Advance search

บ้านคลองแห้ง
  • ใจกลางชุมชนมีต้นมะขามยักษ์อายุกว่าร้อยปี เป็นเสมือนศูนย์รวมความเชื่อและจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง (ปัจจุบันนี้ต้นไม้นี้ตายไปแล้ว)
  • ในชุมชนบ้านคลองแห้งมีต้นไทรขนาดใหญ่อยู่ท้ายหมู่บ้าน ปัจจุบันเป็นรุกขมรดกทางวัฒนธรรม เป็นศูนย์รวมความเชื่อและจิตวิญญาณของชุมชน เป็นต้นไม้ที่คนในชุมชนใช้ในการประกอบพิธีค้ำต้นไทรประจำปี
  • มีแม่น้ำคลองแห้งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ และเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความสำคัญต่อการดำรงวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง
  • มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลองแห้งใช้บริการด้านสุขภาพ
  • มีโรงเรียนบ้านคลองแห้งวิทยาเป็นสถานศึกษาสำหรับลูกหลาน        ชาวชาวกะเหรี่ยง ทำให้ลูกหลานไม่ต้องไปเรียนห่างไกลบ้าน
  • วัดคลองแห้งวัฒนาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกะเหรี่ยงโปว์ เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน
1
บ้านคลองแห้ง
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
กิตติพัฒน์ อธิวัฒน์ธนาวงศ์
1 ก.ย. 2023
พรทิพย์ กำเหนิดแจ้ง
27 พ.ย. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
6 เม.ย. 2024
บ้านคลองแห้ง
บ้านคลองแห้ง

นายวรจักร วุฒิกาญจนวัชร ข้าราชการบำนาญสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (หัวหน้าเขตพัฒนาทางสังคม) ผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ชาวบ้านคลองแห้งให้ความเคารพนับถือ เล่าให้ฟังว่า มีชาวกะเหรี่ยงโปว์หลายกลุ่มได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากชุมชนกะเหรี่ยงโปว์หลายแห่งในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี เช่น จากบ้านเจ้าวัด ตำบลเจ้าวัด อำเภอบ้านไร่ จากบ้านทุ่งน้อย ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ชาวกะเหรี่ยงจากตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านภูเหม็น บ้านคลองหวาย บ้านคลองเคียน บ้านอีซ่า บ้านกุดจะเลิด ตำบลทองหลาง รวมถึงกะเหรี่ยงโปว์จากตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ และบางส่วนย้ายมาจากจังหวัดตาก สุพรรณบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี ย้ายมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ โดยแต่ละกลุ่มทยอยย้ายเข้ามาในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนเล่าให้ฟังต่อ ๆ กันมาว่า ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์แห่งนี้น่าจะตั้งอยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่า 200 ปีมาแล้ว พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขาและมีภูเขาล้อมรอบชุมชน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและของป่ามากมายในผืนป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้ผลัดใบ บางจุดเป็นป่าดงดิบ  ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้เหมาะสมกับการทำไร่หมุนเวียนแบบวิถีชาวกะเหรี่ยงโปว์ บริเวณนี้มีแม่น้ำคลองแห้งไหลผ่านชุมชน เป็นแม่น้ำที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน เป็นทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้และทำการเกษตรมาแต่ครั้งอดีตกาล แม่น้ำคลองแห้งนี้ ในปีใดที่ฝนแล้งหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำในแม่น้ำแห้งขอดคลอง ผืนดินของเกษตรกรก็แห้งแล้งด้วย ไม่มีน้ำทำการเกษตร แม่น้ำสายนี้จึงได้ชื่อว่า “แม่น้ำคลองแห้ง” และเป็นที่มาของชื่อชุมชนที่ชื่อว่า “ชุมชนคลองแห้ง”


  • ใจกลางชุมชนมีต้นมะขามยักษ์อายุกว่าร้อยปี เป็นเสมือนศูนย์รวมความเชื่อและจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง (ปัจจุบันนี้ต้นไม้นี้ตายไปแล้ว)
  • ในชุมชนบ้านคลองแห้งมีต้นไทรขนาดใหญ่อยู่ท้ายหมู่บ้าน ปัจจุบันเป็นรุกขมรดกทางวัฒนธรรม เป็นศูนย์รวมความเชื่อและจิตวิญญาณของชุมชน เป็นต้นไม้ที่คนในชุมชนใช้ในการประกอบพิธีค้ำต้นไทรประจำปี
  • มีแม่น้ำคลองแห้งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ และเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความสำคัญต่อการดำรงวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง
  • มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลองแห้งใช้บริการด้านสุขภาพ
  • มีโรงเรียนบ้านคลองแห้งวิทยาเป็นสถานศึกษาสำหรับลูกหลาน        ชาวชาวกะเหรี่ยง ทำให้ลูกหลานไม่ต้องไปเรียนห่างไกลบ้าน
  • วัดคลองแห้งวัฒนาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกะเหรี่ยงโปว์ เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน
บ้านคลองแห้ง
1
ทองหลาง
ห้วยคต
อุทัยธานี
61170
15.30372509
99.47838753
องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง

นายวรจักร วุฒิกาญจนวัชร ข้าราชการบำนาญชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่เกิดและเติบโตที่บ้านคลองแห้งและเป็นผู้อาวุโสที่ชาวกะเหรี่ยงคลองแห้งให้ความเคารพนับถือ กล่าวว่า ในยุคบุกเบิกมีชาวกะเหรี่ยงโปว์หลายกลุ่ม       ได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาจากชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่งทั้งในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีและต่างจังหวัด โดยในจังหวัดอุทัยธานีมีหลายกลุ่ม เช่น บ้านภูเหม็น บ้านไซเบอร์ บ้านคลองแห้ง บ้านอีซ่า บ้านกุดจะเลิด ตำบลทองหลาง กลุ่มกะเหรี่ยงโปว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด ตำบลคอกควาย ตำบลห้วยแห้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น บางส่วนย้ายมาจากต่างจังหวัด เช่น บ้านตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี บางกลุ่มย้ายมาจากจังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี ย้ายมาอาศัยอยู่รวมกันในบริเวณนี้ ชุมชนแห่งนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบเชิงเขาและมีภูเขาล้อมรอบชุมชน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยของป่ามากมาย ในผืนป่าไม้เบญจพรรณและป่าไม้ผลัดใบ บางจุดเป็นป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้เหมาะสมกับการทำไร่หมุนเวียนแบบวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์ บริเวณนี้มีแม่น้ำคลองแห้งไหลผ่านแม่น้ำสายนี้เปรียบเสมือนกับเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชน มีความผูกพันกับสายน้ำสายนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นทั้งแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และเป็นแหล่งน้ำสำหรับการทำการเกษตรมาแต่ครั้งอดีต คนในชุมชนเล่าให้ฟังอีกว่า ในอดีตชุมชนแห่งนี้มีต้นมะขามขนาดใหญ่ เป็นศูนย์รวมความเชื่อของชุมชน แต่ปัจจุบันนี้ต้นมะขามตายไปแล้ว มีต้นไทรขึ้นมาทดแทนต้นหนึ่ง ปัจจุบันนี้เป็นต้นไม้    ที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งใช้เป็นต้นไม้ในการประกอบพิธีค้ำต้นไทรประจำปี

ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย โซน 3 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา หุบเขา และมีภูเขาขนาดไม่สูงมากนักล้อมรอบชุมชน มีเนินเขาขนาดสูงต่ำสลับซับซ้อนลดหลั่นกันไปเป็นจำนวนมาก 

ในอดีตชุมชนแห่งนี้เคยมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 100 หลังคาเรือน มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์โอบล้อมชุมชน ผู้คนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในอดีตฤดูฝน   เคยมีน้ำหลากบ้างเป็นบางครั้ง น้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านอยู่บ้าง ฤดูแล้งบางปีก็แล้งเป็นพิเศษแล้งยาวนานจนทำมาหากินไม่ได้ ที่ทำกินก็มีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อการแบ่งให้ลูกหลานทำมาหากิน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงย้ายออกจากชุมชนไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ในปัจจุบันนี้คงเหลืออยู่เพียง 55 ครัวเรือนเท่านั้น

ชุมชนบ้านคลองแห้งแห่งนี้ เคยมีเจ้าวัดหรือผู้นำแห่งจิตวิญญาณ จำนวน 1 คน ชื่อนายไต๊ไล คลองแห้ง ทำหน้าที่เจ้าวัด ราว ๆ ปีพุทธศักราช 2508 – 2509 เมื่อท่านถึงแก่กรรมไปแล้วก็ไม่มีเจ้าวัดอีกเลยจวบจนปัจจุบัน แต่ยังคงมีซากเจดีย์เจ้าวัดเป็นเนินดินให้เห็น ในอดีตเป็นสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีไหว้เจดีย์    เป็นประจำทุกปี ปัจจุบันหากชาวบ้านคนใดที่จะไปไหว้เจดีย์จะเดินทางไปไหว้เจดีย์ร่วมกับชุมชนที่ยังมีเจ้าวัดเช่น บ้านภูเหม็น บ้านไซเบอร์ หรือแก่นมะกรูด และเนื่องจากชุมชนบ้านคลองแห้งไม่มีเจ้าวัด จึงให้ผู้อาวุโสที่มีความรู้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของวิถีชีวิตกะเหรี่ยงโปว์ช่วยประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น  การโกนจุก การตั้งชื่อ การเปลี่ยนชุดของเด็กหญิงสู่วัยสาว การกินข้าวใหม่ ประเพณีทำขนมจีนขี้เหนียว     การแต่งงาน พิธีกรรมศพ พิธีกรรมปักสะเดิ่งในชุมชน และปักสะเดิ่งในท้องไร่ท้องนาเพื่อให้ได้ผลผลิตมากและคุณภาพดี เป็นต้น

ชุมชนแห่งนี้ มีวัดคลองแห้งวัฒนารามเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นที่ประกอบศาสนกิจทางพระพุทธศาสนา และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชน ปัจจุบันนี้มีพระสงฆ์จำพรรษาจำนวน 5 รูป ในยุคแรกที่มีพระสงฆ์เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา จะเป็นลักษณะของพระธรรมจาริกและมีการผลัดเปลี่ยนพระธรรมจาริกต่อ ๆ กันมาหลายรุ่น ภายหลังมีชาวบ้านศรัทธาพระพุทธศาสนาจำนวนมากชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างที่พักสงฆ์ และสร้างเป็นวัดในระยะต่อมา และนิมนต์พระสงฆ์มาจำวัดถาวรจนถึงปัจจุบัน คาดว่าผ่านกาลเวลามาแล้วกว่า ๆ 5 ทศวรรษ

ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งมีโรงเรียนอยู่ในชุมชน ชื่อว่า โรงเรียนบ้านคลองแห้งวิทยา เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 นอกจากนี้ ยังมีศูนย์เด็กเล็กบ้านคลองแห้ง ที่รับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนอีกด้วย จึงถือว่าเป็นความโชคดีของชุมชนแห่งนี้ ที่มีสถานศึกษาไว้รองรับบุตรหลาน ซึ่งต่างกับอีกหลายชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงบ้านคลองแห้ง ที่ไม่มีสถานศึกษาในชุมชนของตนเอง ต้องเดินทางมาเรียนที่ชุมชนบ้านคลองแห้งแห่งนี้ 

ในชุมชนแห่งนี้มีแหล่งบริการทางสาธารณสุข จำนวน 1 แห่ง ในอดีตเรียกกันว่า “สถานีอนามัย    บ้านคลองแห้ง” แต่ปัจจุบันได้รับการยกระดับเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล” เป็นสถานพยาบาลที่ดูแลชาวกะเหรี่ยงโปว์ในชุมชนบ้านคลองแห้งและชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านไซเบอร์ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านคลองเคียน ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นโท และชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกุดจะเลิด เป็นต้น 

การคมนาคมสัญจร  ในอดีตชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งแห่งนี้ยังไม่มีถนนหนทางที่สะดวกในการเดินทางสัญจร ผู้คนในชุมชนบ้านคลองแห้งต้องเดินเท้าไปตามทางเท้า ข้ามภูเขา ป่าไม้ ลำธาร เพื่อที่จะไปทำธุรกรรมที่อำเภอ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 1 วัน พักค้าง 1 คืน และเดินทางกลับอีก 1 วัน จึงจะกลับ  ถึงบ้าน หากจะต้องเดินทางไปที่ตัวจังหวัด จะต้องเดินเท้าถึง 2 วัน พักระหว่างทาง 1 คืน และเดินทางกลับอีก 2 วัน จึงจะกลับถึงบ้าน แถมเส้นทางก็เต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ป่า แมลงมีพิษ รวมถึงการเดินทางที่ยากลำบากในช่วงฤดูฝน หากเจ็บป่วยหนักต้องพึ่งหมอยาสมุนไพรในชุมชนเป็นหลัก เพราะการที่จะเดินทางไปถึงโรงพยาบาล เป็นเรื่องที่ยากมาก และเสี่ยงกับการเสียชีวิตระหว่างเดินทางสูง ต่อมาเมื่อทางการเข้ามาพัฒนาถนนหนทาง   มีถนนลูกรังเข้ามาถึงชุมชน บ้านคลองแห้งเริ่มมีรถโดยสารประจำทางเป็นรถรางไม้ 6 ล้อ รับ-ส่งผู้คนในชุมชน ไปที่ตลาดทุ่งนา ตำบลเขาบางแกรก อำเภอหนองฉาง 1 จุด และเดินทางไปที่ตัวจังหวัดอุทัยธานี อีก 1  จุด

ปัจจุบันนี้ไม่มีรถโดยสารประจำทางแล้ว หากคนในชุมชนที่จะเดินทางไปทำธุรกรรมในตัวอำเภอหรือจังหวัด ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันในชุมชนมีรถยนต์จำนวนมาก ส่วนรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลปัจจุบันมีกันทุกครัวเรือน หรือไม่ก็อาศัยเพื่อนบ้านไป เป็นต้น และด้วยความที่ชุมชนแห่งนี้มีถนนสายหลัก       ที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอบ้านไร่ – อำเภอลานสัก ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้มีการเดินทางสัญจรที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น 

การคมนาคม

ระยะทางจากอำเภอถึงชุมชนบ้านคลองแห้ง 20   กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดถึงชุมชนบ้านคลองแห้ง  68  กิโลเมตร

ระยะทางจากกรุงเทพถึงชุมชนคลองแห้ง 252 กิโลเมตร

เดินทางได้ทางบกทางเดียว คือ การคมนาคมสัญจรโดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ       ติดต่อกับ  บ้านละว้า หมู่  3  ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศใต้        ติดต่อกับ  บ้านกระแหน่ หมู่ 9 ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านภูเหม็น หมู่ 8 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ บ้านไซเบอร์ หมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ติดต่อกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกห้วยขาแข้ง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ ขนาดพื้นที่ชุมชน พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคชุมชน

พื้นที่ชุมชนบ้านคลองแห้ง ร้อยละ 90 เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีเนินเขาจำนวนมากที่มีความสลับซับซ้อนอยู่รายรอบชุมชนทั่วบริเวณพื้นที่ทำกิน พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ร้อยละ 20 เป็นที่อยู่อาศัยที่ตั้งชุมชน และพื้นที่ร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำคลองแห้ง และพื้นที่ป่าชุมชน ปัจจุบันมีผู้คนอาศัยอยู่ในชุมชน  จำนวน 55 ครัวเรือน 

การดำรงวิถีชีวิต ในอดีตชาวบ้านปลูกพืชผักในไร่หมุนเวียนไว้กินเอง เช่น ผักกาด กวางตุ้ง คะน้า แตงกวา ผักชี พริก และพืชผักสวนครัวอีกมากมายไม่น้อยกว่า 50 ชนิด เอาไว้บริโภคในการดำรงชีพ มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพเล็กน้อย เช่น เป็ด ไก่ หมู แพะ เป็นต้น เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต้องใช้เงินในการดำรงชีพ ดังนั้น ในอดีตจึงไม่ได้ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ มีเพียงจำหน่ายพริกหรือของป่าเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อนำมาซื้อเกลือไว้บริโภคเท่านั้น เพราะเกลือในสมัยนั้นสำคัญต่อการดำรงชีวิตมาก ปัจจุบันไม่มีการทำไร่หมุนเวียนแล้ว เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรมีจำนวนจำกัด ชุมชนต้องแบ่งที่ดินเพื่อปลูกข้าวไร่ไว้กิน พื้นที่ที่เหลือก็จะปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวไว้ขายแลกเงินมาใช้ในครัวเรือน เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด สับปะรด ยางพารา ปาล์ม เป็นต้น

สถานที่สำคัญทางสังคมและวัฒนธรรม ส่วนใหญ่จะมีการนัดพบพูดคุยหารือเรื่องสำคัญในบ้านของ    ผู้อาวุโสหรือบ้านผู้นำชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการจับกลุ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการตามบ้านต่าง ๆ แต่หากเป็นการประชุมหารืออย่างเป็นทางการแล้ว จะไปประชุมกันที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หรือที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือที่อำเภอห้วยคต โดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จะเป็นตัวแทนเดินทางไปเข้าร่วมประชุมกับส่วนราชการ แล้วจะนำข่าวสารมาบอกกับลูกบ้านทุกคนให้ได้รับทราบข่าวสารทางราชการโดยพร้อมเพรียงกัน

ปัจจุบันนี้ที่อยู่อาศัยของชุมชน รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตรของคนในชุมชน ล้วนเป็นพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย โซนซี ซึ่งได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหลังจากที่ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำมาหากินมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี และภายหลังการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รัฐแจ้งให้คนในชุมชนจับจองพื้นที่เพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ชัดเจน โดยให้ชาวบ้านทำไร่อยู่กับที่ ไม่อนุญาตให้ทำไร่หมุนเวียนดังเช่นในอดีตอีกต่อไป จึงทำให้พื้นที่ไร่หมุนเวียนลดลง ฟื้นคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มขึ้น ดังนั้น วิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงโปว์ จึงเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจในเวลาต่อมา 

 

  • ประชากรมีจำนวน  55 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 193  คน ประชากรชาย  97  คน และประชากรหญิง  96    คน
  • ประชากรทั้งหมดเป็นเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ 193 คน  คิดเป็นร้อยละ 100
  • ระบบเครือญาติ ประชากรในชุมชนทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั้งสิ้น อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน มีเพียงบางส่วนที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ จะเห็นว่าสังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน โดยปกติทั่วไปประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่  มักจะใช้นามสกุลเดียวกันทั้งหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อหมู่บ้านเป็นชื่อนามสกุล นอกเสียจากบุคคลที่ย้ายมาจากหมู่บ้านอื่น ๆ และที่มีนามสกุลอยู่แล้ว ก็ใช้นามสกุลเดิมของตนเองต่อไป และคนนามสกุลเดียวกันก็สามารถที่จะแต่งงานกันได้ หากพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีสายเลือดที่ใกล้ชิดที่มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน 
โพล่ง

7.1 กลุ่มที่เป็นทางการ

7.1.1 กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิต 

ในอดีตชุมชนบ้านคลองแห้ง เคยมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการออมทรัพย์ และใช้ในการระดมทุนไว้ให้คนในชุมชนได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพทางการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง แต่เมื่อรัฐบาลได้จัดให้มีกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตจึงค่อย ๆ เริ่มถอนตัวออกจากสมาชิก ไปเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านแทน ปัจจุบันนี้ไม่มีสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์แล้ว   

7.1.2 กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์

ประชาชนในชุมชนมีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของครอบครัวสมาชิก โดยให้ครอบครัวสมาชิกจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัวละ 50 บาท ต่อ 1 ศพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทาญาติผู้เสียชีวิตในการจัดงานศพ แต่หากสมาชิกรายใดพอมีทุนทรัพย์ก็มากสามารถจ่ายมากกว่า 50 บาท ด้วยความสมัครใจ

7.1.3 กลุ่มเงินทุน ธ.ก.ส.

ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 4 – 5 คน เพื่อยื่นเรื่องขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. ในการทำการเกษตร โดยแลกเปลี่ยนกันค้ำประกันภายในกลุ่ม ปัจจุบันนี้มีอยู่หลายกลุ่มที่ยังคงเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. อย่างเหนียวแน่น

7.2 กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ  

7.2.1 กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ 

ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการสำหรับกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ โดยจะใช้เวลาหลังจากเสร็จภารกิจการทำการเกษตร จะมานั่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มตามใต้ถุนบ้านหรือใต้ต้นไม้ นั่งทอผ้ากะเหรี่ยงโปว์ซึ่งเป็นผ้าทอมือที่ใช้กี่เอวในการทอผ้า ส่วนใหญ่จะเป็นการทอผ้าไว้ตัดเย็บเสื้อผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน ไม่ได้ทอผ้าเพื่อการจำหน่ายหรือเพื่อทำการตลาดแต่อย่างใด

7.2.2 กลุ่มประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรม

ทุก ๆ ครั้งที่มีประเพณีวัฒนธรรมและการทำพิธีกรรมในชุมชนบ้านคลองแห้ง จะมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนจำนวนมาก มีผู้อาวุโสที่ชาวบ้านนับถือทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ โดยสมาชิกของกลุ่มเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ ชุมชนมีความร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรมและพิธีกรรมตามแบบวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์ได้อย่างเข้มแข็ง   มีความยั่งยืนทางวัฒนธรรม

7.2.3 กลุ่มพลังศรัทธาพระพุทธศาสนา

มีชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งกลุ่มหนึ่งที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนารวมตัวกันไปทำบุญที่วัดคลองแห้งวัฒนารามเป็นประจำทุกวันธรรมสวนะ ทำให้ชาวบ้านได้มีสถานที่ในการพูดคุยเรื่องการทำมาหากิน เรื่องสัพเพเหระ เรื่องประเพณีวัฒนธรรม และหารือกันเรื่องการทำการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้  มีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน ก่อให้เกิดความรักความผูกพันกันความสามัคคีของคนในชุมชน

7.2.4 กลุ่มทำการเกษตร

ผู้คนในชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติ 4 – 5 ครัวเรือน ที่เป็นกลุ่มบ้านใกล้เรือนเคียง เพื่อช่วยเหลือกันทางการเกษตร เช่น มีการรวมตัวกันลงแขกปลูกข้าวลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกขุดมันสำปะหลัง เป็นต้น โดยจะเป็นลักษณะการเอาแรงกัน เริ่มจากบ้านหนึ่งหมุนเวียนไปจนครบทุกบ้านในกลุ่มสมาชิก เพื่อลดต้นทุนในการทำการเกษตร

8.1 วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม

8.1.1 ประเพณีกินข้าวใหม่

หลังจากที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวไร่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำข้าวไร่ขึ้นเก็บในยุ้งฉางทุกบ้าน ที่ปลูกข้าวไร่ จะมีการประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นรายหลังคาเรือน หรือบางกลุ่มอาจจะประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่เป็นกลุ่มญาติพี่น้อง ปัจจุบันยังมีการประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่ทั้งสองรูปแบบ โดยการจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร สำรับอาหารหวาน-คาว ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการประกอบพิธี และไม่เป็นอาหารที่ต้องห้าม เชิญเจ้าวัดประกอบพิธี ด้วยการนำทุกคนในครอบครัวกล่าวขอบคุณและขอขมาเครื่องมือ ทางการเกษตรต่าง ๆ ที่มีส่วนโดยตรงในการทำให้ข้าวไร่ได้ผลผลิตดี หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมพิธีรับประทานอาหารหวาน-คาวร่วมกัน 

ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ข้าวไร่เป็นอาหารหลักของชาวกะเหรี่ยงโปว์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันประชากรร้อยละ 50 ยังคงทำข้าวไร่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเลี้ยงดูคนในครอบครัว ดังนั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว จึงยังคงถูกรักษาเอาไว้ได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นตอนปลูกข้าว ตอนที่ใบข้าวเริ่มโค้งงอลงมาถึงพื้นดิน ตอนข้าวออกรวง และตอนเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งล้วนแต่มีพิธีกรรมในการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขอให้ได้ผลผลิตข้าวจำนวนมาก ๆ และผลผลิตมีคุณภาพที่ดี

8.1.2 ประเพณีวันสงกรานต์

เมื่อถึงวันสงกรานต์ ผู้คนในชุมชนจะมีการรวมตัวกัน ณ บ้านของปราชญ์ชาวบ้าน บ้านผู้อาวุโสหรือบ้านของผู้นำชุมชน เป็นต้น และจะเชิญชวนผู้อาวุโสทั้งหญิงและชายในชุมชนเข้าร่วมพิธีรดน้ำขอพร โดยเจ้าวัดและปราชญ์ชาวบ้านจะให้พรกับลูกหลาน หลังจากนั้นผู้นำชุมชนและลูกบ้านจะร่วมกันรดน้ำขอพร      ผู้อาวุโสทีละคนจนครบทุกคน ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากคนไทยพื้นเมือง 

ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต ประเพณีสงกรานต์นั้น เดิมทีเป็นของคนไทยพื้นเมือง แต่ปัจจุบันได้แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ กลุ่มบ้านคลองแห้ง ซึ่งเห็นว่าเป็นประเพณีที่ดีงามและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ที่ให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสในชุมชน จึงได้นำประเพณีดังกล่าวนี้ มาสืบสานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

8.1.3 ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีลอยกระทงของ คนไทยพื้นเมือง มีความสอดคล้องกับวิถีชุมชนที่ต้องการให้มีการขอขมาพระแม่คงคา เพื่อให้คนในชุมชน ได้มีน้ำกินน้ำใช้ มีน้ำในการทำการเกษตรตลอดปี และถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของคนไทย เป็นวันลอยกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์ด้วย ซึ่งลักษณะกระทงของชาวกะเหรี่ยงโปว์จะมีความแตกต่างจากกระทงของคนไทย คือ กระทงจะมีขนาดใหญ่เป็นทรงสี่เหลี่ยมทำมาจากต้นกล้วยและกาบกล้วย ในกระทงจะมีอาหารหวาน-คาวที่ไม่เป็นอาหารต้องห้าม มีดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องสักการบูชาอื่น ๆ โดยจะทำเพียงกระทงเดียว ช่วยกันหามไปลอยกระทงในแม่น้ำคลองแห้ง เพื่อขอขมาพระแม่คงคา ที่ได้ใช้น้ำไปอย่าง รู้คุณค่าบ้างไม่รู้คุณค่าบ้าง ได้นำสิ่งสกปรกมาทิ้งในแม่น้ำบ้าง และขอพรให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี

8.2 วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ 

8.2.1 การเตรียมดินเพาะปลูก

หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวไร่และผลผลิตทางการเกษตร ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี ก็จะเข้าสู่การเตรียมพื้นที่สำหรับเตรียมการเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม จะต้องมีการเตรียมดิน เช่น ถากถางวัชพืชหลังเก็บเกี่ยว เผาซากวัชพืช ไถบุกไถแปรพลิกหน้าดินขึ้นมาตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่สะสมใต้ดิน และฆ่าไข่ของตัวหนอนและเพลี้ยชนิดต่าง ๆ ที่เป็นศัตรูพืช เพื่อให้ดินมีความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกรอบใหม่ 

8.2.2 การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

เมื่อเตรียมดินเสร็จก็จะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ราว ๆ เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นเกษตรกรจะดูแลพืชผลทางการเกษตรต่อไปอีกราว ๆ 4 – 6 เดือน จึงจะได้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละชนิด ดังนั้น ในช่วงของการดูแลพืชผลทางการเกษตร จึงถือได้ว่าเป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะเกษตรกรต้องเผชิญหน้ากับศัตรูตัวฉกาจก็คือ แมลง เพลี้ย หนอน ตั๊กแตน ฯลฯ  อีกทั้งโรคเกี่ยวกับพืชต่าง ๆ เช่น เชื้อรา โรคใบไหม้ ใบหงิก เป็นต้น รวมถึงวัชพืชต่าง ๆ ในแปลงเกษตรด้วย ที่ล้วนแต่ต้องมีการกำจัดอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ผลผลิตจึงจะได้ปริมาณมาก และผลผลิตดีมีคุณภาพ ในช่วงนี้จะมีพิธีกรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลองแห้ง คือ การปักสะเดิ่งไหว้ผีป่าหรือไหว้ผีเจ้าที่ เพื่อขอให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตที่ดี มีผลผลิตมาก ๆ แคล้วคลาดจากภัยธรรมชาติ และไม่มีโรคภัยรบกวน ซึ่งพิธีกรรมนี้จะทำในขณะที่ใบข้าวหรือพืชผลในไร่ มีใบชุดแรกที่เติบโตและโค้งงอลงมาจรดผิวดิน 

8.2.3 การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร

เมื่อพืชผลทางการเกษตรได้เวลาที่จะต้องเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะข้าวไร่ ชาวบ้านจะทำการเกี่ยวข้าวชุดหนึ่งมาทำพิธีกินข้าวใหม่ เสร็จแล้วจึงจะเก็บเกี่ยวข้าวไร่ทั้งหมดที่ยังอยู่ในไร่มาเก็บไว้ในยุ้งฉาง 

9.1 ชื่อ นายวรจักร  นามสกุล วุฒิกาญจนวัชร อายุ  66 ปี  เกิด 16 สิงหาคม พ.ศ. 2500

ที่อยู่บ้านเลขที่ 125 ชุมชนบ้านคลองแห้ง หมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี

บทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มี

นายวรจักร วุฒิกาญจนวัชร เป็นผู้อาวุโสในชุมชนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านประวัติศาสตร์ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง มีความรู้ความสามารถด้านการเป็นพิธีกรและพิธีการ   ทั้งพิธีการของคนไทยพื้นเมือง และพิธีการของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง รวมถึงเป็นศาสนพิธีกร ปฏิบัติศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนา ปฏิบัติหน้าที่ศาสนพิธีประจำทุกวันธรรมสวนะ ณ วัดคลองแห้งวัฒนาราม 

ชีวประวัติ

นายวรจักร วุฒิกาญจนวัชร เกิดที่บ้านคลองแห้ง หมู่ 3 ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ปัจจุบันบ้านคลองแห้งเปลี่ยนมาสังกัดอยู่กับ หมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต เนื่องจากอำเภอห้วยคตแยก  การปกครองออกมาจากอำเภอบ้านไร่ ท่านจบการศึกษา พกส. บรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูที่โรงเรียนชุมชนบ้านกุดจะเลิด ในปี พ.ศ. 2524 หลังจากนั้นย้ายไปสอนที่โรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ เป็นระยะเวลา 4 ปี ในระดับชั้น ป.1 – 4 ซึ่งขณะนั้นตำบลแก่นมะกรูดเป็นพื้นที่สีแดง นอกจากนี้ ท่านสามารถดึงเยาวชนที่เห็นความสำคัญของการศึกษากลับเข้ามาเรียนหนังสือ ทำให้บุตรหลานสามารถอ่านออกเขียนได้ ต่อมาท่านขออาสามาสอนที่โรงเรียนบ้านคลองแห้ง จนสามารถสร้างโรงเรียนบ้านคลองแห้งวิทยาสำเร็จ โดยสรุป ท่านสามารถสร้างโรงเรียนได้ถึง 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะและโรงเรียนบ้านคลองแห้งวิทยา หลังจากนั้นท่านได้โอนย้ายเป็นผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี และมีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับ สุดท้ายท่านมาเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่งหัวหน้าเขตพัฒนาสังคมในปี พ.ศ. 2560 

นายวรจักร วุฒิกาญจนวัชร เล่าให้ฟังว่า ท่านใช้ชีวิตในชุมชนบ้านคลองแห้งแห่งนี้มาตลอดชีวิต มีเพียงบางช่วงชีวิตที่ท่านต้องจากบ้านไปทำงานต่างจังหวัดเท่านั้น ที่ทำให้ท่านไม่ได้อยู่บ้าน ชุมชนแห่งนี้มีวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่มีเหตุการณ์หรือวิกฤติการณ์ที่จะต้องจดจำเป็นพิเศษที่เกิดขึ้นกับตนหรือเกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้เลย ตนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่งงานครองเรือน และใช้ชีวิตมาจนถึงอายุ 66 ปี ในปัจจุบัน

9.2 ชื่อ นายอ่อนจันทร์ นามสกุล กระแหน่ อายุ  54 ปี  เกิดวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2512ที่อยู่บ้านเลขที่ 6/3 ชุมชนคลองแห้ง หมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานีบทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มีนายอ่อนจันทร์ กระแหน่ เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านคลองแห้ง หมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก ทั้งยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตร ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นแบบอย่างให้กับครอบครัวอื่น ๆ ในการทำการเกษตร ปัจจุบันนี้เป็นที่ปรึกษาด้านการเกษตรของชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นปราชญ์ชาวบ้าน          ด้านประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อตามวิถีชีวิตกะเหรี่ยงโปว์ เป็นผู้นำในการรวบรวมสมาชิกลูกบ้านร่วมประกอบพิธีกรรม เช่น ประเพณีกินข้าวใหม่ ประเพณีค้ำต้นไทร เป็นต้นชีวประวัตินายอ่อนจันทร์ กระแหน่ เกิดที่บ้านคลองแห้ง หมู่ 3 ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ ซึ่งปัจจุบันนี้บ้านคลองแห้งขึ้นอยู่กับหมู่ 1 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ในวัยเด็กเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนน้ำพุ และเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนหนองฉางวิทยา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2544 ตอนนั้นอายุ 32 ปี จนถึงปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว 22 ปี วิกฤติการณ์ที่สะเทือนขวัญตัวเองและชาวบ้านบ้านคลองแห้งเป็นอย่างมาก คือ เมื่อปี พ.ศ. 2528   มีฝนตกหนัก 7 วัน 7 คืน ทำให้น้ำป่าไหลหลากทั่วบริเวณชุมชนบ้านไซเบอร์และชุมชนบ้านคลองแห้ง ส่งผลให้กลุ่มลูกจ้างของนายทุนที่มารับสัมปทานทำน้ำมันต้นยางนาอยู่ในบริเวณนี้เสียชีวิตไปจำนวน 21 คน ทำให้ชาวบ้านขวัญเสียมาก และยังคงเป็นที่กล่าวขานกันอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน9.3 ชื่อ นายสะอาด นามสกุล น้ำพุ อายุ  68 ปี  เกิดปี พ.ศ. 2498ที่อยู่บ้านเลขที่ 143 ชุมชนบ้านคลองแห้ง หมู่ 1  ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานีบทบาทและความสำคัญในชุมชน ความชำนาญ/ทักษะที่มีนายสะอาด น้ำพุ เกิดที่บ้านน้ำพุ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ และอยู่อาศัยที่บ้านน้ำพุจนอายุ 13 ปี พ่อแม่พาย้ายมาอยู่ที่บ้านคลองหวาย ปัจจุบันนี้คือหมู่ 7 ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต แต่งงานตอนอายุ 18 ปี และได้พาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่บ้านคลองแห้งแห่งนี้ตอนอายุ 25 ปี เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยดำรงตำแหน่งอยู่ได้ราว ๆ สัก 10 ปี ก็ล้มป่วยด้วยโรคกระดูกทับเส้นทำให้เดินไม่ได้ ขาลีบ เป็นผู้ป่วยติดเตียงและต้องมีลูกหลานคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีบุตร 6 คน มีหลาน 12 คน และมีเหลน 2 คนชีวประวัตินายสะอาด น้ำพุ เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในการจักสาน สามารถสานเครื่องไม้เครื่องมือในการทำมาหากินที่ทำจากไม้ไผ่และหวายได้อย่างคล่องแคล่ว ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้วเนื่องจากสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย แต่สามารถถ่ายทอดให้ลูกหลานได้ นอกจากนี้ ยังมีความรู้เรื่องยาสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นก่อนส่งโรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงมากนัก รวมถึงยังสามารถแนะนำเรื่องการทำมาหากินแบบวิถีชีวิตเกษตรกรรมได้ตามประสบการณ์ที่มี และยังเคยเป็นผู้ช่วยทำพิธีกรรมตามความเชื่อแบบกะเหรี่ยงโปว์อีกด้วย

1. ทุนทางกายภาพ 

1.1 แม่น้ำคลองแห้ง ประวัติความเป็นมา “แม่น้ำคลองแห้ง” เป็นแม่น้ำที่มีแหล่งต้นน้ำอยู่ในพื้นที่เขตป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง ไหลลงมารวมกับลำห้วยลำธารสายเล็ก ๆ หลายสาย จนเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ไหลผ่านตำบลคอกควายของอำเภอบ้านไร่ ผ่านป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าคอกควาย และไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งแห่งนี้ ดังนั้น แม่น้ำคลองแห้งจึงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชน  บ้านคลองแห้ง 

ช่วงเวลาที่สำคัญ “แม่น้ำคลองแห้ง” ในฤดูแล้งบางปีน้ำในแม่น้ำแทบจะแห้ง จนแทบไม่มีน้ำ      ไว้บริโภค ไม่มีน้ำทำการเกษตร น้ำแห้งขอดคลองจนเป็นที่มาของแม่น้ำคลองแห้ง ส่วนช่วงฤดูฝนในบางปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก น้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวหลากท่วมบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านพอสมควร ดังเช่นในปี พ.ศ. 2528 ที่น้ำป่าไหลหลากท่วมพื้นที่บ้านไซเบอร์และ     บ้านคลองแห้งจนลูกจ้างของนายทุนที่มารับทำสัมปทานทำน้ำมันต้นยางนา ต้องสังเวยชีวิตไปถึง 21 ศพ 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน “แม่น้ำคลองแห้ง” เป็นเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คน      ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำการเกษตร   

สถานการณ์ปัจจุบัน “แม่น้ำคลองแห้ง” เป็นแม่น้ำขนาดเล็กที่ไหลผ่านชุมชนกะเหรี่ยงโปว์      บ้านคลองแห้งและอยู่ใกล้กับชุมชนมาก เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของผู้คนในชุมชน บางปีน้ำแล้งน้ำก็แห้งขอด  บางปีน้ำมากก็หลากท่วมเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านบ้าง หมุนเวียนกันอยู่แบบนี้ ชาวบ้านจึงแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อน้ำบาดาล ใช้น้ำบาดาลในการบริโภคและทำการเกษตรมากกว่าการใช้น้ำจากแม่น้ำคลองแห้ง

การสืบทอดและความยั่งยืน “แม่น้ำคลองแห้ง” มีปริมาณน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ผืนป่าต้นน้ำและผืนป่าที่อยู่ระหว่างทางที่แม่น้ำไหลผ่านนั้น ค่อย ๆ ลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถ  ที่จะดูดซับความชุ่มชื้นของสายน้ำสายนี้เอาไว้ได้ตลอดปี ในฤดูแล้งจึงมีน้ำในแม่น้ำน้อยมากจนเกือบแห้ง ดังนั้น สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการในการบำรุงรักษาแหล่งน้ำแหล่งนี้ คือ ควรเร่งให้มีการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไปกับการทำการเกษตร

1.2 ป่าสงวนแห่งชาติ  ประวัติความเป็นมา เมื่อปี พ.ศ. 2528 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีหลายชุมชน รวมถึงชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งแห่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยทำมาหากินและเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชนเผ่าแห่งกะเหรี่ยงชนอย่างอิสรเสรี ซึ่งได้มีการสืบสานกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล แต่แล้ววันหนึ่งพอรู้ตัวอีกที ที่ดินของชาวบ้านที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควายไปเสียแล้ว น่าเสียดายที่ดินของบรรพบุรุษที่ได้สั่งสมมา ราว ๆ 50 - 100 ไร่ต่อครัวเรือน หลังจากได้ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแล้ว รัฐได้จัดสรรให้ชาวบ้านได้มีที่ทำกินในพื้นที่ของตนเองเพียงครัวเรือนละ 20 – 30 ไร่ และห้ามไม่ให้ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงอีกต่อไป เนื่องจากรัฐมองว่าเป็นการบุกรุกทำลายป่า เพราะต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการทำไร่หมุนเวียน ดังนั้น การทำไร่หมุนเวียนตามวิถีบรรพบุรุษแห่งกะเหรี่ยงโปว์จึงสิ้นสุดลง และไม่มีการอนุรักษ์สืบสานการทำไร่หมุนเวียนอีกเลยจวบจนปัจจุบัน

ช่วงเวลาที่สำคัญ เมื่อปี พ.ศ. 2528 หลังการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่มีพื้นที่ครอบคลุมหลายอำเภอในจังหวัดอุทัยธานี ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์มีความผูกพันกับป่า หมู่บ้านส่วนใหญ่ มักอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงหรือในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ การประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของรัฐนั้นมีเป้าหมายเพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสมบูรณ์ไว้เป็นทรัพยากรของชาติ แต่ชาวกะเหรี่ยงต้องการทำไร่หมุนเวียนเพื่อการดำรงชีพและรักษามรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ทำให้เป้าประสงค์ของฝ่ายรัฐและของชุมชน ที่มีความต้องการในผืนดินเดียวกัน แต่มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งระหว่างกฎหมายรัฐกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในหลายพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานีมาจนถึงปัจจุบัน 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโปว์รู้ดีว่าคุณค่าของป่าไม้มีมากมายเพียงใด   ดังคำพูดที่ว่า “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” และ “ที่ไหนมีกะเหรี่ยงที่นั่นมีป่า” คำพูดนี้ยังคงเป็นความจริงมาจนถึงทุกวันนี้ แบบที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลาย ดังจะเห็นได้จาก บรรดาทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชอบอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงหรือที่ในอดีตเรียกกันว่ากลุ่มชาวเขานั้น ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักษาผืนป่าได้มากที่สุด ดังจะเห็นได้ว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงทุกหมู่บ้านจะมีป่าชุมชนหรือป่าตามภูเขาอยู่เสมอ รอบ ๆ หมู่บ้านกะเหรี่ยงทุกแห่งจะโอบล้อมไปด้วยป่าชุมชน และห่อหุ้มไปด้วยสีเขียวของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ 

สถานการณ์ปัจจุบัน แม้ปัจจุบันนี้ป่าชุมชนหรือป่าไม้ตามไหล่เขาบนภูเขารอบ ๆ ชุมชนจะลดลงไปมากหากเทียบกับป่าชุมชนในอดีต แต่ก็ยังเหลือพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 15 – 20 ของพื้นที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน เพียงพอที่จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านคลองแห้ง และเก็บรักษาเอาไว้เป็นแหล่งอาหารป่าและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ชุมชนต่อไป 

2. ทุนมนุษย์ 

ชุมชนบ้านคลองแห้งมีปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้าน ผู้อาวุโสผู้มีภูมิรู้ที่อยู่ในชุมชนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมากมาย รวมถึงชาวกะเหรี่ยงทุกคนในชุมชนก็เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า ขยันขันแข็งในการทำมาหากิน และที่สำคัญชาวกะเหรี่ยงได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการดำเนินชีวิต  ทำให้ผู้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ช่วงเวลาที่สำคัญ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งได้ร่วมกันสืบสาน รักษา ประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษเอาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านและผู้อาวุโสที่ได้รับการยอมรับนับถือมีจำนวนมาก และทุกคนเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อชุมชนอย่างอเนกอนันต์ เป็นที่พึ่งทางกายด้วยการเป็นหมอสมุนไพรได้ช่วยชาวบ้านยามทุกข์ร้อนเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นที่พึ่งทางใจด้วยการเป็นที่ปรึกษาด้านการประกอบพิธีกรรม รวมถึงผู้อาวุโสในชุมชนหลายคนที่ช่วยทำให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขที่สำคัญไปกว่านั้น ได้อนุรักษ์วิถีศิลปินพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์ ซึ่งได้อนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ดีงาม   มาจนถึงปัจจุบัน 

สถานการณ์ปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้ ปราชญ์ชาวบ้านหลายคนอายุมากแล้ว แต่ยังคงแข็งแรงและเดินได้คล่องแคล่ว พูดจาเสียงดังฟังชัด แม้จะพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัดก็ตาม ความจำดีไม่มีหลงลืม และยังคงช่วยเหลือชาวบ้านอยู่อย่างต่อเนื่อง ตามความรู้ความสามารถและทักษะชีวิตที่ตนมี ส่วนศิลปินพื้นบ้านและ  บทเพลงพื้นบ้านไม่ค่อยมีเวทีให้ทำการแสดง จึงไม่ค่อยได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ผู้นำชุมชนควรเร่งดำเนินการจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านรุ่นอาวุโส ไปสู่ลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่โดยเร็ว ก่อนที่องค์ความรู้เหล่านี้จะสูญหายไปตลอดกาล

การสืบทอดและความยั่งยืน ต้องยอมรับว่า ไม่ค่อยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสมุนไพร ประเพณีวัฒนธรรม วิถีการทำไร่หมุนเวียน เครื่องจักสาน รวมถึงไม่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องศิลปะการแสดงพื้นบ้านและบทเพลงพื้นบ้านและนิทานพื้นบ้านให้แก่ลูกหลาน หากไม่เร่งดำเนินการถ่ายทอด  ให้ลูกหลาน เกรงว่าอาจสูญหายไปในอนาคตอันใกล้นี้

3. ทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น 

3.1 การทอผ้ากะเหรี่ยงและเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง ประวัติความเป็นมา ชาวกะเหรี่ยงโปว์   บ้านคลองแห้งทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงโปว์อยู่เป็นประจำในการดำรงวิถีชีวิตในปัจจุบัน แต่ทุกคนมีชุดกะเหรี่ยงของตนเองติดบ้านไว้ หากแม้นเมื่อไหร่ที่ผู้นำชุมชนต้องการให้สวมใส่ชุดกะเหรี่ยง ทุกคนพร้อมที่จะหยิบขึ้นมาสวมใส่ได้ทันที เพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ รวมถึงทุกครั้งที่มีการรวมตัวกันเพื่อไปร่วมกิจกรรมในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด ทุกคนจะสวมใส่ชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์ต่อหน้าสาธารณชนได้อย่างภาคภูมิใจ 

ช่วงเวลาที่สำคัญ การแต่งกายด้วยผ้าทอกะเหรี่ยงโปว์ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งจะแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงโปว์เต็มรูปแบบโดยพร้อมเพรียงกันในหลายวาระ เช่น เทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงโปว์   งานไหว้เจดีย์ของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านใกล้เคียง งานสงกรานต์และประเพณีรดน้ำขอพรผู้อาวุโส    ชาวกะเหรี่ยงพิธีกรรมการกินข้าวใหม่ งานแต่งงาน งานต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนชุมชน

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน  เครื่องแต่งกายและการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงโปว์ เป็นเครื่องแบบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงโปว์ ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และมอบไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อ ๆ กันไป ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ค่อยได้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ทุกคนมีความรักและ มีความผูกพันกับเครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงโปว์ และมีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนทุกครั้งที่ได้สวมใส่ 

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มบ้านคลองแห้งทุกคนรักและหวงแหน ในประเพณีวัฒนธรรม อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง ทุกคนพร้อมใจกันที่จะร่วมกันอนุรักษ์ และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพชนได้สรรค์สร้างไว้ด้วยการอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

3.2 อาหารกะเหรี่ยง มีประวัติความเป็นมา คือ ชาวกะเหรี่ยงโปว์ไม่ว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม มักจะนำวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมติดตัวไปด้วยเสมอ และชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ได้ร่วมอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดเรื่องอาหารการกินของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่ได้รับมอบมรดกภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่รุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้ทุกครัวเรือนยังคงทำอาหารกะเหรี่ยงเป็น 

ช่วงเวลาที่สำคัญ การทำอาหารกะเหรี่ยงนั้นทำได้ง่าย ทำได้ทุกวัน โดยจะมีเพียงอาหารบางรายการบางประเภทเท่านั้น ที่มีข้อต้องห้ามสำหรับพิธีกรรมใดพิธีกรรมหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วสามารถทำได้ในทุกฤดูกาล และเป็นอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงได้ง่ายในท้องถิ่น มีขั้นตอนและวิธีการปรุงที่ไม่ยุ่งยาก และส่วนใหญ่มีรสชาติเเดดร้อนคล้ายอาหารของคนไทยพื้นเมืองทั่วไป 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน อาหารพื้นบ้านกะเหรี่ยงโปว์ชุมชนกลุ่มบ้านคลองแห้งมีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ และมีความสำคัญต่อวิถีการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ มีการสืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน และมีการถ่ายทอดสู่ลูกหลานในปัจจุบันและในอนาคตอย่างยั่งยืนสืบไป 

สถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งจะได้รับอิทธิพลเรื่องอาหารการกินจากโลกภายนอกในยุคโลกาภิวัตน์อย่างมากมาย แถมสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ยังโหมกระหน่ำใส่ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งอย่างหนักหน่วง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงวัยกลางคนและเยาวชนคนรุ่นใหม่หันไปทำอาหารไทยและอาหารสากล แต่เชื่อได้ว่าชาวกะเหรี่ยงโปว์จะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหาร การกินที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างเอาไว้ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนสืบไป

การสืบทอดและความยั่งยืน ปัจจุบันนี้ชาวกะเหรี่ยงโปว์รุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่รุ่นย่ายังคงสอนลูกหลานให้ดำรงวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์อยู่เสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่าการถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม   ด้านอาหารของกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง จะดำรงคงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

3.3 ขนบธรรมเนียมประเพณีกะเหรี่ยงโปว์  ประวัติและความเป็นมา ชุมชนบ้านคลองแห้ง    เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ด้วยชุมชนแห่งนี้จะอยู่ปะปนกับชุมชนของคนไทยพื้นเมือง ซึ่งได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมจากชุมชนเมืองค่อนข้างมาก แต่คนในชุมชนส่วนหนึ่งยังคงมีความเชื่อและความศรัทธาแห่งวิถีชีวิตกะเหรี่ยงโปว์ดั้งเดิม ทำให้ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามตามวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง

ช่วงเวลาที่สำคัญ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งมีการดำรงชีวิตด้วยวิถีวัฒนธรรมแบบกะเหรี่ยงโปว์ตามแบบอย่างบรรพบุรุษได้ตามสมควร เพราะมีวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์ค่อนข้างมาก 

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวกะเหรี่ยงโปว์เอาไว้ได้จำนวนหนึ่ง เช่น ประเพณีค้ำต้นไทร เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหารการกิน เป็นต้น

สถานการณ์ปัจจุบัน ในปีหนึ่ง ๆ ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งจะมีการรวมตัวกันเพื่อจัดงานประเพณีวัฒนธรรมหลายครั้งตามปฏิทินประเพณีและพิธีกรรมที่ชุมชนได้ตกลงร่วมกัน ดังนั้น ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลองแห้งจึงร่วมกันแสดงสัญลักษณ์ชาติพันธุ์ เพื่อแสดงถึงพลังของมวลชนชาวกะเหรี่ยงในด้านของ    ความเชื่อและความศรัทธาในวิถีวัฒนธรรมของตนเอง

การสืบทอดและความยั่งยืน ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานรากฐานวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงเอาไว้ได้พอสมควร 

4. ทุนทางเศรษฐกิจ 

พืชเศรษฐกิจ ประวัติความเป็นมา ในอดีตบรรพบุรุษของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งแห่งนี้นิยมปลูกข้าวไร่เป็นหลัก เป็นการปลูกข้าวไร่ตามวิถีชนเผ่ากะเหรี่ยงที่เรียกว่าการทำไร่หมุนเวียน เป็นการปลูกไว้กินในครัวเรือนในหนึ่งรอบปีปฏิทินเท่านั้น ไม่ได้ปลูกเพื่อการจำหน่าย ทั้งนี้ การทำไร่หมุนเวียนจะปลูกพืชผักสวนครัวชนิดต่าง ๆ ไว้ในไร่หมุนเวียนด้วย ส่วนเนื้อสัตว์ก็หาจากป่า หรือเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ไว้ตามบ้านเรือนไว้เพื่อการบริโภค โดยไม่ต้องซื้อหาแต่อย่างใด ในอดีตจะมีการจำหน่ายเพียงพริกกะเหรี่ยง ฟักทอง และของป่าเพียงเล็กน้อย เพื่อนำเงินมาซื้อเกลือไว้บริโภคในครัวเรือน เพราะในยุคนั้นถือว่าเกลือมีความสำคัญมากกว่าเงินทอง

ช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง จากยุคการทำไร่หมุนเวียนไปสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยุคที่ที่ดินทำกินของชุมชนถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวนจำกัดมาก ไม่เพียงพอกับการทำไร่หมุนเวียน ประกอบกับความเจริญทางวัตถุเริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีพ การปลูกพืชเพื่อการบริโภคดังเช่นในอดีต จึงเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจเพื่อการจำหน่ายนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ผู้คนปลูกพืชเพื่อการดำรงชีพ หรือปัจจุบันที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการจำหน่ายและนำเงินมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งสองแนวทางล้วนมีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิตของผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง

สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย สับปะรด เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่โตเร็ว ทนแล้ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

การสืบทอดและความยั่งยืน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไปในอนาคตอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

5. ทุนทางสังคม/การเมือง 

การมีส่วนร่วมทางการเมือง ประวัติความเป็นมา คือ จากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงโปว์  บ้านคลองแห้งให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านได้มีการตั้งผู้ปกครองชุมชนอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาดูแลความสงบสุขของชุมชน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังไม่มีผู้ใหญ่บ้านที่ภาครัฐแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในระยะต่อมาภาครัฐได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ขึ้นมาดูแลความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน ชาวบ้านก็ยังให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นอย่างดี ด้วยการไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง และปฏิบัติตามธรรมนูญของชุมชนอย่างเข้มแข็ง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความเคารพในระบอบประชาธิปไตย

ช่วงเวลาที่สำคัญ ตั้งแต่ที่ชุมชนแห่งนี้มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการ ชาวบ้านให้ความเคารพและยอมรับในตัวผู้นำชุมชนทุกรุ่นทุกยุคทุกสมัย รวมถึงในระยะหลังที่ภาครัฐกำหนดให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง ไม่เคยมีปัญหาหรือความขัดแย้งในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเคารพในกติกาของบ้านเมือง มีส่วนร่วมทางการเมือง และยอมรับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชน ชุมชนแห่งนี้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านเหตุการณ์ร้ายและดีมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี ผ่านการปกครองโดยผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือในทุก ๆ ครั้งที่มีปรากฏการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมเรียนรู้และปรับตัวกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจและรู้คุณค่า 

สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง เป็นชุมชนขนาดกลางที่มีประชากรเพียง 55 ครัวเรือน ภาครัฐจึงต้องนำจำนวนประชากรจากชุมชนใกล้เคียงหลายกลุ่มมารวมกัน จึงกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในนามของหมู่ที่ 1 บ้านคลองแห้ง ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี โดยผู้คนจากชุมชนต่าง ๆ ให้การยอมรับให้ชุมชนบ้านคลองแห้งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่เป็นทางการ เพื่อดูแลความเรียบร้อยและความสงบสุขของคนในชุมชนบ้านคลองแห้ง ส่วนชุมชนบ้านคลองเคียนรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 

การสืบทอดและความยั่งยืน นับว่าเป็นความโชคดีที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งแห่งนี้ มีการสืบทอดการเมืองและการปกครองด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีความขัดแย้ง และไม่เคยเสียเลือดเนื้อกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา และจะมีการดำรงรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยและความสงบเรียบร้อยเช่นนี้ตลอดไป

  • ภาษาพูดพื้นถิ่น ได้แก่ ภาษากะเหรี่ยงโปว์ เป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในครัวเรือนและใช้ในการพูด       ในชุมชนบ้านคลองแห้ง และใช้ในการสื่อสารกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์จากท้องถิ่นอื่น ๆ ทั่วประเทศที่ใช้ภาษาพูดเดียวกัน ส่วนภาษาที่เป็นทางการ ภาษาราชการ หรือภาษาที่ใช้สื่อสารกับบุคคลทั่วไปในสังคม คือ ภาษาไทย
  • ภาษาเขียน ได้แก่ ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ทั่วประเทศ และกะเหรี่ยงโปว์จากทั่วโลก ซึ่งใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ลักษณะของตัวอักษรมีรากฐานมาจากภาษาธิเบตและภาษาเมียนมาร์เป็นหลัก และผ่านการใช้มายาวนานหลายศตวรรษ
  • สถานการณ์ปัจจุบัน  ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งในปัจจุบัน มีผู้ที่สามารถใช้ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์   ได้จำนวนน้อยมาก เนื่องจากเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์และประชาชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่มีโอกาสได้รับการศึกษาภาคบังคับจากภาครัฐ ส่วนใหญ่จึงสามารถเขียนภาษาไทยได้และนิยมใช้ภาษาไทยมากกว่า จึงทำให้ภาษาเขียนกะเหรี่ยงโปว์ค่อย ๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิต ดังนั้น ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งในปัจจุบัน เหลือไม่ถึงร้อยละ 5 ของประชากร ที่สามารถเขียนภาษากะเหรี่ยงโปว์ได้
  • สำหรับภาษาพูดกะเหรี่ยงโปว์ ยังคงมีประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์ร้อยละ 80 ที่สามารถพูดได้ เนื่องจาก  ชาวกะเหรี่ยงโปว์ให้ความสำคัญกับภาษาพูด และพยายามสอนให้ลูกหลานเยาวชนพูด ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งพูดภาษากะเหรี่ยงโปว์ได้อย่างคล่องแคล่ว และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านภาษาพูดเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
  • วัตถุทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษา ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งไม่มีใครเก็บรักษาหนังสือใบลานที่เป็นภาษากะเหรี่ยงโปว์ไว้ได้ มีแต่สมุดจดบันทึกเก่า ๆ ที่ปราชญ์ชาวบ้านใช้ในการบันทึกเหตุการณ์ เรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชน เช่น นิทานพื้นบ้าน บทเพลงกล่อมลูก ประวัติศาสตร์ชุมชน องค์ความรู้วิถีการดำรงชีวิตแบบกะเหรี่ยงโปว์ เป็นต้น

ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกมีการปกครองโดยผู้นำชุมชนอย่างไม่เป็นทางการ เป็นผู้อาวุโสหรือปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นที่ยอมรับในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งเป็นผู้ปกครอง ดูแลทุกข์สุขและความสงบเรียบร้อยในชุมชน ต่อมามีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านจากภาครัฐมาดูแลราษฎร และภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มาช่วยผู้ใหญ่บ้านในการดูแลและเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนเป็นอย่างดี ในการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือระดับท้องถิ่น ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้ง ไม่มีการเรียกร้องหรือร้องเรียนใด ๆ ในชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งแห่งนี้ 

การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ 

ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งเป็นชุมชนที่ผู้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี ความผูกพัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดมา นับตั้งแต่มีการก่อตั้งชุมชน ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์บ้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ภัยคุกคาม การต่อรองราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น คนในชุมชนจะมีความร่วมมือร่วมใจกันช่วยกันแก้ไขวิกฤติต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไป เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม

แนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทาย

ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง และผู้นำที่เป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และกลุ่มผู้นำชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญในแต่ละด้าน เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. ผู้นำกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ จะเป็นแกนนำในการเชิญสมาชิกลูกบ้านประชุม เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็น กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และหากแม้นชาวบ้านช่วยกันเต็มความสามารถแล้ว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ได้ ผู้นำชุมชนที่ภาครัฐแต่งตั้ง จะนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปหารือหรือรายงานให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทราบตามลำดับชั้น เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ชุมชนต่อไป 

การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

ในชุมชนมีเครือข่ายที่เป็นทางการเล็กน้อย เช่น เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน เครือข่ายเงินกู้ ธกส. เครือข่ายฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นต้น และส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ เช่น การรวมตัวกันทอผ้ากะเหรี่ยงเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มละ  4 – 5 ครัวเรือน เครือข่ายพิธีกรรมจะมีการรวมกลุ่มกันทำพิธีกรรมเป็นกลุ่มย่อย ๆ ส่วนใหญ่จะรวมตัวกันในนามเครือญาติสนิท เครือข่ายหาของป่าจะมีการรวมตัว 4 – 5 คน ต่อหนึ่งกลุ่ม หาของป่ามาบริโภคหรือจำหน่าย เครือข่ายพิธีกรรมงานอวมงคลช่วยเหลือกันในยามที่บ้านใด บ้านหนึ่งมีการสูญเสียชีวิต สรุปแล้ว ชุมชนยังคงมีการสร้างเครือข่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเครือข่ายที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อขับเคลื่อนวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งให้สงบสุขร่มเย็นสืบไป 

บทบาทของหน่วยงาน/องค์กรภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วม

จากอดีตถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกที่เป็นภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งหลายหน่วยงาน เช่น อำเภอห้วยคต องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี เกษตรอำเภอห้วยคต เป็นต้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น  สถาบันธรรมชาติพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในพัฒนาชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง เป็นต้น


มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากอดีตถึงปัจจุบัน จากอดีตเป็นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ มีการค้าขายพริก ฟักทองหรือของป่าเพียงเล็กน้อย เพื่อหาเงินไว้ซื้อเกลือไว้บริโภคในครัวเรือน ต่อมาชาวบ้านถูกจำกัดที่ดินทำกิน เนื่องจากการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น ในยุค 5 ทศวรรษหลังสุดที่ผ่านมา ผู้คนในชุมชนจึงหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชเศรษฐกิจ เพื่อหาเงินซึ่งเป็นปัจจัยหลักมาใช้ในการดำรงชีพ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง


ประชากรชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งมีการเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงเวลา กล่าวคือ ในระยะแรกที่มีชาวกะเหรี่ยงโปว์เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกินในบริเวณบ้านคลองแห้งแห่งนี้ มีเพียงไม่กี่ครัวเรือน เมื่อครอบครัวเหล่านี้ได้มาอยู่อาศัยและทำกินในผืนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้บอกต่อไปยังญาติ ๆ ที่อยู่ในชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง และญาติ ๆ จากต่างจังหวัด ทำให้มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาอยู่ที่ชุมชนบ้านคลองแห้งกว่า 100 ครัวเรือน ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากนั้นชุมชนแห่งนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง ด้วยเหตุที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้การทำมาหากินไม่ดีดังเช่นในอดีต กอปรกับภาครัฐได้ประกาศพื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน และรัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน โดยจำกัดเพียงครอบครัวละ  25 – 35 ไร่ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นภูมิปัญญา  ที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพชนได้ ส่งผลให้ชาวบ้านทยอยย้ายออกไปจากชุมชนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีประชากรเหลือเพียง 55 ครัวเรือน


ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งย้ายมาจากหลายพื้นที่ทั้งในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีและต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่มีสิทธิในสัญชาติอยู่แล้วก่อนย้ายมาอยู่ที่คลองแห้ง ผู้คนในชุมชนจึงไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิในสัญชาติ ดังนั้น ทุกคนจึงมีสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทย มีบัตรประชาชน มีสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานครบถ้วนทุกประการ รวมถึงได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเทียบเท่าประชาชนคนไทยทุกคน ได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ได้รับการบริการทางสาธารณสุขเท่าเทียมกันกับที่คนไทยคนหนึ่งพึงได้รับ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์พึงประสงค์


ในอดีตที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งแห่งนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอย่าง  อุดมสมบูรณ์อยู่นั้น ระบบสาธารณูปโภคที่รัฐจัดให้ไม่มี แต่ชุมชนก็อาศัยภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข เช่น ใช้ประปาภูเขา ใช้น้ำจากแม่น้ำคลองแห้งในการบริโภค ใช้น้ำมันจากต้นยางนาในการจุดตะเกียงแทนไฟฟ้า ใช้ถนนทางเดินเท้าในการสัญจร ต่อมาเมื่อชุมชนบ้านคลองแห้งมีประชากรมากขึ้น รัฐจึงเข้ามาช่วยเหลือด้วยการทำประปาหมู่บ้าน ไฟฟ้า ถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ท ทำให้มีระบบสาธารณูปโภคที่อยู่ในเกณฑ์ดี 


ในอดีตระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึงชุมชน จึงทำให้คนในชุมชนต้องเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย วัณโรค ท้องร่วง ฯลฯ แต่ปัจจุบันชาวบ้านคลองแห้งได้รับสวัสดิการจากภาครัฐเกี่ยวกับการสาธารณสุขเท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทุกคน และมีห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขอนามัยทุกครัวเรือน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น


ในอดีตเยาวชนชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งได้รับการศึกษาในลักษณะการศึกษาผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่มีโรงเรียนในชุมชน ต่อมามีการสร้างโรงเรียนบ้านคลองแห้งวิทยา สร้างศูนย์เด็กเล็ก ทำให้เด็กและเยาวชนทุกคนในชุมชนบ้านคลองแห้งได้รับการศึกษาภาคบังคับ เด็กและเยาวชนที่มีความประสงค์จะเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะไปเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ส่วนมากจะเรียนจบร้อยละ 80 และเยาวชนบางส่วนจะได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้ เยาวชนที่ไม่ได้เรียนต่อมัธยมศึกษา  ตอนปลาย หรือเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วแต่ไม่ได้เรียนต่อระดับปริญญาตรี มักจะออกมาหางานทำ บ้างก็เข้ากรุงเทพเพื่อหางานทำช่วยเหลือพ่อแม่ และแต่งงานสร้างครอบครัวไปในที่สุด จึงถือว่าเป็นความท้าทายของภาครัฐและผู้นำชุมชน ในการหาวิธีการให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรี กันทุกคนหรืออย่างน้อยให้มีผู้เรียนจบปริญญาตรีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน


ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งส่วนหนึ่งปรารถนาที่จะให้คนในชุมชนร่วมกันรักษา    อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ให้คงอยู่ ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่มีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ต้องยอมรับว่าไม่สามารถทัดทานวัฒนธรรมจากภายนอกได้ ซึ่งวัฒนธรรมจากภายนอกชุมชนนั้นมีความทันสมัยและเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด สามารถเข้ามาแทรกซึมวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ค่อย ๆ เลือนหายไปทีละน้อย โดยที่เจ้าของวัฒนธรรมไม่ทันรู้ตัว กว่าจะรู้ตัววัฒนธรรมกะเหรี่ยงก็ถูกกลืนกินหายไปมากแล้ว เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งโดยเฉพาะเยาวชนชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง ส่วนหนึ่งหลงลืมวัฒนธรรมของตนเอง อีกส่วนหนึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ถ่ายทอดให้ ปัจจุบันนี้ อัตลักษณ์วัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์ของชุมชนนี้ จะรับรู้กันในกลุ่มคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุเท่านั้น เด็กและเยาวชนแทบจะไม่รู้ความเป็นมา และในอนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มที่วัฒนธรรมกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้งอาจสูญหายไปแบบสิ้นเชิง จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐ ผู้นำชุมชนและผู้สูงอายุในชุมชน ว่าจะมีวิธีอนุรักษ์สืบสานอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีงามที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างเอาไว้ให้   คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านานได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา การทอผ้า การแต่งกาย วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม อาหาร สมุนไพร ฯลฯ


ตามคำพูดที่กล่าวว่า “ที่ไหนมีกะเหรี่ยง ที่นั่นมีป่า” และ “ที่ไหนมีป่า ที่นั่นมีกะเหรี่ยง” ในอดีตนั้นอาจจะใช่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป ดังเช่น ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านคลองแห้ง แห่งนี้ ในยุคบุกเบิกยอมรับว่าที่ดินผืนนี้เป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มากจริง ๆ เพราะเป็นกลุ่มเทือกเขาที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงมาจากผืนป่าตะวันตกมรดกโลกป่าห้วยขาแข้ง ต่อมาเมื่อมีประชากรย้ายถิ่นฐาน เข้ามาอยู่จำนวนมาก ทำให้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ถูกแปรสภาพเป็นที่อยู่อาศัย ไร่หมุนเวียน สวน และไร่เกษตรเชิงเดี่ยวของคนในชุมชน และจากฝีมือของนายทุนที่มาทำไร่ทำสวนในบริเวณนี้ จากระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 2 ศตวรรษ ผืนป่าตามธรรมชาติและผืนป่าชุมชนเหลือเพียงร้อยละ 20 ของพื้นที่ นับว่าเป็นความโชคดีของนโยบายภาครัฐที่ได้มีการประกาศพื้นที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย กอปรกับมีการจำกัดที่ดินทำกินของราษฎร จึงทำให้เหลือพื้นป่าเอาไว้รักษาระบบนิเวศ ทำให้ฝนยังตกต้องตามฤดูกาล จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ และราษฎรในพื้นที่ ว่าจะมีวิธีบริหารจัดการพื้นที่ทำกินและผืนป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความสมดุลทางระบบนิเวศได้อย่างไร 


ป่าสงวนแห่งชาติห้วยป่าทับเสลาและห้วยป่าคอกควาย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล