Advance search

กลุ่มบ้านภูเหม็นโท

1. มีลำห้วยภูเหม็นไหลผ่าน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนบ้านภูเหม็นโท

2. วัดคลองแห้งวัฒนาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน

1
บ้านคลองแห้ง
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
กิตติพัฒน์ อธิวัฒน์ธนาวงศ์
30 ก.ย. 2023
พรทิพย์ กำเหนิดแจ้ง
27 พ.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
6 เม.ย. 2024
บ้านคลองแห้ง
กลุ่มบ้านภูเหม็นโท

ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท เป็นกลุ่มชุมชนเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 12 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านภูเหม็น หมู่ 8 ตำบลทองหลาง เดิมทีมีคนกลุ่มหนึ่งตั้งใจจะมาสร้างบ้านเล็ก ๆ อยู่กลางไร่ของตัวเอง เพื่อเฝ้าไร่และไล่สัตว์ที่มากินพืชผลในตอนกลางคืน ต่อมาพื้นที่บริเวณนี้มีความเจริญมากขึ้น มีถนนสายหลักตัดผ่านหน้าชุมชน คือ ถนนสายอำเภอบ้านไร่ – อำเภอลานสัก กลุ่มคนกลุ่มนี้จึงตัดสินใจย้ายบ้านจากบ้านภูเหม็น หมู่ 8 ตำบลทองหลาง มาอยู่ที่ชุมชนนี้ถาวรซึ่งขึ้นอยู่กับหมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ราว ๆ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งใช้ชื่อชุมชนว่า “ภูเหม็นโท” สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะว่าคนกลุ่มนี้ย้ายมาจากบ้านภูเหม็น ก็เปรียบเสมือนเป็นชุมชนภูเหม็นแห่งที่ 2  และในชุมชนนี้ มีลำห้วยชื่อว่า “ลำห้วยภูเหม็น” ไหลผ่านชุมชนภูเหม็นโทก่อนที่จะไหลไปที่หมู่บ้านภูเหม็น หมู่ 8 ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาบริเวณป่าตะวันตกแหล่งมรดกโลกห้วยขาแข้ง จึงใช้ชื่อชุมชนว่า “บ้านภูเหม็นโท” มาจนถึงปัจจุบัน


1. มีลำห้วยภูเหม็นไหลผ่าน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนบ้านภูเหม็นโท

2. วัดคลองแห้งวัฒนาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน

บ้านคลองแห้ง
1
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
61170
15.30372509
99.47838753
องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง

ชาวกะเหรี่ยงโปว์ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) หมู่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต        มาอาศัยอยู่บริเวณนี้กว่า 5 ทศวรรษแล้ว มีแต่ญาติพี่น้องที่สนิทกันเท่านั้นที่ย้ายมาอยู่ด้วยกัน และด้วยความที่กลุ่มชนกะเหรี่ยงที่ย้ายมานี้เป็นชาวภูเหม็น จึงใช้ชื่อชุมชนว่า “ภูเหม็นโท” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นชุมชนบ้านภูเหม็นแห่งที่ 2 ชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายในกลุ่มเล็ก ๆ จำนวน 12 ครัวเรือน ขึ้นตรงกับหมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต อยู่ห่างจากชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง 3 กิโลเมตร

ชุมชนแห่งนี้ มีวัดคลองแห้งวัฒนารามเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นที่ประกอบศาสนกิจทางพระพุทธศาสนา และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชน ปัจจุบันนี้มีพระสงฆ์จำวัดจำนวน 5 รูป 

เยาวชนจากชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท จะมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านคลองแห้งวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 นอกจากนี้ ยังมีศูนย์เด็กเล็กบ้านคลองแห้งที่รับเด็กก่อนวัยเรียนอีกด้วย จึงถือว่าเป็นความโชคดีของชุมชนแห่งนี้ ที่มีสถานศึกษารองรับบุตร

ชุมชนแห่งนี้มีแหล่งบริการทางสาธารณสุขใกล้บ้าน จำนวน 1 แห่ง ในอดีตเรียกกันว่า “สถานีอนามัยบ้าน    คลองแห้ง” แต่ปัจจุบันได้รับการยกระดับเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล” เป็นสถานพยาบาลที่ดูแลชาวกะเหรี่ยงในชุมชนบ้านคลองแห้งและชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านไซเบอร์ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านคลองเคียน ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นโท และชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกุดจะเลิด เป็นต้น 

การคมนาคมสัญจร ในอดีตชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทแห่งนี้ยังไม่มีถนนหนทางที่สะดวกในการเดินทางสัญจร มีถนนลูกรังสายอำเภอบ้านไร่ – อำเภอลานสัก ตัดผ่านหน้าชุมชน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นถนนลาดยาง ทำให้การคมนาคมสัญจรสะดวกมากขึ้น ในอดีตเคยมีรถโดยสารวิ่งไปอำเภอบ้านไร่และอำเภอลานสัก และไปที่ตัวจังหวัดอุทัยธานี แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ถ้าชาวบ้านมีกิจธุระต้องนำรถยนต์ไปเองหรือติดเพื่อนบ้านไป

การคมนาคม

  • ระยะทางจากอำเภอถึงชุมชนบ้านภูเหม็นโท 23  กิโลเมตร
  • ระยะทางจากจังหวัดถึงชุมชนบ้านภูเหม็นโท  71  กิโลเมตร
  • ระยะทางจากกรุงเทพถึงชุมชนบ้านภูเหม็นโท 255 กิโลเมตร
  • เดินทางได้ทางบกทางเดียว คือ การคมนาคมสัญจรโดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ  ติดต่อกับ  บ้านคลองแห้ง หมู่  1  ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

ทิศใต้    ติดต่อกับ  บ้านกระแหน่ หมู่ 9 ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านภูเหม็น หมู่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ บ้านไซเบอร์ หมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ติดต่อกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกห้วยขาแข้ง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ ขนาดพื้นที่ชุมชน พื้นที่สาธารณะ สาธารณูปโภคชุมชน

พื้นที่ชุมชนบ้านภูเหม็นโท พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ร้อยละ 5 เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ตั้งชุมชน และพื้นที่ร้อยละ 25 เป็นพื้นที่ป่าไม้ ภูเขา ลำห้วยภูเหม็น และพื้นที่ป่าชุมชน ปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชน จำนวน 12 ครัวเรือน

มีลำห้วยภูเหม็นไหลผ่านชุมชนบ้านภูเหม็นโท มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี    

กลุ่มคนที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านภูเหม็นโทแห่งนี้ เห็นว่าผืนดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์มีเนินเขาและเชิงเขากว้าง ๆ ที่ไม่สูงชันมากนัก เหมาะแก่การทำไร่หมุนเวียนตามแบบวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยง มีป่าไม้นานาพรรณ มีลำห้วยภูเหม็นไหลผ่านสำหรับเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชน อยู่ในบริเวณนี้จวบจนปัจจุบัน พื้นที่กิจกรรมทางสังคม ปัจจุบันชุมชนบ้านภูเหม็นโท ไม่มีเจ้าวัดหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ ดังนั้น คนในชุมชนบางส่วนจึงเดินทางไปร่วมพิธีไหว้เจดีย์ที่ชุมชนใกล้เคียงที่มีเจ้าวัด เช่น บ้านภูเหม็น บ้านไซเบอร์ หรือทางตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ ซึ่งเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณของชนกะเหรี่ยงโปว์ สถานที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม ส่วนใหญ่จะมีการนัดพบพูดคุยหารือเรื่องสำคัญในบ้านของผู้อาวุโสของชุมชน หรือบ้านผู้นำชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการจับกลุ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการที่วัดคลองแห้งวัฒนาราม 

ประชากรมีจำนวน  12 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 42  คน ประชากรชาย  21  คน และประชากรหญิง  21    คน ประชากรทั้งหมดเป็นเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ 42 คน  คิดเป็นร้อยละ 100

ระบบเครือญาติ 

ประชากรในชุมชนทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั้งสิ้น อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน มีเพียงบางส่วนที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว 

โพล่ง

7.1 กลุ่มที่เป็นทางการ

7.1.1 กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต 

ในอดีตชุมชนบ้านภูเหม็นโทเคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการออมทรัพย์ และใช้ในการระดมทุนไว้ให้คนในชุมชนได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทางการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง แต่เมื่อรัฐบาลได้จัดให้มีกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ชาวบ้านจึงไปเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลแทน 

7.1.2 กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์

ประชาชนในชุมชนมีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งชุมชน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของครอบครัวสมาชิก 

7.1.3 กลุ่มสินเชื่อ ธ.ก.ส.

ชาวบ้านมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ 4 – 5 คนต่อกลุ่ม ขอสินเชื่อการเกษตรจาก ธ.ก.ส. และหมุนเวียนกันค้ำประกันภายในกลุ่ม ปัจจุบันนี้ยังคงมีอยู่ 2 กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.อย่างเหนียวแน่น

7.2 กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ  

7.2.1 กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ 

มีการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการสำหรับกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ หลังจากเสร็จภารกิจจากการทำการเกษตร จะมานั่งรวมกันเป็นกลุ่มตามใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้ นั่งทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ซึ่งเป็น  ผ้าทอมือที่ใช้กี่เอวในการทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการทอผ้าไว้ตัดเย็บเสื้อผ้าไว้สวมใส่ในครัวเรือน 

7.2.2 กลุ่มประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรม

การทำพิธีกรรมในชุมชนบ้านภูเหม็นโท จะมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชน มีผู้อาวุโส ที่ชาวบ้านนับถือทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ 

7.2.3 กลุ่มพลังศรัทธา

ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา รวมตัวกันไปทำบุญที่วัดคลองแห้งวัฒนารามเป็นประจำทุกวันธรรมสวนะ ทำให้ชาวบ้านได้มีสถานที่ในการพูดคุยเรื่องการทำมาหากิน เรื่องสัพเพเหระ เรื่องประเพณีวัฒนธรรม และหารือกันเรื่องการทำการเกษตร เป็นต้น 

7.2.4 กลุ่มทำการเกษตร

ผู้คนในชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ 4 – 5 หลังคาเรือน รวมตัวช่วยเหลือกันทางการเกษตร เช่น ลงแขกปลูกข้าวไร่ ลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นต้น

8.1 วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม

  • ประเพณีกินข้าวใหม่

หลังจากที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวไร่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำข้าวไร่ขึ้นเก็บในยุ้งฉาง  ทุกบ้านที่ปลูกข้าวไร่ จะมีการประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นรายหลังคาเรือน หรือบางกลุ่มอาจจะประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นกลุ่มญาติพี่น้อง โดยการจัดเตรียมข้าวปลาอาหารที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการประกอบพิธี เชิญเจ้าวัดหรือผู้อาวุโสประกอบพิธี ด้วยการนำทุกคนในครอบครัวกล่าวขอบคุณและขอขมาเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ ที่ทำให้ข้าวไร่ได้ผลผลิตดี 

ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ข้าวไร่เป็นอาหารหลักของชาวกะเหรี่ยงโปว์      มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันประชากรร้อยละ 50 ยังคงทำข้าวไร่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเลี้ยงชีพคนในครอบครัว ดังนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว จึงยังคงถูกรักษาเอาไว้ได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ 

8.2 วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ 

8.2.1 การเตรียมดินเพาะปลูก

การเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม จะต้องมีการเตรียมดิน 

8.2.2 การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม เป็นฤดูเพาะปลูกพืชผล หลังจากนั้นเกษตรกรจะดูแลพืชผลทางการเกษตรต่อไปอีกราว ๆ 4 – 6 เดือน จึงจะได้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละชนิด 

นายสมพร คลองแห้ง อายุ  56 ปี  เกิดวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2500

ที่อยู่บ้านเลขที่ 34/1 ชุมชนบ้านภูเหม็นโท หมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี

นายสมพร คลองแห้ง เป็นปราชญ์ชาวบ้านการทำการเกษตร ด้านการจักสาน รวมถึงการประกอบพิธีกรรมตามแบบวิถีชาวกะเหรี่ยงโปว์ และเป็นศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น

ชีวประวัติ

นายสมพร คลองแห้ง เกิดที่บ้านคลองแห้ง หมู่ 1 ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ภายหลังบ้านคลองแห้งเปลี่ยนมาสังกัดอยู่กับ หมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต เนื่องจากอำเภอห้วยคตแยกตัวออกมาจากอำเภอบ้านไร่ เมื่ออายุครบ 7 ขวบ ได้ย้ายมาอยู่ที่กลุ่มบ้านภูเหม็นโท และใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แต่งงานมีครอบครัวตอนอายุ 22 ปี มีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน

 

1. ทุนทางกายภาพ 

1.1 ลำห้วยภูเหม็น

  • ประวัติความเป็นมา “ลำห้วยภูเหม็น” เป็นแหล่งน้ำที่มีต้นน้ำอยู่ในพื้นที่เขตป่าตะวันตกมรดกโลกห้วยขาแข้ง ไหลลงมาผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท และไหลต่อไปยังบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) หมู่ ๘  ดังนั้น ลำห้วยภูเหม็นจึงเป็นแหล่งน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนบ้านภูเหม็นโท 
  • ช่วงเวลาที่สำคัญ “ลำห้วยภูเหม็น” ในฤดูแล้งบางปีน้ำในลำห้วยแทบจะแห้ง จนแทบไม่มีน้ำไว้บริโภค ไม่มีน้ำทำการเกษตร ส่วนช่วงฤดูฝนในบางปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก น้ำในลำห้วยไหลเชี่ยวกรากหลากท่วมเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน สร้างความเสียให้กับชาวบ้านพอสมควร 
  • คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน “ลำห้วยภูเหม็น” เป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำเกษตร   
  • สถานการณ์ปัจจุบัน “ลำห้วยภูเหม็น” เป็นลำธารขนาดเล็กที่ไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของผู้คนในชุมชน บางปีน้ำน้อยชาวบ้านแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อน้ำบาดาล 
  • การสืบทอดและความยั่งยืน “ลำห้วยภูเหม็น” มีปริมาณน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผืนป่าต้นน้ำและผืนป่าที่อยู่ระหว่างทางที่ลำห้วยภูเหม็นไหลผ่านค่อย ๆ ลดจำนวนน้อยลงไปเรื่อย ๆ    จึงไม่สามารถที่จะดูดซับความชุ่มชื้นของสายน้ำสายนี้เอาไว้ได้ตลอดปี ดังนั้น สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการในการบำรุงรักษาแหล่งน้ำแหล่งนี้ คือ ควรเร่งให้มีการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไป

1.2 ป่าสงวนแห่งชาติ 

  • ประวัติความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ. 2528 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่    ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท ที่ดินของชาวบ้านที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่ของเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย รัฐได้จัดสรรให้ชาวบ้านได้มีที่ทำกินในพื้นที่ของตนเองเพียงครัวเรือนละ 20 – 30 ไร่ 
  • ช่วงเวลาที่สำคัญ เมื่อปี พ.ศ. 2528 หลังการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เกิดผลกระทบกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
  • คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโปว์รู้ดีว่าคุณค่าของป่าไม้มีมากมายเพียงใด และ ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักป่ามากที่สุด หมู่บ้านกะเหรี่ยงทุกหมู่บ้านจะมีป่าชุมชนหรือป่าตามภูเขาโอบล้อมชุมชนอยู่เสมอ 
  • สถานการณ์ปัจจุบัน แม้ปัจจุบันนี้ป่าชุมชนหรือป่าไม้ตามไหล่เขาและบนภูเขารอบ ๆ ชุมชนจะลดลงไปมากหากเทียบกับป่าชุมชนในอดีต แต่ก็ยังเหลือพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 15 – 20 ของพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน เก็บรักษาเอาไว้เป็นแหล่งอาหารป่าและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชน 

2. ทุนมนุษย์ 

  • ชุมชนภูเหม็นโทมีปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนหลายคน บางคนมีความรู้เรื่องการทำการเกษตร  บางคนมีความรู้เรื่องพิธีกรรมและความเชื่อ บางคนมีความรู้เรื่องสมุนไพร ซึ่งสามารถที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ชุมชนบ้านภูเหม็นโทอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขร่มเย็นตลอดมา
  • ช่วงเวลาที่สำคัญ ตั้งแต่มีการก่อตั้งชุมชนบ้านภูเหม็นโทแห่งนี้ ราว ๆ ปีพ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ชุมชนนี้ล้วนมีทุนมนุษย์ที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง ทุกคนอยู่อาศัยร่วมกันด้วยความรักความสามัคคี 
  • คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านทุกคนเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อชุมชนอย่างอเนกอนันต์ เป็นที่พึ่งทางกายด้วยการเป็นหมอสมุนไพร ได้ช่วยชาวบ้านยามทุกข์ร้อนเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นที่พึ่งทางใจด้วยการเป็นที่ปรึกษาด้านการประกอบพิธีกรรม 
  • สถานการณ์ปัจจุบัน ปราชญ์ชาวบ้านหลายคนอายุมากแล้ว ผู้นำชุมชนควรเร่งดำเนินการจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ลูกหลานเยาวชนรุ่นใหม่โดยเร็ว ก่อนที่องค์ความรู้เหล่านี้จะสูญหายไป
  • การสืบทอดและความยั่งยืน ไม่ค่อยได้มีถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านไปสู่เยาวชน   คนรุ่นใหม่ เกรงว่าอาจสูญหายไปอย่างถาวร และไม่เกิดความยั่งยืน

3. ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น 

3.1 การทอผ้ากะเหรี่ยงและเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์    บ้านภูเหม็นโทในอดีตทุกบ้านทอผ้าเป็น และมีการทอผ้าอยู่เสมอ แต่ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แต่งกายด้วย ชุดกะเหรี่ยงโปว์อยู่เป็นประจำ แต่ทุกคนมีชุดกะเหรี่ยงของตนเองติดบ้านไว้ เมื่อผู้นำชุมชนต้องการให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยง ทุกคนพร้อมสวมใส่ได้ทันทีเพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ 

ช่วงเวลาที่สำคัญ การแต่งกายด้วยผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์ ทุกคนจะแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงโปว์ พร้อมเพรียงกันในหลายวาระ เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่ งานไหว้เจดีย์ งานสงกรานต์ พิธีกรรมการกินข้าวใหม่ งานแต่งงาน งานต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท เป็นต้น

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน  เครื่องแต่งกายและการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงโปว์ เป็นเครื่องแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และมอบไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อ ๆ กันไป ซึ่งชาวกะเหรี่ยงโปว์ทุกคนมีความรักและมีความผูกพันกับเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงโปว์ และมีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนทุกครั้งที่ได้สวมใส่ 

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านภูเหม็นโททุกคนรักและหวงแหน ในประเพณีวัฒนธรรม อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งมองเห็นถึงความยั่งยืนทางวัฒนธรรม

3.2 อาหารกะเหรี่ยง มีประวัติความเป็นมา คือ ชาวกะเหรี่ยงโปว์มีวัฒนธรรมด้านอาหาร การกินเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม มักจะนำวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมติดตัวไปด้วยเสมอ และชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม้นโทแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน   ได้ร่วมอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดเรื่องอาหารการกินของชาวกะเหรี่ยงโปว์ และได้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่   จากรุ่นสู่รุ่น 

ช่วงเวลาที่สำคัญ การทำอาหารกะเหรี่ยงนั้นทำได้ง่าย ทำได้ทุกวันและทุกฤดูกาล และเป็นอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงได้ง่ายในท้องถิ่น มีขั้นตอนและวิธีการปรุงที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน อาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์ชุมชนกลุ่มบ้านภูเหม็นโท มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ 

สถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทจะได้รับอิทธิพลเรื่องอาหารการกินจากโลกภายนอกอย่างมากมาย ทำให้ชาวกะเหรี่ยงวัยกลางคนและเยาวชนคนรุ่นใหม่หันไปทำอาหารไทยและอาหารสากลแทน แต่เชื่อได้ว่าชาวกะเหรี่ยงโปว์จะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารต่อไป

การสืบทอดและความยั่งยืน ปัจจุบันนี้ชาวกะเหรี่ยงโปว์รุ่นพ่อรุ่นแม่ยังคงสอนลูกหลานให้ดำรงวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์อยู่เสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่าการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารของกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท จะทำให้อาหารกะเหรี่ยงดำรงคงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

3.3 ขนบธรรมเนียมประเพณีกะเหรี่ยงโปว์  ประวัติและความเป็นมา ชุมชนบ้านภูเหม็นโทแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ ถึงแม้ชุมชนจะอยู่ปะปนกับชุมชนของคนไทยพื้นเมือง ได้รับอิทธิพลในการใช้ชีวิตจากชุมชนเมืองค่อนข้างมาก แต่คนในชุมชนส่วนหนึ่งยังมีความเชื่อและความศรัทธาแห่ง   วิถีกะเหรี่ยงโปว์ดั้งเดิม ทำให้ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม

ช่วงเวลาที่สำคัญ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทมีการดำรงชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์ตามแบบอย่างบรรพบุรุษได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะมีวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้จำนวนหนึ่ง 

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นโทได้ร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ชาติพันธุ์ เพื่อแสดงถึงพลังของมวลชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ในด้านของความเชื่อและความศรัทธาในวิถีวัฒนธรรมของตนเองอยู่บ้าง

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานรากฐานวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงเอาไว้ได้พอสมควร 

4. ทุนทางเศรษฐกิจ 

พืชเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมา ในอดีตบรรพบุรุษของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทนิยมปลูกข้าวไร่เป็นหลัก เรียกว่าการทำไร่หมุนเวียน เป็นการปลูกข้าวไร่ไว้กินในครัวเรือน

ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง จากยุคการทำไร่หมุนเวียนไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือ      พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุคที่ที่ดินทำกินของชุมชนถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและ     ห้วยป่าคอกควาย ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวนจำกัดมาก ไม่เพียงพอกับการทำไร่หมุนเวียน ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ในการดำรงชีพให้เหมาะสมกับยุคสมัย     ที่เปลี่ยนไป

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผู้คนปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพ หรือปัจจุบันที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อจำหน่ายและนำเงินมาดำรงชีพ ทั้งสองแนวทางล้วนมีคุณค่าและมีความหมาย ต่อชีวิตของผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโททั้งสิ้น

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก สับปะรด ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย และยางพารา เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่โตเร็ว ทนแล้ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

การสืบทอดและความยั่งยืน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปในอนาคตอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

5. ทุนทางสังคม/การเมือง 

การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประวัติความเป็นมา คือ จากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ บ้านภูเหม็นโทให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในอดีตชาวบ้านได้มีการตั้งผู้ปกครองชุมชนอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาดูแลความสงบสุขของชุมชน จนกระทั่งในระยะต่อมาภาครัฐได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ขึ้นมาดูแลความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน ชาวบ้านก็ยังให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นอย่างดี ด้วยการไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง และปฏิบัติตามธรรมนูญของชุมชนอย่างเข้มแข็ง

ช่วงเวลาที่สำคัญ ชาวบ้านให้ความเคารพและยอมรับในตัวผู้นำชุมชนทุกรุ่นทุกยุคทุกสมัย รวมถึงในระยะหลังที่ภาครัฐกำหนดให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ไม่มีปัญหาความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้นในชุมชน

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชุมชนแห่งนี้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการปกครองโดยผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือในทุก ๆ ครั้งที่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ 

สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทเป็นชุมชนขนาดเล็ก ภาครัฐต้องนำจำนวนประชากรไปนับรวมกับชุมชนกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม จึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในนามของหมู่ที่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง มีผู้ใหญ่บ้านจากบ้านคลองแห้งเป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านภูเหม็นโท

การสืบทอดและความยั่งยืน นับว่าเป็นความโชคดีที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท มีการสืบทอดการเมืองและการปกครองด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีความขัดแย้ง และไม่เคยเสียเลือดเนื้อกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา และจะมีการดำรงรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยและความสงบเรียบร้อยเช่นนี้ตลอดไป

 

  • ภาษาพูดพื้นถิ่น ได้แก่ ภาษากะเหรี่ยงโปว์ เป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในครัวเรือนและใช้ในการสื่อสารกันในชุมชนบ้านภูเหม็นโท และใช้ในการสื่อสารกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์จากท้องถิ่นอื่น ๆ           
  • ภาษาเขียน ได้แก่ ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั่วประเทศ และกะเหรี่ยงโปว์จากทั่วโลก ซึ่งใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ 
  • สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทในปัจจุบัน มีผู้ที่สามารถใช้ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ ได้จำนวนน้อยมาก เนื่องจากเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์และประชาชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เหลือไม่ถึงร้อยละ 2 ของประชากร ที่ยังสามารถใช้ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ได้ สำหรับภาษาพูดกะเหรี่ยงโปว์ ยังคงมีประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์ร้อยละ 80 ที่สามารถพูดได้ 

ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนเป็นอย่างดี ในการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้ง ไม่มีการเรียกร้องหรือร้องเรียนใด ๆ ในชุมชน 

การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ 

ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์หนึ่ง ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุบ้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ภัยคุกคาม ราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น คนในชุมชนจะมีความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันแก้ไขวิกฤติต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม

แนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทาย

ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง และผู้นำที่เป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญในแต่ละด้าน     จะเป็นแกนนำในการประชุม เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายจากปัญหาวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 

การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

ในชุมชนมีเครือข่ายที่เป็นทางการเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ ชุมชนยังคงมีการสร้างเครือข่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสงบสุขร่มเย็นสืบไป 

บทบาทของหน่วยงาน/องค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม

จากอดีตถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทหลายหน่วยงาน เช่น อำเภอห้วยคต องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เกษตรอำเภอห้วยคต เป็นต้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น  สถาบันธรรมชาติพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในพัฒนาชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท เป็นต้น


มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอดีตถึงปัจจุบัน จากอดีตเป็นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ ต่อมาชาวบ้านถูกจำกัดที่ดินทำกิน เนื่องจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเพื่อความาอยู่รอด ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยการหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ เพื่อหาเงินซึ่งเป็นปัจจัยหลักมาใช้ในการดำรงชีพ 


ประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทมีการเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงเวลา กล่าวคือ ในระยะแรกที่มีชาวกะเหรี่ยงโปว์เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกินในบริเวณบ้านภูเหม็นโท มีทั้งผู้คนย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมจำนวนมาก เมื่อรัฐได้ประกาศพื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน และรัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านใหม่ โดยจำกัดที่ดินทำกิน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่   ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพชนได้ ชาวบ้านจึงทยอยย้ายออกไปจากชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันนี้ประชากรเหลือเพียง 12 ครัวเรือนเท่านั้น


ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ซึ่งส่วนใหญ่มีสิทธิในสัญชาติอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิในสัญชาติ ดังนั้น ทุกคนจึงมีสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย มีบัตรประชาชน มีสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานครบถ้วนทุกประการ 


ในอดีตที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทแห่งนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอย่าง  อุดมสมบูรณ์อยู่นั้น ระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ไม่ ต่อมาเมื่อชุมชนบ้านภูเหม็นโทมีประชากรมากขึ้น รัฐจึงเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องระบบสาธารณูปโภคด้วยการทำประปาหมู่บ้าน ทำถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน ติดตั้งระบบไฟฟ้า ติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีอินเตอร์เน็ตใช้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น 


ในอดีตระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน ทำให้เกิดโรคระบาดอยู่บ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันชาวบ้านภูเหม็นโทได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเกี่ยวกับการสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทุกคน โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล


ในอดีตเยาวชนชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทได้รับการศึกษาในลักษณะการศึกษาผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่มีโรงเรียนในชุมชน ต่อมามีการสร้างโรงเรียนบ้านคลองแห้งวิทยา สร้างศูนย์เด็ก ทำให้เด็กและเยาวชนทุกคนในชุมชนบ้านภูเหม็นโทได้รับการศึกษาภาคบังคับ เด็กและเยาวชนที่มีความประสงค์จะเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะไปเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ส่วนมากจะเรียนจบร้อยละ 80 และเยาวชนบางส่วนจะได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีประมาณร้อยละ 10 และสามารถเรียนจบ 


ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทส่วนหนึ่งปรารถนาที่จะให้คนในชุมชนร่วมกันรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ให้คงอยู่ ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม และมีการสืบทอดตลอดไป แต่ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมจากภายนอกมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมของชุมชน สามารถเข้ามาแทรกซึมวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ค่อย ๆ เลือนหายไปทีละน้อย ท้ายที่สุดวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโทอาจสูญหายไปแบบสิ้นเชิง จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐ ผู้นำชุมชนว่าจะมีวิธีอนุรักษ์สืบสานอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านานได้


ตามคำพูดที่กล่าวว่า “ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั่นมีป่า” และ “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” ในอดีตนั้นอาจจะใช่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป ดังเช่น ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านภูเหม็นโท จากระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 5 ทศวรรษ ผืนป่าตามธรรมชาติและผืนป่าชุมชนเหลือเพียง  ร้อยละ 10 - 15 ของพื้นที่ เป็นความท้าทายสำหรับภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ และราษฎรในพื้นที่ว่าจะมีวิธีบริหารจัดการพื้นที่ทำกินและผืนป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความสมดุลทางระบบนิเวศได้อย่างไร 


ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล