Advance search

แหล่งน้ำ พืชเศรษฐกิจ ผลผลิตปลอดสารพิษ หมู่บ้านปลอดยาเสพติด ยึดหลักแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนพึ่งตนเอง

หมู่ที่ 1
บ้านสันขี้เหล็ก
แม่นาเรือ
เมืองพะเยา
พะเยา
อบต.แม่นาเรือ โทร. 0-5442-3002
จารุกิตติ์ เซ็งแซ่และคณะ
12 ก.พ. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
บ้านสันขี้เหล็ก

ตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยต้นขี้เหล็กเป็นหมู่บ้านสันขี้เหล็ก


ชุมชนชนบท

แหล่งน้ำ พืชเศรษฐกิจ ผลผลิตปลอดสารพิษ หมู่บ้านปลอดยาเสพติด ยึดหลักแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนพึ่งตนเอง

บ้านสันขี้เหล็ก
หมู่ที่ 1
แม่นาเรือ
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.11929295
99.84641343
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรือ

เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังกราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วย แว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า “เวียง” ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนา โดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝายเดียวกัน โดยที่พันนาจัน คือบริเวณตำบลบ้านงิ้ว บ้านสาง บ้านตุ่น บ้านเลิง บ้านสานหลวง และ บ้านสันดอนมูล (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 1985 ในยุคที่เมืองภูกามยาวสิ้นกษัตริย์ปกครองและเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนา รัชสมัยของพระเจ้าตีโลกราชครองเมืองเชียงใหม่ ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ได้แผ่ขยายอำนาจลงไปทางใต้ยกกองทัพปราบเมืองสองแคว เมืองเซลียง เมืองสุโขทัย ตลอดเมืองกำแพงเพชร ให้อยู่ในอำนาจทั้งหมดได้ทำศึก กับพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงสุโขทัย ฝ่ายเจ้าเมืองสองแควพระยาอุทิศเจียงได้สวามิภักดิ์พระเจ้าตีโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา จึงได้กวาดต้อนเอาผู้คน ช่างปั้นดินเผาชาวเซลียง ชั่งปั้นถ้วยชามเครื่องเคลือบสังคโลก อันเป็นศิลปะของกรุงสุโขทัยขึ้นไปหนเหนือ กระจายอยู่ตามหัวเมือง ต่างปรากฏหลักฐานถ้วยชามเคลือบสังคโลกเก่า อันเป็นศิลปะของกรุงสุโขทัย บริเวณหุ่งกู่บ้านโช้ และเตาเผาโบราณที่ตำบลแม่กา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2034 รัชสมัยพระยายอดเชียงราย ครองอาณาจักรล้านนาทรงแต่งตั้งให้พระยาเมืองยี่ครองเมืองพะเยา และแบ่งการปกครองออกเป็น 36 พันนา ซึ่งประวัติศาสตร์ตำบลแม่นาเรือ ปรากฏหลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อได้พบศิลาจารึกของการสร้างวัดนางหมื่น ซึ่งเป็นวัดพระมหากษัตริย์สร้างขึ้นมา เมื่อสร้างเสร็จได้พระราชทานครัวเรือน 10 ครัวเรือน เป็นข้าวัด (คำว่านางหมื่น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า เจ้าสี่หมื่น เป็นชื่อยศของเจ้าเมืองพะเยา นางหมื่นนั้นคือกษัตริย์ผู้เป็นสตรี) ที่ตั้งวัดนางหมื่นอยู่บริเวณวัดโบสถ์ หมู่ที่ 11 ตำบลแม่นาเรือ ปรากฏกู่เก่าเจดีย์ทั้งสี่ทิศ ตรงกลางสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวิหารใหญ่ ปัจจุบันถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถเห็นได้ว่าเป็นรูปร่างของวัด (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

ในยุคนั้นหลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้ การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลดฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 พญากาวิละปกครองบ้านเมืองโดยมีการกู้ล้านนาจากพม่า เนื่องจากมีการรบกบฏจากพม่าล้านนาตะวันออกจึงมีการขอให้คนลำปางมาช่วยรบ 

พ.ศ. 2111 พระเจ้าบุเรงนองขึ้นมาเป็นใหญ่ในหงสาวดีได้แผ่ขยายอำนาจทั่วอาณาจักรล้านนา และกรุงศรีอยุธยา ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่เมืองพะเยาและพื้นที่วัดนางหมื่นรกร้างไป

พ.ศ. 2417 (ร.ศ. 93) เมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง มณฑลลาวเฉียง ที่ยังเป็นเมืองประเทศราชของสยาม มีเมืองในมณฑล ประกอบด้วย นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน แพร่ เถิน

พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เมื่อทรงปฏิรูปการปกครองประเทศ พ.ศ. 2435 ได้มีการยกเลิกหัวเมืองประเทศราชของสยาม โดยที่สยามนำเอาระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมาใช้ส่งผลให้หัวเมืองประเทศราชบางส่วน คือล้านนาถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ ในขณะนั้นเมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง

พ.ศ. 2437 ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่ตั้งขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยการปกครองแบบ “เทศาภิบาล” หรือ “มณฑลเทศาภิบาล” จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) โดยเนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับนี้คือให้รวมหัวเมืองทั้งหมดมาไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย การวางรากฐานการปกครองแบบ “มณฑล” เริ่มขึ้นในปี 2417 เมืองพะเยา เมืองเชียงราย จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง

พ.ศ. 2400 โดยประมาณ มีชาวบ้านได้อพยพเพื่อหาที่ทำมาหากินใหม่มาจาก บ้านแม่นาเรือ บ้านสันกว๊าน และบ้านบ่อแฮ้ว โดยอยู่ในลักษณะเป็น ปางวัว ปางควาย มีอยู่ประมาณ 16 ครัวเรือน และได้ร่วมกันจัดตั้งหมู่บ้านขึ้น ตั้งชื่อเป็น หมู่บ้านปางควาย หมู่ที่7 ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองพะเยา

พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้มีการรวมหัวเมือง ประกอบด้วย 6 หัวเมือง ได้แก่ (1.) เมืองนครเชียงใหม่ (ครอบคลุมพื้นที่ เมืองแม่ฮ่องสอน และเมืองเชียงราย) (2.) เมืองนครลำปาง ครอบคลุมพื้นที่เมืองพะเยา และเมืองงาว (3.) เมืองนครลำพูน (4.) เมืองนครน่าน (ครอบคลุมพื้นที่เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองเชียงคำ และเมืองปง (5.) เมืองนครแพร่ (6.) เมืองเถิน ขึ้นเป็น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ (wikipedia.org/wiki)

พ.ศ. 2444 ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองนครลำปาง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีผู้คนเป็นจำนวนมากสมควรจัดให้เป็นบริเวณหนึ่ง และจัดให้มีข้าหลวงประจำบริเวณ และให้รวมเมืองพะเยา เมืองงาว รวมเมืองเข้าเป็นบริเวณหนึ่ง เรียกว่า “บริเวณพะเยา” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หลวงศรีสมัตถการ ซึ่งรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยกรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม ร.ศ.120)

พ.ศ. 2448 พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีโทรเลขมาว่า ได้ปรึกษากับเค้าสนามหลวงนครลำปางเห็นพร้อมกันว่า ควรจะยกเลิกกองบริเวณพะเยา ให้คงมีแต่แขวงพะเยา แขวงดอกคำใต้ แขวงแม่ใจ รวม 3 แขวง ขึ้นตรงต่อบริเวณพายัพเหนือ จะเป็นการสะดวกแก่การบังคับบัญชา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน ร.ศ.124)

พ.ศ. 2450 เรียกชื่อตำแหน่งให้เหมือนกัน คือมณฑลพายัพ ตำแหน่งนายอำเภอซึ่งเรียกนายแขวงนั้นต่อไปให้เรียกว่า “นายอำเภอ” และแขวงต่อไปให้เรียกว่า “อำเภอ” ตำแหน่งกำนันซึ่งเรียกว่า “นายแคว้น” ต่อไปให้เรียกว่า “กำนัน” แคว้นให้เรียกว่า “ตำบล” ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านซึ่งเรียกว่า "แก่บ้าน" ต่อไปให้เรียกว่า "ผู้ใหญ่บ้าน" (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วิธีการปกครองให้จัดเป็นแบบเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 : 1156. 26 มกราคม ร.ศ.126)

พ.ศ. 2453 ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ.129)

พ.ศ. 2457 ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนเสนาบดี ส่วนจังหวัดให้คงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดไว้ตามเดิน แต่ให้กระจายอำนาจการปกครองส่วนย่อย ๆ ออกไปเป็นตำบลหมู่บ้าน ตำแหน่งหัวหน้าตำบลเรียกว่า "เจ้าแคว่น" "แคว่น" (กำนัน) ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า "แก่บ้าน" (ผู้ใหญ่บ้าน) ที่นิยมเรียกกันว่า "พ่อหลวง" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงแต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาและได้รับแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์เป็นรองอามาตย์โทขุนสิทธิประศาสน์ เป็นนายอำเภอคนแรก (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) ขณะนั้นอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย มี 21 ตำบล โดยประกอบไปด้วย ตำบลเวียง ตำบลแม่ต๊ำ ตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านตุ่น ตำบลสาง ตำบลสันป่าม่วง ตำบลต๋อม ตำบลต๊ำ ตำบลสันกกก ตำบลแม่ปืม ตำบลจำป่าหวาย ตำบลใหม่ ตำบลน้ำย้อยหอยโข่ง ตำบลดงเจน ตำบลห้วยลาน ตำบลร่องจว่า ตำบลช้างหิน ตำบลถ้ำ ตำบลปิน (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) ตำบลแม่นาเรือ มีพ่อหนานอินทร สารเร็ว เป็นกำนัน มีหมู่บ้านแม่นาเรือ บ้านไร่ บ้านร่องคำหลวง บ้านโซ้ บ้านซ่อน บ้านสันป่าสัก

พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน ๖ฯ๗-๑๒๘๓-๒๔๖๕ วันที่ ๗ เมษายน การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล บันทึกไว้ว่า ตำบลแม่นาเรือ มีพ่อหนานอินทร สารเร็ว เป็นกำนัน มีหมู่บ้านแม่นาเรือ บ้านไร่ บ้านร่องคำหลวง บ้านโซ้ บ้านซ่อน บ้านสันป่าสัก (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) เริ่มมีป่าช้าแห่งแรกของหมู่บ้าน ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าพ่อแสนเฉลิม โดยให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาดูแลคนภายในหมู่บ้าน และเป็นที่พึ่งพาทางใจในการเส้นไหว้เพื่อขอโชคลาภต่าง ๆ

พ.ศ. 2479 ได้มีการเปิดการเรียนการสอน ที่วัดแม่นาเรือ โดยเปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยมีพระอธิการทองอินทร์ อินต๊ะปัญญาเป็นผู้สอน และชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งศาลเจ้าพ่อร้อยฆ้อง

พ.ศ. 2481 ตั้งตำบลแม่นาเรือ ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือ รวมตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ และหมู่บ้านที่ 4, 5, 6, 7 ตำบลจำป่าหวาย หมู่บ้านที่ 7 ตำบลแม่ต๋ำ หมู่บ้านที่ 6 ตำบลในเวียง แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลแม่นาเรือ มีการยุบตำบลจำป่าหวาย ตำบลดงเจ็น ตำบลแม่ต๋ำ ตำบลร้องจะว้า ตำบลบ้านใหม่ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านถ้ำ ตำบลบ้านต่อม ตำบลสันช้างหิน ตำบลบ้านสาง ตำบลสันนกกก ตำบลสันป่าม่วง และตำบลบ่อแฮ้ว (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481)

และในปีเดียวกัน เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพะเยา เปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ. 2483 แยกหมู่บ้านบางส่วน จากตำบลแม่นาเรือ คือหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5 และหมู่บ้านที่ 30, 31, 32, 34 ตำบลดอกคำใต้ แล้วรวมจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ตั้งชื่อว่าตำบลจำป่าหวาย จัดเป็น 9 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773-8. 12 พฤศจิกายน 2483)

พ.ศ. 2495 ได้เริ่มมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน ชื่อนาย จ๋อย สันกว๊าน

พ.ศ. 2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา มาพัฒนาการหลายอย่าง เช่นปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ต๋อม ต๊ำและตำบลใหม่ 28 ก.ม. ติดต่อกับเขตอำเภอแม่ใจ (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2505 ได้เปลี่ยนหมู่ที่12 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอพะเยา จังหวัด เชียงราย เป็น หมู่ 17 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย และมีการจัดตั้งสำนักงานผดุงครรภ์ตำบลแม่นาเรือ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2505

พ.ศ. 2513 ยกฐานะจากสำนักงานผดุงครรภ์เป็นสถานีอนามัยตำบลแม่นาเรือ ซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2513

พ.ศ. 2514 มีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้านครั้งแรก โดยชางบ้านร่วมกันตัดไม้เพื่อมาทำเสาไฟฟ้า

พ.ศ. 2517 มีการเปลี่ยนจากถนนลูกรังเป็นถนนคอนกรีตเข้ามาในหมู่บ้าน หมู่บ้านได้เริ่มมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรก

พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรตั้งจังหวัดพะเยาขึ้น ให้แยกอำเภอพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ ออกจากการปกครองของจังหวัดเชียงรายรวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอพะเยา เป็นอำเภอเมืองพะเยา มีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (ศาลากลางจังหวัดพะเยา)

พ.ศ. 2521 เริ่มก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์แห่งแรกของหมู่บ้านและมีหอกระจายข่าว 

พ.ศ. 2522 แยกหมู่บ้านในตำบลแม่นาเรือตั้งเป็นตำบลแม่ใส โดยโอนหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 18 ตำบลแม่นาเรือ ตั้งเป็นตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา จำนวน 7 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 96 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 142 : 1-17. 16 สิงหาคม 2522) หลังจากการแบ่งหมู่บ้านไปตั้งตำบลแม่ใสบ้านสันขี้เหล็ก จึงได้เปลี่ยนจากหมู่ที่ 17 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย มาเป็นหมู่ที่ 1 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

พ.ศ. 2523 ชุมชนได้มีถนนคอนกรีตของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2539 มีการจัดอบรม อสม. รุ่นแรก 

พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ดังต่อไปนี้ อำเภอเมืองพะเยา กำหนดเขตตำบลแม่นาเรือ ในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 13 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214 - 247.) 12 ตุลาคม 2541 หมู่ที่ 1 คือบ้านสันขี้เหล็ก

พ.ศ. 2544 มีชาวบ้านเปิดร้านค้าที่หมู่บ้านครั้งแรก 

พ.ศ. 2545 ได้มีถนนลาดยางเพิ่มบริเวณเส้นทางคมนาคมของหมู่บ้าน 

พ.ศ. 2553 หมู่บ้านได้มีน้ำประปาใช้ครั้งแรก โดยจัดตั้งบริเวณท้ายหมู่บ้าน

พ.ศ. 2557 ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันชื่อ นายรัชชานนท์ ทองกันทา (คนที่13) และติดตั้งตู้กดน้ำ 3 แห่ง บริเวณหมู่บ้าน ได้แก่ ตรงหน้าบ้านของผู้ใหญ่บ้าน แห่งที่สองอยู่ที่อาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน และแห่งที่สามอยู่ที่ซอย1 

ผู้นำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 12 คน ดังนี้

  1. นายจ๋อย สันกว๊าน
  2. นายจันทร์ติ๊บ วาเพชร
  3. นายผัด ใจบุญ
  4. นายติ๊ สันกว๊าน
  5. นายหลง จันทร์สม
  6. นายคำ ขันธ์รัตน์
  7. นายจู สันกว๊าน
  8. นายประพนธ์ เพียรงาน
  9. นายสม ใจบุญ
  10. นายทองคำ สัญกว๊าน
  11. นายด้วงเงิน โคทอง
  12. นายบุญหลาย ดาวเรือง
  13. นายรัชชานนท์ ทองกันทา

พ.ศ. 2561 ได้มีโรงสีข้าวแห่งแรกของหมู่บ้าน โดยตั้งอยู่ที่ซอย4 ของหมู่บ้านจนมาถึงปัจจุบัน

บ้านสันขี้เหล็ก หมู่ที่ 1 มีถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1143 ผ่านหมู่บ้าน ซึ่งเป็นถนนสองเลน ภายในหมู่บ้านมีถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ใช้สำหรับการคมนาคมในหมู่บ้านซึ่งเป็นถนนสายย่อยและ ซอยที่แยกจากถนนสายหลักเข้าสู่ภายในหมู่บ้านอย่างทั่วถึงการเดินทางไปมากับหมู่บ้านต่าง ๆ จึงมีความสะดวกสบาย 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านห้วยลึก หมู่ 6 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านแม่นาเรือ หมู่ 10 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านแม่นาเรือ หมู่ 10 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ทุ่งนา และบ้านสันป่าสัก หมู่ 6 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะสมกับการทำการเกษตร มีแหล่งน้ำ และมีห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน 2 สาย ซึ่งสายแรกชื่อร่องผักหละใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งเขตแดน ระหว่างหมู่ 1 บ้านสันขี้เหล็กกับ หมู่ที่ 10 บ้านแม่นาเรือ และสายที่สองชื่อร่องมะไฟ ซึ่งแหล่งน้ำทั้งสอง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้สำหรับการเกษตร 

พ.ศ. 2565 มีประชากรทั้งหมด 285 คน โดยมีเพศชาย 139 คน เพศหญิง 146 คน เป็นชาวพื้นเมือง

ผู้นำชุมชน มีจำนวน 5 คน นายรัชชานนท์ ทองกันทา ผู้ใหญ่บ้าน

นายสงกรานต์ ปัญญา และ นางปราณี จันสม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

คณะกรรมการหมู่บ้าน มีจำนวน 5 คน

  1. นายอินแก้ว จักรฟู
  2. นายสวัสดิ์ ชุ่มวงศ์
  3. นายอนงค์ บุญตัน
  4. นายเจริญ ขันรัตน์
  5. นายสุวิทย์ ธารสุขปรีดา

อาสาพัฒนาชุมชน มีจำนวน 16 คน นางสาวนุชจรินทร์ แรกข้าว ประธาน

อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน 8 คน นายรัชชานนท์ ทองกันทา ประธาน

ประธานชมรมผู้สูงอายุหมู่บ้าน นายอิ่นแก้ว จักรฟู ประธาน

กลุ่มคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและคณะกรรมการ มีจำนวน 11 คน นายนงค์ บุญตัน ประธาน

คณะกรรมการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน มีจำนวน 8 คน นายเจริญ ขันรัตน์ ประธาน

สภาพทางเศรษฐกิจ

อาชีพหลัก : เกษตรกรรม (ทำนา)

อาชีพเสริม : รับจ้างทั่วไป

รายได้ของประชาชน : ทำนา, ค้าขาย, เบี้ยยังชีพ, รับจ้างทั่วไป, เงินจากลูกหลาน, รับราชการ, เงินบำนาญ, ปลูกลำไย, กรีดยางพารา, ปลูกยาสูบ, ขายครั่ง, สวัสดิการแห่งรัฐ

รายจ่ายของประชาชน : ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าน้ำมัน, ค่าโทรศัพท์, ค่าเล่าเรียนลูก-หลาน, ค่าอุปโภค-บริโภค, ค่าบุหรี่, ค่าสุรา, ค่าสมาชิก, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าจ้างแรงงาน, ค่าจ้างรถไถ-รถเกี่ยวข้าว, ค่าเมล็ดพันธุ์, ค่าปุ๋ย-สารเคมีทางการเกษตร, หนี้กองทุนเงินล้าน, หนี้ ธ.ก.ส., หนี้กองทุนหมู่บ้าน

หนี้สินประชาชน : หนี้ ธ.ก.ส., หนี้กองทุนหมู่บ้าน, หนี้กองทุนเงินล้าน

พืชและสัตว์ที่ปลูกและเลี้ยง

พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ : ข้าว, ข้าวโพด, ลำไย, ยางพารา, ผักสวนครัว

สัตว์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่ : สุนัข, แมว, หมู, ไก่, วัว, ควาย

ลักษณะการประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชน

ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากหมู่บ้านมีพื้นที่ติดทุ่งนา มีแหล่งน้ำในการทำการเกษตร ส่วนใหญ่จึงมีรายได้จากการทำเกษตรกรรม

ในรอบ 1 ปี ของบ้านสันขี้เหล็ก หมู่ที่ 1 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยามีกิจกรรมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เทศกาลประจำปี ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน มีดังนี้

เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม)

วันออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ชาวบ้านบางส่วนจะถือศีล สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น

งานทำบุญตานก๋วยสลากภัตรจะทำกันตั้งแต่วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำหรือเดือน 12 เหนือจนถึงวันแรม 14 ค่ำเดือนเกี๋ยง ชาวบ้านจะนำก๋วยสลาก ถวายแด่พระสงฆ์ และมีการให้ศีลให้พรอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หรือกรรมนายเวร และงานทอดกฐิน ชาวบ้านจะนำปัจจัย ข้าวของเครื่องใช้นาไปถวายที่วัด และทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดแม่นาเรือเนื่องในวันออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี

เดือนยี่ (พฤศจิกายน)

ประเพณียี่เป็ง วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ชาวบ้านเข้าร่วมงานช่วงตอนเย็น ชาวบ้านจะมีประเพณีลอยกระทง การแข่งขันทำกระทง ปล่อยโคมลอย ชาวบ้านจะเข้าวัดฟังเทศน์ที่วัดแม่นาเรือ

เดือนสาม (ธันวาคม)

วันชาติชาวบ้านร่วมทำบุญตักบาตรสวดมนต์ข้ามปีในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ลูกหลาน ญาติพี่น้องที่ทำงานต่างจังหวัดจะกลับบ้าน มีการเลี้ยงฉลองที่บ้านและมีประเพณีเลี้ยงเจ้าที่นาหรือเจ้าต่ง

เดือนสี่ (มกราคม)

ประเพณีการตานข้าวใหม่ ส่วนมากจะตรงกับวันเพ็ญเดือนสี่ (เหนือ) ซึ่งเป็นกลางฤดูหนาวในเช้ามืดของวันนั้น จะพบคนไปตานขันข้าวและนำข้าวสารบ้างข้าวเปลือกบ้างไปวัดแล้วกองรวมกันไว้ในแต่ล่ะประเภทที่เป็นข้าวสุกก็จะอาไปใส่บาตร ปีใดชาวนาไว้ข้าวดีมีผลมาก ทางวัดจะจัดข้าวเปลือกเป็นร้อย ๆ ถังขึ้นไปซึ่งทางวัดจะขายแล้วนำเงินที่ได้มาบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีประเพณีเลี้ยงเจ้าที่บ้านสืบเนื่องมาจากทำบุญต้อนรับปีใหม่ จะมีการจัดสำรับอาหาร ผลไม้ ต่าง ๆ ถวายแด่เจ้าที่ของบ้านนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อผู้อาศัย และมีงานวันเด็กแห่งชาติจัดที่โรงเรียนและอบต. เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความสนุกสนานในกิจกรรมเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ

เดือนห้า (กุมภาพันธ์) - เดือนหก (มีนาคม)

พิธีขึ้นบ้านใหม่ หรือพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ คือ ความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณ เป็นการทำบุญสำหรับการย้ายบ้านหรือที่อยู่ใหม่ จัดขึ้นเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย เชื่อกันว่าจะช่วยให้อยู่เย็น เป็นสุข เจริญรุ่งเรือง รักใคร่ปรองดอง ไม่ทะเลาะวิวาท ป้องกันสิ่งอันตราย ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีบุคคลที่เข้าร่วมในพิธี คือ พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่ คนในบ้าน และญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง ส่วนสถานที่ก็คือบ้านที่ย้ายเข้าไปอยู่ใหม่

วันมาฆบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ชาวบ้านบางส่วนจะถือศีล โดยเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นและเวียนเทียนร่วมกันที่วัดแม่นาเรือ

เดือนเจ็ด (เมษายน) 

ปีใหม่เมืองหรือประเพณีสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านเรียกว่า "ปี๋ใหม่เมือง" ในวันที่ 13 เป็นวันสังขาลล่อง ซึ่งมีความหมายว่าอายุสิ้นไปอีกปี ชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบ้านเรือนตลอดจนชำระร่างกายให้สะอาด วันที่ 14 เป็นวันเนาหรือวันเน่า เป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย ด่ากัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ ผู้หญิง ผู้สูงอายุมีหน้าที่เตรียมอาหาร ขนม ผู้ชายเตรียมไม้ค้ำศรี (ไม้ค้ำต้นโพธิ์) ช่วงบ่ายมีการขนทรายเข้าวัด วันที่15 เป็นวันพญาวัน คือวันเปลี่ยนศักราชใหม่ เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เช้า มีการถวายภัตตาหารให้กับคนตาย ที่เรียกว่า ตานขันข้าว เช่นเดียวกับวันที่ 1 มกราคม มีการตานตุง หรือถวายตุง ปักเจดีย์ทราย ดำหัว คารวะผู้ใหญ่ การสรงน้ำพระธาตุ พระสถูปเจดีย์พระพุทธรูป การตานไม้ค้ำศรี ในช่วงบ่ายหลังจากการทำบุญที่วัดเสร็จ ชาวบ้านนำดอกไม้ ธูป เทียนน้ำส้มป่อย (ส้มป่อย เป็นพืชสมุนไพรที่ผู้คนในท้องถิ่นล้านนา ยกย่องให้คุณค่าแก่การเก็บรักษา เชื่อว่าสามารถขจัดสิชั่วร้ายเภทภัยต่าง ๆ ให้หมดไปจากตัวและบ้านเรือนได้) รดน้ำ ดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อและผู้อาวุโสในครอบครัวก่อน จากนั้นจึงไปรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสหรือผู้ที่เคารพนับถือในหมู่บ้านหลังจากครอบครัวนำบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้วรวมทั้งพระพุทธรูปที่กราบไหว้ภายในบ้าน นำมาสรงน้ำเพื่อขอขมาลาโทษ ขอพรด้วยการนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำส้มป่อยในการประกอบอาชีพ 

เดือนเก้า (มิถุนายน)

ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ผีปู่ ย่า ตา ยาย หมายถึงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษ กล่าวคือถ้า ปู่ ย่า ตา ยายล่วงลับไปแล้วพวกลูกหลานก็จะสร้างหอไว้ทางเบื้องทิศหัวนอน หรือในสถานที่ที่เห็นว่าสมควร บนหอจะมีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น (คนโท วางเอาไว้ ในปัจจุบันคำว่า "ผีปู่ ย่า ตา ยาย " กร่อมลงมาเหลือเพียงคำว่า "ผีปู่ย่า" ซึ่งเพื่อเป็นการสะดวกในการเรียกจะได้ไม่ยาวเกินไป การนับถือผีปู่ ย่า ตา ยายก็มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า เวลาพ่อ แม่ ตายลงไป ในสมัยก่อนลูกหลานไม่ได้กินได้ทานอุทิศส่วนกุศลให้ดังเช่นสมัยนี้ สาเหตุเพราะว่าอาจจะไม่มีวัดหรือไม่ก็อยู่ห่างไกลวัดก็อาจเป็นได้ ลูกหลานมีความรักเอ็นดูห่วงใยพ่อแม่ จึงสร้างศาลสูงเพียงตาขึ้น แล้วมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร หวานคาว ลูกส้มของหวาน บวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณของพ่อแม่ให้มาอยู่ในศาล เพื่อพิทักษ์รักษาลูกหลานตลอดจนเครือญาติจะต้องถือผีปู่ ย่า ตา ยาย อันเดียวกัน แล้วก็ห้ามแต่งานในวงศ์ที่ถือผีอันเดียวกัน ผีปู่ ย่า ตา ยาย จะอยู่กับลูกหญิงตลอดไปโดยมากจะอยู่กับผู้หญิงคนหัวปี และจะต้องทำศาลให้ถ้าลูกคนหัวปีตายหรือหนีไปอยู่ที่อื่น ก็จะอยู่กับลูกหญิงคนถัดไปในเครือญาติที่เป็นปีกแผ่น การเลี้ยงผีปู่ ย่า ตา ยาย ในสมัยก่อนนั้น จะมีการส่งอาหารให้ทุกมื้อเมื่อมีการกินอาหาร ต่อมาเห็นว่าเป็นการลำบากต่อลูกหลานซึ่งจะต้องทำมาหากิน ขอส่งวันละครั้ง เดือนละครั้ง จนต่อมาในปัจจุบันเป็นปีละครั้ง

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือนหก ชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตรเทโว และเวียนเทียนร่วมกันที่วัดแม่นาเรือ

เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม)

วันอาสาฬหบูชา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ โดยชาวบ้านบางส่วนจะถือศีล สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นและเวียนเทียนร่วมกันที่วัดแม่นาเรือ

วันเข้าพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้านบางส่วนจะถือศีล โดยเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น โดยวิปัสสนาธรรมทุก ๆ วันพระที่วัดแม่นาเรือ

วันแม่แห่งชาติ ชาวบ้านร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันแม่แห่งชาติและร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมป่าไม้. (ม.ป.ป.). ป่าชุมชนตำบลแม่นาเรือ. https://forestinfo.forest.go.th/

ประวัติจังหวัดในล้านนา. (2555). ประวัติจังหวัดในล้านนา. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564. http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

กว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเมืองพะเยา. (2562, 14 สิงหาคม). อ่างเก็บน้ำแม่นาเรือ. Facebook https://www.facebook.com/

รายงานการวินิจฉัยชุมชน. (2565). บ้านสันขี้เหล็ก หมู่ที่ 1 ตำบลแม่นาเรือ อ.เมือง จ.พะเยา. นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา

โดม ไกรปกรณ์. (ม.ป.ป.). หัวเมืองประเทศราช. ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/

มณฑลพายัพ. (ม.ป.ป.). วิกิพีเดีย. https://th.wikipedia.org/wiki

มณฑลเทศาภิบาล. (ม.ป.ป.). วิกิพีเดีย. https://th.wikipedia.org/wiki/

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม ร.ศ.120

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน รศ.124

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ.129

พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481

พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658-81. 14 พฤศจิกายน 2481

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773-8. 12 พฤศจิกายน 2483

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

อบต.แม่นาเรือ โทร. 0-5442-3002