วัดป่าตึง วัดที่หลวงปู่หล้าเคยเป็นเจ้าอาวาส จนกระทั่งท่านละสังขารในปี พ.ศ. 2536 หลวงปู่หล้าท่านได้รับสมญานามจากศรัทธาญาติโยมว่ามีญาณวิเศษที่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ข้างหน้าได้ จนชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า “หลวงปู่หล้าตาทิพย์”
บริเวณหมู่บ้านป่าตึง ในอดีตเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยต้นไม้ชื่อ “ไม้ตึง” ชาวบ้านได้แผ้วถางบริเวณป่าตึง เพื่อปลูกพืชผักสวนครัว และได้สร้างบ้านเรือน พร้อมกับตั้งชื่อหมู่บ้าน “บ้านป่าตึง” ตามชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาษาพื้นเมืองชื่อ “ไม้ตึง”
วัดป่าตึง วัดที่หลวงปู่หล้าเคยเป็นเจ้าอาวาส จนกระทั่งท่านละสังขารในปี พ.ศ. 2536 หลวงปู่หล้าท่านได้รับสมญานามจากศรัทธาญาติโยมว่ามีญาณวิเศษที่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ข้างหน้าได้ จนชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า “หลวงปู่หล้าตาทิพย์”
จากการศึกษาประวัติของหมู่บ้านป่าตึง จากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน คือ นายสมศักดิ์ วงศ์แก้วแปง และผู้อาวุโสภายในหมู่บ้านป่าตึง ได้ทราบประวัติความเป็นมาดังนี้
เดิมหมู่บ้านป่าตึง มีชื่อว่า “บ้านป่าตึงห้วยหม้อ” หรือ ที่คนเรียกกันติดปากว่า ห้วยหม้อ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ติดภูเขาหรือลำห้วยที่เต็มไปด้วยเศษเครื่องปั้นดินเผา เช่น หม้อ ไห ถ้วย ชาม แจกัน อื่น ๆ และเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ถือว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพราะในพื้นที่หมู่บ้านพบซากปรักหักพังของเจดีย์ภายในวัดร้าง มีเตาเผา และเศษเครื่องถ้วยดินเผากระจัดกระจายอยู่ในบริเวณพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณวัดป่าตึงในปัจจุบัน ซึ่งอดีตพื้นที่นี้เป็นป่ารกและหนาทึบ จากการบอกเล่าของพ่อหลวงศรีนวล อินตายวง ผู้เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และปัจจุบันเป็นประธานผู้สูงอายุอำเภอสันกำแพง ท่านได้ให้ประวัติการก่อตั้งชุมชนบ้านป่าตึงว่า ผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้เป็นครอบครัวแรก คือ ครอบครัวของพ่อหนานคำ แม่หลวงนวล ซึ่งอพยพมาจากบ้านทุ่งเหล่า ทั้งนี้ไม่สามารถระบุปี พ.ศ. ที่อพยพเข้ามาได้ บ้านทุ่งเหล่าที่พ่อหนานคำและครอบครัวอพยพมานั้น ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านร้าง อยู่บริเวณด้านทิศใต้ของวัดเชียงแสน และอยู่บริเวณเขตห้วยโป่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชุมชนของบ้านป่าตึงในปัจจุบัน สาเหตุของการอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากทุ่งเหล่านั้น เนื่องจากพื้นที่บ้านเหล่าในอดีตไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชได้เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นดินลูกรังและดินแดง มีไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงได้มาแผ้วถางบริเวณป่าตึงในปัจจุบัน เพื่อปลูกพืชผักสวนครัวและได้สร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้วัดป่าตึงในปัจจุบันพร้อมกับตั้งชื่อหมู่บ้าน “บ้านป่าตึง” ตามชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งตามภาษาพื้นเมืองชื่อ “ไม้ตึง” หรือต้นตองตึง
ในปี พ.ศ. 2425 ได้มีชาวบ้านชื่อนายคำได้พบผอบบริเวณวัดร้าง ขณะมาแผ้วถางทำไร่ภายในผอบได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงนำผอบไปถวายครูบาปินตา อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าตึงขณะนั้น ท่านครูบาปินตาจึงเห็นสมควรที่จะสร้างวัดขึ้นเพราะสถานที่แห่งนี้ซึ่งแต่เดิมเป็นวัดร้างมาก่อน จึงเห็นสมควรที่จะสร้างวัดขึ้นมา และเริ่มก่อสร้างวัดป่าตึงเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2425 ใน พื้นที่ หมู่ 7 บ้านป่าตึง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา และ ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 9 มกราคม 2427 มีศาสนาและถาวรวัตถุเป็นหลักฐานมั่นคงมีพระภิกษุ-สามเณร อยู่จำพรรษาตลอดมา หลวงปู่หล้า (พระครูจันทสมานคุณ) ท่านเกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งอยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยนเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2426-2439) กับเจ้าอินทวโรรส สุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 (พ.ศ. 2442-2452) หลวงปู่หล้าเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 7 ค่ำเดือน 11 ตรงกับวันที่ 22 กันยายน 2441 ที่บ้านปง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โยมพ่อชื่อ นายเงิน โยมแม่ชื่อ นางแก้ว นามสกุล บุญมาคำ เหตุที่มีนามสกุลนี้ หลวงปู่หล้าเล่าว่า “เพราะพ่ออุ๊ย(ปู่) ชื่อบุญมา แม่อุ้ย(ย่า) ชื่อ คำ เมื่อมีการตั้งนามสกุล กำนันจึงตั้งให้เป็น บุญมาคำ” หลวงปู่หล้ามีพี่น้อง 4 คน หลวงปู่หล้าเป็นบุตรคนสุดท้อง เมื่ออายุได้ 1 ขวบต้องกำพร้าพ่อ แม่จึงได้เลี้ยงดูลูกทั้งหมดเพียงลำพัง เมื่อหลวงปู่หล้าอายุได้ 8 ขวบโยมแม่ก็นำไปฝากกับครูบาปินตาเจ้าอาวาสวัดป่าตึงให้เป็นเด็กวัด หลวงปู่หล้าจึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือเป็นครั้งแรกกับครูบาปินตา จนอายุ ได้ 11 ขวบ ก็ได้บวชเป็นสามเณร จนกระทั่งอายุได้ 18 ปี จึงเดินทาง เข้าไปจำพรรษาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อเรียนนักธรรมที่วัดเชตุพน หลวงปู่หล้าเรียนนักธรรมที่วัดเชตุพนเพียง 1 ปี ยังไม่ทันสำเร็จก็ต้องเดินทางกลับวัดป่าตึงเพื่อปรนนิบัติ ครูบาปินตาที่ชราภาพ
ขณะที่บวชเป็นสามเณรอยู่นั้น หลวงปู่หล้าไม่ได้เรียนแต่เพียงหนังสือพื้นเมืองเท่านั้น แต่ยังได้เรียนหนังสือไทยไปด้วย โดยเรียนกับพระอุ่นซึ่งเคยไปจำพรรษาที่วัดอู่ทรายคำในเมืองเชียงใหม่ และเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนประจำมณฑลพายัพ ปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย แต่ครูบาปินตาไม่สนับสนุนให้พระเณรเรียนหนังสือไทย ในที่สุดพระอุ่นจึงต้องเลิกสอน หลวงปู่หล้าศึกษาเล่าเรียนทั้งอักขรวิธีและธรรมปฏิบัติกับครูบาปินตาเรื่อยมาจนกระทั่งอายุได้ 18 ปี จึงเดินทางเข้าไปจำพรรษาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อเรียนนักธรรมที่วัดเชตุพน หลวงปู่หล้าเรียนนักธรรมที่วัดเชตุพนเพียง 1 ปี ยังไม่ทันสำเร็จก็ต้องเดินทางกลับวัดป่าตึง เพื่อปรนนิบัติครูบาปินตาที่ชราภาพ หลวงปู่หล้าอยู่ปรนนิบัติครูบาปินตา ในปี พ.ศ. 2467 ครูบาปินตาก็มรณภาพ ด้วยวัย 74 ปี ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่หล้าอายุ 27 ปี และหลวงปู่หล้า ก็ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าตึง ต่อครูบาปินตา เมื่อปี พ.ศ. 2476 หลวงปู่หล้าได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลออนใต้ ปี พ.ศ. 2477 เมื่อครูบาศรีวิชัย ได้สร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ โดยเริ่มสร้างตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478 รวมเป็นเวลา 5 เดือนกับ 22 วัน ในครั้งนั้นหลวงปู่หล้าได้เดินทางไปร่วมสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพด้วย หลวงปู่หล้าเล่าถึงความยากลำบากในการสร้างถนนไว้ในหนังสือ ประวัติวัดป่าตึงว่า “การสร้างถนนมีการแบ่งงานกันตามกำลังของคน ผู้คนที่ไปร่วมเป็นชาวบ้านจากวัดป่าตึงทำได้ 5 วาใช้เวลา 14 วัน ส่วนพวกที่มาจากเมืองพานทำได้ 60 วา” จนเมื่อปี พ.ศ. 2504 หลวงปู่หล้าได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูจันทสมานคุณ ซึ่งขณะนั้นท่านอายุ 63 ปี มีคนพากันยกย่องหลวงปู่หล้าว่าท่านสามารถรู้เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าได้มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งฝนตั้งเค้าจะตกหนัก หลวงปู่บอกให้พระเณรรีบออกจากกุฏิ เพราะกุฏิเก่าและทรุดโทรมมากและมีต้นลานขนาดใหญ่อยู่ข้างกุฏิ ปรากฏว่าวันนั้นฝนตกหนักกิ่งต้นลานก็หักโค่นลงมาทับกุฏิพัง พระเณรที่อยู่ในวัดทุกคนปลอดภัยและพากันสรรเสริญว่า ท่านมีตาทิพย์ นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เช้าวันหนึ่งเวลาประมาณตี 5 หลวงปู่หล้าให้พระเณรรีบทำความสะอาดวิหารเพราะจะมีแขกมาหาที่วัด ครั้นพอถึงเวลา 6 โมงเช้า พระศรีธรรมนิเทศ เจ้าอาวาสวัดสันป่าข่อยนำญาติโยมมาหา ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงพากันเรียกท่านว่า “หลวงปู่หล้าตาทิพย์”
หลวงปู่หล้าเจริญอายุมาถึง 97 ปี ก็ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2536 ยังความเศร้าสลดใจมาสู่พระสงฆ์ สามเณร ศรัทธาญาติโยมทั่วไป และต่างก็มาเคารพศพตั้งแต่วันที่ท่านมรณภาพ จวบจนปัจจุบันนี้ศพของหลวงปู่หล้าถูกบรรจุไว้ในโลงแก้วที่ประดับประดาด้วยดอกไม้ ตั้งอยู่บนกุฏิไม้สักที่งดงามในวัดป่าตึง หลวงปู่หล้าเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านถือปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้โปรดฯ เกล้าพระราชทานน้ำสรง ซึ่งยังความปลาบปลื้มปิติยินดีมาสู่ศิษยานุศิษย์ แม้ว่าหลวงปู่หล้าจะมรณภาพจากไปแล้ว ก็เป็นเพียงการจากไปแต่สรีระร่างกายเท่านั้น ส่วนคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างเอาไว้หาได้ดับไป
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีราษฎรจากตำบลออนใต้ เดินทางมาเฝ้ารับเสด็จและถวายแผนผังเพื่อขอพระราชทานสร้างอ่างเก็บน้ำในบริเวณลำน้ำแม่ผาแหน เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่เกษตร ตำบลออนใต้ ให้สามารถใช้ในการเพาะปลูกพืชผลของราษฎรตลอดจนการอุปโภคบริโภค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งเกี่ยวกับการจัดหาน้ำให้ราษฎร โดยให้สำนักงาน รพช. พิจารณาดำเนินก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรบ้านแม่ผาแหนและหมู่บ้านใกล้เคียง และได้ดำเนินการสร้างในเดือนมกราคม พ.ศ. 2525 และสร้างเสร็จในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2526 ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงตกแต่งภูมิทัศน์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2524 ในสมัยการปกครองของนายสม ปัญญาจันทร์ ได้ระดมชาวบ้านขุดดินทำเป็นถนนในหมู่บ้าน ต่อมาปี พ.ศ. 2525 เริ่มมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน และน้ำบ่อยาที่มีมาแต่อดีต ได้ร้างหายไป ในปี พ.ศ. 2532 ได้มีการพัฒนาถนนลูกรังมาเป็นถนนลาดยาง โดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) หลังจากนั้นชุมชนได้มีการขยายครัวเรือนพร้อมกับการพัฒนาด้านต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน และชื่อบ้านป่าตึงห้วยหม้อ เริ่มจางหายไปจากความคิดของคนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักชื่อเดิมของบ้านป่าตึงห้วยหม้อแต่ จะรู้จักในชื่อ “ป่าตึงหลวงปู่หล้า” ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2536 หลวงปู่หล้าเจริญอายุมาถึง 96 ปี ก็ถึงแก่มรณภาพ นำมาซึ่งความเศร้าสลดใจมาสู่พระสงฆ์ สามเณร ศรัทธาญาติโยมทั่วไปและต่างก็มาเคารพศพตั้งแต่วันที่ท่านมรณภาพ จวบจนปัจจุบันนี้ สรีระของหลวงปู่หล้าถูกบรรจุไว้ในโลงแก้วที่ประดับประดาด้วยดอกไม้ตั้งอยู่บนกุฏิไม้สักที่งดงามในวัดป่าตึง
ในวันที่ 22 มิถุนายน 2556 นายอดุลย์ อินก้อนวงค์ สมาชิกเทศบาลตำบลออนใต้ อดีตกำนันตำบลออนใต้ ได้บูรณะวัดเชียงแสนขึ้นใหม่ ซึ่งเดิมสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ประมาณ 2500-3000 ปีก่อน จากหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ที่ขุดพบจากหลักศิลาของหมื่นดาบเรือนได้บันทึกประวัติของวัดไว้ดังนี้ เมื่อพระเจ้าศรีลัทธัมมังกรมมหาจักรวรรัติราชาได้ขึ้นครองราชย์ในเมืองพิงค์เชียงใหม่ ก็ทรงโปรดให้มนตรี ผู้หนึ่งชื่อ อดิชวญาณวรสิทธิเป็น หมื่นดาบเรือน ในปี พ.ศ. 2031-2032 หมื่นดาษเรือนได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธาชาวพูเลา มาร่วมกันสร้างมหาวิหาร มหาเจดีย์ หอพระไตรปิฎก ปลูกไม้มหาโพธิ์เสร็จแล้ว ตั้งชื่อว่า วัดหมื่นพาย
วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559 นายสมศักดิ์ วงศ์แก้วแปง นายกเทศมนตรีตำบลออนใต้ ในขณะดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านป่าตึงได้ร่วมกับ คณะกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านทุกครัวเรือนเข้ามาพัฒนาสถานที่จากป่ารกร้างและได้ค้นหาจุดเดิมของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (น้ำบ่อยา) ที่มีมาแต่อดีต รุ่นปู่ย่าตายาย ที่ใช้ดื่มกินในการเดินทางเข้าหาของป่าและรักษาโรค จากเดิมที่ร้างไปเป็นเวลา 34 ปี และการเข้ามาพัฒนาในครั้งนี้ ได้ขุดพบน้ำบ่อยาตามคำบอกกล่าว ซึ่งน้ำที่ออกจากซอกหินแห่งนี้เป็นน้ำแร่ธรรมชาติ เพราะถูกกลั่นออกมาจากรากไม้สมุนไพรนานาชนิดบนยอดภูเขาและเป็นน้ำที่สะอาดเอาบรรจุใส่ขวดไว้นาน ๆ ก็ไม่มีการตกตะกอน ตามความเชื่อของชาวบ้าน ว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าที่เทวดาอารักษ์ พ่อปู่ฤๅษีและพญานาคราช รักษาบ่อน้ำแห่งนี้และในวันที่ 29 เมษายน 2559 ได้มีการพบกะโหลกคนโบราณและปลาไหลทองออกมาจากรูข้าง ๆ บ่อน้ำ และปัจจุบันยังไม่มีใครพบเจอปลาไหลทองอีกเลย
บ้านป่าตึง ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 30 กิโลเมตร ตามถนนเส้นทางหลักทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 1006 และต่อด้วยหลักทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1147 สายเชียงใหม่-สันกำแพง พื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดแบ่งออกเป็นพื้นที่ป่าอุทยานฯ 7,518 ไร่ พื้นที่ป่าสงวน 1,555 ไร่ พื้นที่ป่าชุมชน 5,374 ไร่ พื้นที่ทำกิน 580 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 250 ไร่ ชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนชนบท
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับหมู่ที่ 6 บ้านแม่ผาแหน หมู่ที่ 2 บ้านโห้ง และหมู่ที่ 11 บ้านป่าเปางาม
- ทิศใต้ ติดต่อกับป่าชุมชน ป่า อุทยานแห่งชาติ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับป่าชุมชน ป่าอุทยานแห่งชาติ
- ทิศตะวันตก ติดต่อหมู่ที่ 8 บ้านบง หมู่ที่ 9 กับบ้านป่าห้า
ลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศ หมู่ 7 บ้านป่าตึง โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูง ถูกล้อมรอบด้วยภูเขา โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขต ป่าสงวนและป่าอุทยานฯ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าชุมชน เป็นป่าปลูกใหม่ที่ได้รับการฟื้นฟู โดยสภาพอากาศทั้ง 3 ฤดู มีดังนี้
- ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน สภาพอากาศจะร้อนมาก เกิดความแห้งแล้ง แหล่งน้ำในชุมชนแห้งขอด
- ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งสภาพอากาศฝนตกชุก เหมาะสมแก่การเพาะปลูก
- ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีระยะเวลายาวนานกว่าฤดูอื่นๆ และมีสภาพอากาศ หนาวเย็นมาก มีหมอกปกคลุมทั่วไป
ประชากรบ้านป่าตึง หมู่ที่ 7 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 326 ครัวเรือน ประชากร จำนวน 820 คน ชาย 413 คน หญิง 407 คน โดยจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในหมู่บ้านทั้งหมด 23 คน โดยแบ่งกันดูแลในแต่ละเขต/หย่อมบ้าน ซึ่งในการแบ่งเขตรับผิดชอบจะแบ่งตามกายภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อความสะดวกและการดูแลชุมชนอย่างทั่วถึง
ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านป่าตึง เป็นประชากรที่อาศัยในพื้นที่มาแต่เดิม ซึ่งจะมีลักษณะความเป็นอยู่ที่พึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พื้นที่ของแต่ละครัวเรือนจะกว้าง ส่วนใหญ่จะเป็นญาติกันมักจะอยู่ บ้านติด ๆ กัน แต่บางพื้นที่/บางเขตหย่อมบ้านจะห่างกันเนื่องจากบางครัวเรือนจะมีการเพาะปลูกพืชสวน/ปลูกไม้ ดอกไม้ประดับภายในบริเวณบ้าน จึงทำให้บริเวณบ้านกว้าง อาณาเขตติดต่อกันของบ้านแต่ละหลังจึงค่อนข้างห่างกัน แต่ส่วนมากแล้วจะมีการไปมาหาสู่กันเสมอ และจะมีลักษณะการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพที่คล้ายคลึง กัน เช่น ลักษณะการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม การเลี้ยงโค-กระบือ รับจ้างทั่วไป เป็นต้น
ผังเครือญาติ
ในหมู่บ้านป่าตึงมีตระกูลเก่าแก่หลายนามสกุล ซึ่งนามสกุลที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุด คือ นามสกุล “อินตายวง” จากการสอบถามประวัติความเป็นมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ พบว่าคนรุ่นก่อนต้องการขยายครอบครัวให้แพร่หลาย จึงทำให้มีผู้ใช้นามสกุล “อินตายวง” เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน และจากข้อมูลพบว่า ครอบครัวอินตายวงเป็นครอบครัวขยายขนาดใหญ่ และบางคนได้แยกครอบครัวไปใช้นามสกุลอื่น
โดยจากการเก็บข้อมูลได้นำข้อมูลที่ซักประวัติตอนลงสำรวจพื้นที่มาประกอบกับการลงไปสอบถามคนในครอบครัวอินตายวง ซึ่งได้ไปสอบถามบุคคลทั้งหมด 4 คน ได้แก่ คนที่ 1 นายนวล อินตายวง คนที่ 2 นายสำเริง อินตายวง คนที่ 3 นางเบญจมาศ และคนที่ 4 นาง จันทรา โปธิตา พบว่ามีเครือญาติที่เกี่ยวข้องทางสายสัมพันธ์ที่สามารถให้ข้อมูลได้มีจำนวนทั้งหมด 5 รุ่น ได้แก่
- รุ่นที่ 1 ซึ่ง มีจำนวน 2 คน ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว
- รุ่นที่ 2 มีจำนวน 13 คน ปัจจุบันมีคนที่มีชีวิตเหลืออยู่ 12 คน อายุประมาณ 54- 74ปี (ผู้ใหญ่ผู้สูง-อายุ)
- รุ่นที่ 3 มีจำนวน 20 คน ปัจจุบันมีคนที่มีชีวิตเหลืออยู่ 18 คน อายุประมาณ 49-29 ปี (ผู้ใหญ่)
- รุ่นที่ 4 มีจำนวน 19 คน ปัจจุบันมีคนที่มีชีวิตเหลืออยู่ 19 คน อายุประมาณ 1-32 ปี (วัยเด็ก-วัยผู้ใหญ่ ตอนต้น)
- รุ่นที่ 5 มีจำนวน 2 คน มีอายุประมาณ 6และ2 ปี (วัยเด็ก)
จากการสอบถามและซักประวัติบุคคล ครอบครัวอินตายวง นั้น พบว่า คนรุ่นก่อนสามารถบอกความสัมพันธ์เชิงเครือญาติได้มากกว่าคนรุ่นหลัง เนื่องจากคนรุ่นหลังส่วนใหญ่ออกไปประกอบอาชีพต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ทำให้ไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากนัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนที่มีการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน ที่มักประกอบอาชีพอยู่บ้าน ทำให้ได้ข้อมูลเครือญาติที่เกี่ยวข้องทางสายสัมพันธ์เป็นอย่างดี
ในบ้านป่าตึงมีโครงสร้างทางสังคมโดยการจัดตั้งกลุ่มองค์กรทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้
กลุ่มองค์กรที่เป็นทางการ เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้นำที่ได้มาจากทางราชการ และความร่วมมือจากกลุ่มประชาชนในชุมชน หรือคนในพื้นที่หมู่บ้านที่มีการรวมกลุ่มกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของชุมชน ซึ่งชุมชนบ้านป่าตึง มีกลุ่มผู้นำที่เป็นทางการ ทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
- กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
องค์กรที่ไม่เป็นทางการ เป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการที่เกิดจากการรวมตัว การสนใจ พึงพอใจในสิ่งเดียวกัน และมารวมกลุ่มกัน โดยอาศัยผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีการจัดระเบียบโครงสร้างภายใน มีการรวมตัวกันอย่างง่าย ๆ และเลิกล้มได้ง่าย บ้าน ป่าตึง มีกลุ่มที่ไม่เป็นทางการทั้งหมด 6 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ
- กลุ่มสตรีประจำหมู่บ้าน
- กลุ่มพ่อบ้าน
- กลุ่มชมรมเด็กและเยาวชน
- กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
- กลุ่มโฮมสเตย์และท่องเที่ยว CIV
กลุ่มโฮมสเตย์และท่องเที่ยว CIV เป็นกลุ่มที่เกิดจากการดูงานของ นายศานต์ภิสิทธิ์ ปัญญาทิพย์ และนายเทียบ ปัญญาจันทร์ (ประธาน อาสาสมัครสาธารณสุข และสมาชิกสภาเทศบาลบ้านแม่ผาแหน หมู่ที่ 6 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัด เชียงใหม่) แล้วนำแนวคิดมาปรับใช้ภายในชุมชนของตนเอง และทำการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์ และท่องเที่ยว CIV (Creative Industry Village : หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ) เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และบริการหรือกิจกรรมที่สร้าง ประสบการณ์ใหม่จากการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีศักยภาพด้านการบริหารจัดการจุดเด่นของชุมชนมาประยุกต์สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และบริการด้านต่างๆ
รายชื่อกลุ่มโฮมสเตย์ หมู่ 7 บ้านป่าตึง จำนวน 3 คน ประกอบด้วย
- นางกาญจนา นันตา ประธาน
- นางอัมไพ สิริปุมแปง
- เบญจมาศ ภูดินันชนโชต
รายชื่อกลุ่มท่องเที่ยว CIV หมู่ 7 บ้านป่าตึง จำานวน 3 คน ประกอบด้วย
- นายเกษม ปัญญาจันทร์ CIV ด้านสมุนไพรรางจืด
- นางบุษกร วงค์แก้วแปง CIV ด้านเย็บกระเป๋าผ้า
- นิตยา กันทะพรม CIV ด้านน้ำพริกตาแดง
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ประชาชนบ้านป่าตึงมีลักษณะเป็นชุมชนชนบท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และการเกษตร โดยออกไปทำงานตอนเช้า และกลับมาบ้านในตอนเย็น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะปานกลาง และมีบางส่วนที่ทำอาชีพธุรกิจส่วนตัว เช่น เย็บผ้า ค้าขาย รวมทั้งภายในหมู่บ้านมีกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเป็นเงินทุนให้ประชาชนในชุมชนได้กู้ยืม
ด้านเศรษฐกิจ
เนื่องจากหมู่บ้านป่าตึงเป็นสังคมชนบท มีจำนวนประชากรค่อนข้างมากอาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งปัจจุบันประชาชนในหมู่บ้านมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขาย และประกอบธุรกิจส่วนตัว ทำเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวโพด ปลูกลำไย รวมถึงการเลี้ยงโคนม เป็นต้น ประชาชนบางส่วนได้เข้าไปทำงานในอำเภอเมืองในช่วงเช้า และกลับเข้ามายังชุมชนในเวลาหลังเลิกงาน โดยมีลักษณะการทำงานตลอดทั้งปีอาจมีวันหยุดสุดสัปดาห์ หรืออาจมีวันหยุดตามเทศกาลต่าง ๆ ในส่วนของการทำสวนส่วนใหญ่แล้วคนในชุมชนส่วนมากจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้เพื่อรับประทานเอง ส่งเสริมการรับประทานผัดปลอดสารเคมีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผักที่ปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ ผักกาด ผักบุ้ง กะเพรา พริก เป็นต้น นอกจากนี้คนในชุมชนส่วนมากในช่วงวัยสูงอายุจะรับจ้างในการปักเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รายได้ส่วนใหญ่ของชาวบ้านมาจากการทำอาชีพรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรม
ด้านสังคม/วัฒนธรรม และภูมิปัญญา
วัฒนธรรมการรับประทานอาหาร จากการศึกษาและสังเกตข้อมูลภายในชุมชนปัจจุบันส่วนใหญ่ประชาชน นิยมรับประทานเป็นอาหารพื้นเมือง หรืออาหารท้องถิ่นพื้นบ้านภาคเหนือ โดยซื้อวัตถุดิบมาจากตลาดสดหรือหาของป่ามาประกอบอาหารเพื่อรับประทาน ส่วนใหญ่จะรับประทานแกงเป็นหลัก รสชาติอาหารพอดีรสชาติไม่จัด ไม่เผ็ด ไม่เน้นรสใดเป็นหลัก นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่นิยมประกอบอาหารรับประทานเอง เพื่อความปลอดภัย และคุณค่าทางสารอาหาร
ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องของความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติยังคงมีให้พบเห็นอยู่ เช่น การสืบทอด การนับถือผีปู่ย่ากันอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น เมื่อหญิงชายจะแต่งงานก็จะมีการเลี้ยงผีปู่ย่า เพื่อเป็นการบอกกล่าวบรรพบุรุษ รวมถึงพิธีการสืบชะตาบ้านสืบชะตาหมู่บ้านในวันสำคัญต่าง ๆ
ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการศึกษาและสังเกตข้อมูลภายในชุมชน พบว่าในชุมชนบ้านป่าตึงมีภูมิปัญญา ท้องถิ่นที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ไม้กวาดทางมะพร้าว ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว กระดาษสา น้ำพริกตาแดง ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน รวมถึงการทำปุ๋ยชีวภาพ
ขนบธรรมเนียมประเพณีจากการสังเกตข้อมูลภายในชุมชน พบว่าชุมชนหมู่บ้านป่าตึงมีการรักษาจารีต ประเพณีอันดีงามตามท้องถิ่นล้านนา และประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นตามไทยกลาง เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีดำหัวปีใหม่เมือง ประเพณีสืบชะตาหมู่บ้านหรือการทำบุญใจ๋บ้าน ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ การเลี้ยงผีปู่ย่า นอกจากนี้ชุมชนยังมีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ เช่น พิธีการขอฝนโดยการแห่ปลาช่อน การเลี้ยงผีขุนน้ำ การจัดงานวันกตัญญูหลวงปู่หล้า การทำบุญวันมรณภาพหลวงปู่หล้า และประเพณีการแข่งขันกีฬา พื้นบ้านเชื่อมความสามัคคี เป็นต้น
ด้านโครงสร้างพื้นฐานและสุขภาพ
จากการสังเกตข้อมูลบริเวณภายในชุมชน พบว่า ชุมชนบ้านป่าตึงมีการใช้ไฟฟ้าแรงสูงจากการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาคทุกครัวเรือน และบริเวณภายในชุมชนมีไฟฟ้าส่องสว่างในที่สาธารณะไว้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนใน เวลากลางคืน สำหรับการใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภคภายในชุมชนชุมชน ใช้น้ำจากประปาหมู่บ้านเป็นหลัก มี การให้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะ และอินเตอร์เน็ตรวมถึงอินเตอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) นอกจากนี้ยังมีที่ทำการสาธารณสุขมูลฐาน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีตู้ยามในการรักษาความปลอดภัย และที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ โดยเสียงตามสาย และมีการประชุมประจำเดือน เมื่อผู้ใหญ่บ้านได้รับข่าวสารจากทางราชการก็จะแจ้งในที่ประชุมโดยคนในชุมชนได้ ให้ความร่วมมือดีเข้าร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอ และมีกิจกรรมการให้บริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ ผาแหน ดังต่อไปนี้ การสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ุลูกน้ำยุงลาย เป็นกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. จะทำร่วมกันทุกวันอาทิตย์ การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เป็นกิจกรรมที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบ้านแม่ผาแหนร่วมกับ อสม.จัดทำขึ้นปีละ 1 ครั้ง ประมาณเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ของทุกปีขึ้นอยู่กับ ตารางที่ โรงพยาบาลจัดทำให้ในแต่ละปี การตรวจสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงประจำปีเป็นกิจกรรมที่ รพ.สต. บ้านแม่ผาแหนจะตรวจปีละ 1 ครั้ง จะมีการเจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งจะทำในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม
การตรวจสายตาผู้ป่วยเบาหวาน เป็นกิจกรรมที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่ผาแหนจะตรวจปีละ 1 ครั้งผู้ป่วยเบาหวานจะมีการตรวจเท้าและตรวจตาโดยใช้เครื่องตรวจซึ่งจะทำในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม โดยมีตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่ที่ 7 บ้านป่าตึงเข้าร่วมกิจกรรมด้วย การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ตรวจปีละ 1 ครั้งโดยจะมีการตรวจเต้านมโดยการคลำ และมีการตรวจ Pap smear เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมจะทำในวันเดียวกัน ในช่วง เดือน ตุลาคม ของทุกปี การส่งเสริมภูมิคุ้มกันโรคและการตรวจพัฒนาการเด็ก ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้าน แม่ผา แหนจัดทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน คลินิกทันตกรรม ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่ผาแหนจัดทุกวันศุกร์ที่ 3 ของ เดือนคลินิกจิตเวช ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่ผาแหนจัดทำทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือน โรงเรียนผู้สูงอายุเป็นชมรมที่จัดตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่ผาแหนร่วมกับคนในชุมชนบ้านป่าตึง เพื่อในผู้สูงอายุในชุมชนมีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยจะจัดกิจกรรมทุกวันเสาร์
1. นายนวล อินตายวง อดีตผู้ใหญ่บ้าน ประธานผู้สูงอายุหมู่บ้าน กรรมการปฐมศึกษา กรรมการไวยาวัชกร ประธานผู้สูงวัยตำบล ที่ปรึกษากองทุนผู้สูงอายุหมู่บ้าน ที่ปรึกษากองทุนออมทรัพย์ของหมู่บ้าน ป่าตึง ที่ปรึกษา กรรมการหมู่บ้าน
แนวคิดในการทำงาน ตานวล เป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ มีมารยาทที่ดีงาม และมีความประพฤติที่ถูกต้อง มีวาจาและสำเนียงจูงใจ เป็นคนเข้าถึงง่าย ไม่ถือตัว ทำงานเพื่อส่วนรวม เสียสละเพื่อสังคม โดยนิสัยส่วนตัวชอบช่วยเหลือผู้อื่น ชอบเข้าสังคม ชอบพัฒนาหมู่บ้าน ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ให้การสนับสนุน ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ราษฎรในหมู่บ้าน ทำถนนคอนกรีตเข้าหมู่บ้าน อีกทั้งยังเป็นผู้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ เป็นผู้จัดตั้งกลุ่มกรรมการหมู่บ้าน เป็นผู้ริเริ่มฌาปนกิจสงเคราะห์วัดป่าตึง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ทำงานอย่างเต็มที่ ทุ่มเทให้กับหมู่บ้านเกิดของตนเอง ดูแลความเป็นสุขเป็นทุกข์ของราษฎร ทำให้ราษฎรรักและเคารพนับถือกันเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าปัจจุบันตนจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านแล้ว ตายังทำงานเพื่อส่วนรวมเสมอ
ป่าไม้ มีป่าชุมชนประมาณ 5,374 ไร่
แหล่งน้ำ มีแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยลาน และคลองส่งน้ำห้วยโป่งซึ่งมาจากอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน นอกจากนี้ยังมีประปาหมู่บ้านอีกจำนวน 2 แห่ง
วัด มีวัดในหมู่บ้าน คือ วัดป่าตึง (หลวงปู่หล้าตาทิพย์) มีพระครูวิสุทธิเขฆรัต เป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบันมีพระจำพรรษาในวัดจำนวน 10 รูป เมื่อมีงานเทศกาล วันสำคัญทางศาสนาประชาชนจะไปรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมที่วัด นอกจากนั้นทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนาประชาชนจะไปทำบุญและฟังเทศนาที่วัด
ขนบธรรมเนียมประเพณี มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ เช่น ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ประเพณีเดือนสี่ ปอยหลวง ตานก๋วยสลาก ประเพณีพื้นเมืองทั่วไป เช่น ประเพณีวันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง) และมีการทำกิจกรรมทางศาสนาตามโอกาส เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา จะมีการเข้าวัด สวดมนต์ เวียนเทียน โดยกิจกรรมต่าง ๆ จะจัดที่วัดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของ ชาวบ้าน ประเพณีพื้นเมืองเฉพาะ ได้แก่ วันกตัญญูหลวงปู่หล้าจัดขึ้นที่วัดป่าตึง (หลวงปู่หล้าตาทิพย์) เลี้ยงผีขุนน้ำจัดขึ้นที่อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน (วังจำป่าเฮี้ย) พิธีบวงสรวงหมื่นดาบเรือน จัดขึ้นที่บริเวณตรงข้ามวัดเชียงแสน ซึ่งจะมีชาวบ้านมาร่วมงานตลอดเนื่องด้วยชาวบ้านมีความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีการจัดขึ้นสืบทอด กันมาหลายต่อหลายรุ่น
ประชาชนบ้านป่าตึงเป็นคนพื้นเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาพื้นเมือง, ภาษาเหนือ) ในการติดต่อสื่อสารเป็นภาษาหลักภายในชุมชน สำหรับการติดต่อสื่อสารทางราชการ และบุคคลภายนอก จะใช้ภาษาไทยกลางและภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร
กลุ่มต่าง ๆ ภายในชุมชนแสดงความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นแบบพี่น้อง มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันเป็นอย่างดี และประชากรส่วนมากเป็นญาติกันจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากในเชิงโครงสร้างทางสังคม จะเห็นได้ว่าในแต่ละกลุ่มองค์กรจะมีประธานกลุ่มและคณะกรรมการเป็นบุคคลเดียวกัน นอกจากนี้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งในหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้มักได้รับการยอมรับนับถือจากสมาชิกในหมู่บ้านและมีภาวะความเป็นผู้นำที่ดี สามารถดูแล รับผิดชอบงานที่ตนเองได้รับ มีผลงานที่มีประสิทธิภาพ และเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชน
ระบบแพทย์ชุมชน (Population sector)
ประชาชนหมู่บ้านป่าตึงได้มีการดูแลสุขภาพตนเอง พบว่า การรับประทานอาหารของคนในชุมชนมีการ ปลูกพื้นผักสวนครัวไว้ทานเอง เช่น ผักกาด พริก มะนาว กะเพรา คะน้า กระชาย กะหล่ำ เลือกรับประอาหารที่ ปลอดสารพิษ นอกจากนี้มีการหาพืชผัก ที่ออกตามป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักป่าตามฤดูกาล และการแพทย์พื้นบ้านและการใช้สมุนไพร พ่อหมอเสงี่ยมเป่าคาถารักษาโรค พ่อเกษมเป็นหมอพื้นเมือง โดยใช้ยาพื้นบ้าน/ยาสมุนไพรที่ เช่น อ้อยดำโดยใช้ต้มกับน้ำเพื่อลดอาการปวด ลดความดันโลหิตสูง แต่หากรับประทานมาก ๆ อาจทำให้เป็นเบาหวาน ว่านลืมผัวใช้รักษามะเร็ง ใบรางจืดช่วยขับสารพิษ ผักเชียงดารักษาเบาหวาน ดาวอินคาขับไขมันไม่ดี สำหรับหญิงให้นมบุตรมีการรับประทาน หัวปี ไม้นมนาง แกงเลียง เพื่อช่วยเพิ่มการไหลของน้ำนม
ระบบแพทย์พื้นบ้าน (Folk sector)
ประชาชนในหมู่บ้านป่าตึงมีความเชื่อในการรักษาอาการเจ็บป่วยทางไสยศาสตร์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ น้ำบ่อยาหรือน้ำบ่อทิพย์เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่อดีตรุ่นปู่ย่าตายาย เป็นน้ำที่ออกจากซอกหินแห่งนี้เป็นน้ำแร่ธรรมชาติ เป็นน้ำที่กลั่นออกมาจากรากไม้สมุนไพรนานาชนิด ใสสะอาด ไม่มีการตกตะกอน ตามความเชื่อของชาวบ้านที่ได้นำน้ำในบ่อศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไปดื่มกิน บางคนก็บรรเทาและหายจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ และสิ่งที่พวกเราเชื่อที่สุด คือ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
จักรพงษ์ คำบุญเรือง. (2562). ตามรอยหลวงปู่หล้าแห่งวัดป่าตึง. เชียงใหม่นิวส์ https://www.chiangmainews.co.th/
มนทกานต์ บำรุง, จีราพร แสนเกี๋ยง, ชุติมณฑน์ คำทิพย์โพธิ์ทอง, พรพิมล ครองตา, จุรีย์มาศ ดีหมู, เยาวลักษณ์ พวงมาลัย, ณรงค์ฤทธิ์ ภีระจันทร์, และนฤนี สุนทรพันธ์. (2562). รายงานการพัฒนาอนามัย
ชุมชนบ้านป่าตึง หมู่ที่ 7 ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. สาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่.
เทศบาลตำบลออนใต้. (2566). ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://ontai.go.th