เป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ และคนพื้นเมือง อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมีวัดดอยคำเป็นศูนย์รวมจิตใจ
เป็นชุมชนที่อยู่ลุ่มวัดดอยคำ อยู่ตรงด้านหลังวัด บริเวณตีนวัดดอยคำ
เป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ และคนพื้นเมือง อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมีวัดดอยคำเป็นศูนย์รวมจิตใจ
บ้านดอยคำ หมู่ที่ 13 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านชาวเขา เผ่ากะเหรี่ยงที่เรียกตนเองว่า "ปกาเกอะญอ" จากที่ได้ข้อมูลจากผู้รู้ คือ พระเจษฎา ปภัส.สโร พระวัดดอยคำ ซึ่งเป็นลูกหลานชาวกะเหรี่ยงบ้านดอยคำ ท่านเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านดอยคำ อพยพมาจาก บ้านปง ม.12 ตำบลทาขุมเงิน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เมื่อประมาณ 86 ปีมาแล้ว (ข้อมูลที่สอบถามปัจจุบัน พ.ศ. 2566) ซึ่งมีพื้นที่ติดกับบ้านดอยคำในขณะนี้แต่อยู่คนละฝั่งขอองลำน้ำแม่ขนาด สาเหตุของการอพยพมาเพราะหนีการตกขึด การตกขึดคือการที่บ้านเมืองมีอาเพศ ผิดผีเสื่อบ้าน ผีกะเหรี่ยง ในสมัยนั้นชาวบ้านปงแตกหนีออกไปทั้งหมูบ้าน โดยอพยพหนีไปอยู่ บ้านนาห้า บ้านเกาะทราย และบ้านดอยคำ โดยการสอบถามการอพยพย้ายมาของชาวบ้านปง(เดิม) ชาวบ้านปง(เดิม)ก่อนการหนีการตกขึดนั้น ชาวบ้านปงอพยพมาจาก แม่สามแพด อ.จอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่แพะดินแดง หรือ พระบาทก๊อปแก๊ปที่ชาวบ้านเรียกกันในปัจจุบัน ซึ่งตรงพระบาทก๊อปแก๊บเคยเป็นเมืองวัดร้างของลั๊วะมาก่อน และค่อยๆย้ายลงมาใกล้แหล่งน้ำติดกับลำน้ำแม่ขนาดที่ตั้งของบ้านปงในปัจจุบัน ครอบครัวแรกๆที่อพยพมา คือ พ่อหลวงบุญทา แม่หลวงบัวคำ ทาคำกาศ ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพระเจษฎา ปภัส.สโร
วัดดอยคำ ซึ่งเป็นวัดศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านหลายหมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่บ้านดอยคำนั้น มีมาก่อนจะมีการตั้งหมู่บ้านดอยคำ บ้านดอยคำจึงถูกเรียกชื่อตามวัดที่ชาวบ้านอพยพมาอาศัยอยู่บริเวณเชิงดอยวัดดอยคำ จึงเรียกชาวบ้านนี้ว่าผู้อาศัยอยู่ตีนดอยคำ
ลักษณะกายภาพทั่วไปของบ้านดอยคำเป็นหมู่บ้านที่อยู่บริเวณเชิงดอยของวัดดอยคำทางทิศตะวันตกของวัดดอยคำ มีลำน้ำแม่ขนาดผ่านด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ซึ่งผ่านพื้นที่ไร่นาของชาวบ้านดอยคำ
- ช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน น้ำในลําน้ำแม่ขนาดจะแห้งขอด
- ช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ลําน้ำแม่ขนาดจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร ทางธรรมชาติ ยังคงมีแหล่งอาหารตามธรรมชาติพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าบางชนิด ที่สามารถนํามาทําอาหารหรือ ใช้ประโยชน์ได้ เมื่อฝนมาในช่วงเดือนมิถุนายนชาวบ้านจะเริ่มทําเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกผักสวนครัว
ลักษณะภูมิอากาศและความเหมาะสมในการประกอบอาชีพ ลักษณะภูมิอากาศบ้านดอยคำ
สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ฤดู โดยแบ่งเป็น
- ฤดูหนาวเริ่มต้นตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุด ๑๔ องศาเซลเซียส
- ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุด ๔๐ องศาเซลเซียส
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม
คนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับภูมิอากาศ คือ ปลูกข้าว และทําสวนลําไย เป็นผลไม้ ที่สามารถผลิตได้ทั้งในฤดูและนอกฤดู ลําไยในฤดูจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว คือ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูฝน คือ เดือนกรกฎาคม ส่วนการผลิตนอกฤดูต้องใช้สารเคมีเพื่อกระตุ้นให้ลําไยออก ดอกและจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
ในขณะที่ข้าวจะเริ่มหว่านข้าวในช่วงเดือนมิถุนายน เนื่องจากมีข้อจํากัดเรื่องปริมาณน้าที่ไม่เพียงพอ จึงสามารถทํานาได้แค่ปีละครั้ง และจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม หลังจากนั้นจะพักดิน โดยเริ่ม ปลูกผักไว้รับประทาน เช่น มะเขือ ผักกาด หอมแดง กระเทียม เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยว ผู้หญิงก็จะทอผ้าโดยนิยม ทอถุงย่าม และเสื้อเพื่อเตรียมขาย ในเทศกาลประจําปี เช่น เทศกาลปีใหม่ งานฤดูหนาวจังหวัดลําพูน และงานปีใหม่เมือง ส่วนผู้ชายก็จะรับจ้างทั่วไปนอกหมู่บ้าน
การคมนาคม
การคมนาคมในหมู่บ้านส่วนมากเป็นถนนคอนกรีต คนในชุมชนนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง เข้า-ออกหมู่บ้าน บางส่วนที่ไปทํางานที่นิคมอุตสาหกรรม และไปโรงเรียนในจังหวัดลําพูน จะใช้บริการรถรับ-ส่ง และส่วนน้อยใช้รถยนต์ส่วนตัว
ที่ตั้ง
- ทิศเหนือติดกับบ้านปง
- ทิศใต้ติดกับบ้านกาศ
- ทิศตะวันออกติดกับแม่ขนาด
- ทิศตะวันตกติดกับบ้านนาห้า
ลักษณะทางภูมิประเทศ
เป็นพื้นที่สูงมีภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำแม่ขนาดไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนลำไย และที่นา
บ้านดอยคำ มีจำนวน 110 ครัวเรือน แยกเป็น ประชากร ชาย 154 คน หญิง 150 คน (ข้อมูลจากที่ว่าการอำเภอแม่ทา, 2565) ลักษณะครอบครัวและเครือญาติ ครอบครัวชาวกะเหรี่ยงโพล่งเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อสามี หรือภรรยาเสียชีวิต การแต่งงานใหม่จะไม่ค่อยปรากฏ ในการเลือกคู่ครองฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายเลือกฝ่ายชายก่อน เมื่อแต่งงานจะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านใหม่ แต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องมาอยู่บ้านพ่อแม่ของภรรยา หนึ่งฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้น ปลูกบ้านใหม่ใกล้บ้านพ่อแม่ฝ่ายภรรยา หากเป็นลูกสาวคนเล็กจะต้องอยู่ดูแลพ่อกับแม่ การตั้งบ้านเรือน ของญาติพี่น้องจึงอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ส่วนใหญ่คนในชุมชนนามสกุลเดียวกัน เนื่องจากในอดีตการออกไปแต่งงาน กับคนนอกหมู่บ้านไม่เป็นที่นิยมนัก ในบ้านดอยคำ มักจะมีนามสกุลที่มากมายหลายนามสกุลเป็นคนกลุ่มหลายกลุ่มมารวมอยู่ด้วยกันเป็นหมู่บ้านที่มีการอพยพและการไหลกับคนเมือง(คนพื้นเมืองท้องถิ่น) ประเพณีหรือ งานบุญหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน พบว่ามีความเกื้อกูลกันและมีส่วนร่วมในกิจกรรม การไปเยี่ยมเยือนผู้ป่วย ที่ป่วยหนักและนอนค้างคืนเพื่อให้กําลังใจแก่ญาติผู้ป่วยเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ ยังมีการลงแขกในฤดูเก็บเกี่ยวนา ที่เรียกว่า “เอามื้อ” ส่วนการจ้างแรงงานจากภายนอกเข้ามาในหมู่บ้านมีน้อยมาก คนส่วนมากในหมู่บ้านยังทํางาน ที่บ้านหรือเลือกที่จะทํางานใกล้บ้านเพื่อได้กลับมานอนที่บ้าน
ปกาเกอะญอ, โพล่งจากการลงสำรวจข้อมูลชุมชนพบว่าชาวบ้านดอยคำ ประชากรในชุมชนที่อาศัยอยู่ เป็นการรับจ้างภายนอก เช่นการออกไปทำงานยังโรงงานอุตสาหกรรม และรับจ้างทั่วไป รับจ้างเลี้ยงวัว เพราะโดยพื้นที่แล้วการคมนาคมที่สะดวกและติดกับบ้านคนพื้นเมือง จึงทำให้การรวมกลุ่มอาชีพในชุมชนยังน้อยมาก กลุ่มที่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มในขณะนี้ เป็นกลุ่มที่เกิดจาก กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มชาวพุทธ เป็นการรวมตัวกันในงานบุญ งานกิจกรรมของชุมชนเป็นส่วนใหญ่
นางจันทร์ ฟยี (ลุงจันทร์งูเห่า)
เกิดวันที่ 1 กรกฎาคม 2481
อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 13 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
ภูมิปัญญาด้านการเป่าคาถาใส่ผิวใส่แผล ให้หายเจ็บป่วย ฉายาลุงจันทร์งูเห่ามาจาก เมื่อตอนหนุ่มโดนงูเห่ากัดนิ้วแต่ไม่ตาย เพราะไปให้พ่อเลี้ยงสิงห์แก้วเป่าให้ แล้วหายจากอาการเจ็บ ตนจึงขอร่ำเรียนศึกษาวิชาความรู้การเป่า จากพ่อเลี้ยงสิงห์แก้ว ในเวลาต่อมา
ทุนของชุมชนบ้านดอยคำ ตามที่ได้จากการประชุมเพื่อวิเคราะห์ทุนชุมชน สามารถสรุปและจัดกลุ่ม ประเภทของทุนชุมชน เป็นหัวข้อต่างๆ ได้ดังนี้
1. ทุนกายภาพ ได้แก่ แม่น้ำแม่ขนาด ป่าชุมชนบ้านดอยคำ และโรงเรียนบ้านดอยคำ
2. ทุนเครือญาติ ได้แก่ ผู้อาวุโสในชุมชนบ้านดอยคำ
3. ทุนความรู้ ได้แก่ ภูมิปัญญาการเป่ารักษา
4. ทุนการเมือง ได้แก่ กฎหมายหรือนโยบายรัฐบาลคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตของชาวไทย กลุ่มชาติพันธุ์ คือ มติคณะรัฐมนตรี ๓ สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง กฎหมายรัฐธรรมนูญ และ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
6. ทุนศาสนา ได้แก่ วัดดอยคำ พิธีกรรมความเชื่อ เช่น งานบุญประเพณีท้องถิ่น การแห่ครัวตาน
ชุมชนดอยคำ เดิมเป็นชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมของคนเมืองไหลมาสู่ชุมชน ทำให้ในชุมชน มีทั้งคนกะเหรี่ยงที่ยังพูดภาษากะเหรี่ยงผสมคำเมือง และมีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่สามารถพูดสื่อสารภาษากะเหรี่ยงได้
ชุมชนบ้านดอยคำเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากการร่วมตัวของคนหลายชุมชน รวมกันเป็นชุมชน และชุมชนติดกับชุมชนคนเมืองและคนยอง..สถานการณ์ความเป็นชุมชนที่แหล่งความรู้ภูมิปัญญาจึงค่อนข้างอ่อนแอ ขาดผู้รู้ผู้นำทางจิตวิญญาณความเป็นชนเผ่ามีคนภายนอกมาอาศัยในชุมชนเป็นแรงงานภายนอกความสัมพันธ์จึงมีความเปราะบางอย่างมาก กิจกรรมเชิงภูมิปัญญาและภูมิศาสตร์เป็นชุมชนทางผ่านและง่ายต่อการเข้ามาของคนภายนอก ชุมชนบ้านดอยคำ มีวัดดอยคำเป็นศูนย์กลางใจ
วัดทาดอยคำ ตั้งอยู่ที่บ้านดอยคำ ปัจจุบัน ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อาณาเขต ทิศเหนือจดถนนสาธารณะ ทิศใต้จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกจดถนสาธารณะ ทิศตะวันตกจดถนนสาธารณะ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย วิหาร กุฏิสงฆ์ และศาลบำเพ็ญกุศล ปูชนียวัตถุมี พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปต่าง ๆ และเจดีย์
วัดทาดอยคำ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2455 ตามประวัติได้กล่าวไว้ว่า ในสมัยพระนางเจ้าจามเทวีครองเมืองลำพูนได้ให้เสนาติดตามจับเก้งคำตัวหนึ่ง ซึ่งได้วิ่งหนีขึ้นมาทางเขาลูกนี้ เมื่อเสนาเข้ามาใกล้เก้งคำก็หายไปบนเขา พระนางเจ้าจามเทวีจึงให้สร้างเจดีย์ครอบไว้ เดิมเรียกว่า พระธาตุดอยคำ ต่อมาได้มีพระภิกษุธุดงค์มาพักแรมอยู่ จึงได้สร้างเป็นวัดขึ้น เรียกว่าวัดทาดอยคำ
การบริหารการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ
รูปที่ 1 พระพรหมปัญญา พ.ศ. 2410 - 2432
รูปที่ 2 พระเมทา พ.ศ. 2433 - 2465
รูปที่ 3 พระขัติย์ พ.ศ. 2466 - 2483
รูปที่ 4 พระพรหม พรมมาโร พ.ศ. 2484 - 2512
รูปที่ 5 พระสิงห์ชัย ปญฺญาสาโร พ.ศ. 2513 - 2540
รูปที่ 6 พระครูวิสิฐธรรมาวุธ พ.ศ. 2541– 2556
รูปที่ 7 พระครูบรรพตขันตยานุยุต พ.ศ. 2556 - ปัจจุบัน
- ที่ว่าการอำเภอแม่ทา
- กศน.อำเภอแม่ทา
- กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงดอยยาว
- แผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่ขนาด ตำบลทากาศ อำเภอ แม่ทา จังหวัดลำพูน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 - 2570)
- พระเจษฎา ปภัส.สโร,วัดทาดอยคำ