Advance search

ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองสงขลา กับเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และพัฒนาการทางสังคมในพื้นที่ชุมชนใจกลางเมือง และวัดสำคัญโดยรอบชุมชน

ชุมชนสวนพระนิเทศ
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1015
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
15 มี.ค. 2024
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
15 มี.ค. 2024
สวนพระนิเทศ

เดิมเป็นพื้นที่ของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่เข้ามารับราชการในเมืองสงขลา ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า "พระนิเทศ" จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนในภายหลังจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองสงขลา กับเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และพัฒนาการทางสังคมในพื้นที่ชุมชนใจกลางเมือง และวัดสำคัญโดยรอบชุมชน

ชุมชนสวนพระนิเทศ
บ่อยาง
เมืองสงขลา
สงขลา
90000
7.197734812554707
100.59841849870052
เทศบาลนครสงขลา

ชุมชนสวนพระนิเทศ เดิมเป็นพื้นที่ของ "พระนิเทศโลหสถาน" ข้าราชการสังกัดกรมราชโลหะกิจ รับราชการในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 ต่อมาราชการไทยส่งคุณพระให้มารับราชการที่สงขลา ในตำแหน่งข้าราชการวิสามัญโลหะกิจจังหวัด ทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจตรากิจการแร่ของสงขลา ท่านเช่าตึกสามชั้นหลังใหญ่บริเวณหัวมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตรงถนนนางงามตัดกับถนนปัตตานีเป็นที่พำนัก และมีสวนแปลงใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างวัดชัยมงคลกับวัดเพชรมงคล ต่อมาเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนพักอาศัยอยู่ในภายหลังแต่มีกันแค่ไม่กี่ครัวเรือน

ในปี พ.ศ 2529 มีการประกาศจัดตั้งชุมชนวัดชัยมงคลขึ้นซึ่งเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ กินพื้นที่รวมไปถึงบริเวณชุมชนสวนพระนิเทศด้วย โดยชุมชนวัดชัยมงคลมีเขตพื้นที่รับผิดชอบเป็นบริเวณกว้าง และเมื่อสังคมมีพัฒนาการ มีความเจริญเติมโตของเมืองมากยิ่งขึ้น ทำให้การอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนมีความหนาแน่นและแออัด และมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดการดูแลชุมชนจึงมีความยากลำบาก ไม่มีความคล่องตัวเพราะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ไม่สามารถพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และเพิ่มศักยภาพชุมชนได้อย่างคลอบคลุมและทั่วถึงเท่าที่ควร ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ทางเทศบาลนครสงขลาจึงได้แบ่งแยกพื้นที่ส่วนหนึ่งของชุมชนชัยมงคลออกมาตั้งเป็นชุมชนใหม่ คือ "ชุมชนสวนพระนิเทศ" มาจนถึงปัจจุบัน

จากคำบอกเล่าของ นางสุนิสาห์ สุกสี อายุ 54ปี กล่าวว่า ถนนวุฒิภูมิเมื่อก่อนมีต้นไม้มากมาย มีบ้านอยู่อาศัยเพียงไม่กี่หลัง ผู้คนส่วนมากอาศัยอยู่ที่บริเวณถนนนครนอกนครใน สมัยนั้นยังมีรถไฟวิ่งอยู่แถวๆ วชิรา ตามแนวชายฝังทะเล บริเวณบ่อนวัวยังเป็นแค่ป่า และพื้นที่ลานกว้าง ช่วงนั้นยังไม่มีถนนหนทางสะดวกเหมือนตอนนี้ ถนนเป็นแค่ดินทราย ดินแดง ผู้คนแถวถนนวุฒิภูมิ ส่วนมากทำอาชีพรับจ้างค้าขายในตลาดเมืองสงขลา ก่อนที่สังคมจะเจริญก้าวหน้าและมีพัฒนาการเป็นสังคมขนาดใหญ่เหมือนในปัจจุบัน

ชุมชนสวนพระนิเทศ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนสังคมเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น พื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ใจกลางระหว่างวัดชัยมงคลและวัดเพชรมงคล ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดสำคัญของเมืองสงขลา พื้นที่ของชุมชนมีลักษณะภูมิศาสตร์สภาพพื้นที่ราบลุ่มลาดเอียง มีน้ำท่วมขัง มีจำนวนพื้นที่ของชุมชนทั้งหมด 129,036.70 ตารางเมตร และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนชัย-เพชรมงคล ซอยพลูสุขอุทิศ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนเพชรมงคล
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนชัยมงคล ซอย 9
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนชุย-เพชรมงคล

ชุมชนสวนพระนิเทศ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนสังคมเมืองขนาดใหญ่ชุมชนหนึ่งที่มีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น โดยมีจำนวนครัวเรือนอยู่อาศัยทั้งหมด 773 ครัวเรือน มีประชากรชาย จำนวน 755 คน ประชากรหญิง จำนวน 837 คน มีประชากรภายในชุมชนรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,592 คน และนอกจากนี้พื้นที่ชุมชนยังมีหอพัก บ้านเช่า สำหรับนักเรียนนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เข้ามาพักอยู่อาศัยอีกด้วย

ชุมชนสวนพระนิเทศ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในความดูแลของเทศบาลนครสงขลา และมีประธานชุมชนเป็นผู้นำท้องถิ่นในการดูแลร่วมกับคณะกรรมการชุมชน ชุมชนสวนพระนิเทศเป็นชุมชนสังคมเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายเป็นอาชีพหลัก และมีสมาชิกในชุมชนที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน โดยชุมชนสวนพระนิเทศมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 159,829 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 51,921 บาท/ปี 

ชุมชนสวนพระนิเทศ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีวิถีชีวิตแบบชุมชนสังคมเมือง ชีวิตประจำวันอยู่กับหน้าที่การงานในแต่ละกลุ่มอาชีพ ทั้งการค้าขาย และรับจ้างทั่วไป ชุมชนสวนพระนิเทศเป็นชุมชนหนึ่งที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีประชากรผู้สูงวัยในชุมชนเพิ่มมากขึ้น การจัดกิจกรรมทำกิจกรรมร่วมกันของสังคมส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือช่วงงานเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในสังคม เช่น กิจกรรมทำบุญวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ไทย ที่มีการรวมตัวกันของสมาชิกในชุมชน ร่วมกันสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้สมาชิกในชุมชนได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน ทำให้เกิดความรักสามัคคีต่อกันในชุมชน และยังเป็นการรักษาวิถีวัฒนธรรมประเพณีไทยให้คงอยู่ในชุมชนต่อไปด้วย

1.นายลืม รักทอง ปราชญ์ชุมชนด้านการแพทย์แผนไทย/สมุนไพร

2.นายสุรศักดิ์ นัคที ปราชญ์ชุมชนด้านการถนอมอาหาร/การจัดทำอาหาร

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น "พระเทศฯ สู่ชุมชนสวนพระนิเทศ

ชุมชนสวนพระนิเทศ ชุมชนเก่าแก่คู่เมืองสงขลาที่หลายคนจะต้องรู้จัก ในอดีตเรียกพื้นที่นี้ว่า "สวนพระเทศ" เป็นละแวกเก่าแห่งหนึ่งของเมืองสงขลา โดยชื่อนี้ชาวบ้านเรียกกันมาตั้งแต่ราวรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นชุมชนแห่งหนึ่งใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีถนนตัดผ่าน คือ ถนนวุฒิภูมิ ซอย 1 และซอย 2

ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ดินของพระนิเทศโลหสถาน (วูดฮัล วุฒิภูมิ) พระนิเทศโลหสถาน หรือ "พระเทศฯ" เป็นราชทินนามและบรรดาศักดิ์ของข้าราชการไทยที่สัญชาติบิดาเป็นสิงหล แบบเดียวกันกับพระยาอรรถการประสิทธิ์ นักกฎหมายอดีตอธิบดีกรมอัยการ คุณพระเทศฯ มีราชทินนามเต็มว่า "พระนิเทศโลหสถาน" มีนามเดิมว่า "วูดฮัล" เกิดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2423 รับราชการในสังกัดกรมราชโลหะกิจ ในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องกับช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 6

ต่อมาราชการไทยได้ส่งพระเทศฯ มารับราชการที่สงขลา ในตำแหน่งข้าราชการวิสามัญโลหะกิจจังหวัด ทำหน้าที่กำกับดูแล และตรวจตรากิจการแร่ของสงขลา พระเทศฯ จึงเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของเมืองสงขลาชั้นแรกที่ย้ายมารับราชการที่สงขลา ท่านเช่าตึกสามชั้นหลังใหญ่ ตั้งอยู่ที่หัวมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตรงถนนนางงามตัดกับถนนปัตตานีเป็นที่พำนัก

ขณะรับราชการที่สงขลาท่านมีที่สวนใหญ่แปลงหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดชัยมงคลกับวัดเพชรมงคล และอาจกินอาณาบริเวณไปทางด้านหลังวัดด้วย วัดชัยมงคลเดิมชื่อว่า "วัดโคกเสม็ด" ส่วนวัดเพชรมงคลเดิมชื่อว่า "วัดโคกขี้หนอน" คุณพระมีลูกหลานที่สงขลาหลายคน และทายาทของท่านบางคนเติบโตขึ้นมีหน้าที่การงานทางด้านการแพทย์ สกุลของคุณพระเทศฯ นั้นคือ "วุฒิภูมิ" ซึ่งก็คือชื่อถนนสองสายที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดชัยมงคลและวัดเพชรมงคลในปัจจุบัน ราวช่วงปลายรัชกาลที่ 7 พระนิเทศฯ ได้ออกจากราชการ และหลังจากหมดสิ้นภาระราชการแล้ว จึงได้ตั้งรกรากอยู่ที่สงขลา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

วิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ จัดตั้งขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2518 โดยพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พ.ศ. 2518 ใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา" วิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ เป็นวิทยาลัยการช่างชั้นสูงของภาคใต้แห่งนี้ในขณะนั้น และต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยในปัจจุบัน

วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ต่อมาได้โอนวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเกษตรกรรม และวิทยาลัยต่าง ๆ ในสังกัดกรมอาชีวศึกษาเข้ามาสังกัด ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ราชมงคล” เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2531 (วันราชมงคล) พร้อมทั้งมีพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2532 ทำให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล" กระทั่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 พระราชบัญญัติ จัดตั้งให้เป็น "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล"

จากคำบอกเล่าของนางคลิง สงขวัญ อายุ 84 ปี เล่าว่าสมัยยังเป็นวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้กำลังโด่งดังมีนักเรียนนักศึกษาเก่ง ๆ มากมาย ทำให้เกิดการพัฒนาในจังหวัดสงขลาอย่างมาก เริ่มมีการสร้างที่อยู่อาศัยที่ถนนวุฒิภูมิ ชุมชนวชิรามากขึ้น จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ และช่วงนั้นเป็นช่วงที่สถานีรถไฟสงขลาได้ปิดตัวลง ทำให้ที่พักรถไฟและชานชาลารถไฟเป็นพื้นที่ว่าง ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาจองพื้นที่เป็นจำนวนมาก และต่อมาเติบโตเป็นชุมชนบ่อนวัว

ปัจจุบันถนนวุฒิภูมิเป็นถนนคับแคบไม่มีพื้นที่ทำการค้าขายมากนัก แต่ถนนวุฒิภูมิพื้นที่ชุมชนสวนพระนิเทศมีถนนชัยมงคล ถนนวชิราอยู่รอบข้าง ทำให้สะดวกสบาย มีร้านอาหารมากมาย และยังเป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนวชิราและถนนชัยมงคล ทำให้มีการจราจรที่แออัดในช่วงเร่งด่วน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีนักเรียนนักศึกษามหาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เข้ามาอาศัยเช่าพักอยู่ในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีหอพัก บ้านเช่าเป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาด้านต่าง ๆ ภายในชุมชนและพื้นที่โดยรอบมากขึ้นในปัจจุบัน

เทศบาลนครสงขลา. แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนสวนพระนิเทศ เขตเทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/

เทศบาลนครสงขลา - Songkhla City. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/

เรื่องราวหาดใหญ่. (2562). สวนพระเทศ ชุมชนเก่าแก่เมืองสงขลา ใครพอจะจำได้บ้างนะ?. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 จาก https://www.hatyaifocus.com/ 

เทศบาลนครสงขลา โทร. 0-7431-1015