Advance search

แหล่งงานฝีมือ เลื่องลือทั่วถิ่น ปั้นหมอน้ำดิน ครกหินนิยม ปลาส้ม แคบหมู ปลาบู่รสหวาน ประชาชื่นบาน จักสานกล่องข้าว

หมู่ที่ 5
บ้านสันป่าค่าง
บ้านสาง
เมืองพะเยา
พะเยา
จิตทิวา ไชยยานันตา
12 ก.พ. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
บ้านสันป่าค่าง

บ้านสันป่าค่างก่อตั้งมามากกว่า 300 ปี แต่เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่จะเป็นต้นไผ่ และต้นมะค่าและในบริเวณส่วนนี้จะมีจอมปลวกขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านเรียกว่า สันหรือ กู่ ซึ่งพื้นที่ป่าไม้บริเวณนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ชนิดหนึ่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านเรียกว่า ค่าง ในบางครั้งมีชาวบ้านเข้าไปหาของป่าจะพบค่างลงมาที่หนองน้ำเป็นจำนวนมาก ป่าแห่งนี้จึงมีคนขนานนามว่า ป่าสันป่าค่าง 


แหล่งงานฝีมือ เลื่องลือทั่วถิ่น ปั้นหมอน้ำดิน ครกหินนิยม ปลาส้ม แคบหมู ปลาบู่รสหวาน ประชาชื่นบาน จักสานกล่องข้าว

บ้านสันป่าค่าง
หมู่ที่ 5
บ้านสาง
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.17144221
99.84800398
เทศบาลตำบลบ้านสาง

บ้านสันป่าค่างก่อตั้งมามากกว่า 300 ปี แต่เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่จะเป็นต้นไผ่และต้นมะค่าและในบริเวณส่วนนี้จะมีจอมปลวกขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านเรียกว่า สันหรือ กู่ ซึ่งพื้นที่ป่าไม้บริเวณนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ชนิดหนึ่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านเรียกว่า ค่าง ในบางครั้งมีชาวบ้านเข้าไปหาของป่าจะพบค่างลงมาที่หนองน้ำเป็นจำนวนมาก ป่าแห่งนี้จึงมีคนขนานนามว่า ป่าสันป่าค่าง ในระยะเวลาต่อมาผู้คนได้เริ่มถากถางป่าแห่งนี้ เพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัยและผู้คนเริ่มอพยพเข้ามาอยู่กันมากขึ้น จากนั้นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และเคยมีค่างอาศัยอยู่จึงเริ่มหมดไป แต่ชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ในชุมชนแห่งนี้ก็ขนานนามเรียกหมู่บ้านนี้ว่า สันป่าค่างมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยก่อนชุมชนสันป่าค่าง จะมีลักษณะเป็นบ้านไม้ยกสูง ปลูกบ้านติดกัน โดยมีบริเวณใกล้เคียงกับ เส้นทางคมนาคมที่ใช้ไปหาสู่กัน มีลักษณะเป็นร่องสวน ร่องนา ในหมู่บ้านมีสุสานอยู่ท้ายหมู่บ้าน อายุมากกว่า 200 ปี

เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังคราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วยแว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำ คันดินล้อมรอบที่เรียกว่า "เวียง" ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนาโดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบันโดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝ่ายเดียวกัน โดยที่พันนาม่วง คือ บริเวณตำบลบ้านใหม่และบางส่วนของอำเภอแม่ใจในปัจจุบัน โดยที่พันนาม่วงมีลักษณะเป็นเวียงโบราณตั้งอยู่บริเวณชายขอบของที่ราบต่อกับเชิงเขาของดอยต่าง ๆ ที่รายรอบหุบเขาของเมืองพะเยาไว้ โดยห่างกันเป็นระยะตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวียงโบราณใกล้บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ (พระธรรมวิมลโมลี อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาวรรค์ชัย บุนป่าน, 2552)

พ.ศ. 2101 เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ ดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาและความสำคัญของเมืองไป

พ.ศ. 2310 กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พ.ศ. 2330 พระเจ้าเมืองอังวะสั่งให้อะแซวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองพะเยารวมเข้าด้วย เจ้านายและประชาชนตื่นตกใจต่างก็พากันอพยพครอบครัวหลบหนีข้าศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปาง ครอบครัวชาวเมืองเชียงราย ไปตั้งอยู่ที่ตรง 5 แยกเมืองลำปางเตี๋ยวนี้ ได้ร่วมกันสร้างวัดโดยถือเอาตามนามเมืองเดิมที่มาจากเชียงรายว่า "วัดเชียงราย" มาจนบัดนี้ ฝ่ายครอบครัวของชาวเมืองปุมืองสาดที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านวัดเมืองศาสตร์ ส่วนชาวเมืองพะเยาได้อพยพไปตั้งหลักอยู่บ้านปงสนุกด้านใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำวัง คือ บ้านปงสนุก เมืองพะเยาในสมัยนั้นในบริเวณตัวเมืองรกร้างไปเป็นเวลานานถึง 56 ปี

พ.ศ. 2375 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งนำโดยปู่แสนใจ ปู่ท้าวผาบ เ แลผะญาน้อย ทั้งสามคนเป็นพี่น้องกัน ภายหลังบุตรหลานในตระกูลจึงใช้นามสกุลเดินเมือง และมีกลุ่มชนติดตามมาอีกประมาณ 30 ครอบครัว อพยพมาจากบ้านทุ่งม่านใต้ เมืองลำปาง เพื่อแสวงหาที่ทำกินด้านการเกษตร สภาพตามภูมิศาสตร์สภาพของหมู่บ้านเดิมเป็นป่าดงดิบ รกทึบ เต็มไปด้วยต้นไผ่ อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก จึงเห็นสมควรบุกเบิก ทำนา ทำไร่ ทำสวนและปลูกพืชอื่นได้ เนื่องจากว่ามีลำห้วย "แม่เหยี่ยน" ไหลจากทิศตะวันตกลงมาสู่หมู่บ้าน และยังไหลมาสมทบกับ "แม่น้ำอิง" ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เหมาะแก่การทำการเกษตร และยังมีทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ อุดมสมบูรณ์ จึงได้ยึดแผ่นดินดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัย และอยู่กันมาอย่างสงบสุขเรื่อยมา

พ.ศ. 2482 มีการใช้ล้อเกวียนและเรือพายในการคมนาคม เช่น การเดินทางรับรักษาการพยาบาลที่โรงพยาบาลพะเยาโดยทางเรือ ซึ่งท่าเรือจะอยู่ที่อ่านหนังสือของหมู่บ้านปัจจุบัน เรือส่วนใหญ่จะเป็นของคนในหมู่บ้านเองทำขึ้นจากไม้ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ซึ่งการทำเรือคนในหมู่บ้านจะใช้เหล็กที่มีความคมในการแกะไม้ให้เป็นรูปเรือโดยการฉะลุไม้ออกทีละน้อยจนเป็นรูปเรือ และการใช้เกวียนจะใช้เดินทางบก เช่น การเดินทางไปอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ห่างไกลใช้วัวในการขับเคลื่อนเกวียนไป สมัยก่อนบ้านสันป่าค่างจะใช้แสงสว่างจากตะเกียงโดยจะใช้น้ำมันแก๊สเป็นเชื้อเพลิง

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่าจากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2444 ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองนครลำปาง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีผู้คนเป็นจำนวนมากสมควรจัดให้เป็นบริเวณหนึ่ง และจัดให้มีข้าหลวงประจำบริเวณ และให้รวมเมืองพะเยา เมืองงาว รวมเมืองเข้าเป็นบริเวณหนึ่ง เรียกว่า “บริเวณพะเยา” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หลวงศรีสมัตถการ ซึ่งรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยกรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม รศ.120)

พ.ศ. 2457 ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนเสนาบดี ส่วนจังหวัดให้คงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดไว้ตามเดิน แต่ให้กระจายอำนาจการปกครองส่วนย่อย ๆ ออกไปเป็นตำบลหมู่บ้าน ตำแหน่งหัวหน้าตำบลเรียกว่า "เจ้าแคว่น" "แคว่น" (กำนัน) ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า "แก่บ้าน" (ผู้ใหญ่บ้าน) ที่นิยมเรียกกันว่า "พ่อหลวง" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงแต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาและได้รับแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์เป็นรองอามาตย์โทยุนสิทธิประศาสน์ เป็นนายอำเภอคนแรกมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์จัดการศึกษา การอาชีพและบำรุงพุทธศาสนา (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.) ตอนนั้นอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย มี 21 ตำบล โดยประกอบไปด้วย ตำบลเวียง ตำบลแม่ต๊ำ ตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านตุ่น ตำบลสาง ตำบลสันป่าม่วง ตำบลต๋อม ตำบลต๊ำ ตำบลสันกกก ตำบลแม่ปืม ตำบลจำป่าหวาย ตำบลใหม่ ตำบลน้ำย้อยหอยโข่ง ตำบลดงเจน ตำบลห้วยลาน ตำบลร่องจว่า ตำบลช้างหิน ตำบลถ้ำ ตำบลปิน

พ.ศ. 2459 รัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองแก้ไขวิธีเดิม ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นลำดับให้รวมมณฑลเข้าเป็นภาค มีอุปราชกำกับราชการให้เปลี่ยนคำว่าเมือง ใช้เรียกว่า จังหวัด ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เมืองเชียงราย จึงเป็นจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองพะเยาขณะนั้น เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459)

ในปีเดียวกันได้เริ่มสร้างถนนจากลำปางเชื่อมต่อไปยังพะเยา-เชียงราย และไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย ทำให้ค้าขายระหว่างเมืองสะดวกมากขึ้น และปริมาณการค้าก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อการเดินทางสะดวกขึ้นทำให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในภาคกลางเริ่มอพยพมาค้าขายในภาคเหนือมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีบทบาททางการค้าแทนกลุ่มพ่อค้าเดิมพวกพม่า เงี้ยว จีนฮ่อ และแขก กลุ่มพวกพ่อค้าชาวพม่าและเงี้ยวในพะเยาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อชาวจีนจากลำปางได้อพยพเข้ามาค้าขายอยู่ในตัวเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2465 การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง ฝ่ายพุทธจักรเช่นกัน บ้านเมืองขยายไปถึงไหน วัดวาอารามการคณะสงฆ์ก็ไปถึงนั้นเช่นกัน อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล ตำบลสันเวียงใหม่ มีขุนสิทธิ์ อินทร์วงศวรรณ เป็นกำนัน มีหมู่บ้านทุ่งกิ่ว บ้านสันกว๊าน บ้านสันเวียงใหม่ บ้านสันต้นเคราะห์ บ้านสันป่าค่าง (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2481 อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล โดยรวมตำบลบ้านสาง ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลสันป่าม่วง ตำบลบ้านตุ่น แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลบ้านตุ่น (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481) และในปีเดียวกัน เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพะเยา เปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (ที่มา สำนักงานจังหวัดพะเยา สืบค้นวันที่ 28 กันยายน 2564)

ในปีเดียวกันได้มีไฟฟ้าใช้โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมพลังงานไฟฟ้าส่วนท้องถิ่น และในขณะเดียวกันมีรถจักรยานยนต์คันแรกของหมู่บ้านเป็นของแม่นวล

พ.ศ. 2522 มีรถยนต์คันแรกในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2525 มีรถประจำทางที่วิ่งผ่านหมู่บ้าน ซึ่งเป็นรถของบ้านสันเวียงใหม่ของนายเทิง และพ่อเลี้ยง โดยการเดินทางแต่ละครั้งจะเหมารถครั้งละ 5 บาท ถนนในตอนนั้นเป็นถนนลูกรังเป็นส่วนใหญ่ในการเดินทางคนในหมู่บ้านจะเหมารถประจำทางเมื่อมีธุระ เช่น เข้าเมืองไปคลอดบุตร

พ.ศ. 2528 ตั้งตำบลบ้านสาง แยกออกจากตำบลบ้านตุ่น  ในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยโอนจากหมู่บ้านที่ 8, 10, 13, 14, 15, 16, 17, 18, 19 ตำบลบ้านตุ่น  อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ตั้งเป็นตำบลบ้านสาง จำนวน 9 หมู่บ้าน โดยที่หมู่ที่ 5 โอนจากหมู่ที่  15 (บ้านสันป่าค่าง) ตำบลบ้านตุ่น ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2528 เป็นต้นไป (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 102 ฉบับพิเศษ   ตอนที่ 175 : 1-3. 25 พฤศจิกายน 2528)

พ.ศ. 2530 มีการสร้างศาลาประชาคมของหมู่บ้าน โดยมีนายบุญถือ เตซะยอด ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำชาวบ้านในการสร้างศาลาประชาคมขึ้น ซึ่งใช้การประชุมของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2537 ได้พัฒนาถนนเป็นถนนลาดยางและถนนคอนกรีตที่เห็นเช่นในปัจจุบัน ในด้านสาธารณูปโภคในสมัยก่อน น้ำอุปโภคบริโภคของชาวบ้านจะใช้โอ่งสำหรับเก็บรองน้ำฝนไว้ และมีการชุดบ่อไว้ประจำบ้านเพื่อใช้ในครัวเรือนและอุปโภค

พ.ศ. 2538 มีงบประมาณจากเทศบาลตำบลบ้านตุ่น (เดิมบ้านสันป่าค่างอยู่ในเขตการปกครองตำบลบ้านตุ่นประมาณ 30 กว่าปี) จึงได้มีการทำประปาหมู่บ้านขึ้น เพื่อให้คนในหมู่บ้านได้อุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบันน้ำประปามีตะกอน ทำให้คนในหมู่บ้านใช้น้ำประปาในการอุปโภคเท่านั้นไม่ใช้บริโภค และต่อมามีการชุดคลองสร้างสะพานโดยคนในหมู่บ้านเป็นช่วยกันสร้าง

พ.ศ. 2545 บริษัท TOT ได้นำตู้โทรศัพท์สาธารณะมาติดตั้งให้กับหมู่บ้านเพื่อใช้ในการสื่อสารของคนในหมู่บ้าน ติดตั้งที่บ้านเลขที่ 15 ของหมู่บ้าน ปัจจุบันได้เลิกใช้แล้ว เนื่องจากคนในหมู่บ้านมีโทรศัพท์ใช้ส่วนตัว

พ.ศ. 2551 มีการสร้างศาลาอเนกประสงค์ขึ้นซึ่งใช้เป็นที่เก็บของใช้ในหมู่บ้าน เช่น จาน หม้อ โต๊ะ เก้าอี้

พ.ศ. 2552 มีการซ่อมบำรุงศาลาประชาคม

พ.ศ. 2553 ชลประทานมีการออกมาสำรวจแหล่งน้ำที่ลงสู่กว๊าน พบว่ามีตะกอน เศษดิน เศษขยะ ลงสู่กว้าน จึงได้สร้างฝ่ายดักตะกอนบริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2554 มีการสร้างยุ้งฉางและศาลาอ่านหนังสือพิมพ์ของหมู่บ้านเพื่อให้ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ

พ.ศ. 2558 มีการสร้างฝายกั้นน้ำโดยชาวบ้านร่วมกับทหารในการสร้างฝาย

ในส่วนของระบบสุขภาพในอดีต แพทย์ชาวบ้านที่สามารถให้การรักษาทางยาและการทำคลอดได้จะมีคนทำคลอดชื่อหมอสุข แว่นแก้ว และหมอบุญ พรมวิชัย ซึ่งคนในหมู่บ้านจะเรียกว่า "หมอตำแย" ซึ่งในการคลอดจะใช้ไม้ไผ่ในการตัดสายสะดือ (ปัจจุบันแพทย์ชาวบ้านได้เสียชีวิตไปแล้ว) และการรักษาจะใช้การเป่าในการรักษาเป็นส่วนใหญ่ เช่น หมอเป่างู หมู่บ้านเรียกว่า "หมอเป่ามะเฮง" และในปัจจุบันยังมีการเป่าอยู่ การรักษาพยาบาลส่วนใหญ่ไปหาหมอที่ รพ.สต.บ้างสาง หรือโรงพยาบาลพะเยา

พ.ศ. 2553 มีโครงการเต้นแอโรบิคเพื่อสุขภาพเป็นโครงการเทศบาลร่วมกับรพ.สต. โดยมีกลุ่มแม่บ้านเป็นแกนนำในการเต้นแอโรบิคชุมชนบ้านสันป่าค่างมีประชาชนอาศัยอยู่ช่วงแรก ๆ ไม่หนาแน่นนัก ต่อมาได้มีคนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่

พ.ศ. 2557 มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกจำนวน 3 ราย และมีการช่วยเหลือจากเทศบาล รพ.สต.บ้านสางร่วมกับ อสม. ในการฉีดทรายอะเบท และต่อมามีโครงการรถขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นโครงการของเทศบาลเพื่อลดปัญหาขยะในชุมชนและลดการเกิดโรคระบาดโดยการแจกเสวี่ยน เพื่อกัดแยกขยะอินทรีย์ ถ้าหลังคาเรือนใดมีขยะอันตรายหรือขยะพลาสติก ทางเทศบาลจะรับซื้อในวันที่ 25 ของทุกเดือน

พ.ศ. 2563 มีการระบาดด้วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีการช่วยเหลือทั้งจากทางเทศบาล รพ.สต. บ้านสางร่วมกับ อสม. ร่วมด้วยช่วยกันใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำและภาชนะที่มีน้ำ การจัดการกางมุ้ง ปิดประตูหน้าต่าง และมีฉีดการพ่นกำจัดยุงในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2565 มีการระบาดของโรคโควิด-19 ภายในหมู่บ้านในช่วงแรกที่มีข้อมูลคนในชุมชนติดโรคโควิด 19 ได้มีการจัดการประสานกับ รพ.สต.บ้านสาง ในการจัดยารับประทานและมีการจัดการแยกคนในที่ติดเชื้อโควิดออกจากชุมชน โดยผู้ใหญ่บ้านมีการจัดการโดยส่งผู้ที่ติดเชื้อแยกไปรักษาตัวที่ Hospitals ในเมืองพะเยา

พ.ศ. 2566 ได้มีผู้ป่วยไข้เลือดออกรายแรกในรอบ 3 ปีจำนวน 1 ราย ซึ่งมีประวัติเดินทางจากจังหวัดแพร่ มาหาญาติที่พะเยาทางผู้ใหญ่บ้าน อสม. ของหมู่บ้านสันป่าค่างร่วมกับ รพ.สต.บ้านสางและเทศบาลตำบลบ้านสางได้มีมาตรการจัดการป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยมีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและพ่นหมอกควันเป็นบริเวณรัศมี 100 เมตร จากบ้านผู้ป่วยรายชื่อผู้ใหญ่บ้านคนแรกถึงปัจจุบัน

  1. นายโล่ะ หงษ์หิน
  2. นายนนท์ ขันเมือง
  3. นาย ต่ำ สมควร
  4. นายบุญถือ เตชะยอค
  5. นายแสน พรหมวิชัย
  6. นายทองคำ นักสวน
  7. นายเชิด เสมอใจ
  8. นายนรังค์สรรค์ แชะยอด
  9. ปัจจุบัน นายประยุทธ คำสุ

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทศบาล ตำบลบ้านสาง ห่างจากตัวอำเภอเมืองพะเยา ประมาณ 12 กิโลเมตร และห่างจากเทศบาลตำบลบ้านสางประมาณ 3 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 0.88 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 550 ไร่ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มสภาพภูมิประเทศทางทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศเหนือจะเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนา เลี้ยงสัตว์ และทำการเกษตร รวมทั้งการทำประมงน้ำจืดในกว๊านพะเยา

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่บ้านสันป่าม่วง ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 3 บ้านสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ กว๊านพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ที่ 8 บ้านสันบัวบก ตำบลบ้านสาง อำเภอเมือง

 

มีครัวเรือนที่อาศัยอยู่ 165 ครัวเรือน เป็นคนพื้นเมือง มีจำนวนประชากร 492 คน โดยแบ่งเป็นชาย 247 คน หญิง 245 คน เพศชายมากที่สุด อยู่ในช่วง 60-64 ปี คิดเป็นร้อยละ 10.53  และน้อยที่สุดอยู่ในช่วง 85-89 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.81 ส่วนประชากรเพศหญิงมากที่สุด อยู่ในช่วง 60-64 ปี คิดเป็นร้อยละ 9.39 และน้อยที่สุดอยู่ในช่วง 85-89 ปี และ ช่วง 90-94 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.41 ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 26.63 ซึ่งจะแสดงว่า หมู่บ้านสันป่าค่างได้ก้าวสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ 27.44 รองลงมาประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 25.20 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 21.75 และไม่ได้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 10.37 ซึ่งประชากรส่วนนี้เป็นผู้สูงอายุทั้งหมด ต่อมาตามด้วย อยู่ในความปกครอง ร้อยละ 7.52 เป็นเด็กอายุ 0-12 ปี รองลงมาประกอบอาชีพ รับราชการ ค้าขาย ลูกจ้าง ร้อยละ 3.25 2.85 1.62 ตามลำดับ

ผู้นำชุมชน นายประยุทธ คำสุ ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน

  • นายศักดิ์ เตชะยอด ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • นายศรีไว หงส์หิน ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • นายประวิน แสวงงาม ตำแหน่ง ผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ

อาสาพัฒนาชุมชน

  • นางกาบแก้ว บุญเลิศ
  • นางทองใบ นักสวน
  • นายบรรจบ ชำนาญญา

อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อ.ส.ม.) จำนวน 21 คน โดยมีประธาน คือ นางทองใบ นักสวน

กลุ่มประมงพื้นบ้าน โดยมีประธาน คือ นายศรีไว หงส์หิน

กองทุนหมู่บ้าน โดยมีประธาน คือ นางนันทวารี หาญดี

คณะกรรมการสตรี (แม่บ้าน) โดยมีประธาน คือ นางธัญพร คำสุ

สมาชิกตำรวจบ้าน โดยมีประธาน คือ นายอุดม ศรีม่วง

กองทุนหนังควาย โดยมีประธาน คือ นายทองสุข ทะรินทร์

กองทุนขนม โดยมีประธาน คือ นายประยุทธ คำสุ

กองทุนจักสานผักตบชวา โดยมีประธาน คือ นางจารุวรรณ ขันเมือง

ปฏิทินทางวัฒนธรรม

เดือนมกราคม

  • ทำบุญปีใหม่ ในชุมชนจะมีการทำบุญในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี โดยจะมีการทำบุญตักบาตรเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตในการเริ่มต้นปีใหม่ และทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้เป็นปีใหม่ที่เกิดสิ่งดีๆขึ้นกับตัวเอง
  • วันเด็ก จะจัดขึ้นในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี ชุมชนให้ความสำคัญกับวันเด็กเนื่องจากเล็กเห็นว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ จึงจัดงานรื่นเริงให้เด็กได้มีความสุขและสนุกกับวัยเด็ก
  • ทำบุญข้าวใหม่ จะจัดขึ้นพร้อม ๆ กับงานปีใหม่ โดยชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมารวมกันไว้เป็นกองกลาง เพื่อไปใช้ประโยชน์เมื่อมีงานต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

เดือนกุมภาพันธ์

  • ทำบุญตักบาตรวันมาฆบูชา เมื่อถึงวันมาฆบูชา ชาวบ้านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ จะเข้าวัดทำบุญตักบาตร และถือศีล เพื่อปฏิบัติตนในหน้าที่พุทธศาสนิกชนที่ดี
  • สรงน้ำพระธาตุ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน เป็นการสักการะสรงน้ำพระที่วัดบ้านสันเวียงใหม่ เพื่อให้เกิดความสิริมงคลต่อครอบครัว

เดือนมีนาคม

  • งานเลี้ยงผีมด เป็นประเพณีการทำบุญเนื่องจากมีความเชื่อว่า การทำบุญข้าว อาหาร ให้แก่ผีมดจะช่วยให้ลูกหลานแข็งแรงปลอดภัย แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง

เดือนเมษายน

  • สงกรานต์ เป็นเทศกาลที่ทำให้ครอบครัว ญาติพี่น้องได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน มีกิจกรรมสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวขอพรญาติผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ

เดือนพฤษภาคม

  • ตักบาตรวันวิสาขบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นการทำบุญเพื่อให้จิตใจสงบสุข

เดือนกรกฎาคม

  • วันเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา รัชกาลที่ 10 เป็นวันที่สำคัญมากวันหนึ่ง เป็นวันที่ให้คนไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของราชกาลที่ 10
  • ทำบุญตักบาตรวันอาสาฬหบูชา, พิธีแห่เทียนพรรษา, ทำบุญตักบาตรวันเข้าพรรษา หมู่บ้านจะมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรวันอาสาฬหบูชา มีการถวายผ้าอาบน้ำฝนก่อนเข้าพรรษา และถวายเทียนพรรษา รวมทั้งพิธีแห่เทียนพรรษา

เดือนสิงหาคม

  • วันแม่แห่งชาติ เป็นวันที่สำคัญมากวันหนึ่ง บุตรหลานจะได้มีโอกาสแสดงความเคารพ และกราบมารดาเพื่อขอขมา และขอพร เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที

เดือนตุลาคม

  • ทำบุญตักบาตรวันออกพรรษา พิธี/งานประเพณีสลักภัทร ในวันออกพรรษาจะมีการทำบุญตักบาตรและมีการทำห่อข้าวทานให้ทูตผี หรือดวงวิญญาณ หรือบรรพบุรุษ
  • วันคล้ายวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นวันสำคัญอีกวันนหนึ่ง เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยชาวบ้านจะมีการออกมาพัฒนาหมู่บ้านตามถนน

เดือนพฤศจิกายน

  • วันลอยกระทง วันลอยกระทงจัดขึ้นทุกปีเป็นเทศกาลเพื่อบูชา และขอขมาพระแม่คงคา

เดือนธันวาคม

  • วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันรัฐธรรมนูญ, วันส่งท้ายปีเก่า ซึ่งในเดือนสุดท้ายของปีจะมีวันชาติไทยเป็นวันสำคัญเพื่อระลึกถึงความเป็นมาของแผ่นดินไทย และยังมีวันรัฐธรรมนูญซึ่งมีทุกปีเพื่อให้ประชาชนระลึกถึงความเป็นประชาธิปไตยความเป็นปึกแผ่น ความสามัคคี และการปฏิบัติตัว

ปฏิทินทางเศรษฐกิจ

  • ทำนา ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม
  • ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม
  • ทำนาปรัง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน
  • ประมง ประมาณเดือนกันยายนถึงพฤษภาคม
  • ปลูกกระเทียมและหอมแดง ตลอดทั้งปี
  • ทำขนม ตลอดทั้งปี
  • หนังควายตากแห้ง ตลอดทั้งปี

1.นายประยุทธ คำสุ ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านเกษตร

2.นายศรีไว หงส์หิน ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านเกษตร

3.นางอำไพ บุญเลิศ ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านเกษตร

4.นางนงษ์รักษ์ แสวงงาม ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านเกษตร

5.นายมูล เตชะยอด ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านหมอพื้นบ้าน

6.นายบุญลือ เตชะยอด ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านหมอพื้นบ้าน

7.นางเพียร เตชะยอด ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านศิลปวัฒนธรรม

8.นายมูล ผลงาม ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านศิลปวัฒนธรรม

9.นางบัวฝาง หงส์หิน ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านศิลปวัฒนธรรม

10.นางวิน คำสุ ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านศิลปวัฒนธรรม

1.กองทุนหมู่บ้าน

2.กลุ่มกองทุนปุ๋ย

3.กลุ่มมาปานกิจสงเคราะห์

4.กลุ่มธนาคารข้าว

5.กลุ่มประมงพื้นบ้าน

6.กลุ่มเงินสงเคราะห์

7.กลุ่มทำน้ำยาอเนกประสงค์

ภาษาล้านนา ภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านสันป่าค่าง ชุมชนทำหนังควายแปรรูปอาหารพื้นบ้านยอดนิยมของภาคเหนือ

หนังควาย เป็นอาหารที่นิยมในภาคเหนือ มักนำไปประกอบอาหารทั้ง แกง ยำ โดยชุมชนแห่งนี้ทำหนังควายแปรูปขายมานานกว่า 20 ปี โดยรับซื้อหนังควายจากโรงฆ่าสัตว์ในจังหวัดพะเยา จากนั้นนำมาขึงกับไม้ให้ตึงแล้วนำไปตากแดดเพื่อไม่ให้หนังหด ซึ่งจะต้องตากให้แห้งสนิท ประมาณ 7 วัน เพื่อจะได้เก็บได้นาน หากทำหนังควายจี่จะตากเพียง 2 วัน เท่านั้น ก็สามารถส่งขายได้

หนังที่ตากแห้งแล้วจะถูกนำไปชำแหละเนื้อที่ติดหนังออก และนำไปกำจัดขนออกโดยการเผาไฟ ขัดให้สะอาด หั่นซอย แล้วบรรจุใส่ถุงขายมีทั้งที่มารับซื้อและขายผ่านช่องทางออนไลน์

พะเยาโพสต์ PhayaoPost. (2566). #ที่นี่หล่ายกว๊าน เยาวชนบ้านสันป่าค่าง"ประมงน้อยออกหาปลา". https://www.facebook.com/

แนวหน้า. (2566). 'ชาวบ้านสันป่าค่าง'ทำหนังควายแปรรูปขายเป็นอาหารพื้นบ้านยอดนิยมของภาคเหนือ. แนวหน้า. https://www.naewna.com/

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม ร.ศ. 120

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481

พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658-81. 14 พฤศจิกายน 2481

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 102 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 175 : 1-3. 25 พฤศจิกายน 2528