บ้านห้วยลึก ชุมชนที่ตั้งชื่อตามแม่น้ำที่ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกผักชี หอม บางครัวเรือนมีรายได้เสริมจากการปลูกเห็ด เลี้ยงครั่ง จักสาน เย็บกระเป๋า
ชาวบ้านย้ายหมู่บ้านมาตั้งหมู่บ้านใกล้ ๆ แม่น้ำห้วยลึกจึงตั้งชื่อหมู่บ้านชื่อ “บ้านห้วยลึก” ซึ่งแม่น้ำห้วยลึกนี้ไหลผ่านกลางหมู่บ้านและแบ่งแยกออกเป็นลำห้วยเล็ก ๆ
บ้านห้วยลึก ชุมชนที่ตั้งชื่อตามแม่น้ำที่ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกผักชี หอม บางครัวเรือนมีรายได้เสริมจากการปลูกเห็ด เลี้ยงครั่ง จักสาน เย็บกระเป๋า
เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังกราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วย แว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบ ในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำคันดินล้อมรอบที่เรียกว่า “เวียง” ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนา โดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝายเดียวกัน โดยที่พันนาจัน คือบริเวณตำบลบ้านงิ้ว บ้านสาง บ้านตุ่น บ้านเลิง บ้านสานหลวง และ บ้านสันดอนมูล
ในยุคนั้นหลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101 ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้ การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลดฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 พญากาวิละปกครองบ้านเมืองโดยมีการกู้ล้านนาจากพม่า เนื่องจากมีการรบกบฏจากพม่าล้านนาตะวันออกจึงมีการขอให้คนลำปางมาช่วยรบและหลังจากนั้นก็มีการไปหาสู่กันของคนลำปางกับคนบ้านตุ่น ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านตุ่นนั้นเข้าใจว่าได้อพยพจากจังหวัดลำปางและมาตั้งรกราก
พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จจึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมืองพะเยายังขึ้นกับเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคนในตระกูลมาปกครอง โดยต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีได้มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยาจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ โดยมีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองเชียงใหม่
พ.ศ. 2330 เจ้าเมืองอังวะสั่งให้หวุ่นยี่มหาไชยสุระ ยกทัพมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ผ่านฝาง เชียงราย เชียงแสน และพะเยาด้วย ผู้คนกลัวแตกตื่น อพยพไปอยู่ลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไปเป็นเวลาถึง 56 ปี จนถึง พ.ศ. 2386
พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก เจ้าหลวงวงศ์ ราชโอรสองค์ที่ 5 ในพระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4 เป็นผู้นำชาวเมืองพะเยาที่อพยพไปเมืองลำปางเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ พ.ศ. 2330 (ร.ศ. 6) เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พาลูกหลาน จากเมืองลำปางกลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ โดยมาพักเพื่อเตรียมการ เป็นเวลาถึง 1 ปี ณ บ้านสันเวียงใหม่ ที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านตุ่นกลางปัจจุบัน แล้วข้ามฟากเข้าไปบุกเบิกแผ้วถางตัวเมืองพะเยาเก่า ก่อนที่จะอพยพเข้าไปบูรณะฟื้นฟูเป็นเมืองใหม่อีกครั้งหนึ่ง (บันทึกของพ่อเจ้าหนานเลาแก้ว ศีติสาร จากการรวบรวมเรียบเรียงของพระธรรมวิมลโมลี (ปวง ธมมฺปญฺโญ) ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพวิสุทธิเวที )
พ.ศ. 2417 (ร.ศ.93) เมืองพะเยายังอยู่ในการปกครองของนครลำปาง มณฑลลาวเฉียง ที่ยังเป็นเมืองประเทศราชของสยาม มีเมืองในมณฑล ประกอบด้วย นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน แพร่ เถิน
พ.ศ. 2450 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าวิธีการปกครองให้จัดลงเป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ชื่อตำแหน่งยังเรียกผิดกันในบางมณฑล การที่ใช้คำเรียกผิดกันนั้นเป็นที่ลำบากแก่กฎหมายและหนังสือราชการ เพราะต้องแยกตามท้องที่ ๆ ใช้คำต่างกัน ควรเรียกชื่อตำแหน่งให้เหมือนกัน คือมณฑลพายัพ ตำแหน่งนายอำเภอซึ่งเรียกนายแขวงนั้นต่อไปให้เรียกว่า “นายอำเภอ” และแขวงต่อไปให้เรียกว่า “อำเภอ” ตำแหน่งกำนันซึ่งเรียกว่า “นายแคว้น” ต่อไปให้เรียกว่า “กำนัน” แคว้นให้เรียกว่า “ตำบล” ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านซึ่งเรียกว่า “แก่บ้าน” ต่อไปให้เรียกว่า “ผู้ใหญ่บ้าน” (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วิธีการปกครองให้จัดเป็นแบบเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 : 1156. 26 มกราคม ร.ศ. 126
พ.ศ. 2453 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ. 129)
พ.ศ. 2456 วันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อให้คนไทยทุกคนต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล ให้แพร่หลายทั่วถึงพลเมืองตลอดทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อที่จะได้ทราบรูปพรรณสัณฐานบุคคล และเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด เพื่อที่จะได้จัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย และการจดทะเบียนสมรสไว้เป็นหลักสืบไป และหลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อของผู้นำของครอบครัวนั้น หรือตามถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัว บ้านห้วยลึกเริ่มจากตระกูลงามเมือง ซึ่งพ่อหลวงนิตย์ งามเมือง ได้มีการดองกันกับแม่เตี่ยง บุญวงค์ จึงทำให้มีการสืบทอดเครือญาติกันมาตลอดจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน นามสกุลงามเมือง เป็นนามสกุลที่มีจำนวนมากที่สุดในชุมชนบ้านห้วยลึก ซึ่งเป็นต้นตระกูลที่มีแต่เดิม จะมองเห็นว่าการก่อรูปของชุมชนบ้านห้วยลึกนั้นมีต้นทุนทางสังคมมาแต่สมัยบรรพบุรุษและยังคงรักษาไว้ได้มาจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งหมู่บ้านได้มีการขยายตัวออกเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นโดยตั้งถิ่นฐานอยู่ตามลำน้ำห้วยลึก
พ.ศ. 2457 ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนเสนาบดี ส่วนจังหวัดให้คงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดไว้ตามเดิน แต่ให้กระจายอำนาจการปกครองส่วนย่อย ๆ ออกไปเป็นตำบลหมู่บ้าน ตำแหน่งหัวหน้าตำบลเรียกว่า "เจ้าแคว่น" "แคว่น" (กำนัน) ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า "แก่บ้าน" (ผู้ใหญ่บ้าน) ที่นิยมเรียกกันว่า "พ่อหลวง" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงแต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาและได้รับแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์เป็นรองอามาตย์โทยุนสิทธิประศาสน์ เป็นนายอำเภอคนแรกมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎรจัดการศึกษา การอาชีพและบำรุงพุทธศาสนา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) ขณะนั้นอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย มี 21 ตำบล โดยประกอบไปด้วย ตำบลเวียง ตำบลแม่ต๊ำ ตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านตุ่น ตำบลสาง ตำบลสันป่าม่วง ตำบลต๋อม ตำบลต๊ำ ตำบลสันกกก ตำบลแม่ปืม ตำบลจำป่าหวาย ตำบลใหม่ ตำบลน้ำย้อยหอยโข่ง ตำบลดงเจน ตำบลห้วยลาน ตำบลร่องจว่า ตำบลช้างหิน ตำบลถ้ำ ตำบลปิน (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2459 รัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองแก้ไขวิธีเดิม ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นลำดับให้รวมมณฑลเข้าเป็นภาค มีอุปราชกำกับราชการให้เปลี่ยนคำว่าเมือง ใช้เรียกว่า จังหวัด ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เมืองเชียงราย จึงเป็นจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองพะเยาขณะนั้น เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459)
ในปีเดียวกันได้เริ่มสร้างถนนจากลำปางเชื่อมต่อไปยังพะเยา-เชียงราย และไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย ทำให้ค้าขายระหว่างเมืองสะดวกมากขึ้น และปริมาณการค้าก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อการเดินทางสะดวกขึ้นทำให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในภาคกลางเริ่มอพยพมาค้าขายในภาคเหนือมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีบทบาททางการค้าแทนกลุ่มพ่อค้าเดิมพวกพม่า เงี้ยว จีนฮ่อ และแขก กลุ่มพวกพ่อค้าชาวพม่าและเงี้ยวในพะเยาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อชาวจีนจากลำปางได้อพยพเข้ามาค้าขายอยู่ในตัวเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน ๖ฯ๗-๑๒๘๓-๒๔๖๕ วันที่ ๗ เมษายน การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล บันทึกไว้ว่า นายแก้ว ใจเย็น กำนันตำบลตุ่น มีหมู่บ้านตุ่นกลาง บ้านตุ่นใต้ บ้านบัว บ้านห้วยหม้อ บ้านห้วยลึก บ้านสันป่าแผก (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)
พ.ศ. 2481 อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือ รวมตำบลบ้านสาง ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลสันป่าม่วง ตำบลบ้านตุ่น แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลบ้านตุ่น (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481)
และในปีเดียวกัน เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพะเยา เปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)
พ.ศ. 2483 แยกหมู่บ้านบางส่วนของตำบลบ้านตุ่น และตำบลบ้านต๊ำ ไปตั้งเป็นตำบลบ้านต๋อม อำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือ แยกหมู่บ้านที่ 20, 21, 22, 23, 24, 25 ตำบลบ้านตุ่น และหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10 ตำบลบ้านต๊ำ ไปรวมจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ตั้งชื่อว่าตำบลบ้านต๋อม จัดเป็น 16 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773-8. 12 พฤศจิกายน 2483
พ.ศ. 2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา มาพัฒนาการหลายอย่าง เช่นปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ต๋อม ต๊ำและตำบลใหม่ 28 ก.ม. ติดต่อกับเขตอำเภอแม่ใจ
พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา)
พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ดังต่อไปนี้ อำเภอเมืองพะเยา กำหนดเขตตำบลบ้านตุ่น ในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 10 หมู่บ้าน หมู่ที่ 6 คือบ้านห้วยลึก ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214-247. 12 ตุลาคม 2541 หลังจากนั้นมีการแยกหมู่บ้าน ออกมาเป็น 2 หมู่บ้าน คือบ้านห้วยลึกหมู่ที่11 แยกออกจากหมู่ที่ 6 โดยหมู่ 6 และหมู่ 11 มีโรงเรียนประถมศึกษา 1โรงเรียน มีวัดร่วมกันระหว่างหมู่6 และหมู่ 11 โดยมีพระสมบูรณ์ ทำหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดห้วยลึกและพ่ออาจารย์หนานเพ็ง สิงห์แก้ว เป็นไวยาวัจกรณ์ วัดบ้านห้วยลึก ซึ่งที่ตั้งของวัดห้วยลึกและโรงเรียนอยู่ในเขตหมู่ที่ 6
ปัจจุบันบ้านห้วยลึกมีนายกันยา สุขัง เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ห่างจากตัวเมืองจังหวัดพะเยาระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ปัจจุบันการเดินทางสามารถเดินทางได้สะดวกมีถนนลาดยางสองช่องทางรถเป็นทางติดต่อภายในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้านสองข้างทางเป็นพื้นที่ป่ารกร้างสลับกับหมู่บ้าน ไฟข้างทางไม่เพียงพอหากเดินทางตอนกลางคืนเนื่องจากระยะทางจากปากทางเข้าหมู่บ้านถึงหมู่บ้านด้านในค่อนข้างไกลและเป็นพื้นที่ป่ารกร้าง ในหมู่บ้านเส้นทางที่ไปทำนา ทำสวนเป็นถนนลาดยาง และมีถนนลูกรังเล็กน้อย ประชากรส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ในการเดินทางไปทำงานหรือเข้าไปในตัวเมือง
มีบ้านเรือนทั้งหมด 147 หลังคาเรือน ประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเองโดยการทำการเกษตรหลายรูปแบบทั้งการทำนาทำสวน ปลูกกล้วย ปลูกเห็ด หาของป่า และรับจ้าง อีกทั้งยังมีกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มปลูกเห็ด กลุ่มผักตบชวา และกลุ่มจักสานไม้ไผ่
พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่ตั้งของชุมชน บ้านเรือนจะอยู่กันเป็นกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติจะตั้งบ้านเรือนใกล้กันหรืออยู่ภายในคุ้มเดียวกันซึ่งจะมีทั้งหมด 7 คุ้ม คือคุ้มรักในหลวง คุ้มริมธาร คุ้มตามรอยพ่อ คุ้มสามัคคี คุ้มป่าไม้ร่มเย็น คุ้มริมทุ่งพัฒนา และคุ้มชุมชนพัฒนา ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวรมีรั้วรอบขอบชิด ทุกหลังคาเรือนมีภาชนะเก็บน้ำฝนไว้สำรองน้ำและครอบครัวส่วนใหญ่มีการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ทั้งสัตว์ที่เลี้ยงไว้ขายและเป็นอาหารได้แก่ไก่เป็ด ปลา วัว และสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลินได้แก่ สุนัข แมว และมีพื้นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ได้แก่ ศาลาอเนกประสงค์
ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยางและซอยเป็นถนนคอนกรีต มีไฟข้างทาง (ไฟกิ่ง) ของภาครัฐแต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ภายในหมู่บ้านเวลากลางคืนมีแสงสว่างไม่เพียงพอในบางพื้นที่ ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้า และน้ำประปาใช้ มีวัด 1 แห่ง คือวัดห้วยลึกมีโรงเรียน 1 แห่ง คือโรงเรียนฟากกว๊านวิทยาคม มีตลาด 1 แห่ง มีร้านขายของชำ 4 ร้านและมีตลาดสดบ้านห้วยลึก 1 แห่ง
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกผักชี หอม ข้าวโพด รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง บางครัวเรือนมีรายได้เสริมจากการปลูกเห็ด เลี้ยงครั่ง จักสาน เย็บกระเป๋า
กลุ่ม/กองทุนของหมู่บ้านห้วยลึก หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีจำนวน 19 กลุ่ม/กองทุน ได้แก่
1.กองทุนหมู่บ้าน (กองทุนเงินล้าน) | จำนวนสมาชิก 79 คน |
2.กองทุนออมทรัพย์ เพื่อการผลิต | จำนวนสมาชิก 50 คน |
3.กลุ่มฌาปณกิจ | จำนวนสมาชิก 603 คน |
4.กลุ่มธนาคารข้าว | จำนวนสมาชิก 108 คน |
5.กลุ่ม กข.คจ. (แก้ไขความยากจน) | จำนวนสมาชิก 54 คน |
6.กลุ่ม อปพร. | จำนวนสมาชิก 104 คน |
7.กลุ่มเห็ด | จำนวนสมาชิก 30 คน |
8.กลุ่มผักตบชวา | จำนวนสมาชิก 15 คน |
9.กองทุน SML | เป็นสมาชิกทุกหลังคาเรือน |
10.กลุ่มสตรี(แม่บ้าน) | แม่บ้านเป็นสมาชิกทุกหลังคาเรือน |
11.กลุ่มจักสาน | จำนวนสมาชิก 30 คน |
12.กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข | จำนวนสมาชิก 21 คน |
13.กลุ่มเลี้ยงวัว | จำนวนสมาชิก 8 คน |
14.กลุ่มเลี้ยงปลา | จำนวนสมาชิก 30 คน |
15.กลุ่มเกษตรกร | เป็นสมาชิกทุกหลังคาเรือน |
16.กลุ่มออกกำลังกาย | เป็นสมาชิกทุกหลังคาเรือน |
17.กลุ่มหนุ่ม-สาว | จำนวนสมาชิก 15 คน |
18.กลุ่มผู้สูงอายุ | จำนวนสมาชิก 161 คน |
19.กลุ่มเย็บผ้าด้วยมือ | จำนวนสมาชิก 30 คน |
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติมีแหล่งกักเก็บน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำและมีโครงการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติในรูปหมู่บ้านป่าไม้แหล่งน้ำดื่ม ได้แก่ น้ำบรรจุขวดสำเร็จรูป น้ำบาดาล และน้ำฝนแหล่งน้ำใช้ ได้แก่ น้ำประปา น้ำบาดาล แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เช่น อ่างเก็บน้ำหมู่บ้านป่าไม้ ลำน้ำห้วยลึก สระไม้แห้ง เป็นต้น
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
เมื่อมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้นทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินมีการซื้อขายกันมากขึ้น แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยักปลูกผักแบบปลอดสารพิษรับประทานเองอยู่ เนื่องจากเชื่อว่าดีต่อสุขภาพตนเอง
ดอยหลวง
พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วิธีการปกครองให้จัดเป็นแบบเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 : 1156. 26 มกราคม รศ.126
แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน รศ.129
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481
พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773 – 8 . 12 พฤศจิกายน 2483
พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214 - 247. 12 ตุลาคม 2541