Advance search

ถิ่นจักสาน ตำนานพระเจ้าแสนแซ่ แหล่งข้าวพันธุ์ดี เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ

หมู่ที่ 10
บ้านสระวังทอง
ป่าแฝก
แม่ใจ
พะเยา
ทต.ป่าแฝก โทร. 0-5442-6238-101
กิตติมา หวังพัฒน์
12 ก.พ. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มี.ค. 2024
บ้านสระวังทอง

เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับบ้านหนองสระ ที่บริเวณดังกล่าวมีสระน้ำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวบ้านเข้าไปขุดดินเพื่อนำมาสร้างวิหาร จากบันทึกของตระกูลพ่อเพ็ญ ซึ่งเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่มาตั้งถิ่นฐานที่ บ้านหนองสระ การตั้งชื่อหมู่บ้านหนองสระ เป็นการตั้งชื่อตามหนองน้ำที่มีอยู่ในหมู่บ้านมายาวนาน ปัจจุบันอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน และยังมีหนองน้ำต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของทั้งคนและสัตว์ เมื่อก่อนสัตว์ป่าทั้งหลายจะลงมากินน้ำที่สระแห่งนี้ และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในท้องถิ่นโดยอาศัยคำว่า "หนอง" เป็นคำหลักแล้วจึงยึดเอาแอ่งน้ำ (สระน้ำ บริเวณนั้นเป็นชื่อประกอบ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า "หมู่บ้านหนองสระ" (หนอง-สะ) และปัจจุบันได้เพี้ยนมาเป็น หนองสระ (หนอง-สะ-ระ) ปัจจุบันยังมีสระน้ำอยู่แต่พอเวลาผ่านไปสระได้ตื้นเขิน ปัจจุบันไม่มีน้ำแล้ว บ้านสระวังทองได้แยกจากบ้านหนองสระในปี พ.ศ. 2542

หมู่บ้านหนองสระ เรียกอีกชื่อว่า "หมู่บ้านแกงโฮะ หรือแกงแค หรือหมู่บ้านคั่วโฮะ" เพราะว่าหมู่บ้านนี้มีผู้คนจากหลากหลายสถานที่มาอยู่รวมกันไม่ว่าจะเป็นชาวกำแพงเพชร ชาวลำปาง ชาวเชียงใหม่ เชียงรายหรือแม้กระทั่งภาคใต้ชาวสุไหงโกลก หรือภาคอีสานชาวนครราชสีมา ชาวสุรินทร์ก็จะมาอาศัยอยู่รวมกันที่นี่

แต่อีกความหมายนึง "หมู่บ้านแกงโฮะ หรือแกงแค หรือหมู่บ้านคั่วโฮะ" มีความหมายในทางที่ไม่ดีคือ แกงโฮะ คำว่า "โฮะ" แปลว่า รวม คือการนำเอาอาหารหลาย ๆ อย่างมารวมกัน ในสมัยก่อนแกงโฮะมักจะทำมาจากอาหารที่เหลือหลาย ๆ อย่างรวมกัน โดยอาจมีการปรุงรสตามใจชอบ หรือ เติมบางอย่าง เช่น หน่อไม้ และแต่งกลิ่นโดยใสใบมะกรูด ตะไคร้ (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 490) ปัจจุบันนิยมใช้ของสดในการปรุง และใช้แกงฮังเลเป็นเครื่องปรุง (ดีกิจ กัณทะกาลังค์, สัมภาษณ์, 20 มิถุนายน 2550) ซึ่งชุมชนบ้านหนองสระนี้ส่วนใหญ่ที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่เป็นคนที่หลบความผิด หรืออพยพมาจากถิ่นที่มีโรคระบาด บางคนก็เร่ร่อนมา หรือบางคนเคยเป็นโจรมาก่อน และคนที่หลบภัยมาอยู่และส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่กำพร้าพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตจากการถูกโจรฆ่าหรือเป็นเจ็บป่วยตาย (นายชลิตพันธ์ สำราญสุข, สัมภาษณ์, ชาวบ้านหนองสระและปัจจุบันเป็นคุณครูสอนประจำที่โรงเรียนบ้านหนองสระ)


ชุมชนชนบท

ถิ่นจักสาน ตำนานพระเจ้าแสนแซ่ แหล่งข้าวพันธุ์ดี เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ

บ้านสระวังทอง
หมู่ที่ 10
ป่าแฝก
แม่ใจ
พะเยา
56130
19.44093974
99.80547085
เทศบาลตำบลป่าแฝก

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2437 (ร.ศ.113) สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิรูปการปกครองแบบเดิมเป็น มณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยา เมืองเชียงราย จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพายัพ (มณฑลเทศาภิบาล, wikipedia)

พ.ศ. 2447 (ร.ศ.123) พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ มีบอกที่ 19/468 ลงวันที่ 17 มิถุนายน ร.ศ.123 ว่าแขวงในเขตนครเชียงใหม่ นครลำปาง บางตำบลไม่ตรงกับชื่อที่ราษฎรชาวเมืองเรียกกันมา พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ขออนุญาตเปลี่ยนนามแขวงเสียใหม่ให้เข้ากับราษฎร แขวงพะเยาเหนือ เปลี่ยนเป็นแขวงแม่ใจ (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขออนุญาตเปลี่ยนนามแขวงในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 21 : 381. 14 กันยายน ร.ศ. 123)

พ.ศ. 2448 (ร.ศ.124) พระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ มีโทรเลขมาว่า ได้ปรึกษากับเค้าสนามหลวงนครลำปางเห็นพร้อมกันว่า ควรจะยกเลิกกองบริเวณพะเยา ให้คงมีแต่แขวงพะเยา แขวงดอกคำใต้ แขวงแม่ใจ รวม 3 แขวง ขึ้นตรงต่อบริเวณพายัพเหนือ (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 124)

พ.ศ. 2450 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าวิธีการปกครองให้จัดลงเป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ชื่อตำแหน่งยังเรียกผิดกันในบางมณฑล การที่ใช้คำเรียกผิดกันนั้นเป็นที่ลำบากแก่กฎหมายและหนังสือราชการ เพราะต้องแยกตามท้องที่ ๆ ใช้คำต่างกัน ควรเรียกชื่อตำแหน่งให้เหมือนกัน คือมณฑลพายัพ ตำแหน่งนายอำเภอซึ่งเรียกนายแขวงนั้นต่อไปให้เรียกว่า “นายอำเภอ” และแขวงต่อไปให้เรียกว่า “อำเภอ” ตำแหน่งกำนันซึ่งเรียกว่า “นายแคว้น” ต่อไปให้เรียกว่า “กำนัน” แคว้นให้เรียกว่า “ตำบล” ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านซึ่งเรียกว่า “แก่บ้าน” ต่อไปให้เรียกว่า “ผู้ใหญ่บ้าน” ได้เปลี่ยนฐานะการปกครองกิ่งอำเภอโดยมีปลัดอำเภอ เป็นปลัดกิ่งอำเภอมาประจำเรียกว่า "กิ่งอำเภอเมืองพาน" ต่อได้โอนกิ่งอำเภอเมืองพานเข้าไปอยู่กับอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วิธีการปกครองให้จัดเป็นแบบเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 : 1156. 26 มกราคม ร.ศ. 126) บ้านสระวังทองเดิมยังเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับบ้านแม่เย็นอยู่ในเขตกิ่งอำเภอเมืองพาน จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2451 ยุบกิ่งอำเภอเมืองพานได้ขึ้นตรงต่ออำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย อำเภอพาน

พ.ศ. 2453 ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ.129) อำเภอแม่ใจขึ้นกับเมืองเชียงราย และอยู่ในมณฑลพายัพ

พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพแจ้งว่า กิ่งอำเภอเมืองพาน มีผู้คนพลเมืองมาก และมีอาณาเขตที่กว้างขวาง เหลือความสามารถของกรมการอำเภอจะตรวจตราให้ตลอดทั่วถึงได้ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ขออนุญา ยกกิ่งอำเภอเมืองพานขึ้นเป็นอำเภอ เรียกว่า "อำเภอเมืองพาน" ขึ้นเมืองเชียงราย ตำบลป่าแฝก อยู่ในการปกครองของอำเภอเมืองพาน (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและรวมกิ่งอำเภออำเภอขึ้นเป็นอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 : 2041. 8 ธันวาคม ร.ศ.131) พ.ศ. 2456 (ร.ศ.132) โรคฝีดาษ (Smallpox) ระบาด ตามบันทึกของเมอเรย์ (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2456 เรจินาลด์ เลอ เมย์ (Reginald le May) ชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาสยาม เพื่อรับทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษ ประจำกรุงเทพฯ ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ และจะย้ายประจำที่เมืองลำปางในปีเดียวกัน เลอ เมย์ วางแผนออกเดินทางท่องเที่ยวหัวเมืองทางเหนือในฤดูหนาวในปลายปี 2456 นั่นเอง ก่อนคณะเดินทางจะเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ได้แวะที่บ้านแม่ใจ ขณะนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ แต่มีพื้นที่ไร่นาอุดมสมบูรณ์ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดโรคระบาด คือ โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อย แม้สถานการณ์จะรุนแรง แต่โรคร้ายชนิดนี้ก็ไม่ได้ระบาดไปถึงพะเยาหรือหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น ๆ เพราะเนื่องจากทางการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ โดยมีหน่วยงานคณะแพทย์จากสยาม (กรุงเทพฯ) มาช่วยในการรักษาผู้ป่วยและมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับชาวบ้านแม่ใจและหมู่บ้านใกล้เคียง ไม่นานนักสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ (เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ เรียบเรียง An Asian Arcady: Land and People of Northern Siam อ้างอิงจาก “จดหมายเหตุเมืองพะเยา” หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ, พ.ศ. 2556)

พ.ศ. 2459 เทศาภิบาลมณฑลพายัพ พิจารณาระบอบการปกครองบ้านเมืองฝ่ายเหนือ จึงสั่งให้ยุบเลิกหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อย แล้วให้ไปรวมกับหัวเมืองใหญ่ ทําให้อําเภอเมืองพะเยา เป็น อําเภอพะเยา อยู่ในอํานาจการปกครองของเมืองเชียงราย อำเภอแม่ใจ ถูกยุบให้เหลือฐานะเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่ในความปกครองของอำเภอพาน เมืองเชียงราย มณฑลพายัพ (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459)

พ.ศ. 2460 อำเภอในจังหวัดเชียงรายคือ อำเภอพะเยา อำเภอเมืองพาน อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ มีท้องที่ใกล้ชิดติดต่อกัน สมควรจะยุบอำเภอแม่ใจ แบ่งท้องที่รวมเข้ากับอำเภอเมืองพานได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยุบอำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองพาน ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2459 เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด เปลี่ยนจากมณฑลเป็นภาค เมืองเชียงราย ถูกเรียกเป็นจังหวัดเชียงราย (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ยุบอำเภอแม่ใจและอำเภอดอกคำใต้. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 505. 23 ธันวาคม 2460)

พ.ศ. 2461 พื้นที่มีการระบาดของโรคอหิวาตกโรค ซึ่งการรักษาใช้หมอเมืองทั้ง 2 ศาสตร์ คือ ด้านไสยศาสตร์ และด้านแพทย์แผนโบราณโดยการรักษาด้วยสมุนไพร ส่วนบุคคลที่เสียชีวิตจะนำไปฝังที่ป่าช้าท้ายหมู่บ้าน ด้วยการห่อศพแล้วค่อยแบกหามศพออกจากหมู่บ้านเวลากลางคืนเพื่อลดความหวาดกลัวของคนในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2478 มีชาวบ้านจากหมู่บ้านแม่เย็นใต้หมู่ที่ 1 ตำบลป่าแฝก อำเภอเมืองพาน จังหวัดเชียงราย ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในป่า ซึ่งปัจจุบันคือบ้านหนองสระ หมู่ที่ 6 ครอบครัวผู้ก่อตั้งหมู่บ้านในสมัยประกอบด้วย 4 ครอบครัว คือ 1) ครอบครัวพ่ออุ้ยหลวงแก้ว เขียวคำปั่น 2) พ่อหม่อนธิ-แม่หลวงแก้ว เขียวคำปั่น 3) แม่อุ้ยหลวงน้อย และ 4) แม่หลวงเขียว-พ่ออุ้ยอ้ายใหญ่ อินต๊ะวัง ต่อมามีครอบครัวอื่นย้ายเข้ามาเป็นระยะ ทีละ 5 ครอบครัวบ้าง 7 ครอบครัวบ้าง ได้แก่ อุ้ยหนานใจ ตันคำแดง อุ้ยน้อยตา ตันคำแดง อุ้ยเงิน หล้าคำมูล อุ้ยจื่น เขียวคำปั่น อุ้ยหม่อนหนานคำ นันตกูล แม่หลวงตอง นันตกูล หลังจากนั้นก็มีครอบครัวพ่ออุ้ยปันปิ้ว นันตกูล และมีพ่อชุมตื้อหล้า ดงเวียง ย้ายตามกัน ต่อมามีครอบครัวแม่หลวงสุ รักญาติ แม่หลวงเฮือน เสียงอ่อน พ่อหลวงซาว หล้าคำแก้ว ครอบครัวพ่ออุ้ยตัน-แม่ผง พ่ออุ้ยปวน ศรีทอง แม่อุ๊ยสาข่า อุ้ยหนานสม อินต๊ะวัง พ่ออุ้ยคำ เขียวคำปั่น

จากบันทึกของตระกูลพ่อเพ็ญ ซึ่งเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่มาตั้งถิ่นฐานที่ บ้านหนองสระ การตั้งชื่อหมู่บ้านหนองสระ เป็นการตั้งชื่อตามหนองน้ำที่มีอยู่ในหมู่บ้านมายาวนานปัจจุบันอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน และยังมีหนองน้ำต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของทั้งคนและสัตว์ เมื่อก่อนสัตว์ป่าทั้งหลายจะลงมากินน้ำที่สระแห่งนี้ และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในท้องถิ่นโดยอาศัยคำว่า "หนอง" เป็นคำหลักแล้วจึงยึดเอาแอ่งน้ำ (สระน้ำ บริเวณนั้นเป็นชื่อประกอบ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า "หมู่บ้านหนองสระ" (หนอง-สะ) และปัจจุบันได้เพี้ยนมาเป็น หนองสระ (หนอง-สะ-ระ) ปัจจุบันยังมีสระน้ำอยู่แต่พอเวลาผ่านไปสระได้ตื้นเขิน ปัจจุบันไม่มีน้ำแล้ว

ก่อนที่จะแยกหมู่บ้าน บ้านหนองสระเคยเป็นปริมณฑลหลักฐานวัดโบราณ ประมาณ 7 วัด ชื่อตามผู้เฒ่าผู้แก่ที่อพยพมาอยู่แรก ๆ วัดดงตุ้มลุ้มวัดจะเนินสันดอนสมัยนั้นจะเป็นไม้หลายชนิดมุงคลุมวัดเก่าอยู่เป็นไม้ลูกอุ้มลุ้ม เรียกตามภาษาพื้นบ้านว่ากู่เก่าดงตุ้มลุ้ม อีกวัดหนึ่งอยู่กลางสวนสักอุ้ยลูน รักชาติ กู่นี้เรียกว่ากู่ต้นหมื่นคอ เพราะต้นหมื่นคออยู่ใกล้ ๆ คล้ายคอคน ภาษากลางเรียกต้นกระบก ที่อาคารประชารัฐจะขายน้ำมันและขายน้ำดื่ม เรียกตรงนั้นว่ากู่ดงตีนเป็ดบางคนก็เรียกดงป่าแหน่ง ที่สวนยายแสงกู่นี้เรียกว่ากู่ต้นไม้แดงเพราะเมื่อก่อนมีต้นไม้แดงใหญ่ ๆ อยู่สองต้น มีช้างหินอยู่ 2 ตัวปัจจุบันจัดเก็บไว้ที่วัดอุโมงค์จังหวัดเชียงใหม่ วัดกู่บวกครก จะมีสระน้ำกว้างประมาณ 3 ไร่ ที่เรียกชื่อนี้เพราะว่าเมื่อก่อนมีคนไปเจอครกหินอยู่ในสระเลยเรียกว่าบวกครกจนมาถึงปัจจุบัน และทิศใต้ของบวกครกจะมีกู่เก่า จึงเรียกว่า วัดกู่บวกครก ส่วนกู่เก่าดงไม้ม่วงหอม (ที่เรียกชื่อนี้เพราะมีต้นมะม่วงหอมอยู่ 2 ต้น) จะอยู่ที่หน้าอนามัยหนองสระ 50 กว่าปีก่อนทิศใต้จะเป็นป่าสุสานเก่าร้าง กู่ที่อยู่ปัจจุบันกับวัดบ้านหนองสระ เรียกว่า กู่สูง เมื่อก่อนกู่จะสูง แต่หลังจากพ่อหลวงบ้านเกณฑ์ชาวบ้านขุดเอาอิฐ ไปถมถนนเจดีย์ก็เลยต่ำ หลังจากนั้นก็เลยมีการสร้างเจดีย์ใหม่ครอบเจดีย์เก่าทำให้กู่สูงเหมือนเดิม

พ.ศ. 2481 รวมตำบลป่าแฝก ตำบลแม่เย็น แล้วจัดตั้งเป็นตำบลอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลแม่เย็น ในท้องที่อำเภอเมืองพาน จังหวัดเชียงราย โดยยุบตำบลป่าแฝก ตำบลแม่สุก ตำบลแม่ใจใต้ ตำบลแม่ใจเหนือ (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481) ในปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อเรียกอำเภอ โดยที่เห็นสมควรจะเปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพาน เป็นอำเภอพาน (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ. 2490 ตั้งตำบลป่าแฝกโอนออกจากตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นตำบลป่าแฝก จำนวน 5 หมู่บ้าน ดังนี้

  • หมู่ที่ 1 โอนจากหมู่ที่ 11 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน
  • หมู่ที่ 2 โอนจากหมู่ที่ 12 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน
  • หมู่ที่ 3 โอนจากหมู่ที่ 13 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน
  • หมู่ที่ 4 โอนจากหมู่ที่ 23 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน
  • หมู่ที่ 5 โอนจากหมู่ที่ 24 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน

(ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ . (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 26 เล่ม 64 : 1114- 1430. 10 มิถุนายน 2490)

พ.ศ. 2495 นายบุณยฝาง ทองสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งกระทู้ถาม เรื่องการจัดตั้งอำเภอและกิ่งอำเภอในจังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับการที่จะปรับปรุงยกฐานะตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงรายให้เป็นกิ่งอำเภอ ตำบลแม่ใจ อำเภอพาน หากจังหวัดเสนอขอตั้งเป็นอำเภอหรือกิ่งอำเภอ กระทรวงมหาดไทยก็จะได้พิจารณาที่เห็นสมควรต่อไป แต่ในปี 2495 นี้ยังไม่อาจดำเนินการได้ เพราะการพิจารณางบประมาณได้ผ่านพ้นไปแล้ว (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คำตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 33 เล่ม 69 : 1479-80. 27 พฤษภาคม 2495)

พ.ศ. 2500 มีการเกิดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษระบาดในขณะนั้น ชาวบ้านเกิดตุ่มพุพองบริเวณผิวหนัง ไม่สามารถนอนบนที่นอนได้ ต้องเอาใบตองมารองนอน รักษาโดยการกินยาต้ม ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ชาวบ้านนั่งล้อเกวียนไปฉีดวัคซีนที่สุขศาลาเมืองพาน

พ.ศ. 2503 มี 2 ครอบครัวย้ายออกจากบ้านหนองสระ คือ 1 ครอบครัวพ่ออุ้ยคำ เขียวคำปั่น ย้ายไปอยู่จังหวัดเชียงราย 2 ครอบครัว อุ้ยน้อย ปันหน่อแก้ว ไปอยู่จังหวัดลำปาง จากทั้งหมดมี 40 ครัวเรือน จึงเหลือเพียง 38 ครัวเรือน ชาวบ้านหนองสระส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักทุกชนิดที่ทานได้ ถ้าได้ เยอะก็จะเอาไปขาย อาชีพหลัก คือ ทำนา ทำไร่ จะเลี้ยงวัวควายไว้ไถนา ทำไม้แปรรูปสำหรับสร้างบ้านแล้วจะนำไปขาย ราคาข้าวในสมัยนั้นข้าวเหนียวหรือข้างวลวด ข้าวแห้ง ราคา 6-7 บาท ข้าวสันป่าตองและข้าวจ้าวราคา 8-9 บาท ปูนชีเมนต์ตรางู 12 บาท ตราเสือ 14-15 บาท ตราพญานาค 17-18 บาท และตราช้าง 19 บาท การศึกษาของเด็กท้องถิ่นบ้านหนองสระสมัยนั้นเป็นถิ่นทุรกันดาร

พ.ศ. 2504 โดยประมาณ ได้จ้างครูมาสอนชื่อคุณครูตาธิ ซึ่งตอนนั้นนักเรียนมีประมาณ 10 กว่าคน จ่ายค่าจ้างเป็นเดือน ๆ ละ 10 บาท ต่อมามีครูผู้หญิงคือยายทองลั่น และครูจรูญ ซึ่งเป็นคนแม่ใจ เข้ามาสอน และเมื่อปี พ.ศ 2505 ได้เพิ่มค่าจ้างเป็น 15 บาทต่อคนต่อเดือน

พ.ศ. 2505 ได้ก่อตั้งวัดหนองสระ ชาวบ้านหนองสระได้ช่วยกันทำความสะอาด และปรับพื้นที่เพื่อสร้างกุฏิขึ้น 1 หลัง วิหาร 1 หลังเล็ก ๆ และได้นิมนต์พระจากวัดป่าแฝกใต้ หมู่ที่ 5 มาจำพรรษา 1 รูป ชื่อพระมา และนิมนต์สามเณร 2 รูปจากวัดป่าแฝกเหนือ หมู่ที่ 4 พอจำพรรษาได้ 1 พรรษา พระมาและสามเณร 2 รูป ก็ได้กลับไปประจำที่วัดเดิม ทางชาวบ้านหนองสระจึงได้ตกลงปลงใจกัน ไปนิมนต์หลวงพ่อเป็ง วัดดงน้ำล้อม หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน มาอยู่ประจำที่บ้านหนองสระ จนหลวงพ่อเป็ง ได้มรณภาพลงเนื่องจากแก่ชรา ในปี พ.ศ. 2511

พ.ศ. 2505 บันทึกของพ่อเพ็ญ หล้าคำแก้ว ระบุว่ามีชาวจังหวัดกำแพงเพชร ได้ย้ายเข้ามาอาศัยประมาณ 10 ครอบครัว และได้อพยพไปอยู่ที่อื่นเมื่อปี พ.ศ. 2508

พ.ศ. 2506 เนื่องด้วยปรากฏว่าอำเภอพะเยา อำเภอพาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตกว้างขวาง บางตำบลอยู่ห่างไกลอำเภอมาก เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง และตำบลที่ห่างไกลอำเภอนั้น ๆ แต่ละอำเภอมีพลเมืองมาก มีตลาดชุมนุมการค้าพอสมควร สภาพท้องที่โดยทั่ว ๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า จึงขอแบ่งท้องที่ของอำเภอดังกล่าว ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ แบ่งท้องที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ 1 แห่ง เรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอแม่ใจ” มีเขตการปกครองรวม 4 ตำบล คือ ตำบลแม่ใจ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อย และตำบลแม่สุก ให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 80 ตอนที่ 14: 221- 222) 5 กุมภาพันธ์ 2506 ปลายปี พ.ศ. 2506 หมู่บ้านหนองสระ หมู่ 6 ได้แยกจากหมู่บ้านแม่เย็นใต้ หมู่ที่ 1 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายยื่อ หล้าคำมูล

พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรตั้งอำเภอเพิ่มขึ้นในท้องที่บางจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการปกครองและความสะดวกของราษฎร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ให้ตั้งกิ่งอำเภอ คือ กิ่งอำเภอแม่ใจ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย (พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์........อำเภอดอกคำใต้  .อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน...พุทธศักราช 2508. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 82 ตอนที่ 59 : 565-569. 14 พฤศจิกายน 2508)

เมื่อก่อนเด็ก ๆ ในหมู่บ้านหนองสระต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่บ้านแม่เย็น การเดินทางไปกลับด้วยความลำบาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ต่อมานายเงิน หล้าคำมูล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับพ่ออุ้ยเป็ง-แม่อุ้ยทานันต๊ะ นายแสง ตันคำแดง นายรูญ รักชาติ และนายอ้าย คำมูล ได้เสียสละเงินคนละ 100 บาท และชาวบ้านจำนวน 61 หลังคาเรือน ได้ร่วมบริจาคเงินจำนวน 1800 บาท เพื่อซื้อที่ดินจากพ่ออุ้ยต่ำ เขียวคำปั่น ประมาณ 5 ไร่ ในราคา 3,600 บาทถ้วน เพื่อสร้างอาคารเรียนแบบชั่วคราว และทางการได้จัดจ้างครูมาสอนเด็กนักเรียนคือนายทองขาว อุตทกะพันธ์ ซึ่งก็คือครูใหญ่ในสมัยนั้น

ครูทองขาวเป็นคนกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2468 วุฒิการศึกษาของครูในสมัยนั้น คือ ม.8 และได้จัดพิธีเปิดป้ายโรงเรียนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2508 ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหนองสระมีพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ทางโรงเรียนแม่เย็นได้มาเรียนรวม เมื่อเดือนมิถุนายน 2538 (จากบันทึกของโรงเรียนบ้านหนองสระ และการสัมภาษณ์นายชลิตพันธ์ สำราญสุข ชาวบ้านหนองสระและปัจจุบันเป็นคุณครูสอนประจำที่โรงเรียนบ้านหนองสระ)

พ.ศ. 2511 เดือน 12 ปี ทางภาคเหนือมีฝนตกมากทำให้เกิดน้ำท่วม (ท่วมหนักแค่ 7-8 วัน) อุ้ยปิ้น กาบเหล็ก ได้เอ่ยปากขึ้นว่า "ฝน 45 ห่าตกหนองสระหมดบ่อได้ ไปมหาสมุทรเลย" สมัยนั้นไม่มีเรือแม้แต่ลำเดียว ถ้ามีธุระจำเป็นจริง ๆ ต้องเอาลำต้นต้นกล้วยมาเสียบทำเป็นแพใช้ทอข้ามไปฝั่งทิศตะวันตก

จากการสัมภาษณ์นายทอง ใจมูลมั่ง อดีตผู้ใหญ่บ้าน ได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนยังไม่มีถนน ใช้เกวียนเป็นยานพาหนะ พอมาประมาณ ปี พ.ศ. 2519 เริ่มมีรถโดยสารประจำทาง 1 คัน วิ่งจากบ้านหนองสระไป อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

พ.ศ. 2520 มีการขุดทำถนนถนนดินแดง(ลูกรัง) จากแม่เย็นมาถึงบ้านหนองสระ

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520

ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา) ในปีเดียวกันได้แยกหมู่บ้านแม่เย็นหมู่ 8 ออกจากบ้านแม่เย็น หมู่ 1 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายจันทร์ ต๊ะป้อม

พ.ศ. 2525 เริ่มมีถนนลาดยางจากบ้านแม่เย็นถึงบ้านหนองสระ

พ.ศ. 2526 เริ่มมีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านและเริ่มมีทีวีจอขาวดำเครื่องแรกในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2529 นายทองใจ มูลมั่ง ได้ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านอีกครั้ง (สมัยที่ 2) สมัยนั้นได้มีการปรับปรุงสร้างอุโบสถที่วัดหนองสระ จากเงินที่ได้จากคณะกฐินที่มาถวาย จำนวน 400,000 บาท

พ.ศ. 2537 รถจักรยานยนต์คันแรกในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2538 ราษฎรบ้านหนองสระ หมู่ที่ 6 ตำบลปาแฝก ได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 16,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 2 ไร่ ของนางจันทร์ตา เหมยต่อม ซึ่งติดกับที่สาธารณะซึ่งมีพื้นที่ 3 ไร่ รวมกัน 5 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างสถานีอนามัยบ้านหนองสระและบ้านพักเจ้าหน้าที่จำนวน 2 หลัง ด้วยเงินงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขเป็นจำนวนเงิน 2,250,000 บาท และเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม2538 (ที่มา: รายงานผลงานประจำปี 2552 ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองสระ)

พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ดังต่อไปนี้ อำเภอแม่ใจ กำหนดเขตตำบลป่าแฝก ในท้องที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน หมู่ที่ 6 คือ หมู่บ้านหนองสระ (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 354-372. 12 ตุลาคม 2541) ซึ่งบ้านสระวังทองหมู่ 10 ยังเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับบ้านหนองสระ หมู่ 6

พ.ศ. 2542 วันที่ 9 เมษายน แยกหมู่บ้านสระวังทอง หมู่ 10 ออกจากบ้านหนองสระหมู่ที่ 6 จากความหนาแน่นของประชากร โดยมีนายอินถา บัวใจ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านสระวังทอง 2 สมัย คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ถึง วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552 ต่อมาพ่อหลวงอินถา บัวใจ ได้หมดวาระลง หมู่บ้านได้ทำการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พุทธศักราช 2551 ซึ่งกำหนดวาระของผู้ใหญ่บ้านให้ดำรงตำแหน่งจน ครบอายุ 60 ปี และนายราชัน หล้าคำแก้ว เป็นผู้ได้รับเลือกและได้รับการแต่งตั้งจาก นางสาวเรืองวรรณ บัวนุช ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาในสมัยนั้น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 และดำรงตำแหน่งมาจนปัจจุบัน จนกระทั่งนายราชัน หล้าคำแก้ว ได้ลาออกจากการเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558 และได้ทำการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่อีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 และนายทองอินทร์ รักชาติเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

บ้านสระวังทอง หมู่ที่ 10 ตั้งอยู่ในตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ห่างจากอำเภอแม่ใจ ไปทางทิศเหนือประมาณ 13 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอเมืองพะเยา ไปทางทิศตะวันเหนือ ประมาณ 40.4 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1019 บ้านสระวังทอง มีเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลทานตะวัน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขา มีสภาพอากาศร้อนชื้น มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบ ซึ่งประชาชนในหมู่บ้าน ใช้พื้นที่ในการทำนาและเลี้ยงสัตว์ มีแหล่งน้ำที่สำคัญคือ ชลประทานจากตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่ไหลผ่าน อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ซึ่งแหล่งน้ำดังกล่าวมีประโยชน์ด้านอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม คือ การทำนา เป็นส่วนใหญ่ ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนกระจายไปตามแนวถนน

การคมนาคมภายในและภายนอกหมู่บ้าน

บ้านสระวังทอง หมู่ที่ 10 เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนถนนสายพะเยา-เชียงราย การเดินทางภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตรอบหมู่บ้าน มีถนนดินลูกรังเป็นทางติดต่อสำหรับไปพื้นที่ทำการเกษตร การติดต่อภายในหมู่บ้านและการเดินทางไปพื้นที่ทำการเกษตร ประชาชนจะเดินทาง โดยการใช้รถจักรยานและจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่ การเดินทางติดต่อกับหมู่บ้านข้างเคียงใช้ถนนภายในหมู่บ้านและถนนสายหลักหน้าหมู่บ้าน การเดินทางไปสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสระ ไปทางทิศเหนือ ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านสระวังทอง ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

มีจำนวน 122 ครัวเรือน มีประชากรจำนวน 238 คน แบ่งเป็นเพศชาย 118 คน คิดเป็นร้อยละ 49.58 เพศหญิง 120 คน คิดเป็นร้อยละ 50.42 พบว่าประชากรส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 65-69 ปี จำนวน 34 คน คิดเป็นร้อยละ 14.29 รองลงมาเป็นอายุ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 13.45 และพบประชากรน้อยที่สุดในช่วงอายุ 35-39 ปี  จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 0.42

  • ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน
  • ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คน
  • คณะกรรมการหมู่บ้าน 15 คน
  • ทรงคุณวุฒิคน
  • หัวหน้าคุ้ม คน
  • คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน 11 คน
  • อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 16 คน
  • ตำรวจบ้าน (สตบ.) 18 คน
  • กลุ่มแม่บ้าน 15 คน

กิจกรรมการเกษตร

  • เดือนอ้าย (ตุลาคม) : กี่ยวข้าว กรีดยาง เลี้ยงไก่ จับปูขาย รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนยี่ (พฤศจิกายน) : เกี่ยวข้าว ปลูกพืชผัก เช่น แตงโม เลี้ยงไก่ จับปูขาย รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนสาม (ธันวาคม) : ปลูกพืชผัก เช่น แตงโม หาไข่มดแดง เลี้ยงไก่ จับปูขาย รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนสี่ (มกราคม) : เตรียมพื้นที่ เตรียมดินสำหรับทำนาปี และทำไร่ ทำสวน เช่น สวนแตงโม เลี้ยงไก่ รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนห้า (กุมภาพันธ์) : เตรียมพื้นที่ ไถนา เตรียมดินสำหรับทำนาปี และทำไร่ ทำสวน ปลูกผักสวนครัว ทำสวนแตงโม เลี้ยงไก่ รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนหก (มีนาคม) : เตรียมพื้นที่ ไถนา เตรียมดินสำหรับทำนาปี และทำไร่ ทำสวน ปลูกผักสวนครัว ทำสวนแตงโม กรีดยาง เลี้ยงไก่ รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนเจ็ด (เมษายน) : เตรียมพื้นที่ เตรียมดินสำหรับทำนาปี และทำไร่ เก็บแตงโม กรีดยาง เลี้ยงไก่ รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนแปด (พฤษภาคม) : กลางปีชาวบ้านจะเริ่มหว่านกล้า ปลูกข้าว กรีดยาง เลี้ยงไก่ และ อีกบาง รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนเก้า (มิถุนายน) : ฤดูฝนชาวบ้านจะเริ่มปลูกข้าวชาวบ้านส่วนมากจะทำนาโดยการทำนาหว่านและบางส่วนทำนาดำ กรีดยาง เลี้ยงไก่ รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนสิบ (กรกฎาคม) : ฤดูฝน หลังจากหว่านกล้าข้าว ชาวบ้านจะดูแลไร่นาใส่ปุ๋ย ฉีดยากำจัดวัชพืช กรีดยาง เลี้ยงไก่ รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม) : ฤดูฝนหลังจากหว่านกล้าข้าว ชาวบ้านจะดูแลไร่นาใส่ปุ๋ย ฉีดยากำจัดวัชพืช กรีดยาง หาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด เลี้ยงไก่ รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์
  • เดือนสิบสอง (กันยายน) : ฤดูฝนหลังจากหว่านกล้าข้าว ชาวบ้านจะดูแลไร่นาเพื่อรอเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนต่อไป กรีดยาง หาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด เลี้ยงไก่ รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์ ตลอดทั้งปี

ในรอบ 1 ปี ของชาวบ้านสระวังทอง หมู่ที่ 10 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เทศกาลประจำปี ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน มีดังนี้

  • เดือนเกี่ยง (ตุลาคม) : งานทำบุญตานก๋วยสลากภัตร ชาวบ้านจะนำก๋วยสลาก ถวายแด่พระสงฆ์ และมีการให้ศีลให้พรหยาดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หรือกรรมนายเวร และงานทอดกฐิน ชาวบ้านจะนำปัจจัย ข้าวของเครื่องใช้นำไปถวายที่วัด และทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดหนองสระ เนื่องในวันออกพรรษา
  • เดือนยี่ (พฤศจิกายน) : วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ชาวบ้านเข้าร่วมงานประเพณียี่เป็ง ช่วงตอนเย็น ชาวบ้านจะมีประเพณีลอยกระทง การแข่งขันโคมลอยที่วัดหนองสระ และเข้าวัดทำบุญ
  • เดือนสาม (ธันวาคม) : สวดมนต์ข้ามปี ชาวบ้านจะไปทำวัตรสวดมนต์ในตอนเย็น หลังทำบุญเย็นเสร็จจะมีการปล่อยโคมลอยและร่วมกันสวดมนต์ข้ามปี
  • เดือนสี่ (มกราคม) : ตานข้าวใหม่ และประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า
    • วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี มีการทำบุตรตักบาตรที่วัดหนองสระ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว ซึ่งการทำบุญในวันขึ้นปีใหม่นี้รวมไปถึงการ ทำบุญถวายข้าวใหม่ ประชาชนที่มาทำบุญนำข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วก่อนที่นำมารับประทาน ต้องนำข้าวใหม่มาทำบุญที่วัดก่อน เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านเรียกว่า "ตานขันข้าว” (ถวายสังฆทาน) หลังจากนั้นชาวบ้านนำข้าวใหม่ที่นึ่งเสร็จแล้วหรือข้าวสารใหม่ รวมทั้งอาหารที่ปรุงในครอบครัวไปมอบให้ญาติผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในหมู่บ้านที่เป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เพื่อขอพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ จึงสามารถนำข้าวใหม่มารับประทานได้ ซึ่งการรับประทานข้าวใหม่ต้องดูฤกษ์ตามหลักจันทรคติว่าต้องการรับประทานได้ในวันใด (ขึ้น แรม กี่ค่ำ) จึงจะ ทำให้ข้าวน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ในปีต่อไปการทานข้าวใหม่เป็นประเพณีที่กระทำหลังจากชาวนาทำข้าวเก็บใส่ยุ้งแล้ว และก่อนที่จะนำข้าวมาบริโภค จะนิยมนำข้าวไปทำบุญก่อนเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ เทพยดา แม่โพสพ ตลอดจนบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีการทานข้าวใหม่ จะทำในเดือนสี่เหนือ ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม ข้าวที่นำไปทำบุญอาจทำในรูปของขนม เช่น ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ข้าวหลาม เป็นต้น
    • เลี้ยงผีปู่ย่า ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ซึ่งเป็นประเพณีล้านนาของคนเหนือ สืบเนื่องกันมารุ่นต่อรุ่น กว่า 100 ปี ประเพณีเลี้ยง ผีปู่ ย่า ตา ยาย แบบโบราณล้านนา หรือการเลี้ยงผีประจำตระกูล หรือที่เรียกกันว่าผีบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว พวกลูกหลานก็จะสร้างหอไว้ทางเบื้องทิศหัวนอน หรือในสถานที่ที่เห็นว่าสมควร บนหอจะมีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ ธูปเทียน น้ำต้น(คนโท) วางเอาไว้ โดยจะมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร หวานคาว บวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณของพ่อแม่ ให้มาอยู่ในศาล เพื่อพิทักษ์รักษาลูกหลาน ตลอดจนเครือญาติจะต้องถือผีปู่ ย่า ตา ยาย อันเดียวกัน จึงพากันทำที่อยู่อาศัยให้แก่ ปู่ ย่า มีเสื่อ หมอน น้ำต้น ขัน หมาก กระโถน แจกันดอกไม้ ธูป เทียน ไว้บูชาการสร้างตูบ ผีปู่ย่านั้น นิยมสร้างกันตามที่ต้นตระกูล เรียกว่า (เรือนแก้ว) หรือเรียกว่าเก้าผี สร้างเป็นตูบใหญ่บ้างเล็กบ้าง เวลาทำพิธีเลี้ยงก็จะมากันมากมาย การทำเช่นนี้ก็เป็นจารีตประเพณีอันหนึ่งของคนโบราณ การทำบุญทำทานหาญาติ
  • เดือนห้า (กุมภาพันธ์) : สรงน้ำพระธาตุประเพณีความเชื่อดั้งเดิมมาแต่โบราณ ที่นิยมกระทำเป็นประจำทุกปี เปรียบเสมือนการได้สรงน้ำพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย มักจะบูชาพระบรมธาตุด้วยเครื่องหอม และข้าวตอกดอกไม้ ตามปกติแล้วจะสรงพระธาตุด้วยน้ำสะอาดบริสุทธิ์ หรือน้ำสะอาดเจือด้วยสิ่งบูชา แล้วแต่ความชอบ และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น น้ำหอม น้ำอบ ดอกไม้ กลีบดอกไม้ ฝักส้มป่อย หรือ แก่นไม้จันทน์ฝน เป็นต้นเนื่องจากองค์พระบรมธาตุ ส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ การสรงน้ำจึงกระทำโดยการราดน้ำไปบนองค์พระเจดีย์เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมทำบุญด้วย
  • เดือนหก (มีนาคม) : ทอดกฐิน โดยแล้วเจ้าภาพและชาวบ้านมาร่วมกันทำบุญคำว่า กฐินนี้ เมื่อจะแปลตามความหมายของศัพท์แล้ว ก็ได้ความหมายว่า กรอบไม้สำหรับขึงเย็บผ้าจีวรของภิกษุ ซึ่งกรอบไม้ชนิดนี้ โดยมากนิยมเรียกกันว่า สะดึงฉะนั้นที่มีความนิยมเรียกกันว่าผ้ากฐินก็เพราะเมื่อจะเย็บนั้น ต้องขึงผ้าให้ตึงด้วยไม้สะดึงก่อนจึงจะเย็บ การที่จะต้องทำเช่นนี้ เพราะว่าในครั้งก่อนโน้น ไม่มีช่างที่มีความชำนาญในการตัดเย็บ ทั้งเครื่องจักรกลต่าง ๆ ก็ไม่มีจะใช้เหมือนอย่างกับในเวลานี้ จึงต้องอาศัย สะดึงช่วยให้เป็นเบื้องต้นก่อน แล้วจึงเย็บเป็นอันได้ใจความว่า ผ้ากฐินนี้ก็คือผ้าที่ทำให้สำเร็จขึ้นได้ด้วยการอาศัย กฐินหรือ สะดึงเมื่อเสร็จเป็นผ้า กฐินแล้วจึงได้นำไปทอดแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาแล้วตลอด 3 เดือน ซึ่งมีความนิยมเรียกกันว่า ทอดกฐินการทอดกฐินก็คือการนำเอาผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ ซึ่งมีจำนวนอย่างที่สุด 5 รูป โดยมิได้มีความตั้งใจว่า จะถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเมื่อทอดแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ของฆราวาส ส่วนเรื่องต่อไปนั้น พระสงฆ์ท่านจะมอบหมายให้กันและกันเอง ตามที่ท่านเห็นว่า สมควรจะให้ภิกษุรูปใดเป็น กรานกฐินก็สุดแต่ท่านจะจัดทำกันเอง ฆราวาสเมื่อ ทอดหรือ วางไว้แล้ว ก็คอยออกมารับอนุโมทนา เมื่อพระสงฆ์ท่านกรานเสร็จแล้วเท่านั้น
  • เดือนเจ็ด (เมษายน) : ปีใหม่เมืองหรือประเพณีสงกรานต์และผ้าป่าสามัคคี ประเพณีสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านเรียกว่า "ปีใหม่เมือง"ในวันที่13 เป็นวันสังขาลล่อง ซึ่งมีความหมายว่าอายุสิ้นไปอีกปี ชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบ้านเรือนตลอดจนชำระร่างกายให้สะอาด วันที่ 14 เป็นวันเนาหรือวันเน่า เป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย ด่ากัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ ผู้หญิง ผู้สูงอายุมีหน้าที่เตรียมอาหาร ขนม ผู้ชายเตรียมไม้ค้ำศรี (ไม้ค้ำต้นโพธิ์) ช่วงบ่ายมีการขนทรายเข้าวัด วันที่15 เป็นวันพญาวัน คือวันเปลี่ยนศักราชใหม่ เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เช้า มีการถวายภัตตาหารให้กับคนตาย ที่เรียกว่า ตานขันข้าว เช่นเดียวกับวันที่ 1มกราคม มีการตานตุง หรือถวายตุง ปักเจดีย์ทราย ดำหัว คารวะผู้ใหญ่ การสรงน้ำพระธาตุ พระสถูปเจดีย์พระพุทธรูป การตานไม้ค้ำศรี ในช่วงบ่ายหลังจากการทำบุญที่วัดเสร็จ ชาวบ้านนำดอกไม้ ธูป เทียนน้ำส้มป่อย (ส้มป่อย เป็นพืชสมุนไพรที่ผู้คนในท้องถิ่นล้านนา ยกย่องให้คุณค่าแก่การเก็บรักษา เชื่อว่าสามารถขจัดสิชั่วร้ายเภทภัยต่าง  ๆ ให้หมดไปจากตัวและบ้านเรือนได้) รดน้ำ ดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อและผู้อาวุโสในครอบครัวก่อน จากนั้นจึงไปรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสหรือผู้ที่เคารพนับถือในหมู่บ้านหลังจากครอบครัวนำบรรพบุรุษ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วรวมทั้งพระพุทธรูปที่กราบไหว้ภายในบ้าน นำมาสรงน้ำเพื่อขอขมาลาโทษ ขอพรด้วยการนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำส้มป่อยในการประกอบพิธีผ้าป่าสามัคคี สำหรับพิธีทอดผ้าป่า เป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธ คล้ายกับพิธีทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนด ระยะเวลาจำกัด คือสามารถจะทอดเมื่อไรก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังไม่เจาะจง เกี่ยวกับภิกษุที่จะรับผ้ากฐินแต่อย่างใด ความเป็นมาของประเพณีการทอดผ้าป่า กล่าวคือ ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรจากชาวบ้าน ดังนั้นพระภิกษุจะต้องหาผ้า ที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว ผ้าที่เปรอะเปื้อน ผ้าห่อศพ โดยรวบรวมนำมาซักฟอกทำความสะอาดตัดเย็บและย้อมทำเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ เมื่อชาวบ้านทราบถึงความยากลำบากจึงต้องการนำผ้ามาถวายแต่ยังไม่มีพุทธานุญาต ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องการนำผ้าไปทอดทิ้งตามที่ต่าง ๆ เช่น ตามทางเดิน ป่าช้า แล้วแต่ว่าพระภิกษุสงฆ์องค์ใดจะมาพบเห็นแล้วนำผ้านั้นไปใช้ ในปัจจุบันการทอดผ้าป่าได้มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยนิยมนำกิ่งไม้มาปักไว้ในกระถาง และนำผ้ามาผูกแขวนไว้ และอาจจะนำผ้ามาทำเป็นรูปร่าง ต่าง ๆ เช่น ชะนี รูปผี แขวนไว้ที่กิ่ง และสิ่งของเครื่องใช้ที่จะถวายพระ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ เงินหรือปัจจัยให้เสียบไม้แล้วปักกับต้นกล้วยเล็ก ๆ ในกองผ้าป่า
  • เดือนแปด (พฤษภาคม) : ทำบุญพระธาตุ จะคล้ายประเพณีสรงน้ำพระธาตุ โดยชาวบ้านจะรวมตัวกันแค่คนหมู่บ้าน จะบูชาพระบรมธาตุด้วยเครื่องหอม และข้าวตอกดอกไม้ ตามปกติแล้วจะสรงพระธาตุด้วยน้ำสะอาดบริสุทธิ์ หรือน้ำสะอาดเจือด้วยสิ่งบูชา แล้วแต่ความชอบ และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น น้ำหอม น้ำอบ ดอกไม้ กลีบดอกไม้ ฝักส้มป่อย
  • เดือนเก้า (มิถุนายน) : ไหว้ผีเจ้าบ้าน,เลี้ยงผีห้วยหลวง และวันเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่เหมือนกับประเพณีการเลี้ยงผีปู่ย่า แต่เปลี่ยนสถานที่ในการประกอบพิธีกรรม จากศาลเจ้าบ้าน เป็นบ้านของตนเอง ซึ่งเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษ
    • เลี้ยงผีห้วยหลวง เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เครื่องสำหรับสังเวยบูชา มีเทียน 4 เล่ม ดอกไม้ 4 สวย (กรวย) พลู 4 สวย หมาก 4 คด หรือ 4 ก้อม (1 ขดเอามาตัดครึ่งเท่ากับ 1 ก้อม) ช่อขาว (ธง) 8 ผืน มะพร้าว 2 คะแนง กล้วย 2 หวี อ้อย 2 เล่ม หม้อใหม่ 1 ใบ วัว 1 ตัว สุรา และโภชนาการ 7 อย่าง รวมทั้งเมี่ยงและบุหรี่ เป็นต้น วิธีการเลี้ยง ก่อนการทำการเลี้ยงต้องมีการประชุมก่อนระหว่างลูกเหมืองลูกฝาย (หมายถึง ผู้ที่ใช้น้ำในแม่น้ำลำธารนั้น ๆ ทำการเกษตร) เมื่อประชุมตกลงกันและหาฤกษ์งามยามดีเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็มีการเรี่ยไรเงินทองคนละนิดคนละหน่อย เพื่อจัดเครื่องสังเวยต่าง ๆ และช่วยกันตกแต่งเครื่องสังเวย โดยมีนายติ๊บ ตันทินแดง เป็นผู้นำเมื่อมีการจัดแต่งดาเครื่องสังเวยพร้อมแล้ว ก็ทำชะลองขึ้น 3 ใบ สำหรับใส่เครื่องสังเวยต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ ชะลอม 2 ใบแรกให้คนหาบไป ส่วนที่ 3 ให้คอนไป แล้วทำศาลขึ้นหลังหนึ่ง ณ ที่ต้นน้ำลำธารที่สำหรับจะเลี้ยงนั้นประกอบด้วยหลักช้าง หลักม้า ปักอยู่ใกล้ ๆ ศาล แล้วนำเอาเครื่องสังเวยต่าง ๆ ขึ้นวางบนศาลนั้น แล้วทำพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์ตลอดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสางต่างๆ อันประจำรักษาอยู่ ณ ต้นน้ำลำธารที่นั้นได้รับรู้แล้วมารับเอาเครื่องสังเวยต่างๆ ตลอดจนอ้อนวอนขอจงอำนวยอวยชัยให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยมากใช้ถ้อยคำโวหารเป็นภาษาทางภาคเหนือว่า "อัญเจินผีแพะผีป่า ขุนหลวงมะลังก๊ะ แม่ธรณี เจ้าตี้ เจ้าดิน เทวดาอารักษ์ทั้งหลาย อันปกปักรักษายังป่าไม้ต้นน้ำลำธาร เหมืองฝาย ภูผา ปูดอย จุ่งช่วย ปล่อยน้ำปล่อยฝนตกลงมาหื้อชาวบ้านชาวเมือง สัตว์ตั๋วน้อยตั๋วใหญ่ สัพพะทั้งหลายหื้อมีน้ำกิน น้ำใช้ หื้อพิซซะข้าวกล้าจุงปันอุดมสมบูรณ์ดีงาม อย่าได้มีศัตรูร้านมาก๋วนมาควีแต่เต๊อะเป็นต้น ต่อจากนั้นพอตั้งเครื่องสังเวยนานพอสมควรแล้ว สมมุติว่า เจ้าที่เจ้าทางผีสางอารักษ์ทั้งหลายรับเครื่องสังเวยอิ่มแล้ว ก็นำเอาสังเวยเหล่านั้นแบ่งปันเลี้ยงดูกันกินต่อไป ก็เป็นอันเสร็จพิธี จุดประสงค์ 1. เพื่อให้เกิดความสามัคคีซึ่งกันและกัน เช่น มีการประชุมตกลงกันก่อนจึงจะมีพิธีการเลี้ยง 2. เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เช่น มีการเรี่ยไรเงินทองคนละนิดละหน่อย 3. เพื่อแสดงความกตัญญูต่อสิ่งที่เป็นคุณและให้ประโยชน์แก่ตนเอง เช่น การเลี้ยงผีขุนน้ำก็เพื่อต้องการแสดงความกตัญญูต่อธรรมชาติที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ให้กับมนุษย์ และมองเห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ การเลี้ยงผีขุนน้ำหรือต้นน้ำลำธารไหนก็ได้ แต่ส่วนมากทำกันที่ต้นน้ำลำธารใหญ่ ๆ และสำคัญที่เป็นเหมือนเส้นสายชีวิตของเกษตรกรในแหล่งน้ำ ๆ ส่วนเครื่องสังเวยต่าง ๆ ตลอดถึงวิธีการอาจแตกต่างกันไปตาม้องถิ่นนั้น ๆ และความเชื่อ
    • วันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ชาวบ้านบางส่วนจะถือศีล โดยเข้าร่วมปฏิบัติธรรม สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น โดยวิปัสสนาธรรมทุก ๆ วันพระที่วัดหนองสระ
  • เดือนสิบ (กรกฎาคม) : ไหว้ผีเจ้าบ้าน เป็นประเพณีที่เหมือนกับประเพณีการเลี้ยงผีปู่ย่า แต่เปลี่ยนสถานที่ในการประกอบพิธีกรรม จากศาลเจ้าบ้าน เป็นบ้านของตนเอง ซึ่งเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษ
  • เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม) : ชาวบ้านร่วมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันแม่แห่งชาติและร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน
  • เดือนสิบสอง (กันยายน) : การทำบุญตักบาตรในวันพระและการเข้าวัดทำบุญในวันศีลใหญ่
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปัจจุบันเมื่อมีการคมนาคมสะดวกขึ้น การได้รับข่าวสารเพิ่มมากขึ้นทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินเริ่มมีการซื้อขายกันมากขึ้น เริ่มมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ใช้สารเคมีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในการทำการเกษตรเพื่อช่วยในการเพิ่มผลผลิต มีการร่วมกิจกรรมงานสังสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ดื่มสุราตามเทศกาลส่งผลให้เกิดโรคเพิ่มมากขึ้น เช่น มะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และมักมีความคิดว่าการทำงานคือการออกกำลังกาย จึงไม่ได้ออกกำลังกายเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่จะเลือกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสระวังทอง โดยให้เหตุผลว่าเดินทางไปสะดวกและใกล้บ้าน หากมีอาการหนักก็จะเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่ใจ และมีการรักษาโดยวิธีไสยศาสตร์ประกอบการรักษาแผนปัจจุบันร่วมด้วยเมื่อรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย มีการใช้ยาต้มเมืองและยาสมุนไพร เนื่องจากในหมู่บ้านมีการผลิตยาสมุนไพรส่งขายให้โรงพยาบาลแม่ใจ และเมื่อเจ็บป่วยมีการซื้อยามารับประทานเองบางครั้งในร้านขายของชำในหมู่บ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กนกพร ศรีวิชัยและคณะ. (2564). รายงานวินิจฉัยชุมชนบ้านสระวังทอง หมู่10 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา. วิชาปฏิบัติการพยาบาลชุมชน 2 (พย.1418) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา

พระธรรมวิมลโมลี. (2531). ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน

มณฑลพายัพ. (ม.ป.ป.). วิกิพีเดีย. https://th.wikipedia.org/wiki

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองสระ. (2552). รายงานผลงานประจำปี 2552 ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองสระ. แพร่

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขออนุญาตเปลี่ยนนามแขวงในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 21 : 381. 14 กันยายน ร.ศ.123

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเลิกกองบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 22 : 754. 26 พฤศจิกายน ร.ศ.124

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง วิธีการปกครองให้จัดเป็นแบบเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 : 1156. 26 มกราคม ร.ศ.126

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ.129

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและรวมกิ่งอำเภออำเภอขึ้นเป็นอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 : 2041. 8 ธันวาคม ร.ศ.131

เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ เรียบเรียง An Asian Arcady: Land and People of Northern Siam อ้างอิงจาก “จดหมายเหตุเมืองพะเยา” หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ, พ.ศ. 2556

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ยุบอำเภอแม่ใจและอำเภอดอกคำใต้. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 505. 23 ธันวาคม 2460

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ . (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 26 เล่ม 64 : 1114- 1430. 10 มิถุนายน 2490

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คำตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 33 เล่ม 69 : 1479-80. 27 พฤษภาคม 2495

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 80 ตอนที่ 14: 221- 222. 5 กุมภาพันธ์ 2506

พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอศรีสวัสดิ์........อำเภอดอกคำใต้.อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน...พุทธศักราช 2508. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 82 ตอนที่ 59 : 565-569. 14 พฤศจิกายน 2508

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 354-372. 12 ตุลาคม 2541

นายชลิตพันธ์ สำราญสุข, สัมภาษณ์

ทต.ป่าแฝก โทร. 0-5442-6238-101