ชุมชนเมืองขนาดใหญ่บนพื้นที่เลียบริมฝั่งคลองสำโรง
ชุมชนศาลาเหลือง เป็นชุมชนสังคมเมืองขนาดใหญ่ชุมชนหนึ่งของเมืองสงขลา ที่เติบโตมาพร้อมกับชุมชนอื่น ๆ โดยรอบพร้อมกับพัฒนาการความก้าวหน้า ความเจริญของจังหวัดสงขลา ผู้คนในพื้นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเลียบไปตามริมฝั่งคลองสำโรงที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก เป็นชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนมีความเห็นร่วมกันว่า เพื่อให้การบริหารจัดการและการพัฒนาชุมชนมีความสะดวก รวดเร็ว เกิดความคล่องตัวในการบริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบองค์รวมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ชาวบ้านจึงขอจัดตั้งเป็นชุมชน และทางเทศบาลนครสงขลาจึงประกาศจัดตั้งเป็นชุมชน "ชุมชนศาลาเหลือง" เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2538
ต่อมาชุมชนศาลาเหลืองได้ขยายตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่มากขึ้นมีพื้นที่บริเวณชุมชนค่อนข้างกว้างขวาง และมีประชากรอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการดูแลชุมชนจึงมีการแบ่งแยกพื้นที่ชุมชนออกจากกัน และจัดตั้งเป็นชุมชนใหม่ เป็นชุมชนศาลาเหลืองเหนือ โดยแยกมาจากชุมชนศาลาเหลืองเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2551 และได้มีการจัดทำประชาคม ซึ่งในที่ประชุมมีมติจัดตั้งชุมชน เทศบาลนครสงขลาจึงได้ประกาศจัดตั้ง "ชุมชนศาลาเหลืองเหนือ" แบ่งแยกออกจากชุมชนศาลาเหลืองเดิม เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนศาลาเหลือง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งคลองสำโรง การตั้งบ้านเรือนในชุมชนส่วนหนึ่งสร้างที่อยู่อาศัยเลียบไปตามริมฝั่งคลองสำโรง และมีผู้คนอยู่อาศัยกันค่อนข้างหนาแน่น ในช่วงฤดูฝนบ้านเรือนบางส่วนมักประสบกับปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งคลองที่น้ำในคลองล้นตลิ่งขึ้นมาไหลเข้าท่วมบ้านเรือน บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวส่วนมากตั้งอยู่บนที่ดินของตนเองและส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของกรมเจ้าท่า และเช่าพื้นที่อยู่อาศัย ชุมชนศาลาเหลืองมีขนาดพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 114,744.19 ตารางเมตร และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนราษฎร์อุทิศ 1 ซอย 1
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนราษฎร์อุทิศ 1 ซอย 19/ซอยสาธารณะ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนราษฎร์อุทิศ 1
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองสำโรง
ชุมชนศาลาเหลือง มีจำนวนครัวเรือนภายในชุมชนทั้งหมด 589 ครัวเรือน มีประชากรชาย จำนวน 712 คน ประชากรหญิง จำนวน 842 คน และมีประชากรภายในชุมชนรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,554 คน
ชุมชนศาลาเหลืองอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ของเทศบาลนครสงขลา มีประธานชุมชนคอยดูแลพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการชุมชน ในชุมชนมีความหลากหลายในการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันออกไป โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายเป็นอาชีพหลัก และนอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่น ๆ อีกที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน เช่น พนักงานบริษัทต่าง ๆ อาชีพเกี่ยวกับการให้บริการทางสังคม และอาชีพรับจ้างทั่วไป
ชุมชนศาลาเหลือง มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 278,546 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 64,469 บาท/ปี
ชุมชนศาลาเหลือง ยังคงเป็นชุมชนที่คงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรมไทยอันดีงามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาภายในสังคม และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดให้สมาชิกในชุมชนได้มีส่วนร่วมและได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความรักความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนในพื้นที่ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เช่น กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ของชุมชน กิจกรรมอาบน้ำผู้สูงอายุ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ในเทศกาลวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ไทย ฯลฯ
1.นายโสภณ ชุมทอง ปราชญ์ชุมชนด้านการแพทย์แผนไทย
2.นางบุพผารัตน์ ประจงเก็บ ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ (ประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์/ทำขันหมาก)
3.นางจำรัส ตรีพุทธ ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ (ประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์/ทำขันหมาก)
4.นางถนอม สุขแก้ว ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ (ตัดเย็บ)
5.นายขรรชัย สุดจันทร์ ปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตร (เพาะเห็ด)
6.นายเคือง ศิลา ปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตร (ปลูกผักสวนครัว)
7.นายบุญรัตน์ สุขแก้ว ปราชญ์ชุมชนด้านการทำอาหาร (ขนมลอดช่องสิงค์โปร)
8.นางสาวภัทรานิษฐ์ ป่วนปั่น ปราชญ์ชุมชนด้านการทำอาหาร (ทำขนม)
แหล่งทุนเศรษฐกิจสนับสนุนชุมชนศาลาเหลือง
- กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน
- โครงการบ้านมั่นคงชุมชนศาลาเหลือง
- กองทุนชุมชนเมืองศาลาเหลือง
เทศบาลนครสงขลา. (2564). แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนศาลาเหลือง เทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
มูลนิธิชุมชนสงขลา. (2565). "อีกด้านหนึ่งของเมืองสงขลา". [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก https://scf.or.th/paper/764
เทศบาลนครสงขลา - Songkhla City. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/SongkhlaMunicipality