Advance search

แห่ไม้ค้ำศรี ประเพณีโบราณ เชี่ยวชาญตีมีด ปั้นอิฐสินค้าออกส่งขายนอก ผักตบชวาจักสานนำหน้า พัฒนาตำบลแม่ใส

หมู่ที่ 1
บ้านร่องไฮ
แม่ใส
เมืองพะเยา
พะเยา
อบต.แม่ใส โทร. 0-5488-9909
กลยุทธ ศรีคำตุ้ยและคณะ
19 ต.ค. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
บ้านร่องไฮ

การตั้งชื่อหมู่บ้านมีคำบอกเล่าว่า เมื่อสมัยก่อนบ้านร่องไฮมีลำน้ำร่องไฮไหลผ่านกลางหมู่บ้าน จากการสัมภาษณ์ทำให้ทราบว่า ลำน้ำร่องไฮนี้แต่เดิมเป็นทางชักลากไม้ โดยชาวบ้านในสมัยก่อนใช้ช้างลากไม้จากป่าไปสู่ลำน้ำอิง หรือหนองเอี้ยง ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกว๊านพะเยา แล้วให้ไม้ซุงเหล่านี้ไหลไปตามน้ำ จากการชักลากจึงทำให้เกิดเป็นร่องและเมื่อถึงฤดูฝนจึงทำให้เกิดการเซาะกร่อนของดินมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปนานจึงเกิดเป็นร่องน้ำขึ้น และมีต้นไทรใหญ่ซึ่งขึ้นอยู่เรียงกัน ทางภาคเหนือหรือภาษาพื้นเมืองเรียกต้นไทรว่า "ตันไฮ" จึงตั้งชื่อตามร่องน้ำที่มีต้นไฮ ขึ้นว่า "ร่องไฮ" จนมาถึงทุกวันนี้


ชุมชนชนบท

แห่ไม้ค้ำศรี ประเพณีโบราณ เชี่ยวชาญตีมีด ปั้นอิฐสินค้าออกส่งขายนอก ผักตบชวาจักสานนำหน้า พัฒนาตำบลแม่ใส

บ้านร่องไฮ
หมู่ที่ 1
แม่ใส
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.148834828460082
99.88795198054498
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส

เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลตฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310

ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พ.ศ. 2330 พระเจ้าเมืองอังวะสั่งให้อะแซวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองพะเยารวมเข้าด้วย เจ้านายและประชาชนตื่นตกใจต่างก็พากันอพยพครอบครัวหลบหนีข้าศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปาง ครอบครัวชาวเมืองเชียงราย ไปตั้งอยู่ที่ตรง 5 แยกเมืองลำปางเดี๋ยวนี้ ได้ร่วมกันสร้างวัดโดยถือเอาตามนามเมืองเดิมที่มาจากเชียงรายว่า "วัดเชียงราย" มาจนบัดนี้ ฝ่ายครอบครัวของชาวเมืองปุเมืองสาดที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านวัดเมืองศาสตร์เดี๋ยวนี้ส่วนชาวเมืองพะเยาได้อพยพไปตั้งหลักอยู่บ้านปงสนุกด้านใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำวัง คือ บ้านปงสนุกเดี๋ยวนี้ เมืองพะเยาในสมัยนั้นในบริเวณตัวเมืองรกร้างไปเป็นเวลานานถึง 56 ปี

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2443 ได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็นมณฑลพายัพซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าตะวันตกเฉียงเหนือครอบคลุมพื้นที่อาณาเขตของอดีตอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้มีการรวมหัวเมือง ประกอบด้วย 6 หัวเมือง ได้แก่ 1.) เมืองนครเชียงใหม่ (ครอบคลุมพื้นที่ เมืองแม่ฮ่องสอน และเมืองเชียงราย) 2.) เมืองนครลำปาง (ครอบคลุมพื้นที่เมืองพะเยา และเมืองงาว 3.) เมืองนครลำพูน 4.) เมืองนครน่าน (ครอบคลุมพื้นที่เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองเชียงคำ และเมืองปง 5.) เมืองนครแพร่ 6.) เมืองเถิน

ขึ้นเป็น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นมณฑลพายัพ ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าตะวันตกเฉียงเหนือ (มณฑลเทศาภิบาล, th.wikipedia.org/wiki) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2443

พ.ศ. 2444 ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองนครลำปาง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีผู้คนเป็นจำนวนมากสมควรจัดให้เป็นบริเวณหนึ่ง และจัดให้มีข้าหลวงประจำบริเวณ และให้รวมเมืองพะเยา เมืองงาว รวมเมืองเข้าเป็นบริเวณหนึ่ง เรียกว่า "บริเวณพะเยา" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศรีสมัตถการ ซึ่งรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยกรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม รศ.120)

พ.ศ. 2453 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน รศ.129)

พ.ศ. 2458 มีกลุ่มชนที่มาตั้งหลักฐานในหมู่บ้านมาจากบ้านท่ากว๊าน ในต.เวียงพะเยา ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวไร่ปลายนาประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ประมาณ 10-20 ครัวเรือน ซึ่งต้นตระกูลแรกที่มาตั้งบ้านเรือนคือ ตระกูลชุ่มคำลือต่อมาเป็น ชุ่มลือ แล้วต่อมาก็มีประชากรเริ่มอพยพมาจากบ้านกาดเมฆอำเภอเมืองจังหวัดลำปางมาทำมาหากินตั้งถิ่นฐานโดยการนำเอาวัฒนธรรมการตีมีดมาด้วยจนทำให้เป็นอาชีพของชาวบ้านร่องไฮซึ่งประชากรที่อพยพมาจากลำปาง เริ่มมาเมื่อ พ.ศ. 2458

เดิมชุมชนเดิมชุมชนบ้านร่องไฮ พื้นที่ในชุมชนบ้านร่องไฮยังเป็นป่าไม้รัง ไม้ไผ่ ไม้ทองกวาว และไม้เบญจพรรณ เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้มีกลุ่มชนที่มาตั้งหลักถิ่นฐานในหมู่บ้านมาจากบ้านท่ากว๊าน ต.เวียงพะเยา ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวไร่ปลายนาประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ประมาณ 10-20 ครัวเรือน ซึ่งต้นตระกูลแรกที่มาตั้งบ้านเรือนคือ ตระกูล ชุ่มคำลือ ต่อมาเป็น ชุ่มลือ 

พ.ศ. 2460 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศลงวันที่ 19 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2459 ให้เปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ผู้ว่าราชการเมืองเรียกว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" อำเภอเรียกตามชื่อตำบลที่ตั้งว่าการอำเภอนั้น อำเภอพะเยา เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นอำเภอเมืองพะเยา (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 40-68. 29 เมษายน 2460)

พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน ๖ฯ๗-๑๒๘๓-๒๔๖๕ วันที่ ๗ เมษายน บันทึกไว้ว่า ตำบลบ่อแฮ้ว มีนายหลาน นาแพร่ เป็นกำนัน มีหมู่บ้านบ่อแฮ้ว บ้านแม่ใส บ้านร่องไฮ บ้านสันป่าถ่อน บ้านแม่ใสเหล่าการปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล บ้านร่องไฮยังอยู่ในตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2478-2480 พระศุภการกำจร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาเริ่มสำรวจกว๊านพะเยา และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่จะใช้ประกอบการพัฒนากว๊านพะเยา ตามวัตถุประสงค์ของกรมเกษตรการประมง ในปีพุทธศักราช 2480 ปัจจุบันบุตรหลานทายาทของพระศุภการกำจรยังตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านแม่ใส  

พ.ศ.2481 นายสุจิตต์ สมบัติศิริ เป็นนายอำเภอพะเยา เริ่มลงมือก่อสร้างประตูระบายน้ำกว๊านพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือยุบตำบลบ่อแฮ้ว โดยรวมตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ และหมู่บ้านที่ 4, 5, 6, 7 ตำบลจำป่าหวาย หมู่บ้านที่ 7 ตำบลแม่ต๋ำ หมู่บ้านที่ 6 ตำบลในเวียง แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลแม่นาเรือ (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481) ตำบลบ่อแฮ้วที่ถูกยุบรวม ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 6 บ้านบ่อแฮ้ว ตำบลแม่ใส อ.เมืองพะเยา

และในปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อเรียกอำเภอเมืองพะเยา เป็นอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ 2482 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พุทธศักราช 2477 เห็นสมควรกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงรายเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ (พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม56 : 2204-2207 1. 22 มกราคม 2482) หลังจากนั้น กรมประมงจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำอิง บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองพะเยา แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2484 คือสถานีประมงพะเยาปัจจุบัน ทำให้น้ำท่วมไร่นา บ้านเรือน วัด โบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ ในอาณาบริเวณบ้านร่องไฮเดิมก็ถูกน้ำท่วมเป็นบางส่วน ประชาชนหลายครอบครัวจึงอพยพบ้านเรือนขึ้นมาเหนือน้ำ หนองน้ำธรรมชาติขนาดเล็ก ใหญ่ จำนวน 5 หนองน้ำ คือ หนองน้ำสันธาตุร่องไฮ, หนองสันกว้าน ทุ่งกิ่ว, หนองเอี้ยง, หนองเหนียว, รวมทั้งทุ่งนาหลวง "นาทุ่งหลวง" (นาโต้งหลวง) จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "นาทุ่งกว๊าน" (นา โต้งกว๊าน) ในเวลาต่อมากลายเป็นกว๊านพะเยาในปัจจุบัน ได้ถูกรวมเปลี่ยนไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่เฉลี่ย 17-18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณกว่า 12,000 ไร่ เป็นกว๊านพะเยา

ก่อน พ.ศ. 2484 หนองกว๊านจะมีน้ำมากเฉพาะฤดูฝน (กรกฎาคม-พฤศจิกายน) หลังจากนั้นน้ำจะลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือแต่ลำคลองหรือแม่น้ำที่ไหลลงกว๊านน้อยกับกว๊านหลวงเท่านั้น ส่วนหนองกว๊านทางใต้กับทางเหนือน้ำจะแห้งขอดจนเดินข้ามได้สะดวก ชาวบ้านที่อยู่ตามชนบทฝั่งตรงข้าม สามารถเดินทางไปมาเข้าสู่ตัวเมืองพะเยาได้อย่างสะดวก และมักจะนำพืชผลสินค้าทางเกษตร เช่น จำพวก ข้าว ครั่ง บรรทุกเกวียนมาขาย ส่วนแม่ค้าก็จะหาบของมาขาย เช่น จำพวกของป่า และพืชผักต่างๆ มาขายที่ตลาดในเมืองตอนเช้า (เสมียนนารี, silpa-mag.com)

ระหว่าง พ.ศ. 2482-2484 นายผล แผลงศร กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองพะเยาอีกครั้งหนึ่ง สร้างประตูระบายน้ำกว๊านพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) สร้างที่ทำการของสถานีประมง ริเริ่มจัดหาทุนสร้างโรงพยาบาลเมืองพะเยา การสร้างทำนบและประตูน้ำกั้นขวางน้ำแม่อิง บริเวณส่วนที่ไหลออกจากหนองกว๊านทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อระดับน้ำถูกควบคุมโดยการปิด-เปิดประตูน้ำ จึงทำให้หนองน้ำธรรมชาติเปลี่ยนสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จากหนองกว๊านย่อย ๆ รวมกันเป็น "กว๊านพะเยา" (เสมียนนารี, silpa-mag.com)

พ.ศ. 2484 ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำอิงที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา ทำให้ระดับน้ำกว๊านพะเยาเพิ่มสูงขึ้นและไหลท่วมพื้นที่หมู่บ้านบริเวณชายกว๊าน จึงได้มีการจัดสร้างฝ่ายกั้นน้ำขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ในสมัยนั้นยังไม่มีสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นจะใช้สมุนไพรในการรักษาและใช้เวทมนตร์คาถาร่วมด้วย โดยมีหมอเมืองซึ่งเป็นหมอประจำหมู่บ้านเป็นผู้ให้การรักษา

ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีกลุ่มประชาชนประมาณ 40-50 ครอบครัว ได้ชักชวนกันอพยพ จากบ้านกาดเมฆ บ้านทุ่งกู่ด้าย บ้านบ่อแฮ้ว และบ้านฟ้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มาอยู่ ณ ชุมชนบ้านร่องไฮ โคยมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ

  1. การหลบหนีภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในขณะนั้น จังหวัดลำปางเป็น เส้นทางเดินทัพของกองทัพญี่ปุ่น และมีฐานทัพตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
  2. การแสวงหาเเหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์กว่าท้องถิ่นเดิม ซึ่งชาวบ้านอำเภอเมืองลำปางทราบว่า บริเวณที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองพะเยามีแหล่งอุดมสมบูรณ์ทั้งปลาและข้าว มีที่ดินติดลำน้ำอิง
  3. การคมนาคมติดต่อกันระหว่างชุมชนดั้งเดิมจากเมืองพะเยา กับเมืองลำปาง โดยอาศัยล้อเกวียนและวัวต่าง ในการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยชาวเมืองพะเยาเอาปลาและข้าวไปแลกกับเกลือ และเครื่องโลหะอุปกรณ์การเกษตรและกสิกรรมจากเมืองลำปาง จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลระหว่างชุมชน มีความสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตรสนิทสนมกันขึ้น จึงเกิดความไว้วางใจและชักชวนกันมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านร่องไฮ

หลักฐานสำคัญของการอพยพจากแหล่งจังหวัดลำปาง คือ วัฒนธรรมและทักษะการตีมีด การทำอุปกรณ์การเกษตรด้วยเครื่องเหล็กที่มีต้นกำเนิดจากบ้านกาดเมฆและบ้านฟ่อนของอำเภอเมืองลำปาง ซึ่งปัจจุบันมีเป็นตำบลกาดเมฆและตำบลบ้านฟ่อนของอำเภอเมืองลำปาง เขตติดต่อกับอำเภอห้างฉัตรและอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ทักษะและอาชีพดังกล่าวได้ติดตามมากับบรรพบุรุษของชุมชนบ้านร่องไฮ พ่อหลวงบุญเรือง โพทา กล่าวว่า "มุยน้อย (ขวานเหล็กขนาดเล็ก) ที่มีขายที่บ้านร่องไฮในปัจจุบัน ยังต้องนำต้นแบบมาจากบ้านกาดเมฆอยู่แล้วนำมา เช่น (ตีซ้ำให้เกิดรูปร่างและความคม) ที่นี่ พวกเรายังทำตัวมุยน้อยไม่เก่งเท่าพวกกาดเมฆเลย"

"การเดินทางสมัยก่อน ต้องใช้ล้อเกวียนเดินทางจากพะเยาไปลำปาง ผ่านขุนเขาหุบห้วย ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะถึงลำปาง แล้วต้องไปพักนอนบ้านชาวบ้าน จึงเกิดความสนิทสนมกลมเกลียวฉันท์เครือญาติ แล้วชักชวนกันอพยพมาอยู่ที่พะเยา" พ่อหลวงบุญเรือง และผู้อาวุโสท่านอื่นที่ผู้ศึกษาสัมภาษณ์นั้น ต่างกล่าวยืนยันความคิดเห็นของการสื่อสารติดต่อกันที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการอพยพ เมื่อมองย้อนหลังไปมากกว่า 60 ปี พ่อหลวงบุญเรืองได้กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้เคยถูกทิ้งร้างมาก่อนที่จะเป็นชุมชนบ้านร่องไฮ สังเกตได้จากการพบซากธาตุฐานเจดีย์ ฐานกำแพงรกร้าง ปรักหักพัง ติดริมกว้านพะเยาในเขตท้ายหมู่บ้าน ซึ่งมีถึง 14 จุดด้วยกัน ผู้ศึกษากับคณะพ่อหลวงได้เดินสำรวจ โบราณสถานบางจุดก็พบซากเจดีย์ปรักหักพัง และมีพระพุทธรูปหินทราย ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 12 นิ้ว เสียหายหักพัง มีรูปช้างสลักด้วยหินทราย แท่นบดยา และหัวเสาอุโบสถ ปรากฏในบริเวณเจดีย์เก่าที่มีร่องรอยของการขุดค้นของนักล่าหาของเก่า (ประกอบศิริ ภักดีพินิจ, 2545)

พ.ศ. 2489 อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ยังไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ ประชาชนที่เจ็บป่วยต้องไปรักษาที่สุขศาลา ถ้าเจ็บป่วยที่ต้องใช้แพทย์รักษาต้องเดินทางไปยังตัวเมืองเชียงราย เป็นระยะทางที่ไกล การคมนาคมไม่สะดวก ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตเนื่องจากการคมนาคม และไม่มีรถโดยสารเข้าตัวจังหวัด ทำให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนในอำเภอพะเยาขระนั้น เห็นพ้องต้องกันควรจัดตั้วโรงพยาบาลขุนในอำเภอพะเยาและร่วมกันเรี่ยไรเงินบริจาคได้จำนวนหนึ่ง

พ.ศ. 2497 นายวิฑิต โภคะกุล นายอำเภอพะเยาขณะนั้น ได้เสนอโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลพะเยาต่อกระทรวงสาธารณสุข และได้รับความเห็นชอบในปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลในขณะนั้นได้อนุมัติเงินจำนวน 1 ล้าน 5 แสนบาท รวมกับเงินบริจาคจำนวน 194,412 บาท และเงินบำรุงท้องที่อำเภอเมืองพะเยา 39,548 บาท ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2499 ได้เริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลพะเยาขึ้น ใช้ระยะเวลาก่อสร้างนาน 6 เดือน เป็นโรงพยาบาลขนาด 25 เตียง มีแพทย์ประจำ 1 คน ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ผู้อำนวยการคนแรกคือ นายแพทย์สมบัติ อินทรลาวัณย์

พ.ศ. 2500 โรงพยาบาลพะเยาได้เปิดให้บริการ ชาวบ้านร่องไฮ ได้ใช้เรือพายมารับบริการที่โรงพยาบาลพะเยา โดยมีท่าเรือที่หลังโรงพยาบาลพะเยา

พ.ศ. 2504 การฝังศพในหมู่บ้านจะใช้กว๊านพะเยาฝั่งทิศใต้ในการฝังศพ ย้ายจากกว๊านพะเยามาใช้พื้นที่ป่าช้าของหมู่บ้านในการฝังศพ เนื่องจากน้ำในกว๊านมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาท่วมบริเวณที่ฝังศพ ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดโรคระบาดจึงย้ายสถานที่และเปลี่ยนจากการฝังศพมาเป็นการเผาศพ โดยเริ่มจากการนำอิฐมาก่อต่อมาจึงเริ่มมีการสร้างเมรุและเปลี่ยนมาใช้เมรุจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2516 น้ำท่วมครั้งที่ 2 ในฤดูน้ำหลาก น้ำฝนตกซุกระดับน้ำในกว๊านพะเยาขึ้นสูง จึงมีการปิดกั้นฝ่ายที่กว๊านพะเยาเพื่อป้องกันน้ำจากกว๊านขึ้นมา ส่งผลให้น้ำไม่มีทางระบาย ทำให้น้ำไหลท่วมพื้นที่หมู่บ้านเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา)

พ.ศ. 2522 ตั้งตำบลแม่ใส โดยแยกออกมาจากตำบลแม่นาเรือ บ้านร่องไฮยังคงเป็น หมู่ 1 เช่นเดิม แต่ขึ้นกับตำบลแม่ใส

ตั้งตำบลแม่ใส โดยโอนหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 18 ตำบลแม่นาเรือ ตั้งเป็นตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา จำนวน 7 หมู่บ้าน ดังนี้

  • หมู่ที่ 1 โอนจากหมู่ที่ 1 (บ้านร่องไฮ) ตำบลแม่นาเรือ
  • หมู่ที่ 2 โอนจากหมู่ที่ 2 (บ้านแม่ใส) ตำบลแม่นาเรือ
  • หมู่ที่ 3 โอนจากหมู่ที่ 3 (บ้านแม่ใสทุ่ง) ตำบลแม่นาเรือ
  • หมู่ที่ 4 โอนจากหมู่ที่ 4 (บ้านแม่ใสเหล่า) ตำบลแม่นาเรือ
  • หมู่ที่ 5 โอนจากหมู่ที่ 5 (บ้านบ่อแฮ้ว) ตำบลแม่นาเรือ
  • หมู่ที่ 6 โอนจากหมู่ที่ 6 (บ้านสันป่าถ่อน) ตำบลแม่นาเรือ
  • หมู่ที่ 7 โอนจากหมู่ที่ 18 (บ้านสันช้างหิน) ตำบลแม่นาเรือ

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2522 เป็นต้นไป (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 96 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 142 : 1-17. 16 สิงหาคม 2522)

พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กำหนดเขตหมู่บ้านลำดับที่ 7 ตำบลแม่ใส ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน โดยหมู่ที่ 1 คือบ้านร่องไฮ (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214-247. 12 ตุลาคม 2541) หลังจากนั้นบ้านร่องไฮ หมู่ 1 ที่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ได้แยกหมู่บ้านไปอีก 1 หมู่ บ้านคือบ้านร่องไฮ หมู่ 11

พ.ศ. 2545 มีการขุดค้นโบราณสถานบ้านร่องไฮ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสร่วมกับกรมศิลปากร ทำการสำรวจกลุ่มโบราณสถานร่วมกัน ในการขุดค้นพบกลุ่มโบราณสถานถูกปกคลุมด้วยวัชพืชและไม้ยืนต้น และยังค้นพบโบราณวัตถุ ทั้งเสาดอกบัว ฐานเสาพระพุทธรูป ช้าง สถูป ที่ทำจากหินทราย และภาชนะดินเผาจากเตาเผาในท้องถิ่น ชิ้นส่วนของศิลาจารึก และพบพระพุทธรูปหินทรายสันนิษฐานว่ามีอายุราว 500 ปี โบราณสถานบ้านร่องไฮ เคยเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ริมกว๊านพะเยา มีซากของกลุ่มวัดร้างในสมัยที่เมืองภูกามยาวเจริญรุ่งเรือง มีช่วงอายุราว 900 ปี อยู่ในสมัยเดียวกันกับวัดติโลกอารามและโบราณสถานอื่น ๆ ที่อยู่ในกว๊านพะเยา ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีซากร่องรอยของศาสนสถานอยู่ประมาณ 8-9 แห่ง เรียงกันเป็นแนวเข้าไปในกว๊านพะเยาโดยคนในชุมชนเรียกบริเวณนี้ว่า สันธาตุ และยังคงมีเนินซากโบราณสถานบางส่วนจมอยู่ในกว๊านพะเยา (โบราณสถานบ้านร่องไฮ ชุมชนโบราณริมกว๊านพะเยา, มิวเซียมไทยแลนด์)

พ.ศ. 2561 บ้านร่องไฮ หมู่ 1 ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านที่โดดเด่นในด้าน OTOP นวัตวิถี มีการจัดตั้งกลุ่ม 5 กลุ่ม 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มตีมีด กลุ่มจักสาน กลุ่มประมงพื้นบ้าน และ การแปรรูป

บ้านร่องไฮ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ถือเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีจำนวน 133 หลังคาเรือน (ข้อมูลสถานะสุขภาพประชาชน ตำบลแม่ใส ปีงบประมาณ 2566) ชาวบ้านมีวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเอง มีการทำ การเกษตรหลายรูปแบบทั้ง การทำนา การเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ หาของป่า ทำสวน รับจ้างและมีการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างการตีมีด รวมทั้งประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น การค้าขาย เปิดร้านอาหารในสถานโบราณ เป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน ประชาชนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ให้ความสำคัญ ส่งเสริม และรักษาประเพณีต่าง ๆ มีฐานะความเป็นอยู่ในระดับปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้าน จะมีส่วนน้อยที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น ศาลาประชาคม มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มหรือในบริเวณอาณาเขตของบ้าน เดียวกัน ส่วนใหญ่บ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น มุงกระเบื้อง มีรั้วกั้นในแต่ละหลังคาเรือนชัดเจน สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร เกือบทุกบ้านมีถังเก็บน้ำฝนไว้สำรองน้ำ มีบ่อน้ำใช้ และครอบครัวส่วนใหญ่มีการทำเกษตรกรรม เช่น ทำนาบัว นาข้าว ปลูกพืชผักไว้รับประทานและจำหน่าย เลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์ที่เลี้ยงไว้ขาย และเป็นอาหาร ได้แก่ วัว ไก่ เป็ด ปลา และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่ สุนัข แมว ภายในหมู่บ้านการสัญจรเป็นถนนคอนกรีต แต่ช่วงถนนที่ใช้สัญจรสำหรับทำการเกษตรจะยังคงเป็นถนนดิน ลูกรังและถนนดินแดง ทำให้แฉะในฤดูฝน ภายในหมู่บ้านมีไฟข้างทาง (ไฟกิ่ง) ของภาครัฐที่เพียงพอ รวมทั้งเวลากลางคืนมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ในชุมชนมีน้ำประปาของหมู่บ้านที่เข้าถึงทุกครัวเรือน แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้น้ำบ่อและน้ำบาดาล ในชุมชนมีวัด คือ ร่องไฮ ซึ่งวัดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 เป็นศูนย์รวมใจของคนในชุมชน

  • ทิศเหนือ ติดกับ กว๊านพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านร่องไฮ หมู่ 11
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านแม่ต๋ำภูมินทร์ ตำบลแม่ต๋ำ (เขตเทศบาลเมืองพะเยา)
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านแม่ใสเหนือ หมู่ 9 ตำบลแม่ใส และลำน้ำแม่ใส

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านร่องไฮ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองพะเยา สภาพภูมิประเทศมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มริมกว๊านพะเยา มีความลาดเล็กน้อยจากพื้นที่นาข้าวทางทิศใต้ลงสู่พื้นที่ลุ่มและกว๊านพะเยาทางทิศเหนือ โดยมีลำน้ำร่องไฮซึ่งไหลจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือลงสู่กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชน สภาพทางกายภาพส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบที่ถูกใช้เพื่อการเกษตรกรรม (นาบัว, นาข้าว) เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และที่ลุ่มกระจายตัวอยู่ทั่วไปบริเวณพื้นที่ติดกว๊านพะเยาทางทิศเหนือ

การคมนาคม

ตัวหมู่บ้านห่างจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ใส เป็นระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตรและระยะทางติดต่อระหว่างตำบลกับตัวอำเภอเมือง และโรงพยาบาลพะเยา มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ปัจจุบันการเดินทางได้สะดวกและรวดเร็ว เป็นถนนลาดยาง สองข้างทางเป็นหมู่บ้าน ไฟข้างทางเพียงพอหากเดินทางในตอนกลางคืน ในหมู่บ้านเส้นทางที่ไป เป็นถนนลาดยางและมีลูกรังเล็กน้อย ประชากรส่วนใหญ่ใช้จักรยานหรือรถจักรยานยนต์ในการเดินทางไปทำงาน หากต้องเข้าในตัวเมืองส่วนใหญ่จะใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัวเป็นยานพาหนะ

พื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน

  • วัดร่องไฮ
  • โรงเรียนบ้านร่องไฮ
  • โบราณสถานบ้านร่องไฮ
  • น้ำประปาหมู่บ้าน
  • คลองร่องไฮ 

จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2563 มีบ้านเรือนทั้งหมด 133 หลังคาเรือน จำนวนประชาการที่อาศัยอยู่จริงทั้งหมด 48 คน เพศชาย 208 คน เพศหญิง 240  คนประชากรที่อาศัยอยู่ที่บ้านร่องไฮเป็นคนพื้นเมือง พูดภาษาถิ่นในการติดติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทำประมง ตีมีด พื้นที่หมู่บ้านมีทั้งหมด 1,788 ไร่

ผู้นำผู้ใหญ่บ้าน/ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

  • นางณฤทธิ์ชญาณ์ นานิน ตำแหน่ง ใหญ่บ้าน
  • นายอารีย์ เครื่องสนุก ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • นางกาญจน์ญาณัท ไชยรัตนวรรณ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

กรรมการหมู่บ้าน มีสมาชิกจำนวน 17 คน นางณฤทธิ์ชญาณ์ นานิน ประธาน

กลุ่มกรรมการสตรี (แม่บ้าน) มีสมาชิกจำนวน 14 คน นางแสงเพียร รัชสมบูรณ์ ประธาน

กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีสมาชิกจำนวน 15 คน นางกาญจน์ญานัท ไชยรัตนวรรณ ประธาน

กลุ่มผู้สูงอายุ มีสมาชิกจำนวน 7 คน นายศรีมูล ไชยวุฒิ ประธาน

กลุ่มประมงพื้นบ้าน มีสมาชิกจำนวน 19 คน นายสมศักดิ์ เพียรจริง ประธาน

กลุ่มตีมีด มีสมาชิกจำนวน 8 คน นายบรรจง ไชยวรรณ์ ประธาน

กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) มีสมาชิกจำนวน 4 คน

  • นายวิรัตน์ ศักดิ์สูง
  • นายมนัส ธัญญผล
  • นางสุแก้ว ชุ่มลือ
  • นางดวงฤทัย การเร็ว

กลุ่มอาสาสมัครเกษตร

  • นายเดชา ไชยวรรณ์

กลุ่มการประปาหมู่บ้าน มีสมาชิกจำนวน 6 คน

  • นายธนเสฏฐ์ เดโชธนินท์ธร ตำแหน่ง ประธาน
  • นายธนเดช นิ่มอนงค์ ตำแหน่ง รองประธาน
  • นายเสรีย์ เครื่องสนุก ตำแหน่ง เลขานุการ
  • นายเสาร์ สมศักดิ์ ตำแหน่ง เหรัญญิก
  • นายอารีย์ เครื่องสนุก ตำแหน่ง กรรมการ
  • นายรังสรร เครื่องสนุก ตำแหน่ง กรรมการ

หัวหน้าคุ้ม/เขต มีสมาชิกจำนวน 5 คน

  • นางสุแก้ว ชุ่มลือ คุ้มที่ 1 คุ้มโชติช่วงชัชวาล
  • นางบัวไข การเร็ว คุ้มที่ 2 คุ้มร่วมใจพัฒนา
  • นายพิชัย ไชยวรรณ์ คุ้มที่ 3 คุ้มอยู่เย็นเป็นสุข
  • นายอารีย์ เครื่องสนุก คุ้มที่ 4 คุ้มสร้างสามัคคี
  • นายมานิตย์ แก้วใจบุญ คุ้มที่ 5 คุ้มสุขสำราญ

กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์

  • นายรังสรร เครื่องสนุก       
  • นายบุญเศรษฐ ไชยวรรณ์

อาชีพหลัก : เกษตรกรรม (หาปลา, ตีมีด, นาบัว) 

บ้านร่องไฮ ยังมีการประกอบอาชีพตีเหล็ก ซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวในอำเภอเมืองพะเยา ที่คนในชุมชนมีอาชีพหลักในการตีเหล็ก ในปัจจุบันเตาสำหรับการตีเหล็กที่มีในชุมชนบ้านร่องไฮมีประมาณ 10 เตา โดยแต่ละเตาตั้งอยู่ในบ้านของเจ้าของเตา โดยเจ้าของเตาได้ว่าจ้างผู้ช่วยในการทำงานแต่ละวัน แล้วแต่ปริมาณงาน การตีเหล็กขั้นตอนและวิธีการทำที่น่าสนใจ เช่น การเผาเหล็ก การตีเหล็ก การเจียเหล็กเพื่อตกแต่ง เป็นต้น ซึ่งการตีเหล็กส่วนมากนิยมทำมีดมากที่สุด รองลงมาทำเป็นเสียม เคี่ยวเกี่ยวข้าว และมุย (ขวาน) แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้

ส่วนรูปแบบของมีดนั้นตีตามแบบสมัยนิยม ตามผู้มาสั่งต้องการ หรือตามที่พ่อค้าคนกลางต้องการ ในปัจจุบันได้มีอุปกรณ์ในการทุ่นแรงมากขึ้นซึ่งทำให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น แต่ก็ทำให้วิธีการตีเหล็กแบบเดิมถูกลืมเลือนไป แต่เดิมเวลาในการตีเหล็กชาวบ้านนิยมตีเหล็กในเวลาเช้ามืด ช่วงเวลา ประมาณ 03.00-07.00น. เนื่องจากช่วงเช้าอากาศเย็น ความร้อนจากการเผาเหล็กและตีเหล็กจะลดลง โดยช่วงเช้ามืดเป็นขั้นตอนของการโขกเหล็ก (การทำรูปร่าง) และการเข่นเหล็ก (ตีซ้ำให้เกิดรูปร่างและความคม) ส่วนในช่วงเวลากลางวันเป็นขั้นตอนของการเข่นเหล็กอีกครั้งหนึ่ง เป็นในส่วนของการทำให้เกิดความคม การเจีย (การลับมีดให้เกิดความเงาและความคม) และการใส่ด้ามมีดประกอบ

อาชีพทำการประมงพื้นบ้าน โดยการหาปลาในกว๊านพะเยาซึ่งมีมากกว่า 60 ครัวเรือน ที่ประกอบอาชีพนี้ อุปกรณ์ สำหรับทำการประมงที่ชาวบ้านนิยมใช้ คือ แน่ง (ตาข่ายสำหรับดักจับปลา) อวน แห ไซ (ไม้ไผ่สานทรงรีสำหรับดักจับปลาบริเวณน้ำตื้น) ข้อง (อุปกรณ์สำหรับใส่ปลา) จ๋ำ (ยอ) และแซะ (ไม้ไผ่สานเป็นรูปสามเหลี่ยมก้นลึกมีด้ามสำหรับถือ) ลักษณะของการประมงน้ำจืดที่ชาวบ้านนิยมทำกันมี 4 ลักษณะคือ อย่างแรกการใส่แน่ง (การวางตาข่ายเป็นแนว) อย่างที่สองคือการวางอวน อย่างที่สามคือ การทอดแห (การเหวี่ยงแห) และสุดท้ายคือ การใส่ไซ ซึ่งไซสำหรับปลาแต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างกัน เช่นไซล่อปลาไหล แต่ละวิธีของการหาปลาก็จะมีเทคนิควิธีการที่แตกต่างกันไป มีการสั่งสมความรู้จนเป็นภูมิปัญญาในการหาปลาของคนทำประมงแต่ละคน

ในรอบ 1 ปี ของชาวบ้านบ้านร่องไฮ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีกิจกรรมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เทศกาลประจำปี ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน มีดังนี้

เดือนสี่ (มกราคม)

ประเพณีการตานข้าวใหม่ ส่วนมากจะตรงกับวันเพ็ญเดือนสี่ (เหนือ) ซึ่งเป็นกลางฤดูหนาวในเช้ามืดของวันนั้น จะพบคนไปตานขันข้าวและนำข้าวสารบ้างข้าวเปลือกบ้างไปวัดแล้วกองรวมกันไว้ในแต่ล่ะประเภทที่เป็นข้าวสุกก็จะนำไปใส่บาตร ปีใดชาวนาไว้ข้าวดีมีผลมาก ทางวัดจะจัดข้าวเปลือกเป็นร้อย ๆ ถังขึ้นไปซึ่งทางวัดจะขายแล้วนำเงินที่ได้มาบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะต่าง ๆ

ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า หรือประเพณีทานฟืน เป็นหนึ่งในประเพณีสิบสองเดือนของล้านนา จัดขึ้นในเดือนสี่ภาคเหนือ หรือเดือนยี่ภาคกลาง (ประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม) ในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือน ความหมายของชื่อประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า มีดังนี้ "ทาน" คือ การให้ "หลัว" คือ ฟืนที่นำมาเป็นเชื้อก่อไฟ "หิง" คือ การผิง สำหรับคำว่า "พระเจ้า" คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่นี้ หมายรวมถึง พระพุทธรูป ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้าเกิดจากความเชื่อที่ว่าเมื่อถึงฤดูหนาวพระพุทธรูปก็หนาวเช่นเดียวกันกับมนุษย์ จึงนำหลัวมาจุดไฟให้ผิงเพื่อให้คลายหนาว

ทำบุญตักบาตรขึ้นปีใหม่ ประชาชนในชุมชนบ้านร่องไฮ ร่วมทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ที่วัดร่องไฮ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

เดือนห้า (กุมภาพันธ์)

เข้ากรรมรุกขมูล ในช่วงระหว่างตั้งแต่เดือนธันวาคม-มกราคม และกุมภาพันธ์ หรือเดือน 3-4 และเดือน 5 เหนือ ของทุกปี ชาวพุทธเมืองเหนือล้านนาจะนิยมจัดกิจกรรมเข้ากรรม ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ และศรัทธาประชาชนจนถือเป็นประเพณีมาจนกระทั่งตราบถึงปัจจุบัน ประเพณีดังกล่าวนี้จะเลือกเอาสถานที่ตามวัดวาอาราม เรียกว่า "เข้ากรรมรุกขมูล" และใช้บริเวณสุสานป่าช้า เรียกว่า "ประเพณีเข้าโสสานกรรม" การเข้าโสสานกรรมถือเป็นประเพณีที่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้ถือเป็นวัตรปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งสมัยโบราณกาล โดยถือเป็นกิจกรรมงานทำบุญ ทำกุศลที่พระสงฆ์และประชาชนร่วมกันทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และสังคมจนทำให้กลายมาเป็นประเพณีที่ได้กระทำสืบต่อ ๆ กันมาจนตราบถึงทุกวัน

เดือนหก (มีนาคม)

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ สรงน้ำพระธาตุ (พระธาตุพบโชค) วัดร่องไฮ ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีพิธีกรรมทางศาสนา เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ตอนกลางคืนมีร้านขายของ ชิงช้าสวรรค์ กิจกรรมต่อยมวย และมีงานมหรสพ

ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ผี ปู่ ย่า ตา ยาย หมายถึงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษ กล่าวคือถ้า ปู่ ย่า ตา ยายล่วงลับไปแล้วพวกลูกหลานก็จะสร้างหอไว้ทางเบื้องทิศหัวนอน หรือในสถานที่ที่เห็นว่าสมควร บนหอจะมีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น (คนโท วางเอาไว้ ในปัจจุบันคำว่า "ผีปู่ ย่า ตา ยาย" กร่อมลงมาเหลือเพียงคำว่า "ผีปู่ย่า" ซึ่งเพื่อเป็นการสะดวกในการเรียกจะได้ไม่ยาวเกินไป การนับถือผีปู ย่า ตา ยายก็มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า เวลาพ่อ แม่ ตายลงไป ในสมัยก่อนลูกหลานไม่ได้กินได้ทานอุทิศส่วนกุศลให้ดังเช่นสมัยนี้ สาเหตุเพราะว่าอาจจะไม่มีวัดหรือไม่ก็อยู่ห่างไกลวัดก็อาจเป็นได้ ลูกหลานมีความรักเอ็นดูห่วงใยพ่อแม่ จึงสร้างศาลสูงเพียงตาขึ้น แล้วมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร หวานคาว ลูกส้มของหวาน บวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณของพ่อแม่ให้มาอยู่ในศาล เพื่อพิทักษ์รักษาลูกหลานตลอดจนเครือญาติจะต้องถือผีปู่ ย่า ตา ยาย อันเดียวกัน แล้วก็ห้ามแต่งานในวงศ์ที่ถือผีอันเดียวกัน ผีปู่ ย่า ตา ยาย จะอยู่กับลูกหญิงตลอดไปโดยมากจะอยู่กับผู้หญิงคนหัวปี และจะต้องทำศาลให้ถ้าลูกคนหัวปีตายหรือหนีไปอยู่ที่อื่น ก็จะอยู่กับลูกหญิงคนถัดไปในเครือญาติที่เป็นปึกแผ่น การเลี้ยงผีปู่ ย่า ตา ยาย ในสมัยก่อนนั้น จะมีการส่งอาหารให้ทุกมื้อเมื่อมีการกินอาหาร ต่อมาเห็นว่าเป็นการลำบากต่อลูกหลานซึ่งจะต้องทำมาหากิน ขอส่งวันละครั้ง เดือนละครั้ง จนต่อมาในปัจจุบันเป็นปีละครั้ง

งานปอยหลวง (พระธาตุพบโชค) วัดร่องไฮ ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ปอยหลวง คือ งานฉลองที่ยิ่งใหญ่ของคนทางภาคเหนือ "ปอย" มาจากคำว่า ปเวณี หมายถึง งานฉลองรื่นเริงหรืองานเทศกาลที่จัดขึ้น คำว่า "หลวง" หมายถึง ยิ่งใหญ่ ประเพณีปอยหลวงมักจัดขึ้นช่วงเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน หรือ เดือนพฤษภาคมของทุกปี ปอยหลวง เป็นการฉลองถาวรวัตถุ ของวัด หรือสิ่งก่อสร้างที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ประเพณีงานปอยหลวงเป็นการทำบุญเพื่อ เฉลิมฉลองศาสนสมบัติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอานิสงส์แก่ตนและครอบครัว ถือว่าได้ ๆ บุญกุศลแรง นอกจากนี้ยังเป็นเครื่อง แสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคณะสงฆ์และชาวบ้านนอกจากการฉลองที่ยิ่งใหญ่แล้วการทำบุญปอยหลวงนิยม ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ได้จากการทำบุญงาน ปอยหลวงก็คือการแสดงความชื่นชม ยินดีร่วมกันเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่คนในท้องถิ่นโดยการจัดมหรสพ สมโภชเพราะนานหลายปีถึง จะได้มีโอกาสได้จัดงานประเพณีปอยหลวง

เดือนเจ็ด (เมษายน) 

สรงน้ำพระพุทธศิลา การสรงน้ำพระพุทธศิลาธรสันธาตุ จัดขึ้นที่บ้านร่องไฮ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา (บริเวณโบราณสถานบ้านร่องไฮ)

ประเพณีสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านเรียกว่า "ปีใหม่เมือง" ในวันที่ 13 เป็นวันสังขาลล่อง ซึ่งมีความหมายว่าอายุสิ้นไปอีกปี ชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบ้านเรือนตลอดจนชำระร่างกายให้สะอาด วันที่ 14 เป็นวันเนาหรือวันเน่า เป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย ด่ากัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ ผู้หญิง ผู้สูงอายุมีหน้าที่เตรียมอาหาร ขนม ผู้ชายเตรียมไม้ค้ำศรี (ไม้ค้ำต้นโพธิ์) ช่วงบ่ายมีการขนทรายเข้าวัด วันที่15 เป็นวันพญาวัน คือวันเปลี่ยนศักราชใหม่ เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เช้า มีการถวายภัตตาหารให้กับคนตาย ที่เรียกว่า ตานขันข้าว เช่นเดียวกับวันที่ 1 มกราคม มีการตานตุง หรือถวายตุง ปักเจดีย์ทราย ดำหัว คารวะผู้ใหญ่ การสรงน้ำ พระสถูปเจดีย์พระพุทธรูป การตานไม้ค้ำศรี ในช่วงบ่ายหลังจากการทำบุญที่วัดเสร็จ ชาวบ้านนำดอกไม้ ธูป เทียนน้ำส้มป่อย (ส้มป่อย เป็นพืชสมุนไพรที่ผู้คนในท้องถิ่นล้านนา ยกย่องให้คุณค่าแก่การเก็บรักษา เชื่อว่าสามารถขจัดสิชั่วร้ายเภทภัยต่าง ๆ ให้หมดไปจากตัวและบ้านเรือนได้) รดน้ำ ดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อและผู้อาวุโสในครอบครัวก่อน จากนั้นจึงไปรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสหรือผู้ที่เคารพนับถือในหมู่บ้านหลังจากครอบครัวนำบรรพบุรุษ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วรวมทั้งพระพุทธรูปที่กราบไหว้ภายในบ้าน นำมาสรงน้ำเพื่อขอขมาลาโทษ ขอพรด้วยการนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำส้มป่อยในการประกอบอาชีพ

เดือนเก้า (มิถุนายน)

ประเพณีลงผีเดือนเก้า ประเพณี เลี้ยงผีเดือน 9 แรม13ค่ำ ในถิ่นล้านนา ในพื้นที่จังหวัดพะเยา เป็นประเพณีการเลี้ยงผีวันสุดท้ายของปี เพื่อให้บรรดาผีทั้งหลายที่มีทั้งผีมดผีเม็ง ผีเจ้าพ่อเจ้าแม่ ผีปู่ย่าตายาย ตลอดจนผี บรรพบุรุษ ได้ไปเข้าพรรษา จำศีล ภาวนา จนครบพรรษาตามประเพณีเลี้ยงผีเมืองเหนือล้านนา สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันมาหลายร้อยปี

ประเพณีเลี้ยงพ่อเสี้ยวบ้าน คนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม จัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ที่เตรียมไว้ เช่น ผลไม้รากไม้ต่าง ๆ ธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ พวงมาลัย อาหาร น้ำดื่ม ไก่ต้มหรือไข่ต้ม ข้าว อาหารสุก เครื่องดื่ม ทั้งน้ำแดง บุหรี่ เหล้าขาวหรือเหล้าแดง หรืออาจจะมีหลาย ๆ อย่างเพิ่มเติมได้ และนำไปถวายเพื่อเซ่นไหว้ สักการะ ประเพณีเลี้ยงพ่อเสี้ยวบ้านจะไม่มีพระสงฆ์มาสวดมาทำพิธี จะมีแค่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุ คอยเป็นกำลังสำคัญให้

เดือนสิบ (กรกฎาคม)

วันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะมีการทําอาหาร และขนมต่าง ๆ เพื่อมาทําบุญตักบาตรที่วัด โดยชาวพุทธมีความเชื่อว่า เป็นการสร้างกุศล และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ และญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้านบางส่วนจะถือศีล โดยเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น โดยวิปัสสนาธรรมทุก ๆ วันพระที่ วัดบ้านร่องไฮ

เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม)

สืบชะตากว๊านพะเยา ณ โบราณสถานร่องไฮ

เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม)

ประเพณีสลากภัตร งานทำบุญตานก๋วยสลากภัตรจะทำกันตั้งแต่วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ หรือเดือน 12 เหนือจนถึงวันแรม 14 ค่ำเดือนเกี๋ยง ชาวบ้านจะนำก๋วยสลาก ถวายแด่พระสงฆ์ และมีการให้ศีลให้พรอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หรือกรรมนายเวร และงานทอดกฐิน ชาวบ้านจะนำปัจจัย ข้าวของเครื่องใช้นำไปถวายที่วัด และทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดร่องไฮ เนื่องในวันออกพรรษา

เดือนยี่ (พฤศจิกายน)

ประเพณีลอยกระทง-แห่โคม วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ชาวบ้านเข้าร่วมงานประเพณียี่เป็ง ช่วงตอนเย็น ชาวบ้านจะมีประเพณีลอยกระทง การแข่งขันทำกระทง ชาวบ้านจะเข้าวัดฟังเทศน์ที่วัดร่องไฮ

แข่งเรือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงกีฬาและกระตุ้นเศรษฐกิจกระจายรายได้สู่ชุมชนในจังหวัดพะเยา จัดช่วงประเพณีลอยกระทง 2-3 ปีมีครั้ง แล้วแต่ว่าปีไหนจะจัดประเพณีแข่งเรือ 

ทอดกฐิน ชาวบ้านจะมีการทอดกฐิน และวันเพ็ญขึ้น15 ค่ำเดือน12 ชาวบ้านเข้าร่วมงาน ประเพณียี่เป็ง ในช่วงเย็นชาวบ้านจะมีประเพณีลอยกระทง 

เดือนสาม (ธันวาคม)

ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ชาวบ้านร่วมทำบุญตักบาตรสวดมนต์ข้ามปีในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ลูกหลาน ญาติพี่น้องที่ทำงานต่างจังหวัดจะกลับบ้าน มีการเลี้ยงฉลองที่บ้าน

1.นายบุญเรือง ใจจา ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านหมอพื้นเมือง

2.นายวิรัตน์ ศักดิ์สูง ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านเกษตร

3.นายณัฐนนท์ เพียรจริง ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านศิลปวัฒนธรรม

4.นายนิตย์ ไชยวรรณ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านหัตถกรรม

5.นายสมบูรณ์ กันทะวัง ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านการตีมีด

ภูมิปัญญาการตีมีด นายสมบูรณ์ กันทะวัง ชาวบ้าน หมู่ 1 บ้านร่องไฮ ตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา หรือ สล่าบุญ หนึ่งใน สล่าตีมีด บ้านร่องไฮ กล่าวว่า คนชุมชนบ้านร่องไฮที่มีกว่า 200 ครัวเรือน มีอาชีพรับจ้างตีมีดมานานกว่าร้อยปีแล้ว สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีดที่สล่าบ้านร่องไฮแต่ละคนทำนั้น จะมีรูปแบบการตีมีดคนละแบบ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 10 รูปแบบ และมีสัญลักษณ์กันคนละอย่าง ซึ่งทั้งหมดบ่งบอกถึงคุณภาพที่ผลิต

ในขั้นแรกจะมีการเตรียมหาเหล็กอย่างดี นำไปเข้าเตาเผาให้ร้อน แล้วผ่าครึ่งก่อนตีเป็นมีด โดยออกแบบมีดว่าจะตีรูปแบบไหน เมื่อตีเสร็จก็จะทำการตบแต่ง ตอกโค๊ดของสล่า หรือช่างตีมีดไว้เป็นสัญลักษณ์เพื่อรับประกันคุณภาพ ซึ่งหากไม่ดีก็สามารถเปลี่ยนได้

โดยมีดที่ทำแล้วจะมีราคาตั้งแต่ 100 บาท จนถึงหลายร้อยบาท หากสั่งทำพิเศษ เช่น มีดดาบ ราคาจะแพงหลักพันบาทขึ้นไป การทำมีดแต่ละหลังคาเรือนในชุมชนบ้านร่องไฮนั้นจะตีมีดได้วันละประมาณ 10-20 เล่ม หรือมากกว่า ทั้งนี้เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ เพื่อเอาไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง

ภูมิปัญญาการประมง อาชีพประมงของคนในชุมชนบ้านร่องไฮเริ่มต้นหลังการก่อสร้างประตูกั้นแม่น้ำอิงของกรมประมงในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งทำให้เกิดกว๊านพะเยาในปัจจุบัน โดยคนที่ทำอาชีพประมงในชุมชนบ้านร่องไฮในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 50 คน ซึ่งชาวประมงได้เรียนรู้วิธีการหาปลาจากธรรมชาติหรือพฤติกรรมของปลาแต่ละชนิดที่อยู่อาศัยในกว๊านพะเยา ทำให้ชาวประมงได้เรียนรู้การทำเครื่องมือจับปลาแต่ละชนิด วิธีการจับปลา รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยของการพายเรือหากินอยู่ในกว๊านเครื่องมือจับปลาแต่ละยุคแต่ละสมัยอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่สภาพแวดล้อมและมุมมองของคนในยุคนั้น ๆ โดยภูมิปัญญาการประมงที่มี คือ เคล็ดลับในการทำเครื่องมือจับปลาแต่ละชนิดของชาวประมง การทำประมงพื้นบ้านกับการทำงานเป็นทีม ปฏิทินการจับปลาในรอบปี (ประกอบศิริ ภักดีพินิจ, 2553)

กลุ่มโบราณสถานบ้านร่องไฮ ตั้งอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้านซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ติดกับกว๊านพะเยา โบราณสถานบ้านร่องไฮ พบซากโบราณสถานกระจัดกระจายเป็นจำนวนมากบริเวณ ริมกว๊าน สืบทอดเป็นแนวเข้าไปในกว๊านพะเยา ในบริเวณที่เรียกว่า สันธาตุ ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านได้อาศัยเป็นเส้นทางคมนาคมจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก กลุ่มโบราณสถานดังกล่าวถูกปกคลุมด้วยวัชพืชและไม้ยืนต้น ในปี พ.ศ. 2545 องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสร่วมกับกรมศิลปากรและประชาชนในเขตบ้านแม่ใสได้มีความตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนบ้านแม่ไฮ เนื่องจากพบซากโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งอยู่ริมกว๊านพะเยา ตลอดจนโบราณสถานกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่งกับประวัติศาสตร์ของชุมชนโบราณในกว๊านพะเยา ซึ่ง ปัจจุบันจมอยู่ได้กว๊านหลังการก่อสร้างประตูกั้นแม่น้ำอิงของกรมประมง จากการสำรวจโบราณสถานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พบว่ามีเนินโบราณสถานจำนวน 12 รายการ ตลอดจนโบราณวัตถุ ทั้งเสาดอกบัว ฐานเสาพระพุทธรูป ช้าง สถูป ที่ทำจากหินทราย และภาชนะดินเผาจากเตาเผาในท้องถิ่น ในเวลาต่อมาได้มีการขุดแต่งโบราณสถานบางส่วนและจัดสร้างอาคารถาวรเพื่อเผยแพร่ นิทรรศการเกี่ยวกับโบราณสถานกลุ่มบ้านร่องไฮ แต่ได้ถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่าเพราะขาดคนและงบประมาณในการดูแล แต่ในปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อรับบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ เพื่อจัดทำ

อาคารหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนขึ้นโบราณสถานที่พบในพื้นที่ของชุมชนบ้านร่องไฮ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโบราณสถานที่พบในกว๊านพะเยา และกลุ่มโบราณสถานที่พบบนบก

ทรัพยากรในกว๊านพะเยา จากลักษณะของพื้นที่ของชุมชนบ้านร่องไฮ ที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดกับกว๊านพะเยา ซึ่งกว๊านพะเยานี้เองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนกว๊านพะเยา

โบราณสถานบ้านร่องไฮ พื้นที่ของชุมชนบ้านร่องไฮบริเวณท้ายหมู่บ้านที่อยู่ติดกับกว๊าน ปรากฏให้เห็นถึงซากโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งจากการสำรวจในเบื้องต้นของกรมศิลปากร ได้พบกลุ่มโบราณสถานจำนวน 12 แห่ง ซึ่งมีทั้งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นดิน และอยู่ในกว๊านพะเยา ซึ่งโบราณสถานส่วนใหญ่ในเขตชุมชนบ้านร่องไฮยังไม่พบ หลักฐานการก่อสร้างและช่วงสมัยในการก่อสร้างโดยมีโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง คือ วัดติโลกอารามซึ่งตั้งอยู่ในกว๊านพะเยา 

วัดติโลกอาราม เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา มีพระพุทธรูปศิลา ให้ชาวพุทธศาสนาได้ทำบุญและชื่นชมความงามของพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างพะเยา เป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราช แห่งราชอาณาจักรล้านนาโปรดให้พระยายุทธิษถิระเจ้าเมืองพะเยาสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2019-2029 ในบริเวณที่เรียกว่า บวกสี่แจ่ง วัดแห่งนี้เป็นชื่อวัดที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ซึ่งถูกค้นพบได้ในวัดร้างกลางกว๊านพะเยาหรือในบริเวณหนองเต่า จากข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึก ทำให้รู้ว่าวัดนี้มีอายุเก่าแก่มากกว่า 500 ปี สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวัดที่มีผู้ปกครองเมืองพะเยาได้สร้างถวาย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่พระเจ้าติโลกราช ในฐานะทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนา วัดติโลกอารามจมอยู่ในกว๊านพะเยาเนื่องจากในปี พ.ศ. 2482 กรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านพะเยาเพื่อกักเก็บน้ำ จึงทำให้บริเวณกว๊านพะเยาที่แต่เดิมเป็นชุมชนโบราณและมีวัดอยู่เป็นจำนวนมากต้องจมน้ำ รวมทั้งวัดติโลกอารามที่มองเห็นเพียงยอดเจดีย์อิฐที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “สันธาตุกลางน้ำ” ในอดีตพื้นที่กว๊านพะเยาเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากเทือกเขาไหลลงมาเป็น ลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ และกลายเป็นหนองน้ำเล็กใหญ่ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายนของทุกปี ปริมาณน้ำจะลดลงทำให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์และเป็นเส้นทางสัญจรไปมาระหว่างตัวเมืองกับหมู่บ้านรอบ ๆ กว๊านพะเยาและเมื่อหลายร้อยปีมานั้นพื้นที่ในบริเวณของกว๊านพะเยาจะเป็นชุมชนหมู่บ้านมีวัดวาอารามอยู่หลายวัดและวัดติโลกอารามเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา

พระพุทธรูปศิลา ในปี พ.ศ. 2526 ชาวประมงพื้นบ้านออกหาปลากลางกว๊านพะเยา ได้พบพระพุทธรูปหินทรายสีขาวนวล ใต้กว๊านพะเยา เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างพะเยา หน้าตักกว้าง 105 เซนติเมตร ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาจากน้ำ ไปประดิษฐานไว้ยังวัดศรีอุโมงค์คำ (วัดสูง) แล้วถวายนามว่า “พระเจ้ากว๊าน” หลังจากนั้นทางจังหวัดได้มีการศึกษาค้นคว้าโบราณสถานในบริเวณกว๊านพะเยา และได้พบศิลาจารึกได้ยืนยันว่าพระพุทธรูปหินทรายองค์นี้ชื่อว่า “หลวงพ่อศิลา” เป็นพระพุทธรูปประจำอุโบสถวัดติโลกอาราม จน ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการบูรณะสันธาตุบวกสี่แจ่งขึ้นมา มีการตั้งฐานบุษบกด้วยอิฐดินเผา จังหวัดได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลา พระพุทธรูปหินทรายจากวัดศรีอุโมงค์คำมาประดิษฐานไว้บนฐานบุษบกบริเวณลานซึ่งสร้างขึ้นมาเหนือน้ำ ที่วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยาที่เดิม จนถึงปัจจุบัน

ภาษาถิ่นล้านนา ภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มโบราณสถานบ้านร่องไฮ

ตั้งอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้านซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ติดกับกว๊านพะเยา โบราณสถานบ้านร่องไฮ พบซากโบราณสถานกระจัดกระจายเป็นจำนวนมากบริเวณ ริมกว๊าน สืบทอดเป็นแนวเข้าไปในกว๊านพะเยา ในบริเวณที่เรียกว่า สันธาตุ ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านได้อาศัยเป็นเส้นทางคมนาคมจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออก กลุ่มโบราณสถานดังกล่าวถูกปกคลุมด้วยวัชพืชและไม้ยืนต้น ในปี พ.ศ. 2545 องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสร่วมกับกรมศิลปากรและประชาชนในเขตบ้านแม่ใสได้มีความตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนบ้านแม่ไฮ เนื่องจากพบซากโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งอยู่ริมกว๊านพะเยา ตลอดจนโบราณสถานกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่งกับประวัติศาสตร์ของชุมชนโบราณในกว๊านพะเยา ซึ่งปัจจุบันจมอยู่ได้กว๊านหลังการก่อสร้างประตูกั้นแม่น้ำอิงของกรมประมง จากการสำรวจโบราณสถานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พบว่ามีเนินโบราณสถานจำนวน 12 รายการ ตลอดจนโบราณวัตถุ ทั้งเสาดอกบัว ฐานเสาพระพุทธรูป ช้าง สถูป ที่ทำจากหินทราย และภาชนะดินเผาจากเตาเผาในท้องถิ่น ในเวลาต่อมาได้มีการขุดแต่งโบราณสถานบางส่วนและจัดสร้างอาคารถาวรเพื่อเผยแพร่ นิทรรศการเกี่ยวกับโบราณสถานกลุ่มบ้านร่องไฮ แต่ได้ถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่าเพราะขาดคนและงบประมาณในการดูแล

ในบริเวณเดียวกันยังปรากฏซากเนินโบราณสถานอยู่หลายกลุ่ม และโบราณสถานในบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถานในกว๊านพะเยาที่โผล่พ้นระดับน้ำในกว๊านพะเยา จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สันธาตุ" 

กรมศิลปากรและจังหวัดพะเยา ได้ขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้ในปี พ.ศ.2547 พบโบราณสถานสำคัญประกอบด้วยเจดีย์ วิหาร และอาคารอีก 2 หลัง โบราณสถานทั้งหมดมีกำแพงล้อมรอบ มีเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม และ วิหาร 

จากหลักฐานโบราณวัตถุอย่าง ภาชนะดินเผาและประติมากรรมพระพุทธรูปหินทราย และลวดลายปูนปั้นประดับฐานชุกชีที่พบในการขุดแต่งในปี พ.ศ. 2547 สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้น่าจะมีอายุการสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 แต่ในปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อรับบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ เพื่อจัดทำอาคารหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนขึ้นโบราณสถานที่พบในพื้นที่ของชุมชนบ้านร่องไฮ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโบราณสถานที่พบในกว๊านพะเยา และกลุ่มโบราณสถานที่พบบนบก

กลยุทธ ศรีคำตุ้ย และคณะ. (2566). รายงานประกอบการวินิจฉัยชุมชนรายวิชาการพยาบาลชุมชน 2 บ้านร่องไฮ หมู่ 1 ตำบลแม่ใส อ.เมือง จ.พะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา 

Google Map. (2563). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านร่องไฮ (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566. https://www.google.com/maps

ประกอบศิริ ภักดีพินิจ. (2545). ศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนริมกว๊านพะเยา : กรณีศึกษาชุมชนบ้านร่องไฮ ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา. การศึกษาค้นคว้าอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว . มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ประกอบศิริ ภักดีพินิจ. (2553). ศักยภาพการสื่อความหมายทางการท่องเที่ยวชุมชน: ชุมชนบ้านร่องไฮ จังหวัดพะเยา. วารสารมหาวิทยาลัยนเรศวร. 18(2) ; 82-90.

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม รศ.120

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน รศ.129

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 40-68. 29 เมษายน 2460 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481

พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481

พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม56 : 2204- -2207 1. 22 มกราคม 2482

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69  : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 96 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 142 : 1-17. 16 สิงหาคม 2522 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214 - 247. 12 ตุลาคม 2541

มณฑลเทศาภิบาล. (ม.ป.ป.). วิกิพีเดีย. https://th.wikipedia.org/wiki/

เสมียนนารี. (2566). ก่อนมี “กว๊านพะเยา” ปี 2484 ที่นี่หน้าแล้งขาดน้ำขั้นวิกฤต. https://www.silpa-mag.com/history

พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน

มิวเซียมไทยแลนด์. (ม.ป.ป.). โบราณสถานบ้านร่องไฮ ชุมชนโบราณริมกว๊านพะเยา. https://www.museumthailand.com/

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2567). กำเนิด “กว๊านพะเยา” มาจาก “หนองเอี้ยง” แหล่งน้ำขนาดใหญ่อันดับสามของประเทศ. https://www.silpa-mag.com/history/

ท่องเที่ยวชุมชนบ้านร่องไฮ. Facebook. https://www.facebook.com/baanronghai/

กว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเมืองพะเยา. (2561, 19 ธันวาคม). บ้านร่องไฮ หมู่ 1 ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา. Facebook. https://www.facebook.com/watch/

ณฤทธิชญาณ์ นานิน, ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1, สัมภาษณ์, 18 กันยายน 2566

อบต.แม่ใส โทร. 0-5488-9909