Advance search

ทิ่ง พุ คี

1. มีลำคลอง ชื่อ “คลองหวาย”ไหลผ่านชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนบ้านคลองหวาย

2. วัดคลองหวาย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านคลองหวาย

3. มีต้นไทรขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี จำนวน 2 ต้น ขึ้นอยู่ข้างกัน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ต้นปู่ไทร” และ“ต้นย่าไทร”

7
บ้านคลองทราย
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
กิตติพัฒน์ อธิวัฒน์ธนาวงศ์
30 ก.ย. 2023
พรทิพย์ กำเหนิดแจ้ง
29 พ.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
6 เม.ย. 2024
บ้านคลองหวาย
ทิ่ง พุ คี

นายสมชาย คลองสุขสันต์ ปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มบ้านกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ชาวบ้านคลองหวายให้ความเคารพนับถือ เล่าให้ฟังว่า  ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านคลองหวาย เป็นกลุ่มชุมชนเล็ก ๆ ปัจจุบันมีประชากรเพียง 8 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านภูเหม็น หมู่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต เดิมทีหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 100 ครัวเรือน ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุข แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านเคารพรัก ถูกยิงตายกลางบ้านพัก สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้แก่ครอบครัวและญาติมิตรเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ผู้คนในชุมชนหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขวัญเสียไม่มีกำลังใจในการอยู่ต่อ จึงพากันย้ายไปอยู่หมู่บ้านอื่นกันหมด ส่วนใหญ่จะย้ายกลับไปอยู่บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ดังเดิม เพราะว่า 2 ชุมชนนี้อยู่ใกล้กัน ห่างกันเพียง 1 กิโลเมตร และมีบางส่วนที่ย้ายไปอยู่ไกลถึงตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่

ในชุมชนบ้างคลองหวายมีลำคลองอยู่สายหนึ่ง ชื่อ “คลองหวาย” เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนตลอดมา และในอดีตบริเวณนี้เป็นป่าดิบชื้น ทำให้มีต้นหวายจำนวนมากขึ้นอยู่สองฟากคลองตลอดสาย จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน “บ้านคลองหวาย” มาจนถึงปัจจุบัน


1. มีลำคลอง ชื่อ “คลองหวาย”ไหลผ่านชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนบ้านคลองหวาย

2. วัดคลองหวาย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านคลองหวาย

3. มีต้นไทรขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี จำนวน 2 ต้น ขึ้นอยู่ข้างกัน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ต้นปู่ไทร” และ“ต้นย่าไทร”

บ้านคลองทราย
7
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
61170
15.25570562
99.53218594
องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง

ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย หมู่ 7 ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจาก บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) หมู่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสองหมู่บ้านนี้อยู่ห่างกันเพียง  1 กิโลเมตรเท่านั้น ย้ายมาอาศัยอยู่บริเวณนี้กว่า 200 ปีแล้ว มีอยู่ช่วงหนึ่งในยุคที่หมู่บ้านนี้กำลังรุ่งเรืองถึงขีดสุด ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นได้ถูกลอบยิงเสียชีวิตคาบ้าน ไม่มีใครพบเห็นคนร้าย ผู้คนต่างหวานกลัวและเสียขวัญ ทั้งนี้เหตุการณ์สะเทือนดังกล่าว ก็เป็นสาเหตุให้ผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐานออกไปทีละน้อย ๆ อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 8 ครัวเรือน ซึ่งเป็นญาติสนิทกันจริง ๆ และได้ตัดสินใจอยู่หมู่บ้านคลองหวายต่อมาจนถึงทุกวันนี้ 

ด้วยชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์โอบล้อมชุมชน ผู้คนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน    อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข 

ชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ ไม่เคยมีเจ้าวัด ไม่มีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ทุกครอบครัวได้รักษาประเพณีวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงโปว์อยู่บ้าง แต่หลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ถ้าหากคนในชุมชนอยากจะเข้าร่วมในพิธีกรรมสำคัญของกะเหรี่ยงโปว์ เช่น พิธีไหว้เจดีย์ ก็จะเดินทางไปร่วมในพิธีไหว้เจดีย์ที่บ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ซึ่งมีเจ้าวัดถึง 3 คน หรือจะไปที่ชุมชนบ้านไซเบอร์ ซึ่งมีเจ้าวัด 1 คน 

ชุมชนแห่งนี้ อยู่ใกล้ ๆ กับวัดคลองหวาย แต่ผู้คนในชุมชนไม่ค่อยได้เข้าวัด สาเหตุเป็นเพราะว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพกรีดยาง ต้องตื่นกลางดึกมากรีดยางจนถึงเช้าตอนสาย ๆ กลางวันต้องนอนพักผ่อน จึงทำให้เวลาในการดำรงชีวิตนั้นไม่ตรงกับอาชีพอื่น ๆ และไม่สอดคล้องกับวิถีชาวพุทธที่จะต้องไปทำบุญแต่เช้า จึงทำให้การทำบุญที่วัดนั้นห่างไกลจากวิถีชีวิตผู้คนในชุมชน

ในชุมชนบ้านคลองหวายแห่งนี้ มีลำคลองที่มีชื่อเดียวกันกับชื่อหมู่บ้าน คือ “คลองหวาย” ซึ่งมีต้นน้ำ  ที่ไหลลงมาจากเทือกเขา “เขาค้อ” เป็นเทือกเขาที่อยู่ในพื้นที่ป่าตะวันตกแหล่งมรดกโลกห้วยขาแข้ง ไหลลงมารวมกับลำธารสายเล็ก ๆ หลายสาย รวมกันเข้าเป็นลำคลองสายนี้ มีประวัติศาสตร์ยาวนานและอยู่คู่กับชุมชนนี้มานานกว่า 200 ปี ปัจจุบันน้ำมีไม่มากดังเช่นแต่ก่อน ในฤดูแล้งน้ำลดลงมากจนถึงเกือบแห้งขอดคลอง แต่โดยรวมแล้วก็ยังมีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลน

ใจกลางชุมชนมีต้นไทรขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี จำนวน 2 ต้น ขึ้นคู่กันเด่นสง่าอยู่กลางหมู่บ้าน และมีถนนทางเข้าหมู่บ้านผ่านกลางระหว่างต้นไทรทั้งสองต้น ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นไม้คู่บุญบารมีของชุมชน เป็นรุกขมรดกที่สำคัญของชุมชน ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นปู่ไทร” “ต้นย่าไทร”

การคมนาคม
  • ระยะทางจากอำเภอถึงชุมชนบ้านคลองหวาย 15  กิโลเมตร
  • ระยะทางจากจังหวัดถึงชุมชนบ้านคลองหวาย  71  กิโลเมตร
  • ระยะทางจากกรุงเทพถึงชุมชนคลองหวาย 251 กิโลเมตร
  • เดินทางได้ทางบกทางเดียว คือ การคมนาคมสัญจรโดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ       ติดต่อกับ  บ้านหนองจอก หมู่  7  ตำบลห้วยคต อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

ทิศใต้        ติดต่อกับ  บ้านน้ำดี หมู่ 12 ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านชุมทหาร หมู่ 1 ตำบลห้วยคต อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ บ้านภูเหม็น หมู่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ ขนาดพื้นที่ชุมชน พื้นที่สาธารณะ การสาธารณูปโภคชุมชน

พื้นที่ชุมชนบ้านคลองเป็นพื้นที่ราบลุ่มเชิงเขา มีเนินเขาต่ำ ๆ จำนวนมาก ซึ่งมีความสลับซับซ้อนอยู่รายรอบชุมชน พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร และส่วนใหญ่ปลูกยางพารา จึงทำให้พื้นที่โดยทั่วไป   ดูเป็นสีเขียวร่มรื่นชุ่มชื้น พื้นที่ร้อยละ 10 เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ตั้งชุมชน และพื้นที่ร้อยละ 10 เป็นพื้นที่ป่า ภูเขา ลำคลองคลองหวาย และพื้นที่ป่าชุมชน ปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชน จำนวน 8 ครัวเรือน     

ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย มีลำคลอง ชื่อ “คลองหวาย” ไหลผ่านชุมชนบ้านคลองหวาย มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขา “เขาค้อ” อยู่ในบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง

กลุ่มคนที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านคลองหวายในอดีต เห็นว่าผืนดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์  มีเนินเขาและเชิงเขากว้าง ๆ ที่ไม่สูงชันมากนัก เหมาะแก่การทำไร่หมุนเวียนตามแบบวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยง จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชนอยู่ในบริเวณนี้จวบจนปัจจุบัน 

พื้นที่กิจกรรมทางสังคม ปัจจุบันชุมชนบ้านคลองหวาย ไม่มีเจ้าวัดหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ ดังนั้น คนในชุมชนบางส่วนจึงเดินทางไปร่วมพิธีไหว้เจดีย์ที่ชุมชนใกล้เคียงที่มีเจ้าวัด เช่น บ้านภูเหม็น บ้านไซเบอร์ หรือทางตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ ซึ่งเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงโปว์ 

สถานที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม ส่วนใหญ่จะมีการนัดพบพูดคุยหารือเรื่องสำคัญในบ้านของผู้อาวุโสของชุมชน หรือบ้านผู้นำชุมชน แต่หากเป็นการประชุมหารืออย่างเป็นทางการแล้ว จะไปประชุมกันที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่อำเภอห้วยคต 

ชาวบ้านนิยมทำการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา สับปะรด มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามสมัยนิยมและเป็นไปตามกลไกตลาด และพืชเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นพืชที่ทนแล้ง และให้ผลผลิตดี ช่วยเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้เข้มแข็งมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ

ประชากรทั้งหมด 34  คน แบ่งเป็น ประชากรชาย  18  คน ประชากรหญิง  16    คน ประชากรทั้งหมดเป็นเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ 34 คน  คิดเป็นร้อยละ 100

ประชากรในชุมชนทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั้งสิ้น อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน มีเพียงบางส่วนที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว 

โพล่ง

7.1 กลุ่มที่เป็นทางการ

7.1.1 กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต

นอดีตชุมชนบ้านคลองหวายเคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการออมทรัพย์ และใช้ในการระดมทุนไว้ให้คนในชุมชนได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทางการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ภายหลังมีกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองหวาย จึงเปลี่ยนไปเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านแทน 

7.1.2 กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ มีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ทุกครัวเรือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของครอบครัวสมาชิก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทายาทผู้เสียชีวิต ในการจัดงานศพ

7.1.3 กลุ่มสินเชื่อ ธ.ก.ส. ชาวบ้านมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มละ 4 – 5 คน ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการเกษตรกับ ธ.ก.ส. เพื่อนำมาประกอบอาชีพทางการเกษตร ปัจจุบันมี 2 กลุ่ม

7.2 กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ  

7.2.1 กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ 

มีการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการสำหรับกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ หลังจากเสร็จภารกิจจากการทำการเกษตร จะมานั่งรวมกันเป็นกลุ่มตามใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้ นั่งทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ซึ่งเป็น ผ้าทอมือที่ใช้กี่เอวในการทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการทอผ้าไว้ตัดเย็บเสื้อผ้าไว้สวมใส่ในครัวเรือน

7.2.2 กลุ่มประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรม

การทำพิธีกรรมในชุมชนบ้านคลองหวาย จะมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชน มีผู้อาวุโส  ที่ชาวบ้านนับถือทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ และมีสมาชิกของชุมชนเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน 

7.2.3 กลุ่มทำการเกษตร

ผู้คนในชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ 4 – 5 หลังคาเรือน ที่เป็นกลุ่มบ้านใกล้เรือนเคียงกัน จะมีการรวมตัวช่วยเหลือกันทางการเกษตร เช่น มีการรวมตัวกัน ลงแขกปลูกยางพารา ปลูกสับปะรด ปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้น

8.1 วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม

8.1.1 ประเพณีกินข้าวใหม่

หลังจากที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวไร่เสร็จ ก่อนที่จะนำข้าวไร่ขึ้นเก็บในยุ้งฉาง ทุกบ้านที่ปลูกข้าวไร่ จะมีการประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นรายครัวเรือน หรือบางกลุ่มอาจจะประกอบพิธีกรรม   กินข้าวใหม่เป็นกลุ่มญาติพี่น้อง โดยการจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร เชิญเจ้าวัดหรือผู้อาวุโสประกอบพิธี ด้วยการนำทุกคนในครอบครัวกล่าวขอบคุณและขอขมาเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ ที่มีส่วนโดยตรงในการทำให้  ข้าวไร่ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ

ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ข้าวไร่เป็นอาหารหลักของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ปัจจุบันประชากรร้อยละ 30 ยังคงทำข้าวไร่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเลี้ยงชีพคนในครอบครัว ดังนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว จึงยังคงถูกรักษาเอาไว้ได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ 

8.1.2 ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีลอยกระทงของคนไทยพื้นเมือง ซึ่งเป็นความสอดคล้องของผู้นำแห่งจิตวิญญาณที่ต้องการให้มีการขอขมาพระแม่คงคา    ที่ทำให้คนในชุมชนได้มีน้ำกินน้ำใช้ มีน้ำในการทำการเกษตรตลอดปี และถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของคนไทย เป็นวันลอยกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์ด้วย โดยลักษณะกระทงจะมี    ความแตกต่างจากกระทงของคนไทย คือ กระทงจะมีขนาดใหญ่เป็นทรงสี่เหลี่ยมทำมาจากต้นกล้วยและกาบกล้วย ในกระทงจะมีอาหารหวาน-คาว มีดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องสักการบูชาอื่น ๆ ตามสมควร ทั้งนี้       ทั้งหมู่บ้านจะทำเพียงกระทงเดียว และช่วยกันหามไปลอยกระทงในลำคลองคลองหวาย เพื่อขอขมาพระแม่คงคา

8.2 วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ 

8.2.1 การเตรียมดินเพาะปลูก

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม จะต้องมีการเตรียมดิน เช่น ถากถางวัชพืช หลังเก็บเกี่ยว เผาซากวัชพืช ไถบุก ไถแปรพลิกหน้าดินขึ้นมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่สะสมใต้ดิน และฆ่าไข่ของตัวหนอนและเพลี้ยชนิดต่าง ๆ ที่เป็นศัตรูพืช เพื่อให้ดินมีความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกรอบใหม่ 

8.2.2 การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมหากฝนตกต้องตามฤดูกาลชาวบ้านก็จะทำการเพาะปลูกพืชในไร่ หลังจากนั้นเกษตรกรจะดูแลพืชผลทางการเกษตรต่อไปอีกราว ๆ 4 – 6 เดือน จึงจะได้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละชนิด 

8.2.3 การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร

เมื่อพืชผลทางการเกษตรได้เวลาที่จะต้องเก็บเกี่ยว ราว ๆ เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม โดยเฉพาะข้าวไร่ ชาวบ้านจะทำการ เกี่ยวข้าวชุดหนึ่งมาทำพิธีกินข้าวใหม่ เสร็จแล้วจึงจะเก็บเกี่ยวข้าวไร่ทั้งหมดที่ยังอยู่ในไร่มาเก็บไว้ในยุ้งฉาง เพื่อเอาไว้บริโภคภายในครัวเรือนตลอดระยะเวลา 1 ปี จนกว่าจะมีผลผลิตรอบใหม่ ส่วนพืชผลชนิดอื่น ๆ ที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ ในปัจจุบันไม่มีพิธีกรรมใด ๆ เพราะจะเป็นการเพาะปลูกตามฤดูกาล เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีรถของพ่อค้าคนกลางมาจอดรับผลผลิตของชาวบ้านถึงในไร่ 

1. นายขันธุ์ นามสกุล เยปอง อายุ 57 ปี  เกิด 2509

ที่อยู่บ้านเลขที่ 66 ชุมชนบ้านคลองหวาย หมู่ 7 บ้านคลองหวาย ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี

นายขันธุ์ เยปอง เป็นปราชญ์ชาวบ้านการทำการเกษตร มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำการเกษตรสำหรับพืชทุกชนิด โดยเฉพาะยางพารา  สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับลูกบ้านที่เพิ่งเริ่มต้นทำการเกษตรได้นอกจากนี้ ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน สามารถจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน และสอนการทำเครื่องจักสานได้ รวมถึงทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตามแบบวิถีชาวกะเหรี่ยงโปว์ได้อีกด้วย

ชีวประวัติ

นายขันธุ์ เยปอง เกิดที่บ้านคลองหวายแห่งนี้ ไม่ได้เรียนหนังสือภาคบังคับ เพราะสมัยนั้นไม่มีโรงเรียนต่อมาได้เรียนศึกษาผู้ใหญ่จนจบ ป. 4 เติบโตขึ้นที่บ้านคลองหวาย และได้แต่งงานกับลูกสาวผู้ใหญ่บ้านตอนอายุ 22 ปี ต่อจากนั้นไม่นานผู้ใหญ่บ้านถูกฆาตกรรมถูกยิงตายคาบ้าน ทำให้ผู้คนขวัญเสียทยอยย้ายไปอยู่หมู่บ้านอื่น ทำให้ตนเองตัดสินใจพาครอบครัวย้ายไปอยู่ที่ชุมชนกะเหรี่ยงแก่นมะกรูด 3 ปี คือ ปีพ.ศ. 2531 – 2533 หลังจากนั้นจึงย้ายกลับมาที่บ้านคลองหวายอีกครั้ง และดำรงวิถีชีวิตอยู่ที่นี่จวบจนถึงปัจจุบัน มีบุตรธิดา 5 คน เป็นหญิง 1 คน ชาย 4 คน ปัจจุบันเริ่มมีหลาน ๆ วิ่งเล่นในบ้านแล้ว

เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดในการใช้ชีวิตที่ชุมชนบ้านคลองหวายแห่งนี้ คือ ตอนที่ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นพ่อตาของตนได้ถูกฆาตกรรม ถูกปืนยิงตายคาบ้าน ในปี พ.ศ. 2530 นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลดและสะเทือนขวัญ  มากที่สุด ส่งผลให้ผู้คนย้ายออกจากบ้านคลองหวายจนเกือบหมด จาก 100 ครัวเรือน เหลือเพียงลูกหลานของผู้ใหญ่ที่ปักหลักอยู่ที่ชุมชนคลองหวายแห่งนี้เพียง 8 ครัวเรือน จนถึงปัจจุบัน 

2. นายสมชาย คลองสุขสันต์ อายุ 52 ปี เกิด 5 กรกฎาคม  2514

ที่อยู่บ้านเลขที่ 67 ชุมชนบ้านคลองหวาย หมู่ 7 บ้านคลองหวาย ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี

นายสมชาย คลองสุขสันต์ เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำการเกษตร เชี่ยวชาญในงานเกษตรหลายสาขา เป็นที่ปรึกษาด้านการทำสวนยางพาราให้แก่ชาวบ้าน เป็นที่ปรึกษาทางการเมืองในระดับชุมชนให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง เป็นที่ปรึกษาให้กับลูกหลานในการครองตนและครองเรือนแบบวิถีชีวิต    ชาวกะเหรี่ยงโปว์ 

ชีวประวัติ

นายสมชาย คลองสุขสันต์ เกิดที่บ้านดง ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ต่อมาคุณพ่อได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านคลองหวายตอนที่นายสมชายยังเป็นเด็กอายุได้ประมาณ 10 ขวบ หลังจากนั้นได้เดินทางไปบวชเป็นสามเณรเพื่อโอกาสในการเล่าเรียน ณ จังหวัดปทุมธานี จนจบนักธรรมโท ในระหว่างนั้นได้ถูกใส่ร้ายว่าลักทรัพย์หลวงพ่อเจ้าอาวาส ทำให้ตนมีความเจ็บปวดทรมานใจในสิ่งที่ตนไม่ได้ทำ เป็นตราบาปอยู่ในใจตลอดมา จึงตัดสินใจลาสิกขากลับมาอยู่บ้านคลองหวาย ทำการเกษตรตามวิถีกะเหรี่ยงโปว์จนเติบใหญ่ และได้แต่งงานคลองเรือนตอนอายุ 23 ปี ปัจจุบันมีบุตรด้วยกัน 3 คน บุตรคนแรกเรียนจบระดับปริญญาตรี ทำงานอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง บุตรคนที่ 2 กำลังเรียนอยู่ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และบุตรคนเล็กเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนห้วยคตพิทยาคม อำเภอห้วยคต

เหตุการณ์ที่ทรมานจิตใจ คือ เหตุการณ์ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีในสมัยที่ไปบวชสามเณรเรียนหนังสือ ได้ตัดสินใจลาสิกขาออกมาทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ และยังไม่ได้กราบลาหลวงพ่อเจ้าอาวาส ซึ่งท่านเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีใจเมตตามาก และท่านก็เอ็นดูสามเณรสมชายเป็นพิเศษ จนปัจจุบันนี้หลวงพ่อท่านได้มรณภาพไปแล้ว ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านอีก เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ทีไรก็เจ็บปวดทุกครั้งไม่เคยลางเลือนไปจากใจเลย คงจะเป็นตราบาปที่ไม่มีวันลบเลือนจนตราบสิ้นชาตินี้ นายสมชายกล่าว

เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดในการใช้ชีวิตที่ชุมชนบ้านคลองหวายแห่งนี้ คือ ตอนที่ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นพ่อแท้ ๆ ของตนได้ถูกฆาตกรรม ถูกปืนยิงตายคาบ้าน ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2530 นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลดและเจ็บปวดใจมากที่สุดที่ได้สูญเสียบุพการีอันเป็นที่รักไป ที่สำคัญไม่ได้จากไปตามวิถีธรรมชาติ แต่จากไปด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองท้องถิ่นหรือธุรกิจก็ไม่อาจทราบได้ ทุกวันนี้ก็จับคนร้ายไม่ได้ เหตุการณ์นี้จึงเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดในรอบ 2 ศตวรรษ ของชุมชนบ้านคลองหวายแห่งนี้ ส่งผลให้ผู้คนในชุมชนทยอยย้ายออกจากบ้านคลองหวายจนเกือบหมด จาก 100 ครัวเรือน เหลือเพียงลูกหลานของพ่อของตนซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่เสียชีวิต  ที่ปักหลักต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ อยู่ที่ชุมชนคลองหวายแห่งนี้เพียง 8 ครัวเรือน ไม่ย้ายไปไหนจนถึงปัจจุบัน 

1. ทุนทางกายภาพ 

1.1 ลำคลอง ประวัติความเป็นมา “คลองหวาย” เป็นแหล่งน้ำที่มีต้นน้ำอยู่ในพื้นที่เขตป่าตะวันตกมรดกโลกห้วยขาแข้ง ชื่อว่าเทือกเขาเขาค้อ ไหลลงมาผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายแห่งนี้ ดังนั้น ลำคลองคลองหวายจึงเป็นแหล่งน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนบ้านคลองหวายมาหลายต่อหลายชั่วอายุคนมาอย่างยาวนาน 

ช่วงเวลาที่สำคัญ “คลองหวาย” ในฤดูแล้งบางปีน้ำในลำคลองแทบจะแห้งสนิทจนแทบไม่มีน้ำไว้บริโภค ไม่มีน้ำทำการเกษตร ส่วนช่วงฤดูฝนในบางปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก น้ำในลำคลองก็มีปริมาณมากเป็นพิเศษ แต่ยังไม่เคยหลากท่วมเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน “คลองหวาย” เป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำเกษตร ผู้คนในชุมชนมีความผูกพันกับลำคลองสายนี้มาอย่างยาวนาน 

สถานการณ์ปัจจุบัน “คลองหวาย” เป็นลำคลองขนาดเล็กที่ไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์   บ้านคลองหวายและชุมชนใกล้เคียงอีกหลายสิบชุมชน เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของผู้คนในชุมชน บางปีน้ำแล้ง   น้ำก็แห้งขอดคลอง ชาวบ้านจึงแก้ปัญหาน้ำแล้งด้วยการขุดบ่อน้ำบาดาล แล้วใช้น้ำบาดาลในการบริโภคและการทำการเกษตรมากกว่าการใช้น้ำในลำคลอง

การสืบทอดและความยั่งยืน “คลองหวาย” มีปริมาณน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผืนป่าต้นน้ำและผืนป่าที่อยู่ระหว่างทางที่ลำคลองไหลผ่าน มีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถที่จะดูดซับความชุ่มชื้นของสายน้ำสายนี้เอาไว้ได้ตลอดปี ในฤดูแล้งจึงมีน้ำในลำคลองน้อยมากจนเกือบแห้ง จึงสามารถพูด  ได้ว่าการรักษาทรัพยากรต้นน้ำไม่ค่อยดี ควรเร่งให้มีการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไปกับการทำการเกษตรโดยเร่งด่วน

1.2 ป่าสงวนแห่งชาติ  ประวัติความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ. 2528 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีหลายชุมชน รวมถึงชุมชนกะเหรี่ยงบ้านคลองหวายแห่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยทำมาหากินและเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชนเผ่าแห่งกะเหรี่ยงชนอย่างอิสรเสรี หลังจากที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแล้ว  รัฐได้จัดสรรให้ชาวบ้านได้มีที่ทำกินในพื้นที่ของตนเองเพียงครัวเรือนละ 25 – 30 ไร่ และห้ามไม่ให้ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงอีกต่อไป 

ช่วงเวลาที่สำคัญ เมื่อปี พ.ศ. 2528 หลังการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งระหว่างกฎหมายรัฐกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในหลายพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานี รวมถึงชุมชนบ้านคลองหวายมาจนถึงปัจจุบัน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโปว์รู้ดีว่าคุณค่าของป่าไม้มีมากมายเพียงใด   ดังคำพูดที่ว่า “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” และ “ที่ไหนมีกะเหรี่ยงที่นั่นมีป่า” เพราะชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักป่ามากที่สุด ดังจะเห็นได้ว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงทุกหมู่บ้านจะมีป่าชุมชนหรือป่าตามภูเขาอยู่เสมอ 

สถานการณ์ปัจจุบัน แม้ปัจจุบันนี้ป่าชุมชนหรือป่าไม้ตามไหล่เขาและบนภูเขารอบ ๆ ชุมชน   จะลดลงไปมากหากเทียบกับป่าในอดีต แต่ก็ยังเหลือพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 10 – 15 ของพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน และที่สำคัญชุมชนนี้ทำสวนยางพาราเป็นจำนวนมาก จึงทำให้พื้นที่นี้ชุ่มชื้นและเป็นสีเขียวเต็มพื้นที่ตลอดปี เพียงพอที่จะเก็บรักษาความชุ่มชื้นของระบบนิเวศให้เกิดความสมดุลแก่ชุมชนสืบไป 

2. ทุนมนุษย์ 

ชุมชนบ้านคลองหวายมีปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนหลายคน เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีคุณค่า บางคนมีความรู้เรื่องการทำการเกษตร บางคนมีความรู้เรื่องพิธีกรรมและความเชื่อ บางคนมีความรู้เรื่องสมุนไพร เป็นต้น สามารถที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ชุมชนบ้านคลองหวายซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขร่มเย็นตลอดมา

ช่วงเวลาที่สำคัญ ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นคุณพ่อของนายสมชาย คลองสุขสันต์ เสียชีวิตจากไป ชุมชนที่เคยเจริญรุ่งเรืองมีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 100 หลังคาเรือน ก็เงียบเหงาดุจต้องคำสาป ผู้คนในชุมชนย้ายออกไปเกือบหมดจนเหลือเพียงญาติสนิทและลูกหลานของผู้ใหญ่บ้านผู้อาภัพ จำนวน 8 หลังคาเรือน อยู่เฝ้าดูแลทรัพย์สินที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างเอาไว้ สืบทอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยเพียงแต่หวังว่าสักวันหนึ่งชุมชนแห่งนี้จะกลับมารุ่งเรืองเหมือนดังเดิม 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านทุกคนเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อชุมชนอย่างอเนกอนันต์ เป็นที่พึ่งทางกายด้วยการเป็นหมอสมุนไพร ได้ช่วยชาวบ้านยามทุกข์ร้อนเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นที่พึ่งทางใจด้วยการเป็นที่ปรึกษาด้านการประกอบพิธีกรรม รวมถึงผู้อาวุโสในชุมชนหลายคนที่ช่วยทำให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข 

สถานการณ์ปัจจุบัน ปราชญ์ชาวบ้านหลายคนอายุมากแล้ว ผู้นำชุมชนควรเร่งดำเนินการจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านไปสู่ลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่โดยเร็ว ก่อนที่องค์ความรู้เหล่านี้จะสูญหายไปตลอดกาล

การสืบทอดและความยั่งยืน ต้องยอมรับตรง ๆ ว่าไม่ค่อยได้มีถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมุนไพร ประเพณีวัฒนธรรม วิถีการทำไร่หมุนเวียน เครื่องจักสาน รวมถึงไม่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องศิลปะการแสดงพื้นบ้าน บทเพลงพื้นบ้าน และนิทานพื้นบ้านให้แก่ลูกหลาน หากไม่เร่งดำเนินการถ่ายทอดให้ลูกหลานโดยเร็ว เกรงว่าอาจสูญหายไปอย่างถาวร ซึ่งถือได้ว่ายังไม่มีความยั่งยืน

3. ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น 

3.1 การทอผ้ากะเหรี่ยงและเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายในอดีตทุกบ้านทอผ้าเป็น และมีการทอผ้าอยู่เสมอ แต่ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงโปว์อยู่เป็นประจำ แต่ทุกคนมีชุดกะเหรี่ยงของตนเองติดบ้านไว้ หากแม้นเมื่อไหร่ที่ผู้นำชุมชนต้องการให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยง ทุกคนพร้อมที่จะหยิบขึ้นมาสวมใส่ได้ทันที เพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์

ช่วงเวลาที่สำคัญ การแต่งกายด้วยผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย จะแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงโปว์เต็มรูปแบบโดยพร้อมเพรียงกัน ในหลายวาระ เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ งานไหว้เจดีย์ของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านใกล้เคียง เป็นต้น

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน  เครื่องแต่งกายและการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงโปว์ เป็นเครื่องแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และมอบไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อ ๆ กันไป ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยได้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ทุกคนมีความรักและมีความผูกพันกับเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงโปว์ และมีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนทุกครั้งที่ได้สวมใส่ 

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายทุกคนเข้าใจอัตลักษณ์ของตน ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน อัตลักษณ์การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี

3.2 อาหารกะเหรี่ยง มีประวัติความเป็นมา คือ ชาวกะเหรี่ยงโปว์มีวัฒนธรรมด้านอาหารการกินเป็นของตนเอง ได้ร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดเรื่องอาหารการกินของชาวกะเหรี่ยงโปว์ และได้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่จากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้ทุกครัวเรือนยังคงทำอาหารกะเหรี่ยงเป็น 

ช่วงเวลาที่สำคัญ การทำอาหารกะเหรี่ยงนั้นทำได้ง่าย ทำได้ทุกวันและทุกฤดูกาล เป็นรายการอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงได้ง่ายในท้องถิ่น มีขั้นตอนและวิธีการปรุงที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน อาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายมีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ มีการสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน และมีการถ่ายทอดสู่ลูกหลานในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง 

สถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายจะได้รับอิทธิพลเรื่องอาหาร   การกินจากโลกภายนอกอย่างมากมาย ทำให้ชาวกะเหรี่ยงวัยกลางคนและเยาวชนคนรุ่นใหม่หันไปทำอาหารไทยและอาหารสากลกันมาก แต่เชื่อได้ว่าชาวกะเหรี่ยงโปว์จะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารการกินเอาไว้ได้

การสืบทอดและความยั่งยืน ปัจจุบันนี้ชาวกะเหรี่ยงโปว์รุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่รุ่นย่ายังคงสอนลูกหลานให้ดำรงวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารของกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย จะดำรงคงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

3.3 ขนบธรรมเนียมประเพณีกะเหรี่ยงโปว์  ประวัติและความเป็นมา ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนบ้านคลองหวายในปัจจุบันนี้สูญหายไปจนเกือบหมดสิ้น เพราะชุมชนแห่งนี้อยู่ปะปนกับชุมชนของคนไทยพื้นเมืองที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ บ้างก็เป็นนายทุนที่มาซื้อที่ดินปลูกยางพารา บ้างก็มารับจ้างนายทุนกรีดยางพารา มาอยู่อาศัยรอบ ๆ พื้นที่และอยู่ปะปนกับกลุ่มพี่น้องกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย ทำให้ชาวกะเหรี่ยงคลองหวายได้รับอิทธิพลในการใช้ชีวิตจากชุมชนเมืองค่อนข้างมาก ทำให้ความเชื่อและความศรัทธาแห่งวิถีกะเหรี่ยงโปว์ดั้งเดิมสูญหายไปจนเกือบหมดสิ้น 

ช่วงเวลาที่สำคัญ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายมีการดำรงชีวิตด้วยวิถีวัฒนธรรมแบบกะเหรี่ยงโปว์ตามแบบอย่างบรรพบุรุษได้เล็กน้อย เพราะมีวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิต   ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายอย่างหนักในปัจจุบัน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายพยายามยื้อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ แต่ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมจากภายนอกได้ล้อมกรอบชุมชนเอาไว้และบีบรัดมากเหลือเกิน จนชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายสูญเสียวัฒนธรรมกะเหรี่ยงไปจนแทบหมดสิ้น 

สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนบ้านคลองหวายจะมีการรวมตัวกันเพื่อจัดงานประเพณีวัฒนธรรมตามปฏิทินประเพณีและพิธีกรรมที่ชุมชนได้ตกลงร่วมกันเพียงเล็กน้อย เช่น การไปร่วมพิธีไหว้เจดีย์ที่บ้านภูเหม็น หรือไปร่วมพิธีกรรมอื่น ๆ กับชุมชนใกล้เคียง

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายแทบจะอนุรักษ์สืบสานรากฐานวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงเอาไว้ไม่ได้เลย ด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป และวัฒนธรรมจากภายนอกที่โหมกระหน่ำสู่ชุมชนกะเหรี่ยงกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้อย่างหนัก จึงทำให้วัฒนธรรมกะเหรี่ยงถูกกลืนกินหายไปจนเกือบหมดสิ้น แต่ยังดีที่ชุมชนบ้านคลองหวายอยู่ใกล้กับชุมชนกะเหรี่ยงโปว์หมู่บ้านใหญ่ คือ บ้านภูเหม็น(พุเม้ยง์) ซึ่งเป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่มีประชากรเกือบ 200 หลังคาเรือนในปัจจุบัน ยังคงรักษาวัฒนธรรมกะเหรี่ยงเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ จึงทำให้ชุมชนบ้านคลองหวายแห่งนี้ไปร่วมพิธีกรรมกับบ้านภูเหม็นอยู่บ่อย ๆ ทำให้ยังไม่ลืมวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ซึ่งเป็นรากเหง้าของตนเอง ถือได้ว่ามีความมั่นคงยั่งยืนในระดับหนึ่ง

4. ทุนทางเศรษฐกิจ 

พืชเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมา ในอดีตบรรพบุรุษของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายแห่งนี้นิยมปลูกข้าวไร่เป็นหลัก ที่สำคัญเป็นการปลูกข้าวไร่ตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงที่เรียกว่าการทำไร่หมุนเวียน เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้กินในครัวเรือน ไม่ได้ปลูกเพื่อการจำหน่าย 

ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่ผู้ใหญ่บ้านคนสำคัญในประวัติศาสตร์ได้ถูกฆาตกรรมถูกยิงตายคาบ้าน ผู้คนในชุมชนได้ย้ายหนีไปซบอกญาติพี่น้องที่ชุมชนอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง ไปอยู่กับญาติต่างอำเภอและต่างจังหวัดกันหมด ผู้คนได้ขายที่ดินทำกินให้กับนายทุนจนหมดสิ้น นายทุนได้นำพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนเหล่านี้มาปลูกยางพาราแบบเต็มพื้นที่ ส่วนชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ยังคงอยู่บ้านคลองหวายก็เปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรจากการปลูกข้าวในไร่หมุนเวียน มาเป็นสับปะรดบางส่วน มันสำปะหลังบางส่วน อีกส่วนหนึ่งก็ทยอยปลูกยางพาราตามนายทุน ทำให้สวนยางพารากระจายตัวออกไปเต็มพื้นที่ในที่ดินของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่เคยทำมาหากินกันในอดีต

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผู้คนปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน หรือปัจจุบันที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อจำหน่ายและนำเงินมาเลี้ยงชีพ ทั้งสองแนวทางล้วนมีคุณค่าและมีความหมายในตัวเอง 

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก สับปะรด มันสำปะหลัง และยางพารา เป็นต้น แต่จะเป็นยางพารามากที่สุด เพราะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

การสืบทอดและความยั่งยืน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปในอนาคตอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

5. ทุนทางสังคม/การเมือง 

การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประวัติความเป็นมา คือ จากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ด้วยการไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง และปฏิบัติตามธรรมนูญของชุมชนอย่างเข้มแข็ง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความเคารพในระบอบประชาธิปไตย

ช่วงเวลาที่สำคัญ ตั้งแต่ที่ชุมชนแห่งนี้มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการที่ภาครัฐได้แต่งตั้งให้ดูแลชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพและยอมรับในตัวผู้นำชุมชนทุกรุ่นทุกยุคทุกสมัย รวมถึงในระยะหลังที่ภาครัฐกำหนดให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ไม่เคยมีปัญหาหรือความขัดแย้งในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเคารพในกติกาของบ้านเมือง มีส่วนร่วมทางการเมือง และยอมรับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชุมชนแห่งนี้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการปกครองโดยผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือ และทุก ๆ ครั้งที่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ทุกคนพร้อมเรียนรู้

และปรับตัวกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรู้คุณค่า สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย เป็นชุมชนขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 8 ครัวเรือน ภาครัฐต้องนำจำนวนประชากรไปนับรวมกับกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม จึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในนามของหมู่ที่ 7 บ้านคลองหวาย ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี โดยผู้คนในชุมชน  ส่วนใหญ่เป็นคนไทยพื้นเมือง 

การสืบทอดและความยั่งยืน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย มีการสืบทอดการเมืองและการปกครองมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีความขัดแย้ง และไม่เคยเสียเลือดเนื้อกับการเปลี่ยนแปลง  การปกครองในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ถือได้ว่าการเมืองการปกครองของชุมชนมีความมั่นคงยั่งยืน

ภาษาพูดพื้นถิ่น ได้แก่ ภาษากะเหรี่ยงโปว์ เป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในครัวเรือนและใช้ในการสื่อสารกันในชุมชนบ้านคลองหวาย และใช้ในการสื่อสารกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์จากท้องถิ่นอื่น ๆ           

ภาษาเขียน ได้แก่ ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันนี้ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายไม่มีใครเขียนภาษากะเหรี่ยงโปว์ได้

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายในปัจจุบัน ไม่มีผู้ที่สามารถใช้ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ได้เลย เนื่องจากเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์และประชาชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่มีโอกาสได้รับการศึกษาภาคบังคับจากรัฐบาล 

สำหรับภาษาพูดกะเหรี่ยงโปว์ ยังคงมีประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์ร้อยละ 50 ที่สามารถพูดได้ โดยเฉพาะวัยกลางคนไปจนถึงวัยอาวุโส ส่วนวัยรุ่นและเยาวชนไม่สามารถพูดได้ ส่วนใหญ่นิยมพูดภาษาไทย 


ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกมีการปกครองโดยผู้นำชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ เป็นผู้อาวุโสหรือปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่ยอมรับในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายเป็นผู้ปกครองดูแลทุกข์สุขและความสงบเรียบร้อยในชุมชน ต่อมามีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านจากภาครัฐมาดูแลราษฎร และภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มาช่วยผู้ใหญ่บ้านในการพัฒนาชุมชน 

การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ 

ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายเป็นชุมชนที่ผู้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี ความผูกพัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดมานับตั้งแต่มีการก่อตั้งชุมชน ดังนั้น      ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุบ้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ภัยคุกคาม ราคาพืชผลทางการเกษตร คนในชุมชนจะมีความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันแก้ไขวิกฤติต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไป เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

แนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทาย

ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง และผู้นำที่เป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญในแต่ละด้าน     จะเป็นแกนนำในการเชิญสมาชิกลูกบ้านประชุม เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 

การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

ในชุมชนมีเครือข่ายที่เป็นทางการเล็กน้อย และส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ ชุมชนยังคงมีการสร้างเครือข่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเครือข่ายที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อขับเคลื่อน   วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์ให้สงบสุขร่มเย็นสืบไป 

บทบาทของหน่วยงาน/องค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม

จากอดีตถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายหลายหน่วยงาน เช่น อำเภอห้วยคต องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เกษตรอำเภอห้วยคต เป็นต้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น  สถาบันธรรมชาติพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในพัฒนาชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวาย


มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอดีตถึงปัจจุบัน จากอดีตเป็นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ ต่อมาชาวบ้านถูกจำกัดที่ดินทำกิน เนื่องจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ เพื่อหาเงินซึ่งเป็นปัจจัยหลักมาใช้ในการเลี้ยงชีพ 


ประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายมีการเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงเวลา กล่าวคือ ในระยะแรกที่มีชาวกะเหรี่ยงโปว์เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกินในบริเวณบ้านคลองหวายแห่งนี้  มีเพียงไม่กี่ครัวเรือน ต่อมามีผู้คนย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้น จำนวนกว่า 100 หลังคาเรือน เมื่ออดีตผู้ใหญ่บ้าน คนสำคัญได้ถูกฆาตกรรมถูกยิงตายคาบ้านในปี พ.ศ. 2530 ทำให้ผู้คนหวาดกลัวและย้ายไปอยู่ชุมชนใกล้เคียง ต่างอำเภอ และต่างจังหวัดกันหมด ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 8 หลังคาเรือนเท่านั้น


ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายย้ายมาจากหลายพื้นที่ทั้งในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่มีสิทธิในสัญชาติอยู่แล้วก่อนย้ายมาอยู่ที่ชุมชนบ้านคลองหวาย ผู้คนในชุมชนจึงไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิในสัญชาติ ดังนั้น ทุกคนจึงมีสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย มีบัตรประชาชน มีสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานครบถ้วนทุกประการ รวมถึงได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเทียบเท่าประชาชนคนไทยทุกคน 


ในอดีตที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายยังมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์อยู่นั้น ระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ไม่มี แต่ชุมชนก็อาศัยภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ต่อมาเมื่อชุมชนบ้านคลองหวายมีประชากรมากขึ้น รัฐจึงเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องระบบสาธารณูปโภคด้วยการทำประปาหมู่บ้าน ทำถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน ติดตั้งระบบไฟฟ้า ติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีอินเตอร์เน็ตใช้ ทำให้มีระบบสาธารณูปโภคอยู่ในระดับที่ดี 


ในอดีตระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน จึงทำให้คนในชุมชนต้องเสียชีวิตด้วยโรคระบาดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันชาวบ้านคลองหวายได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเกี่ยวกับการสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทุกคน จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและปัจจุบันนี้ชาวบ้านมีห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขอนามัยครบทุกครัวเรือน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก


ในอดีตเยาวชนชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายได้รับการศึกษาในลักษณะการศึกษาผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่มีโรงเรียนในชุมชน เยาวชนส่วนหนึ่งไปเรียนต่อที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชัยนาทซึ่งเป็นจังหวัดติดต่อกัน ต่อมามีการสร้างโรงเรียนบ้านคลองหวาย สร้างศูนย์เด็ก ทำให้เด็กและเยาวชนทุกคนในชุมชนบ้านคลองหวายได้รับการศึกษาภาคบังคับ เด็กและเยาวชนที่มีความประสงค์จะเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะไปเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ส่วนมากจะเรียนจบร้อยละ 80 และเยาวชนบางส่วนจะได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีประมาณร้อยละ 10 ทำให้เยาวชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น


ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองหวายส่วนหนึ่งปรารถนาที่จะให้คนในชุมชนร่วมกันรักษา อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ให้คงอยู่ ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่มีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ต้องยอมรับว่าไม่สามารถทัดทานวัฒนธรรมจากภายนอกได้ ซึ่งวัฒนธรรมจากภายนอกชุมชนนั้น มีความทันสมัยและเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด สามารถเข้ามาแทรกซึมวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ค่อย ๆ เลือนหายไปจนเกือบหมดสิ้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและผู้นำชุมชนว่าจะมีวิธีอนุรักษ์สืบสานอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างไร  


ตามคำพูดที่กล่าวว่า “ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั่นมีป่า” และ “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” ในอดีตนั้นอาจจะใช่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป ดังเช่น ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์แห่งนี้ ในยุคบุกเบิกยอมรับว่าที่ดินผืนนี้เป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มากจริง ๆ จากระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 2 ศตวรรษ ผืนป่าตามธรรมชาติและผืนป่าชุมชนเหลือเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ และราษฎรในพื้นที่ว่าจะมีวิธีบริหารจัดการพื้นที่ทำกินและผืนป่าเสื่อมโทรมให้เกิด  ความสมดุลทางระบบนิเวศได้อย่างไร 


ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล