Advance search

บ้านป่ากล้วยพัฒนา

บ้านป่ากล้วย

หมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณสันเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยต่อเนื่องจากดอยอินทนนท์ เป็นแหล่งต้นกำเนิดแม่น้ำทิม อยู่หมู่บ้านในความดูแลของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯ ที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับชุมชน

แม่สอย
จอมทอง
เชียงใหม่
วิไลวรรณ เดชดอนบม
3 ก.พ. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
14 ก.พ. 2023
บ้านป่ากล้วยพัฒนา
บ้านป่ากล้วย


หมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณสันเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยต่อเนื่องจากดอยอินทนนท์ เป็นแหล่งต้นกำเนิดแม่น้ำทิม อยู่หมู่บ้านในความดูแลของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯ ที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับชุมชน

แม่สอย
จอมทอง
เชียงใหม่
50240
ชุมชนบ้านป่ากล้วยพัฒนา โทร. 06-3483- 9470
18.346738
98.571610

บ้านป่ากล้วย ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนถิ่นฐานของชาวม้ง โดยตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาวม้งเป็นกลุ่มชนที่ชาวจีนรู้จักมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ก่อนยุคฮั่น ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหุบเขาลุ่มแม่น้ำเหลืองมานานกว่า 3,000 ปี สำหรับถิ่นกำเนิดของชาวม้งนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของชาวม้งสามแนวคิด โดยแนวคิดแรกสันนิษฐานว่าบรรพบุรุษชาวม้งอพยพมาจากดินแดนขั้วโลกเหนือ ก่อนอพยพเข้ามาทางตอนเหนือของจีนสู่ดินแดนมองโกเลีย แล้วเดินทางต่อลงมาทางตอนใต้ของจีนเข้าสู่ดินแดนปัจจุบันที่เป็นรอยต่อของจีน เวียดนาม ลาว ไทย และพม่า แนวคิดที่สองคล้ายกับแนวคิดแรกแต่ได้รับอิทธิพลมาจากตำนานของลาวกับจีน ที่กล่าวถึงความสอดคล้องของชื่อ “สินชัย” ของลาวกับ “Xeem Xais” ของม้ง และคำว่า “ชาวม้ง” (Hmoob/ Moob) กับ “มองโกเลีย” (Muam Nkauj Liag) และความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างชาวม้งกับชาวลาว และมองโกเลีย รวมถึงการเกิดระบบตัวเขียนพ่าเฮ่าในประเทศลาวก่อนสิ้นสุดยุคสงครามเวียดนาม แนวคิดสุดท้ายเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวม้งในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เชื่อว่าบรรพบุรุษชาว   ม้งอพยพมาจากชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีน หรือบริเวณทะเลเหลือง แล้วเคลื่อนย้ายแหล่งทำมาหากินมาตามลำน้ำฮวงโหเข้าสู่ภาคกลางของจีน แล้วมุ่งหน้าลงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้าสู่แถบชายแดนจีน ไทย ลาว เวียดนาม และพม่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวม้งในปัจจุบัน ทั้งนี้มีหลักฐานทาวัฒนธรรมของชาวม้งที่เกี่ยวโยงกับทะเลและแม่น้ำเหลือง เช่น ลายผ้ารูปก้นหอย เส้นตัดขวางสองเส้นบนลายกระโปรงของหญิงชาวม้งจั๊วะซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำเหลือง และแม่น้ำแยงซีเกียง อีกทั้งยังปรากฏภาษิตกับตำนานของม้งที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเหลือง เป็นต้น

ปัจจุบันชาวม้งได้กระจายตัวอยู่ทั่วทุกทวีปของโลก สืบเนื่องมาจากสาเหตุของสงครามความขัดแย้งกับชนเผ่าอื่น หรือการบีบบังคับทางการเมืองการปกครอง ชาวม้งต้องทำการอพยพย้ายถิ่นฐานดำเนินชีวิตอย่างอิสระ ทั้งวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ และพร้อมต่อสู้เพื่อเสรีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ชาวม้งพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรกับคู่สงครามที่ให้ข้อสัญญาว่าจะให้อิสระเสรีในการดำรงชีวิตและการทำมาหากิน ในประเทศลาวชาวม้งเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทีมซีไอเอของสหรัฐอเมริกาทำการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสงครามอินโดจีน ส่วนในประเทศไทย ชาวม้งได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ทำสงครามกับรัฐบาลไทย

การอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งเข้าสู่ไทยแบ่งออกเป็นเป็น 2 ระลอกใหญ่ ครั้งแรกเกิดขึ้นราว พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) และ พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) เมื่อไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ลาวและฝรั่งเศส ชาวม้งในขณะนั้นซึ่งมีวิถีการดำรงชีวิตอยู่ในป่าแถบภูเขาเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศ ไม่ได้รับการศึกษา และไม่มีการติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอก บรรพบุรุษชาวม้งขณะนั้นจึงไม่อาจรู้ได้ว่าตนเองได้ข้ามเส้นแบ่งพรมแดนของรัฐชาติของประเทศใด แต่ใช้ชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนด การอพยพเข้าสู่ไทยระลอกที่ 2 เป็นการอพยพครั้งใหญ่ของชาวม้งเข้าสู่ไทย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำสงครามต่อสู้กับฝ่ายต่าง ๆ ของชาวม้ง ทำให้เกิดการอพยพหนีภัยจากความพ่ายแพ้ของสงคราม ซึ่งการแพ้สงครามอินโดจีนในปี พ.ศ. 2518 ส่งผลให้ชาวม้งในลาวทะลักเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก

ชาวม้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อพยพเข้ามาผ่านทางประเทศลาว โดยสร้างบ้านเรือนกระจายอยู่หลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันตก เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ตาก เป็นต้น ในจังหวัดเชียงใหม่ ชาวม้งกระจายตัวสร้างบ้านเรือนอยู่หลายอำเภอ เช่น อำเภอเชียงดาวบนภูเขาในตำบลเมืองคอน ตำบลเมืองนะ ตำบลเมืองแหง ไม่ห่างจากหมู่บ้านชาวลีซอ และชาวมูเซอ ชาวม้งในอำเภอเชียงดาวเข้ามาอยู่ในนิคมกรมประชาสงเคราะห์ ณ ดอยผาปู่จอง, อำเภอแม่แตงในตำบลป่าแป๋, อำเภอสะเมิงในตำบลบ้านแก้ว, อำเภอหางดงบนดอยปุย, อำเภอออมก๋อย, อำเภอฮอด, และอำเภอจอมทองในพื้นที่ดอยอินทนนท์หรือดอยอ่างกา

ชุมชนบ้านป่ากล้วย ตำบลแม่สอย เป็นหนึ่งชุมชนในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรากฏเป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ชาวม้งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชุมชนป่ากล้วยราวปี พ.ศ. 2517 โดยอพยพมาจากบ้านห้วยมะนาว ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง เนื่องจากสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานภายนอก   

สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

ชุมชนบ้านป่ากล้วยตั้งอยู่บริเวณสันเขา เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยต่อเนื่องจากดอยอินทนนท์ บริเวณนี้เป็นแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่ทิม ลำห้วยสาขาของลำน้ำแม่ป๊อก ซึ่งจะไหลลงไปรวมกันที่ลำน้ำแม่สอย ก่อนไหลลงไปบรรจบกับลำน้ำแม่ปิง สำหรับน้ำที่ชาวบ้านป่ากล้วยใช้อุปโภคบริโภคนั้นได้จากระบบน้ำประปาภูเขาที่ต่อมาจากหมู่บ้านอื่น ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน แต่น้ำสำหรับทำการเกษตรที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นไม่เพียงพอ ดินในบริเวณหมู่บ้านมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย สภาพภูมิอากาศชุมชนบ้านป่ากล้วยแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม) ฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-เดือนมกราคม) และฤดูร้อน (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน)

ชุมชนบ้านป่ากล้วยเป็นที่ตั้งโครงการพัฒนาที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย กินพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวง พืชพรรณธรรมชาติบริเวณบ้านป่ากล้วยมีลักษณะเป็นป่าดิบเขา เป็นป่าที่มีเรือนยอดเบียดกันหนาแน่น มีเศษไม้ ใบไม้ ปกคลุมผิวดิน สภาพพืชพรรณในพื้นที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ในชุมชนมีการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อกำจัดวัชพืชที่อยู่ในพื้นที่ทางการเกษตร อีกทั้งยังประสบกับปัญหาไฟป่า โครงการพัฒนาที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วยจึงได้มีนโยบายส่งเสริมการอนุรักษ์ฟื้นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมด้วย เช่น การปลูกป่าชาวบ้าน การปลูกหญ้าแฝก การทำฝาย การทำแนวกันไฟ ลดการใช้สารเคมี จัดทำแผนที่ดินรายแปลงและปรับระบบการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม ทว่าชาวบ้านในชุมชนไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากที่ตั้งชุมชนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทอง และเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวง

การใช้ที่ดิน

ในอดีตชุมชนบ้านป่ากล้วยมีการใช้พื้นที่สำหรับปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก ภายหลังรัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามปลูกฝิ่นซึ่งส่งผลกระทบให้ฝิ่นที่นับได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบ้านในขณะนั้นกลายเป็นพืชสารเสพติดผิดกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลไทยร่วมกับองค์การสหประชาชาติจึงได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพปลูกพืชทดแทนฝิ่น มีการลดพื้นที่ทำกิน และปล่อยฟื้นฟูเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ชาวบ้านมีแนวคิดทำแนวคันดินป้องกันหน้าดินพังทลายในพื้นที่ทำกิน ในปี พ.ศ. 2537-2538 เกิดวิกฤตการณ์น้ำในลำน้ำแม่สอยเริ่มแห้ง ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ชาวบ้านป่ากล้วยจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ โดยเปลี่ยนจากการปลูกกะหล่ำปลีมาเป็นไม้เมืองหนาว เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย พร้อมไปกับการปลูกไม้ยืนต้น เช่น บ๊วย ท้อ สาลี่ ฯลฯ แซมในแปลงกะหล่ำปลี ทำให้สามารถลดพื้นที่ทำกินบริเวณต่าง ๆ ได้มากกว่าร้อยละ 50 จากพื้นที่ทำกินทั้งหมด ปัจจุบันชาวม้งบ้านป่ากล้วยมีที่ดินทำกินโดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 5.7 ไร่ นอกจากนี้ชาวบ้านป่ากล้วยยังมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เช่น การจัดกิจกรรมบวชป่า ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่าที่ต้องการอนุรักษ์และฟื้นฟูจำนวน 5,000 ไร่ 

สถานที่สำคัญ

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านป่ากล้วย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทอง และอุทยานแห่งชาติออบหลวง ดำเนินงานพัฒนาการเกษตรเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ พัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวม้งบ้านป่ากล้วย ลดพื้นที่การปลูกฝิ่น รวมถึงดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้และที่ดินทางการเกษตรของชุมชน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยนำความรู้จากมูลนิธิโครงการหลวงมาประยุกต์ใช้ 

โรงเรียนบ้านป่ากล้วยพัฒนา หรือโรงเรียนบ้านป่ากล้วย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยที่ดินที่ใช้สร้างโรงเรียนได้รับบริจาคจากนายสมชิต และนางน้อย นันทเขตต์ เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

การคมนาคม

การคมนาคมขนส่งในหมู่บ้านป่ากล้วยมีลักษณะเป็นถนนคอนกรีตสลับลูกรัง ส่วนถนนภายนอกหมู่บ้านยังเป็นถนนลูกรัง

ประชากร

บ้านป่ากล้วยมีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 151 ครัวเรือน จำนวน 944 คน โดยประชากรในหมู่บ้านเป็นชาวไทยภูเขาจากกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง

ระบบความสัมพันธ์เครือญาติ

ระบบเครือญาติของชาวม้งมักจะยึดถือลำดับญาติตามสายเลือด โดยมีลักษณะเป็นแบบ “ปิตาโลหิต” คือการให้ความสำคัญกับฝ่ายชายเป็นหลัก มีสิทธิและหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกันฉันญาติ ให้ความเคารพนับถือญาติผู้ชายที่มีความอาวุโสหรือผู้ที่มีฐานะทางสังคมสูง การนับความสัมพันธ์เครือญาติของชาวม้งจะมีขอบเขตไปถึงห้าชั่วรุ่นอายุคน คือ นับตั้งแต่รุ่นลูก พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ทวด และพ่อแม่ของทวด ซึ่งผู้ชายจะสืบแซ่สกุลของพ่อ ส่วนผู้หญิงจะเปลี่ยนไปใช้แซ่สกุลของสามีภายหลังแต่งงาน นอกจากความผูกพันทางสายเลือดแล้ว การนับเครือญาติของชาวม้งยังมีความผูกพันกันทางวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อมาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือในกลุ่มญาติจะมีสัญลักษณ์ที่เป็นความเชื่อเหมือนกัน สัญลักษณ์นี้มักจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชาวม้งเรียกว่า “Totem” เป็นการรวมกลุ่มญาติเพื่อให้กลุ่มคนที่มีความเชื่อเดียวกันเกิดความผูกพันกันด้วยความรู้สึกและเกิดมโนทัศน์ว่า พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขจากบรรพบุรุษเดียวกัน สำหรับความสัมพันธ์เครือญาติที่สืบทอดกันผ่านระบบวัฒนธรรมความเชื่อนั้น เป็นลักษณะของอัตลักษณ์ทางเครือญาติที่ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้นำทางเครือญาติ และผู้นำทางพิธีกรรม แล้วมีการสืบทอดส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น 

เศรษฐกิจ

ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านป่ากล้วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี มันฝรั่ง พลับ อะโวคาโด องุ่น กาแฟ ดอกเยอบีร่า สเตติส ดอกผีเสื้อ ดอกกระดาษ แต่เนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้ในการทำเกษตรอย่างถูกวิธี ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ อีกทั้งยังมีภาวะหนี้สิน มีการใช้สารกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมีจำนวนมาก ส่งผลให้เกษตรกรบ้านป่ากล้วยประสบกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ การถูกจำกัดพื้นที่ทำกิน รวมถึงปัญหาการสะสมของโรค แมลง และการดื้ยาของแมลง

ภายหลังจัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ได้มีการดำเนินงานพัฒนา และส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรชาวม้งชุมชนบ้านป่ากล้วย เพื่อให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยพัฒนาจากการปลูกพืชเดิมของชาวบ้าน ได้แก่ กะหล่ำปลี และผักกาดขาวปลี ให้มีการปลูกพืชชนิดใหม่ ๆ เช่น พืชผักทั้งในและนอกโรงเรือน ไม้ผลที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้แก่ องุ่น อะโวคาโด เบอร์รี และเคปกู๊ด ปัจจุบันชาวม้งบ้านป่ากล้วยมีรายได้ครัวเรือนจากการทำเกษตรกรรมเฉลี่ย 40,000 บาท/ ครัวเรือน/ ปี

นอกจากการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนแล้ว ยังประกอบอาชีพเสริมอื่น ๆ เช่น รับจ้าง ค้าขาย และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนิยมเลี้ยงไก่และสุกรพันธุ์พื้นเมืองสำหรับบริโภคในครัวเรือน และใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

กลุ่มชุมชน

ชุมชนบ้านป่าากล้วยมีการรวมกลุ่มของเกษตรกรภายในชุมชนตามกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ กลุ่มทอผ้า กลุ่มกองทุนข้าวสาร กลุ่มกองทุนปลูกผัก กลุ่มกองทุนปลูกไม้ผล กลุ่มกองทุนผู้เลี้ยงสัตว์ กลุ่มกองทุนผู้ปลูกกาแฟ และกลุ่มกองทุนผู้ปลูกไม้ดอก 

ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาหลักที่ชาวม้งในชุมชนบ้านป่ากล้วยส่วนใหญ่นับถือ โดยมีคริสตจักรป่ากล้วยเป็นศาสนสถานศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรมและกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ทั้งนี้ชาวม้งในชุมชนยังคงมีวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนความเชื่อเก่าแก่ของชาติพันธุ์ มีการนับถือดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งชาวบ้านในชุมชนจะมีการประกอบพิธีกรรมการเซ่นไหว้สังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อเหล่านั้นเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีประเพณีพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวม้ง เช่น ประเพณีแต่งงาน ชาวม้งจะนิยมแต่งงานช่วงอายุ 15-18 ปี เมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายชาย ตามวัฒนธรรมของชาวม้ง ชายชาวม้งสามารถมีภรรยาได้มากกว่า 1 คน โดยจะเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านของสามี แต่ชาวม้งมีข้อห้ามว่าจะไม่แต่งงานกับคนแซ่สกุลเดียวกัน เพราะถือว่าเป็นพี่น้องกัน ประเพณีฉลองปีใหม่ หรือน่อเป๊โจ่ว แปลว่า กินสามสิบ เนื่องจากจัดขึ้นราวพฤศจิกายนถึงธันวาคม โดยถือเอาวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยชาวม้งจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่เข้าร่วมฉลองร้องทำเพลง

ปฏิทินการปลูกพืช

  • มกราคม = กะหล่ำปลี, ผักกาดขาวปลี, พลับดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ
  • กุมภาพันธ์ = พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ
  • มีนาคม = พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ
  • เมษายน = ข้าวโพด, พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ
  • พฤษภาคม = ข้าวโพด, มันฝรั่ง, พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ, ดอกสเตติส
  • มิถุนายน = กะหล่ำปลี, ข้าวโพด, ผักกาดขาวปลี, มันฝรั่ง, พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ
  • กรกฎาคม = กะหล่ำปลี, ผักกาดขาวปลี, ข้าวโพด, มันฝรั่ง, พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ
  • สิงหาคม = กะหล่ำปลี, ผักกาดขาวปลี, มันฝรั่ง, พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ
  • กันยายน = กะหล่ำปลี, ผักกาดขาวปลี, พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ
  • ตุลาคม = กะหล่ำปลี, ผักกาดขาวปลี, พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ
  • พฤศจิกายน = กะหล่ำปลี, ผักกาดขาวปลี, พลับ, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ, ดอกสเตติส
  • ธันวาคม = กะหล่ำปลี, ผักกาดขาวปลี, พลับ, ดอกสเตติส, ดอกเยอบีรา, ดอกกุหลาบ

ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรพื้นบ้าน : นายเปา แซ่ยะ

ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญการตีมีด : นายโต้ง แซ่ยะ, นายจ่อ แซ่วะ, นายเจี๊ยะ เจริญกุลพิพัฒน์ 

ทุนเศรษฐกิจ

ชาวม้งชุมชนบ้านป่ากล้วยมีแหล่งเงินทุนกู้ยืมเพื่อการการเกษตร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. เป็นหน่วยงานให้สินเชื่อแก่ชาวบ้านป่ากล้วย 

ภาษาพูด : ภาษาม้ง

ภาษาเขียน : ชาวม้งไม่มีภาษาเขียน แต่มีการยืมอักษรโรมันมาใช้เทียบแทนการออกเสียง

ปัจจุบันชาวม้งเริ่มเข้าถึงการศึกษา โดยการศึกษาของชาวม้งในชุมชนบ้านป่ากล้วยมีตั้งแต่จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จนถึงระดับอุดมศึกษา ชาวม้งกลุ่มนี้สามารถพูดและเขียนภาษาไทยเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อกับคนนอกชุมชน และหน่วยงานราชการ  


ในปี พ.ศ. 2528 เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งขึ้นในชุมชนบ้านป่ากล้วย จากการที่มีพระสงฆ์บางรูปรับเงินสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนในต่างประเทศเข้าไปปลูกป่าทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยอ้างว่าเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่ที่ซึ่งชาวม้งถือว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณนี้ ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ชาวม้งชุมชนบ้านป่ากล้วยเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับความเป็นธรรม นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทำกินของชาวม้งกลับคืนมาในที่สุด 


ปัจจุบันเกษตรกรบ้านป่ากล้วยกำลังประสบกับปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ไม่มีตลาดรองรับผลผลิต ไม่มีแหล่งรวบรวมผลผลิต ตลอดจนถูกจำกัดพื้นที่ทำกิน มีการสะสมของโรคที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการดื้อยาของแมลง อันเนื่องมาจากการที่ชาวบ้านขาดความรู้ในการทำการเกษตรอย่างถูกวิธี อีกทั้งยังประสบกับภาวะหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนด้านการเกษตร ซึ่งเกษตรกรกรในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยเงินทุนจากแหล่งเงินกู้นอกระบบมากที่มีดอกเบี้ยค่อนข้างสูงกว่าการกู้ยืมสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ 


หมู่บ้านป่ากล้วยมีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือน โดยต่อเข้ามาจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค


ชุมชนบ้านป่ากล้วยไม่มีสนานีอนามัย ชาวบ้านต้องเดินทางไปใช้บริการสาธารณสุขในอำเภอจอมทอง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังน้ำหยาด และโรงพยาบาลจอมทอง


แม้ว่าที่ตั้งของชุมชนบ้านป่ากล้วยจะอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำในเขตดอยอินทนนท์ ซึ่งบริเวณนี้เป็นแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่ทิม ทว่าบ้านป่ากล้วยยังคงประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่สันเขา ปริมาณน้ำที่ต่อเข้ามาใช้ในชุมชนไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เนื่องจากในชุมชนไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำที่มีประสิทธิภาพในการกระจายอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังประสบกับปัญหาคุณภาพดินเสื่อมโทรม อันเนื่องมาจากการการใช้สารเคมีในปริมาณมาก กอปรกับพื้นที่มีความลาดชันสูง ซึ่งส่งผลให้หน้าดินเกิดการพังทลาย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เกศินี ศรีรัตน์. (2554). บทบาทผ้าปักต่อวิถีชีวิตชาวม้งบ้านหนองหอย ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (รายงานการวิจัย). มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (2562). โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.hrdi.or.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566].

สิทธิเดช วงศ์ปรัชญา. (2550). ชนกลุ่มน้อยชาวไทยภูเขากับความมั่นคงของชาติ: กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ม้ง. ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อำนาจ พุทฺธวํโส. (2559). การศึกษาเปรียบเทียบระบบความสัมพันธ์ในเครือญาติกลุ่มชาติพันธุ์ม้งกับกลุ่มสังฆะในพระพุทธศาสนา. วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา, 7(1), 86-87.