Advance search

บ้านน้ำเกี๋ยน

น้ำเกวียน, เตียน, ลำน้ำเคี่ยน

น้ำเกี๋ยน เป็นชุมชนเก่าแก่ มีอายุราว 190 ปี มีลำห้วยน้ำเกี๋ยนไหลผ่าน เสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมานานความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่ยังคงพึ่งพาอาศัยกัน เป็นสังคมเครือญาติ แม้จะแยกออกเป็น 5 หมู่บ้าน ด้วยความเป็นเครือญาติ ความสัมพันธ์คนตำบลน้ำเกี๋ยน จึงยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่น ก่อให้เกิดความร่วมมือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

น้ำเกี๋ยน
ภูเพียง
น่าน
สุพิชญา สุขเสมอ
21 เม.ย. 2023
สุพิชญา สุขเสมอ
21 เม.ย. 2023
บ้านน้ำเกี๋ยน
น้ำเกวียน, เตียน, ลำน้ำเคี่ยน

คำว่า “น้ำเกี๋ยน”  เกิดจากการเกิดขึ้นของชุมชน ณ บริเวณบ้านน้ำเกี๋ยนปัจจุบัน โดยกลุ่มคนที่อยู่กระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ ได้มารวมกันตั้งเป็นชุมชนริมลำห้วย จนเป็นที่มาของน้ำเกี๋ยน โดยสรุปมีตำนานเกี่ยวกับที่มาของชื่อ บ้านน้ำเกี๋ยน ดังนี้

ตำนานที่ 1 ในชุมชนแห่งนี้มีแม่น้ำสายสำคัญอยู่สายหนึ่งไหลผ่านหมู่บ้านและไหลลงสู่แม่น้ำน่านมีความยาวประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร ใกล้ ๆ ลำน้ำสายนี้อยู่ใกล้ที่ตั้งของวัดและหลุมคำ (หลุมทองคำ) ทางเจ้าผู้ครองนครน่านได้เกณฑ์ข้าทาสบริวารมาขุดทองคำที่หลุมแห่งนี้ เพื่อนำไปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุแช่แห้ง โดยใช้เกวียนเป็นพาหนะบรรทุกไป ชาวบ้านจึงเรียกชื่อลำน้ำสายนี้ว่า "น้ำเกวียน" ต่อมาเพี้ยนเป็น "น้ำเกี๋ยน" คนในชุมชนก็ถือเอาชื่อของลำน้ำเป็นชื่อหมู่บ้านนั่นเอง

ตำนานที่ 2 เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "เตียน" หลักฐานจากพงศาวดารของวัดพระธาตุแช่แห้งเขียนไว้ว่า วัดพระธาตุแช่แห้งตั้งอยู่บนสองฝั่งลำน้ำ คือ ลำนำลิง และลำน้ำเตียน คำว่า "เตียน" ในภาษาล้านนา แปลว่า น้ำที่ไหลเสมอกัน ด้วยวันเวลาผ่านมาอาจเพี้ยน เป็นคำว่า "เกียน" เนื่องจากเป็นภาษาล้านนา การเขียนใช้พยัญชนะคล้ายกันระหว่าง ตัว กะ กับ ตัว ตะ

ตำนานที่ 3 ข้อสันนิษฐานว่า ลำน้ำเกี๋ยนในอดีต ชื่อว่า "ลำน้ำเคี่ยน" คำว่า "เคี่ยน" เป็นภาษาล้านนา หมายถึง การทำไม้ การกลึงไม้ ซึ่งอาจหมายถึงการตั้งชื่อลำน้ำ หรือลำห้วย จากการที่คนส่วนหนึ่งมาเคี่ยนไม้อยู่ริมลำห้วย จึงเรียกว่า ลำน้ำเคี่ยน วันเวลาผ่านไป จึงเพี้ยนเป็น "น้ำเกี๋ยน"

ตำนานที่ 4 จากหลักฐานที่พบอักษรจารึกไว้ที่ ฐานพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย ของวัดโป่งคำมีจารึกไว้ว่า พระพุทธรูปนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2400 ถวายวัดปูตองร่องน้ำเกี๋ยน จึงสันนิษฐานว่า คำว่า "น้ำเกี๋ยน" เป็นคำที่ใช้เรียกลำห้วยตั้งแต่โบราณมา


น้ำเกี๋ยน เป็นชุมชนเก่าแก่ มีอายุราว 190 ปี มีลำห้วยน้ำเกี๋ยนไหลผ่าน เสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมานานความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่ยังคงพึ่งพาอาศัยกัน เป็นสังคมเครือญาติ แม้จะแยกออกเป็น 5 หมู่บ้าน ด้วยความเป็นเครือญาติ ความสัมพันธ์คนตำบลน้ำเกี๋ยน จึงยึดโยงกันอย่างเหนียวแน่น ก่อให้เกิดความร่วมมือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

น้ำเกี๋ยน
ภูเพียง
น่าน
55000
วิสาหกิจชุมชน โทร. 0-5471-9420, อบต.น้ำเกี้ยน โทร. 0-5471-9417
18.732564
100.825323
องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเกี๋ยน

ประวัติการตั้งถิ่นฐาน

ยุควัดทุ่งจะแล ช่วงปี พ.ศ. 2365 – 2400

มีตำนานกล่าวว่า มีหงส์ตัวหนึ่งได้คาบแผ่นทองคำ บินผ่านหน้าหมู่บ้าน ขณะนั้นมีกลุ่มชาวบ้านหลายคนวิ่งตามหงษ์ไป เมื่อถึงบริเวณทุ่งแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน หงษ์ตัวนั้นได้แลตามองชาวบ้านที่วิ่งไล่ และอันตรธานหายลับตาไป ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเกิดปาฏิหารย์ขึ้น จึงได้ร่วมกันสร้างเจดีย์ไว้บริเวณนั้น เรียกบริเวณนั้นว่า ทุ่งจะแลหรือทุ่งตาแล

ยุควัดโป่งคำ ช่วงปี พ.ศ. 2401 – 2457

บ้านน้ำเกี๋ยน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งมานานพอสมควร ประมาณปี พ.ศ. 2365 โดยมีเจ้าสุมนเทวราชเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดน่าน ซึ่งห่างจากเทศบาลเมืองน่าน กว่า 8 กิโลเมตร ตามประวัติและคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ ผู้เฒ่าผู้แก่ กล่าวว่า เริ่มก่อตั้งชุมชนราวปี พ.ศ. 2400 ชนดั้งเดิมของบ้านน้ำเกี๋ยนมาจากกลุ่มบุคคล 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 เป็นบุคคลที่มาจากบ้านพญาภู บ้านหนองเต่า บ้านแสงดาว บ้านท่าล้อ บ้านร้องตอง บ้านศรีบุญเรืองและบ้านม่วงตึ๊ด ได้อพยพกันมาทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ บุคคลกลุ่มนี้ได้มาตั้งถิ่นฐานเพียงไม่กี่ครอบครัว พอนานเข้าก็ขยายเพิ่มมากขึ้นมีการพัฒนาและสร้างหลักฐานที่มั่นคง ได้สร้างอารามขึ้นเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา ตอนแรกเริ่มได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นหรือวัดใกล้เคียงมาประกอบพิธีทางศาสนา

กลุ่มที่ 2 เป็นบุคคลที่เป็นข้าทาสบริวารของเจ้านาย เจ้ามหาชีวิต เจ้าเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านในสมัยนั้นส่งมาเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า วัว ควาย ที่บ้านป่านอกเมือง ประกอบกับบุคคลกลุ่มนี้เป็นโรคเรื้อน (ขี้ทูด) อยู่ร่วมกับสังคมหมู่มากไม่ได้ เป็นที่น่ารังเกียจของบุคคลทั่วไป บุคคลกลุ่มนี้มาตั้งถิ่นฐานที่ทิศตะวันออกของบ้านหมู่ที่ 3 ในปัจจุบันบริเวณลุ่มอ่างเก็บน้ำ น้ำเกี๋ยน ในอดีตมีเจ้านาย เจ้าราชวงศ์ เจ้าเทพเกสร ได้มาสร้างนาอยู่ ชื่อ นาเจ้าหลวง บ้านคนจะอาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ วัดทุ่งจะแลและดงขี้ทูดได้สร้างอารามสำหรับประกอบพิธีทางศาสนาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 บุคคลทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว ได้ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรมีการทอผ้าเพื่อใช้เองและคนในชุมชนจะไม่ค่อยเดินทางออกจากหมู่บ้าน จึงมักจะแต่งงานในกลุ่มเครือญาติหรือในหมู่บ้านด้วยกันเอง จึงทำให้มีนามสกุลส่วนใหญ่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดี" มีความเป็นเครือญาติสูงไม่ค่อยมีคนนอกพื้นที่มาอยู่มากนัก ต่อมาเมื่อมีการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มชุมชนจึงได้ยุบอารามมาสร้างเป็นวัด โดยเกิดจากตำนานที่ว่า มีหงษ์ตัวหนึ่งได้คาบแผ่นทองคำผ่านหน้าหมู่บ้าน ขณะนั้นมีกลุ่มชาวบ้านหลายคนวิ่งตามหงษ์และพอถึงบริเวณทุ่งแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน หงษ์ตัวนั้นแลตามองชาวบ้านที่วิ่งไล่ และหงษ์ตัวนั้นก็หายลับตาไป ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเกิดปาฏิหารย์ขึ้น จึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นมาใหม่ใช้ชื่อวัดว่า "วัดโป่งคำ" มีครูบาก๋าวิชัยเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ได้สร้างวิหารหลวงขึ้นในปี พ.ศ.2430

ยุคตำบลน้ำแก่น ช่วงปี  พ.ศ. 2458 – 2533

ก่อนที่จะเป็นตำบลน้ำเกี๋ยน เดิมอยู่ในเขตการปกครองของตำบลน้ำแก่น อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน มี 5 หมู่บ้าน ดังนี้

  1. บ้านน้ำเกี๋ยนใต้ หมู่ที่ 3
  2. บ้านน้ำเกี๋ยนเหนือ หมู่ที่ 6
  3. บ้านต้นกอก หมู่ที่ 9
  4. บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 10
  5. บ้านใหม่สันติสุข หมู่ที่ 12

ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน 2533 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้มีการเปลี่ยนแปลงเขตตำบลใหม่จากบ้านน้ำเกี๋ยนเป็นตำบลน้ำเกี๋ยน โดยมีเขตการปกครอง 5 หมู่บ้าน คือ

  1. บ้านหมู่ที่ 1 บ้านน้ำเกี่ยนใต้ โอนจากบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลน้ำแก่น เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของตำบลตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2365 อาชีพของคนในชุมชน คือ อาชีพเกษตรกรรม มีแม่น้ำสายสำคัญ คือลำน้ำเกี่ยน คนในชุมชนประสบปัญหา การว่างงาน, ปัญหายาเสพติด, ไม่มีที่ดินทำกิน, ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูร้อนและปัญหาขยะ
  2. บ้านหมู่ที่ 2 บ้านน้ำเกี๋ยนเหนือ โอนจากบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลน้ำแก่น เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของตำบลน้ำเกี๋ยนตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2365 ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านน้ำเกี๋ยนและตลาดสดของหมู่บ้าน
  3. บ้านหมู่ที่ 3 บ้านต้นกอก โอนจากบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลน้ำแก่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำพระราชดำริน้ำเกี๋ยน มีอาชีพเกษตรกรรม นับถือศาสนาพุทธและบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์
  4. บ้านหมู่ที่ 4 บ้านใหม่พัฒนา โอนจากบ้านหมู่ที่ 10 ตำบลน้ำแก่น เป็นที่ตั้งของวัดโป่งคำ เป็นที่ตั้งของสถานีอนามัยตำบลน้ำเกี๋ยน และเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเกี๋ยน
  5. บ้านหมู่ที่ 5 บ้านใหม่สันติสุข โอนจากบ้านหมู่ที่ 12 ตำบลน้ำแก่น เป็นที่ตั้งของโบสถ์ คริสเตียน "กันธาทิพย์" คนในชุมชนประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ เนื่องจากอยู่ที่สูง นับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์

ยุคแตกแยกทางความคิด ช่วงปี พ.ศ. 2520 - 2534

การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนอ่อนแอ เพราะว่าชุมชนไม่มีโอกาสได้ดูแลตนเอง ทุกอย่างรัฐเข้าไปดูแลให้หมด ตั้งแต่การจัดการด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม อาชีพ ฯลฯ จึงทำให้ชุมชนกลายเป็นฝ่ายรับบริการจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว จากสภาพความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของชาวบ้านตำบลน้ำเกี๋ยน ในช่วงปี พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2534 วิกฤติและความเสื่อมถอยของศีลธรรมหลายประการ อาทิเช่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างงานและมั่วสุม เล่นการพนัน ติดยาเสพติด ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การตัดไม้ทำลายป่า ขายที่ดินทำกิน บุกรุกทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ อพยพไปขายแรงงานต่างถิ่น เด็กขาดการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ ทำให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนและถูกให้ออกจากโรงเรียน ในวัยแรงงานมีการนำยาเสพติดมาใช้กันอย่างแพร่หลาย จนขยายวงกว้างเข้าสู่กลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ยังมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เป็นผลกระทบมาจากปัญหาดังกล่าวอีกหลายประการ ในขณะที่การแก้ไขปัญหาในขณะนั้นยังอยู่ในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ ปัญหาจึงยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยครูและผู้นำศาสนาที่ดำเนินกิจกรรมพัฒนาได้รับผลกระทบจากกลุ่มอิทธิพลที่สูญเสียผลประโยชน์และได้รับความกดดันให้ออกจากพื้นที่

ยุคแห่งความร่วมมือ ช่วงปี พ.ศ. 2535 - ปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัยน้ำเกี๋ยนในขณะนั้น ได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาและเกรงว่าจะขยายผล เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมามากกว่านี้ จึงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนวความคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ต่อคณะกรรมการสภาตำบล ชุมชน พระ ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมดำเนินงาน ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2534 ถึงปี พ.ศ.2536 จึงเกิดรูปแบบการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน และสถานีอนามัยขึ้น ภายใต้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น ได้แก่ หน่วยงานด้านปกครองและพัฒนาชุมชน เกษตรตำบล สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองน่านผู้แทนกระทรวงเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง กระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนจะเน้นรูปแบบ "พระนำหน้า ชาวประชาตามหลัง" โดยจัดทำโครงการธรรมน้ำใจต้านภัยยาเสพติด เป็นโครงการหลักในการพัฒนาชุมชน ผลที่ได้จากการพัฒนา คือ ก่อให้เกิดหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนา ได้แก่ บ้าน น้ำเกี๋ยนใต้ ซึ่งมีแนวคิดว่า ปัญหาอุปสรรคและความขัดแย้งต่าง ๆ เราสามารถหาหนทางแก้ไขได้ไม่ว่าในระยะสั้นหรือระยะยาวการแก้ไขปัญหาของชุมซนที่ดีที่สุด คือ การให้ชุมชนแก้ไขปัญหาของตนเอง โดยรัฐจะเป็นผู้ให้คำแนะนำสนับสนุนเพราะในชุมชนมีศักยภาพของตนเองอาจจะแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันในชุมชนจะมีพลัง ถ้ารู้จักใช้สิ่งเหล่านี้มาแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนก็จะประสบผลสำเร็จ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ความเป็นญาติเอื้ออำนวยให้เกิดความช่วยเหลือกัน ระหว่างสมาชิกในสังคมในโอกาสที่มีความจำเป็น หรือมีความสำคัญ เช่น การแต่งงาน งานศพ รวมไปถึงการช่วยเหลือแลกเปลี่ยนในกลุ่มเครือญาติ จากการที่เมื่อคู่แต่งงานแยกมาตั้งบ้านเรือนของตนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเป็นกลุ่มเครือญาติพี่น้องซึ่งสืบสายเลือดทางฝ่ายหญิง ในกลุ่มเครือญาตินี้จะมีการนับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายมารดาร่วมกัน ตามลักษณะการสืบเชื้อสายฝ่ายมารดา มีพิธีกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ การรักษาความเจ็บไข้ของกลุ่มเครือญาติ ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 2,710 คน 804 ครอบครัว หรือ 716 หลังคาเรือน เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่อยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ สังเกตได้จากนามสกุลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งพบว่ามีนามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย "ดี" ที่มีทั้งหมด 27 "ดี" ได้แก่ ดีกัลลา ดีคำ ดีคำวงค์ ดีค่ายคำ ดีดวงแก้ว ดีน้อย ดีบุญมา ดีปานา ตีปาละ ดีปินตา ดีพรมกุล ดีพิชัย ดีมูลมั่ง ดีวงศ์ ดีวุฒิ ดีสม ดีสีใส ดีสุหล้า ดีสุยา ดีน้อย ดีหล้า ดีอำภา ดีอินต๊ะ ดีอิ่นคำ ดีอุด ดีตันนา และดีแก้ว และยังมีนามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย "เกี๋ยน" ได้แก่ เกี๋ยนคำ เกี๋ยนยะ เกี๋ยนเรือน เกี๋ยนสืบ เป็นต้น นามสกุลที่มีจำนวนคนมากที่สุดคือ ดีปีนตา ซึ่งเป็นตระกูลที่อาศัยอยู่ในตำบลน้ำเกี๋ยนมานานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชน และจากการสืบค้นพบว่าชุมชนตำบลน้ำเกี๋ยนเริ่มมีการใช้นามสกุลเมื่อปี พ.ศ. 2457

ชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยนมี พิพิธภัณฑ์ชุมชน 200 ปี วิถีน้ำเกี๋ยน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากความต้องการของชุมชนที่จะสงวนรักษาและอนุรักษ์ เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่นผ่านเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่นำความเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็ง ตำบลน้ำเกี๋ยน โดยคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ชุมชน ได้เริ่มต้นกระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชน ในปี พ.ศ. 2554 ได้จัดสรรงบประมาณสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และบอกเล่าวิถีชีวิตคนน้ำเกี๋ยน โดยจัดแสดงเป็นนิทรรศการประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และ ศาสนา มีการจำลองเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งเรื่องราวที่จัดแสดงเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้รากเหง้าประวัติศาสตร์ของชุมชนตนเองแล้ว ยังได้เรียนรู้ว่า พิพิธภัณฑ์มิใช่เป็นเพียงสถานที่เก็บรักษาข้าวของเก่าเท่านั้น แต่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและมีคุณค่าอย่างยิ่ง หากคนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์อันจะก่อให้เกิดความรักความภาคภูมิใจในตนเอง และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนนำไปสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน ยังมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน ซึ่งเกิดจากหมู่บ้านน้ำเกี๋ยนเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อในเรื่องการนำเอาสมุนไพรในท้องถิ่น อาทิ ใบหมี่ มะเฟือง อัญชัญ มะกรูด มะขาม ขมิ้นชัน มาแปรรูปด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น จนได้เป็นเครื่องสำอางสมุนไพรคุณภาพนานาชนิด ภายใต้แบรนด์ “ชีวาร์” และ “ชีวาน่า” สามารถผลิตและส่งสินค้าออกสู่ตลาดได้ และถูกใจผู้บริโภค ภายในกลุ่มวิสาหกิจมีแหล่งเรียนรู้มากมาย ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น 

การนับถือศาสนา

ด้านศาสนา ประซากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางขุมชน ตำบลน้ำเกี่ยนมีวัด 1 แห่ง ได้แก่ วัดโป่งคำ มีคริสตจักร 1 แห่ง คือคริสจักรกัณฑาทิพย์กิตติคุณ

ประเพณีและงานประจำปี

  1. งานประเพณีสงกรานต์
  2. งานประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง)
  3. งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนกายภาพ

น้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำสำคัญที่ให้คนในชุมได้ใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภค คือ ลำห้วยน้ำเกี๋ยน และลำห้วยน้ำสาขาอื่น ๆ ส่วนแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น คือ อ่างเก็บน้ำ คลองชลประทาน ฝาย บ่อน้ำตื้น สระน้ำขุดเอง บ่อน้ำประปาหมู่บ้าน เป็นต้น

ป่าไม้ ตำบลน้ำเกี๋ยนมีเนื้อที่ป่า 24,156.69 ไร่ หรือร้อยละ 44.74 ของพื้นที่ตำบล โดยเป็นพื้นที่เขตป่าไม้ตามกฎหมายหรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่าง ๆ และการดำรงชีวิต หรือมาจากเพื่อนบ้าน เช่น การตีเหล็ก หมอฟื้นบ้านและการใช้สมุนไพรรักษาโรค การอ่านและเขียนภาษาล้านนา การสู่ขวัญ การเล่นเครื่องตนตรีพื้นบ้าน และบริเวณชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยนมีการพบวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ มีดังนี้

  1. เสียมตุ่น หรือ ขวานหิน เป็นเครื่องมือมนุษย์ในยุคหิน
  2. พระพุทธรูปไม้โบราณ
  3. มณฑป เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขอฝน
  4. ปั๊ปสา ทำจากกระดาษสา ใช้เขียนบันทึกเรื่องราว ตำราส่งแถน ตำราดูดวง ทำนายฝัน งานมงคลต่าง ๆ ตำราพรมชาติ
  5. เบ้ายาโง๊ก เป็นเบ้ายาของทวดของพ่อสวัสดิ์ ซางนา ชื่อว่าคำลอง คนบ้านแช่แห้งซึ่งได้มาจากเมืองและ (ตำบลและอำเภอปัวในปัจจุบัน) มีอายุราว 100 กว่าปี
  6. ศิลาจารึกประวัติศาสตร์การสร้างวัดโป่งคำ
  7. ธรรมมาสส์เอก วัดโป่งคำ

ภาษาถิ่น ใช้ภาษาเหนือ (ภาษาเมือง) ในการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่


ป่าชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยนเหนือ

ตำบลบ้านน้ำเกี๋ยนนอกจากจะพิพิธภัณฑ์ชุมชน 200 ปี วิถีน้ำเกี๋ยน ให้คนในชุมชนรวมถึงคนภายนอกได้รู้จักและเรียนรู้ความเป็นมาของชุมชนแล้ว ชุมชนก็มีวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยนที่มีการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพืชสมุนไพร ชุมชนมีการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และร่วมทำกิจกรรม เช่น สปา แปลงสมุนไพร (herb in the garden) ชมการผลิตและแปรรูปสมุนไพร รวมทั้งท่องเที่ยวในชุมชน นักท่องเที่ยวสามารถปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตชุมชน และสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปห้าดาว เพื่อนำไปเป็นของใช้และของที่ระลึกได้อีกด้วย

คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ชุมชนน้ำเกี๋ยน. (2556). โครงการประวัติศาสตร์เรื่องราวชาวน้ำเกี๋ยน สู่...พิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 21 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/

องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน. (2562). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561 - พ.ศ.2565). ใน การสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ประกาศใช้แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561 - พ.ศ.2565). (น. 11-12). ค้นคืนเมื่อ 21 เมษายน 2566 , จาก http://www.namkainlocal.com/index2.html.

อีสานร้อยแปด. (ม.ป.ป.). วิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน. ค้นคืนเมื่อ 21 เมษายน 2566 , จาก https://esan108.com/place/

พิพิธภัณฑ์ชุมชนตำบลน้ำเกี๋ยน. (2563). ค้นคืนเมื่อ 21 เมษายน 2566 , จาก https://www.facebook.com/namkiencommunitymuseum/