บ้านสันติสุข เป็นชุมชนกลางหุบเขาดอยผาจิ ที่รายล้อมด้วยภูเขา ลำห้วยน้อยใหญ่ (ตั้งตระหง่านเหนือระดับน้ำทะเล 1,458 เมตร เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดน่านกับจังหวัดพะเยา) โดยมี "ลำน้ำสาว" เป็นแม่น้ำสายสำคัญและยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและวิถีของชุมชน
บ้านสันติสุข เป็นชุมชนกลางหุบเขาดอยผาจิ ที่รายล้อมด้วยภูเขา ลำห้วยน้อยใหญ่ (ตั้งตระหง่านเหนือระดับน้ำทะเล 1,458 เมตร เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดน่านกับจังหวัดพะเยา) โดยมี "ลำน้ำสาว" เป็นแม่น้ำสายสำคัญและยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและวิถีของชุมชน
พ.ศ. 2495 โอนอำเภอปง เว้นตำบลสะเอียบและตำบลสวดจังหวัดน่าน ไปขึ้นกับจังหวัดเชียงราย (พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2495. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 77 เล่ม 69 : 1440-41. 30 ธันวาคม 2495)
พ.ศ. 2500 มีประชาชนอพยพย้ายมาจากบ้านสบบง ตำบลสบบง อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย และมากับเผ่าเย้าที่บ้านปง ทางดอยผาจิ ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดเชียงราย มีนายจงจอ แซ่ม้า และญาติพี่น้อง จำนวน 15 ครัวเรือน
พ.ศ. 2503 นายเยี้ยโก๊ะ แซ่ม้า ย้ายมาจากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย จำนวน 5 หลังคาเรือน มาอยู่ด้วยกันรวมเป็น 20 หลังคาเรือน สมัยนั้นชาวบ้านได้เรียกบ้านสันติสุขว่า “บ้านปงอาง” มีนายเยี่ยโก๊ะ แซ่ม้า เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านปงอาง และยังมีส่วนหนึ่งย้ายมาจากบ้านสบบงตามมาอยู่ด้วย
พ.ศ. 2510 โดยประมาณ ได้มีขบวนการทางการเมืองหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เข้ามาเคลื่อนไหวบริเวณบ้านปงอาง ปลุกระดมลัทธิคอมมิวนิสต์ในพื้นที่บริเวณบ้านผาจิ แนวแถบดอยผาจิ เมื่อทางเจ้าหน้าที่จังหวัดน่าน ทราบข่าวว่ามีขบวนทางการเมืองเข้ามาเคลื่อนไหวปลุกระดมประชาชน จึงส่งกำลังทหารเข้ามาปราบปรามทันที ทำให้ชาวบ้านปงอางอยู่ไม่ได้เนื่องจากภัยสงครามจึงได้หนีเข้าไปอาศัยอยู่ในป่า
พ.ศ. 2511 เดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านบ้านปงอาง บนดอยผาจิทั้งหมดจึงได้พร้อมใจกันเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาล ในช่วง 14 ปี ที่ชาวบ้านบนดอยผาจิอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อความสะดวกในการควบคุมและดูแลเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ได้จัดแบ่งชาวบ้านผาจิออกเป็น 3 หมู่บ้านดังนี้ 1.บ้านธงแดง 2.บ้านเอกราช 3.บ้านต่อสู้ แต่ละหมู่บ้านมีการตั้งทำงานรวมหมู่ในระบบสหกรณ์ โดยได้รับส่วนแบ่งตามแรงงาน ที่ได้ทำอย่างเท่าเทียมกัน อย่างเสมอภาค เพื่อความสะดวกในการควบคุมและดูแลพรรคให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่ประชาชน กับผู้ที่ปฏิบัติงานหรือหัวหน้าเขตปกครองดูแลให้หัวหน้าหมู่บ้านมีคณะกรรมการช่วยกันดูแลในแต่ละฝ่ายมีดังนี้
- กรรมการฝ่ายปกครอง
- กรรมการฝ่ายป้องกัน หัวหน้าทหารบ้าน
- กรรมการฝ่ายเศรษฐกิจ และสหกรณ์
- กรรมการฝ่ายอนามัย
- กรรมการฝ่ายสตรีและเยาวชน
ได้ช่วยกันลาดตระเวนรอบเขตปกครองไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามซึ่งคือฝ่ายรัฐบาล เข้ามาในเขต และในแต่ละหมู่บ้านยังจัดให้มีผู้ปฏิบัติงานมาให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ให้รู้จักและสามัคคีกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน เหมือนพี่เหมือนน้อง อยู่ครอบครัวเดียวกัน ยึดระเบียบวินัย เป็นที่เคารพของผู้ใหญ่และเด็ก
ต่อมาประชาชนบ้านผาจิได้ร่วมกับประชาชนผาช้างน้อยหรือบ้านฉลองกรุงตั้งขึ้นอีก 3 หมู่บ้านคือ 1.บ้านร่วมใจ 2.บ้านยืนหยัด 3.บ้านลูกไฟ ประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้านได้จัดตั้งเป็นสภาตำบลขึ้น ขึ้นมาเป็นเขตงาน ที่ 7 เรียกว่าเขต 7 เป็นสำนัก ดังนี้
- สำนัก 5 อ. คือ ถ้ำพบาลหรือก่ำหมอ
- ถ้ำสื่อสารเพื่อติดต่อภายในเมือง
- สำนัก 46 เป็นที่เก็บอาวุธปืน
- สำนัก 44 เป็นที่กองบัญชาการทหาร
- สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อออกวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2515 โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า หมู่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลควน อำเภอปง จังหวัดเชียงราย อยู่ใกล้และสะดวกในการติดต่อกับอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และท้องที่ตำบลยอด อำเภอปง จังหวัดเชียงราย อยู่ใกล้และสะดวกในการติดต่อกับเชียงกลาง จังหวัดน่าน (ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 137 เรื่องเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 89 ตอนที่ 70 ฉบับพิเศษ : 8-9. 2 พฤษภาคม 2515)
พ.ศ. 2516 ได้มีนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นับพันคนขึ้นมาอยู่ร่วมกันโดยอยู่อย่างเป็นพี่เป็นน้องกัน
พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา)
พ.ศ. 2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศนโยบายโดยมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นคำสั่งรัฐบาลไทยที่กำหนดนโยบายสำคัญ ในการต่อสู้กับการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ช่วงปลายสงครามเย็น คำสั่งดังกล่าวออกเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523 และลงนามโดยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ คำสั่งนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากท่าทีทหารสายแข็งที่ดำเนินมาแต่รัฐบาลฝ่ายขวาธานินทร์ กรัยวิเชียร (ครองอำนาจ 2519 ถึง 2520) มาสู่สายกลางมากขึ้นซึ่งให้ความสำคัญมาตรการทางการเมืองเหนือการปฏิบัติทางทหารอย่างเป็นทางการ คำสั่งนี้กำหนดให้มีการจัดการความอยุติธรรมทางสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและกระบวนการประชาธิปไตย มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเมื่อประกอบกับการเสื่อมลงของการสนับสนุนจากต่างชาติ นำไปสู่การเสื่อมลงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2525 โดยนโยบายของรัฐบาลตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 แผนยุทธการการเมืองนำการทหารมาโฆษณาให้ประชาชน เขตที่ 7 ประธานผาจิทั้งหมด ซึ่งเป้นกลุ่มชาติพันธ์ม้ง จึงพร้อมใจกันเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลที่ศูนย์กรุงเทพฯ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นระยะเวลา 8 เดือน ประชาชนที่เข้ามอบตัวถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง กองทัพภาค ที่ 3 ได้อพยพกลุ่มบ้านเล็ก ๆ ของชาวเขาเผ่าม้งมาอยู่ร่วมกันที่บ้านสันติสุข และจัดตั้งเป็นหมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยขึ้น ตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของกองทัพภาคที่ 3 และได้ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นป่าไม้ เพื่อดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงดอยยาว-ผาหม่น-ผาจิ โดยมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ (กรมป่าไม้, 2543 : 3-26-3-27)
พ.ศ. 2526 กองทัพภาคที่ 3 ก็ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข-ขุนกำลัง จังหวัดพะเยา (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) โดยเริ่มสร้างถนนจากบ้านผาจิ เข้าถึงบริเวณลำน้ำสาว และออกไปยังบ้านสบขุ่นและอีกสายหนึ่งจากบ้านปี้เหนือมาบรรจบที่ลำน้ำสาว และพัฒนาพื้นที่ลำน้ำสาวให้ชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัย เพื่อให้ทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านสันติสุข-ขุนกำลัง ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยาลดการขยายพื้นที่การแผ้วถางป่า และปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไร่มาเป็นการทำนาขั้นบันได เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างผสมผสานกลมกลืน โดยคนเป็นผู้พิทักษ์รักษาป่า และป่าให้ความร่มเย็น และเป็นแหล่งผลิตอาหารของคน
พ.ศ. 2527 ชาวบ้านเข้ามาตั้งหมู่บ้านในพื้นที่จัดสรรในบริเวณลำน้ำสาวตามโครงการพัฒนาความมั่นคง
พ.ศ. 2528 บ้านปงอางก็ตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นโดยใช้ชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านสันติสุข หมู่ที่ 7 ตำบลควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา โดยประกาศทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดเป็นหมู่บ้านโดยถูกต้องตามกฎหมายโดยชื่อว่า หมู่บ้านสันติสุข จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2534 ตั้งตำบลขุนควร ในเขตอำเภอปง จังหวัดพะเยา โดยโอนหมู่บ้านจากตำบลควร จำนวน 8 หมู่บ้าน บ้านสันติสุข หมู่ 17 ตำบลควร ได้โอนไปเป็นบ้านสันติสุข หมู่ที่ 7 ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2534 (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 118 ตอนที่ 169 : 9474-9479. 26 กันยายน 2534)
พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ตำบลขุนควรมี 9 หมู่บ้าน บ้านสันติสุข หมู่ 7 ตำบลขุนควร อำเภอปง (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 332-353. 12 ตุลาคม 2541)
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านขุนกำลัง หมู่ที่ 4 ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านปี้ อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านขุนกำลัง หมู่ที่ 4 ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา
บ้านสันติสุขเป็นหมู่บ้านที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อมรอบหมู่บ้านทางตะวันออก มีลักษณะภูเขาเป็นรูปผาช้างและผาวัวซึ่งในฤดูหนาวจะมีความสวยงามมาก เหมาะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และยังมีพื้นที่ติดต่อกับ จ.น่าน ซึ่งมีทางลูกรังสามารถข้ามไป จ.น่านได้ มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำสาวซึ่งกั้นเขตแดนระหว่าง จ.พะเยา และ จ.น่าน
จำนวนประชากรหมู่บ้านสันติสุข ชาย 801 คน หญิง 772 คน รวมประชากร 1,573 คน
ประชากรบ้านสันติสุข ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ม้ง ในอดีตมีการปกครองแบบสังคมนิยมผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้นำในชุมชนจะต้องเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนจะต้องเป็นคนที่มีความกล้าในด้านความสามารถมีความรู้และมีคุณธรรม จริยธรรม และ ศีลธรรมสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลคนในชุมชนได้ เป็นผู้ปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้เพื่อที่จะให้คนในชุมชนประพฤติปฏิบัติตามได้การพัฒนาสมัยก่อนทุกคนร่วมไม้ร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีการเคารพในกฎกติกาของชุมชนมีการนำเรื่อง ผีปู่ ย่า ตา ทวด มาเป็นเครื่องร้อยรัดบุคคลในชุมชนเอาไว้เพื่อให้เกิดความสามัคคี
ม้งผู้ใหญ่บ้านสันติสุข
- นายสันติ วรกิจพาณิชย์
- นายอิสระ วรกิจพาณิชย์
- นายชาญชัย อัศวะจินดาพล
- นายอิทธิพล วรกิจพาณิชย์ (ปัจจุบัน)
กลุ่ม/แกนนำที่แต่งตั้ง (จากประชาชน)
- กลุ่มแม่บ้าน สมาชิก 50 คน
- กลุ่มผู้สูงอายุ สมาชิก 20 คน
- กลุ่มเพาะเห็ด สมาชิก 15 คน
ประกอบอาชีพ
ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ มีการทำมาหากินแบบยังชีพทำกินทำใช้เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องหากมีมากเหลือกินเหลือใช้ก็จะทำการแลกเปลี่ยนภายในชุมชนมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ดินดำ น้ำชุ่ม ป่าเขียว เข้าป่าได้กินเห็ด ตกเบ็ดได้กินปลา ไปมาหาสู่กินสบายยามใดที่ล้มป่วยก็มียาสมุนไพรช่วยรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นมีมากมายซึ่งได้ถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน เมื่อถึงการณ์ปีใหม่หนุ่มสาวโยนลูกช่วงเพื่อหาเนื้อคู่ พ่อแม่ปู่ย่าตายายบรรพบุรุษผู้ล่วงลับโดยการจัดพิธีภายในบ้านของตนเองและกล่าวคำอวยพรปีใหม่งานที่ใหญ่ที่สุดของประเพณีม้งตลอดปีก็มีเพียงงานเดียวและงานนี้ก็จะยังคงสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน
ยังคงยึดถือวัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติกันมาโดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านภาษาซึ่งเป็นการสื่อสารให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย คนในหมู่บ้านก็ยังคงรักษาและใช้สื่อสารกันมา วัฒนธรรมที่คนในชุมชนยังสืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี นั้นก็คือ วัฒนธรรมการเล่นปีใหม่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ชัดที่สุดเป็นวัฒนธรรมที่มีความสวยงาม น่าพึงเก็บรักษา และสืบทอดต่อ ๆ ไป
อาชีพการทำลูกชิด หรือ ลูกต๋าว
ด้านศาสนาและการศึกษา
ศาสนา ชาวบ้านนับถือผี และศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่
บ้านสันติสุขเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล แต่การเรียนรู้ก็ถูกฝึกสอนมาจากบิดา มารดา ที่เคยร่ำเรียนมาและจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีความรู้มาจากกลุ่มผู้ปฏิวัติ
การศึกษา ระดับก่อนวัยเรียนเข้าเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสันติสุข ในระดับประถมศึกษาเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านสันติสุข ในระดับมัธยมศึกษาเข้าเรียนที่โรงเรียนขุนควรวิทยาคมและสถานศึกษาที่ใกล้เคียงเป็นบางส่วน สำหรับการศึกษาขั้นอุดมศึกษา ก็จะกระจายไปตามสถานศึกษาทั้งต่างจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงตามกำลังความสามารถของเด็กและผู้ปกครอง
ปราชญ์ชุมชนด้านวัฒนธรรม
1.นายทองพัน วรกิจพาณิชย์ พิธีงานแต่งงาน
2.นายท่อป้อ แซ่ว่าง เป่าในไม้
3.นายตง แซ่ว่าง สวดส่งวิญญาณ
4.นายน่อจื่อ อัศวจินดาพล ให้พร
5.นายน่อฟื่อ (สิริ) วรกิจพาณิชย์ ผู้จัดการงานศพ
6.นายสือ แซ่ม้า สวดงานศพ
- สถาบันองค์กรทางศาสนา จำนวน 1 โบสถ์
- ศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน จำนวน 1 แห่ง
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสันติสุข
- โรงเรียนบ้านสันติสุข
- การบริการพื้นฐาน
- การโทรคมนาคม โทรศัพท์เคลื่อนที่
- การไฟฟ้า มีไฟฟ้าใช้ครบทุกครัวเรือน
- แหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำสาว ต้นกำเนิดที่ดอยผาจิ ไหลลงจากดอยมารวมกันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำยม แม่น้ำสายหลักของประเทศ
- ฝ่ายกั้นน้ำตามลำแม่น้ำ จำนวน 1 แห่ง
สาธารณประโยชน์ในชุมชน
- ฝ่ายน้ำล้นในพื้นที่การเกษตร มีจำนวน 5 แห่ง
- ประปาในชุมชน มีจำนวน 1 แห่ง
- แหล่งน้ำธรรมชาติ มีจำนวน 1 แห่ง
- ท่อเหลี่ยม มีจำนวน 5 แห่ง
- ถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน มีจำนวน 1 สาย
- ถนนลุกรังดิน มีจำนวน 5 สาย
แหล่งท่องเที่ยว
ดอยผาจิมีระยะทางห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร ประมาณ 32 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มีความสูงชัน เมื่อขึ้นไปถึงยอดดอยจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดน่านได้อย่างชัดเจน ช่วงฤดูหนาวยามเช้าจะเห็นทะเลหมอก เมื่ออยู่บนยอดดอยตอนสายจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าได้อย่างสวยงาม ในปี พ.ศ. 2511-2525 ดอยผาจิเคยเป็นที่ตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีสถานที่หลายแห่งทางประวัติศาสตร์ เหมาะสำหรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์
น้ำตกรัชดามีระยะทางห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร ประมาณ 28 กิโลเมตร ในบริเวณน้ำตกมีป่าไม้ที่อุดุมสมบูรณ์ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
ภาษาจีน ภาษาไทยล้านนา ภาษาไทยกลาง
ประชากรบ้านสันติสุขยังคงยืดถือวัฒนธรรมดั่งเดิม ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ยังคงยืดถือปฏิบัติกันมาโดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านภาษาซึ่งเป็นการสื่อสารให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย คนในหมู่บ้านก็ยังคงรักษาและใช้สื่อสารกันมา วัฒนธรรมที่คนในชุมชนยังสืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี นั้นก็คือ วัฒนธรรมการเล่นปีใหม่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ชัดที่สุดเป็นวัฒนธรรมที่มีความสวยงาม น่าพึงเก็บรักษา และสืบทอดต่อ ๆ ไป
ความท้าทาย การรับวัฒนธรรมจากที่อื่นมาผสมกับวัฒนธรรมเก่าในวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่น วัฒนธรรมในด้านการเคารพผู้หลักผู้ใหญ่
บ้านสันติสุขเป็นหมู่บ้านที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา ล้อมรอบหมู่บ้านทางตะวันออกมีลักษณะภูเขาเป็นรูปผาช้างและผาวัวซึ่งในฤดูหนาวจะมีความสวยงามมาก เหมาะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเป็นอย่างมากและยังมีพื้นที่ติดต่อกับ จ.น่าน ซึ่งมีทางลูกรังสามารถข้ามไป จ.น่านได้มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำสาวซึ่งกั้นเขตแดนระหว่าง จ.พะเยา และ จ.น่านนั่นเอง
เป็นพื้นที่ภูเขาล้อมรอบลักษณะพื้นที่เป็นแอ่ง มีแม่น้ำไหลผ่านซึ่งเหมาะแก่การทำการเกษตร โดยเฉพาะการการทำนาและการปลูกพืชสวนผลไม้ คนในหมู่บ้านจึงนิยมการทำนาและการปลูกพืชสวนผลไม้แทบทุกหลังคาเรือน มีดินที่อุดมณ์สมบูรณ์ซึ่งเหมาะแก่การทำการเกษตร
ด้านศักยภาพ
บ้านสันติสุขแม้จะเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลแต่หมู่บ้านก็มีผู้นำที่มีวิสัยทัศย์ที่กว้างไกลสามารถพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีรู้จักตามลอยในหลวงใช้เศรษฐกิจแบบพอเพียง สร้างกลุ่มพลังมวลชนในหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาเมื่อบ้านต่อไป
ดอยผาช้าง
ดอยผาช้าง
องค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร. (ม.ป.ป.). บ้านสันติสุข หมู่ที่ 7. https://khunkhuan.go.th/
เชียงรายโฟกัส. (2565, 4 มกราคม). ผาช้าง ผาวัว อ.ปง จ.พะเยา. https://www.chiangraifocus.com/
ที่นี่เมืองป๋ง อำเภอปง จังหวัดพะเยา. Facebook https://www.facebook.com/
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (ม.ป.ป.). โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข-ขุนกำลังจังหวัดพะเยา. https://www.rdpb.go.th/
นักข่าวพลเมือง. (2559, 26 เมษายน). ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์การต่อสู้พรรคคอมมิวนิสต์ ที่ บ.สันติสุข อ.ปง จ.พะเยา. https://thecitizen.plus/
กระทรวงวัฒนธรรม. (2555, 28 กันยายน). ชื่อบ้านนามเมืองบ้านสันติสุขตำบลขุนควรอำเภอปงจังหวัดพะเยา. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม http://www.m-culture.in.th/
โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรพื้นที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุขและบ้านขุนกำลัง บ้านสันติสุขและบ้านขุนกำลัง ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา. http://ourkingthai.com/
พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 137 เรื่องเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 89 ตอนที่ 70 ฉบับพิเศษ : 8-9. 2 พฤษภาคม 2515
พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ.2495. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ตอนที่ 77 เล่ม 69 : 1440-41. 30 ธันวาคม 2495
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 118 ตอนที่ 169 : 9474-9479 . 26 กันยายน 2534
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 332-353. 12 ตุลาคม 2541