จากพื้นที่ลุ่มน้ำขังว่างเปล่าเป็นที่ดินราชพัสดุสู่การเข้ามาของชุมชนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในเมืองใหญ่ และการพัฒนาสังคมจนกลายเป็นชุมชนริมทะเลอ่าวไทย
ชุมชนตั้งอยู่พื้นที่ใกล้กับสนามบินสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
จากพื้นที่ลุ่มน้ำขังว่างเปล่าเป็นที่ดินราชพัสดุสู่การเข้ามาของชุมชนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในเมืองใหญ่ และการพัฒนาสังคมจนกลายเป็นชุมชนริมทะเลอ่าวไทย
ชุมชนสนามบิน เดิมพื้นที่บริเวณที่ตั้งชุมชนเป็นที่ดินราชพัสดุ เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังมีป่าไม้ขึ้นปกคลุมก่อนที่หน่วยงานราชการจะเข้ามาใช้ประโยชน์ คือ ศูนย์ช่างที่ 9 กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ และในเวลาต่อมาได้ย้ายพื้นที่ทำการไปอยู่ที่เกาะยอ ชาวบ้านจากชุมชนในเมืองบางส่วนจึงเริ่มทยอยเข้ามาแผ้วถางพื้นที่บุกเบิกสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัย และต่อมาก็มีผู้คนจากพื้นที่รอบนอก อำเภอใกล้เคียงเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยพื้นที่บริเวณดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่บริเวณที่หน่วยงานราชการเข้ามาใช้ประโยชน์เดิม พื้นที่ผู้ใช้ประโยชน์ขอเช่ากับธนารักษ์ และเป็นพื้นที่แบ่งซอยให้เช่าสิทธิ์มาเพื่ออยู่อาศัย ราวปี พ.ศ. 2515 ผู้ใช้พื้นที่ทำประโยชน์มีปัญหาขัดแย้งกับธนารักษ์ เกิดการฟ้องร้องกัน จึงมีการเปลี่ยนแปลงผู้เช่า
ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 มีการประกาศจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนสนามบิน พร้อม ๆ กันกับอีกหลายชุมชนในเขตเทศบาลนครสงขลา โดยพื้นที่ชุมชนการอยู่อาศัยของประชาชนมีการเช่ากับธนารักษ์โดยตรง และด้วยพื้นที่ชุมชนเป็นที่ราบลุ่มจึงมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2543 ที่เกิดน้ำท่วมหนักมากกว่าปกติ เทศบาลนครสงขลาจึงได้สนับสนุนในการปรับสภาพพื้นที่ชุมชนโดยการสนับสนุนดินมาถมพื้นที่และปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนสนามบิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก แต่ก็มีประชากรอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น พื้นที่ชุมชนเดิมเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมขังโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ก่อนที่จะมีการเข้ามาอยู่อาศัยตั้งเป็นชุมชนและปรับสภาพพื้นที่เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขัง ชุมชนตั้งอยู่ติดกับสนามบินสงขลา มีถนนสายสำคัญตัดผ่านชุมชน และมีเส้นทางผ่านชุมชนไปยังริมฝั่งชายหาดทะเลอ่าวไทยซึ่งห่างออกไปไม่ไกลจากชุมชนมากนัก โดยชุมชนสนามบินมีพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 43,124.10 ตารางเมตร และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่สนามบินสงขลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนเก้าแสน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สนามบินสงขลา/ถนนเก้าแสน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนไทรบุรี
ชุมชนสนามบิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ไม่ได้เป็นชุมชนขนาดใหญ่มากนักแต่มีการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนค่อนข้างหนาแน่น และมีจำนวนประชากรค่อนข้างมาก โดยมีครัวเรือนในชุมชนทั้งหมด จำนวน 300 ครัวเรือน มีประชากรชาย จำนวน 352 คน ประชากรหญิง จำนวน 321 คน และมีประชากรในชุมชนรวมทั้งสิ้น จำนวน 673 คน
ชุมชนสนามบิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับการค้าขาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนในการเลี้ยงดูครอบครัว โดยชุมชนสนามบินมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 289,519 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 119,864 บาท/ปี และนอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีกลุ่มองค์กรชุมชนที่มีบทบาทในชุมชนในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่
กลุ่มจัดตั้ง ประกอบด้วย
- กลุ่มคณะกรรมการชุมชน
- กลุ่ม อสม. ชุมชน
- กลุ่มธนาคารขยะ
- กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน 2 กลุ่ม
กลุ่มธรรมชาติ ประกอบด้วยกลุ่มเครือญาติที่มีประมาณ 4-5 ตระกูลในชุมชนเป็นกลุ่มหลัก เป็นกลุ่มผู้นำที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มายาวนานมากกว่า 40 ปี
โดยกลุ่มธรรมชาติจะเป็นกลุ่มที่จะช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง ส่วนกลุ่มจัดตั้งจะมีความสัมพันธ์กับการเมือง เทศบาล และหน่วยงานทางสังคมต่าง ๆ
1.นางนิตย์ ปราชญ์ชุมชนด้านการแพทย์แผนไทย
2.นายประพันธ์ ภาวะไตร ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ
3.นายอนันต์ เม่งช่วย ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ
ชุมชนสนามบิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีสภาพเศรษฐกิจชุมชนที่ค่อนข้างย่ำแย่และเป็นปัญหาหลักที่สำคัญของชุมชน โดยเฉพาะด้านรายได้ในครัวเรือนและอาชีพของสมาชิกในชุมชน ชุมชนมีสภาวะขาดรายได้ มีรายได้ที่ไม่แน่นอนจากอาชีพที่ไม่มั่นคง มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ครัวเรือน ประชาชนต้องการอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ในชุมชน และต้องการแหล่งเงินทุน เงินออม เพื่อสนับสนุนและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน
ชุมชนสนามบิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีสภาวะทางสังคมที่ค่อนข้างดี เนื่องจากไม่มีปัญหาด้านอาชญากรรม และยาเสพติด เนื่องจากเป็นชุมชนปิด มีแต่เครือญาติภายในชุมชน แต่จะมีปัญหาด้านความแตกแยกจากความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน และสมาชิกในชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการดูแลพัฒนาชุมชน ขาดการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันของประชากรในชุมชน
ชุมชนสนามบิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีปัญหาด้านสุขภาพของสมาชิกภายในชุมชน ประชากรของชุมชนเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยของผู้สูงวัย เป็นสังคมสูงวัยมีอาการเจ็บป่วยและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามช่วงวัย ป่วยเป็นโรคความดัน เบาหวาน ไขมัน มีผู้ป่วยติดเตียงภายในชุมชน มีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต ประชนชนต้องการให้มีการจัดการด้านการดูแลระบบสุขภาพชุมชน การคัดกรองสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มจำนวน อสม. ของชุมชน และอุปกรณ์ในการคัดกรองผู้ป่วย รวมไปถึงการจัดกิจกรรมให้ความรู้ มีการปรับพฤติกรรมเสี่ยงด้านอาหาร การออกกำลังกายและอารมณ์ ของสมาชิกในชุมชน
ชุมชนสนามบิน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เนื่องจากพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ทำให้มีคลื่นลมค่อนข้างแรงพัดมาในชุมชนและมีสภาพอากาศที่ร้อน และด้วยพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ราบลุ่มจึงพบปัญหาน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ จึงต้องการให้มีการจัดวางท่อระบายน้ำเพิ่มพื้นที่การระบายน้ำในชุมชน และการดูแลกลุ่มเปราะบางภายในชุมชนช่วงที่เกิดภัยพิบัติ (ผู้ป่วยติดเตียง/บ้านชั้นเดียว/ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว) และมีการปิดฝาท่อระบายน้ำเพื่อลดกลิ่นเหม็น แต่ละครัวเรือนมีการจัดการขยะเปียก ขยะรีไซเคิล ลดมลภาวะภายในชุมชนและลดการเกิดน้ำเน่าเสีย การปรับสภาพบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับทุกวัย รวมไปถึงการแก้ปัญหาบ้านเรือนที่อยู่บริเวณด้านหน้าชุมชนโดยการปรับแต่งสภาพพื้นที่ให้มีความเหมาะสม
เทศบาลนครสงขลา. แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนสนามบิน เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
มูลนิธิชุมชนสงขลา. (2566). Success เมืองบ่อยาง เปิดเวทีพื้นที่ชุมชนสนามบิน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก https://scf.or.th/paper/939
มูลนิธิชุมชนสงขลา. (2566). Success เมืองบ่อยาง เปิดเวทีพื้นที่ชุมชนสนามบิน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก https://scf.or.th/paper/1072#box-0
หนังสือพิมพ์บ้านข่าว. (2562). นายกเทศมนตรีนครสงขลานำผู้บริหารลงพื้นที่พบประชาชนชุมชนสนามบิน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก http://bankaonews.com/?p=113545