Advance search

บ้านดอน

แม่น้ำอิง ลำน้ำแม่ต๊ำ หมู่บ้านทอเสื่อกก

หมู่ที่ 2
บ้านต๊ำดอนมูล
บ้านต๊ำ
เมืองพะเยา
พะเยา
ขวัญเรือน สมคิด
12 ก.พ. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
18 มี.ค. 2024
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
19 มี.ค. 2024
บ้านต๊ำดอนมูล
บ้านดอน

คำว่า "ต๊ำ" มาจากชื่อแม่น้ำขุนต๊ำ ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ดอยหลวงพะเยา อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านต๊ำดอนมูลและจากอุปกรณ์สำหรับหาปลาของชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกว่า "ขะต๊ำ" คำว่า "ดอนมูล" มาจากมูลของสัตว์ที่กองทับถมกันมาจนสูงจากระดับปกติ สันนิษฐานว่ามาจากการเข้ากรรมรุกขมูลของพระสงฆ์ และมีต้นไม้ใหญ่ที่มีดินทับถมกันมากจนเป็นดอน รวมสองคำเรียกว่า "บ้านต๊ำดอนมูล"


แม่น้ำอิง ลำน้ำแม่ต๊ำ หมู่บ้านทอเสื่อกก

บ้านต๊ำดอนมูล
หมู่ที่ 2
บ้านต๊ำ
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.21661003
99.85354945
เทศบาลตำบลบ้านต๊ำ

เมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรภูกามยาว มีกษัตริย์ปกครองสืบสันตติวงศ์ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังคราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน ที่มีเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายคือพญางำเมือง จากที่เมืองพะเยาต้องสูญเสียอิสรภาพแก่ข้าศึก ทำให้สูญสิ้นราชวงศ์งำเมืองไปด้วยแว่นแคว้นพะเยาไม่สามารถตั้งตัวได้ ก็ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนา พะเยาก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในหุบเขา ในหุบเขาประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญจะมีการสร้างคูน้ำ คันดินหรือกำแพงล้อมรอบในเมืองพะเยามีชุมชนหรือคูน้ำ คันดินล้อมรอบที่เรียกว่า "เวียง" ทั้งหมด 11 แห่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงต่าง ๆ ทั้ง 11 แห่ง แบ่งออกได้ถึง 36 พันนาโดยมีชุมชนหลักที่เป็นศูนย์กลางการบริหารขอบเขตของแต่ละพันนา ก็มีลักษณะคล้ายกับตำบลในปัจจุบันโดยประกอบไปด้วยชุมชนระดับหมู่บ้านหลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน และใช้ระบบชลประทานเหมืองฝ่ายเดียวกัน โดยที่พันนาม่วง คือ บริเวณตำบลบ้านใหม่และบางส่วนของอำเภอแม่ใจในปัจจุบัน โดยที่พันนาม่วงมีลักษณะเป็นเวียงโบราณตั้งอยู่บริเวณชายขอบของที่ราบต่อกับเชิงเขาของดอยต่าง ๆ ที่รายรอบหุบเขาของเมืองพะเยาไว้ โดยห่างกันเป็นระยะตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวียงโบราณใกล้บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ (พระธรรมวิมลโมลี อัครดุษฎีบัณฑิตแห่งภูกามยาวรรค์ชัย บุนป่าน, 2552)

พ.ศ. 2101 เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ ดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาและความสำคัญของเมืองไป

พ.ศ. 2310 กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พ.ศ. 2330 พระเจ้าเมืองอังวะสั่งให้อะแซวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่นเมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองพะเยารวมเข้าด้วย เจ้านายและประชาชนตื่นตกใจต่างก็พากันอพยพครอบครัวหลบหนีข้าศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปาง ครอบครัวชาวเมืองเชียงราย ไปตั้งอยู่ที่ตรง 5 แยกเมืองลำปางเตี๋ยวนี้ ได้ร่วมกันสร้างวัดโดยถือเอาตามนามเมืองเดิมที่มาจากเชียงรายว่า "วัดเชียงราย" มาจนบัดนี้ ฝ่ายครอบครัวของชาวมืองปุมืองสาดที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านวัดเมืองศาสตร์ ส่วนชาวเมืองพะเยาได้อพยพไปตั้งหลักอยู่บ้านปงสนุกด้านใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำวัง คือ บ้านปงสนุก เมืองพะเยาในสมัยนั้นในบริเวณตัวเมืองรกร้างไปเป็นเวลานานถึง 56 ปี

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่าจากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา

พ.ศ. 2430 เริ่มมีชาวบ้านเข้าไปก่อตั้งหมู่บ้าน โดยมีท้าวแสนยศ ภายหลังได้นามสกุลพงษ์ยศ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ที่ได้พาชาวบ้านจำนวน 15 หลังคาเรือน อพยพมาจากบ้านห้วยลาน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา (ในปัจจุบัน) มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ริมน้ำแม่ต๊ำ ซึ่งในสมัยนั้นมีต้นมะค่าปลูกอยู่ริมน้ำแม่ต๊ำจำนวนมากจึงได้ตั้งชื่อว่า หมู่บ้านต้นค่า

พ.ศ. 2450 เริ่มก่อสร้างวัดต๊ำดอนมูล

พ.ศ. 2453 ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ และ จัดแบ่งการปกครองเป็น 10 อำเภอคือ อำเภอเมือง ๆ เชียงราย อำเภอเมืองเชียงแสน อำเภอเมืองฝาง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย อำเภอเมืองเชียงคำ อำเภอเมืองเชียงของ เหมือนอย่างหัวเมืองจัตวาชั้นในที่ขึ้นกรุงเทพมหานคร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ.129)

พ.ศ. 2457 ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนเสนาบดี ส่วนจังหวัดให้คงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดไว้ตามเดิน แต่ให้กระจายอำนาจการปกครองส่วนย่อย ๆ ออกไปเป็นตำบลหมู่บ้าน ตำแหน่งหัวหน้าตำบลเรียกว่า "เจ้าแคว่น" "แคว่น" (กำนัน) ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า "แก่บ้าน" (ผู้ใหญ่บ้าน) ที่นิยมเรียกกันว่า "พ่อหลวง" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงแต่งตั้งนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาและได้รับแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์เป็นรองอามาตย์โทยุนสิทธิประศาสน์ เป็นนายอำเภอคนแรกมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์จัดการศึกษา การอาชีพและบำรุงพุทธศาสนา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) แคว่น (กำนัน นามสกุล พรหมเผ่า เป็นนามสกุลที่พบมากที่สุดในบ้านใหม่โดยขอใช้นามสกุลของแคว่น (กำนัน) ซึ่งตอนนั้นอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย มี 21 ตำบล โดยประกอบไปด้วย ตำบลเวียง ตำบลแม่ต๊ำ ตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ ตำบลสันเวียงใหม่ ตำบลบ้านตุ่น ตำบลสาง ตำบลสันป่าม่วง ตำบลต๋อม ตำบลต๊ำ ตำบลสันกกก ตำบลแม่ปืม ตำบลจำป่าหวาย ตำบลใหม่ ตำบลน้ำย้อยหอยโข่ง ตำบลดงเจน ตำบลห้วยลาน ตำบลร่องจว่า ตำบลช้างหิน ตำบลถ้ำ ตำบลปิน (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2459 รัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองแก้ไขวิธีเดิม ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นลำดับให้รวมมณฑลเข้าเป็นภาค มีอุปราชกำกับราชการให้เปลี่ยนคำว่าเมือง ใช้เรียกว่า จังหวัด ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เมืองเชียงราย จึงเป็นจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองพะเยาขณะนั้น เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459)

ในปีเดียวกันได้เริ่มสร้างถนนจากลำปางเชื่อมต่อไปยังพะเยา-เชียงราย และไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย ทำให้ค้าขายระหว่างเมืองสะดวกมากขึ้น และปริมาณการค้าก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อการเดินทางสะดวกขึ้นทำให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในภาคกลางเริ่มอพยพมาค้าขายในภาคเหนือมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีบทบาททางการค้าแทนกลุ่มพ่อค้าเดิมพวกพม่า เงี้ยว จีนฮ่อ และแขก กลุ่มพวกพ่อค้าชาวพม่าและเงี้ยวในพะเยาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อชาวจีนจากลำปางได้อพยพเข้ามาค้าขายอยู่ในตัวเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2465 การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง ฝ่ายพุทธจักรเช่นกัน บ้านเมืองขยายไปถึงไหน วัดวาอารามการคณะสงฆ์ก็ไปถึงนั้นเช่นกัน อำเภอพะเยาในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล ตำบลต๊ำ มีนายหล้า และนายแก้ว นามบ้าน เป็นกำนัน มีหมู่บ้านต๊ำป่าลาน บ้านต๊ำดอนมูล บ้านต๊ำน้ำล้อม ต๊ำม่อน บ้านต๊ำฮ่องแฮ่ บ้านต๊ำลัวะ บ้านขุนต๊ำ (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2481 อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล โดยรวมตำบลบ้านต๋อม ตำบลสันนกกก ตำบลบ้านต๊ำ และหมู่บ้านที่ 11 ตำบลดงเจ็น แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลบ้านต๊ำ (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481)

และในปีเดียวกัน เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง เสียใหม่ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น อำเภอเมืองพะเยา เปลี่ยนเป็นอำเภอพะเยา (พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ. 2483 จากพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 พฤศจิกายน 2483 อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย แยกหมู่บ้านในตำบลบ้านต๊ำและตำบลบ้านตุ่น คือ แยกหมู่บ้านที่ 20, 21, 22, 23, 24, 25 ตำบลบ้านตุ่น และหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10 ตำบลบ้านต๊ำ ไปรวมจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ตั้งชื่อว่าตำบลบ้านต๋อม จัดเป็น 16 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773 – 8 . 12 พฤศจิกายน 2483) ในปีเดียวกันเริ่มก่อตั้งโรงเรียนบ้านต๊ำดอนมูล

พ.ศ. 2500 มีการระบาดของโรคห่า (อหิวาตกโรค) กับประชาชนในหมู่บ้านท่ากลอง รักษาโดยการใช้ใบตองรองนอนและการใช้ใบลูกยอต้มดื่ม ผู้เจ็บป่วยเดินทางโดยการใช้ล้อเกวียนไปโรงพยาบาลพะเยา

พ.ศ. 2501-2502 นายวรจันทร์ อินทกฤษณ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา เร่งรัดปรับปรุงถนนหนทาง

พ.ศ. 2508-2509 เริ่มมีรถจักรยานและรถจักรยานยนต์

พ.ศ. 2517 เริ่มมีรถยนต์คันแรกของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา)

พ.ศ. 2521 เริ่มมีไฟฟ้าและโทรทัศน์เครื่องแรก

พ.ศ. 2525 เริ่มมีรถอิแต๋นใช้ในชุมชนเพื่อใช้ในการขนส่งผลผลิตเกษตรกรรม

พ.ศ. 2528 เริ่มมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

พ.ศ. 2529 ตั้งตำบลท่าจำปี โดยแยกออกจากตำบลบ้านต๊ำ ในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยโอนจากหมู่บ้านที่ 16, 15, 14, 11, 10, 19, 12, 13, 18 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ตั้งเป็นตำบลท่าจำปี จำนวน 9 หมู่บ้าน (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 103 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 181 : 6-9. 17 ตุลาคม 2529) บ้านต๊ำดอนมูลยังคงเป็นหมู่ที่ 2 คงเดิม

พ.ศ. 2539 มีถนนเข้าหมู่บ้าน

พ.ศ. 2541 มีระบบน้ำโยกอาคารอเนกประสงค์

พ.ศ. 2543 มีน้ำประบ่าหมู่บ้านและรถไถนา

พ.ศ. 2546 มีอาคารอเนกประสงค์

พ.ศ. 2548 มีเสียงตามสายศาลา SML และมีโรคไข้เลือดออกระบาด

พ.ศ. 2552 มียุ้งฉางข้าวและศูนย์หัตถการเสื่อกก

รายชื่อผู้นำในหมู่บ้านตั้งแต่เริ่มต้นตั้งหมู่บ้านมา มีดังนี้

  1. ท้าวแสนยศ พงษ์ยศ พ.ศ. 2430 - 2445
  2. นายมูลดี อ้อยผาดวง พ.ศ. 2455 - 2455
  3. นายวงศ์เครื่อง หลักฐาน พ.ศ. 2455 - 2465
  4. นายใจวงศ์ เดินแปง พ.ศ. 2465 - 2475
  5. นายสาร อ้อยหอม พ.ศ. 2486 - 2499
  6. นายจันทร์ เหมี้ยงหอม พ.ศ. 2486 - 2499
  7. นายชื่น เกรียนคำ พ.ศ. 2499 - 2507
  8. นายกำจร เมี่ยงหอม พ.ศ. 2507 - 2509
  9. นายก้ำ เมี่ยงหอม พ.ศ. 2509 - 2547
  10. นายบรรจง อ้อยหอม พ.ศ. 2547 - 2562
  11. นายพักตร์กฤษณ์ชัย ถึงการ พ.ศ.2562 - ปัจจุบัน

บ้านต๊ำดอนมูล หมู่ 2 มีจำนวน 180 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว มีส่วนน้อยที่เป็นครอบครัวขยาย อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมีการพึ่งพาอาศัยกันเหมือนญาติมิตรกัน พื้นที่ของหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนและทางทิศตะวันตกจะเป็นพื้นที่ของท้องนาเป็นบริเวณกว้าง รอบล้อมด้วยภูเขา (สำรวจ โดยนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 23 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา)

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านร่องไผ่ หมู่ 10 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านท่าเรือ หมู่ 13 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านต๊ำป่าลาน ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

ปรกอบด้วยจำนวน 180 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว มีส่วนน้อยที่เป็นครอบครัวขยาย อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมีการพึ่งพาอาศัยกันเหมือนญาติมิตรกัน พื้นที่ของหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนและทางทิศตะวันตกจะเป็นพื้นที่ของท้องนาเป็นบริเวณกว้าง รอบล้อมด้วยภูเขา (สำรวจ โดยนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 23 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา)

การปกครองภายในหมู่บ้าน แบ่งการปกครองแบ่ง 6 คุ้ม ซึ่งแต่ละคุ้มจะดูแลครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 30 ครัวเรือนต่อ 1 คุ้ม และจะมีหัวหน้าคุ้มและคณะกรรมการคุ้มในการดูแลสมาชิก

องค์กรชุมชนในหมู่บ้าน

กลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน จำนวนกลุ่มกิจกรรม/อาชีพ 17 มีจำนวน กลุ่ม

  • กลุ่มทอเสื่อกก
  • กลุ่มผักตบชวา
  • กลุ่มปลาแคลเซี่ยม
  • กลุ่มเยาวชน
  • กลุ่มสตรีอาสาพัฒนา
  • กลุ่มผู้ใช้น้ำ
  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
  • กลุ่มอาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
  • กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน (อช.)
  • กลุ่ม ชรบ. สตม. อปพร.
  • กลุ่มกิจกรรม
  • กลุ่มพัฒนาสตรีประจำหมู่บ้าน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ

ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ในระดับปานกลาง นับถือศาสนาพุทธเกือบทั้งหมดทุกหลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร วิถีประจำวันจึงอิงอยู่กับพืชสวนไร่นา ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าว อาชีพอื่นนอกเกษตรกรรมได้แก่ การประมง รับจ้าง หัตถกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือนซึ่งมี 3 ประเภท คือ จักสานไม้ไผ่ การทอตุงและเสื่อกก การจักสานผักตบชวา รับราชการ ทำงานประจำบริษัทเอกชน ค้าขาย อีกทั้งยังมีกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มผักตบชวา กลุ่มปลาแคลเชียม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดต๊ำดอนมูล

ตั้งอยู่เลขที่ 2 หมู่ 2 ตำบลบ้านต๊ำดอนมูล อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินของวัด มีเนื้อที่ 3 ไร่ 52 ตารางวา โฉนดเลขที่ 16437 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 มีท่านพระครูบาปินตา เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวัด และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 15 มกราคม 2513 เขตวิสูงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80เมตร รวมประวัติการก่อตั้งหมู่บ้านมา 129 ปี

การบริหารและการปกครองวัดต๊ำดอนมูลมีเจ้าอาวาส จำนวน 12 รูป คือ

  1. พระครูบาปินตา พ.ศ. 2450-2460
  2. พระคำ พ.ศ. 2461-2471
  3. พระชุม พ.ศ. 2472-2475
  4. พระบุญตัน พ.ศ. 2476-2485
  5. พระน้อย พ.ศ. 2486-2490
  6. พระศรีตุ๊ พ.ศ. 2491-2494
  7. พระอินโต พ.ศ. 2495-2499 
  8. พระประทับ พ.ศ. 2500-2509
  9. พระสนั่น พ.ศ. 2510-2519
  10. พระอินจันทร์ พ.ศ. 2520-2520
  11. พระสุพจน์ สิริมงคลโล พ.ศ. 2524-2531
  12. พระครูวิจิตรวรการ พ.ศ. 2532 เจ้าคณะตำบลบ้านต๊ำเขต 2 

ภาษาพื้นเมืองล้านนา และภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พะเยาโพสต์ PhayaoPost. (2565). ขบวนแห่ครัวตานของคณะหนุ่มสาววัดต๊ำดอนมูล. https://www.facebook.com/PHAYAOPOST1/

พะเยาบ้านฉัน. (2564). ชาวบ้านตำบลบ้านต๊ำหาปลาในช่วงน้ำหลาก https://www.facebook.com/watch/

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน ร.ศ.129

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 33 : 51-53. 28 พฤษภาคม 2459

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481

พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658-81. 14 พฤศจิกายน 2481

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 : 2773-8. 12 พฤศจิกายน 2483

พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ.2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 103 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 181 : 6-9. 17 ตุลาคม 2529