Advance search

กาแฟ การทอผ้าขนแกะ และกลุ่มชาติพันธุ์

ห้วยห้อม
แม่ลาน้อย
แม่ฮ่องสอน
อบต.ห้วยห้อม โทร. 0-5610-9147
ธนกร มนูญธรรมพร
16 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
4 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2024
บ้านห้วยห้อม


กาแฟ การทอผ้าขนแกะ และกลุ่มชาติพันธุ์

ห้วยห้อม
แม่ลาน้อย
แม่ฮ่องสอน
58120
18.3780338302
99.850279
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยห้อม

เป็นหมู่บ้านห่างจากอำเภอแม่ลาน้อย 35 กิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,100 เมตร ตั้งอยู่ในเขตต้นน้ำลำธารของลำน้ำแม่ลาน้อย แหล่งน้ำธรรมชาติหลายสาย เช่น ลำห้วยซะหย่าโกร๊ะ ห้วยบาโกร๊ะ ห้วยหนู่โกร๊ะ ห้วยซิติโกร๊ะ ทำให้คนในหมู่บ้านมีแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภคอย่างพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ ภูเขา วิถีชีวิตคนชาวปกาเกอญอ จะรักสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และธรรมชาติ จึงไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า ได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้และปลูกเพิ่มมากขึ้นทุกปีประชากรบ้านห้วยห้อมเป็นชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอญอ ก่อตั้งมานานมากกว่า 200 ปี

ครอบครัวแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ คือ ผู้เฒ่าโกร่บอและแม่เฒ่าแอ๊ะพอ เป็นเวลาประมาณ 7 ชั่วคนแล้ว มีนายเคแฮ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ต่อมาได้มีชาวบ้านอพยพมาจากบ้านแม่สะกั๊วะ บ้านแม่งะ บ้านแม่สะปึ๋งเหนือ บ้านแม่สะแมง และบ้านหนองม่วน ทำให้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น มีนายสุบิน กระจ่างเนตร เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 10 ของบ้านห้วยห้อม ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์

หมู่บ้านเล็ก ๆ ในหุบเขา ของ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอแม่ลาน้อย ประมาณ 30 กม. หมู่บ้านห้วยห้อมอยู่ในเขตรับผิดชอบของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย บนความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,100 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อ ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และ ต.ท่าผาปุ้ม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

ปกาเกอะญอ, ละว้า (ว้า)

ชาวบ้านบ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอาชีพหลักคือการทำไร่กาแฟ กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับราษฎรบ้านห้วยห้อมปีละกว่า 1 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์อาราบิก้าจากบริษัทสตาร์บัคล์คอฟฟี่ประเทศไทยจำกัด และองค์กรพัฒนาชาวเขานำมาปลูกแบบผสมผสานกับพืชชนิดอื่น อาทิเช่น ข้าวโพด กะหล่ำปลี หมาก ลูกเนียง และปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ซึ่งเป็นวิธีเพราะปลูกที่ช่วยอนุรักษ์สภาพแวดล้อมไปด้วย

ปัจจุบันราษฎรในหมู่บ้านห้วยห้อม ทำการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า จำนวน 56 ครอบครัว หรือประมาณ 300 คน พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ผลผลิตปีละ 10 ตัน ซึ่งผลผลิตทั้งหมดส่งไปขายยังประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ขณะนี้เตรียมที่จะขยายพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าไปยังหมู่บ้านห้วยห้า บ้านดง บ้านละอุบ บ้านดูราเปอร์ บ้านดงใหม่และบ้านห้วยห้าใหม่ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้เพื่อให้ตำบลห้วยห้อม เป็นหมู่บ้านปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และส่งผลผลิตไปยังสหรัฐอเมริกาให้มากที่สุดตำบลห้วยห้อม ปัจจุบัน ประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน 3 หย่อม มีเนื้อที่ 75,000 ไร่ มีประชากร 4,441 คน 1,096 ครัวเรือน เป็นตำบลที่มีการทำงานของโครงการหลวงหลายหมู่บ้าน อาทิเช่น บ้านห้วยห้อม บ้านห้วยฮาก บ้านละดุย บ้านดง พืชสร้างรายได้ ซึ่งชาวบ้านได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ด้วยผู้นำชุมชนในอดีตได้สร้างรากฐานให้ชุมชนต่าง ๆ จึงสร้างอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมและมีรายได้จาการทำเกษตรบนพื้นที่สูงนำมาสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน นำมาสู่การฟื้นเศรษฐกิจชุมชน และการส่งเสริมอาชีพเสริมในการทอผ้า

ตำบลห้วยห้อม ประกอบด้วยกลุ่มละว้า และกลุ่มกะเหรี่ยง ที่มีความรักและความสามัคคีกันเป็นอย่างดีมีกิจกรรมตามประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีแต่งงาน ประเพณีเลี้ยงผี สะไปตะยวง เลี้ยงผีเสาสะกาง สำหรับประเพณีวัฒนธรรมของกลุ่มกะเหรี่ยง มีประเพณีสำคัญ เช่น ประเพณีแต่งงาน ดำหัวผู้ใหญ่ และประเพณีจัดฉลองปีใหม่ 

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ประชากรในเขตตำบลห้วยห้อมทั้งหมด ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพื้นที่การเกษตร 20,133 ไร่ พื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตร เฉลี่ย 25.84 ไร่ต่อครัวเรือน ได้แก่ การปลูกข้าวนาขั้นบันได (ข้าวไร่) กะหล่ำปลี เสาวรส กาแฟ และพืชเมืองหนาวอื่น ๆ บ้างเล็กน้อยเป็นอาชีพหลัก มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ แกะ เป็นต้น และมีการประกอบอุตสาหกรรมครัวเรือน ได้แก่ ทอผ้า ตีเครื่องเงินเป็นอาชีพเสริม

1.นางสาวอังคณา นักรบไพร

ชาวปกาเกอญอที่บ้านห้วยห้อม มีความภาคภูมิใจที่ได้สานต่องานที่ได้รับพระราชทานมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีที่ไม่ได้ให้เพียงอาชีพการทอผ้าขนแกะเท่านั้น แต่ยังให้ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกับพวกเราชาวห้วยห้อมเหมือนได้ชีวิตใหม่จากทั้งสองพระองค์ท่านมาจนถึงทุกวันนี้จึงมุ่งมั่นสืบสานงานผ้าทอขนแกะนี้ต่อไปจนสิ้นลมหายใจ เป็นชาวปกาเกอญอที่เกิดและเติบโตมาในชุมชนบ้านห้วยห้อม

แต่เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวบ้านที่บ้าน ห้วยห้อม ได้เห็นผลงานผ้าทอขนแกะที่ชาวบ้านทอถวาย จึงทรงมีพระราชดำริ ส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าขนแกะเป็นอาชีพเสริมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อีกทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือด้านการปรับปรุงสายพันธุ์แกะให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยนำพันธุ์แกะจากต่างประเทศ ทั้งแกะพันธุ์ใช้ขนและแกะพันธุ์เนื้อมาทำการผสมพันธุ์แกะพื้นเมืองจนได้ลูกแกะพันธุ์ที่เหมาะสำหรับนำมาตัดขน ชอบอากาศหนาวเย็นและให้ครูผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทอผ้าขนแกะมาสอนวิธีการทำให้แก่ชาวบ้าน โดยมีนางมะลิวรรณ นักรบไพร ผู้เป็นแม่ของนางสาวอังคณา เป็นแกนนำในการเข้าร่วมโครงการในครั้งนั้น และได้นำความรู้ มาประกอบเป็นอาชีพและถ่ายทอดสู่สมาชิกในชุมชน รวมถึงถ่ายทอดในทุกกระบวนการในการทอผ้าขนแกะแก่นางสาวอังคณาผู้เป็นลูกสาว จนมีความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญในการทอผ้าขนแกะ นางสาวอังคณาถือเป็น ชาวปกาเกอญอรุ่นใหม่ที่ยังคงเห็นคุณค่าความสำคัญในภูมิปัญญาดั้งเดิม และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้สืบสานงานทอผ้าขนแกะเคียงข้างผู้เป็นแม่และคนในชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน

การทอผ้าทอขนแกะ ผ้าทอขนแกะบ้านห้วยห้อม เป็นผ้าทอที่มีความงดงาม จากการผสมผสานระหว่างขนแกะและเส้นฝ้ายที่ผ่านการย้อมสีธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน เหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในฤดูหนาวและยังสามารถใช้ประโยชน์ในงานต่าง ๆ ได้อีกหลากหลายตามแต่วัตถุประสงค์ของผู้ใช้ผ้าทอขนแกะถือเป็นผ้าทอที่มีการประยุกต์จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวปะกาเกอญอผสานกับขนแกะที่เลี้ยงและตัดขนเองได้ภายในหมู่บ้าน กระบวนการทอตั้งแต่เริ่มแรกจนเสร็จสิ้นยังคงการทอแบบโบราณและคงความปราณีตของลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างสมบูรณ์ ผ้าทอขนแกะบ้านห้วยห้อมจึงเป็นที่ต้องการของตลาด

กาแฟบ้านห้วยห้อม บ้านห้วยห้อมเป็นแหล่งปลูกกาแฟขึ้นชื่อ ส่งให้กับร้านกาแฟแบรนด์ระดับบน ทั้งยังเป็นต้นตำรับกาแฟอาราบิก้าส่งให้กับโครงการหลวง นับตั้งแต่ยังไม่มีเครื่องกะเทาะเปลือกเมล็ดกาแฟ รวมถึงเครื่องคั่วบดเมล็ดกาแฟ

บ้านห้วยห้อมประกอบด้วย 2 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ละว้า และกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ซึ่งภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร นอกจากภาษาไทยกลางแล้ว ยังมีภาษาถิ่นอีก 2 ภาษา คือ ภาษาละว้า และภาษากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ


การเปลี่ยนแปลงด้านการดำรงชีพและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอก เกิดขึ้นจากการเข้ามาส่งเสริมการผลิตเพื่อสร้างรายได้เป็นเงิน สิ่งเหล่านั้น คือ การปลูกกาแฟ การส่งเสริมหัตกรรมทอผ้าด้วยขนแกะ สินค้าเหล่านี้ได้เชื่อมโลกกับตลาดโลก เช่น ขายกาแฟให้กับสตาบัค ส่งเสื้อผ้าคนแกะไปตลาดต่างประเทศ การส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวแบบใหม่ตามความต้องการของคนชนชั้นกลางในปัจจุบัน นัยยะหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจและการเน้นการตลาดที่ส่งผลให้ชาวปกาเกอะญอถูกทำให้กลายเป็นสินค้าหรือถูกขายเป็นแบรนด์ให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ล้วนกลายเป็นหนทางการสร้างวิถีชีวิตเพื่อตอบสนองตลาดมากกว่าการประกอบอาชีพตามวิถีของตนเองหรือเพื่อตนเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณค่าและอัตลักษณ์ชาวปกาเกอะญอถูกทำให้เจือจางลงไปอย่างมาก


การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยห้อม การเปลี่ยนแปลงทางศาสนาสู่การนับถือศาสนาคริสต์ ในปี พ.ศ. 2528 ชาวปกาเกอะญอทั้งหมู่บ้านได้เป็นชาวคริสต์ที่นับถือพระเจ้าแทนที่ความเชื่อเก่าที่นับถือผีบรรพบุรุษ ทำให้พิธีกรรม ชุดความเชื่อต่าง ๆ ได้ถูกตัดทิ้งและแทนที่ด้วยคำสวด คำสอน คัมภีร์ไบเบิล โดยมีโบสถ์คริสต์เป็นศูนย์กลางของชุมชนและมีผู้นำบาทหลวงในการทำพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากนี้คำสอนคริสต์ศาสนาได้เข้ามีบทบาทในการแนะนำและกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตของชาวปกาเกอะญอ ดังคำสอนในคัมภีร์ว่า “หากใครทำมาก ขยันมาก จะได้กินมากและจะมีถวายให้พระเจ้ามาก” จะเห็นได้ว่าคำสอนเช่นนี้ทำให้ชาวปกาเกอะญอมีแนวทางในการกำหนดกรอบชีวิตของตนเองในการทำงานและปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตอีกด้วย


ด้านพื้นที่พบว่ามีการปรับใช้เพื่อปลูกกาแฟมากขึ้น มีการสร้างบ้านพักให้เป็นโฮมสเตย์ หรือพื้นที่รอบชุมชนจะพบว่ามีการถางเพื่อปลูกผักกะหล่ำปลี มัน ข้าวบาเลย์ และในพื้นที่ยังพบว่า ปัจจุบันมีการปลูกสร้างบ้านเรือนแบบสมัยใหม่มากขึ้น มีบ้านหลังใหญ่หลายหลังในหมู่บ้าน และมีถนนหนทางที่เดินทางสะดวก สิ่งเหล่านี้ทำให้วัฒนธรรม วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเริ่มหายไป ความทันสมัยได้เข้ามาแทนที่ เช่น ชาวบ้านนิยมดูโทรทัศน์และดูละคร รับวัฒนธรรมบริโภคนิยมมากขึ้น เกือบทุกบ้านมีรถยนต์ มอเตอร์ไซต์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่หันมาพูดภาษาไทยกันส่วนใหญ่ และรับอิทธิพลจากศึกษา ความรู้ มารยาทจากความเป็นไทย ทำให้ความเป็นปกาเกอะญอเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นิติพงษ์ ศรีระพันธ์. (2562). องค์ความรู้บ้านพอเพียงชนบทตำบลห้วยห้อม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://web.codi.or.th/

สุจิต เมืองสุข. (2563). บ้านห้วยห้อม กลางหุบเขา แม่ฮ่องสอน มีกาแฟ ฟาร์มแกะ และโฮมสเตย์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.technologychaoban.com/

สวท.แม่สะเรียง. (2564). คนเก่งแห่งแม่ฮ่องสอน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.facebook.com/RadioTHMaesariang90.5MHz/

องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยห้อม. (2560). ผ้าทอขนแกะห้วยห้อม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://www.huaihom.go.th/

Vacationist. (2565). บ้านห้วยห้อม แม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.vacationistmag.com/baanhuayhom/

อบต.ห้วยห้อม โทร. 0-5610-9147