สุขภาพดี พัฒนาสังคม ชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง
นายพรานคนหนึ่ง ได้ออกไปล่าสัตว์ ไปพบทองคำท่อนหนึ่งขวางลำน้ำห้วย จึงเอามีดไปฟันเพื่อจะให้ขาดจากกันเป็นชิ้น ๆ แต่ในขณะนั้นก็มีหญิงคนหนึ่งออกหาปลาตามลำน้ำห้วยขึ้นไป ก็ไปเจอนายพรานบั่นทองเข้าจึงเข้าไปขอทองบ้าง แต่นายพรานไม่ยอมแบ่งให้เป็นชิ้นแต่ให้เป็นเศษให้เอากระชอนปลาตักเอาทองที่ตก หญิงหม้ายก็ทำตาม พอได้ก็กลับบ้านปล่อยให้นายพรานบั่นทองอยู่คนเดียว นายพรานก็บั่นไปเรื่อย ๆ จนทองคำแท่งนั้นขาดเดชะบุญอะไรมิทราบ พอทองคำขาดจากกันเท่านั้น ก็เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นทองคำยุบหายเข้าฝั่งทั้งสอง เหลือแต่ความว่างเปล่า เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ห้วยนั้นจึงได้ชื่อว่า "ห้วยร่องคำ" และห้วยร่องคำนี้สมัยก่อนเป็นห้วยที่หล่อเลี้ยงชาวบ้าน เพราะลำน้ำห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านได้ทำไร่ทำสวนทำนา น้ำไหลผ่านตลอดปี พื้นที่ลุ่มห้วยก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชธัญญาหาร ชาวบ้านไม่ได้เดือดร้อน เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า "หมู่บ้านร่องคำหลวง"
สุขภาพดี พัฒนาสังคม ชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง
เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังกราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วย แว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า "เวียง" ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนา โดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝายเดียวกัน โดยที่พันนาจัน คือบริเวณตำบลบ้านงิ้ว บ้านสาง บ้านตุ่น บ้านเลิง บ้านสานหลวง และ บ้านสันดอนมูล (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 1985 ในยุคที่เมืองภูกามยาวสิ้นกษัตริย์ปกครองและเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนา รัชสมัยของพระเจ้าตีโลกราชครองเมืองเชียงใหม่ ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ได้แผ่ขยายอำนาจลงไปทางใต้ยกกองทัพปราบเมืองสองแคว เมืองเซลียง เมืองสุโขทัย ตลอดเมืองกำแพงเพชร ให้อยู่ในอำนาจทั้งหมดได้ทำศึก กับพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงสุโขทัย ฝ่ายเจ้าเมืองสองแควพระยาอุทิศเจียงได้สวามิภักดิ์พระเจ้าตีโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา จึงได้กวาดต้อนเอาผู้คน ช่างปั้นดินเผาชาวเซลียง ชั่งปั้นถ้วยชามเครื่องเคลือบสังคโลก อันเป็นศิลปะของกรุงสุโขทัยขึ้นไปหนเหนือ กระจายอยู่ตามหัวเมือง ต่างปรากฏหลักฐานถ้วยชามเคลือบสังคโลกเก่า อันเป็นศิลปะของกรุงสุโขทัย บริเวณหุ่งกู่บ้านโช้ และเตาเผาโบราณที่ตำบลแม่กา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2034 รัชสมัยพระยายอดเชียงราย ครองอาณาจักรล้านนาทรงแต่งตั้งให้พระยาเมืองยี่ครองเมืองพะเยา และแบ่งการปกครองออกเป็น 36 พันนา ซึ่งประวัติศาสตร์ตำบลแม่นาเรือ ปรากฏหลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อได้พบศิลาจารึกของการสร้างวัดนางหมื่น ซึ่งเป็นวัดพระมหากษัตริย์สร้างขึ้นมา เมื่อสร้างเสร็จได้พระราชทานครัวเรือน 10 ครัวเรือน เป็นข้าวัด (คำว่านางหมื่น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า เจ้าสี่หมื่น เป็นชื่อยศของเจ้าเมืองพะเยา นางหมื่นนั้นคือกษัตริย์ผู้เป็นสตรี) ที่ตั้งวัดนางหมื่นอยู่บริเวณวัดโบสถ์ หมู่ที่ 11 ตำบลแม่นาเรือ ปรากฏกู่เก่าเจดีย์ทั้งสี่ทิศ ตรงกลางสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวิหารใหญ่ ปัจจุบันถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถเห็นได้ว่าเป็นรูปร่างของวัด (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
ในยุคนั้นหลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้ การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลดฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 พญากาวิละปกครองบ้านเมืองโดยมีการกู้ล้านนาจากพม่า เนื่องจากมีการรบกบฏจากพม่าล้านนาตะวันออกจึงมีการขอให้คนลำปางมาช่วยรบ
พ.ศ. 2111 พระเจ้าบุเรงนองขึ้นมาเป็นใหญ่ในหงสาวดีได้แผ่ขยายอำนาจทั่วอาณาจักรล้านนา และกรุงศรีอยุธยา ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่เมืองพะเยาและพื้นที่วัดนางหมื่นรกร้างไป
พ.ศ. 2343 โดยประมาณ ชาวเมืองลำปาง ชาวเมืองน่าน ชาวเมืองแพร่ อพยพมาอยู่ร่วมกัน เกิดเป็นหมู่บ้านใหญ่เรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านศรีเมืองชุม" โดยให้ชาวฝาง เป็นผู้นำหมู่บ้าน และได้สถาปนาชื่อวัดเป็น วัดศรีเมืองชุม ต่อมาทุกครั้งในช่วงฤดูน้ำเจิ่งนอง ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาด "เสียงคนร้องไห้โหยหวน ต่อจากนั้นมีเรือผีร่องตามน้ำห้วยแม่นาเรือตามมา" สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งลำห้วยเป็นจำนวนมาก ก่อตั้งหมู่บ้านร่องคำ และมีพระครูศรีวิลาสบุกเบิกสร้างวัดร่องคำหลวง (วัดศรีชุม – สุวรรณราช)
พ.ศ. 2417 (ร.ศ. 93) เมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง มณฑลลาวเฉียง ที่ยังเป็นเมืองประเทศราชของสยาม มีเมืองในมณฑล ประกอบด้วย นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน แพร่ เถิน
พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เมื่อทรงปฏิรูปการปกครองประเทศ พ.ศ. 2435 ได้มีการยกเลิกหัวเมืองประเทศราชของสยาม (โดม ไกรปกรณ์, ม.ป.ป.) โดยที่สยามนำเอาระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมาใช้ส่งผลให้หัวเมืองประเทศราชบางส่วน คือล้านนาถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ ในขณะนั้นเมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง
พ.ศ. 2437 ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่ตั้งขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยการปกครองแบบ "เทศาภิบาล" หรือ "มณฑลเทศาภิบาล" จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) โดยเนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับนี้คือให้รวมหัวเมืองทั้งหมดมาไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย การวางรากฐานการปกครองแบบ "มณฑล" เริ่มขึ้นในปี 2417 เมืองพะเยา เมืองเชียงราย จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง
พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้มีการรวมหัวเมือง ประกอบด้วย 6 หัวเมือง ได้แก่ (1.) เมืองนครเชียงใหม่ (ครอบคลุมพื้นที่ เมืองแม่ฮ่องสอน และเมืองเชียงราย) (2.) เมืองนครลำปาง (ครอบคลุมพื้นที่เมืองพะเยา และเมืองงาว (3.) เมืองนครลำพูน (4.) เมืองนครน่าน (ครอบคลุมพื้นที่เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองเชียงคำ และเมืองปง (5.) เมืองนครแพร่ (6.) เมืองเถิน ขึ้นเป็น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ (มณฑลเทศาภิบาล, wikipedia)
พ.ศ. 2444 ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองนครลำปาง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีผู้คนเป็นจำนวนมากสมควรจัดให้เป็นบริเวณหนึ่ง และจัดให้มีข้าหลวงประจำบริเวณ และให้รวมเมืองพะเยา เมืองงาว รวมเมืองเข้าเป็นบริเวณหนึ่ง เรียกว่า "บริเวณพะเยา" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หลวงศรีสมัตถการ ซึ่งรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยกรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม รศ.120
พ.ศ. 2448 พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีโทรเลขมาว่า ได้ปรึกษากับเค้าสนามหลวงนครลำปางเห็นพร้อมกันว่า ควรจะยกเลิกกองบริเวณพะเยา ให้คงมีแต่แขวงพะเยา แขวงดอกคำใต้ แขวงแม่ใจ รวม 3 แขวง ขึ้นตรงต่อบริเวณพายัพเหนือ จะเป็นการสะดวกแก่การบังคับบัญชา แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน รศ.124
พ.ศ. 2453 ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน รศ.129)
พ.ศ. 2457 ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนเสนาบดี ส่วนจังหวัดให้คงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดไว้ตามเดิน แต่ให้กระจายอำนาจการปกครองส่วนย่อย ๆ ออกไปเป็นตำบลหมู่บ้าน ตำแหน่งหัวหน้าตำบลเรียกว่า "เจ้าแคว่น" "แคว่น" (กำนัน) ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า "แก่บ้าน" (ผู้ใหญ่บ้าน) ที่นิยมเรียกกันว่า "พ่อหลวง" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงแต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาและได้รับแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์เป็นรองอามาตย์โทยุนสิทธิประศาสน์ เป็นนายอำเภอคนแรกมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์จัดการศึกษา การอาชีพและบำรุงพุทธศาสนา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) ขณะนั้นอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย มี 21 ตำบล โดยประกอบไปด้วย ตำบลเวียง ตำบลแม่ต๊ำ ตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านตุ่น ตำบลสาง ตำบลสันป่าม่วง ตำบลต๋อม ตำบลต๊ำ ตำบลสันกกก ตำบลแม่ปืม ตำบลจำป่าหวาย ตำบลใหม่ ตำบลน้ำย้อยหอยโข่ง ตำบลดงเจน ตำบลห้วยลาน ตำบลร่องจว่า ตำบลช้างหิน ตำบลถ้ำ ตำบลปิน (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2460 บ้านศรีเมืองชุมได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "บ้านแม่นาเฮือ" สาเหตุเกิดจากสภาพของนา ที่เป็นนาร้าง คนโบราณเรียกว่านาเฮี้ย เมื่อพูดไปนาน ๆ ก็เพี้ยนเป็นนาเฮือ ประกอบกับชาวบ้านสันช้างหินได้ขึ้นมาตัดไม้เพื่อที่จะทำเป็นเรือใช้ในการประมง ต่อมามีผู้รู้ภาษาไทยขนานนามใหม่สอดคล้องกับพื้นที่หมู่บ้านที่มีแม่น้ำไหลผ่านใหม่ว่า "บ้านแม่นาเรือ" ต่อมาได้ขยายหมู่บ้านไปทำไร่ ไถนา เลี้ยงสัตว์ เกิดเป็นหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านไร่ บ้านร่องคำ บ้านร่องคำหลวง บ้านโช้ บ้านสันป่าสัก
พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน ๖ฯ๗-๑๒๘๓-๒๔๖๕ วันที่ ๗ เมษายน การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล บันทึกไว้ว่า ตำบลแม่นาเรือ มีพ่อหนานอินทร สารเร็ว เป็นกำนัน มีหมู่บ้านแม่นาเรือ บ้านไร่ บ้านร่องคำหลวง บ้านโซ้ บ้านซ่อน บ้านสันป่าสัก (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2479 ได้มีการเปิดการเรียนการสอน ที่วัดแม่นาเรือ โดยเปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมีพระอธิการทองอินทร์ อินต๊ะปัญญาเป็นผู้สอน และชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งศาลเจ้าพ่อร้อยฆ้อง
พ.ศ. 2481 ตั้งตำบลแม่นาเรือ ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือ รวมตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ และหมู่บ้านที่ 4, 5, 6, 7 ตำบลจำป่าหวาย หมู่บ้านที่ 7 ตำบลแม่ต๋ำ หมู่บ้านที่ 6 ตำบลในเวียง แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลแม่นาเรือ (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481)
และในปีเดียวกัน เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพะเยา เปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481
พ.ศ. 2483 แยกหมู่บ้านบางส่วน จากตำบลแม่นาเรือ คือหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5 และหมู่บ้านที่ 30, 31, 32, 34 ตำบลดอกคำใต้ แล้วรวมจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ตั้งชื่อว่าตำบลจำป่าหวาย จัดเป็น 9 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773 – 8 . 12 พฤศจิกายน 2483
พ.ศ. 2499 สร้างโรงเรียนบ้าน ร่องคำหลวง
พ.ศ. 2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา มาพัฒนาการหลายอย่าง เช่นปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ต๋อม ต๊ำและตำบลใหม่ 28 ก.ม. ติดต่อกับเขตอำเภอแม่ใจ (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2505 มีการจัดตั้งสำนักงานผดุงครรภ์ตำบลแม่นาเรือ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2505
พ.ศ. 2513 ยกฐานะจากสำนักงานผดุงครรภ์เป็นสถานีอนามัยตำบลแม่นาเรือ ซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2513
พ.ศ. 2514 มีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านครั้งแรก โดยชาวบ้านร่วมกันตัดไม้เพื่อมาทำเสาไฟฟ้า
พ.ศ. 2517 มีการเปลี่ยนจากถนนลูกรังเป็นถนนคอนกรีตเข้ามาในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรตั้งจังหวัดพะเยาขึ้น ให้แยกอำเภอพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ ออกจากการปกครองของจังหวัดเชียงรายรวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอพะเยา เป็นอำเภอเมืองพะเยา มีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา)
พ.ศ. 2539 ตั้งสถานีอนามัยบ้านร่องคำหลวง เนื่องจากสถานีอนามัยแม่นาเรือมีขอบเขตความรับผิดชอบหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง มีการจัดอบรม อสม. รุ่นแรก ปัจจุบันรับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2 บ้านโซ้ หมู่ที่ 3 บ้านร่องคำหลวง หมู่ที่ 4 บ้านร่องคำน้อย หมู่ที่ 5 บ้านไร่ หมู่ที่ 12 บ้านร่องคำดง หมู่ที่ 13 บ้านไร่สันจำปา และหมู่ที่ 15 บ้านร่องคำศรีชุม มีนายณัฐภูมิ คำมี เป็นผู้อำนวยการ
พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ดังต่อไปนี้ อำเภอเมืองพะเยา กำหนดเขตตำบลแม่นาเรือ ในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 13 หมู่บ้าน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214 - 247. 12 ตุลาคม 2541 หลังจากนั้นบ้านร่องคำศรีชุม หมู่ที่ 15 ได้แยกออกจากบ้านร่องคำหลวง หมู่ ที่ 3 ผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายเนตร กลมมา แต่วิถีชีวิตและการใช้สาธารณประโยชน์ยังร่วมกัน เช่น วัดร่องคำหลวงที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน
เดิมบ้านร่องคำหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านร่องคำศรีชุม ห่างจากหมู่บ้านที่อยู่ปัจจุบัน 2 กม. เดิมนั้นชื่อ "กู่ป่าลัน" มีวัดที่เก่าแก่ และพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนที่สวยงาม และของเก่าที่ล้ำค่าอีกมากมาย มีหมู่บ้านอยู่ประมาณ 20 ครอบครัวเรือน ส่วนมากแล้วจะเป็นเชื้อสายเงี้ยว ลั๊วะ ลื้อ ไทยใหญ่ เวลาต่อมาได้เกิดสงครามได้มีการรบราฆ่าฟันกัน จึงทำให้หมู่บ้านและวัดกู่ป่าลันสูญเสียหาย จากการเกิดภัยพิบัติครั้งนั้น ชาวบ้านบางคนที่ยังมีชีวิต ได้พากันมาตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่รวมทั้งพ่อค้าวาณิชย์ต่าง ๆ ที่ได้สัญจรผ่านไปมา มาจากฝาง-ลำปาง-เชียงใหม่-น่าน มาร่วมกันจัดตั้งหมู่บ้าน ห่างจากเดิมมาทางทิศตะวันออก 2 กม. (ที่ตั้งปัจจุบัน) มีประมาณ 8-10 ครัวเรือน มีชื่อที่เล่าขานกันว่าชื่อ ยาสมุด ต่อมาได้นามสกุลอุตมา พ่อถาแม่เกี๋ยง ผู้เฒ่าแหว้น แม่ปา พ่อตึง แม่ขอด เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่แห่งหนึ่งภายในตำบล ตั้งขึ้นมาประมาณ พ.ศ. 2202 หรือประมาณ 300 กว่าปีมาแล้วได้ชื่อว่า "บ้านบป่าคำ" มีวัดชื่อ "วัดศรีจุม" ต่อมาประชากรมากเข้าเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "บ้านสุวรรณภูมิ " วัดเปลี่ยนชื่อเป็น "สุวรรณราช" และเวลาต่อมา หมู่บ้านมีความเจริญขึ้นจึงได้ร่วมกัน เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า "ร่องคำหลวง" ก่อนที่จะได้ชื่อร่องคำหลวง ก็มีประวัติมาว่าได้มีนายพรานคนหนึ่ง ได้ออกไปล่าสัตว์ ไปพบทองคำท่อนหนึ่งขวางลำน้ำห้วย จึงเอามีดไปฟันเพื่อจะให้ขาดจากกันเป็นชิ้น ๆ แต่ในขณะนั้นก็มีหญิงคนหนึ่งออกหาปลาตามลำน้ำห้วยขึ้นไป ก็ไปเจอนายพรานบั่นทองเข้าจึงเข้าไปขอทองบ้างแต่นายพรานไม่ยอมแบ่งให้เป็นชิ้นแต่ให้เป็นเศษให้เอากระชอนปลาตักเอาทองที่ตก หญิงม้ายก็ทำตาม พอได้ก็กลับบ้านปล่อยให้นายพรานบั่นทองอยู่คนเดียว นายพรานก็บั่นไปเรื่อย ๆ จนทองคำแท่งนั้นขาดเดชะบุญอะไรมิทราบ พอทองคำขาดจากกันเท่านั้น ก็เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นทองคำยุบหายเข้าฝั่งทั้งสอง เหลือแต่ความว่างเปล่า เหมือนไม่มีอะไร เกิดขึ้น ห้วยนั้นจึงได้ชื่อว่า"ห้วยร่องคำ" ต้นกำเนิดห้วยนั้นอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ3-4กม. และห้วยร่องคำนี้สมัยก่อนเป็นห้วยที่หล่อเลี้ยงชาวบ้าน เพราะลำน้ำห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านได้ทำไร่ทำสวนทำนา น้ำไหลผ่านตลอดปี พื้นที่ลุ่มห้วยก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชธัญญาหาร ชาวบ้านไม่ได้เดือดร้อน เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า "หมู่บ้านร่องคำหลวง"เป็นชื่อเดิมและชื่อปัจจุบันตามประวัติความเป็นมา
บ้านร่องศรีชุม ตั้งอยู่ที่หมู่ 15 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านร่องคำหลวง หมู่ 3 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านร่องคำน้อย หมู่ 4 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ ทุ่งนาบ้านร่องคำหลวง หมู่ 3 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ ทุ่งนา หมู่ 15
จากการสำรวจบ้านร่องศรีชุม ตั้งอยู่หมู่ที่ 15 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีครัวเรือนที่อาศัยอยู่ทั้งหมด 114 ครัวเรือน โดยแบ่งเป็นชาย 220 คน หญิง 258 คน ใช้ภาษาท้องถิ่น (คำเมือง) และไทยกลางในการสื่อสาร สภาพความเป็นอยู่เป็นสังคมชนบทกึ่งเมือง การปลูกบ้านที่อยู่อาศัยอยู่แบบความสัมพันธ์เครือญาติ ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ บ้านเรือนแต่ละหลังล้อมรอบด้วยรั้วติด ๆ กัน
นายเนตร กลมมา ผู้ใหญ่บ้าน
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีนายเปล่ง หาญสุข เป็นประธาน มี อสม. รวมประธานทั้งสิ้น 15 คน
- อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (อกม.) นายปรีชา นาระจิตต์ เป็นประธาน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้สูงอายุ มีนายนุช วงค์ปัญญา เป็นประธาน มีสมาชิก 85 คน
- กลุ่มประปาหมู่บ้าน นายเนตร กลมมา เป็นประธาน
- กลุ่มพัฒนาสตรี (กลุ่มแม่บ้าน) นางสุวิมล จรรยาเป็นประธาน
- กลุ่มฌาปณกิจสงเคราะห์ นายบุญธรรม ค้าสม เป็นประธาน
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต นายทรงสิทธิ์ นนท์ศรี เป็นประธาน
- กองทุนหมู่บ้าน (กองทุนเงินล้าน) นายเนตร กลมมา เป็นประธาน
กิจกรรมเกษตรกรรม 1 รอบปี
- เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม) ปลูกผัก
- เดือนยี่ (พฤศจิกายน) ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เก็บเกี่ยวข้าวโดยส่วนใหญ่จ้างรถเกี่ยวข้าวมาเกี่ยวข้าวของในนาของตนเอง
- เดือนอ้าย (ธันวาคม) เก็บเกี่ยวข้าวและข้าวโพดที่ปลูกไว้ มีการเก็บฟางข้าวโดยผู้ชายจะรับจ้างขนฟางและผู้หญิงจะรับจ้างมัดฟางข้าว และมีการไถ่กลบ พักหน้าดิน
- เดือนสี่ (มกราคม) เก็บพันธุ์พืชมาพักไว้สำหรับเตรียมปลูกและรับจ้างทั่วไป
- เดือนห้า (กุมภาพันธ์) ต้นปีชาวบ้านจะเก็บพันธุ์พืชมาพักไว้สำหรับเตรียมปลูกและรับจ้างทั่วไป
- เดือนหก (มีนาคม) ปลูกพืชผัก เช่น ขิง มันสำปะหลัง เผือก ที่เป็นพืชที่เหมาะสมกับช่วงหน้าแล้ง
- เดือนเจ็ด (เมษายน) หาของป่า เช่น กระรอก หมูป่า นก
- เดือนแปด (พฤษภาคม) หาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้
- เดือนเก้า (มิถุนายน) เริ่มปลูกพืชผัก เช่น หอมแดง ต้นหอมจีน ข้าวโพด ในพื้นที่ไร่ของตนเอง
- เดือนสิบ (กรกฎาคม) เริ่มเตรียมพื้นที่ทำนา ไถ่หน้าดินและจะทำนาโดยการทำนาหว่าน
- เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม) ดูแลนาข้าวและปลูกผัก เช่น ผักกาดข้าว ผักชี ผักคะน้า ขึ้นฉ่ายเพื่อนำไปขาย
- เดือนสิบสอง (กันยายน) ดูแลนาข้าวของตนเองและจะเก็บผักที่ปลูกไว้เพื่อนำไปขายเป็นรายได้เสริม
ในรอบ 1 ปี ของชาวบ้านบ้านร่องคำศรีชุม หมู่ที่ 15 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีกิจกรรมทั้งต้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เทศกาลประจำปี ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน มีดังนี้
- เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม) ทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดร่องคำหลวง เนื่องในวันออกพรรษา และมีการให้ศีลให้พรอุทิศส่วนบุญกุศล ให้กับผู้ล่วงลับ หรือกรรมนายเวร
- เดือนยี่ (พฤศจิกายน) ประเพณียี่เป็ง เข้าวัดฟังเทศน์ที่วัดร่องคำหลวง มีการทอดกฐิน หลังออกพรรษาโดยทำแค่ปี
- เดือนสาม (ธันวาคม) ทำบุญตักบาตร เนื่องในวันพ่อแห่งชาติและเทศกาลส่งท้าย ปีเก่า ลูกหลาน ญาติพี่
- เดือนสี่ (มกราคม) ตานข้าวใหม่ วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี มีการทำบุตรตักบาตรที่วัดร่องคำหลวง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว ซึ่งการทำบุญในวันขึ้นปีใหม่นี้รวมไปถึงการ ทำบุญถวายข้าวใหม่ ประชาชนที่มาทำบุญนำข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วก่อนที่นำมารับประทาน ต้องนำข้าวใหม่มาทำบุญที่วัดก่อน เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านเรียกว่า “ตานขันข้าว” (ถวายสังฆทาน) หลังจากนั้นซาวบ้านนำข้าวใหม่ที่นี่งเสร็จแล้วหรือข้าวสารใหม่ รวมทั้งอาหารที่ปรุงในครอบครัวไปมอบให้ญาติผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในหมู่บ้านที่เป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เพื่อขอพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ จึงสามารถนำข้าวใหม่มารับประทานได้ ซึ่งการรับประทานข้าวใหม่ต้องดูฤกษ์ตามหลักจันทรคติว่าต้องการรับประทานได้ในวันใด (ขึ้น แรม กี่ค่ำ) จึงจะทำให้ข้าวน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ในปีต่อไปการทานข้าวใหม่เป็นประเพณีที่ กระทำหลังจากชาวนาทำข้าวเก็บใส่ยุ้งแล้ว และก่อนที่จะนำข้าวมาบริโภค จะนิยมนำข้าวไปทำบุญก่อนเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ เทพยดา แม่โพสพ ตลอดจนบรรพบุรุษที่ส่วงลับไปแล้ว ประเพณีการทานข้าวใหม่ จะทำในเดือนสี่เหนือ ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม ข้าวที่นำไปทำบุญอาจทำในรูปของขนม เช่น ข้าวต้มมัด ขนมเทียนข้าวหลาม ข้าวแต๋นเป็นต้น
- เดือนห้า (กุมภาพันธ์) วันมาฆบูชา ในวันมาฆบูชานี้ ประชาชนในหมู่บ้านจะพากันนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวัดร่องคำหลวง
- เดือนหก (มีนาคม) เริ่มมีพิธีทอดผ้าป่าของชุมชนบ้านร่องคำศรีชุม
- เดือนเจ็ด (เมษายน) ปีใหม่เมืองหรือประเพณีสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านเรียกว่า "ปีใหม่เมือง" ใน
- วันที่ 13 เป็นวันพญาวันจะมีการสืบชะตา โดยชาวบ้านบ้านร่องคำหลวงศรีชุมจะเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมการต่ออายุให้อายุยืนนานและต้องการให้เป็นมงคล มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยทั้งหลาย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป วันที่ 14 จะเป็นวันเนาหรือวันเน่า เป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย ด่ากัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ ผู้หญิง ผู้สูงอายุมีหน้าที่เตรียมอาหาร ขนม ผู้ชายเตรียมไม้ค้ำศรี (ไม้ค้ำต้นโพธิ์) ช่วงบ่ายมีการขนทรายเข้าวัด วันที่15 เป็นตาย ที่เรียกว่า ตานขันข้าว เช่นเดียวกับวันที่ 1มกราคม มีการตานตุงหรือถวายตุง ปักเจตีย์ทราย ตำหัว คารวะผู้ใหญ่ การสรงน้ำพระธาตุ พระสถูปเจดีย์พระพุทธรูป การตานไม้ค้ำศรี ในช่วงบ่ายหลังจากการทำบุญที่วัดเสร็จ ชาวบ้านนำดอกไม้ ธูป เทียนน้ำส้มป่อย (ส้มป่อย เป็นพืชสมุนไพรที่ผู้คนในท้องถิ่นล้านนา ยกย่องให้คุณค่าแก่การเก็บรักษา เชื่อว่าสามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายเภทภัยต่าง 1 ให้หมดไปจากตัวและบ้านเรือนได้ รดน้ำ ดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อและผู้อาวุโสในครอบครัวก่อน จากนั้นจึงไปรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสหรือผู้ที่เคารพนับถือในหมู่บ้านหลังจากครอบครัวนำบรรพบุรุษ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วรวมทั้งพระพุทธรูปที่กราบไหว้ภายในบ้าน นำมาสรงน้ำเพื่อขอขมาลาโทษ ขอพรด้วยการนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำส้มป่อยในการประกอบอาชีพ
- วันที่ 14 หรือ 15 เป็นวันปากปี๊ เป็นพิธีการสะเดาะเคราะห์ครั้งใหญ่ของทั้ง 3 หมู่บ้านได้แก่ หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 15 โดยการนำเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาสับรวมกัน ข้าว ผลไม้ อาหารต่าง ๆ ใส่ในสะตวง โดยทำทั้งหมด 4 สะตวงสำหรับถวายเทพทั้ง 4 ทิศ ในวิหาร เพื่อปัดเป่าภัยอันตรายที่จะเข้ามาทั้ง 4 ทิศ หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุขและยังเป็นการทำความรู้จักกันของเครือญาติ สร้างความสามัคคีของวัยรุ่นในหมู่บ้านทั้ง 3 หมู่
- เดือนแปด (พฤษภาคม) เชื่อว่าเป็นเดือนที่ดีเหมาะแก่การสร้างบ้าน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่เหมาะสมกับการทำการลงทุนหรือเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมกันจัดพิธีทำบุญใหญ่หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า
- เดือนเก้า (มิถุนายน)
- ประเพณีไหว้ศาลเจ้าพ่อร้อยฆ้อง โดยจะทำใน (เดือน 9 ออก 13 ค่ำ) โดยชุมชนบ้านร่องคำหลวงศรีชุมจะประกอบพิธีโดยการถวายไก่ต้ม และนำดอกไม้ ธูปเทียน จุดบูชา
- ประเพณีไหว้เจ้าพ่อแสนเมือง และประเพณีไหว้ศาลเจ้าข้อมือเหล็ก โดยจะทำร่วมกับอีก 2 หมู่บ้านที่อยู่ติดกันคือหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 12 ถวายดอกไม้ธูปเทียน สะตวง และผ้าสีต่าง ๆ
- ประเพณีแห่ช้างเผือก เหมือนการเสี่ยงทาย ทำนายโซคชะตาในหมู่บ้านทั้ง 3 หมู่ เกี่ยวกับการทำการเกษตรโรคระบาดต่าง ๆ ความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน โดยจะมีการแห่ช้างเผือกที่ทำจากโครงเหล็กสีเผือกจากวัดร่องคำหลวงไปยังที่ประทับของร่างทรงหรือบริเวณลานในหมู่บ้านเพื่อประทับร่างทรง รวมถึงเป็นการขอฝนของคนในชุมชนโดยการนิมนต์พระ 4 รูป เทศธรรมะที่ท่าน้ำ
- เดือนสิบ (กรกฎาคม)
- วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้านบางส่วนจะถือศีล โดยเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดมนต์ทาวัตรเช้า-เย็น โดยวิปัสสนาธรรมทุก 1 วันพระที่ วัดร่องคำหลวง
- วันอาสาฬหบูชา โดยชาวบ้านบ้านร่องคำหลวงศรีชุมมีการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า ไปวัดรับศีล งดการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน หรือให้ทาน ฟังธรรมเทศนาเวียนเทียนรอบอุโบสถในเวลาเย็นที่วัดร่องคำหลวง
- เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม) ร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันแม่แห่งชาติและร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน
- เดือนสิบสอง (กันยายน) ไม่มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเนื่องจากเชื่อว่าเป็นเดือนในการปล่อยผีและปล่อยเปรต
1.นายอุดม หาญสุข ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน, ด้านศิลปวัฒนธรรม
2.นายมา ทะปัญญา ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม
วัดร่องคำหลวง (วัดศรีจุม-สุวรรณราช) นั้น ผู้ที่ได้ก่อสร้างขึ้นครั้งแรกนั้นคือ "พระครูบาศรีวิลาศ"ท่านเป็นผู้ที่ใด้บุกเบิกสร้างรากฐานของวัดไว้ ประวัติความเป็นมาของท่านนั้นไม่แน่ชัด ต่อมาท่านได้ย้ายไปประจำวัดหลวง (ศรีโคมคำ) พอท่านไปก็มีท่านพระครูบาปัญญา ได้มาทำการบูรณะต่อจากท่านพระครูบาศรีวิลาศจนท่านได้มรณภาพ วัดช่วงนี้ได้ชื่อวัดสุวรรณราช พอท่านจากไปก็มีท่านพระครูบาธิ ท่านได้เปลี่ยนชื่อจากสุวรรณราช มาเป็นวัดร่องคำหลวง และได้บูรณะมาตลอด จนถึงท่านได้มรณภาพ และต่อ ๆ มาก็ได้มีท่านพระอธิการอีกหลายท่าน ที่ได้เจริญรอยตาม ท่านได้ช่วยกันพัฒนาวัดร่องคำหลวง ให้มีความเจริญรุ่งเรืองไว้เป็นที่เชิดหน้าชูตาที่กราบไหว้สักการบูชาไว้ทำประเพณีทางพุทธศาสนาสืบต่อๆ มาจนถึงเท่าทุกวัน ปัจจุบันมีพระธรรมธร ศิริชัย เป็นอาวาสได้ทำการบูรณะ
ภาษาล้านนา ภาษาไทยกลาง
ศรัทธา ศาลเจ้าพ่อร้อยฆ้อง ต้นมะค่ายักษ์ ต้นมะค่ายักษ์ อายุมากกว่า 300 ปี บริเวณศาลเจ้าพ่อร้อยฆ้อง ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นมะค่ายักษ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และชาวบ้านนับถือ ที่ผ่านมามีชาวบ้านจำนวนมากขอโชคลาภ และประสบผลสำเร็จ จนนำดอกไม้ธูปเทียนรวมทั้งพวงมาลัย ผ้าเจ็ดสี เข้าทำการกราบไหว้บูชา
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
เชียงใหม่นิวส์. (2562, 30 เมษายน). ชาวบ้านแห่ขอโชคลาภต้นมะค่ายักษ์ ศาลเจ้าพ่อร้อยฆ้อง อายุมากกว่า 300 ปี. เชียงใหม่นิวส์. https://www.chiangmainews.co.th/
กว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเมืองพะเยา. (2562, 14 สิงหาคม). อ่างเก็บน้ำแม่นาเรือ. Facebook https://www.facebook.com/
รายงานการวินิจฉัยชุมชน. (2564). บ้านร่องคำศรีชุม หมู่ที่ 15 ตำบลแม่นาเรือ อ.เมือง จ.พะเยา. นักศึกาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา
โดม ไกรปกรณ์. (ม.ป.ป.). หัวเมืองประเทศราช. ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/
มณฑลพายัพ. (ม.ป.ป.). วิกิพีเดีย. https://th.wikipedia.org/wiki
มณฑลเทศาภิบาล. (ม.ป.ป.). วิกิพีเดีย. https://th.wikipedia.org/wiki/
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม รศ.120
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน รศ.124
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน รศ.129
พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481
พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773 – 8 . 12 พฤศจิกายน 2483
พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520