ เป็นผู้นำได้ชักชวนชาวบ้านสร้างศาลาเป็นที่พำนักสงฆ์ (วัดแม่ใส) ปัจจุบันตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 พ่อท้าว ต่อมาได้นามสกุล เมืองมา, พ่อเฒ่าแสนวงศ์, พ่อปู่ขัน, พ่อปู่มา, พ่อปู่แสนนนท์ และพ่อท้าวใจวัง ได้นำครอบครัวมาตั้งรกรากปักฐานครั้งแรกจำนวนประมาณ 12 ครอบครัว โดยตั้งชื่อว่าบ้านนางเหลียว พื้นที่บ้านแม่ใสแห่งนี้ได้มีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ไผ่และป่าไม้นานาพรรณจำนวนมากโดยมีลำน้ำแม่ใสและลำน้ำร่องแหย่งไหลผ่านทำให้พื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดประกอบกับมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด อาทิเช่น วัวแดง, เก้ง, กวาง, เสือ, หมี, อีเห็น, กระรอก, นกยูงและสัตว์อื่น ๆ อีกมากมายและในขณะเดียวกันลำน้ำแม่ใส เป็นลำน้ำสายหลัก ที่คนแม่ใสได้อาศัยเป็นแหล่งน้ำ ทำการเกษตรกรรมทำนา, ทำไร่,ทำสวนและใช้อุปโภค บริโภคตลอด
พ.ศ. 2330 พระเจ้าเมืองอังวะสั่งให้อะแซวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่นเมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองพะเยารวมเข้าด้วย เจ้านายและประชาชนตื่นตกใจต่างก็พากันอพยพครอบครัวหลบหนีข้าศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปาง ครอบครัวชาวเมืองเชียงราย ไปตั้งอยู่ที่ตรง 5 แยกเมืองลำปาง ได้ร่วมกันสร้างวัดโดยถือเอาตามนามเมืองเดิมที่มาจากเชียงรายว่า "วัดเชียงราย" มาจนบัดนี้ ฝ่ายครอบครัวของชาวเมืองปุเมืองสาดที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านวัดเมืองศาสตร์ ส่วนชาวเมืองพะเยาได้อพยพไปตั้งหลักอยู่บ้านปงสนุกด้านใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำวัง คือ บ้านปงสนุก เมืองพะเยาในสมัยนั้นในบริเวณตัวเมืองรกร้างไปเป็นเวลานานถึง 56 ปี
พ.ศ. 2340 ลูกหลานญาติพี่น้องของพ่อท้าวเมืองมา และพ่อเฒ่าแสนวงศ์ จากเมืองเขลางค์นครลำปาง ได้ทราบข่าวจึงได้มีการอพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่เพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ประกอบกับคนทางเมืองแพร่, เมืองน่านและเมืองเชียงราย ได้ทราบข่าวถึงความอุดมสมบูรณ์นี้ จึงได้มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน มาอยู่เพิ่มเติมจึงเกิดเป็นชุมชนบ้านเรือนที่มีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านแม่ใสหลวง" ประกอบกับพื้นที่ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านแม่ใสจะเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่จึงได้มีการจัดพื้นที่ทำนาโดยพื้นที่นี้ว่า "นาทุ่งหลวง" (นาโต้งหลวง)
พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)
พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่นเจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา
พ.ศ. 2438 พระยาราชวรานุกูล กระทรวงมหาดไทย นำเจ้าอุปราชเจ้าราชภาติกวงษ์ เจ้าสุริยวงษ์เมืองนครลำปาง กับพระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อรายงานตัวไปรักษาราชการบ้านเมือง (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 : 493. 5 มีนาคม ร.ศ.114)
พ.ศ. 2443 ได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็นมณฑลพายัพซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าตะวันตกเฉียงเหนือครอบคลุมพื้นที่อาณาเขตของอดีตอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้มีการรวมหัวเมือง ประกอบด้วย 6 หัวเมือง ได้แก่ 1.) เมืองนครเชียงใหม่ (ครอบคลุมพื้นที่ เมืองแม่ฮ่องสอน และเมืองเชียงราย) 2.) เมืองนครลำปาง (ครอบคลุมพื้นที่เมืองพะเยา และเมืองงาว 3.) เมืองนครลำพูน 4.) เมืองนครน่าน (ครอบคลุมพื้นที่เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองเชียงคำ และเมืองปง 5.) เมืองนครแพร่ 6.) เมืองเถิน (ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ยุบลงรวมเข้ากับเมืองนครลำปาง)
พ.ศ. 2443 ขึ้นเป็น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นมณฑลพายัพ ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2443
พ.ศ. 2444 ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองนครลำปาง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีผู้คนเป็นจำนวนมากสมควรจัดให้เป็นบริเวณหนึ่ง และจัดให้มีข้าหลวงประจำบริเวณ และให้รวมเมืองพะเยา เมืองงาว รวมเมืองเข้าเป็นบริเวณหนึ่ง เรียกว่า "บริเวณพะเยา" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศรีสมัตถการ ซึ่งรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยกรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม รศ.120)
พ.ศ. 2453 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน รศ.129)
พ.ศ. 2460 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศลงวันที่ 19 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2459 ให้เปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ผู้ว่าราชการเมืองเรียกว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" อำเภอเรียกตามชื่อตำบลที่ตั้งว่าการอำเภอนั้น อำเภอพะเยา เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นอำเภอเมืองพะเยา ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 40-68. 29 เมษายน 2460
พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน ๖ฯ๗-๑๒๘๓-๒๔๖๕ วันที่ ๗ เมษายน บันทึกไว้ว่า ตำบลบ่อแฮ้ว มีนายหลาน นาแพร่ เป็นกำนัน มีหมู่บ้านบ่อแฮ้ว บ้านแม่ใส บ้านร่องไฮ บ้านสันป่าถ่อน บ้านแม่ใสเหล่า การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยา ในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล บ้านแม่ใส ยังอยู่ในตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)
พ.ศ. 2481 อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพราะราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือยุบตำบลบ่อแฮ้ว โดยรวมตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ และหมู่บ้านที่ 4, 5, 6, 7 ตำบลจำป่าหวาย หมู่บ้านที่ 7 ตำบลแม่ต๋ำ หมู่บ้านที่ 6 ตำบลในเวียง แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลแม่นาเรือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481 บ้านแม่ใสเดิมที่อยู่ในตำบลบ่อแฮ้วที่ถูกยุบรวม จึงเป็นบ้านแม่ใส ตำบลแม่นาเรือ อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย
และในปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อเรียกอำเภอเมืองพะเยา เป็นอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)
พ.ศ. 2482 กรมประมงจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำอิง บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองพะเยา แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2484 คือสถานีประมงพะเยาปัจจุบัน ทำให้น้ำท่วมไร่นา บ้านเรือน วัด โบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ ในอาณาบริเวณบ้านร่องไฮเดิมก็ถูกน้ำท่วมเป็นบางส่วน ประชาชนหลายครอบครัวจึงอพยพบ้านเรือนขึ้นมาเหนือน้ำ หนองน้ำธรรมชาติขนาดเล็ก ใหญ่ จำนวน 5 หนองน้ำ คือ หนองน้ำสันธาตุร่องไฮ, หนองสันกว้าน ทุ่งกิ่ว, หนองเอี้ยง, หนองเหนียว, รวมทั้งทุ่งนาหลวง "นาทุ่งหลวง" (นาโต้งหลวง) จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "นาทุ่งกว๊าน" (นา โต้งกว๊าน) ในเวลาต่อมากลายเป็นกว๊านพะเยาในปัจจุบัน ได้ถูกรวมเปลี่ยนไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่เฉลี่ย 17-18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณกว่า 12,000 ไร่ เป็นกว๊านพะเยา
พ.ศ. 2484 ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำอิงที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา ทำให้ระดับน้ำกว๊านพะเยาเพิ่มสูงขึ้นและไหลท่วมพื้นที่หมู่บ้านบริเวณชายกว๊าน จึงได้มีการจัดสร้างฝ่ายกั้นน้ำขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ในสมัยนั้นยังไม่มีสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นจะใช้สมุนไพรในการรักษาและใช้เวทมนตร์คาถาร่วมด้วย โดยมีหมอเมืองซึ่งเป็นหมอประจำหมู่บ้านเป็นผู้ให้การรักษา
ในเวลาต่อมาพ่อท้าวใจวังได้เห็นว่า พื้นที่ทางด้านทิศใต้ของบ้านแม่ใสหลวง มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสม ที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงวัว, เลี้ยงควายและทำเป็นปางวัว ปางควาย จึงได้ย้ายครอบครัวออกไปสร้างบ้านเรือน อยู่ที่นั่น พร้อมกับได้มีคนอื่น ๆ ได้ย้ายติดตามจึงตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นใหม่อีกหนึ่งหมู่บ้าน โดยตั้งชื่อว่า "บ้านแม่ใสทุ่งวัวแดง" (ตั้งตามสภาพพื้นที่นี้มีวัวป่าซึ่งเป็น "วัวแดง" อาศัยอยู่จำนวนมาก) ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของบ้านแม่ใสหลวง ได้มีพ่อเฒ่าแสนวงศ์ ได้ย้ายครอบครัวออกไปสร้าง บ้านเรือนอยู่ที่นั่นด้วยเพราะเห็นว่าพื้นที่นี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ขั้นหนาแน่นเป็น "ป่าเหล่า" และมีพื้นที่ดินเหนียวที่เหมาะสมแก่การประกอบอาชีพปั้น อิฐมอญ และได้มีผู้คนได้ย้ายสร้างบ้านเรือนสมทบขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้ ก่อตั้งเป็นหมู่บ้าน "แม่ใสเหล่า" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พ.ศ. 2504 การฝังศพในหมู่บ้านจะใช้กว๊านพะเยาฝั่งทิศใต้ในการฝังศพ ย้ายจากกว๊านพะเยามาใช้พื้นที่ป่าช้าของหมู่บ้านในการฝังศพ เนื่องจากน้ำในกว๊านมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาท่วมบริเวณที่ฝังศพ ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดโรคระบาดจึงย้ายสถานที่และเปลี่ยนจากการฝังศพมาเป็นการเผาศพ โดยเริ่มจากการนำอิฐมาก่อต่อมาจึงเริ่มมีการสร้างเมรุและเปลี่ยนมาใช้เมรุจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2514 มีรถจักรยานยนต์คันแรกของหมู่บ้าน
พ.ศ. 2515 มีโทรทัศน์และโทรศัพท์เครื่องแรกของหมู่บ้าน
พ.ศ. 2516 น้ำท่วมครั้งที่ 2 ในฤดูน้ำหลาก น้ำฝนตกซุกระดับน้ำในกว๊านพะเยาขึ้นสูง จึงมีการปิดกั้นฝ่ายที่กว๊านพะเยาเพื่อป้องกันน้ำจากกว๊านขึ้นมา ส่งผลให้น้ำไม่มีทางระบาย ทำให้น้ำไหลท่วมพื้นที่หมู่บ้านเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก
พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา) และในปีเดียวกันนั้นได้เริ่มก่อตั้งสำนักงานผดุงครรภ์อนามัยแม่ใส
พ.ศ. 2522 ตั้งตำบลแม่ใส โดยแยกออกมาจากตำบลแม่นาเรือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 96 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 142 : 1-17. 16 สิงหาคม 2522 ในขณะนั้นบ้านแม่ใสเหนือยังเป็นหมู่บ้านเดียวกับบ้านแม่ใส หมู่ 2
พ.ศ. 2535 ยังใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น หลังจากนั้นได้มีปั๊มดึงแทนการตัก และมีน้ำประปา เพื่อใช้ใน การอุปโภคบริโภคครั้งแรก
พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กำหนดเขตตำบลแม่ใส ในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 8 หมู่บ้าน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214 - 247. 12 ตุลาคม 2541
หลังจากนั้นได้แยกหมู่บ้าน จากหมู่ 2 เป็นหมู่ 9 เรียกว่า บ้านเหนือ (แม่ใสเหนือ) มีนายบุญทัน ยะตา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีการทำถนนลาดยางครั้งแรก
พ.ศ. 2545 มีนายอนันต์ อินตาโน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2
พ.ศ. 2547 สร้างศาลาอเนกประสงค์ปรำจำหมู่บ้าน
พ.ศ. 2554 เกิดอุทกภัยในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2555 นายสมฤทธิ์ ยะนา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3
พ.ศ. 2564 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโคโรน่าไวรัส ทำให้ชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและวิถีชีวิต ชาวบ้านจะอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ไปในพื้นที่แออัด มีการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์และประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน
ปัจจุบัน นายสุวรรณ ดวงแก้วเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
บ้านแม่ใสเหนือหมู่ 9 ตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา จากบ้านแม่ใสเหนือถึงที่ว่าการอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร มีถนนหลวงจังหวัดสาย 1193 (แม่นาเรือ-แม่ ใจ) เป็นถนนสายหลักเชื่อมติดต่อกับตำบลหมู่บ้าน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ มีพื้นที่อาศัย 342 ไร่ พื้นที่ ทำนา 200 ไร่
การคมนาคมภายในและภายนอกหมู่บ้าน การคมนาคมระหว่างบ้านแม่ใสเหนือ ตำบลแม่ใส สู่ตัวอำเภอและจังหวัด สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นถนนลาดยาง สายแม่ต๋ำ-แม่นาเรืออำเภอเมืองจังหวัดพะเยาระยะทางระหว่างตำบลกับตัวอำเภอเมืองพะเยาและโรงพยาบาลพะเยาจังหวัดพะเยามีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ถนนที่ใช้ติดต่อภายในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยางตลอดสายสามารถเดินทางได้สะดวก ประชาชนในหมู่บ้านใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการเดินทางในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นส่วนใหญ่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ กว๊านพะเยา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านร่องคำน้อย ตำบลแม่นาเรือ และพื้นที่ตำบลแม่กา อ.เมือง จ.พะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านร่องไฮ ตำบลแม่ใส และแม่ต๋ำบุญโยง ต.แม่ต๋ำ กา อ.เมือง จ.พะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านซ่อน ตำบลแม่นาเรือ และบ้านบ่อแฮ้ว หมู่ 5 ตำบลแม่ใส กา อ.เมือง จ.พะเยา
1.นายแก้วมูล ยะตา ปราชณ์ด้านการเกษตร น้ำหมักชีวภาพ โดยมีประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี
2.นายดิเรก วงศ์ภูริวัฒน์ ปราชญ์ด้านการเกษตร การทำเกษตรผสมผสาน โดยมีประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส. (ม.ป.ป.). ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลแม่ใส. https://maesaiphayao.go.th/
พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ.129
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ยุบอำเภอแม่ใจและอำเภอดอกคำใต้. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 505. 23 ธันวาคม 2460
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481
พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 26 เล่ม 64 : 1114- 1430. 10 มิถุนายน 2490
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คำตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 33 เล่ม 69 : 1479-80. 27 พฤษภาคม 2495
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 80 ตอนที่ 14: 221- 222. 5 กุมภาพันธ์ 2506
พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอดอกคำใต้.อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน พุทธศักราช 2508. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 82 ตอนที่ 59 : 565-569. 14 พฤศจิกายน 2508
พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 354-372. 12 ตุลาคม 2541