Advance search

จักสานหมวกไม้ไผ่ การจักสานของใช้จากไม้ไผ่ ทำตะกร้าจากไม้ไผ่ ปั่นกระดาษสา การถักโครเชท์

บ้านสันป่าพาด
บ้านสันป่าพาด
แม่อิง
ภูกามยาว
พะเยา
กรรณิการ์ แก้วเคียงคำ
9 ม.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
บ้านสันป่าพาด

ตามที่ปรากฏในตำนานเมืองพะเยา ชื่อแม่น้ำขุนภูบาง แม่น้ำสามตาบ้านภายหลัง เรียกว่า แม่น้ำอิง จากแม่น้ำเล็ก ๆ กลายเป็นแม่น้ำใหญ่กว้าง และเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไหลขึ้นทางเหนือ เมื่อก่อนนั้นในแถบนี้ จะมีต้นไผ่ ต้นพาด ขึ้นอยู่เต็มหมู่บ้าน มีชาวบ้านหลายหมู่บ้าน เห็นที่นี้อุดมสมบูรณ์ จึงเข้ามาหาที่ทำกิน และพัฒนาพื้นที่เรื่อยมา กระทั่งได้ตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้นว่า บ้านสันป่าพาด


ชุมชนชนบท

จักสานหมวกไม้ไผ่ การจักสานของใช้จากไม้ไผ่ ทำตะกร้าจากไม้ไผ่ ปั่นกระดาษสา การถักโครเชท์

บ้านสันป่าพาด
บ้านสันป่าพาด
แม่อิง
ภูกามยาว
พะเยา
56000
19.2418635
100.0047496
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่อิง

หมู่บ้านสันป่าพาดเป็นส่วนหนึ่งของตำบลแม่อิง โดยแม่อิง ตามที่ปรากฏในพงศาวดาร และตำนานเมืองพะเยาเป็นชื่อของแม่น้ำขุนภูนาง แม่น้ำสามตา ภายหลังเรียกกันว่า แม่น้ำอิง โดยถือเอาวินิจว่า สมัยพุทธมหาราชแห่งอาณาจักรเชียงราย และพญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา ได้ปฏิญาณกันที่ฝั่งแม่น้ำขุนภูนาง โดยด้านหลังพิงกันที่ฝั่งแม่น้ำ เมื่อเสร็จก็จากกันกลับสู่เมืองนครของตน ต่อมาเรียก แม่น้ำนั้นว่าแม่น้ำอิงจนถึงทุกวันนี้ ลักษณะสัณฐานของแม่น้ำอิง ต้นไม้ไผ่ใหญ่โตนัก เป็นเพียงลำห้วยเล็ก ๆ ไหลมา จากภูเขา ส่วนปลายของแม่น้ำอิงกลายเป็นแม่น้ำใหญ่กว่าพอสมควร และเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไหลขึ้นทางทิศเหนือ ไปลงที่แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย

โดยเริ่มแรกชาวบ้านบ้านหอยโขง (ปัจจุบันอยู่บริเวณบ้านดอกบัว) และชาวบ้านท่าร้อง เป็นที่เลี้ยงวัวและควาย แถวบริเวณชายป่าที่ห่างไกลจากหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อมาบ่อยขึ้นจึงมาตั้งพักกลางป่า จากนั้นจึงเห็นว่า บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ จึงพากันมาตั้งบ้านเรือน โดยเริ่มแรกประมาณ 5-6 หลัง ชาวบ้านที่มาอยู่ก็ถางหญ้าปลูกข้าว ซึ่งแต่ก่อนบริเวณที่มาอยู่นี้มีแต่ป่าทึบ โดยป่านี้จะมาต้นพาด (ลักษณะคล้ายต้นไผ่) ขึ้นอยู่ตามสัน ตามคันดิน หรือริม ตลิ่งแม่น้ำอิงเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า บ้านสันป่าพาด โดยบ้านเรือนจะมีไม่มาก ตั้งอยู่ห่างกับบริเวณที่คนใช้เดินทางไปมาหาสู่กัน จะเป็นช่องเล็ก ๆ มีหญ้ารกขึ้น ตามข้างทาง ถ้าจะไปไหน จะต้องเดินเท้าไปเท่านั้น สำหรับน้ำกินน้ำใช้ในหมู่บ้าน จะเป็นน้ำในบ่อ ส่วนลำธารก็ใช้ เป็นแหล่งอาหาร หาปูหาปลาบริโภค ซึ่งแม่น้ำที่สำคัญในหมู่บ้านมีสามสาย คือ แม่น้ำอิง แม่น้ำล่องไผ่ แม่น้ำล่องเงี้ยว โดยในฤดูกาลน้ำหลากก็ทำให้หมู่บ้านเกิดน้ำท่วมได้ง่าย เมื่อเกิดน้ำท่วม ชาวบ้านก็นำผักตบชวา มากั้นขวาง บริเวณริมตลิ่ง เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าหมู่บ้าน แต่หากปีไหนที่น้ำหลากมาจนแนวฝั่ง ผักตบชวาที่นำมากั้นจะไม่สามารถ ทนต่อน้ำได้ ทำให้น้ำล้นเข้าท่วมหมู่บ้าน ชาวบ้านก็พากันอพยพขึ้นไปอาศัยบนดอยพระธาตุสามขวาง จนกระทั่งน้ำลดจึงจะกลับลงมาในหมู่บ้าน และช่วยปรับปรุงพัฒนาทำความสะอาดหมู่บ้านใหม่ หากมีชาวบ้านล้มตายในช่วงน้ำหลาก ก็จะนำศพใส่เรือลอยไปฝังบนที่ดอยไกลจากหมู่บ้าน เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นเน่าที่จะมารบกวน และป้องกันดวงวิญญาณของคนตายรังควาญเอา ซึ่งโดยทั่วไปคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะมีความเชื่อเรื่องผีสางและเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น การไหว้ต้นไม้ใหญ่ เคารพนับถือเจ้าที่เจ้าทาง

บุคคลในหมู่บ้านที่ชาวบ้านนับถือมากที่สุด คือ หลวงพ่อหลาน ปสนุพจิตโต เจ้าอาวาสวัดสันป่าพาด โดยเดิมวัดมีชื่อว่า วัดศิริดอนชัย และเปลี่ยนชื่ออีก เป็น วัดศรีดอนชัย ปัจจุบันเป็นวัดสันป่าพาด

ครั้งหนึ่งคนในหมู่บ้านต้องการหาเงินเข้าวัด ทางวัดเลยจัดสร้างเหรียญรูปหลวงพ่อหลาน ปลุกเสกบูชาก็มีชาวบ้านนำไปบูชา เมื่อมีอุบัติเหตุคนที่แขวนเหรียญ หลวงพ่อหลานก็จะแคล้วคลาดปลอดภัย ตั้งแต่นั้นมาก็เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว ซึ่งท่านได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งเจ้าอาวาสปัจจุบัน คือ พระครูพิเขมคุณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าคณะอำเภอภูกามยาว ส่วนต้นไผ่ ต้นพาด มีการขยายถนน ลำน้ำ ได้มีการตัดทิ้งหมด ชื่อหมู่บ้านปัจจุบันคือ บ้านสันป่าพาด

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน มีผู้นำชุมชนหรือผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้ง จำนวน 13 คน ดังนี้

  1. นายบุญตัน ดุเหว่า
  2. นายแก้ว ปัญญาฟู
  3. นายตั๋น บุญปลอด
  4. นายโรจน์ เดชบุญ
  5. นายแก้ว หมอเก่ง
  6. นายอินทร์แก้ว ลือเรือง
  7. นายตา ลือเรือง
  8. นายดวง ลือเรือง
  9. นายปั๋น หมอเก่ง
  10. นายจันทร์ บุญรัตน์
  11. นายลือสม ลือเรือง
  12. นางจันทร์ทิพย์ เดชะบุญ
  13. นายราเชนทร์ จำรัส

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านสันป่าพาด

เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาวมีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังคราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเซียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วย แว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า "เวียง"ทั้งหมด 11 แห่งความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนา โดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝ่ายเดียวกัน

เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลตฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310

ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2438 พระยาราชวรานุกูล กระทรวงมหาดไทย นำเจ้าอุปราชเจ้าราชภาติกวงษ์ เจ้าสุริยวงษ์เมืองนครลำปาง กับพระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อรายงานตัวไปรักษาราชการบ้านเมือง (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 : 493. 5 มีนาคม ร.ศ.114)

พ.ศ. 2444 ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองนครลำปาง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีผู้คนเป็นจำนวนมากสมควรจัดให้เป็นบริเวณหนึ่ง และจัดให้มีข้าหลวงประจำบริเวณ และให้รวมเมืองพะเยา เมืองงาว รวมเมืองเข้าเป็นบริเวณหนึ่ง เรียกว่า “บริเวณพะเยา” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หลวงศรีสมัตถการ ซึ่งรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยกรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม ร.ศ. 120)

พ.ศ. 2445 เค้าสนามหลวงนครลำปาง มีใบบอกมาว่า หนานหลาน สมุห์บัญชีแขวงแม่อิง ถวายม้า ถวายเป็นของขวัญรัฐบาล ไว้สำหรับราชการในบริเวณพะเยา แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หนานหลานถวายม้า (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 19 : 245. 29 มิถุนายน ร.ศ. 121 ขณะนั้นเมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง

พ.ศ. 2450 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าวิธีการปกครองให้จัดลงเป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ชื่อตำแหน่งยังเรียกผิดกันในบางมณฑล การที่ใช้คำเรียกผิดกันนั้นเป็นที่ลำบากแก่กฎหมายและหนังสือราชการ เพราะต้องแยกตามท้องที่ ๆ ใช้คำต่างกัน ควรเรียกชื่อตำแหน่งให้เหมือนกัน คือมณฑลพายัพ ตำแหน่งนายอำเภอซึ่งเรียกนายแขวงนั้นต่อไปให้เรียกว่า “นายอำเภอ” และแขวงต่อไปให้เรียกว่า “อำเภอ” ตำแหน่งกำนันซึ่งเรียกว่า “นายแคว้น” ต่อไปให้เรียกว่า “กำนัน” แคว้นให้เรียกว่า “ตำบล” ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านซึ่งเรียกว่า “แก่บ้าน” ต่อไปให้เรียกว่า “ผู้ใหญ่บ้าน” (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วิธีการปกครองให้จัดเป็นแบบเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 : 1156. 26 มกราคม ร.ศ. 126

พ.ศ. 2450 มีการอพยพจากหมู่บ้านหอยโขงและบ้านท่าร้องมาตั้งบ้านเรือน

พ.ศ. 2453 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ. 129)

พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน ๖ฯ๗-๑๒๘๓-๒๔๖๕ วันที่ ๗ เมษายน บันทึกไว้ว่า การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล บ้านสันป่าพาดอยู่ในส่วนของตำบลน้ำย้อยหอยโข่ง มีหมู่บ้านแม่อิงหอยโข่ง บ้านแม่อิงหลวง บ้านสันป่างิ้ว บ้านสันป่าพาดสันรองผึ้ง(พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2481 เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพะเยา เปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658-81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ. 2482 นายผล แผลงศร กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองพะเยาอีกครั้งหนึ่ง สร้างประตูระบายน้ำกว๊านพะเยาได้เสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2482 สร้างที่ทำการของสถานีประมง (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) หลวงมัศยจิตรการ ผู้แทนการประมงเดินทางไปตรวจกว๊านพะเยาเมื่อวันที่ 8 – 11 พฤศจิกายน 2482 และรายงานเสนอต่อหัวหน้ากองการประมงดังนี้ คำสั่งให้ข้าพเจ้าไปตรวจราชการที่กว๊านพะเยา จังหวัดเชียงราย ในความหมายเพื่อพิจารณาถึงวิธีการดำเนินงานปรับปรุงกว๊านพะเยาให้มีสภาพดียิ่งขึ้น สมเป็นสถานที่เพาะและเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำให้มีปริมาณมากและแพร่หลาย ดำเนินการวิ่งเต้นจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างประตูระบายน้ำและขอซื้อจากเจ้าของที่ดิน

พ.ศ. 2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยามาพัฒนาการหลาย อย่างเช่น ปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ตำบลต๋อมและ ตำบลใหม่ 28 กิโลเมตรติดต่อกับอำเภอแม่ใจประชาชนเรียกถนนสายรอบกว๊าน อีกสายหนึ่งตั้งแต่ประตูชัยไปตำบลดงเจน ผ่านบ้านศาลา บ้านดอกบัว บ้านกว้าน แม่อิง สันป่าพาด ต้นผึ้ง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิง ติดต่อบ้านห้วยดอกเข็ม ตำบลห้วยลาน อำเภอตอกคำใต้ ทำให้ประชาชนซาวบ้านดังกล่าวได้มีถนนหนทางไปมาได้สะดวกขึ้นมากจนถึงทุกวันนี้ (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2503 สร้างฝายชะลอน้ำ และมีการขุดบ่อน้ำ (น้ำบริโภค-อุปโภค) ครั้งแรกของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2519 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้าน รักษาโดยหมอเมืองและมีการรักษาโดยการใช้สมุนไพร (ยาดำ) ควบคู่ไปด้วย

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา) ในปีนั้นมีการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย โดยมีหมอเมืองได้นำชาวบ้านแก้ไขปัญหาโดยการพ่นยุงภายในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2520 มีร้านค้าชุมชนแห่งแรก

พ.ศ. 2523 มีไฟปั่นที่บ้านพ่ออุ้ยแก้ว-แม่อุ้ยปัน, พ่อแก้ว-แม่แก้ว และมีโทรทัศน์เครื่องแรกในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2524 มีไฟฟ้าเข้าในหมู่บ้านครั้งแรก 

พ.ศ. 2525 มีการเจาะบาดาลในหมู่บ้านครั้งแรก และมีถนนลาดยางมะตอย

พ.ศ. 2535 ตั้งตำบลแม่อิง โดยแยกตำบลดงเจน จำนวน 6 หมู่บ้าน โดยโอนจากหมู่บ้านที่ 3, 4, 5, 6, 7, 8, ตำบลดงเจน ตั้งขึ้นเป็นตำบลแม่อิง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา หมู่ที่ 5 (บ้านสันป่าพาด) โอนจากหมู่ที่ 7 ตำบลดงเจน

(ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอดอกคำใต้จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 109 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 151 : 71-79. 27 พฤศจิกายน 2535)

พ.ศ. 2540 วันที่ 1 กรกฎาคม เนื่องด้วยท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่ว ๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า ฉะนั้น เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กระทรวงมหาดไทยจึงแบ่งท้องที่ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ 1 แห่ง เรียกว่า “กิ่งอำเภอภูกามยาว” มีเขตการปกครองรวม 3 ตำบล คือ ตำบลห้วยแก้ว ตำบลดงเจน และตำบลแม่อิง อำเภอเมืองพะเยา ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอที่ตำบลห้วยแก้ว ให้อยู่ในเขตการปกครองกับอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไป (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอภูกามยาว. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114 ตอนพิเศษ 51 ง : 14. 25 มิถุนายน 2540) บ้านสันป่าพาด ตำบลแม่อิง กิ่งอำเภอภูกามยาว

พ.ศ. 2540 สร้างกุฏิวัดสันป่าพาด

พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ดังต่อไปนี้

กิ่งอำเภอภูกามยาว กำหนดเขตตำบลแม่อิง ในท้องที่กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 6 หมู่บ้าน โดยที่ หมู่ 5 ยังคงชื่อ บ้านสันป่าพาด (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 388-394. 12 ตุลาคม 2541)

พ.ศ. 2550 วันที่ 17 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรตั้งอำเภอเพิ่มขึ้นในท้องที่บางจังหวัด เพื่อประโยชน์แก่การปกครองและความสะดวกของประชาชน ให้ตั้งกิ่งอำเภอ เป็นอำเภอ ยกฐานะจากกิ่งอำเภอภูกามยาว อำเภอเมืองพะเยา เป็น อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา (พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอฆ้องชัย อำเภอภูกามยาว อำเภอภูซาง. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 46 ก : 14-21. 24 สิงหาคม 2550)

พ.ศ. 2553 มีการสร้างสางข้าว,ประปา และซ่อมแซมฝายชะลอน้ำของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2562 มีโรคระบาดใหม่ COVID-19 อสม. และผู้ใหญ่บ้านรณรงค์ใส่ Mask และล้างมือบ่อย ๆ

ตั้งอยู่ในตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา มีถนนสายสันป่าพาด-สันต้นผึ้งผ่าน ที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของอำเภอภูกามยาว ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่อิงประมาณ 2.5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอภูกามยาวประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมือง จังหวัดพะเยาไปทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีเนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ 3.0816 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 1,925 ไร่

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านสันป่างิ้ว หมู่ที่ 4 ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ เขตตำบลดงสุวรรณ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ เขต อบต. ดงเจน อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา

ประชาชนสร้างบ้านตามแนวยาวของถนนขนานกับแม่น้ำอิงตลอดแนว ซึ่งแม่น้ำอิงเป็นน้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชุมชน แม่น้ำอิงจะได้รับน้ำที่ไหลมาจากกว๊านพะเยา พื้นที่จึงเหมาะสำหรับการเพาะปลูก และการทำการเกษตร คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทำการเกษตร

มีครัวเรือนที่อาศัยอยู่ 172 ครัวเรือน เป็นคนพื้นเมือง มีจำนวนประชากร 374 คน โดยแบ่งเป็นชาย 171 คน หญิง 203 คน 

ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นรายรับได้มาจากการเกษตร ได้แก่ การปลูกข้าว นาปี นาปรัง ทำสวน เลี้ยงไก่ เป็ด เป็นต้น อาชีพเสริม คือ รับจ้างทั่วไป ปลูกผักสวนครัว จักสานอุปกรณ์หาปลา เย็บหมวก หาปลา โดยประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ น้อยกว่า 5,000 บาท/เดือน รายจ่ายของประชาชน คือค่าใช้จ่ายทางการเกษตร เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าสารเคมี ค่าจ้างรถไถ รถเกี่ยว เป็นต้น

ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่างานสังคมและค่าเล่าเรียนบุตร ส่วนหนี้สินของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส. และหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เช่น กองทุนเงินล้าน เป็นต้น และหนี้สินของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส. และหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เช่น กองทุนเงินล้าน เป็นต้น

โครงสร้างองค์กรชุมชน

  • ผู้ใหญ่บ้าน โดยมี นายราเชนทร์ จำรัส
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีจำนวน 2 คน
    • นางกมล เผ่าปินตา ผู้ช่วยฝ่ายปกครอง
    • นายวันสว่าง ปินแปง ผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ
  • คณะกรรมการหมู่บ้าน มีจำนวน 22 คน โดยมี นายราเชนทร์ จำรัส ตำแหน่ง ประธาน
  • หัวหน้าคุ้ม มีจำนวน 9 คน
  • กลุ่ม อปพร. จำนวน 11 คน โดยมี นายวสันต์ ลำไพ ตำแหน่ง ประธาน
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีสมาชิกจำนวน 26 คน โดยมี นางเตียว ขยันขาย ประธาน
  • คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีจำนวน 15 คน (สมาชิกทั้งหมด 209 คน) โดยมี นางชนากานต์ ขยันขาย ตำแหน่ง ประธาน
  • กลุ่มคณะกรรมการสตรี (แม่บ้าน) โดยมี นางนิชากมล จำรัส ตำแหน่ง ประธาน
  • คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและคณะกรรมการสถาบันการเงินชุมชน จำนวน 11 คน โดยมี นายสง่า งานดี ประธาน
  • กลุ่มผลิตเย็บหมวก มีจำนวน 13 คน โดยมี นางฟองคำ ปัญญาฟู ประธาน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ มีจำนวนสมาชิก 133 คน โดยมี นางสุพัตรา บุญรัตน์ ตำแหน่ง ประธาน
  • กลุ่มถักโครเชต์บ้านสันป่าพาด
  • เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม) : ชาวบ้านได้ทำบุญวันออกพรรษาที่วัดบ้านสันป่าพาด
  • เดือนยี่ (พฤศจิกายน) : วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวบ้านเข้าร่วมงานประเพณียี่เป็ง ช่วงตอนเย็นชาวบ้านจะมีประเพณีลอยกระทง เข้าวัดทำบุญ
  • เดือนสาม (ธันวาคม) : เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
  • เดือนสี่ (มกราคม) : ทำบุญประจำปีต้อนรับปีใหม่และประเพณีตานข้าวใหม่
  • เดือนห้า (กุมภาพันธ์) : ทำบุญเนื่องในวันมาฆบูชา
  • เดือนหก (มีนาคม) : ทำบุญพิธีสืบชะตาลำน้ำอิง
  • เดือนเจ็ด (เมษายน) : ประเพณีสงกรานต์(ปี๋ใหม่เมือง) ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ชาวบ้านจะเริ่มหยุดงาน 13-17เมษายน จะร่วมกันแห่สรงน้ำพระมหาสงกรานต์ ขนทรายเข้าวัด มีการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่หรือบุคคลที่นับถือในชุมชน และจะมีประเพณีสืบชะตาบ้าน
  • เดือนแปด (พฤษภาคม) : ประเพณีทำบุญวันวิสาขบูชาที่วัดสันป่าพาด
  • เดือนเก้า (มิถุนายน) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า/เลี้ยงผีเจ้าบ้าน
  • เดือนสิบ (กรกฎาคม) : ทำบุญเข้าพรรษา แห่เทียนพรรษาและทำบุญตักบาตรเทโว
  • เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม) : ชาวบ้านร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันแม่
  • เดือนสิบสอง (กันยายน) : งานทำบุญสลากภัต ชาวบ้านจะนำก๋วยสลาก ถวายแด่พระสงฆ์ 
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

cat. (2555). บ้านสันป่าพาด. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. http://www.m-culture.in.th/

Fishing lifestyle. (8, กุมภาพันธ์ 2562). ยกยอ น้ำอิงสันป่าพาด. Youtube. https://www.youtube.com/

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา. (2563). แม่น้ำอิง ฤดูกาล พื้นที่ชุ่มน้ำ ชีวิต. สำนักข่าวชายขอบ. https://transbordernews.in.th/

พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เสด็จออกแขกเมืองประเทศราช (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 12 : 493. 5 มีนาคม ร.ศ. 114

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม ร.ศ. 120

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หนานหลานถวายม้า. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 19 : 245. 29 มิถุนายน  ร.ศ. 121

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วิธีการปกครองให้จัดเป็นแบบเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 : 1156. 26 มกราคม ร.ศ. 126

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ. 129

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69  : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอดอกคำใต้จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 109 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 151 : 71-79. 27 พฤศจิกายน 2535

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอภูกามยาว. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 114 ตอนพิเศษ 51 ง  : 14. 25 มิถุนายน 2540) 

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 388 - 394. 12 ตุลาคม 2541

พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอฆ้องชัย อำเภอภูกามยาว อำเภอภูซาง. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 ตอนที่ 46 ก  : 14-21. 24 สิงหาคม 2550