Advance search

คลองกระแซง

ริมคลองเก่าแม่น้ำเพชรบุรี

ชุมชนเก่ามีโบราณสถานสำคัญในสมัยอยุธยา และยังมีภาพ Street Art ฝีมือศิลปินชาวเพชรบุรีวาดไว้ตามจุดต่าง ๆ ในตลาดอีกด้วย

คลองกระแซง
เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรี
แพรพรหม มงคลสน
15 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
6 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
6 เม.ย. 2024
คลองกระแซง
ริมคลองเก่าแม่น้ำเพชรบุรี

คลองกระแชง คือ ชื่อของถนนสายหนึ่งในอำเภอเมืองเพชรบุรีที่ขนานไปกับแม่น้ำเพชรบุรี เริ่มต้นที่บริเวณข้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีไปจนถึงสะพานใหญ่หน้าวัดมหาธาตุ ชื่อ “คลองกระแชง” เรียกได้ว่าในอดีตบริเวณนี้คงจะเป็นย่านการค้าที่คึกคักไม่น้อย ชุมชนคลองกระแชงก็ยังนับว่าเป็นย่านเก่าที่เปี่ยมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมเหมาะแก่การมาเดินเที่ยวชมและซึมซับเรื่องราวเล่าขานจากอดีตสู่ปัจจุบัน


ชุมชนเก่ามีโบราณสถานสำคัญในสมัยอยุธยา และยังมีภาพ Street Art ฝีมือศิลปินชาวเพชรบุรีวาดไว้ตามจุดต่าง ๆ ในตลาดอีกด้วย

คลองกระแซง
เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรี
76000
เทศบาลเมืองเพชรบุรี โทร. 0-3240-3888
13.103701888
99.9486909954
เทศบาลเมืองเพชรบุรี

ชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของทั้ง 3 ชุมชนในย่านเมืองเก่าเพชรบุรี ได้แก่ ชุมชนคลองกระแชง ชุมชนตลาดริมน้ำ และชุมชนวัดเกาะ กินพื้นที่ตำบลคลองกระแซง และตำบลท่าราบ ซึ่งมีวิถีชีวิตริมแม่น้ำที่มีเอกลักษณ์ และแตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ และยังมีการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ โดยในตัวเมืองมีโบราณสถานสำคัญในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือ ปราสาทวัดกำแพงแลง และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เพชรบุรี ปรากฏความสำคัญขึ้นในสมัยอยุธยา

โดยขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ และเป็นเมืองที่ปรากฏงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยามากมาย เรื่อยมาในสมัยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจนถึงสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเพชรบุรี คือ "พระรามราชนิเวศน์" หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า "วังบ้านปืน" อำเภอเมืองเพชรบุรี เเต่เดิมคือ อำเภอคลองกระแซง ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2446 เนื่องจากสถานที่ตั้งของศูนย์ราชการอยู่ในเขตตำบลคลองกระแชง ในอดีตใช้พื้นที่ของวัดพลับพลาชัยเป็นศูนย์ราชการของอำเภอคลองกระแชง ภายหลังจึงได้มีการย้ายออกจากวัดพลับพลาชัยเนื่องจากพื้นที่ของวัดคับแคบ การที่อำเภอคลองกระแชงเป็นที่ตั่งศูนย์ราชการของจังหวัดเพชรบุรีจึงได้เปลียนชื่อเป็นอำเภอเมืองเพชรบุรีที่มีแหล่งศิลปกรรมอันทรงคุณค่าอยู่ทั้งริม 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี และเป็นศิลปกรรมตั้งแต่สมัยเขมรจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี เป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีและพื้นที่ราบเชิงเขาในบางส่วน มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านกลางเขตเทศบาลจากทิศใต้ไปทิศเหนือ และแบ่งเขตเทศบาลเป็น 2 ฝั่ง หรือ 2 ตำบลตามแนวฝั่งแม่น้ำ ตำบลคลองกระแชงอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี โดยทางทิศตะวันออกของตำบลเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ทางทิศเหนือของตำบลเป็นที่ราบเชิงเขาพนมขวด และทางทิศตะวันตกเป็นที่ราบเชิงเขาสมนหรือภูเขามไหสวรรค์ อันเป็นที่ตั้งของพระนครคีรีซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดเพชรบุรี โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเขาย้อยและอำเภอบ้านแหลม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอท่ายาง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอบ้านแหลมและอ่าวไทย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอบ้านลาด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การสร้างเส้นทางสู่การได้รับบัตรมัคคุเทศก์

หลักสูตรมัคคุเทศก์ชุมชน “บัตรไกด์” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชน

การส่งเสริมการท่องเที่ยว

การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ด้วยการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เช่น การผลิตของที่ระลึกปูนปั้นจิ๋ว (หม้อตาลเมืองเพชรบุรี), การทำนกหวีดจากแนวคิดมรดกสมบัติแม่น้ำเพชรบุรี, การทำพวงมะโหด และการผลิตตุ๊กตาออมสิน “น้องตาลโตนด” โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ประดิษฐ์และสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยฝีมือของตนเอง และสามารถนำกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึก สร้างเสน่ห์ที่ควรค่าแก่ความประทับใจ และต่อยอดในเชิงประชาสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  • วัวเทียมเกวียน เมืองเพชรบุรีได้จัดให้มีการประกวดวัวเทียมเกวียนขึ้นทุก ๆ ปี ในช่วงของการจัดงานพระนครคีรี-มืองเพชร เพื่ออนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านและสืบทอดประเพณี ชาวบ้านนิยมนำวัวมาประกวดเพราะมีความหมายว่า วัวที่มีความสมบูรณ์จะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงฐานะความเป็นอยู่ของผู้เป็นเจ้าของ วัวเทียมเกวียนจะต้องเดินให้ครบ 3 รอบ และห้ามวัวเดินชนเสาหลัก ในระหว่างที่เดินอาจจะมีดนตรีบรรเลงเพื่อความสนุกสนานด้วย
  • ประเพณีเเห่เรือบก เป็นการดัดแปลงจากการเห่เรือน้ำซึ่งเป็นประเพณีดังเดิมของชาวเพชรบุรี การเห่เรือบกเริ่มมากว่า 20 ปี ต่อมาภายหลังจากสร้างเขื่อนเพชรปิดกั้นแม่น้ำเพชรบุรีที่อำเภอท่ายางเป็นผลให้แม่น้ำเพชรบุรีแห้งขอดลง และส่วนตอนกลางแม่น้ำก็ตื้นเขิน ไม่เหมาะแก่การเห่เรือน้ำเหมือนในอดีต ส่วนเรือที่จำลอง จะประดับประดาสวยงามมาก เนื้อความที่ใช้เห่เรือบกจะเริ่มด้วยบทไหว้ครู 

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

จากสภาพพื้นที่ของเมืองซึ่งเป็นเขตชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางการค้าขายและการบริการ การธนาคาร การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การศึกษาพยาบาล การสื่อสารโทรคมนาคม ประกอบกับข้อจำกัดด้านจำนวนพื้นที่และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้การลงทุนในภาคธุรกิจในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในด้านการค้าขายและการบริการโดยจะเป็นลักษณะของการลงทุนทำธุรกิจในระบบครอบครัว 

1.นางนภา ศรีอินจันทร์ มีความรู้ความสามารถด้านการทำขนมหวาน เช่น เม็ดขนุน ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด หม้อแกง ยึดอาชีพนี้มาจากมารดา โดยทำจำหน่ายเองที่บ้านและที่ตลาดนัดแม่กลอง

2.นางเอื้อน เขียวอ่อน มีความรู้ความสามารถด้านการทำขนมหรุ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของจังหวัดเพชรบุรี โดยทำจำหน่ายเองที่บ้าน ปัจจุบันทำตามสั่งเนื่องจากมีอายุมาก และในปัจจุบันขนมหรุ่มอาจจะเลือนหายไปจากชุมชนเมืองเพชรบุรี เนื่องจากเคยมีผู้มาศึกษาแต่ไม่สามารถผลิตได้ เนื่องจากวิธีการมีความซับซ้อน

3.นายประเสริฐ แต้มฤทธิ์ มีความรู้ความสามารถด้านการประดิษฐ์ของใช้ ของเล่น ของตกแต่ง โดยมีการศึกษาจากโทรทัศน์บ้าง คิดสร้างสรรค์ขึ้นมาเองบ้าง ปัจจุบันนี้ได้เป็นของจำหน่ายที่ระลึก นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี

4.นายธงไชย เฉ่งปี่ มีความรู้ความสามารถด้านผู้นำ พิธีกรทางศาสนาของชุมชนเมืองเพชรบุรี และใช้ชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง และได้รับรางวัลภูมิปัญญาท้องถิ่น จากวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี

ทุนวัฒนธรรม

  • ฝั่งตำบลท่าราบ ตำบลท่าราบอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี มีโบราณสถานสำคัญ เช่น วัดธ่อเจริญธรรม วัดพระทรง วัดโพธาราม วัดเกาะ และวัดไผ่ล้อม
  • ฝั่งตำบลคลองกระแซง ตำบลคลองกระแซงอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี ชื่อ “คลองกระแชง” นั้นคาดว่ามาจากเรือกระแชงที่เป็นเรือสินค้าเข้ามาสัญจรและจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี มีโบราณสถานสำคัญ เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพชรบุรี พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ พระราชวังบ้านปืน และวัดพลับพลาชัย
  • อาหาร ข้าวแช่ เป็นอาหารยอดนิยมของชาวเพชรบุรีมายาวนาน มีทั้งหาบขายและเป็นร้านนั่งรับประทาน ข้าวแช่ของเมืองเพชรแบบดั้งเดิม หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล กล่าวไว้ว่า ข้าวแช่เพชรบุรีมีชื่อเสียง เป็นเพราะเพชรบุรีมีน้ำที่ขึ้นชื่อลือนามว่าเป็นน้ำดี ใส สะอาด บริสุทธิ์ ชาวเพชรจะหุงข้าวใส่กระด้งไปที่ริมแม่น้ำ แล้วใช้มือปัดถูข้าวให้เป็นรูปแหลมทั้งหัวทั้งท้าย จนกระทั่งสวยเรียบร้อยดีแล้วก็เอากลับขึ้นมาเทข้าวที่ขัดแล้วยกลงในผ้าขาวบางแล้วก็มัดขึ้นใส่ลังถึงนึ่งด้วยน้ำดอกไม้ของหอมก็จะได้ตัวข้าวไว้กินกับเครื่องเคียง
  • ภูมิปัญญาด้านการตอกหนังใหญ่ งานตอกหนังใหญ่ เป็นหนึ่งอัตลักษณ์แห่งชุมชนย่านเมืองเก่าเพชรบุรีริเริ่มมาจากหลวงพ่อฤทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ณ ขณะนั้น ได้ระดมช่างฝีมือทั่วทั้งเมืองเพชรบุรีมาร่วมกันตอกลายหนังใหญ่เพื่อสร้างมหรสพ การแสดงให้กับคนเมืองเพชรบุรี โดยตัวหนังใหญ่ถ่ายทอดมาจากตัวละครของเรื่องรามเกียรติ์กว่า 200 ตัว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เพชรบุรีมีความพร้อมในด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ได้นําเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้านอาหารมาเป็นจุดขาย ในการได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาและได้รับการพัฒนาในด้าน สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และ ระบบ เศรษฐกิจ เกิดการสร้างและการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านวัฒนธรรม ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีโอกาสได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดงานประชุมของกลุ่มประเทศเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์อีกด้วยและเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศทางธรรมชาติที่เป็นภูเขา การเดินทางเข้าถึงมีความสะดวก จึงมีความเหมาะสมที่นักท่องเที่ยวสูงอายุจะเดินทางไปท่องเที่ยวและพักผ่อน

บ้านสะสมผลงานมิตร ชัยบัญชา

"มิตร ชัยบัญชา" มีพื้นเพเป็นคนเพชรบุรี มิตร ชัยบัญชา มีผลงานการแสดงเอาไว้ทั้งหมด 266 เรื่อง ก่อนจะเสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ด้วยความชื่นชอบและได้เก็บสะสมผลงานของมิตร ชัยบัญชา มานาน คุณสนั่นจึงปรับพื้นที่ชั้นล่างของบ้านที่เช่าอยู่ ทำเป็นห้องจัดแสดงภาพและประวัติของมิตรเพื่อแบ่งปันให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมจนถึงทุกวันนี้

สตรีทอาร์ทข้างบ้าน

ซอยชุมชนตลาดริมน้ำเพชรบุรี มีภาพวาด Street Art อยู่ตามจุดต่าง ๆ ตลอดทาง โดยภาพวาดเหล่านี้ถูกวาดขึ้นโดยศิลปินเมืองเพชรมีภาพที่สื่อถึงความเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน และอีกส่วนมากเป็นภาพสัตว์ต่าง ๆ สามารถชมวิถีชีวิตของชาวบ้านแล้วยังได้ถ่ายรูปสวย ๆ อีกด้วย

กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). ชุมชนย่านเมืองเก่าเพชรบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www2.m-culture.go.th/phetchaburi/

ปรัชญาพร พัฒนผล. (2554). การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมแม่น้ำเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานวัฒนธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พิมพ์เดือน สุวรรณ. (2565). รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ย่านชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี จังหวักเพชรบุรีเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสูงอายุ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว โรงแรม และอีเวนต์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2561). ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/