Advance search

บ้านขอบด้ง หมู่บ้านที่ได้รับการส่งเสริมจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาว อาทิ สตอเบอรี่ บ๊วย ท้อ ถือเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชาวลาหู่ อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากโครงการหัตถกรรมในมูลนิธิของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทำกำไลหญ้าอิบูแค เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในหมู่บ้าน

หมู่ที่ 14
ม่อนปิ่น
ฝาง
เชียงใหม่
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1173-0548, อบต.ม่อนปิ่น โทร. 0-3468-6433
สุธาสินี บุญเกิด
21 เม.ย. 2023
สุธาสินี บุญเกิด
21 เม.ย. 2023
บ้านขอบด้ง


บ้านขอบด้ง หมู่บ้านที่ได้รับการส่งเสริมจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาว อาทิ สตอเบอรี่ บ๊วย ท้อ ถือเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชาวลาหู่ อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากโครงการหัตถกรรมในมูลนิธิของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทำกำไลหญ้าอิบูแค เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในหมู่บ้าน

หมู่ที่ 14
ม่อนปิ่น
ฝาง
เชียงใหม่
50110
19.92606263
99.05187741
องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่น

ลาหู่บ้านขอบด้ง ส่วนใหญ่เป็นลาหู่เฌเลที่อพยพมาจากประเทศพม่า แรกเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสันเขาบ้านหลวง ต่อมาเกิดโรคระบาดทำให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประกอบกับถูกชาวจีนยูนนานและไทยใหญ่รุกราน จึงได้ถอยร่นมาอยู่ที่บ้านคุ้ม และบริเวณที่เป็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางในปัจจุบัน ลาหู่เป็นกลุ่มคนที่รักสงบไม่ชอบความวุ่นวาย และเป็นกลุ่มอพยพเร่ร่อนไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงได้ย้ายจากบริเวณบ้านคุ้มและบริเวณสถานีเกษตรหลวงอ่างขางไปยังบ้านเปียงหลวง ต่อมาถูกรุกรานจากคนพื้นราบและเกิดความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการเป็นผู้นำชนเผ่า ประกอบกับมีคนเป็นจำนวนมาก จึงได้แยกย้ายกันไปตั้งหมู่บ้านใหม่เป็น 3 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านหนองเต่า หมู่บ้านป่าคา และหมู่บ้านขอบด้ง ในการตั้งถิ่นฐานของลาหู่บ้านขอบด้ง ได้เข้ามาตั้งก่อนการก่อสร้างสถานีเกษตรหลวงอ่างขางประมาณ 15 ปี หรือประมาณปี พ.ศ. 2497 (ลลิตา จรัสกร, 2557, น. 57)

หมู่บ้านขอบด้ง มีลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขาสูงลักษณะเป็นดินปนหิน โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลโดยประมาณ 1,350 เมตร ตั้งอยู่บนไหล่เขาลาดจากเหนือลงใต้ รายล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อน บริเวณโดยรอบเป็นป่าเบจพรรณและแปลงเกษตรของชาวบ้าน การวางผังหมู่บ้านกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ทิศของเรือนมักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก การเดินทางสะดวกเป็นถนนคอนกรีตตัดเข้าถึงหมู่บ้าน สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2548 ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่น อีกทั้งยังเป็นเส้นทางหลักใช้สัญจรขนส่งสินค้าพืชผลทางการเกษตร บ้านทุกหลังในหมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้เกือบทุกหลังคาเรือน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528

ภูมิอากาศ

  • ฤดูหนาว : ธันวาคม–กุมภาพันธ์
  • ฤดูฝน : สิงหาคม–พฤศจิกายน

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ  ติดต่อกับ  บ้านหนองเต่า ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  บ้านป่าคา ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ  บ้านนอแล ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
  • ทิศใต้  ติดต่อกับ  สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และบ้านคุ้ม ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน ประกอบด้วย ลานประกอบพิธีกรรม ลักษณะเป็นลานดินล้อมรั้วไม้ไผ่ ซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้านของผู้นำศาสนา เรียกว่า “ลานจะคึ” มีคอกสัตว์กระจายอยู่บริเวณบ้าน นิยมเลี้ยงหมู ไก่ไว้เป็นอาหาร และใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญ มีครกตำข้าวกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ในหมู่บ้าน มียุ้งข้าวสำหรับเก็บข้าวไว้บริโภค รวมทั้งที่เก็บฟืนใช้สำหรับหุงอาหารและให้ความอบอุ่นตั้งอยู่ไม่ห่างจากตัวบ้านมากนัก นอกจากนั้นมีโรงเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมตอนต้น 1 แห่ง บ้านผู้นำศาสนา 2 แห่ง (ลลิตา จรัสกร, 2557, น. 58-59)

การสร้างบ้านของลาหู่บ้านขอบด้ง ปัจจุบันยังคงมีรูปแบบดั้งเดิมไว้คือ ใช้วัสดุจากธรรมชาติพวกไม้ก่อ ไม้ไผ่ และหญ้าคา ที่หามาได้จากป่าใกล้ ๆ หมู่บ้าน ก่อนที่จะสร้างบ้านเจ้าของบ้านจะเลือกพื้นที่ตั้งที่เหมาะสมและจะต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีคนตายบนพื้นที่นั้นมาก่อน แล้วจึงไปขอฤกษ์ยามหรือวันดีจากผู้นำศาสนาหรือปู่จองก่อน เมื่อได้ฤกษ์ยามดีมาแล้วจัดเตรียมวัสดุในการก่อสร้างบ้านให้พร้อมหลังจากนั้นจึงไปชวนเพื่อนบ้านในหมู่บ้านให้มาช่วยกันสร้างบ้าน โดยจะต้องสร้างให้เสร็จภายใน 1 วัน บ้านของลาหู่จะสร้างแบบยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1-2.5 เมตร ตามระดับความลาดชันของพื้นที่ และจะสร้างหันระเบียงหรือชานบ้านไปทางทิศตะวันออกเพื่อให้ได้รับแสงอาทิตย์ ในบ้าน 1 หลังจะมีคนอาศัยอยู่ประมาณ 2-10 คนตั้งแต่รุ่นปู่ย่าไปจนถึงรุ่นลูกหลาน ถ้าบ้านไหนครอบครัวใหญ่มีลูกมาก บ้านจะมีขนาดใหญ่ตามจำนวนคนที่อยู่อาศัย (ลลิตา จรัสกร, 2557, น. 88-89) เรือนที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีทั้งเรือนรูปแบบดั้งเดิม เรือนที่มีแบบเปลนเดิมแต่ปรับเปลี่ยนวัสดุในการก่อสร้าง เรือนดัดแปลงประยุกต์ และเรือนแบบสมัยใหม่ที่ใช้ปูนซีเมนต์และกระเบื้องแทน

จากข้อมูลสถิติประชากรและจำนวนครัวเรือน ประจำปี 2565 ขององค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่น ระบุว่าบ้านขอบด้งมีจำนวนครัวเรือน 161 หลังคาเรือน จำนวนประชากรรวม 1,151 คน แบ่งเป็นชาย 583 คน และ หญิง 568 คน (องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่น, 2565)

ในครัวเรือนหนึ่งหลังเน้นความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ ไม่นิยมให้บุคคลอื่นเขามาอาศัยด้วย การทำงานมีการแต่งหน้าที่ความรับผิดชอบงานในแต่ละวัน โดยผู้ชายมีหน้าที่ออกไปทำไร่นอกบ้าน ส่วนผู้หญิงทำหน้าที่เลี้ยงลูก หุงหาอาหาร เลี้ยงสัตว์

ระบบการปกครองของลาหู่บ้านขอบด้ง ให้ความเคารพนับถือผู้นำศาสนาหรือปู่จอง เป็นคนสำคัญของหมู่บ้าน ทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและมีอิทธิพลทางความเชื่อและความคิดมากกว่าผู้นำที่มาจากส่วนท้องถิ่น ตำแหน่งนี้สืบทอดกันทางสายโลหิตหรือทางเครือญาติ (ลลิตา จรัสกร, 2557, น. 60)

ลาหู่

แต่เดิมลาหู่บ้านขอบด้งมีรายได้มาจากการปลูกฝิ่นขาย ต่อมาฝิ่นถือว่าเป็นพืชที่ผิดกฎหมายชาวบ้านจึงยกเลิกการปลูกฝิ่นและหันมาทำการเกษตรชนิดอื่นแทน โดยในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางขึ้น บริเวณบ้านคุ้มใน หมู่บ้านขอบด้งได้รับการส่งเสริมจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขางให้มีการปลูกไม้ผลเมืองหนาว เช่น สตอเบอรี่ บ๊วย ท้อ เมื่อชาวบ้านได้ผลผลิตมาก็จะส่งไปขายให้กับโครงการหลวง ถือเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชาวลาหู่ ทำให้หมู่บ้านมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ลาหู่บ้านขอบด้งมีการปลูกข้าวไร่ไว้บริโภคในครัวเรือน ปลูกผักเช่น ข้าวโพด ฟักทอง เอาไว้เลี้ยงสัตว์ เพราะลาหู่นิยมเลี้ยงหมู และไก่ไว้ใช้ในการประกอบพิธีที่สาคัญ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีวันขึ้นปีใหม่

ส่วนอาชีพเสริมอื่น ๆ ที่ทำรายได้ให้แก่ชาวบ้าน คือการทำกำไลหญ้าอิบูแค โดยชาวบ้านได้เรียนวิธีการทำมาจากโครงการหัตถกรรมในมูลนิธิของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มาถักเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กำไลข้อมือ ตุ๊กตา กิ๊บติดผมและกระเป๋า จำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในหมู่บ้าน เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งที่สร้างมูลค่าให้แก่ชาวบ้าน (ลลิตา จรัสกร, 2557, น. 65-66)

ลาหู่บ้านขอบด้งนับถือเทพเจ้า ผีบรรพบุรุษ หรือที่ชาวลากหู่ เรียกว่า “กือซา” เป็นเทพเจ้าสูงสุด มีส่วนน้อยที่นับถือพุทธศาสนา โดยชาวลาหู่เชื่อว่า กือซา จะช่วยคุ้มครองคนในหมู่บ้านและครอบครัวให้อยู่สุขสบาย และช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ผลผลิตดี

วิถีชีวิตรอบปีของชาวลาหู่บ้านขอบด้ง (ข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2556-2557) (ลลิตา จรัสกร, 2557, น. 61-63)

เดือนวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่
มกราคมเปลี่ยนวัสดุหรือซ่อมแซมส่วนประกอบของบ้านที่ชำรุดทรุดโทรม และทำความสะอาดบ้านเพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่ (กินวอ)เตรียมวัสดุจำพวกไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง หญ้าคา โดยไปตัดมาจากบริเวณป่าใกล้หมู่บ้าน และดูแลพืชผลสตรอว์เบอร์รีโดยการรดน้ำ และกำจัดศัตรูพืช
กุมภาพันธ์ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ (กินวอ) โดยชาวลาหู่จะแต่งชุดประจำชาติพันธุ์ มีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส บูชาเทพเจ้ากือซา และเต้นรำที่ลานจะคึตัดชุดประจำเผ่าไว้ใส่ในเทศกาลปีใหม่ เตรียมของที่จะนำมาใช้ในช่วงการประกอบพิธีวันขึ้นปีใหม่ของลาหู่ เช่น การฆ่าหมู การตำข้าวปุ๊ การเตรียมลานจะคึสาหรับใช้เต้นราของลาหู่ และเก็บผลสตอเบอรี่เพื่อส่งให้กับสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
มีนาคมหลังจากปลูกข้าวเสร็จ มีการประเพณีทำบุญเรียกขวัญข้าว หรือพิธีบูติบูตี เพื่อให้คนในหมู่บ้านอยู่อย่างมีความสุขเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และทำแนวกันไฟรอบ ๆ พื้นที่ของแต่ละคน และปลายเดือนเมษายนเริ่มปลูกข้าวไร่ ซึ่งจะทำเป็นแบบนาขั้นบันได
เมษายนไม่มีประเพณีที่สำคัญในเดือนนี้ต้นข้าวโพดเริ่มโตพอประมาณ ถอนหญ้าและคอยดูแลเรื่องแมลงศัตรูพืชจนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว
พฤษภาคมไม่มีประเพณีที่สำคัญในเดือนนี้ช่วงปลูกข้าวไร่ และบำรุงรักษาต้นข้าวให้ออกรวงได้ดี
มิถุนายนไม่มีประเพณีที่สำคัญในเดือนนี้ข้าวสูงพอประมาณ เริ่มถอนหญ้าให้กับต้นข้าวและถอนหญ้าจนกว่าข้าวจะออกรวงเป็นสีเหลือง
กรกฏาคมไม่มีประเพณีที่สำคัญในเดือนนี้ข้าวสูงพอประมาณ เริ่มถอนหญ้าให้กับต้นข้าวและถอนหญ้าจนกว่าข้าวจะออกรวงเป็นสีเหลือง
สิงหาคมพิธีทำบุญมะฟัก (จะซือจ่า) เป็นการทำพิธีเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือช่วยอำนวยและบันดาลให้ได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพ และเป็นการระลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเรามาเอาหญ้า เตรียมพื้นที่สำหรับปลูกข้าวนา และเตรียมปลูกข้าวนา
กันยายนก่อนจะถึงประเพณีกินข้าวใหม่ ชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือน หาผลผลิตจากในไร่ในสวนนำมาไว้ที่บ้าน เช่น ฟักทอง ข้าวโพด เป็นต้นเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวไร่ และพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ และพืชผักจำพวกฟักทอง ข้าวโพด โดยพืชผักเหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ให้แห้ง หรือเถาของต้นแห้งเสียก่อนจึงจะเก็บได้
ตุลาคมมีประเพณีกินข้าวใหม่ (จ่าสือจาเลอ) เป็นพิธีบวงสรวงเทพเจ้า มีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส และมีการเต้นรำฉลองประเพณีกันอย่างสนุกสนานเก็บเกี่ยวข้าวไร่ หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จแต่ละครอบครัวจะเก็บข้าวใหม่ทั้งต้นประมาณ 2-3 ต้นมานึ่งพร้อมกับข้าวเก่า โดยเอาต้นข้าวไว้ข้างบนส่วนที่เหลือจะนำไปตีแล้วเก็บใส่กระสอบไว้กินต่อไป
พฤศจิกายนไม่มีประเพณีที่สำคัญในเดือนนี้เตรียมพื้นที่เพื่อปลูกพืชผลเมืองหนาวจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คือ สตรอว์เบอร์รี
ธันวาคมไม่มีการประกอบพิธีใด ๆ เตรียมการต้อนรับสู่สิ่งใหม่ ๆเตรียมวัสดุพวกไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง หญ้าคา โดยไปตัดมาจากบริเวณป่าใกล้หมู่บ้าน และบำรุงใส่ปุ๋ยดูแลพืชผลเมืองหนาวคือ สตรอว์เบอร์รี

ประเพณีที่สำคัญ 

เนื่องจากลาหู่บ้านขอบด้งนับถือเทพเจ้ากือซาหรือผีฟ้าและผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นศาสนาแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ทำให้ลาหู่บ้านขอบด้งมีประเพณีที่สำคัญที่ยังคงรักษาและปฏิบัติกันอยู่ ได้แก่

ประเพณีขึ้นปีใหม่ (กินวอ) จัดขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นการบวรสรวงเทพเจ้ากือซา โดยชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติพันธุ์ที่ตัดขึ้นใหม่ พิธีกรรมในช่วงเช้าจะมีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสในหมู่บ้านเพื่อขอพรให้ได้รับแต่สิ่งดี โดยมีการนำข้าวปุ๊กที่ตำมาปั้นเป็นก้อนกลมแบนไว้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ของเทพเจ้ากือซา ตกเย็นจะมีการฆ่าหมูเพื่อนำมาประกอบอาหารเลี้ยงคนในหมู่บ้าน ส่วนหนุ่มสาวจะออกมาเต้นรำในลานประกอบพิธีหรือลานจะคึกันอย่างสนุกสนาน

ประเพณีกินข้าวใหม่ (จะซือจ่าเลอ) พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพืชผลทางการเกษตรของลาหู่ โดยพิธีนี้เริ่มจัดขึ้นในช่วงที่ต้นข้าวออกรวง ประมาณช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นการทำพิธีเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือดลบันดาลให้ผลผลิตออกผลดีและมีคุณภาพ ในระหว่างที่มีการประกอบพิธีจะมีการเต้นรำฉลองประเพณีอย่างสนุกสนานไปพร้อมกัน

1. นายจะกำ เขมิกา  ผู้ใหญ่บ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวลาหู่บ้านขอบด้งส่วนใหญ่ใช้ภาษาลาหู่ในการพูดคุยระหว่างกัน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ส่วนคนรุ่นหนุ่มสาวสามารถพูด ฟัง เขียน ภาษาไทยได้ดี และในวัยผู้ใหญ่รุ่นพ่อแม่สามารถพูดได้ทั้งภาษาลาหู่และภาษาไทย (ลลิตา จรัสกร, 2557, น. 60)


การแต่งกายของลาหู่บ้านขอบด้งในวันปกติธรรมดาจะเห็นผู้สูงวัยยังคงใส่ชุดประจำชาติพันธุ์อยู่ คือ ผู้หญิง สวมเสื้อตัวยาวถึงเข่า ผ่าหน้าตลอดแขนยาว สาบหน้าและริมผ้าตีกรอบด้วยผ้าแถบสีขาว และตีเป็นลายสลับตลอดแขน ส่วนผู้ชายเปลี่ยนมาใส่เสื้อแบบคนเมือง แต่ยังคงสวมกางเกงแบบชาติพันธุ์ตน คือ เป็นกางเกงตัวหลวมยาวถึงเข่า และทั้งผู้หญิง ผู้ชายนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าขนหนู ส่วนเด็กและวัยหนุ่มสาวมักใส่เสื้อผ้าแบบคนพื้นราบ นอกเสียจากจะมีประเพณีที่สำคัญ เช่น ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ โดยชุดผู้หญิงลาหู่จะไปซื้อผ้ามาจากตลาดไชยปราการ และนำมาตัดเย็บไว้ใส่ในงานพิธีสำคัญ บางบ้านมีการทอย่ามไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ แต่งานทอผ้าไม่ปรากฏให้เห็นในหมู่บ้าน เนื่องจากงานทอผ้ากำลังจะสูญหาย มีแต่การเย็บปักถักร้อยเท่านั้นที่ผู้หญิงลาหู่บ้านขอบด้งยังคงสืบทอดกันอยู่ (ลลิตา จรัสกร, 2557, น. 61)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ลลิตา จรัสกร. (2557). สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นลาหู่ และการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่น. (2565). สถิติประชากรและจำนวนครัวเรือน ประจำปี 2565. ค้นคืนเมื่อ 21 เมษายน 2566, จาก https://www.monpinfang.go.th/

วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-1173-0548, อบต.ม่อนปิ่น โทร. 0-3468-6433